PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

ไม่มีส.ส.เขตไม่มีปาร์ตี้ลิสต์

ไม่มี ส.ส. เขต ก็ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์
โดย สิริอัญญา 
วันพุธที่ 10 เมษายน 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ให้บทพิสูจน์สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ตลอดจนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างชัดเจนที่สุด และส่อเค้าว่าจะมีปัญหามากหลายเกิดขึ้น กระทั่งมีความเสี่ยงว่าการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ ยังไม่รวมถึงการเกิดความแตกแยกและการไม่ยอมรับอย่างกว้างขวาง 

ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่มีราคาแพงที่สุด คือใช้เวลาร่างนานมาก เกือบจะเท่ากับระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญในยุครัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส และเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากที่สุด หากจะคิดเป็นเงินก็หลายพันล้านบาท 

ในเบื้องต้นก็เห็นชัดว่ามีปัญหาความไม่แน่นอนของบทบัญญัติต่าง ๆ แฝงฝังอยู่เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากก่อนรัฐธรรมนูญใช้บังคับก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหลายครั้ง แม้หลังรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้วก็มีข้อถกเถียงในเรื่องความหมายของแต่ละบทมาตราตลอดมา 

และล่าสุดนอกจากจะเถียงกันเรื่องความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย ล่าสุดก็มีข่าวว่าอาจต้องจัดเลือกตั้งใหม่ถึง 66 เขต 

และประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันตลอดสิบวันที่ผ่านมาก็คือการจัดสรร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคต่าง ๆ เพราะทันทีที่มีการแจ้งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และสื่อมวลชนได้รายงานตัวเลข ส.ส. รวมของแต่ละพรรคแล้ว ก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย ที่สำคัญคือในเรื่องการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์ 

โดยมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า สูตรในการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์เป็นอย่างไร ทำไมบางกรณีจะต้องอาศัยคะแนนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 70,000 คน จึงจะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แต่ในตอนท้าย ๆ ก็ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 30,000 คน ก็ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนแล้ว 

ที่สำคัญคือพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้งเลย ถูกระบุโดยสื่อมวลชนว่าจะได้รับ ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์ 7 คนบ้าง 5 คนบ้าง กระทั่ง 1 คนบ้าง ซึ่งมีถึง 8 พรรค ที่ได้รับจัดสรรในลักษณะนี้ ในขณะที่พรรคที่ไม่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้งอีกราว 70 พรรค ไม่ได้รับการจัดสรรเลย 

ทำให้นักวิชาการหลายคนออกมาทักท้วงว่า การจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ดังกล่าวนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้สื่อมวลชนรายงานข่าวตามมาว่าการแจ้งผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ยังไม่มีสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ จึงเป็นเหตุให้มีการนัดประชุมร่วมระหว่าง กกต. กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็บอกว่ามีสูตรคำนวณเพียงสูตรเดียวซึ่งมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว 

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งโดยรวม และอาจมีผลทำให้เกิดปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะคืออาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเมื่อกรณีมีปัญหาขึ้นแล้ว แทนที่จะนำเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหานั้น กลับไปปรึกษาหารือขอความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างว่ามีเจตนารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ ราวกับว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญต้องฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะต้องฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง 

เราควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันว่าระบบการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ถือหลักการหรือต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้ทักท้วงตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้นแบบนั้นเป็นต้นแบบของประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ 

คือมีการกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. เป็นสองประเภท คือแบบเขตเลือกตั้งและแบบปาร์ตี้ลิสต์ โดยแบบเขตเลือกตั้งนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะถือเป็นการเลือกตั้ง
โดยตรงจากประชาชน ส่วนแบบปาร์ตี้ลิสต์นั้นเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก นับแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 

คือกำหนดให้มี ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 150 คน และรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งบัญญัติตรงกันว่า ให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคการเมืองที่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง โดยให้จัดสรรตามส่วน แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ซึ่งความจริงก็มีความชัดเจนอย่างยิ่งอยู่แล้ว ไม่มีข้อใดต้องสงสัยอีก 

ความชัดเจนแห่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นสรุปได้เป็นสองหลักการคือ 

หลักการที่หนึ่ง ให้นำจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งตามสัดส่วน ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งเท่านั้น จะเอาไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งไม่ได้ 

หลักการที่สอง จำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ที่จะไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งตามส่วนนั้นจะต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี ส.ส. ได้ ตรงนี้ก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นบทบัญญัติวางหลักการย่อยซ้อนลงไปอีกสามหลัก คือ 

ข้อแรก ต้องคำนวณ ส.ส.พึงมีของทุกพรรคการเมืองก่อน พูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือต้องนำจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ก็จะกลายเป็นจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ๆ 

ข้อสอง ต้องคำนวณการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด คือจำนวน 150 คน ให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ตามส่วน นั่นคือนำจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน ก็จะเป็นสัดส่วนว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกี่คน จึงได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ซึ่งตัวเลขนี้จะใช้เป็นหลักในการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง 

ข้อสาม เมื่อได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคแล้ว ก็นำมาเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งว่าขาดเกินอยู่เท่าใด ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้วมีจำนวนที่ขาดก็จะได้รับการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามจำนวนที่ขาดนั้นจนครบจำนวน ส.ส.พึงมี แต่ถ้าเปรียบเทียบแล้วมี ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 

ทั้งหมดนี้เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีใครสามารถตั้งสูตรเอาเองหรือตีความสูตรกันเองได้ และเมื่อกฎหมายบัญญัติชัดเจนโดยลายลักษณ์อักษรแล้วก็ไม่มีกรณีใดต้องตีความ จะไปอ้างการอภิปรายในการประชุมหรือเอกสารในการประชุมที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้แทนกฎหมายย่อมไม่ได้ 

เพราะกฎหมายนั้นบังคับให้ทุกคนต้องรู้กฎหมาย คือต้องรู้ว่ากฎหมายบัญญัติอย่างไร ซึ่งต้องดูจากตัวบทกฎหมายนั้น ไม่ใช่ต้องไปถามคนร่างกฎหมาย มิฉะนั้นกฎหมายก็ไม่มีความหมายใด ๆ และจะไปบังคับให้คนทั้งปวงว่าต้องรู้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นความวิปริตแห่งนิติปรัชญาโดยแท้ 

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดรวม 150 คนนั้น ต้องนำไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งเท่านั้น จะนำไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งไม่ได้ หากนำไปจัดสรรก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ปัญหาใหญ่ที่เป็นจุดอับในเรื่องนี้ก็คือ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีผลให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน ให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งได้จนหมด 150 คน จากตัวเลขในปัจจุบันนี้เป็นไปได้ว่าหลังจากนำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.เขตตามสัดส่วนแล้ว จะยังคงมี ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์คงเหลืออีก 20-30 คน แล้วจะจัดสรรกันอย่างไร 

เพราะจะจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งก็ไม่ได้แล้ว เพราะได้จัดสรรไปจนเท่ากับจำนวน ส.ส.พึงมีแล้ว ครั้นจะนำไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถ้ายังมีจำนวนคงเหลือก็จะทำให้จำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ 150 คน และทำให้ยอดรวมไม่ครบ 500 คน ก็จะผิดรัฐธรรมนูญอีก ตรงนี้เป็นจุดอับที่ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีทางออกทางเดียวเท่านั้นคือการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติ สำหรับกรณีที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ก็จะเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ.

ไม่มีความคิดเห็น: