PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

ไม่มีส.ส.เขตไม่มีปาร์ตี้ลิสต์

ไม่มี ส.ส. เขต ก็ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์
โดย สิริอัญญา 
วันพุธที่ 10 เมษายน 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ให้บทพิสูจน์สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ตลอดจนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างชัดเจนที่สุด และส่อเค้าว่าจะมีปัญหามากหลายเกิดขึ้น กระทั่งมีความเสี่ยงว่าการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ ยังไม่รวมถึงการเกิดความแตกแยกและการไม่ยอมรับอย่างกว้างขวาง 

ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่มีราคาแพงที่สุด คือใช้เวลาร่างนานมาก เกือบจะเท่ากับระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญในยุครัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส และเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากที่สุด หากจะคิดเป็นเงินก็หลายพันล้านบาท 

ในเบื้องต้นก็เห็นชัดว่ามีปัญหาความไม่แน่นอนของบทบัญญัติต่าง ๆ แฝงฝังอยู่เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากก่อนรัฐธรรมนูญใช้บังคับก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหลายครั้ง แม้หลังรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้วก็มีข้อถกเถียงในเรื่องความหมายของแต่ละบทมาตราตลอดมา 

และล่าสุดนอกจากจะเถียงกันเรื่องความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย ล่าสุดก็มีข่าวว่าอาจต้องจัดเลือกตั้งใหม่ถึง 66 เขต 

และประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันตลอดสิบวันที่ผ่านมาก็คือการจัดสรร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคต่าง ๆ เพราะทันทีที่มีการแจ้งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และสื่อมวลชนได้รายงานตัวเลข ส.ส. รวมของแต่ละพรรคแล้ว ก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย ที่สำคัญคือในเรื่องการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์ 

โดยมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า สูตรในการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์เป็นอย่างไร ทำไมบางกรณีจะต้องอาศัยคะแนนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 70,000 คน จึงจะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แต่ในตอนท้าย ๆ ก็ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 30,000 คน ก็ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนแล้ว 

ที่สำคัญคือพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้งเลย ถูกระบุโดยสื่อมวลชนว่าจะได้รับ ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์ 7 คนบ้าง 5 คนบ้าง กระทั่ง 1 คนบ้าง ซึ่งมีถึง 8 พรรค ที่ได้รับจัดสรรในลักษณะนี้ ในขณะที่พรรคที่ไม่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้งอีกราว 70 พรรค ไม่ได้รับการจัดสรรเลย 

ทำให้นักวิชาการหลายคนออกมาทักท้วงว่า การจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ดังกล่าวนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้สื่อมวลชนรายงานข่าวตามมาว่าการแจ้งผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ยังไม่มีสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ จึงเป็นเหตุให้มีการนัดประชุมร่วมระหว่าง กกต. กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็บอกว่ามีสูตรคำนวณเพียงสูตรเดียวซึ่งมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว 

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งโดยรวม และอาจมีผลทำให้เกิดปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะคืออาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเมื่อกรณีมีปัญหาขึ้นแล้ว แทนที่จะนำเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหานั้น กลับไปปรึกษาหารือขอความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างว่ามีเจตนารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ ราวกับว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญต้องฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะต้องฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง 

เราควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันว่าระบบการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ถือหลักการหรือต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้ทักท้วงตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้นแบบนั้นเป็นต้นแบบของประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ 

คือมีการกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. เป็นสองประเภท คือแบบเขตเลือกตั้งและแบบปาร์ตี้ลิสต์ โดยแบบเขตเลือกตั้งนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะถือเป็นการเลือกตั้ง
โดยตรงจากประชาชน ส่วนแบบปาร์ตี้ลิสต์นั้นเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก นับแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 

คือกำหนดให้มี ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 150 คน และรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งบัญญัติตรงกันว่า ให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคการเมืองที่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง โดยให้จัดสรรตามส่วน แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ซึ่งความจริงก็มีความชัดเจนอย่างยิ่งอยู่แล้ว ไม่มีข้อใดต้องสงสัยอีก 

ความชัดเจนแห่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นสรุปได้เป็นสองหลักการคือ 

หลักการที่หนึ่ง ให้นำจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งตามสัดส่วน ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งเท่านั้น จะเอาไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งไม่ได้ 

หลักการที่สอง จำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ที่จะไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งตามส่วนนั้นจะต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี ส.ส. ได้ ตรงนี้ก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นบทบัญญัติวางหลักการย่อยซ้อนลงไปอีกสามหลัก คือ 

ข้อแรก ต้องคำนวณ ส.ส.พึงมีของทุกพรรคการเมืองก่อน พูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือต้องนำจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ก็จะกลายเป็นจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ๆ 

ข้อสอง ต้องคำนวณการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด คือจำนวน 150 คน ให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ตามส่วน นั่นคือนำจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน ก็จะเป็นสัดส่วนว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกี่คน จึงได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ซึ่งตัวเลขนี้จะใช้เป็นหลักในการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง 

ข้อสาม เมื่อได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคแล้ว ก็นำมาเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งว่าขาดเกินอยู่เท่าใด ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้วมีจำนวนที่ขาดก็จะได้รับการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามจำนวนที่ขาดนั้นจนครบจำนวน ส.ส.พึงมี แต่ถ้าเปรียบเทียบแล้วมี ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 

ทั้งหมดนี้เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีใครสามารถตั้งสูตรเอาเองหรือตีความสูตรกันเองได้ และเมื่อกฎหมายบัญญัติชัดเจนโดยลายลักษณ์อักษรแล้วก็ไม่มีกรณีใดต้องตีความ จะไปอ้างการอภิปรายในการประชุมหรือเอกสารในการประชุมที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้แทนกฎหมายย่อมไม่ได้ 

เพราะกฎหมายนั้นบังคับให้ทุกคนต้องรู้กฎหมาย คือต้องรู้ว่ากฎหมายบัญญัติอย่างไร ซึ่งต้องดูจากตัวบทกฎหมายนั้น ไม่ใช่ต้องไปถามคนร่างกฎหมาย มิฉะนั้นกฎหมายก็ไม่มีความหมายใด ๆ และจะไปบังคับให้คนทั้งปวงว่าต้องรู้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นความวิปริตแห่งนิติปรัชญาโดยแท้ 

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดรวม 150 คนนั้น ต้องนำไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งเท่านั้น จะนำไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งไม่ได้ หากนำไปจัดสรรก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ปัญหาใหญ่ที่เป็นจุดอับในเรื่องนี้ก็คือ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีผลให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน ให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งได้จนหมด 150 คน จากตัวเลขในปัจจุบันนี้เป็นไปได้ว่าหลังจากนำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.เขตตามสัดส่วนแล้ว จะยังคงมี ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์คงเหลืออีก 20-30 คน แล้วจะจัดสรรกันอย่างไร 

เพราะจะจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งก็ไม่ได้แล้ว เพราะได้จัดสรรไปจนเท่ากับจำนวน ส.ส.พึงมีแล้ว ครั้นจะนำไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถ้ายังมีจำนวนคงเหลือก็จะทำให้จำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ 150 คน และทำให้ยอดรวมไม่ครบ 500 คน ก็จะผิดรัฐธรรมนูญอีก ตรงนี้เป็นจุดอับที่ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีทางออกทางเดียวเท่านั้นคือการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติ สำหรับกรณีที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ก็จะเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ.

เข้าใจสื่อ-โซเชียล และทางออกที่ปลอดภัยเมื่อธนาธร-ปิยบุตร กำลังถูกล่าแม่มด

เข้าใจสื่อ-โซเชียล และทางออกที่ปลอดภัยเมื่อธนาธร-ปิยบุตร กำลังถูกล่าแม่มด

ปรากฏการณ์แบ่งขั้วการเมืองเห็นชัดเมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ถูกปลุกผีล้มเจ้า-สถาบันขึ้นมาอีกครั้งหลังเลือกตั้งบนโลกโซเชียล ตามมาด้วยการดำเนินการทางกฎหมาย สะท้อนชัดว่าสื่อและโซเชียลมีเดียกำลังเป็นวิทยุยานเกราะ V.2 ประชาไทชวนเข้าใจปรากฏการณ์และหาทางออกกับนักวิชาการด้านสื่อใหม่
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สปอตไลท์การเมืองและสังคมถูกแบ่งไปที่ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคเพิ่งสร้างเซอร์ไพรส์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งแล้วได้จำนวนที่นั่งเป็นอันดับ 3 จนต่อมาแกนนำคนสำคัญของพรรคโดยเฉพาะ ปิยบุตร ถูกแปะป้ายผ่านสื่อโซเชียลและสื่อมวลชน ด้วยการปลุกผีเรื่องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งจากเนื้อหาที่ถูกตัดต่อ บิดเบือน
มิพักการเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตที่มีการปลุกระดมขึ้นมา ทั้งมัลลิกา บุญมีตระกูลที่ประกาศรื้อฟื้นชมรมนักรบไซเบอร์ สุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกร้องคนไปเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย ข่าวคราวเรื่องการสร้างนักรบไซเบอร์ของกองทัพ หรือล่าสุดกระแสลงชื่อถอดถอน กกต. ใน change.org ที่เป็นกระแสจนล่าสุดตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยไปเจ็ดคนข้อหาแชร์เรื่องดังกล่าว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมรภูมิการเมืองใหม่ของไทยจะย้ายแพลตฟอร์มไปอยู่ในภพภูมิที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (ถ้าเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต)
ลงโฆษณากับประชาไท
นับถอยหลัง #เลือกตั้ง62 วันอาทิตย์ 24 มีนาคม 2562
การถูกทำลายภาพลักษณ์ออกสื่อโซเชียลไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่แกะกล่อง หากแต่การสาดโคลนภายใต้บริบทสื่อโซเชียลที่ทรงพลังตามจำนวนผู้ใช้ ผู้แชร์ก็ถือเป็นความตกต่ำใหม่ของการเมืองไทยที่พัฒนาการเชื่องช้ากว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย
สิ่งที่เห็นตามมาคือเฉดขั้วทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองของคนไทยที่แบ่งฟากชัดเจนยิ่งกว่ายุคไหน จนน่ากลัวว่าโลกสองใบจะขยายวงออกเป็นจักรวาลคู่ขนานทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ต และร้ายแรงที่สุดคือสงครามกลางเมือง เหตุการณ์นองเลือดที่คนไทยฆ่าคนไทยกันเองอย่าง 6 ต.ค. 2519 ที่หลายคนกังวลและพยายามจะหยุดยั้ง และแน่นอน การสื่อสารผ่านสื่อมีส่วนอย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ทั้งสองทาง
ประชาไทชวนดูคำอธิบายว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในสังคมไทย สื่อไทยควรทำอย่างไรในยุคที่เอกสิทธิ์การชงประเด็นความรับรู้ของสาธารณะร่วงผ่านง่ามมือง่ามเท้า ประเทศอื่นจัดการการปลุกปั่นข้อมูลกันอย่างไร และการสื่อสารอย่างไรที่จะหยุดยั้งซึ่งความรุนแรง

ม็อบยุคใหม่เมื่อสื่อ-โซเชียล มีผลกับการตัดสินใจของคน

ปิยบุตรและธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกแปะป้าย สร้างภาพให้เป็นผู้มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองเมื่อปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดต่อคำพูดของธนาธรใส่เป็น Quote หรือการยกเอาคำพูดเขามาให้มีใจความโจมตีเศรษฐกิจพอเพียง หรือการเอาประวัติของปิยบุตรในฐานะนักเรียนทุนจากฝรั่งเศสและสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ที่มุ่งหมายแก้ไข ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และตัดต่อคลิปวิดีโอการปราศรัย แถลงข่าวของปิยบุตรเพื่อสร้างแบรนด์การ ‘ล้มเจ้า’
ปรากฏการณ์เหล่านี้คลับคล้ายคลับคลาจะเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองอินโดนีเซียที่มีการตัดต่อเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดความเชื่อตามศาสนาอิสลามเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งทำได้ง่ายดายในบริบทที่มีกฎหมายหมิ่นศาสนา (Blasphemy Law) ในขณะที่บ้านเราใช้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และการยุยงปลุกปั่น เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่ธนาธรถูกฟ้องโดยฝ่ายกฎหมายของคณะรัฐประหาร
แกนกลางของการสร้างชาติหรือสิ่งที่มวลชนจำนวนมากของประเทศมีความรู้สึกอ่อนไหว ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธที่ทรงพลังเพื่อทำลายล้างคนที่ตัวเองไม่เห็นด้วยดังที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบันให้สัมภาษณ์สื่อว่า สื่อโซเชียลทรงพลังกว่าอาวุธที่กองทัพมี อย่างไรเสีย สื่อโซเชียลเดียวกันนี้ผลิตคนแบบอุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี ที่ไปแจ้งความว่าปิยบุตรเป็นภัยต่อความมั่นคง จากการชมคลิปวิดีโอของปิยบุตรที่ถูกตัดต่อ
ผศ.เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟูลเลอร์ตัน และอดีตนักข่าว อสมท. ผู้ศึกษาเรื่องสื่อใหม่ อธิบาย ‘ธนาธร-ปิยบุตร เอฟเฟค’ ว่าจังหวะการออกมาโจมตีเหมือนต้องการเล่นงานพรรคอนาคตใหม่มีการสร้างเฟสบุ๊คเพจและสื่อมาเล่นงานโดยตรง มีสอง-สามสำนักออกมาโจมตีด้วยข้อหาร้ายแรง ทำมีมเรื่องล้มเจ้าออกมา อาจเป็นเพราะความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ที่ออกมาผ่านการเลือกตั้งนั้นออกจะเกินหน้าเกินตาไปหน่อย
“สิ่งที่จะเกิดในเมืองไทยคือต้องระวังการพ่นความเท็จออกมาเรื่อยๆ แล้วทำให้คนโกรธเคืองธนาธร ปิยบุตร แล้วเชื่อไปในความเท็จที่เขาถูกตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มบางกลุ่ม ก็จะมีกลุ่มที่โกรธสุดๆ ที่คิดว่าสองคนนี้แย่จริงๆ ผู้ที่ติดตาม (follower) ของปิยบุตรกับธนาธร คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกโกรธที่เขาไปออกเสียงครั้งแรกแล้วทำไมมันเพี้ยนอย่างนี้ ความโกรธก็อาจทำให้เกิดการเมืองบนท้องถนนได้ ช่วงนี้ก็อ่อนไหวเหมือนกัน คนที่มีอำนาจควรออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้สังคมล่มสลาย ความจริง ความยุติธรรมมันหายาก คนควรจะทำอะไรที่เป็นหลักการก็ไม่ทำ” เพ็ญจันทร์กล่าว
เพ็ญจันทร์เริ่มจากการอธิบายกลไกการจัดสรรเนื้อหาที่ผู้ใช้ชอบหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘อัลกอริธึม’ ซึ่งเบื้องหลังก็เป็นผลจากการวิจัยที่เฟสบุ๊คทำเอง และการเข้ามาของโซเชียลมีเดียมีผลกับพฤติกรรมการรับสื่อและอิทธิพลทางการเมืองของผู้บริโภคมาก
“สื่อมีผลกับการตัดสินใจของคนอยู่แล้ว การรับรู้ข่าวสารของคน สื่ออย่างโซเชียลมีเดีย ตอนที่ทรัมป์ (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน) ใช้ทวิตเตอร์ทวีตทุกวันช่วงปี 2016 คนก็รู้สึกว่าเข้าถึงนักการเมืองได้ เหมือนเรารับข้อความจากนักการเมืองโดยตรง แล้วก็มีอีกอย่างที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์การเมือง คือเรื่องการใช้บอท โซเชียลมีเดียในการแพร่กระจายข่าวสาร สร้างขึ้นมาเป็นบัญชีผู้ใช้ปลอมบ้าง บิดเบือนข้อมูล กระจายข้อมูล ส่วนมากก็จะเป็นการรีทวีตข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ”
“ต้องเข้าใจโครงสร้างเฟสบุ๊คก่อน เฟสบุ๊คให้เราแชร์เนื้อหาโดยที่เฟสบุ๊คเองก็ต้องหากำไรด้วยการขายโฆษณา เฟสบุ๊คทำการทดลองหนึ่งในปี 2014 ที่ทดลองกับผู้ใช้หลักล้านโดยทำการจัดการฟีดโดยที่คนไม่รู้ ลองเอาข้อมูล ข้อความที่ทำให้คนรู้สึกดีและไม่ดีให้คนเห็นแล้ววัดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร และพบว่าถ้าเป็นเรื่องไม่ดี ผู้ใช้เขาจะหงุดหงิด เลิกดูเฟสบุ๊ค จึงพบว่ามีผลกับอารมณ์ของคน
“คนก็นำผลการทดลองมาใช้อ้างอิงว่าการจัดการหน้าฟีดมีผล คนจะไม่อยู่ถ้าเจอเรื่องไม่ดีมากๆ เฟสก็อาจจะเสียรายได้ มันก็จะมีฟิลเตอร์ว่าถ้าเราชอบเนื้อหาแบบไหน สรุปว่าถ้าอะไรที่ไม่สบอารมณ์กับเรา เรากดโกรธ หรือไม่ปฏิสัมพันธ์กับฟีดนั้นเราก็มีโอกาสที่จะเห็นมันน้อยลง ทำให้ความเห็นทางการเมืองมันกลายเป็นขั้วตรงข้าม ดิ่งลึกลงไปเรื่อยๆ”
เพ็ญจันทร์ระบุว่า โซเชียลมีเดียมีผลกับระยะการให้ความสนใจ คนอ่านอะไรยาวๆ ไม่ได้ และการทำให้เป็นจุดสนใจบนหน้าฟีดที่คนเลื่อนดู ก็คือการทำมีมที่มีเนื้อหานิดหน่อยให้เป็นจุดสนใจ
ในส่วนของพฤติกรรมผู้ใช้งาน อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเล่าว่า เคยมีงานวิจัยในปี 2555 เรื่องการจัดตั้งการประท้วงบนโซเชียลมีเดียของ W. Lance Bennett & Alexandra Segerberg หัวข้อ THE LOGIC OF CONNECTIVE ACTION ที่ตั้งข้อสังเกตว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยจัดการความไม่พอใจ และมีส่วนจัดตั้งการลงสู่ถนนแบบใหม่ เป็นพื้นที่ที่คนใช้แสดงออกซึ่งการกระทำในโลกความเป็นจริง อย่างเช่น การชุมนุมปิดล้อมย่านการเงินระดับโลกของ Occupy Wall Street ที่มากับสโลแกนว่าพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  แล้วทำให้เชื่อมโยงกับประชาชนคนอื่นในลักษณะที่ข้ามอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ สีผิว คนก็ออกไปแสดงออกแบบเป็นกลุ่มบ้าง คนเดียวบ้าง ถ่ายเซลฟี่ ติดแฮชแท็กลงโซเชียล การกระทำเช่นนั้นส่งอิทธิพลกับคนอื่นต่อในลักษณะว่า เพื่อนฉันหรืออาจารย์ฉันก็ไปมาแล้ว
“สื่อโซเชียลมีเดียมีลักษณะคือมันผูกให้คนติดกันเป็นชุมชนเครือข่าย (network community) สิ่งที่เราแสดงออกในโซเชียลมีเดีย มันเหมือนมีอิทธิพลกับคนที่นั่งอยู่ติดกับเรา เราไม่ต้องไปดีลกันในทางกายภาพ เหมือนอยู่ในเครือข่าย เป็นเพื่อนกันแบบหลวมๆ ภูมิทัศน์เครือข่ายแบบนี้ก็ทำให้เราและคนอื่นมีอิทธิพลต่อกันและกันต่างมากน้อย เช่น วันนี้กินอะไรดี และเรื่องใหญ่อย่างการเมือง” เพ็ญจันทร์กล่าว

ชวนเข้าใจ-ทำใจกับสื่อไทย หาเส้นทางสื่อสารอย่างสันติ

ทุกวันนี้ สื่อถูกช่วงชิงพื้นที่การรับรู้และการกำหนดวาระทางสังคมไปโดยสื่อโซเชียล แต่สื่อก็หนีไม่พ้นข้อรับผิดชอบจากการนำเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตออกมาใช้งานอีกต่อหนึ่ง กรณีรายการข่าวช่องเนชั่นนำคลิปเสียงตัดต่อที่อ้างว่าเป็นของธนาธรและทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อสื่อเติมเชื้อไฟลงไปในความขัดแย้งด้วยการรายงานข่าวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
แม้เหมือนขีดเส้นบนผืนทราย เพ็ญจันทร์ตอบคำถามเรื่องบทบาทสื่อด้วยการทวงถามหน้าที่การค้นหาความจริงที่ในประเทศนี้หายากและเสี่ยงภัย
“สื่อไม่เคยไม่เลือกข้าง เคยทำงานที่สถานีโทรทัศน์มาก่อน สื่อกระแสหลักจริงๆก็ต้องถามตัวเองว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร หน้าที่หาความจริงหรือเพื่อทำไปเพื่อให้มีงานทำ พรุ่งนี้จะได้มีเงินไปผ่อนคอนโดหรือให้ลูกไปเรียนหนังสือ แต่ก็เข้าใจว่ามีปัจจัยเยอะ ตั้งแต่ทำสื่อมาที่มีวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2003 มันไม่มีที่สื่อไม่เลือกข้าง สื่อเลือกข้างมาตลอด ตั้งแต่ตัวคุณเองแล้วว่าเซ็นเซอร์ตัวเองขนาดไหน หรือเจ้านายบอกว่าข่าวนี้เสนอไม่ได้นะ หรือหัวหน้าแผนกติดป้ายไว้ที่ห้องตัดต่อว่า ต่อไปนี้ภาพคนนี้รับดอกไม้นี่ห้ามเสนอนะ ห้ามนำเสนอภาพในเชิงภาพลักษณ์ที่ดีของอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง”
“มีนักการเมืองคนหนึ่งเคยพูดเลยนะว่าคุณทำช่องนี้เนี่ย เราอยู่กระทรวงการคลัง เราสนับสนุนคุณอยู่ คุณก็ช่วยรัฐบาลบ้างสิ นี่คือคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยหนึ่งให้เราช่วยรัฐบาลในการปิดบังความจริงอะไรบางอย่าง คือมันทำยาก สื่อกระแสหลักของเราก็ไม่เข้มแข็งเหมือนที่เห็นในสหรัฐฯ ที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐทุกมิติ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดี มันมีข้อจำกัดเยอะ พอพูดไปก็จะกลายเป็นแก้ตัวแทนสื่อกระแสหลัก”
“ปัญหาคือมันต้องถามว่าคุณอยากได้สังคมแบบไหน อย่างมีเด็กคนหนึ่งที่ไปทำงานที่สำนักข่าวทีนิวส์ ที่เขาก็บอกว่าเขาต้องทำงานตามที่โดนสั่งมา ทำงานเป็นรีไรเตอร์ แล้วสุดท้ายคุณอยากได้สังคมแบบไหน สังคมที่ใส่ร้ายคนไปเรื่อยๆ ไม่ให้ความยุติธรรมกับใครเลย โดยที่คุณก็เชื่อว่าคุณจะพูดความเท็จไปได้เรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งคุณก็รอดพ้นจากสิ่งนี้ หรือคิดว่าวันหนึ่งคุณจะไม่เป็นเหยื่อของสิ่งนี้ ความอยุติธรรมมันจะไม่ไปกระทบกับตัวคุณ พ่อแม่หรือคนที่คุณรัก คุณอยากจะอยู่ในสังคมที่คนมีอำนาจทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีการตรวจสอบ”
“เราก็ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำ แม้เวลาเราจะโพสต์อะไรเราก็ต้องคิดว่าการโพสต์มันเป็นการสื่อสารกับคน คุณจะพูดจริงหรือเท็จ จะพูดให้ใครเสียหาย พูดให้ปิยบุตรไปโดนล่าหรือจะให้มีคนลุกไปทำร้ายปิยบุตรเหมือนสมัยก่อนที่มีคนไปทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ที่ลานจอดรถธรรมศาสตร์ คุณต้องการให้สังคมไปสู่จุดนั้นหรือ แล้วถ้าวันหนึ่งมันกลับข้างล่ะ มีคนไล่ล่าเราบ้าง นี่คือสังคมที่เราต้องการหรือ”
“อย่างที่มีคนไปคอมเมนท์ล่าสุดคือปิยบุตรไม่ควรมีแผ่นดินอยู่ ไม่ควรเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ แนวคิดแบบนี้มันโอเคหรือเปล่า เวลามีคนที่คิดไม่เหมือนคุณแล้วคุณไล่เขาออกนอกประเทศเพราะคุณบอกว่าสิ่งที่เขาคิดไม่เหมาะสมกับประเทศ นี่คือสังคมที่คุณอยากอยู่ไหม เพราะคิดว่าสิ่งนี้ไม่มีวันจะเกิดกับคุณได้ แล้วไล่คนออกไปได้มันแก้ปัญหาหรือเปล่า คุณไล่คนออกไปแล้วด้วย สองคนเป็นอดีตนายกฯ แล้วผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นยังไง คือคุณไล่เขาไปแล้วแต่ความคิดเขายังอยู่ หรือคุณจะฆ่าเขาไป ความคิดก็ยังอยู่ หมดปิยบุตรไปแล้วก็ยังมีคนที่คิดแบบปิยบุตร แล้วเขาอาจจะมายืนแถวหน้าเหมือนปิยบุตรก็ได้ แล้วคุณยังจะกำจัดคนแบบนี้ไปอีกเท่าไหร่ จะล่าแม่มดไปอีกกี่คน”

ประชาชนจะตรวจสอบสื่ออย่างไรได้บ้าง

ประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่มั่นคงกว่าไทย (อย่างน้อยมีการจัดการเลือกตั้งสม่ำเสมอ ไม่มีรัฐประหาร) ต่างเจอปัญหาการใส่ข้อมูล เนื้อหาปลอมในอินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น แต่ประชาชนมีส่วนช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงกันเอง ยกตัวอย่างเช่นเวราไฟล์ (Verafile) ในฟิลิปปินส์ เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่คอยตรวจสอบข่าวสาร แถลงข่าวจากทางการที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตว่ามีความถูกต้องหรือไม่ หรือกลุ่มโคแฟคท์ (Cofact) ในไต้หวันที่เป็นเครือข่ายประชาชนที่ช่วยกันเช็คข้อเท็จจริงผ่านทางไลน์แล้วส่งต่อกันผ่านแชทบอท ในขณะที่เรายังไม่เห็นการจัดตั้งกันเป็นกลุ่มชัดเจนเช่นนี้ในไทย จะมีก็แต่ตัวบุคคลที่มาเป็นครั้งคราว
เพ็ญจันทร์ ในฐานะอดีตสื่อมวลชนบอกว่าประชาชนเองก็ต้องตรวจสอบสื่อกลับด้วย อินเทอร์เน็ตทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้นมาก ในส่วนการลดความเป็นขั้วของการรับรู้ข่าวสารนั้น เธอแนะนำให้บริโภคข่าวสารของทั้งสองขั้ว ดัดแปลงนิวส์ฟีดด้วยการกดดูข่าวของทั้งสองฝั่งเรื่อยๆ เพื่อให้ข่าวทั้งสองฝั่งขึ้นมาบนฟีด ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละคนก็มีอคติเป็นของตัวเอง
“ต้องรับข่าวสารให้บาลานซ์กัน ต้องรับข่าวสารจากกลุ่มที่เราไม่ชอบด้วย นี่คือวิธีแก้ที่มีอยู่ในการรับข่าวสาร แต่มันก็ยากที่จะทำอย่างนั้นเพราะคนก็มีอคติอยู่ในใจอยู่แล้ว เราต้องพยายามเป็นคนที่เคารพสิทธิของคนอื่นด้วย เขาพูดในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับเราแต่เขาก็ควรมีเวทีให้เขาแสดงความเห็น แต่มันยากในสังคมไทยที่เห็นอะไรที่ไม่ชอบหน่อยก็ซ่อนคอมเมนท์ อันเฟรนด์ หรือพูดสาดเสียเทเสีย ก็ไม่เกิดผลดีกับใคร กับตัวเองด้วยที่ไม่เข้าใจว่าอีกฝั่งคิดยังไง”
ต่อเรื่องการเคารพสิทธิกับการพูดนั้น เพ็ญจันทร์ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่ประกันเสรีภาพในการพูดในบัญญัติสิทธิ (Bill of Rights) แต่ว่าก็มีกรอบว่าต้องไม่ไปทำลายชื่อเสียงใคร หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นช่องให้มีการฟ้องร้อง
“ในอเมริกามีกฎหมายเรียกว่า freedom of speech ที่คุ้มครองการแสดงออกของผู้คน มหาวิทยาลัยเคยเชิญนักพูดที่เป็นอนุรักษ์นิยมมาก พอเชิญมาแล้วมหาวิทยาลัยก็ต้องจ้างตำรวจมารักษาความปลอดภัยและเสียเงินเยอะมาก คนก็วิจารณ์ว่าไปเชิญมาทำไม ขวาจัดมาก ทำไมต้องลงทุนให้คนเหล่านี้มาพูด คนก็ถกเถียงกัน แต่ในแง่กฎหมายเขาก็มีสิทธิจะพูดในสิ่งที่อนุรักษ์นิยมมากๆ โดยที่มีกรอบว่าต้องไม่ทำลายชื่อเสียงของใคร หรือกล่าวหาคนโดยที่ไม่มีมูล การพูดโดยเสรีก็มีกฎหมายอยู่ ไม่ใช่ว่าพูดอะไรก็ได้จนเลยขอบเขตกฎหมาย ประกันสิทธิ แต่ไม่ใช่ว่าพูดความเท็จไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นก็โดนฟ้องตาม” อาจารย์ชาวไทยในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว
ความมั่นคงของชาติอย่างที่เขาอ้างกันนั้นตั้งอยู่บนความจริงหรือคำโกหกกันแน่ จุดเริ่มต้นเล็กๆ อาจอยู่ที่ประชาชนช่วยกันตั้งคำถามและลองสานเสวนา

เครือข่ายนักวิชาการ นัดพรุ่งนี้ บุกกกต. จี้ตอบ 3 คำถาม ยันพร้อมให้ฟ้องเหมือนประชาชน !!

เครือข่ายนักวิชาการ นัดพรุ่งนี้ บุกกกต. จี้ตอบ 3 คำถาม ยันพร้อมให้ฟ้องเหมือนประชาชน !!

วันที่ 9 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง-คนส. ขอเชิญพี่น้องประชาชนมาร่วมกันยื่นหนังสือ และสอบถามต่อ กกต. ใน 3 ประเด็น
1) การเปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง
2) ความถูกต้องและเป็นธรรมของสูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
3) การถอนฟ้องประชาชนที่วิจารณ์การทำงานของ กกต.
ในการนี้จะมีการนำรายชื่ออาจารย์/นักวิชาการ ที่ได้ร่วมลงชื่อและแชร์การลงชื่อถอดถอน กกต. ใน Change.org ไปยื่นให้กับ กกต. ด้วย โดยอาจารย์-นักวิชาการตามรายชื่อยินดีให้ กกต. ฟ้องร้องดำเนินคดีเหมือนเช่นประชาชนทั่วไป
พบกันวันพุธที่ 10 เมษายน 2562 เวลา 11.00 น. ณ โถงชั้น 1 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร B ด้านทางเข้าสำนักงาน กกต.

ทำลาย “อนาคตใหม่” เพื่อความมั่นคงของ “อนาคตเก่า”

การเมืองไทยในเดือนเมษายน ถือว่าไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไป นักการเมืองสงบปากสงบคำในโอกาสพิธีสำคัญของแผ่นดิน จะกลับมาระอุใหม่ กลางพฤษภาคมเป็นต้นไป ระหว่างนี้ชมปาหี่คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สลับกับดู ความพยายามในการทำลาย “อนาคตใหม่” เพื่อความมั่นคงของ “อนาคตเก่า”​
หลังการปรากฎตัวที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา “ธนาธร” วางแผนจะเงียบเสียงไปอีกพักใหญ่ จนกว่าจะเลยพ้นสงกรานต์ไป ผู้มีอำนาจคงเห็นแล้วว่า ปฏิบัติการทำลาย “อนาคตใหม่” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผ่านคดีความมาตรา 116 นำไปสู่ผลแบบใด- ปรากฎการณ์แบบใด
เป็นอันว่ามีกำลังใจจากคนรุ่นใหม่มอบให้ “ธนาธร” เป็นจำนวนมาก ปรากฎเป็นภาพผู้คนเนืองแน่นรายล้อมธนาธร ทั้งที่สยาม ทั้งที่งานสัปดาห์หนังสือ ทั้งที่พรรคอนาคตใหม่ และที่หน้า สน.ปทุมวัน
เป็นอันว่ามีคะแนนนิยมเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน อันเป็นผลจากการได้เห็น คณะเผด็จการมุ่งทำร้าย-ทำลาย “ธนาธร-อนาคตใหม่” ผ่านวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะผ่านปฏิบัติการ IO และปลุกคดีความย้อนหลัง

https://lh4.googleusercontent.com/nUTqcdQoYoiPXrVQZ9zRtzd-TtCPWexTPK_83j0rHz5PKwrrcqo8irx9Kq9ymq_mO_L1TMGOnhM2GB_nRTupxcHSUkDLFBerUD8NeJFxuPba6PI3X5nBgtHZc8Ssv78WcopeT1vMhttps://lh3.googleusercontent.com/w8F3Pv17UJXTcrhs6tl-4QWfqwHsJi1ivlM5QhzTxDWmx3Cf_UeP9yvS_aDgQRK4vZFXdUEdOoyQrJxBnE4H10o1GB1v4kr3lPaVhYpzzCm12mjV2kGvv-6Cfezkmjpc-GsDSVEj
เป็นอันว่าหนังสือของ “ปิยบุตร-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่” ที่เคยเขียนไว้สมัยเป็นนักวิชาการ ก็ขายดีทุกเล่ม จนบูธฟ้าเดียวกันต้องตอบผู้อ่านว่า “หนังสือหมดสต๊อคแล้ว” เพราะตลอดงานสัปดาห์หนังสือ ที่หน้าบูธฟ้าเดียวกัน เต็มไปด้วยแผงคนรุ่นใหม่ ไปยืนเลือกซื้อหนังสือ ไปคว้าหนังสือทุกเล่มของปิยบุตร และของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกลับบ้านไปเป็นจำนวนมาก
บรรยากาศการ “ปักธงทางความคิด” เป็นไปอย่างประสบความสำเร็จ หลายเสียงบอกว่าต้องขอบคุณนักร้องชื่อดังที่ช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ขายหนังสือให้ “ปิยบุตร”​ จนขายดิบขายดี ทว่านี่คือ “วิถีการต่อสู้” ฉบับคนรุ่นใหม่ เมื่อพวกเขาถูกโจมตีว่าหัวอ่อน เชื่อคนง่าย ก็รีบศึกษาค้นคว้าทันที เพื่อจะพิสูจน์ว่า “ข้อโจมตีเหล่านั้นผิดพลาดอย่างร้ายกาจ”

https://lh5.googleusercontent.com/AayNAf_a92wtTn8DUzMSQli-DYJ3UwXqtPQduW99L8DukKDqqLmmxsFjO5cMPOvnY8ygGRx_SwhPDyNnKZjzajH0PihAq9AgbXgY6QoXezkuXRsZVArEmWRcGC2RcVdNoHlS9Ha-
เสาร์ที่ผ่านมา ธนาธร โดยฟ้องด้วย ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น
มาตรา 189 ให้ความช่วยเหลือพาผู้ต้องหาหลบหนี
และมาตรา 215 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน
ธนาธร ประกาศตั้งแต่ก่อนไปรายงานตัว,ก่อนเข้าไปรายงานตัว และหลังจากรายงานตัว เป็นฉากฉากอย่างชัดเจน และไม่หวั่นกลัวต่ออำนาจมืดว่า
“ผมไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจรัฐในมือ ไม่มีมาตรา 44 ไม่มีปืนหรือคุกตารางไว้จัดการคนที่อยู่ตรงข้าม แต่ผมเชื่อมั่นว่ามีประชาชนหลายล้านคนที่รักความเป็นธรรม ยืนเคียงข้างผม และพร้อมจะแสดงออกว่าพวกเขาไม่ยอมทนกับอำนาจมืดที่จ้องทำลายอนาคตใหม่”
“ผมเชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์ ที่ผ่านมาทำทุกอย่างอย่างบริสุทธิ์ใจ การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไม่ผิด เป็นสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิ์ลุกขึ้นมาต่อต้านได้ ทั้ง 3 ข้อหานั้น ไม่มีความกังวลใจ แต่ถ้าจะมีอยู่บ้างก็แค่คดีนี้ไม่ได้ขึ้นศาลพลเรือน แต่เป็นศาลทหาร ซึ่งผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตต่างๆ ก็ได้แสดงความเป็นห่วงในตัวรูปคดี ว่าทำไมขึ้นศาลทหาร”
"อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของผม เพราะมันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทุกคน"
"ความอยุติธรรมที่ทำกับเราคนหนึ่ง ก็คือความอยุติธรรมที่ทำกับเราทุกคน ดังนั้นฝากไว้ สู้ด้วยกันวันนี้วันแรก"
ให้หลังการปราศรัยเสร็จสิ้น ธนาธร ชูสามนิ้ว สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านเผด็จการไทย และระบอบอยุติธรรมแบบไทยไทย ภาพดังกล่าวแพร่กระจายออกไปทั่วโลก

https://lh4.googleusercontent.com/-4Lh2NL5IQ3OFaTXY_kFfIg2_ZYEE9-_jMtm5IjGdN8FFO0uIgnadwiPGQRQBvVHchMMD9-4rvRkYQGTL2k4-GeVhcCjPjub9iT5JlngPs2nynjMk0ukZmNrJ5qfguxCpAJGYDd9
ในบรรดาหลายข้อสังเกตทั้งหลาย ต่อ อนาคตของ “อนาคตใหม่”
ข้อสังเกตของ “ชูวิทย์” น่ารับฟังไม่น้อย โดยเฉพาะหากพิจารณาบนฐานความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง ชูวิทย์กับผู้นำกองทัพในเวลานี้
“อนาคตใหม่ถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้านแน่นอน”
“หากเดินไม่ดี มีโอกาสที่ธนาธรและเลขาฯพรรคอย่างปิยบุตร จะถูกกำหนดเกมเร็ว การเมืองเล่นงานจนไม่ทันตั้งตัว พรรคร่วมอุดมการณ์หายหน้า ถูกโดดเดี่ยวกลางทะเล”
ความพยายามในการปิดเกมส์เร็วเห็นได้จากจำนวนคดีความที่่พุ่งตรงไปยัง ธนาธร ปิยบุตร และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า มากกว่า 12 คดี ขณะที่สื่อฝ่ายขวาสร้างภาพให้ “ธนาธร” เลวร้ายยิ่งกว่า​ “ทักษิณ” และเป็นวายร้ายที่จำเป็นต้องกำจัดก่อนเข้าสู่สภา
นัยยะของการปิดเกมส์เร็วที่ “ชูวิทย์” ได้ตั้งคำถามไว้ จึงเป็นความพยายามในการทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ “ธนาธร” เข้าสู่สภา เพราะหากปล่อยไปถึงจุดนั้น จะเป็นภาคต่อของ “อนาคตใหม่ติดปีก” ได้อวดลวดลายในการเป็นฝ่ายค้านแบบมีชั้นเชิง และมีคุณภาพสูง ในระดับที่รัฐบาล คสช. ก็อาจระส่ำได้จากมือปราศรัยทีมอนาคตใหม่ ที่ไม่ได้เน้นสู้ด้วยวาทกรรมแบบพรรคฝ่ายค้านพรรคเก่าตลอดกาล แต่เน้นสู้ด้วยข้อเท็จจริง และวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา-เปิดประเด็นใหม่ใหม่ทางการเมือง
ทว่าในความพยายามทำลายอนาคตใหม่วันนี้ ต้องใช้คำว่า “ไม่ง่าย”
ไม่ง่ายเพราะต้องประเมินบนฐานคะแนนเสียง 6.2 ล้านเสียง
ไม่ง่ายเพราะต้องประเมินบนฐานว่า ความหวังของคนรุ่นใหม่ ความหวังของผู้เลือกตั้งครั้งแรก ความหวังของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ความหวังของผู้รักประชาธิปไตย ได้ฝากไว้กับอนาคตใหม่เป็นจำนวนมาก การดับความหวังของผู้คนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ อาจนำไปสู่การปะทุรุนแรง ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ จึงบีบให้ผู้มีอำนาจต้องประเมินให้ดี!!
ความพยายามในการทำลาย “ธนาธร” ในเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังเป็นความพยายามในการทำลายแนวร่วม ที่ได้เคยร่วมลงนามกันใน “สัตยาบันแลงคาสเตอร์”
เหมือนที่ “ภูมิธรรม” ออกมาให้ความเห็นว่า “ผมขอเป็นกำลังใจให้ “คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และคณะผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ ในสถานการณ์ที่ถูกมุ่งร้ายทางการเมืองครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่มีจุดยืนและเจตนารมณ์เพื่อประชาธิปไตยที่แน่วแน่ และเป็นหนึ่งใน 6 พรรคการเมือง ที่ได้ร่วมลงสัตยาบันเป็นแนวร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.”
และ “หยุดคุกคามพรรคการเมืองและบุคคลที่มีความเห็นต่าง”
ผู้มีอำนาจไม่เพียงเดินเกมส์โดยใช้วิธีบิดกติกาการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวอยู่แล้ว ให้บิดเบี้ยวกว่าเดิม เพื่อให้ตัวเองสามารถเข้าสู่อำนาจได้อย่างราบรื่น เห็นได้จาก กรณี กกต.เผยวิธีการคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งปัดเศษให้พรรคเล็กพรรคน้อยฝ่ายหนุน คสช.ได้เข้าสภาร่วมสิบเก้าอี้ เป็นการตัดกำลังพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้ฟอร์มรัฐบาลได้ยากขึ้น
ผู้มีอำนาจยังเดินเกมส์คู่ขนานด้วยการกำจัดตัวละครฝ่ายประชาธิปไตย ออกไปด้วย เป็นความพยายามในการทำลาย “อนาคตใหม่”​ เพื่อความมั่นคงของ “อนาคตเก่า”!!