PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"Right is Might" หรือ "Might is Right" 2 มุมมอง ในรั้ว ม.สยาม

"Right is Might" หรือ "Might is Right" 2 มุมมอง ในรั้ว ม.สยาม จะสอนวิชากฎหมายอย่างไร หาก กปปส.ได้ชัย?

"นายกฯปูประกาศยุบสภา" เป็นผลพวงที่เกิดจากเสียงนกหวีดที่ดังกึกก้องยาวนานต่อเนื่องของมวลมหาประชาชนที่กดดันให้รัฐบาลต้องประกาศใช้สิทธิอำนาจในขั้นตอนสุดท้ายในการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง นับว่าเป็นการชุมนุมของม็อบ "นกหวีด" ที่ประสบผลสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง

แต่ กปปส.ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง!!!

ยังคงกดดันให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออกจากการรักษาการ สร้างภาวะ "สุญญากาศ" อันจะนำไปสู่การใช้มาตรา 7 เพื่อขอ "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" และต่อเนื่องไปยังข้อเสนอ "สภาประชาชน" จึงจะนับว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริงของ กปปส.และมวลมหาประชาชน

ท่ามกลางเสียงขัดแย้งกันของนักวิชาการที่ออกมาโต้แย้งกันทางความคิดในเวทีเสวนาชนิดเรียกว่าวันต่อวัน ว่าข้อเสนอและวิธีการที่ กกปส.นำเสนอนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่ เป็นข้อขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างนำเอาหลักการ เอาแนวความคิดขึ้นมาสนับสนุนขึ้นมาชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนิติศาสตร์ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาโต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรา 3 มาตรา 7 และมาตรา 181

เกิดเป็นคำถามว่าหาก กกปส.ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ การเรียนการสอนในด้านนิติศาสตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด?

มาฟังความเห็นจากสองอาจารย์กฎหมายที่ได้แสดงจุดยืนที่แตกต่างในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน ระหว่าง เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ กับ เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสยาม ว่าจะมีความเห็นกับคำถามนี้กันอย่างไร

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

อย่ามองเรื่องนี้เป็นการแพ้ชนะ แต่มองว่าข้อเสนอทั้งหลายของ กปปส. สามารถที่จะดำเนินการได้ ก็จะต้องมีการอธิบายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงทำได้ เช่นเดียวกันกับทางรัฐบาลที่ต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงกระทำไม่ได้ ถ้าจะยืนยันแต่แค่บทบัญญัติในตัวบทรัฐธรรมนูญมันไม่ครบถ้วนความเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะที่เรียนมารัฐธรรมนูญนั้นมีอะไรที่มากกว่านั้น 

อย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือรัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่สามารถที่จะทูลเกล้าฯขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.คืนได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ทำได้ แต่รัฐบาลก็ทำไปแล้ว ขอทูลเกล้าฯพระราชทานไปและได้มีการพระราชทานคืนมาแล้ว ทำไมจึงทำได้ นี่เป็นหนึ่งสิ่งที่สามารถนำมาอธิบายโดยรัฐธรรมนูญได้ว่าเพราะอะไรจึงทำได้ 

แต่ไม่ใช่ว่าจะไปทำตาม กปปส. โดยที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งจะส่งผลให้การสอนหนังสือในอนาคตลำบากมาก ดังนั้น กปปส.ต้องอธิบายว่าการกระทำด้วยกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างไร ต้องมีความชัดเจนกว่านี้ว่าเป็นอย่างไร มีกลไกการปฏิบัติจริงอย่างไรจึงสามารถนำไปอธิบายต่อได้ ซึ่งผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านี้จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนกว่านี้ และอธิบายว่าความเป็นรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นเพียงแค่ถ้อยคำตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดูตามหลักของรัฐธรรมนูญ ทำประชาธิปไตยให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นมาตรา 7 จะไม่มีเสียงอะไรเลย

ถามต่อว่าทุกวันนี้ได้ชี้แจงแก่ลูกศิษย์อย่างไร?

อ.เจษฎ์บอกว่า ให้ดูการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดและข้อเสนอต่างๆ ทั้งหมด และมาพิจารณาในสิ่งที่เราเรียนมาว่า การตีความกฎหมายถ้าหากมีถ้อยคำตามบทบัญญัติและถ้อยคำนั้นชัดเจนก็ตีความตามตัวบท แต่ถ้าถ้อยคำตามตัวอักษรไม่มีความชัดเจนเราจะต้องตีความตามเจตนารมณ์ ซึ่งจะอยู่ในส่วนอารัมภบท ก่อนที่จะเข้าสู่มาตรา 1 

"จะบอกกับนักศึกษาเสมอว่าอย่าเพิ่งไปเชื่อ แต่ให้พิจารณาแล้วเอามาดูว่าจะต้องตีความอย่างไร แล้วทุกคนจะพบทางออกของตัวเอง ไม่ใช่ทางออกของ กปปส. ทางออกของรัฐบาล" 

ก่อนที่จะย้ำทิ้งท้ายว่า ถ้าข้อเสนอต่างๆ ของ กปปส.ถูกนำมาใช้ปฏิบัติ ต้องสามารถอธิบายในกรอบของรัฐธรรมนูญให้ได้ เพื่อที่จะนำมาเป็นหลักในการเรียนการสอนในอนาคตต่อไป


ดร.เอกชัย ไชยนุวัติ
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

(หัวเราะเล็กน้อยเมื่อฟังคำถามจบ) ข้อเรียกร้องของ กปปส.หรือกลุ่มต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟัง เพราะในส่วนของสาระเป็นข้อเรียกร้องโดยชอบธรรมตามหลักของสิทธิมนุษยชนที่ต้องรับฟัง 

แต่วิธีการที่ กปปส.เรียกร้องนั้นผิดกฎหมาย และถือว่าเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้เป็นไปในทางประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้า กปปส.ชนะขึ้นมาก็จะต้องใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า "Might is Right" ซึ่งแปลว่า "อำนาจ คือ ความถูกต้อง" ซึ่งถ้าเป็นตามหลักนิติรัฐที่แท้จริงแล้วจะต้องสลับกันเป็น "Right is Might" ที่มีความหมายว่า "การกระทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นคืออำนาจ" ดังนั้นการกระทำของ กปปส.ก็มิต่างกับการปฏิวัติโดยอาวุธ คือการใช้อำนาจเพื่อบังคับให้เกิดกฎหมายให้ประชาชนจำยอม ซึ่งเป็นที่พิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่า ไม่มีใครยอมรับ

ก่อนที่จะเสริมด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเน้นย้ำว่า ถึงแม้ว่าในประเทศไทย ศาลฎีกาได้ยึดหลักว่าถ้าทำปฏิวัติชนะถือเป็นผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อนิติรัฐ เพราะนิติรัฐคือ Right is Might ไม่ใช่ Might is Right 

"ดังนั้นการเรียนการสอนทั้งหมดคงจะต้องเผาทิ้งไป และถ้าหากมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าการกระทำเช่นนี้คืออะไร การกระทำของ กปปส.เป็นการสร้างแบบอย่างให้แก่สังคม หากในอนาคตมีผู้ที่ไม่ชอบ กปปส. พวกเขาก็จะออกมาทำในแบบที่ กปปส.ทำ มันก็จะไม่จบ"

อ.เอกชัยย้ำ ก่อนที่จะเสริมในกรณีการใช้มาตรา 7 ในข้อเสนอของ กปปส. ว่า เป็นการทำลายหลักการรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎร ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 171 ปี 2550 นี่คือหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าหากคุณจะเป็นนายกฯ คุณต้องเป็น ส.ส. ซึ่งหากเกิดนายกฯคนกลางที่เป็นคนนอกก็ขัดกับเจตนาของรัฐธรรมนูญ

"ซึ่งหากไม่ได้มีระบุไว้ในมาตรา 171 จะเป็นนายกฯคนกลางผมจะไม่ว่าเลยแม้แต่น้อย แต่นี่เขียนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาถึง 2550 เป็นหลักการที่ใหญ่ที่สุด เพราะอยากให้ประชาชนทุกคนได้เลือกนายกรัฐมนตรี" 

เมื่อถามถึงการสอนต่อไปในอนาคตหาก กปปส.ชนะ อ.เอกชัยตอบกลับมาทันทีว่าจะยังคงสอนต่อไป แต่คงจะสอนแบบคนอมทุกข์ คงไม่มีใครรับได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องสอนในลักษณะ Might is Right ซึ่งจะไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป 

---------------------------------------

สองความเห็นในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในมุมมองที่แตกต่างกับการเรียนการสอนในอนาคต ที่ไม่สามารถรู้ได้ชัดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เช่นเดียวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

ที่ยังคงคลุกฝุ่น ควันฟุ้ง มองไม่เห็นทางที่แน่ชัดข้างหน้าเช่นกัน

.........

(ที่มา:มติชนรายวัน 16 ธ.ค.2556)
1

ไม่มีความคิดเห็น: