PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เผยภาพ'คนร้ายชาวไทย'ยิงนศ.มะกันดับ (คมชัดลึก)

ไม่ใช่แค่ข่าวอาชญากรรม แต่ข่าวนี้ชวนให้เราต้องหันมาคิดว่าทุกวันนี้เราก้มหน้าก้มตาอยู่กับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตตลอดเวลาจนเกินความจำเป็นกันหรือไม่ เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีใครสนใจใคร ไม่มีใครมองไปข้างหน้า หรือรอบๆตัวว่ามีสิ่งผิดปกติอะไรเกิดขึ้น

เผยภาพคนร้ายชาวไทย หยิบปืนมาเล็งก่อนยิงนักศึกษาเสียชีวิตบนรถไฟในซาน ฟรานซิสโก

9 ต.ค. 56 ตำรวจซาน ฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ชายคนหนึ่ง ได้หยิบปืนขึ้นมาเล็งหลายครั้ง ขณะอยู่ในขบวนรถไฟที่แน่นขนัดในซาน ฟรานซิสโก แต่ผู้โดยสารมัวแต่จดจ่ออยู่กับหน้าจอโทรศัพท์และแท็บเล็ต จึงไม่ทันสังเกต กระทั่งเขายิงสุ่มไปโดนนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งเสียชีวิต
ภาพจากกล้องวงจรปิด เผยให้เห็นมือปืน หยิบปืนพก .45 คาลิเบอร์ และยกขึ้นเล็งไปตามทางเดินก่อนจะเก็บไว้ข้างลำตัว แต่เขาก็หยิบออกมาอีกหลายครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาเอามือที่ถือปืนมาเช็ดจมูกด้วย ด้านอัยการแขวง จอร์จ กัสคอน บอกว่า เขาไม่ได้ปกปิดอะไร และเห็นปืนชัดเจนมาก ผู้คนต่างอยู่ใกล้กับเขามาก แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นเลย พวกเขามัวแต่จดจ่ออยู่กับการพิมพ์ และอ่านข้อความ โดยไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว
ทางการได้ปฏิเสธคำขอของสำนักข่าว AP ที่ขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด โดยบอกว่า อยู่ระหว่างการสืบสวน ด้านตำรวจซาน ฟรานซิสโก บอกว่า ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากต่อเทคโนโลยีดิจิตัล ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ บ่อยครั้งเมื่อซักถามคนที่โทรศัพท์หาย โดยให้อธิบายว่าขโมยมาจากทางไหน แต่งกายอย่างไร พวกเขามักจะตอบไม่ได้

นิคม เทพเกษร (Nikhom Thephakaysone) วัย 30 ปี ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาหลายกระทง ที่รวมทั้งการฆาตกรรม จัสติน วัลเดซ วัย 20 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยซาน ฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 23 กันยายน โดยวัลเดซ ถูกยิงที่ด้านหลังศีรษะ ขณะก้าวออกจากรถไฟ // นิคม ยังถูกตั้งข้อหาใช้ปืนพกกึ่งอัตโนมัติทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้ช่วยอัยการ สก็อต คล้าก เปิดเผยว่า เขาใช้ปืนจ่อด้านหลังของชายคนหนึ่ง ในคืนเดียวกับที่เขายิงวัลเดซ ในลักษณะของการหาเหยื่อ เพียงแต่เขาไม่ได้เหนี่ยวไก และหาเหยื่อรายใหม่นานกว่า 1 ชั่วโมง มีบางช่วงที่เขาโบกปืนไปมาที่ด้านนอกร้านอาหารไทยด้วย
นิคม ถูกตั้งข้อหาครอบครองอาวุธปืนโดยผิดกฎหมาย หลังจากตำรวจยึดปืนไรเฟิล 2 กระบอก มีดปลายปืน และมีดโกนหลายเล่มได้ที่บ้านของเขา ตำรวจระบุว่า เขาพกเงิน 2 หมื่นดอลลาร์ ตอนที่ถูกจับด้วย

http://www.komchadluek.net/detail/20131009/170114/เผยภาพคนร้ายชาวไทยยิงนศ.มะกันดับ.html#.UlWD8rJQiy4
-----------------------
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : AP)


แก้ปัญหา 3 จชต.ใช่ยาก หากรู้ทางโจรฯ!



วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2556, 10:53 น.
โดย พลเอก หาญ ลีนานนท์

"รู้เขา รู้เรา-รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง" วาทะกรรมของปราชญ์ทหาร ชาวจีน ขอนำมาเป็นความนำเพื่อเป็นข้อคิด ของบรรดาทหารแก่ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่เกษียณราชการไปแล้ว หรือแม้แต่ที่ยังรับใช้ชาติอยู่

เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า การก่อความไม่สงบด้วยการก่อการร้ายของทหารอาร์เคเคติดอาวุธเพียง 7,000-8,000 คน โจรฯทำอย่างไรที่สามารถยันกำลังทหาร และกำลังกึ่งทหารในพื้นที่ 3 จชต. ซึ่งมีมากกว่าหลายสิบเท่าได้ และทำให้ฝ่ายเรามีการสูญเสีย บาดเจ็บ พิการ ตาย ปัจจุบันนี้มียอดผู้เสียชีวิตทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง (ทหาร,ตำรวจ,ตชด.,อส.ต่างๆ) มีจำนวน 5,000 เศษ และบาดเจ็บพิการอีก 10,000 เศษ

สถานการณ์ก่อการร้ายที่ 3 จชต. ได้ยืดเยื้อมาเกือบครบ 10 ปีแล้ว ถ้าจะนับตั้งแต่เกิดเหตุร้ายเมื่อ 4 มกราคม 2547 โจรคงจะมีกูรูผู้เชี่ยวชาญการวางแผน และการรบแบบกองโจรชั้นยอดเยี่ยมสามารถทำให้ฝ่ายเราซึ่งมีกำลังมากกว่าและเหนือกว่า ในศักยภาพการรบแต่ไม่สามารถทำให้การก่อความไม่สงบยุติลงได้ สถานการณ์ที่ 3 จชต. ปัจจุบันนี้เป็นสถานการณ์สงคราม

สงครามจะยุติลงได้ก็ด้วย "สงครามเท่านั้น"

ในอดีตที่ชาติไทยของเราติดอยู่ในสงครามเย็น เกือบ 20 ปี แต่สามารถผ่านสงครามเย็นมาได้ด้วยยุทธศาสตร์ "การเมือง นำการทหาร" แต่ถ้าศึกษาให้ลึกลงไปในยุคศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" นั้นก็จะพบว่า ก่อนจะบรรลุชัยชนะในทางการเมืองนั้น ต้องใช้กำลังปฏิบัติการทางทหารก่อนทั้งสิ้น ซึ่งผมต้องให้เกียรติกับกองทัพบกที่รู้ทันโจรก่อการร้ายในช่วงนั้นคือ กองทัพปลดแอก ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ทปท.) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางภาคเหนือ คือเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ฐานที่มั่นภาคอีสานที่ภูพาน จ.สกลนคร ฐานที่มั่นภาคใต้ที่เขาน้ำค้าง จ.สุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่น (เบสแอเรีย) คือพื้นที่ที่ฝ่ายโจร คือ ทปท. ยึดพื้นที่นั้นๆ ได้แล้ว หมายถึงฝ่ายโจรมีอำนาจรัฐซ้อน อำนาจรัฐของฝ่ายรัฐบาล การเมือง และการปกครองในพื้นที่เป็นของโจรฯ อำนาจของข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจมีตามตัวหนังสือเท่านั้น

เพื่อมิให้สงครามกองโจรฯในสงครามเย็นก้าวไปสู่ขั้นรุกได้ ทบ.จึงได้ออกคำสั่งให้ทุกกองทัพภาค ทำการรุกทางทหารต่อที่หมายสำคัญในพื้นที่ของ ทภ.ต่างๆ ปรากฏว่า ฐานที่มั่นของ ทปท. ที่ภูพานพื้นที่ ทภ.2 และที่เขาค้อ พื้นที่ ทภ.3 ถูกฝ่ายเรา จับยึดและทำลายได้หมด เว้นทาง ทภ.4 ซึ่งฝ่าย ทปท.ยังคงดำรงการต่อสู้ไปได้อย่างยืดเยื้อจนกระทั่งเมื่อ ทบ.ส่ง พล.ท.หาญ ลีนานนท์ ไปเป็น มทภ.4 ห้วงเวลาปี 24-26 สงครามเย็นช่วงสุดท้ายในชาติ ก็ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงด้วยนโยบายใต้ร่มเย็น ของ "แม่ทัพหาญ" เพราะฐานที่มั่นหลักที่เขาน้ำค้าง จ.สุราษฎร์ธานี และฐานย่อยๆ ของ ทปท.ที่พัทลุง, ตรัง และนครศรีธรรมราชถูกฝ่ายเราตีแตกและจับยึดได้หมด เมื่อหมดกำลังติดอาวุธ และสูญเสียฐานที่มั่นทุกภาคของประเทศ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ก็หมดโอกาสที่จะโค่นล้มรัฐบาลและยึดอำนาจทางการเมือง เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองให้เป็นไปตามที่ พคท.ต้องการได้

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า พคท.มิได้ตายหรือหายไปจากแผ่นดินนี้ ตราบใดที่อำนาจเผด็จการอิทธิพลและอำนาจมืดยังมีอยู่ในสังคมของประเทศไทยตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่น

เมื่อหันมาดูสงครามที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จชต.) ซึ่งขบวนการโจรก่อการร้ายบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ประกาศยืนยันว่า ตนเป็นผู้รับผิดชอบการก่อการร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ผู้เดียว การก่อการร้ายที่ 3 จชต.นั้น แตกต่างกว่าการก่อการร้ายในสงครามเย็นในอดีตโดยสิ้นเชิง เรื่องสำคัญฝ่ายเราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน คือ

1.การก่อการร้ายที่ 3 จชต.นั้น ฐานที่มั่นของโจรในสงครามนี้อยู่ในหมู่บ้าน โจรวางกำลังทหารอาร์เคเค 8-12 คนไว้ในแต่ละหมู่บ้านสีแดง อำนาจการปกครอง และการเมืองเป็นของโจรฯชาวบ้านไม่มีใครเห็นหรือรู้จักอาร์เคเค แต่ก็รู้ว่าทุกย่างก้าวของตนนั้นอยู่ในสายตาของ กลุ่มอาร์เคเค โดยตลอด ใครที่ยืนเป็นกลาง หรือพูดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ บ่อยๆ ไม่ช้าก็ตายหรือหายไปจากหมู่บ้านโดยไม่รู้สาเหตุ ชาวบ้านกลัวโจรฯยิ่งกว่าฝ่ายปกครองและตำรวจ

2.โจรฯมีหน่วยการเมือง เรียกว่า อาเยาะห์ อยู่ในหมู่บ้าน อาเยาะห์เป็นหน่วยเปิดใครๆ ก็รู้จัก เพราะอาเยาะห์เข้าใกล้ชิดชาวบ้าน เกาะติดมวลชนหนุ่มสาว ใครมีอุดมการณ์ "ปลดปล่อยรัฐปัตตานี" ก็จะคัดส่งไปฝึกเป็นอาร์เคเค ที่เหลือปลุกระดมเป็นแนวร่วม หน้าที่สำคัญของอาเยาะห์ ส่งกำลังบำรุงหาข่าว ให้ที่พักหลับนอน เมื่ออาร์เคเค กลับจากปฏิบัติการ หรือพาอาร์เคเคหลบหนีเมื่อหมู่บ้านถูกตรวจค้น

3.หน้าที่สำคัญของแนวร่วม คือช่วยให้อาร์เคเคสำเร็จภารกิจทางทหาร เช่น วางตะปูเรือใบ หน่วงเหนี่ยวกำลังฝ่ายเราที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ทำการวางเป้าลวงเพื่อให้ฝ่ายเราหลงไปติดกับดักแล้วทำลายเสีย ด้วยการยิงซุ่มยิง หรือวางระเบิดแสวงเครื่อง ฯลฯ

4.ข้อแตกต่างที่สำคัญ ระหว่างสงครามเย็นและสงครามปัจจุบันที่ 3 จชต.

4.1 สงครามเย็น ฝ่าย พคท.ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างกองกำลังเรียกว่า กองทัพปลดแอก (ทปท.) ให้ใหญ่โตเข้มแข็ง มีศักยภาพทางการรบเท่าเทียมกับกำลังทหาร (กองทัพ) ที่ค้ำจุนฐานอำนาจของรัฐบาลจึงจะโค่นล้มรัฐบาลได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 10-20 ปีหรือมากกว่า

4.2 สงครามก่อการร้าย ปัจจุบันที่ 3 จชต.เรียกว่า การก่อการร้ายแนวใหม่ภาษาสากลว่า นี-โอ เทเรอริสซึ่ม หรือ การก่อการร้ายที่ไร้ผู้นำ จัดกำลังเป็นหน่วยขนาดเล็กคล่องตัว 2-4-6 คนเคลื่อนที่รวดเร็วด้วย จยย.3 คัน ไปได้ทุกภูมิประเทศ ทั้งในเมือง-นอกเมืองถึงยอดดอย คุมถนนได้ทุกสายไปได้อย่างเสรี

4.3 โจรฯมีทักษะการใช้อาวุธยิงจากมือปืนที่นั่งท้าย จยย.เมื่อคนขับเร่งเครื่องประกบเหยื่อตายทุกราย ไม่ว่าผู้เคราะห์ร้ายจะขี่ จยย.หรือขับรถยนต์

4.4 ด้วยการจัดที่คล่องตัวในข้อ 4.2 และมีความชำนาญในการใช้อาวุธสังหารร้ายแรง ข้อ 4.3 พร้อมทั้งมีการข่าวที่ดีเพราะรู้เห็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายเราตลอดเวลา เนื่องจากไปตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้านจึงสามารถรวบรวมกำลังได้ล่วงหน้าให้มีกำลังเหนือกว่าฝ่ายเรา ทุกการยุทธ (ปะทะ) ที่เกิดขึ้นโจรฯมีกำลัง 30-40 คน แต่ฝ่ายเราจะมีเพียง 8-12 คน จึงเป็นฝ่ายถูกบดขยี้หรือที่เรียกว่าถูกทำลายล้าง (จับ-ยึด-ฆ่า-เผา) โจรฯ รู้จักทำกำลังน้อยให้เป็นกำลังมากแต่ฝ่ายเรามีกำลังมากกว่าทำให้เป็นกำลังน้อยผมว่าโจรนั้นทำถูกตามหลักการสงครามทั้งๆ ที่ทหารอาร์เคเคเรียนการรบเพียง 1 เดือน แต่สำหรับฝ่ายเรานั้นอาจารย์ยุทธวิธีที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกของผมมิได้สอนเช่นนี้แน่นอน

4.5 ข้อสังเกตที่นักการทหารไม่ควรมองข้ามคือสงครามที่ 3 จชต.นั้นฝ่ายโจรใช้กำลังเพียงน้อยๆ ตามที่กล่าวในวรรคต้นแต่สามารถยันกำลังรบฝ่ายเรา ซึ่งเหนือกว่าในทุกๆ ด้านได้ และทำให้ฝ่ายเราพบกับการสูญเสียเป็นประจำทหารของเราที่ได้รับการฝึกดีเป็นพิเศษ (พวกแบเร่ห์แดง) แล้วยังเคยถูกจับไปฆ่าตัดคอ

หากปล่อยให้เหตุการณ์เช่นทุกวันนี้ดำรงอยู่ต่อไปสักวันหนึ่งหมู่บ้านสีแดง อาจถูกปลดปล่อยอย่างเงียบๆ นายอำเภอ ตำรวจและผู้ว่าฯ มารู้ตัวเอาก็ต่อเมื่อ ย่างไปไหนไม่ได้ เพราะในพื้นที่เต็มไปด้วยโจรอาร์เคเคติดอาวุธ ซึ่งประกอบกำลังจากแนวร่วมจัดตั้งและเอาอาวุธมาจากคลังแสงโจรที่ฝังไว้ในหมู่บ้าน มาถึงตรงนี้ก็ขอถือโอกาสเตือนท่านที่เคยพูดว่าปัญหาใต้ (3 จชต.) นั้นมันมีมานานแล้ว...ค่อยๆ แก้ไป 

"...ไม่ใช่ครับ" มันต้องคิดใหม่ทำใหม่มันต้องจบโดยเร็ว....จึงขอให้บรรดา "ทหารแก่ไม่มีวันตาย" มาช่วยน้องๆ ทหารใหญ่ที่ยังรับราชการอยู่ให้มองเห็นลู่ทางเอาชนะโจรใต้ให้สำเร็จโดยเร็ว....

(ที่มา:มติชนรายวัน 8 ต.ค.2556)


"ศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่ใช่ "ศาลเจ้า" บทความโดย นคร พจนวรพงษ์

"ศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่ใช่ "ศาลเจ้า" บทความโดย นคร พจนวรพงษ์

วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2556, 12:05 น.
อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลยุติธรรม 

"ศาล" คือสถานที่ชำระความ ส่วน ศาลเจ้า คืออาคารขนาดเล็กใช้เป็นที่อัญเชิญวิญญาณที่ผู้คนเคารพนับถือให้สิ่งสถิตเพื่อบวงสรวงขอความคุ้มครอง

การยื่นคำร้องขอใช้สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในหมวด 3 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กรณีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องด้วยการอ้างว่า "บุคคล คณะบุคคลหรือพรรคการเมืองผู้ถูกร้องกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" การใช้สิทธิเช่นนั้นได้หรือไม่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว ผู้ใดใครอื่นหรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านจะตีความขยายความเป็นอย่างอื่น โดยหลักการแล้วย่อมกระทำมิได้ เว้นแต่จะตะแบงไปข้างๆ คูๆ โดยพลการเท่านั้น

การกราบไหว้นำเครื่องเซ่นไหว้ศาลเจ้าเพื่อบวงสรวงขอความคุ้มครอง ขอพรต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวเช่น ขอให้หายเจ็บหายป่วย ขอให้พ้นทุกข์พ้นภัย ขอให้ร่ำให้รวย ขอให้อายุยืนหมื่นๆ ปี ฯลฯ ซึ่งท่านอาจจะกราบไหว้ร้องขออะไรต่างๆ ต่อศาลเจ้าที่ท่านเคารพนับถือก็ได้ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ของศาลเจ้าหรือข้อกำหนดห้ามขอหรือร้องขอแต่อย่างใด ท่านร้องขอได้อย่างเต็มที่แล้วแต่ท่านจะขอ

แต่การที่มีบุคคลผู้ร้องหรือคณะผู้ร้องโดยเฉพาะผู้ร้องหน้าเดิมๆ หรือขาประจำเดิมๆ และก็ร้องขอซ้ำซากในประเด็นเดิมๆ คือ ร้องขอตามมาตรา 68 โดยมิได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน (ฝ่าฝืนหรือขัดมาตรา 68 วรรคสอง) โดยยื่นข้าม อัยการสูงสุดไป แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุคนี้สมัยนี้บางท่านก็ยังออกความเห็นให้รับเรื่องไว้พิจารณาอีก ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนั้นอาจจะคิดว่าท่านมีอำนาจล้นฟ้า ใครๆ ก็ไม่อาจมาแตะต้องยับยั้งท่านได้ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจเช่นนี้ จึงอาจจะเป็นช่องทางทางหนึ่งที่ทำให้ขาประจำผู้ร้องทั้งหลายได้ใจและลำพองใจ อะไรๆ ก็จะยื่นร้องตะพึดตะพือ และถ้าสื่อมวลชนให้ความสนใจอีก เขาก็จะกระหยิ้มยิ้มย่องอวดตัวเองว่าเก่งกล้าสามารถ โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมเลย ยิ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านที่ลุแก่อำนาจให้ท้ายผู้ร้องด้วยการออกความเห็นรับเรื่องไว้ให้พิจารณาอีกด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ การยื่นคำร้องในลักษณะเช่นนี้จึงได้พรั่งพรูออกมาเป็นระลอกแล้วระลอกเล่า อย่างไม่หยุดยั้งไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ผู้ถูกร้อง เช่นประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี พรรคการเมืองรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไป วุ่นวายสับสนกันไปหมด

คำร้องบางคำร้องระบุผู้ถูกร้องซึ่งเป็น ส.ส. และ ส.ว.ไว้จำนวนมากถึง 312 คน ในข้อหาว่าการเสนอและพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงอาจมีความผิดฐานเป็นกบฏ และอาจถูกระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตได้ ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คน มีสภาพเหมือนตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด 

กรณีเช่นนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อการบริหารบ้านเมืองของฝ่ายบริหารและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่ามือไม่พายยังเอาเท้าราน้ำอีก

ท่านสุภาพชนผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยขอท่านได้โปรดช่วยกันพิจารณาดูว่าพวกเขาเหล่านั้นควรจะได้ตั้งข้อรังเกียจจากสังคมหรือไม่ ท่านสื่อมวลชนที่มีอุดมการณ์ก็ขออย่าได้ยกย่องยกยอตีข่าวให้บุคคลเหล่านั้นอีกเลย อย่าส่งเสริมให้พวกเขากระทำการในทางที่ผิดๆ พวกเขาทำลายหลักการประชาธิปไตย ทำลายการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการอย่างไม่รู้ตัว การกระทำของพวกเขาดังกล่าวเหล่านั้นต่างหากที่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การร้องอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ระวังจะถูก รุกฆาต ขุนอาจจะจนต้องแพ้เพราะเบี้ยหงายกลางกระดานหมากรุกก็ได้ โจทก์จะกลับกลายเป็นจำเลย ผู้ร้องจะกลายเป็นผู้ถูกร้อง ผู้กล่าวหาอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาในโอกาสต่อไป ระวัง ศาล หรือ ศาลเจ้า ท่านเฮี้ยนขึ้นมาจะลงโทษเอาถึงตายหรือเสียผู้เสียคนก็ได้ ขออะไรไม่ขอดันไปขอและมีผลทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ตั้งใจจะทำงานเพื่อประเทศชาติต้องหยุดชะงัก และเสียเวลามาสาละวนกับคำร้องที่ไร้สาระเหล่านี้ โปรดระวังศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็น เจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย (มาตรา 208 วรรคสาม) และศาลรัฐธรรมนูญก็เป็น ศาล ผู้กระทำหรือผู้ร้องอาจจะโดนข้อหาใดข้อหาหนึ่ง หรือหลายข้อหาหรือหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 3 อันเป็น ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 1 ว่าด้วย ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และหมวด 2 ว่าด้วย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นต้น

การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งยื่นมามากมายนับเป็นสิบๆ คำร้อง และศาลรัฐธรรมนูญท่านได้มีคำสั่ง "ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" โดยเฉพาะคำสั่งในปี พ.ศ.2556 เช่นคำสั่งที่ 28/2556, 23/2556, 22/2556, 21/2556, 19/2556, 18/2556, 16/2556, 15/2556, 14/2556, 13/2556, 12/2556 เป็นต้น ทุกคำร้องต่างก็ร้องตามมาตรา 68 ทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ (1) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหาและคณะ (2) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ปชป. และ (3) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กรณีร้องในประเด็นตามมาตรา 68 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ (ที่มาของ ส.ว.) เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 25 และ 27 กันยายน 2556 นั้น

กรณีนี้ขอให้ย้อนกลับไปดู คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ของศาลรัฐธรรมนูญแห่งเดียวกันนี้ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ในคำวินิจฉัยฉบับดังกล่าว กล่าวคือ คำวินิจฉัยคดีส่วนกลาง วินิจฉัยว่า "ให้ยกคำร้องทั้งห้าคำร้อง" นั่นก็คือแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับก็สามารถทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้โดยชัดแจ้งตรงไหนเลย แต่กลับวินิจฉัยยืนยันให้ยกคำร้องของผู้ร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับของผู้ร้องทั้งห้าคำร้องนั้นเสีย

และในคำวินิจฉัยฉบับที่ 18-22/2555 นี้ ยังวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 3 ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งอีกด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลแห่งเดียวกันนี้ ข้อกฎหมายคือรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาตราเดียวกันนี้ ข้อเท็จจริงคือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ฉบับเดียวกันนี้ (แก้ไขรายมาตรามิได้แก้ไขทั้งฉบับอีกด้วย) ข้อเท็จจริงมิได้เปลี่ยนแปลง ข้อกฎหมายมิได้เปลี่ยนไป คำวินิจฉัยก็น่าจะเหมือนเดิม 

นั่นก็คือคำวินิจฉัยน่าจะออกมาในรูปการกระทำของผู้ถูกร้องไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ แต่อย่างใด

สําหรับกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ กลุ่ม 40 ส.ว. จะอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี ให้ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้านั้นกรณีนี้ (ที่มาของ ส.ว.) มีนักกฎหมายอาวุโสท่านหนึ่งเขียนหลักการเอาไว้น่าฟังมากคือ ถ้ากฎหมายไม่ให้อำนาจย่อมไม่มีอำนาจ เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้โปรดดู คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ คำสั่งที่ 4/2554 (ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554

เรื่อง ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ยกมาเฉพาะคำสั่งตอนท้าย)

"....ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291 โดยบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (1) ถึง (7) ว่าให้ต้องทำเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ ทั้งมาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีตามคำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยได้

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น "ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย"

ลงนาม นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ลงนาม นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่นเดียวกับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามคำสั่งที่ 4/2554 ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันและเหมือนกัน การอ้างข้อกฎหมายของผู้ร้องก็อ้าง มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) เช่นเดียวกัน คำสั่งก็น่าจะต้องเป็น ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย เช่นเดียวกัน

สำหรับประเด็นสุดท้ายว่า ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นจะต้องส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้าหรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ดั่งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 แล้วนั้น ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นหรือคำร้องก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) แต่อย่างใด ท่านประธานท่านไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ ท่านมีอำนาจและมีหน้าที่ที่จะต้องวินิจฉัยในทางที่ถูกที่ควรตามตัวบทกฎหมาย

การที่ฝ่ายผู้ร้องบางกลุ่มบางคนกล่าวอ้างข่มขู่ต่างๆ นานา ว่าจะยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่นั่น จะยื่นฟ้องร้องไปที่นี่วุ่นวายไปหมด ก็ปล่อยให้เขาดิ้นไปเถอะครับพวกเขากำลังจะเข้าตาจน ก็ปล่อยให้เขาได้ผ่อนคลายระบายออกบ้าง สังคมอย่าเพิ่งไปเอือมระอาพวกเขานักเลย แล้วสักวันหนึ่งเขาอาจจะรู้ตัวว่าเขาได้ทำอะไรไป

(ที่มา:มติชนรายวัน 8 ต.ค.2556)




คลอดกม.วัฒนธรรมแตะไม่ได้ใครดัดแปลงโดนคุก

08 ตุลาคม 2556 เวลา 16:29 น. |


คลอดกม.วัฒนธรรมแตะไม่ได้ใครดัดแปลงโดนคุก
ครม.ผ่านร่างกฎหมายมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ ให้ขึ้นทะเบียนในแต่ละจังหวัด หากใครดัดแปลงในลักษณะหมิ่นมีโทษจำคุก
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือ คุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เช่น ภาษา การแสดง การดนตรี พิธีกรรม
ประเพณี เทศกาล และงานช่างฝีมือ เป็นต้น
ทั้งนี้ หลักการสำคัญ คือ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งมีบทลงโทษ โดยมาตรา 40 ระบุว่า หากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ในลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีสิทธิเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง หรือ ความเห็นทางวิชาการได้เมื่อเห็นสมควร โดยหากผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบร่างกม.ฉบับดังกล่าว มาตรา 5  กล่าวถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้รับการคุ้มครอง และส่งเสริมตามพ.ร.บ. นี้ ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1.วัฒนธรรมทางภาษาและการสร้างสรรค์ทางภาษา รวมทั้งการแสดงออกโดยใช้ภาษาเป็นสื่อถ่ายทอด 2.ศิลปะการแสดงและการดนตรี 3.การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และประเพณีหรือเทศกาล 4.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 5.ผลงานซึ่งเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิม และ 6.มีลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

อเมริกาส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงให้ไทย

นายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นตัวแทนรับมอบโบราณวัตถุวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่ได้รับการบริจาคจากชาวอเมริกัน 5 ราย ผ่านทางสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 76 ชิ้น โดยมีนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับมอบคืน

นายมนัสวี เปิดเผยว่าชาวอเมริกันจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1.นาย Benjamin R.Snidecor อดีตข้าราชการที่เคยปฏิบัติงานที่ประเทศไทย จำนวน 23 ชิ้น 2.นาย Robert Rochien จำนวน 3 ชิ้น เป็นมรดกจากบิดาที่เคยปฏิบัติราชการในประเทศไทย 3.นาง Anitra Bascon Wirtz จำนวน 29 ชิ้น เป็นมรดกจากบิดา 4.นาย Gary Buck จำนวน 1 ชิ้น เป็นมรดกจากบิดา และ5.นาย Richard Douglasจำนวน 20 ชิ้น เป็นมรดกจากมารดา

ทั้งนี้ การส่งมอบได้ทยอยส่งมอบมาตั้งแต่ปี 2554 และที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการส่งมอบในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 ทั้งจากสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลในประเทศต่างๆ

ขณะทีนายเอนก ระบุว่าโบราณวัตถุที่ได้รับคืนกรมศิลปากรจะนำไปศึกษาและขึ้นบัญชีเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไป รวมทั้งจัดเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งโบราณวัตถุที่รับมอบในครั้งนี้ เป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงแบ่งได้ออกเป็น 3 ช่วง คือ สมัยต้นอายุประมาณ 5,000-3,000 ปี สมัยกลางประมาณ 3,000-2,000 ปี และสมัยปลายประมาณ 2,300-1,500 ปี โดยมีทั้งเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ ซึ่งมีบางชิ้น เช่น กำไรงาช้าง ที่เป็นครั้งแรกที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้ จะได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป

ศาลรธน.ไม่รับคำร้อง แก้รธน.ที่มาส.ว. ม.154 (1) ชี้ ไม่เข้าข่าย

มติ ศาล รธน. ไม่รับคำร้อง ส.ส.-ส.ว. แก้ รธน.ที่มา ส.ว. ที่ยื่นตามช่องทาง ม.154 (1) ชี้ ไม่เข้าข่าย เนื่องจากเป็นมาตราที่ใช้พิจารณา พ.ร.บ.เท่านั้น...

วันที่ 9 ต.ค. ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้อง ตามที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา จำนวน 142 คน และคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 68 คน กรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรค 1 ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ประเด็นที่มา ส.ว. มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องทั้ง 2 คำร้อง ไว้พิจารณา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 291 เป็นการเฉพาะว่า ต้องทำเป็นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ และในมาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติ ไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาบังคับใช้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีคำร้องนี้จึงไม่เข้าด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรค 1 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยไว้ได้




ระทึกแก๊สระเบิดร้านไดโดม่อน ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต


เมื่อวาน 8/10/56 เวลาประมาณ 19.00 ระทึกแก๊สระเบิดร้านไดโดม่อน ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต แต่ไม่เป็นข่าว


เมื่อผู้ร้ายบังคับบัญชาตำรวจ บทความโดย วสิษฐ เดชกุญชร

วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2556, 10:45 น.

ข่าวเกี่ยวกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่สองคนทำให้ผมรู้สึกสลดหดหู่ใจอย่างบอกไม่ถูก

นายตำรวจคนแรกที่เป็นข่าวคือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผมทราบ

ข่าวนี้เพราะได้อ่านจากหน้าเฟซบุ๊กของ (พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หนีโทษ
ทางอาญาไปเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ (พ.ต.ท.) ทักษิณได้เขียนข้อความลงในหน้านั้น เมื่อ วันที่ 
1 ตุลาคม ดังนี้

"วันก่อนได้คุยกับท่าน ผบ.ตร. ผมก็บอกว่าผมได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ขายของทั้งหลาย

ในเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต ว่ามีหน่วยงานทั้งหลายในตำรวจและหน่วยงานภายนอกเดิน
เก็บส่วยกันมากจนเป็น cost ของผู้ประกอบการ และแน่นอนก็จะผ่านไปยังผู้บริโภคทั้งๆ ที่รัฐบาล
ได้จัดการปัญหาเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้ายออกไปอย่างสิ้นเชิง ก็ยังไม่ง่ายเพราะ นิสัยที่
ชอบเก็บส่วยได้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ขอให้ช่วยกันจัดการด่วน! ท่านก็บอกว่าท่านนายกฯ ได้
สั่งการมาแล้วครับ ผมเลยหวังว่าทุกอย่างก็คงจะดีขึ้นครับ"

หลังจากที่มีข่าวดังกล่าว พล.ต.อ.อดุลย์ได้ปฏิเสธว่าตนไม่เคยได้พูดคุยกับ (พ.ต.ท.) ทักษิณ ดัง

ที่ (พ.ต.ท.) ทักษิณอ้าง

ถ้าเป็นตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์อ้างก็แปลว่า (พ.ต.ท.) ทักษิณโกหก และที่ (พ.ต.ท.) ทักษิณอ้างว่า

ได้รับการร้องเรียนจาก "ชาวบ้านทั้งหลายในเมืองท่องเที่ยว" ก็เป็นเรื่องโกหก แต่ถ้าเป็นจริงตาม
ที่ (พ.ต.ท.) ทักษิณอ้างก็แปลว่า พล.ต.อ.อดุลย์โกหก

(พ.ต.ท.) ทักษิณนั้นโกหกเป็นประจำ และเคยถูกจับโกหกได้หลายครั้งแล้ว จนน่าเชื่อว่าจะกลาย

เป็นคนที่ภาษาจิตวิทยาเรียกว่า pathological liar คือคนที่โกหกบ่อยๆ จนในที่สุดเจ้าตัวเองไม่ตระ
หนักว่าโกหกและนึกว่าเป็นเรื่องจริง

ที่อวดอ้างว่าชาวบ้านที่ขายของทั้งหลายในหลายเมืองท่องเที่ยวร้องเรียนไปจนถึงตน ก็น่าจะเป็น

เรื่องโกหกเพราะการร้องเรียนต่อ (พ.ต.ท.) ทักษิณคงทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจาก (พ.ต.ท.) ทักษิณ
ไม่ อยู่เป็นที่ แต่เร่ร่อนไปตามประเทศต่าง ๆ หลายประเทศอยู่ตลอดเวลา

ส่วน พล.ต.อ.อดุลย์นั้นไม่เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นคนโกหก เพราะฉะนั้นที่ พล.ตอ.อดุลย์ปฏิเสธว่าไม่

เคยได้พูดคุยกับ (พ.ต.ท.) ทักษิณก็น่าเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ถึงจะเป็นความจริงการปฏิเสธของ 
พล.ต.อ.อดุลย์ก็ควรทำมากกว่าปฏิเสธสั้นๆ เช่นนั้น แต่ควรทำเป็นกิจจะลักษณะด้วยการออก
แถลงการณ์ หรือให้โฆษกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าว เพราะถ้าเพียงแต่ตัดบทห้วนๆ 
เช่นนั้น ก็อาจจะมีผู้ที่ยังสงสัยอยู่ว่าจะเป็นความจริงดังที่ (พ.ต.ท.) ทักษิณอ้าง

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งที่เป็นข่าว คือ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งเป็นข่าว ขึ้นมาก็

เพราะมีผู้นำภาพของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ซึ่งถ่ายร่วมกับ (พ.ต.ท.) ทักษิณที่เมืองมาเก๊าและ ออก
เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต กรณีนี้ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ไม่เคยปกปิด
ความสัมพันธ์ที่ตนมีกับ (พ.ต.ท.) ทักษิณ เมื่อตอนที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ 
บัญชาการตำรวจนครบาล และเลื่อนยศเป็นพลตำรวจโทนั้น พล.ต.ท.คำรณวิทย์ก็เป็นผู้แพร่ภาพ 
(พ.ต.ท.) ทักษิณประดับยศใหม่ให้ตน ทั้งยังเคยประกาศอย่างเปิดเผยว่า "มีวันนี้เพราะพี่ให้" 
ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องให้ (พ.ต.ท.) ทักษิณประดับยศให้นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอให้สำนักงานตำรวจแห่ง

ชาติดำเนินการแล้ว และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ก็กำลังถูกสอบสวนโดยจเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อปรา
กฏว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ไปพบกับ (พ.ต.ท.) ทักษิณที่มาเก๊า ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ขอให้สำนักงาน
ตำรวจแห่งชาติดำเนินการเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่งด้วย

พล.ต.ท.คำรณวิทย์อาจไม่แยแสกับการสอบสวนและผลการสอบสวน แต่พฤติการณ์ของ พล.ต.ท.

คำรณวิทย์ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย เพราะ (พ.ต.ท.) ทักษิณเป็นผู้หนีโทษทางอา
ญาและเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาอีกหลายคดี เป็นหน้าที่ของตำรวจทุกคนรวมทั้ง พล.ต.ท.คำรณ
วิทย์ที่จะต้องจับกุมตัว (พ.ต.ท.) ทักษิณเอามาฟ้องร้องให้ศาลลงโทษ แต่พฤติการณ์ของ พล.ต.ท.
คำรณวิทย์แสดงให้เห็นว่าตนซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นอกจากจะไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้รักษา
กฎหมายแล้ว ยังไปแสดงความเคารพนบนอบกับอาชญากรเสียด้วย

ประชาชนย่อมหวังจะให้ตำรวจเป็นผู้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนให้พ้นจากอาชญากรรม การ

ที่ประชาชนสงสัยว่านายตำรวจผู้ใหญ่คนหนึ่งรับคำสั่งจากอาชญากร และเชื่อว่าอีกคนหนึ่งจงรัก
ภักดีต่ออาชญากรย่อมทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือในตำรวจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องนี้หรือไม่ หรือว่าจะ ปล่อยให้ประชา

ชนหมดความเชื่อถือและสิ้นศรัทธาที่มีต่อตำรวจ ?

(ที่มา:มติชนรายวัน 8 ต.ค.2556)


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline

ครม.พิเศษ เตรียมประกาศ พรบ.มั่นคงคุมม็อบหน้าทำเนียบ

ครม.นัดพิเศษมีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ 3 เขต กทม. คุมม็อบ-หวั่นบานปลาย

ข่าวสด:วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2556, 10:37 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.30น. วันที่ 9 ต.ค.ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงอาทิ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช. กลาโหมพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาฯสมช.พล.อ.นิพัทธ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการรนายกฯ นายพิชิต ชื่นบาน ฝ่ายกฎหมาย เป็นต้น เพื่อประเมินสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งยังคงปักหลักปิดถนนไม่ยอมเคลื่อนย้าย แม้จะมีการเจรจาเพื่อขอให้เปิดเส้นทางการจราแล้วก็ตาม โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นได้ขึ้นไปรายงานต่อที่ประชุม ครม.นัดพิเศษบนตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่ง พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

สำหรับบรรยากาศบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ( กปท.) ยังคงปักหลักชุมนุมเป็นวันที่ 3 บริเวณถนนพิษณุโลก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดเส้นทางการจราจรตั้งแต่บริเวณ สี่แยกพาณิชยการ ถึงสี่แยกสวนมิกสวัน ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเป็น 16 กองร้อย

จากนั้นเวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ประชา ได้เรียกประชุมด่วน ครม.นัดพิเศษโดยมีรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตร พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯสมช. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม และพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ทั้งนี้เพื่อหารือและขอมติที่ประชุมครม.ในการประกาศใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยพล.ต.อ.ประชา กล่าวก่อนเข้าประชุม ว่า การประชุมครม.ชุดเล็กนี้เพื่อพิจารณาประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง และเมื่อครม.มีมติอย่างไรแล้วตนจะมาชี้แจงให้ทราบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมครม.นัดพิเศษ มีมติให้ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 9 - 18 ต.ค. ในพื้นที่ 3 เขต ของกทม. คือ เขตป้อมปราบฯ เขตพระนคร และเขตดุสิต โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องปรามเพราะหวั่นจะเกิดเหตุการณ์บานปลาย เนื่องจากจะมีนายกฯ สาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมา อีกทั้งจะมีการนำกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาฯ ด้วย