PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีโกงสร้างโรงพัก

นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องในคดีฉ้อโกงและคดีฮั้วประมูล ที่บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด พร้อมพวกผู้บริหาร ตกเป็นผู้ต้องหา ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ว่า ตนยังไม่เห็นสำนวนดังกล่าว เนื่องจากเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งในวันนี้ "ผมยังไม่ทราบในรายละเอียดจึงขอตรวจสอบสำนวนคดีก่อน" นายนันทศักดิ์ ระบุ

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ ว่า สำหรับสำนวนคดีฉ้อโกงที่ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด ,นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานบริษัท พีซีซีฯ , นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีซีซีฯ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล กรรมการบริษัท พีซีซีฯ ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเงินค่าก่อสร้างผู้รับเหมาช่วง ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ จำนวนกว่า 90 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

"อัยการพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นว่า คดีดังกล่าวทางผู้รับเหมาช่วงได้เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอว่าไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินค่าดำเนินการต่างๆจากบริษัทพีซีซี ซึ่งอัยการพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการหลอกลวง แต่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง เนื่องจากบริษัทพีซีซีไม่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วงตามงวดสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาช่วงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสถานีตำรวจให้เสร็จสิ้นได้ และบริษัทพีซีซีก็เคยเป็นผู้รับเหมาและมีประวัติการทำงานก่อสร้างโครงการใหญ่มาก่อน เห็นว่าบริษัทพีซีซีไม่มีเจตนาฉ้อโกงและไม่มีมูลทางคดีอาญาจึงสั่งไม่ฟ้องคดีฉ้อโกง " แหล่งข่าว เผย


พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉ.๑

แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ฉบับที่ ๑

ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๕ เป็นต้นมานั้น เช้าวันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงประชวร และ ทรงมีความดันพระโลหิตต่ำ เนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต คณะแพทย์ฯ ได้ถวายการตรวจพบว่า พระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ขาดพระโลหิตและมีแผลติดเชื้อ จึงได้ถวายการรักษาด้วยการผ่าตัดพระอันตะและพระอันตคุณบางส่วนออก ภายหลังการผ่าตัดปรากฏว่าพระอาการโดยรวมดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


เสกสรรค์และธีรยุทธ คนวันนั้นกับคำถามวันนี้

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
-----------------------------------------------

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ธีรยุทธ บุญมี เป็นตัวแทนนักศึกษาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่สวนจิตรลดา
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กุมมวลชนกุมไมค์ปราศรัยอยู่บนรถกระจายเสียง

40 ปีผ่านไป ทั้งสองคนกลับมาปาฐกถากันคนละเวที

อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เก่งในเรื่องการใช้ถ้อยคำ ที่จะทำให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งในวันรุ่งขึ้น

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เก่งในการใช้ถ้อยคำ ที่เหมาะนำไปรวมเล่มอ่านข้ามปี

ทั้งสองท่านมีดีไปคนละแบบ

และเป็นสองในหลายแบบของ 14 ตุลา ที่ไม่ได้มีอยู่หน้าเดียว

14 ตุลาจึงเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ที่คนรุ่นใหม่อาจเห็นแต่ภาพปก

ครั้นเปิดไปข้างในกลับเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย

แม้ในหมู่นักศึกษาเองก็ยังมีทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์

จึงไม่น่าแปลกที่เดือนตุลาปีนี้ จะมีการจัดงานจากคนทั้งสองปีก

เป็นสองปีกที่พยายามนำพาประเทศไทยให้โผบินไปข้างหน้าด้วยสองวิธีคิดใหญ่

ทำให้นกแอร์ลำนี้บินไปได้ไม่ราบรื่นนัก หรืออาจจะมีหยุดพักเป็นช่วงๆ

ถ้าตัดลีลาแห่งถ้อยคำออกเสีย

อาจารย์ธีรยุทธพยายามชี้ให้เห็นความไม่มีธรรมาภิบาลของระบอบทักษิณ

อาจารย์เสกสรรค์พยายามชี้ให้เห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยของการโค่นทักษิณ

ผู้เป็นตัวแทนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งจับมือกับชนชั้นล่างและชนชั้นกลางใหม่ผ่านนโยบาย

จนกลายเป็นคู่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าที่อาจารย์ธีรยุทธเรียกว่า พลังอนุรักษ์

ความแตกต่างในการมองปัญหานั้นมีแต่ประเด็นที่ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันก็คือ เรื่องการรัฐประหาร
อาจารย์เสกสรรค์สรุปชัดเจนว่า
“ความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐประหารปี 49 นั้น มิได้เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้นหากยังเป็นเรื่องการประเมินกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย พวกเขามองข้ามการมีอยู่ของมวลชนมหาศาลที่ประกอบกันเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมือง มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและชนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหนระบอบประชาธิปไตย มองไม่เห็นศักยภาพในการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับทุนนิยมโลกาภิวัตน์เรื่องจึงไม่จบลงง่ายๆ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยได้ลุกลามลงสู่ระดับมวลชน
และหมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเมือง”

สงครามกลางเมืองนี่แหละ ที่นักคิด และปัญญาชนทุกคนหวั่นเกรงมากที่สุด

ในขณะที่อาจารย์ธีรยุทธฟันธงว่า

“รัฐประหารไม่อาจเกิดขึ้นได้แล้วในประเทศไทยเพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีคนสนับสนุน
ถึงแม้รัฐประหารโดยใช้กำลัง พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง
ที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้”

อาจารย์ธีรยุทธสรุปว่า
พลังอนุรักษ์ต้อง remodernize ตัวเองใหม่

ในขณะที่อาจารย์เสกสรรค์เตือนให้ฝ่ายก้าวหน้าเข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอันเป็นเนื้อดินในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ที่ประชาธิปไตยอันเป็นของใหม่ต้องฝังราก

อาจารย์ธีรยุทธตั้งคำถามสำคัญต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้นว่าการเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของความมั่นคงทางการเมืองเป็นใจกลางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเป็นใจกลางของคุณธรรมอย่างล้นเกินนั้น คล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะนี่เป็นลักษณะเฉพาะของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันจึงควรคำนึงถึงความต่อเนื่องเชิงสถาบันว่า พระมหากษัตริย์องค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่
“ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร”

นี่เป็นหนึ่งในหลากหลายประเด็นใหญ่ จากสองนักคิดไทย ผู้เป็นหนึ่งในหลากหลายหน้า
ของหนังสือที่ชื่อว่า 40 ปี 14 ตุลาคม
ลองหาอ่าน หาชมฉบับเต็มกันเองนะครับ

ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง

บันทึกการกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ณ อาคารรัฐสภา, วันที่ 11 ตุลาคม 2556
ถอดเทป แปลและเผยแพร่โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงนานาชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

..............................

ขอให้ "ดอกไม้แห่งมิตรภาพ" จีน-ไทยเติบโตจนเกิดผลที่งดงาม

—บทกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ณ อาคารรัฐสภาไทย

(วันที่ 11 ตุลาคม 2556)

17:22 เรียนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาที่เคารพ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สุขภาพสตรี สุภาพบุรุษ และเพื่อนๆ ทั้งหลาย

17:23 สวัสดีครับ

17:23 วันนี้ ผมพอเข้าถึงรัฐสภาไทย ก่อนที่เข้าที่ประชุมรัฐสภาไทย มีเพื่อนคนไทยทักทายผมด้วยภาษาจีนว่า 你好 ผมก็เลยทักทายคนไทย และคนในรัฐสภาว่า สวัสดีครับ ด้วยภาษาไทย "

17:25 ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบทุกท่านในรัฐสภาในวันนี้ เมื่อ 30 ปีก่อน ผมเคยมาเยือนประเทศไทยในช่วงที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน มีความประทับใจอย่างลึกซึ้งกับ "ประเทศแห่งรอยยิ้ม"
แห่งนี้ เมื่อผมได้เหยียบแผ่นดินนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็มีความรู้สึกเหมือนมาเป็นแขกในบ้านของญาติ ซึ่งมีความสนิทสนมกัน เพื่อนๆ สมาชิกสภาฯ ทุกท่านเป็นตัวแทนของประชาชนไทย 64 ล้านคน ผมขอถือโอกาสนี้ทักทายและส่งความปรารถนาดีมายังเพื่อนๆ และมิตรชาวไทยทุกท่าน

17:27 จีนมีสุภาษิตว่า "ปลูกแตงได้แตง ปลูกถั่วจะได้รับถั่ว" ส่วนไทยก็มีสุภาษิตเช่นกันว่า "หว่านพืชย่อมหวังผล" การสะสมเพิ่มพูนทางประวัติศาสตร์และการเพาะปลูกอย่างขยันหมั่นเพียรของประชาชนทั้งสองประเทศ ได้กระชับมิตรภาพระหว่างจีนกับไทยที่มีมาช้านานนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย ประชาชนทั้งสองประเทศต่างก็รู้จักประโยคหนึ่ง ก็คือ "จีนไทยพี่น้องกัน" ประโยคนี้ได้ฝังลึกอยู่ในใจของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว เป็นการกล่าวถึงมิตรภาพจีนไทยที่แน่นแฟ้นอย่างแท้จริง

17:29 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติยาวนาน มีความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ และมีชีวิตชีวา พระบรมมหาราชวังที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โบราณสถานหลากหลายรูปแบบ ศิลปะพื้นเมืองที่งดงาม
แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและมนต์เสน่ห์อันมีเอกลักษณ์พิเศษของประเทศไทย ช่วงเวลานับพันปีที่ผ่านมานี้ ประชาชนไทยได้สร้างปาฏิหาร์ยครั้งแล้วครั้งเล่าโดยใช้ความขยันหมั่นเพียร
และสติปัญญาของตน เมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทยได้รับการขนามนามว่า " 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย" เป็นประเทศดีเด่นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายปีมานี้ ไทย
ได้เอาชนะวิกฤตการเงินเอเชีย สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย อุทกภัยครั้งรุนแรง ตลอดจนวิกฤตการเงินระหว่างประเทศ ประสบความสำเร็จจนเป็นที่จับตามองจากนานาชาติ

17:30 ประเทศไทยมีภูมิประเทศทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ขนาดของเศรษฐกิจ พื้นที่ และจำนวนประชากรอยู่เป็นอันดับที่ 2 อันดับที่ 3 และอันดับที่ 4 ตามลำดับในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แสดง
บทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงของเขตเอเชียตะวันออก ขณะนี้ สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมั่นคง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้ร่มพระบารมีของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลไทยจะนำประชาชนไทยพร้อมใจกันสร้างความรุ่งโรจน์ให้ประเทศได้ต่อไป

17:32 การติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่างจีนกับไทยใกล้ชิดผูกพันกันมายาวนานเหมือนกระแสน้ำที่แหล่งกำเนิดต้นกำเนิดแม่น้ำอยู่ไกล ดังนั้นกระแสน้ำย่อมไหลยาว สองประเทศมีภูมิประเทศใกล้กัน มีความผูกพันทางสายเลือด มีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน "เส้นทางสายไหมทางทะเล" ได้เชื่อมโยงจีนและไทยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ระหว่างศตวรรษที่ 14-17 สมัยราชวงศ์หมิงของจีนกับสมัยอยุธยาไทยได้ส่งทูตไปเยือนกันและกันบ่อยครั้ง เจิ้ง เหอ นักเดินเรือของจีนนำกองเรือเดินทางข้ามมหาสมุทรเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยา ได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ กับประชาชนท้องถิ่น เช่น การทำนา และการทำเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเป็นเรื่องดีงามที่แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เครื่องสังคโลกอันสวยงามที่มีชื่อเสียงและวัดพนัญเชิงวรวิหารหรือวัดซำปอกง ที่อยู่ในจังหวัดอยุธยา ต่างก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรระหว่างจีนกับไทยเป็นเวลายาวนาน มีชาวจีนจำนวนมาก "เดินทางไปสู่มหาสมุทรใต้" บางคนก็มีครอบครัว ตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย หลังจากจีนกับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1975 เป็นต้นมาได้เปิดหน้าใหม่ให้กับความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ ช่วงเวลา 38 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศและสภาพภายในประเทศของแต่ละฝ่ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังคงพัฒนามาด้วยดีโดยตลอด เช่นเดียวกันคำพูดของนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน ที่เคยเล่าว่า ความสัมพันธ์จีน-ไทยเป็นตัวอย่างของความร่วมมือฉันมิตรระหว่างประเทศที่มีระบอบสังคมต่างกัน

17:34 จีนกับไทยได้สร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน มีความไว้วางใจทางการเมืองแก่กันมากยิ่งขึ้น ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างต่อเนื่อง และกระชับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปี 2012 ยอดมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศมีประมาณ 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8 เท่าภายในเวลา 10 ปี ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมากที่สุด ได้ส่งออกสินค้ายังจีนมากที่สุด โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน และไทยก็ยังส่งออกสินค้ารวมทั้งผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรและยางพารามายังจีนมากที่สุดอีกด้วย ไทยยังเป็นประเทศที่จีนตั้งสถานกงสุลมากที่สุด มิตรภาพระหว่างจีนกับไทยได้นำผลดีที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ

17:36 ผู้นำระดับสูงของสองประเทศติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ไปมาหาสู่กันเหมือนญาติพี่น้อง ผู้นำทุกรุ่นของจีนส่วนใหญ่เคยเยือนไทย พระบรมวงศานุวงศ์ไทยเคยเสด็จเยือนจีนหลายครั้ง ผู้นำรัฐบาล รัฐสภา และฝ่ายทหารก็เคยเยือนจีนด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเคยเสด็จเยือนจีนกว่า 30 ครั้ง ตั้งแต่เมืองหลวงเจริญรุ่งเรืองของจีนจนถึงเขตชายแดนที่อยู่ห่างไกลในชนบททุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนจีน ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือแนะนำประเทศจีนกว่า 10 เล่ม และทรงแปลวรรณกรรมสมัยใหม่ของจีนด้วย ประชาชนไทยชื่นชอบหนังสือเหล่านี้ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงชื่นชอบกู่เจิง และทรงเชี่ยวชาญในการเล่นกู่เจิงด้วย งานแสดงดนตรีที่พระองค์ท่านทรงริเริ่มเป็นงานที่มีชื่อเสียงในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ

17:37 สำหรับการไปมาหาสู่กันของภาคเอกชนเป็นไปด้วยความจริงใจ เมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขประชาชนที่ไปเยือนแต่ละฝ่ายมีเกือบ 3 ล้านคน ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา จำนวนครั้งของการติดต่อกันเพิ่มขึ้นประมาณ 25% แหล่งท่องเที่ยวต่างประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนชอบที่สุดคือประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่อง "แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์" ซึ่งใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศไทยสามารถทำรายได้สูงสุดในปีที่ฉาย และดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้ไปเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ประชาชนจีนรักภาษา และวัฒนธรรมจีน สองประเทศได้ร่วมมือกันสร้างสถาบันขงจื่อ และห้องเรียนขงจื่อกว่า 20 แห่ง ครูภาษาจีนอาสาสมัครกว่า 7,000 คนมาสอนภาษาจีนในประเทศไทย วัฒนธรรมและพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณของประชาชนทั้งสองประเทศ แต่ละปีมีการแลกเปลี่ยนคณะวัฒนธรรมระหว่างกันกว่า 200 คณะ อาหารไทยที่อร่อย ละครไทยที่สนุกสนาน และการกีฬาไทยที่พัฒนาขึ้นล้วนสร้างความประทับใจให้แก่ประชาชนจีน

17:38 ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขณะเผชิญกับความยากลำบาก ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จีนไทยฝ่าฟันความทุกข์ต่างๆมาด้วยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอดในเหตุการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น วิกฤตน้ำมันปิโตรเลียม วิกฤตการเงินเอเชีย ภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย วิกฤตการเงินโลกปี 2008 แผ่นดินไหวในอำเภอเวิ่นชวน และอุทกภัยร้ายแรงในไทย ชาวประมงไทยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากจีนในภัยสึนามิ พวกเขาไม่เคยลืมเลย เมื่อได้ยินว่าจีนประสบแผ่นดินไหว ก็รีบบริจาคเงินให้ผู้ประสบภัยชาวจีน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจและแสดงถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างเรา

17:38 ท่านสุภาพสตรี สุภาพบุรุษ

17:39 ทุกวันนี้ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจคึกคักที่สุด และมีศักยภาพมากที่สุดในโลก นับวันเอเชียตะวันออกจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ทั้งจีนและไทยต่างก็อยู่ในช่วงสำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงควรแสดงบทบาทในกิจการสันติภาพ และการพัฒนาของภูมิภาคนี้ เราควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อผลักดันความร่วมมือยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ยกระดับความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้"ดอกไม้แห่งมิตรภาพ" ระหว่างจีน-ไทยเติบโตและงอกงามกลายเป็น "ผลแห่งความร่วมมือ" มากยิ่งขึ้นข้าพเจ้ามีข้อเสนอดังต่อไปนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายของเรา

17:40 ประการแรก มุ่งการพัฒนาในอนาคตร่วมกัน สืบทอดธรรมเนียมการเยือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอต่อไป จีนยินดีต้อนรับ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้นำรัฐสภา และคณะรัฐบาลที่จะไปเยือนจีนทุกเมื่อ พร้อมกันนั้นจะจัดส่งคณะผู้แทนระดับสูงมาเยือนไทยบ่อยๆ ด้วย ความร่วมมือระหว่างสองประเทศนอกจากต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามโครงการที่ได้กำหนดไว้อย่างจริงจังแล้ว ยังต้องวางแผนทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดยพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐบาล และภาคเอกชน จีนยินดีที่จะร่วมมือด้านการคมนาคม ชลประทาน พลังงาน และการศึกษากับไทยโดยพิจารณาจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทย

17:41 ประการที่สอง กระชับความร่วมมืออย่างจริงจัง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการค้าเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จีนยินดีที่จะร่วมมือกับไทยทำตามแผนปฏิบัติการ

ว่าด้วยความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ฯ ทั้งสองประเทศควรใช้กลไกคณะกรรมการเศรษฐกิจการค้าจีน-ไทยให้เป็นประโยชน์ พยายามทำให้ยอดการค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 ไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะข้าว จีนจะสนับสนุนให้วิสาหกิจจีนนำเข้าข้าวไทย 1 ล้านตันภายใน 5 ปีข้างหน้า และสร้างกลไกใหม่เพื่อหารือความร่วมมือด้านการซื้อขายยางพารา มันสำปะหลัง รวมทั้งผลิตผลการเกษตรอื่นๆ พร้อมไปกับการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จีนจะพิจารณาจัดตั้งธนาคารเพื่อการชำระเงินด้วยเงินหยวนในประเทศไทย สนับสนุนให้ธุรกิจจีนในไทยใช้เงินหยวนชำระเงินทางการค้าระหว่างสองประเทศ

17:42 ประการที่สาม เร่งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่เพียงแต่เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หากแต่ยังเป็นสายสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์กับประเทศเพื่อนบ้าน ความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างจีน-ไทยสามารถกลายเป็นจุดเด่นในความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมากกว่า 10,000 กิโลเมตร มีศักยภาพระดับแนวหน้าในการก่อสร้างและประสบการณ์สูงในการควบคุมงาน การที่ประเทศไทยเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง จะทำให้การขนส่งสะดวก และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในฐานะศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค จีนยินดีที่ไทยให้ความสนใจโครงการนี้กับเรา การเดินทางครั้งนี้ ข้าพเจ้ากับนายกฯยิ่งลักษณ์จะร่วมงาน"นิทรรศการรถไฟความเร็วสูงจีน" หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเริ่มความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จีนกับฝ่ายไทยยังจะมีความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้า พลังงานทดแทนและโครงการชลประทานด้วย

17:43 ประการที่สี่ กระชับการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและบุคลากร การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและบุคลากรหยั่งรากลึกในหมู่ประชาชนและมีอนาคตที่สดใส จีนมีคำกล่าวเก่าแก่ว่า เป็นญาติกันยิ่งต้องไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด สำหรับเรื่องข้อเสนอการยกเว้นวีซ่าให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการไปมาหาสู่กันนั้น จีนยินดีหารือเบื้องต้นกับไทยในเรื่องนี้

17:43 นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและภาษาจีนผ่านสถาบันขงจื๊อและโรงเรียนขงจื๊อ จีนพร้อมสนับสนุนการสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีนเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและมนต์เสน่ห์ของไทย จีนพร้อมช่วยยกระดับอาชีวศึกษาโดยใช้วิธีการจัดโรงเรียนร่วมกันและฝึกอบรมระยะสั้น เป็นต้น อีกทั้งจะผลักดันความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือทางทะเลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความผาสุขให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ

17:44 หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้พัฒนามากไปกว่าความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี กลายเป็นต้นแบบและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยเป็นประเทศแรกที่ลงนามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยโครงการความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 กับจีน เป็นประเทศแรกที่ขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับจีน ประเทศแรกที่ยกเว้นภาษีผักและผลไม้เป็นศูนย์กับจีน ประเทศแรกที่สร้างศูนย์วัฒนธรรมจีน อีกทั้งยังเป็นชาติแรกที่สร้างกลไกเจรจาด้านการป้องกันและการซ้อมรบร่วมกันเป็นระยะเวลา 2 ปีกับจีน ดังนั้นจีนยินดีร่วมกับไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคีภายใต้จีน-อาเซียน การเจรจาความร่วมมือเอเชีย การประชุมฟอรั่มโป๋อ๋าว การประชุมเอเปคและกรอบกลไกส่วนภูมิภาคและสากลอื่น ๆ

17:44 สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ

17:45 เมื่อเผชิญกับสถานการณ์โลกที่ซับซ้อนมากขึ้น จีนยืนยันเดินบนเส้นทางการพัฒนาด้วยสันติวิธีอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มาโดยตลอด ใช้ยุทธศาสตร์เปิดประเทศที่อำนวยประโยชน์แก่กัน ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณูปการ ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ จีนเร่งปฏิรูปเปิดประเทศพร้อมปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างมั่นคง ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ คาดว่า จีดีพีเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 7.5 รักษาแนวโน้มการเติบโตที่เร็วระดับปานกลางจนถึงระดับสูง เราคาดหวังต่อตลาดในอนาคตเพิ่มขึ้นด้วย เราไม่เพียงแต่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้ตามที่คาดไว้ ยังมีปัจจัยเอื้ออำนวยที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาด้วยดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะสร้างโอกาสการพัฒนาให้แก่ไทย และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ มากขึ้น

17:46 ในเวลานี้ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยเปรียบเสมือนรถยนต์ที่แล่นด้วยความเร็วบนทางด่วน มิตรภาพระหว่างจีน-ไทยได้หยั่งรากลึกลงสู่สายเลือดของประชาชนสองประเทศรวมทั้งการติดต่อไปมาหาสู่กันของภาคเอกชนทุกๆด้าน เมื่อ 10 ปีก่อน หมีแพนดาคู่หนึ่งย้ายบ้านมาที่เชียงใหม่ จากนั้น 4 ปีที่แล้ว ลูกหมีแพนดาหลินปิงเกิด กลายเป็นผลผลิตแห่งมิตรภาพ และความร่วมมือจีน-ไทย เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนๆ ชาวไทยได้จัดพิธีส่งหลินปิงกลับบ้านเกิดเพื่อหาคู่อย่างยิ่งใหญ่ ได้ยินว่ามีเพื่อนๆ จากรัฐสภา รัฐบาล และวงการต่างๆ ในสังคมไทยกว่า 200 คนส่งหลินปิงถึงอั่วหลง มณฑลเสฉวน บ้านเกิดของมันโดยจ่ายค่าเดินทางเอง เป็นภาพที่ประทับใจมาก อีกไม่นาน หลินปิงก็จะพาคู่รักกลับเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อนำความสุขและความปรารถนาดีให้แก่ประชาชนไทย

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า พร้อมๆไปกับการติดต่อกันระหว่างสองประเทศที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น มิตรภาพจีน-ไทยจะมีความต่อเนื่องไปอย่างไม่ขาดสายดุจดังแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเจ้าพระยา ความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์ต่อกันอย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทยจะเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีงาม และประทับใจยิ่งขึ้น

จบการถ่ายทอดสด

ปาฐกถาธีรยุทธ บุญมี: สารพัด ‘ขี้’ ในการเมืองไทย-หัวใจคือกระจายอำนาจ

Mon, 2013-10-14 16:42


14 ต.ค. 56  มูลนิธิ 14 ตุลาฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาปันปรีดี พนมยงค์, สถาบันพระปกเกล้า, เครื่อข่ายองค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมจัดงานรำลึก 14 ตุลาคม 2516  โดยในงานนี้มีการปาฐกถาของอดีตผู้นำนักศึกษา 2 คน คือ ธีรยุทธ บุญมี และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (อ่านปาฐกถาเสกสรรค์ที่นี่
ปาฐกถาของธีรยุทธชื่อ "40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" มีเนื้อหาโดยสรุปถึงความเข้าใจผิดของผู้คนเกี่ยวกับความหมายของ “ประชาธิปไตย” ,อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ไม่มีอยู่จริงในสังคม, ผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ต.ค., สภาพวัฒนธรรมทางการเมืองแบบสารพัดขี้ ทักษิณ-ขี้ขำ ยิ่งลักษณ์-ขี้แบ๊ะ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์-ขี้หักถ่อง พร้อมเสนอก้าวต่อไป สังคมไทยไม่ควรมองเรื่องทักษิณหรือเสื้อแดง-เหลืองเป็นวิกฤต , ปัญหาทักษิณไม่ใช่วิกฤตประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมภิบาล, นโยบายประชานิยมที่ทำให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้งเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ, สถาบันอนุรักษ์นิยมต้องปรับตัวให้เข้าสมัย เลิกเน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและชาติไทยในทุกด้าน การเน้นสถาบันกษัตริย์เป็นใจกลางของทุกสิ่งอย่างล้นเกินเป็นการสุ่มเสี่ยง ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันระยะยาว
“ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหาประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร”  ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป”
“บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้”
“ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง” ส่วนหนึ่งของการปาฐกถา
รายละเอียดฉบับเต็มอยู่ด้านล่าง
00000
มีคำถามยอดนิยมที่มีคนถามพวก 14 ตุลา เป็นประจำก็คือ “ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน” ที่แรงหน่อยก็ว่า “ทำไมการเมืองไทยยังเฮงซวยอยู่” “อุดมการณ์ของพวก 14 ตุลา หายไปไหนหมด?”
ถ้าจะตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ประการแรก ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ซึ่งเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษากว่าไทย ปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดในปี 2516 ฟิลิปปินส์ซึ่งคุ้นเคยกับประชาธิปไตยมาก่อนไทย เพิ่งมาล้มล้างเผด็จการมาร์กอสได้ในปี พ.ศ. 2529 เกาหลีใต้ล้มเผด็จการทหารได้ในปี 2530 ปัจจุบันพม่ายังอยู่ใต้เผด็จการทหาร อินโดนีเซียยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่
ประการที่สอง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่พวกคณะราษฎร 2475 และ 14 ตุลา อัญเชิญมาจากฟากฟ้ามาประดิษฐาน แล้วประชาธิปไตยก็บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้ 
ในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ทั้งขุนนาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ชาวบ้าน มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองมาก่อนหน้าอย่างยาวนาน 
ในศตวรรษที่ 13 อัศวินและขุนนางอังกฤษต่อสู้ให้กษัตริย์ลงนามในกฎหมายสิทธิยอมรับและการสืบทอดมรดกเหนือปราสาทและที่ดินของตน ทำให้เกิดกฎหมาย Magna Carta ขึ้น ปัญญาชน บาทหลวงยุโรปจำนวนมากเผยแพร่ความคิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิธรรมชาติ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สิทธิในการต่อต้านผู้นำที่ไม่เป็นธรรมมาตลอด ส่วนชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวนา ก็มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน การเลิกข้อจำกัดไม่ให้ชาวบ้านล่าสัตว์ ตัดฟืน การต่อสู้ให้เลิกล้มระบบไพร่ติดที่ดินของชาวนาในฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และเยอรมัน ในศตวรรษที่ 14, 15, 16 การต่อสู้เพื่อประกาศถึงสิทธิในการชุมนุม เสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพในการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะพ่ายแพ้ กองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก บางครั้งกองกำลังหลายพันคนถูกกวาดล้างจนหมดสิ้น เมื่อสิ่งที่ได้มาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงลิบลิ่วเช่นนี้ คนตะวันตกจึงเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย พยายามรักษาให้มันทำงานให้มันดำรงความเป็นระบบที่ดีเอาไว้ จนไม่มีทหารหรือนักการเมืองคนใดจะกล้ามาเบี่ยงเบนหรือบิดเบือน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยนั่นเอง
แต่ในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน เป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง) 
(ก) ในเรื่องอุดมการณ์ ข้อเท็จจริงก็คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน “ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” นั่นเอง
กลุ่มทุนดั้งเดิมของไทยนอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เปิดพื้นที่ใหม่คือการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมือง จุดที่น่าสังเกตคือ ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด จนเมื่อถึงช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
(ข) ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า ที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย (สังเกตได้จากนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่หลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณทุกวันนี้ คนไทยนิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่องขี้ เช่น เรื่องนี้ขี้ปะติ๋ว ขี้ผง มองคนคนเต็มไปด้วยขี้จากหัวจรดเท้า เช่น ขี้หัว ขี้รังแค ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้เต่า ขี้เล็บ ขี้ตีน มองอุปนิสัยพฤติกรรมคนด้วย “ขี้” ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้เหร่ ขี้หลี ขี้อาย ขี้ดื้อ ขี้ตืด ขี้เหนียว ขี้กะโล้โท้ ขี้เป้ ขี้อิจฉา ขี้ฟ้อง ขี้ตัวะ ขี้จุ๊ มองฐานะคนด้วยคำว่า “ขี้” เช่น ขี้ข้า ขี้ครอก ขี้ทึ้ง ขี้ถัง ขี้โอ่ ขี้อวด ขี้อ่ง  คนเลวทรามผ่าน “ขี้” เช่น ขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้จาบ ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกทักษิณเป็น “ขี้ขำ” ของการเมืองไทย เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างคารูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ “ขี้หย้อง” กับ “ขี้แบ๊ะ” คำแรกหมายถึง หญิงสาวที่ชอบแต่ตัวสวยงาม ชอบสำรวย สำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยก็อาจมองได้ว่าเป็นพวก “ขี้หักถ่อง” ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง กองทัพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน)
ดังนั้น เมื่อกลุ่ม องค์กร สถาบันสำคัญๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีใครตั้งใจเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักใช้อำนาจ ใช้สิทธิของตน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมืองไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น 
ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน?
ความฝันที่ยังเหลือของ 14 ตุลา คนหนึ่ง
14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร
ถ้าผมจะยังมีความหวังในความฝันอยู่ ผมอยากจะหวังอย่างเดียวคือ จากโอกาสที่เสียไป 40 ปี ผมอยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูก จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกได้
1. สังคมไทยจะทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ไม่ควรมองเรื่องของทักษิณหรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ยังค้างคารอการแก้ไขอยู่เท่านั้น
2. ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชั่นทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้มุมคิดของธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล และกลไกสำหรับปัญหาของมันมาแก้ไข การแก้ปัญหาโดยวิธีการรัฐประหารพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ผิดพลาด ผู้ที่คิดจะแก้ไขโดยวิธีที่ไม่ใช้กฎหมาย เช่นจะนำเอาการเมืองมาแก้ไขก็ต้องพร้อมรับปัญหา หรือพวกที่จะนำเอารัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาก็ต้องพร้อมรับผิดชอบเช่นกัน ทักษิณก็ต้องพร้อมรับผิดชอบถ้าดึงดันใช้วิธีหักดิบ ไม่ยอมแก้ปัญหาไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เพราะทักษิณคือตัวปัญหา “ขี้ดัน” ของการเมืองไทย คนที่มีปัญหาขับถ่ายไม่ออกจะหงุดหงิดอย่างมาก คงจะออกมาประท้วงต่อต้านอย่างมากมายแน่นอน
3. นโยบาย “ประชานิยม” หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดีข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง
4. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะแม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมของตัวเอง ทำให้รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจไทยมองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการไม่ช่วยกันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
การมองปัญหาและกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง และซ้ำเติมปัญหาการไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยก็คือ การที่รัฐไทยโฟกัสปัญหาอยู่ที่การรักษาความเป็นชาติ หรือความมั่นคงของชาติอย่างผิดๆ ผิวเผิน หรือสุ่มเสี่ยงมากเกินไป คือ (ก) เน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและความเป็นชาติไทยในทุกๆ ด้าน (ข) การเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นใจกลางของศูนย์กลางนี้ในทุกๆ ด้าน คือพยายามอาศัยท่านให้เป็นใจกลางของความมั่นคงการเมือง เป็นใจกลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นใจกลางของคุณธรรม อย่างล้นเกินจนคล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างเป็นประวัติการณ์ ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันว่า พระมหากษัตริย์อีหลายพระองค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป จะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร (ค) ทั้งสองประเด็นข้างต้นส่งผลให้ความรับรู้ของคนไทยที่มีต่อประวัติศาสตร์ของตัวเอง ภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่คับแคบมากที่สุด การสำแดงออกซึ่งสัญลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีเหล่านี้ก็อยู่ในลักษณะที่คับแคบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์ก็เน้นศูนย์กลางและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อย่างล้นเหลือ ละเลยประวัติศาสตร์เชิงสังคมว่า ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง นักแสดง พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวบ้าน แรงงาน ได้มีส่วนร่วมสร้างบ้านเมืองมาอย่างไร ละเลยประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ประวัติศาสตร์เชิงภูมิวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหรือชุมชน ฯลฯ ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรับรู้เชิงสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ต่างๆ ของคนไทยก็คับแคบตามไปด้วย
ผลเสียร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถ้าเราจะลองถามตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา นอกจากกรณีโจรจีนมลายูแล้วเรารับรู้อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นความเจริญก้าวหน้า การอยู่ดีมีสุข หรือเป็นปัญหาคับคาใจ ที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ คำตอบก็คือไม่มีเลย หรือเกือบไม่มีเลย ที่ไม่มีไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหาความทุกข์ความสุข ความก้าวหน้าหรือความเสื่อมทราม แต่เป็นเพราะกรอบความรับรู้อันคับแคบที่รัฐไทยได้ตีไว้จนไม่สามารถมีการสื่อสารใดๆ เกิดขึ้นได้ ถ้าเราจินตนาการว่า ได้มีการรับรู้ มีความชื่นชม จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนรอยยิ้ม พูดจาปราศรัยกันด้วยภาษาไทยปนภาษายาวีระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน มีภาพข่าวเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมภาคใต้ มีภาพสุเหร่า มัสยิด ภาพสถานที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ภาพผู้หญิง ผู้ชาย ในเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของพวกเขา มีนิยาย ละคร เพลง ปรากฏในสื่อต่างๆ สม่ำเสมอตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทุกวันนี้อาจไม่สามารถเกิดขึ้นเลยก็ได้
การไม่ยอมรับส่งเสริมสิทธิอำนาจของชาวบ้านก็ซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลวร้ายลงไปอีก เพราะชุมชนและชาวบ้านไม่มีช่องทางใดๆ ที่จะโต้เถียงหรือแสดงออกได้ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะเพียงภาคใต้เท่านั้น คนไทยทุกคนไม่ควรประมาท และไม่ควรคิดว่าความขัดแย้งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้กับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคใต้ส่วนบนเอง เพราะทิศทางใหญ่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์และอาเซียนภิวัตน์คือการตื่นตัวทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ของผู้คนทั่วโลกผ่านทางข่าวสารและ Social network ต่างๆ ความสนใจใคร่รู้ การเดินทางท่องเที่ยว แสวงหาสิ่งแปลกใหม่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ย่อมเพิ่มพูนขึ้นยิ่งกว่าอย่างทวีคูณ ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ จะได้ประโยชน์ก็ต้องรับรู้ รื้อฟื้น หรือสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นมา นี่เป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจการลงทุนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเคารพกัน ชื่นชมกัน ให้การยอมรับกัน (recognition) อย่างแท้จริงของการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน
ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหาประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ที่ชัดเจนก็คือการรัฐประหารไม่อาจมีขึ้นได้แล้วในประเทศไทย เพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีใครสนับสนุน ถึงแม้จะรัฐประหารโดยใช้กำลังได้ พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมไม่คิดว่าเพียงบุคคลหรือคณะบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำเดิม ที่จะสามารถนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมคิดว่าแนวความคิดในการปรับเปลี่ยนใหญ่ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของนักการเมือง นักคิด NGOs และขบวนการรากหญ้าของภูมิภาคและท้องถิ่น หรือมีพวกเขาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้
ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาท้าทายยิ่งก็คือ ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง
มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่งได้
00000

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (อีกครั้ง): ประชาธิปไตยไทยเติบโต-หนทางแปรวิกฤตเป็นโอกาส

Mon, 2013-10-14 19:54


14 ต.ค. 56  มูลนิธิ 14 ตุลาฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาปันปรีดี พนมยงค์, สถาบันพระปกเกล้า, เครื่อข่ายองค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมจัดงานรำลึก 14 ตุลาคม 2516  โดยในงานนี้มีการปาฐกถาของอดีตผู้นำนักศึกษา 2 คน คือ ธีรยุทธ บุญมี (อ่านที่นี่) และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งสำหรับเสกสรรค์ นับเป็นการปาถกฐาต่อเนื่องเป็นงานที่ 2 ซึ่งในปีนี้จัดโดยต่างเจ้าภาพเพื่อรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ (อ่านปาฐกถางานแรก)
“ถ้าเรามองโลกเชิงบวกสักหน่อย ก็จะพบว่าท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในสายตาของคนบางกลุ่มบางคน สังคมไทยกลับมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำความฝันเดือนตุลาให้ปรากฏเป็นจริง
ใช่หรือไม่ว่าหลายปีมานี้ การเมืองภาคประชาชนมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยในทุกสาขาคำนิยาม

ใช่หรือไม่ว่าในระยะหลัง ๆ การเมืองมวลชนก็มีบทบาททำให้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภามีความหมายมากขึ้น โดยกดดันให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายกระจายความเป็นธรรม
พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องของชนชั้นนำน้อยลง ขณะที่เป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดามากขึ้น ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่การเติบโตของประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรใช่

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะก้าวรุดหน้าไปบนหนทางประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผลิตความขัดแย้งยังคงมีอยู่ และชะตากรรมของประเทศจะขึ้นต่อความสามารถของเราในการจัดการความขัดแย้งที่สำคัญ ๆ
ในความเห็นของผม เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายประชาธิปไตย อาจจัดได้เป็น2กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกได้แก่เงื่อนไขอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน
เงื่อนไขในกลุ่มต่อมา  เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน  ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตยถูกลดอำนาจในการกำหนดนโยบาย” ส่วนหนึ่งในปาฐกถา
อ่านรายละเอียดด้านล่าง
000000

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักเรียนนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนเรือนแสนจากทุกชั้นชนและหมู่เหล่า ได้พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครอบงำย่ำยีประเทศชาติมานานนับทศวรรษ การต่อสู้ครั้งนั้นนับเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่สุดของปวงชนชาวไทย  ที่ยืนยันว่าเราต้องการสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม
พูดอีกแบบหนึ่งคือ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนไทยได้ร่วมกันประกาศจุดยืนว่าต้องการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเปิด ’หมุด 14 ตุลา’ ขึ้น เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่เราจะได้มาทบทวนกันว่าความฝันเมื่อปี 2516  ได้ปรากฏเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ก่อนอื่น ผมอยากจะเน้นย้ำว่าการต่อสู้ 14 ตุลาคมมิได้เป็นการปะทะกันโดยบังเอิญระหว่างผู้ผูกขาดอำนาจการปกครองกับมวลชนอันไพศาล  หากเป็นการดิ้นรนหาทางออกจากคืนวันอันมืดมิดของประชาชนในทุกครรลองชีวิต  ยามที่ทั้งประเทศถูกพันธนาการ ทุกผู้ทุกนามย่อมได้รับผลกระทบ แต่ละหมู่เหล่าย่อมฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าโดยรูปธรรมแล้วความฝันเหล่านั้นอาจจะแตกต่างกัน
พูดให้ชัดเจนขึ้นคือ ประชาชนแต่ละชนชั้นและชั้นชนต่างก็มีเหตุผลของตนในการต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย
อันดับแรก ใช่หรือไม่ว่าภายใต้ระบอบเผด็จการ นักศึกษาปัญญาชนและนักวิชาการล้วนถูกปฏิเสธพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำชีวิตทางทางปัญญาของพวกเขาปราศจากคุณค่าและความหมาย
ต่อมา คนชั้นกลางที่เริ่มมีการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ ย่อมไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองอีกต่อไป  หากอยากมีสิทธิเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง
ชนชั้นกรรมกรซึ่งถูกใช้เป็นต้นทุนราคาถูกสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม  ย่อมฝันถึงวันที่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นคน  หลายปีภายใต้ระบอบเผด็จการ รัฐบาลไม่เคยกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ  ครั้นเริ่มมีสิ่งนี้เมื่อต้นปี 2516  มันก็ต่ำกว่าค่าครองชีพจริงถึง 2 เท่า
กล่าวสำหรับชาวนาในสมัยนั้น  จำนวนไม่น้อยเพิ่งสูญเสียที่ดินทำกิน เนื่องจากภาระหนี้สินซึ่งเกิดจากนโยบายกดราคาข้าวของรัฐ  ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยสำหรับพวกเขาจึงไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์ หากหมายถึงโอกาสที่จะถามหาความเป็นธรรม
และพูดก็พูดเถอะภายใต้ระบอบเผด็จการ แม้แต่ชนชั้นนายทุน ผู้ประกอบการ นายธนาคาร หรือพ่อค้า ก็หาได้มีอิสรภาพเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจของตน  เพราะส่วนไม่น้อยของรายได้ต้องนำมาจ่ายเป็นค่าคุ้มครอง
แน่นอน ถ้าเราถอดรหัสความฝันเหล่านี้ออกมาเป็นคุณค่าทางการเมือง  ก็จะพบว่าปรารถนาของผู้คนหลายหมู่เหล่าล้วนรวมศูนย์ล้อมรอบจินตนาการว่าด้วยเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม  ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้จากระบอบอำนาจนิยม
ถามว่าแล้วทำไมประชาชนจึงหันมาฝากความหวังไว้กับประชาธิปไตย  คำตอบมีอยู่ว่าเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถผลักดันความฝันให้เป็นจริงได้ด้วยพลังของตนเอง
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยวิธีการกับจุดหมายสามารถเชื่อมร้อยเป็นเนื้อเดียว  ไม่ว่าจะเป็นการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ  หรือการเดินขบวนสำแดงกำลัง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการเคลื่อนไหวที่ไม่เพียงสะท้อนเจตจำนงของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ  หากยังเป็นการแสดงออกซึ่งความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคม  ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามันคือเสรีภาพที่ปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรม
ในความเห็นของผม เราจำเป็นต้องวัดความคืบหน้าของประชาธิปไตยด้วยบรรทัดฐานนี้  ตราบใดที่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ สามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเวทีแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ ตราบนั้นเราคงต้องถือว่าระบอบการเมืองกำลังทำงานได้ดี
ในทางกลับกัน ถ้าความยากลำบากของประชาชนถูกมองข้าม  อำนาจต่อรองของผู้คนจำนวนมากถูกจำกัด หรือพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธ ก็แสดงว่าระบอบการเมืองเองกำลังมีปัญหา  ไม่ว่าระบอบนั้นจะชูธงประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม
เช่นนี้แล้ว 40 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ประชาธิปไตยเป็นเช่นใด
อันที่จริง ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมาก ท่านทั้งหลายก็คงทราบดีอยู่แล้วว่าตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยอยู่ในสภาพที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กระทั่งล้มลุกคลุกคลานจนแทบไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่การต่อสู้ในเดือนตุลาคม 2516 ได้สั่นคลอนระบอบเก่าอย่างถึงราก และทำให้ลัทธิเผด็จการไม่เคยฟื้นตัวได้อย่างยาวนานหรือเต็มรูป
แน่นอน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไร้เสถียรภาพ เกิดจากความพยายามของชนชั้นปกครองเก่าที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาด้วยเหตุดังนี้ การเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคมจึงถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง  ทั้ง ๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้ว  มันคือการใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องความเป็นธรรมของชนชั้นผู้เสียเปรียบ หลังจากถูกกดขี่เหยียบย่ำมานาน
จริงอยู่ บ้านเมืองในช่วงนั้นอาจจะดูระส่ำระสายไร้ระเบียบอยู่บ้าง แต่ถ้าประเทศไทยให้เวลาตัวเองอีกสักหน่อย ก็จะเข้าใจได้ว่านั่นก็เป็นเพราะส่วนยอดของระเบียบอำนาจเก่าได้ล้มลงในชั่วเวลาข้ามคืน ขณะที่ระเบียบใหม่ยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน  อันนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกันทั่วโลกยามเมื่อระบอบเผด็จการถูกโค่นลง
มองจากมุมนี้ การปราบปรามกวาดล้างนักศึกษาประชาชนและรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงไม่เพียงเป็นบาดแผลของแผ่นดินเท่านั้น หากยังทำลายโอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการทำงานของระบบรัฐสภา
จากนั้นเรายังต้องรบกันเองอีกหลายปี  กว่าสงครามประชาชนจะสงบลงและประเทศไทยค่อยๆกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง  เวลาก็ผ่านไปแล้วราวหนึ่งทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มีความแตกต่างจากการต่อสู้ในปี 2516 อย่างมีนัยยะสำคัญ  ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่จำกัดมาก  และถูกกำหนดเงื่อนไขจากศูนย์อำนาจเดิม
อันนี้หมายถึงว่าฐานะการนำของชนชั้นนำภาครัฐยังคงถูกรักษาไว้  และแม้ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็แทบไม่มีพื้นที่อันใดสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสินใจ  กระทั่งการเลือกตั้งก็มีความหมายเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะผู้นำรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกจากประชาชน
สภาพดังกล่าวได้ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างใหญ่หลวง  เพราะพวกเขาถูกตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเป็นผู้นำเสียแล้วตั้งแต่ต้น  ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถแน่ใจได้ว่านักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนหรือเป็นแค่บริวารของผู้นำกองทัพ
ยิ่งไปกว่านี้ ในระยะดังกล่าว นักการเมืองจำนวนไม่น้อยยังเติบโตมาจากนักธุรกิจในท้องถิ่นหรือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ฐานเสียง พฤติกรรมทางการเมืองของพวกเขาทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบเจ้าพ่อ และเวทีการเมืองก็เป็นเพียงโอกาสขยายธุรกิจและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้คน
ขณะเดียวกัน กองกำลังประชาธิปไตยที่เคยขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ประเทศไทยอย่างนักศึกษาปัญญาชน และกรรมกร ชาวนา  ต่างก็อ่อนพลังลงเพราะความผันผวนของประวัติศาสตร์ที่พวกตนพยายามขับเคลื่อน  ทำให้บรรยากาศทางสังคมดูเหมือนสงบสันติ  ปราศจากทั้งปัญหาและการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระหว่างทศวรรษที่ 2 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ระบอบการเมืองในประเทศไทยจะดูเหมือนซอยเท้าอยู่กับที่และมีภาพปรากฏเป็นเสถียรภาพ  แต่ตัวสังคมไทยเองกลับเปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และการเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น
สภาพเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการสะสมตัวเงียบ ๆ ของแรงกดดันใหม่ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อเส้นทางเดินของประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
อันดับแรกคือการแย่งชิงฐานะการนำในพันธมิตรการปกครอง ระหว่างชนชั้นนำจากภาคธุรกิจกับชนชั้นนำภาครัฐที่กุมอำนาจมาแต่เดิม  ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นประเด็น  แต่เมื่อทุนนิยมอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น  ย่อมทำให้ฐานทางเศรษฐกิจสังคมของระบอบการเมืองเปลี่ยนไป รวมทั้งฐานคิดของนักการเมืองบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน
ในเวลาเดียวกันนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกได้ทำให้ความกลัวฝ่ายซ้ายของชนชั้นนายทุนเริ่มหมดไปจากฉากหลังทางการเมืองด้วย อันนี้ทำให้บทบาทของกองทัพและแนวคิดขวาจัดมีพลังลดน้อยถอยลง  นักการเมืองที่มาจากภาคธุรกิจเริ่มแสดงความต้องการที่จะขึ้นกุมอำนาจโดยตรงอย่างเปิดเผยมากขึ้น  แทนที่จะยอมเป็นแค่หางเครื่องของผู้นำกองทัพและผู้บริหารระบบราชการ
แต่ก็น่าเสียดายที่นักการเมืองจำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงนี้เคยชินแต่การรับบทพระรอง ดังนั้นจึงไม่สามารถสถาปนาอำนาจการนำขึ้นมาได้อย่างแท้จริง และยิ่งไม่สามารถขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากขยายตัว
รัฐบาลชุดแรกที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นรัฐบาลที่ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด นักการเมืองถูกติฉินนินทาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น จนกระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและระบอบการเมืองที่ดูคล้ายประชาธิปไตย ในที่สุดเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการก็สุกงอม
ในเบื้องแรก ผลที่ออกมาจากความขัดแย้งดังกล่าว คือรัฐประหาร 2534  ซึ่งเป็นการฟื้นฐานะการเมืองของชนชั้นนำภาครัฐ  พวกเขาต้องการพาประเทศไทยกลับไปยังปี 2521 อันเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ  และอยากให้นักการเมืองมาช่วยตกแต่งหน้าร้านเท่านั้น
สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจคือ ตอนนั้นโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว และเงื่อนไขในการสร้างรัฐบาลทหารโดยมีนักการเมืองผสมก็จางหายไปเช่นกัน
ด้วยเหตุดังนี้ ภายในเวลาเพียงปีเดียว  การสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพโดยผ่านกลไกรัฐสภาจึงถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงนำไปสู่กระแสปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในระหว่างนี้เจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมเท่ากับถูกนำมายืนยันอย่างมีพลังอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงฐานะนำในศูนย์อำนาจระหว่างชนชั้นนำภาครัฐกับชนชั้นนำจากภาคธุรกิจยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้  หากจะหวนกลับมาอีกในบริบทที่ต่างไปจากเดิม
อันดับต่อมา แรงกดดันอีกแบบหนึ่งที่สะสมตัวขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2 ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษที่ 3 หลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม คือความไม่พอใจของชนชั้นล่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและสังคม
กล่าวคือในขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นและนำไปสู่ความมั่งคั่งขยายตัวของทั้งชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมือง  แต่การเติบโตอันเดียวกันนี้ก็ได้นำไปสู่ความอับจนเสียเปรียบของคนอีกจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งผู้สูญเสียฐานทรัพยากรในการประกอบอาชีพ  ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล  ผู้พ่ายแพ้เสียเปรียบในตลาดเสรี  ไปจนถึงชุมชนคนชายขอบอีกหลายประเภทที่ขาดเงื่อนไขในการพยุงชีวิตให้สมศักดิ์ศรีความเป็นคน
พูดอีกแบบหนึ่งคือในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ช่องว่างระหว่างชนชั้นนับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และช่องว่างนี้มิได้เป็นเพียงเรื่องของรายได้ หากยังเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำในเรื่องพื้นที่ทางการเมือง และโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐ   ความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา  สวัสดิการทางการแพทย์ และเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างสำหรับการมีชีวิตที่ดี
แน่นอน ประชาชนหลายหมู่เหล่าเชื่อว่าชะตากรรมของพวกเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับทุน  ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้เดือดร้อนต่างๆจึงเกิดขึ้นด้วยความถี่ที่เหลือเชื่อ แม้ว่าผู้ที่พวกเขาหันมาเผชิญหน้าจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ยกตัวอย่างเช่นในปี 2538 เพียงปีเดียว มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านถึงกว่า 700 ครั้ง (ประภาส  ปิ่นตบแต่ง/ การเมืองบนท้องถนนฯ /2541)
ผมคงไม่ต้องพูดย้ำก็ได้ว่าการชุมนุมประท้วงเหล่านี้  บ่อยครั้งได้นำไปสู่การปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน  กระทั่งมีกรณีที่ประชาชนต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวอันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าผู้นำการต่อสู้หลายคนได้ถูกลอบสังหารหรือถูกคุกคามทำร้าย โดยส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ดังนั้นเราจึงอาจพูดได้ว่าแม้การต่อสู้ 14 ตุลาคมจะผ่านไปถึงกว่า 20 ปีแล้ว และการมีสิทธิเสรีภาพกำลังกลายเรื่องธรรมดาในหมู่คนชั้นกลางแห่งเมืองหลวง แต่สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศไทย  ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมกลับยังไม่ปรากฏเป็นจริง
ตรงกันข้าม หลายครั้งที่พยายามยืนยันความฝันเหล่านั้น พวกเขากลับต้องพบกับกระบองของเจ้าหน้าที่และสุนัขตำรวจ กระทั่งบางทีก็ต้องวิงวอนขอความเมตตาด้วยใบหน้าที่อาบเลือดและน้ำตา ภาพย่อของ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงถูกผลิตซ้ำอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ หรือแม้แต่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยโลกไม่ทันสังเกตหรือให้ความสนใจ  โดยเฉพาะโลกของคนที่ได้เปรียบจากแผนพัฒนาประเทศและการขยายตัวของทุนนิยม

แน่นอน สภาพที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลำพังประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาหรือสนองความใฝ่ฝันของประชาชนได้ครบทุกหมู่เหล่า
ต่อให้ผู้นำกองทัพหรือชนชั้นนำจากระบบราชการกลับคืนสู่กรมกอง นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ยังพอใจอยู่กับการเป็นแค่นักเลือกตั้ง ที่หมกมุ่นอยู่กับการต่อรองแบ่งผลประโยชน์กันเอง มากกว่าเป็นผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ หรือเป็นรัฐบุรุษที่ทำทุกอย่างเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน
เช่นนี้แล้ว สถานการณ์การเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ยามนั้นกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มพัดมาแรง ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมในการเผชิญกับสภาวะแปลกใหม่ แต่ใครเล่าจะรับผิดชอบในเรื่องนี้
พูดก็พูดเถอะ ในห้วงหนึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่ชวนคับแค้นใจยิ่ง เพราะเราเพิ่งปฏิเสธระบอบอำนาจนิยมมาหมาด ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตั้งความหวังไว้กับระบอบประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อได้
ดังนั้น ผู้ห่วงใยบ้านเมืองจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มคิดถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งในปณิธานดังกล่าว มีแนวคิดที่จะหนุนเสริมการทำงานของระบบรัฐสภาด้วยการเมืองภาคประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงรวมอยู่ด้วย
ถามว่าแล้วทำไมที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ประชาชนผู้เดือดร้อนอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวผ่านระบบพรรคการเมือง หรืออาศัยนักการเมืองจากพื้นที่ของตนช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองหรือช่วยแก้ไขปัญหาของพวกเขา
ในความเห็นของผม เหตุผลที่ทำให้ความหวังดังกล่าวไม่อาจเป็นจริงมาจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือนักการเมืองจำนวนมากมีฐานะเป็นเจ้าของเครือข่ายผลประโยชน์ซึ่งก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับชาวบ้าน  ดังนั้นมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเป็นผู้ปัดเป่าความเดือดร้อนเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่มองเห็นได้ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหายไปของพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภาเอง
ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  พรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบสังคมนิยมหรือแบบรัฐสวัสดิการล้วนถูกทำให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย  ครั้นต่อมาเมื่อสงครามอุดมการณ์สิ้นสุดลง ระบบทุนนิยมในประเทศไทยก็หยั่งรากแน่นจนไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะต้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทุนยังถูกยกระดับขึ้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผมคงไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าสภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ถูกกดขี่ขูดรีดไม่มีพรรคการเมืองที่เข้าข้างพวกเขาอยู่ในรัฐสภาเลย ยกเว้นนักการเมืองบางท่านที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบ  ซึ่งก็มีอยู่น้อยนิดเกินกว่าจะสร้างผลสะเทือนในเชิงนโยบาย
ดังนั้น ประเด็นจึงต้องย้อนกลับมาสู่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือเชื่อมโยงจุดหมายกับวิธีการเข้าหากัน
ประชาชนจะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองโดยตรง และสามารถแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองของพวกเขาปรากฏเป็นจริง รวมทั้งความเป็นธรรมที่พวกเขาปรารถนาก็ต้องอาศัยพลังของตนขับเคลื่อนผลักดันเอาเอง
พูดกันตามความจริง  กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในรูปของการเมืองภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีความคิดไปไกลถึงขั้นล้มระบบทุนนิยม  และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการโค่นอำนาจรัฐ พวกเขาเพียงแต่อยากอยู่นอกเขตอิทธิพลของตลาดเสรี  และขอเงื่อนไขสำหรับความอยู่รอดบ้าง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ความปลอดภัยจากมลภาวะที่มาจากภาคอุตสาหกรรม  หรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างสายน้ำ ป่าเขา และฝั่งทะเล
เดิมทีเดียวพี่น้องเหล่านี้เพียงขอให้รัฐคุ้มครองพวกเขาด้วย แทนที่จะปล่อยให้ทุนเป็นฝ่ายรุกชิงพื้นที่ได้ทุกหนแห่ง แต่ต่อมาเมื่อการณ์ปรากฏชัดว่ารัฐกับทุนแยกกันไม่ออก จุดมุ่งหมายของพวกเขาจึงเปลี่ยนเป็นลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน  ซึ่งความหมายที่แท้จริงคือให้รัฐเกื้อหนุนทุนน้อยลง และสงวนพื้นที่บางแห่งเอาไว้ให้พวกเขาดูแลชีวิตของตนเอง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเมืองภาคประชาชนเป็นการต่อสู้ในลักษณะป้องกันตัวของชนชั้นที่ถูกทอดทิ้ง มากกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของชนชั้นที่ต้องการมีฐานะในศูนย์อำนาจส่วนกลาง
กระนั้นก็ดีในโลกทัศน์ที่ดูเหมือนแลไปข้างหลัง  พวกเขายังมีแนวคิดในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคม เพราะนั่นเป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะทำให้ตนเองมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี และสมศักดิ์ศรีความเป็นคน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของการเมืองภาคประชาชนในช่วงนี้ได้ส่งผลต่อกระบวนการปฏิรูปการเมืองพอสมควร เพราะมันเป็นพลังที่ขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิเสรีภาพสืบต่อจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นขบวนการเมืองที่ริเริ่มเรื่องสิทธิชุมชน  ตลอดจนเรียกร้องให้มีการเคารพอัตลักษณ์ตัวตนของชนชาติกลุ่มน้อย
ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฐานะของการเมืองภาคประชาชนจึงได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก  พร้อมทั้งบทบัญญัติที่ยืนยันทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยืนยันสิทธิทางการเมืองของประชาชนและสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ  สภาพดูเหมือนว่าจากนี้ไป กลุ่มชนที่เสียเปรียบและต่ำต้อยทางสังคมจะสามารถใช้กระบวนทางการเมืองมากอบกู้ความเป็นธรรมได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมิได้ถูกออกแบบให้มาคุ้มครองคนเสียเปรียบอย่างเดียว หากยังแอบยกฐานะเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีขึ้นมาเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 87
อันนี้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่พูดถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้มากมาย เสรีภาพในการเลือกนโยบายทางเศรษฐกิจนอกกรอบทุนนิยมกลับถูกหักล้างไปโดยสิ้นเชิง
ทั้ง ๆ ที่กลไกตลาดเสรีนั้นเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศไทยถ่างกว้างอย่างรวดเร็ว  และการปฏิรูปสังคมในระดับรากฐานแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่แตะต้องโครงสร้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่  สถานการณ์ของบ้านเมืองยิ่งทวีความซับซ้อนมากกว่านั้นอีก มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตใหม่ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งนองเลือดในระยะถัดมา
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง ดังนั้นผมจึงต้องขออนุญาตใช้เวลาทบทวนความเป็นมาสักเล็กน้อย
อันดับแรก ความล้มเหลวของนักการเมืองรุ่นเก่าในการดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า  ไม่ต้องการปล่อยให้ชนชั้นนำจากท้องถิ่นหรือนักการเมืองอาชีพเหล่านี้มีฐานะนำในศูนย์อำนาจอีกต่อไป
หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือพวกเขาต้องการขึ้นมาบริหารบ้านเมืองด้วยตัวเอง
แน่นอน ลำพังแค่นี้ก็คงไม่ใช่อะไรใหม่มากนัก  แต่เงื่อนไขที่ทำให้การก้าวขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจต่างไปจากเดิมคือ พวกเขาขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540  ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่จำนวนน้อย  โดยหวังว่าจะช่วยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้นำเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครต่อประชาชนทั้งประเทศ   ยิ่งทำให้ฐานความชอบธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะมีลักษณะกว้างขวางกว่าก่อนหน้านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานความชอบธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกวางตัวไว้เป็นหมายเลขหนึ่งของบัญชีรายชื่อ เพราะมันเท่ากับว่าคนส่วนใหญ่เลือกเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ถามว่าแล้วประชาชนเล่าได้อะไรบ้างจากการปฏิรูปการเมืองในทิศทางนี้
ในความเห็นของผม คำตอบที่สั้นและชัดเจนที่สุดคือได้อำนาจต่อรองเพิ่ม  ทั้งนี้เนื่องจากการเลือกตั้งส.ส.ด้วยระบบสัดส่วนถือเอาทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามแข่งขันแทบไม่อาจหาเสียงด้วยวิธีอื่น นอกจากต้องเสนอนโยบายที่โดนใจผู้คน
สิ่งที่เป็นความฉลาดของกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาในเวทีการเมืองคือพวกเขาเข้าใจเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเหล่านี้มากกว่านักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งเคยชินกับการให้สัญญาเชิงอุปถัมภ์หรือปฏิญาณตนแบบลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าการสร้างนโยบายที่จับต้องได้และตรงกับประเด็นปัญหา
ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2544 จึงจบลงด้วยการพ่ายแพ้ยับเยินของพรรคการเมืองที่มีมาแต่เดิม  และชัยชนะอันงดงามของพรรคการเมืองที่ชนชั้นนำใหม่จากภาคธุรกิจก่อตั้งขึ้น
การที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้เสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรนั้นนับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยมีมาก่อนในระบบรัฐสภาไทย แต่ที่สำคัญกว่าและมีนัยยะทางการเมืองกว้างไกลกว่าคือการก่อรูปความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับมวลชนจำนวนมหาศาลโดยผ่านนโยบายที่เป็นรูปธรรม
หรือพูดให้ชัดขึ้นคือการก่อตัวของพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อระหว่างกลุ่มทุนใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์กับเกษตรกรในชนบทซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่สุดในสนามเลือกตั้งของไทย
กล่าวสำหรับประเด็นนี้ เราคงต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนใหม่เป็นผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทและหัวเมืองต่างจังหวัดก่อนใคร ๆ พวกเขามองเห็นว่าชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองได้แปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยไปหมดแล้ว  พี่น้องในต่างจังหวัดเหล่านั้นล้วนทำการผลิตในเชิงพาณิชย์และจำเป็นต้องอยู่กับตลาดทุนนิยม  แต่ก็เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งภายใต้กลไกตลาดเสรี
ดังนั้นชนชั้นกลางใหม่ในชนบทจึงต้องการนโยบายรัฐมาหนุนช่วยหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การตัดวงจรหนี้สิน มาจนถึงการคุ้มครองราคาผลผลิตทางเกษตรที่พวกเขาฝากชีวิตเอาไว้

สำหรับชนชั้นที่เสียเปรียบในตลาดเสรี  การแสวงหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแทบจะทำไม่ได้เลย หากปราศจากอำนาจต่อรองในทางการเมือง
แต่ก็แน่ละ  นโยบายแบบนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองหลวง ซึ่งไม่มีใครช่วยก็รวยได้ เพราะมีกลไกตลาดคอยดีดเงินเข้ากระเป๋าอยู่แล้ว ความแตกต่างดังกล่าวต่อไปจะมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้  การเลือกตั้งในช่วงหลัง 2540 จึงไม่เพียงเป็นหนทางขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มทุนใหม่เท่านั้น หากยังเป็นพื้นที่แสดงตัวตนและสำแดงน้ำหนักทางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทด้วย  และด้วยสาเหตุดังกล่าว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนในชนบทเหล่านั้นจะโกรธแค้นน้อยใจ เมื่อพื้นที่และทางออกจากความเสียเปรียบเพียงทางเดียวของพวกเขาถูกทำลายลงโดยรัฐประหารในปี 2549
ในทัศนะของผม สถานการณ์ข้างต้นคือที่มาทางเศรษฐกิจสังคมของการเมืองแบบเสื้อสีและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผมคิดว่าจะเพ่งมองแต่ความแตกแยกของผู้คนในสังคมไทยเพียงด้านเดียว คงไม่ได้ เพราะถ้าพิจารณาจากมุมของประชาธิปไตยแล้ว นับว่ามีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนพยายามถอยห่างจากการเมืองภาคตัวแทน และต่อรองจากจุดยืนอิสระ  การเมืองมวลชนของชนชั้นกลางใหม่กลับช่วยชุบชีวิตให้กับระบบรัฐสภาด้วยการใช้การเมืองภาคตัวแทนช่วยต่อรองในระดับนโยบาย
ในความเห็นของผม กระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าใกล้ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมอีกสักก้าวสองก้าว ทั้งนี้เนื่องจากมันจะช่วยลดทอนช่องว่างทางชนชั้น โดยเฉพาะช่องว่างในเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างในด้านรายได้
ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเสียทั้งเวลาและเลือดเนื้อไปไม่น้อย ในการพยายามผลักระบอบอำนาจนิยมให้ออกจากเวทีประวัติศาสตร์  และขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้สามารถตอบโจทย์ต่าง ๆ ของประชาชน
ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องเลอะเทอะทางตรรกะที่จะคิดว่าประชาธิปไตยสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องต่อสู้ หรือเป็นสิ่งที่ควรพัฒนาจากข้างบนลงมา
อันที่จริง ถ้าเรามองโลกเชิงบวกสักหน่อย ก็จะพบว่าท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในสายตาของคนบางกลุ่มบางคน สังคมไทยกลับมีความคืบหน้ามากขึ้นในการทำความฝันเดือนตุลาให้ปรากฏเป็นจริง
ใช่หรือไม่ว่าหลายปีมานี้ การเมืองภาคประชาชนมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยในทุกสาขาคำนิยาม

ใช่หรือไม่ว่าในระยะหลัง ๆ การเมืองมวลชนก็มีบทบาททำให้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภามีความหมายมากขึ้น โดยกดดันให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายกระจายความเป็นธรรม
พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องของชนชั้นนำน้อยลง ขณะที่เป็นเรื่องของสามัญชนคนธรรมดามากขึ้น ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่การเติบโตของประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรใช่

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะก้าวรุดหน้าไปบนหนทางประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผลิตความขัดแย้งยังคงมีอยู่ และชะตากรรมของประเทศจะขึ้นต่อความสามารถของเราในการจัดการความขัดแย้งที่สำคัญ ๆ
ในความเห็นของผม เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายประชาธิปไตย อาจจัดได้เป็น2กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกได้แก่เงื่อนไขอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน
เงื่อนไขในกลุ่มต่อมา  เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน  ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตยถูกลดอำนาจในการกำหนดนโยบาย
ขณะเดียวกันเงื่อนไขดังกล่าวยิ่งส่งผลให้ความแตกต่างทางชนชั้นขยายกว้างออกไปอีกจนเกือบจะควบคุมไม่ได้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติกลายเป็นเพียงภาพลวงตา
แน่นอน ความแตกต่างทางชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย  แต่ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่าความแตกต่างที่นับวันยิ่งขยายกว้างนี้ ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมีมุมมองและมีระดับความภักดีต่อประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน
ชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางในเมืองหลวงมองการเมืองแบบหนึ่ง กรรมกรอุตสาหกรรมมองอีกแบบหนึ่ง  ในขณะที่คนชั้นกลางใหม่ในภาคเกษตรกรรมก็มีมุมมองต่อประชาธิปไตยของตนเอง  และชาวบ้านในชุมชนชายขอบก็เช่นเดียวกัน
ที่น่าหนักใจคือ  ทัศนะที่เพาะตัวขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้วมักเป็นทัศนะที่ยากจะไกล่เกลี่ยประนีประนอม  เพราะมันผูกติดอยู่กับเดิมพันเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นแกนชีวิตของแต่ละฝ่าย  ในเงื่อนไขดังกล่าวบรรยากาศเสรีนิยมจึงเกิดขึ้นได้ยาก  และความขัดแย้งทางความคิดก็มักนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมือง กระทั่งในบางกรณี ถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2549 ในขณะที่ชนชั้นกลางใหม่ในชนบทกำลังตื่นเต้นยินดีกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองหลวงจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกวิตกกังวลในสิ่งที่เรียกว่าประเด็นคุณธรรมของฝ่ายบริหาร
รวมทั้งรู้สึกหวั่นไหวเกี่ยวกับฐานะของตน เพราะเห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกติกาของระบบตลาดเสรี  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บางส่วนจึงถึงกับเต็มใจให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์นองเลือดในปี 2553 ก็มาจากความคิดเห็นที่ไม่อาจไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพราะมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลในช่วงนั้นเห็นว่ารัฐบาลมีที่มาไม่ชอบธรรม  อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกว่าตัวเองถูกชนชั้นที่เหนือกว่าข่มเหงรังแกตามอำเภอใจ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมเห็นว่ามีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วทั้งสิ้น ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วคือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสงครามประชาชนในชนบท  มาจนถึงกรณีกระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริงที่ราชประสงค์
กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่มีทางจะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เลย ถ้าหากไม่มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ช่องว่างทางชนชั้นเหล่านี้ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่เพียงไม่ลดลง หากยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ตัวเลขจากปี 2552 ระบุว่ารายได้ของคน 20 เปอร์เซนต์แรกที่อยู่ลำดับสูงสุดกับคน 20 เปอร์เซนต์ที่อยู่ข้างล่างสุดห่างไกลกันถึง 13.2 เท่า (มติชน 6 พค.52) และคน 10 เปอร์เซนต์ที่รวยสุดเป็นเจ้าของสินทรัพย์มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทียบกับคนชั้นล่างสุด 10 เปอร์เซนต์ได้ส่วนแบ่งไปแค่ 3.9 เปอร์เซนต์ (มติชน 5 ตค.52)
    และถ้าจะพูดถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งจริง ๆ แล้ว ตัวเลขยังน่าตกใจกว่านี้อีก ดังจะเห็นได้จากการค้นคว้าของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งพบว่า 42 เปอร์เซนต์ของเงินฝากในธนาคารทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าประมาณหนึ่งในสามของจีดีพีประเทศไทย เป็นของคนเพียงสามหมื่นห้าพันคน จากจำนวนประชากรราว 64 ล้านคน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร/ มติชน 18 พย.52)
    ล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์ได้เปิดเผยรายชื่อมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของประเทศไทย ปรากฏว่าคนจำนวนหยิบมือเดียวเหล่านี้เป็นเจ้าของมูลค่าความมั่งคั่งรวมกันแล้วกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซนต์ของจีดีพี  นอกจากนี้ 44 คนในจำนวนดังกล่าวยังมีความมั่งคั่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมา (โพสต์ทูเดย์ 4 กค. 56)
ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ดังรายงานของธนาคาร UBS ร่วมกับสถาบันแห่งหนึ่งสำรวจพบว่าเศรษฐีไทยที่มีเงินมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (960 ล้านบาท) มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีกลายนี้ 15.2 เปอร์เซนต์  หรือเพิ่มจาก 625 คนเป็น 720 คน คนเหล่านี้เป็นเจ้าของสินทรัพย์รวมมูลค่าแล้ว 110,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 3.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากปีกลาย 520,000 ล้านบาท (ไทยรัฐ  23 กย.56)

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราหันมามองชีวิตของเกษตรกรไทย ก็จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขามีรายได้ทั้งปีเพียง114,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตและรายจ่ายด้านอุปโภคออกแล้ว กลับติดลบปีละ 34,000 บาท (มติชน 6 พย.53) อันนี้หมายความง่าย ๆ ว่าพวกเขายิ่งผลิตยิ่งเป็นหนี้
และเมื่อพูดถึงรายได้เฉลี่ยของคนงานรับจ้าง  เราก็จะเห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่ครบวงจรมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 7,000-9,000 บาทเท่านั้น  ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าจ้างรายวันแล้ว ยังน้อยกว่าราคาอาหารกลางวันของคนชั้นกลางจำนวนมาก หรืออาจจะถูกกว่าราคากางเกงในที่ขายตามห้างหรู
ในขณะที่ช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนของผู้บริหารบริษัทกับพนักงานระดับเสมียนก็ห่างไกลกันถึงกว่า 11 เท่า โดยผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าทุกประเทศในเอเชีย ยกเว้นฮ่องกง (สฤณี  อาชวานันทกุล/ ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา/ 2554 น.43)
พูดแล้วก็พูดให้หมดเปลือก ความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วเหล่านี้  ยังถูกทำให้เลวลงอีกด้วยระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะภาษีจากรายได้และกำไรประเภทต่าง ๆ ซึ่งจัดเก็บจากคนที่ได้เปรียบ กลับมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของรายได้รัฐจากภาษีทั้งหมด ในขณะที่ภาษีสินค้าและบริการซึ่งเก็บจากผู้บริโภคทุกคนกลายเป็นรายได้รัฐส่วนใหญ่  (http://whereisthailand.info/2013/03/sources-of-tax-revenue/) กล่าวอีกแบบหนึ่งคือคนรวยเสียภาษีน้อยเกินไป ส่วนคนจนก็เสียภาษีทางอ้อมทุกวัน
แน่นอน ตัวเลขเหล่านี้ย่อมมีนัยยะทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง เราจะยืนยันหลักการแห่งความเสมอภาคได้อย่างไร บนภูมิประเทศทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตรงข้ามกับความเสมอภาคอย่างสิ้นเชิง จำนวนของเกษตรกรและแรงงานรับจ้างในระบบนั้นเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับเกินครึ่งของประชากรไทย  อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความคับแค้นทางเศรษฐกิจของพวกเขาเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในประเทศไทย การเอ่ยถึงความแตกต่างทางชนชั้นดูจะเป็นเรื่องต้องห้ามและชวนให้ไม่สบายใจสำหรับคนจำนวนไม่น้อย แต่ในความเห็นของผม ท่าทีแบบนี้ทั้งไร้ประโยชน์และเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเท่ากับตัดประเด็นใจกลางออกไปจากความจริงของปัญหา ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะหรือทางออกที่ฉาบฉวย
ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเราควรมองความจริงให้เต็มตา บ้านเมืองจึงจะพอทางออกได้บ้าง เราควรเปิดบาดแผลของประเทศออกมาดู และมองให้เห็นความเกี่ยวโยงอันใกล้ชิด ระหว่างความแตกต่างทางชนชั้นที่สุดขั้วกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง
สำหรับชนชั้นที่ได้เปรียบ ท่านควรยอมรับว่ามันหมดเวลาแล้วที่จะมีอุปาทานว่าตนเองไม่เดือดร้อนกับสภาพเช่นนี้  หมดเวลาแล้วเช่นกันที่จะโทษว่าบ้านเมืองวุ่นวายเพราะจริตฟุ้งซ่านของคนไม่กี่คน  หรือแค่ขจัดคอรัปชั่นแล้วบ้านเมืองจะดีเอง
ผู้คนในประเทศไทยควรจะต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว  แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข  แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่างเหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกียจคร้าน
ต่อไป เราลองมาพิจารณาอุปสรรคของประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากยุคโลกาภิวัตน์  หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือผลกระทบของทุนนิยมไร้พรมแดนที่มีต่อเส้นทางเดินของสังคมไทย
แน่นอน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีด้านที่เป็นความเจริญอยู่ไม่น้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ  การกระตุ้นการเติบโตของพลังการผลิต  และการทำลายพรมแดนที่เคยกั้นขวางสายใยสัมพันธ์ระหว่างมวลมนุษย์
อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาเฉพาะด้านที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เราจะพบว่าระบบทุนนิยมแบบไร้พรมแดนได้คะแนนต่ำอย่างน่าตกใจยิ่ง  ทั้งนี้เนื่องจากการเลื่อนไหลเสรีของทุนและแรงงาน มักนำไปสู่ข้อได้เปรียบของชนชั้นนายทุนฝ่ายเดียว ส่วนผู้ใช้แรงงานนั้นแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเหลือ ขณะที่ระบบการค้าเสรีก็ทำให้เกษตรกรรายย่อยแทบทำอะไรไม่ได้เลย ในการตั้งราคาผลผลิตที่สมเหตุสมผล
ที่เลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แท้จริงแล้วไม่ได้พึ่งกลไกตลาดอย่างเดียว หากยังกดดันและผูกมัดให้อำนาจรัฐต่าง ๆ หันมาคุ้มครองกฎกติกาที่ตัวเองกำหนดด้วย  ซึ่งในกรณีของไทยนั้น นอกเหนือไปจากการออกกฎหมาย 11 ฉบับตามข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟแล้ว ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ต่างก็มีบทบัญญัติเหมือนกันว่ารัฐจะต้องดำเนินนโยบายสนับสนุนกลไกการค้าเสรี
ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปัญหาการเมืองไทยยิ่งสลับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะมันหมายความว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่เพียงเข้ามาเร่งขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเท่านั้น หากยังปิดกั้นหนทางแก้ไขเอาไว้ด้วย
อันที่จริงในระยะใกล้ ๆ นี้สิ่งบอกเหตุก็พอมีอยู่แล้ว  เช่นในกรณีปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท กับกรณีนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นต้น
กรณีแรกนอกจากมีเสียงบ่นจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ปรากฏว่านายทุนไทยยังย้ายไปลงทุนในประเทศค่าแรงต่ำเป็นจำนวนมาก  ส่วนกรณีหลัง ถ้าตัดเสียงครหานินทาเรื่องทุจริต ออกไป ก็จะพบว่าเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ล้วนมาจากมุมมองแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งสิ้น
และในทั้งสองกรณี ผู้วิจารณ์ต่างพากันแสดงความห่วงใยระบบตลาดและใช้ฐานคิดดังกล่าวเป็นกรอบอ้างอิงความถูกต้อง  ส่วนชีวิตของกรรมกรและชาวนาที่เสียเปรียบเชิงโครงสร้างนั้น  แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง
พูดง่าย ๆ คือรัฐไทยกำลังถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์กดดันให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ พื้นที่สำหรับการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ของรัฐไทยจึงถูกลดทอนลง  ภายใต้กรอบกติกาของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ อำนาจในการจัดการสังคมถูกโอนไปไว้ที่กลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่  และรัฐเองก็กำลังถูกแปรรูปดัดแปลงให้รับใช้เฉพาะชนชั้นนายทุน
คำถามมีอยู่ว่า แล้วระบบทุนจะดูแลคนได้ทั่วถึงหรือไม่  มันมีศักยภาพในการแก้ไขปรับปรุงตัวเองมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ผมไม่ต้องพูดมาก ก็เห็นชัดกันอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยาก
ที่ผ่านมาหลายปีการขยายตัวของทุนนิยมในประเทศไทยถูกยกขึ้นเป็นทั้งวาระแห่งชาติและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นจินตภาพที่คลุมเครือมาตั้งแต่ต้น แต่มาถึงยุคทุนนิยมไร้พรมแดนเราอาจพูดได้ว่าความคลุมเครือนั้นได้หายไปหมดแล้ว มันชัดเจนที่สุดว่าสิ่งนี้คือมายาคติ  ซึ่งไม่มีความเป็นจริงใด ๆ รองรับ
ถามว่าทำไมผมจึงกล้าพูดเช่นนี้  ที่กล้าพูดก็เพราะกฎเกณฑ์ของทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้นอยู่ตรงข้ามกับจินตภาพเรื่องชาติในระดับประสานงา
มันเป็นระบบที่ถือว่าทั้งโลกเป็นตลาดเดียวกัน และไม่ยอมรับอำนาจของรัฐไหนในการกำหนดกติกาอย่างเป็นอิสระ ไม่ยอมรับข้อจำกัดใด ๆ ในการเคลื่อนย้ายทุนและหากำไรจากทุน  ซึ่งรวมทั้งไม่ยอมรับข้อจำกัดทางความคิดหรือทางศีลธรรมด้วย
ดังนั้นปรากฏการณ์นายทุนทิ้งชาติจึงเป็นเรื่องที่ทั้งถูกต้องและปกติธรรมดาในเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน สำหรับระบบนี้ไม่มีเหตุผลชุดอื่นมาแทนกำไรสูงสุดได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงานให้คนในชาติ การกระจายรายได้ให้ชนชั้นผู้เสียเปรียบ หรือผลประโยชน์ทางด้านภาษีอากรของรัฐ
ใช่หรือไม่ว่าทุนไทยเองก็กำลังเคลื่อนไปในทิศทางนั้น
รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2555 นักนักธุรกิจไทยได้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศถึง 3.08 แสนล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 8 พค.55) และเมื่อเดือนมกราคม 2556 ก็มีรายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยืนยันว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ายี่ห้อดังของไทยไม่ต่ำกว่า 100 โรงงานกำลังหาทางย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหนีค่าแรงขั้นต่ำใน
ประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท  ในจำนวนนี้มีบางโรงงานที่กำลังทยอยเลิกจ้างพนักงานเพื่อปิดกิจการในประเทศ (โพสต์ทูเดย์ 28 มค.56)
แน่นอน แรงจูงใจสำคัญของนักลงทุนไทย คือค่าแรงราคาถูกและสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเวียดนาม ค่าแรงตามเมืองใหญ่อยู่ในระดับวันละ 200 บาท และนอกเมืองออกไปยังต่ำกว่านั้นอีก นอกจากนี้ยังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้ากิจการได้ถึง 100 เปอร์เซนต์  ด้วยเหตุนี้ภายในครึ่งปีแรกของ 2556 ปีเดียว จึงมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนามถึงกว่า 300 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 183,000 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์  13 สค.56)
ส่วนกัมพูชานั้นค่าแรงยิ่งต่ำลงมาอีก บางแห่งอัตราค่าจ้างรายวันอยู่ที่เพียง 70 บาท  กลุ่มทุนไทยจึงเริ่มดำเนินการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นใกล้ชายแดน เพื่อรองรับทุนไทยเป็นหลัก (โพสต์ทูเดย์ 25 มีค. 56)
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการลงทุนแบบข้ามชาติของบรรดานักธุรกิจไทย  ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการขยายตัวสู่ประเทศตะวันตกของทุนใหญ่อีกหลายเจ้า ซึ่งแรงจูงใจอาจจะไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงราคาถูก เท่ากับการช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดสินค้าระดับโลก
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าทุนข้ามชาติกับทุนทิ้งชาติแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน  และมันคงเป็นเรื่องยากสิ้นดีที่จะเห็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำหน้าที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นหรือช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แม้แต่เสรีภาพในจินตภาพของระบบนี้ก็ดูจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการค้าการลงทุนเสรี ตลอดจนการบริโภคเสรีเท่านั้น
ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้แล้ว ผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นนายทุน (ทั้งทุนไทยและต่างชาติ) จึงไม่อาจถูกรัฐใช้เสื้อคลุมชาตินิยมมาปกปิดได้ง่าย ๆ เหมือนเดิม ขณะเดียวกันเสื้อคลุมรัฐชาติก็หลุดลุ่ยเองด้วย เพราะรัฐกำลังกลายเป็นทั้งพนักงานประชาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ระบบทุนเท่านั้น
อันที่จริง นี่ไม่ใช่สภาพที่เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียว หากเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งเกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตกด้วย
โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลยืนยันว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วขึ้นในสังคมอเมริกัน  ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย
เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเมืองอเมริกันซึ่งเป็นประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในโลก กำลังถูกบิดเบือนให้กลายเป็น ‘ระบบหนึ่งดอลล่าร์หนึ่งคะแนน’ แทนที่จะเป็นไปตามหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงดังที่เคยเป็นมา  ประชาชนคนส่วนใหญ่แทบไม่สามารถกำหนดเส้นทางเดินของประเทศได้เลย เพราะอิทธิพลของกลุ่มทุนและพวกที่ถือครองความมั่งคั่งสูงสุด (โจเซฟ สติกลิตซ์/ สฤณี อาชวานันทกุล แปล/ ราคาของความเหลื่อมล้ำ/ 2556 น.225-260)
พูดก็พูดเถอะ ในระยะหลัง ๆ ถ้ารัฐบาลมีท่าทีจะปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบถึงพวกเขา เศรษฐีอเมริกันก็พร้อมจะใช้ไม้ตาย ด้วยการโอนไปถือสัญชาติอื่น  เฉพาะครึ่งปีแรกของ 2556 พวกเขาก็ทำเช่นนี้เกือบ 2 พันคน และเมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 2 ของปีนี้กับปีก่อน จำนวนเศรษฐีทิ้งสัญชาตินับว่าเพิ่มขึ้นถึง 6เท่า  เนื่องจากนโยบายภาษีของรัฐบาลพรรคเดโมแครต ( โพสต์ทูเดย์ 12 สค.56)  สำหรับเรื่องนี้ พฤติกรรมของเศรษฐีในประเทศแถบยุโรปก็ไม่ต่างกัน
แน่ละ ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ผมคิดว่านายทุนใจดีที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบย่อมมีอยู่ แต่ถ้าพูดโดยภาพรวมของทุนนิยมโลกาภิวัตน์แล้ว  ก็คงต้องสรุปว่ามันเป็นระบบที่หากปล่อยไว้โดยลำพัง ย่อมไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
ดังนั้น ผลกระทบจากทุนนิยมไร้พรมแดนที่มีต่อประเทศไทยจึงมีนัยยะทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง  มันหมายถึงว่าในด้านหนึ่งเราจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่แก้ไขตัวเองไม่ได้ และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องแก้ไขปมเงื่อนทางการเมืองที่โลกาภิวัตน์มาผูกมัดไว้ด้วย  ทั้งสองด้านนี้บางทีอาจจะต้องสะสางไปพร้อม ๆ กัน
ถามว่าแล้วอันใดเล่าคือคือปมปัญหาทางการเมืองอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยมแบบข้ามชาติ และกระบวนการทางการเมืองแบบไหนบ้างที่จะช่วยคลายปมเหล่านั้น ต่อเรื่องนี้ผมคิดว่าเราอาจพิจารณาได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน
ในระดับรัฐ (state level) เราควรตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นรัฐชาติของไทยว่างเปล่าขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากพลังอำนาจจากนอกประเทศเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐไทยได้ในสัดส่วนที่สูงมาก อีกทั้งตลาดก็กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐเข้าไปแตะต้องไม่ได้
การเลื่อนไหลเข้าออกของทุนและแรงงานทำให้จินตภาพความเป็นชาติเจือจางขึ้นทุกที  นายทุนต่างชาติเข้ามาถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยในสัดส่วนมหาศาล ขณะที่ผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนนับล้านก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผม ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้  หากอยู่ที่การกลบเกลื่อนความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยวาทกรรมที่หมดสมัย
เช่นเดียวกับเรื่องชนชั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดกันตรง ๆ ว่ารัฐไทยไม่เหมือนเดิม และสังคมไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน มันไม่ได้เป็นก้อนเดียวโดด ๆ  อีกทั้งไม่ได้ประกอบด้วยคนไทยล้วน ๆ เราจะจัดที่จัดทางให้ผู้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกันอย่างไรยังเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้า แต่ที่แน่ ๆ คือรัฐไม่ควรอ้างว่าผลประโยชน์ของทุนเป็นผลประโยชน์ของชาติอีก
ในยุคที่ช่องว่างทางชนชั้นถ่างห่าง จินตภาพเรื่องส่วนรวมพร่ามัว รัฐไทยยิ่งจำเป็นต้องขยายบทบาทในการบริหารความเป็นธรรม ทั้งสังคมและรัฐจึงจะอยู่รอดได้  และเพื่อจุดมุ่งหมายนี้บางทีรัฐอาจจะต้องยอมปรับโครงสร้างอำนาจของตนเอง  โดยกระจายอำนาจสู่หัวเมืองต่างจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง  เพื่อว่าประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จะได้มีเครื่องมือมากขึ้นในการคุ้มครองอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของพวกเขา ก่อนที่โลกาภิวัตน์จะถอนรากถอนโคนทุกสิ่งทุกอย่าง
อันดับต่อมา ในระดับระบอบการเมือง (regime level) ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกคว้านไส้ออกไปหลายเรื่อง เพราะนโยบายหลักหลายอย่างกลายเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นในหลาย ๆ กรณีเจตจำนงของประชาชนจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้นำการเมืองตอบสนองไม่ได้
พูดอีกแบบหนึ่งคือ กลไกตลาดเสรีกำลังทำให้เนื้อในของระบอบประชาธิปไตยว่างเปล่า เพราะผู้มีอำนาจต่อรองสูงในตลาดย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของศูนย์อำนาจมากกว่าปวงชนซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตย  ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทิศทางการจัดการสังคมของกลไกตลาด ไม่ได้สอดคล้องกับเสียงของประชาชนเสมอไป กระทั่งเป็นการลิดรอนสิทธิทางการเมืองของประชาชนอยู่โดยอ้อม
เรียนตรงๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรมองเห็นว่าเป็นปัญหา มิฉะนั้นแล้วจะเท่ากับช่วยกันสร้างภาพลวงตาว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่ ประชาชนสามารถกำหนดได้ทุกอย่าง  ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริงประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายพื้นฐานได้เลย แม้แต่ผู้นำการเมืองก็ยังต้องคอยเสาะหาช่องเล็กช่องน้อยคิดนโยบายที่ไม่ขัดแย้งกับตลาด หรือไม่ขัดใจทุนนิยมโลก ออกมาเป็นนโยบายหาเสียง แทนที่จะคิดถึงนโยบายใหญ่ ๆ ที่เป็นทางเลือกเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น ประเทศไทยคงฝากประชาธิปไตยไว้กับสถาบันและกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียวไม่ได้ หากต้องประสานบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการเมืองมวลชนเข้ากับระบบรัฐสภา ทั้งนี้เพราะพลังทั้งสองส่วนต่างก็มีปัญหากับทุนนิยมโลกไปคนละแบบ และมีแรงจูงใจสูงที่จะอาศัยมาตรการทางการเมือง
สำหรับฝ่ายแรกนั้นมักประกอบด้วยกลุ่มประชาชนที่ต้องการอยู่นอกตลาดเสรี  ส่วนฝ่ายหลังแม้จะเป็นชนชั้นที่ต้องอยู่กับตลาดแต่ก็อยู่อย่างเสียเปรียบปราศจากอำนาจต่อรอง  ด้วยเหตุดังนี้ ฝ่ายหนึ่งจึงเรียกร้องพื้นที่จัดการตัวเอง  ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพื้นที่ในกระบวนการกำหนดนโยบาย
ต่อไป เรามาพูดกันถึงผลกระทบของโลกภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล (government level) ในระดับนี้  ความยากลำบากที่สุดอยู่ที่บทบาทการเป็นผู้นำประเทศ หรือผู้นำของฝ่ายบริหาร  ทั้งนี้เนื่องจากกรอบอ้างอิงเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมแบบเก่าเริ่มใช้ไม่ได้
เศรษฐกิจไร้พรมแดนทำให้ผลประโยชน์ต่างชาติกับของคนในประเทศไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป ขณะที่ผลประโยชน์ของชนชั้นที่ได้เปรียบก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับของชนชั้นที่เสียเปรียบ ยังไม่ต้องพูดถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชาชนในอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งทำให้ยากต่อการเหมารวมว่ารัฐบาลกำลังทำเพื่อคนไทยทุกคน
ในเมื่อรัฐบาลขาดข้ออ้างที่ทุกฝ่ายยอมรับ  การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารย่อมถูกคัดค้านถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตฉันทานุมัติ (Political Consensus) อย่างต่อเนื่อง มวลชนจำนวนมหาศาล และหลายหมู่เหล่า เริ่มเห็นว่ารัฐไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเชื่อฟังกันโดยปราศจากเงื่อนไข  ดังนั้นจึงพร้อมจะกดดันรัฐบาลให้ค้ำประกันผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา
ตามความเห็นของผม วิธีแก้ไขสภาพดังกล่าวไม่อาจเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่ได้ประกอบด้วยราษฎรก้อนเดียวที่รักกันอยู่ตลอดเวลา และใครก็ตามที่มีบทบาทนำพาประเทศจะต้องเลิกอ้างอิงผลประโยชน์แห่งชาติแบบลอย ๆ เพื่อปกปิดผลประโยชน์ทางชนชั้นเสียที เพราะถึงอย่างไรก็ปิดไม่มิดอยู่แล้ว
อันที่จริงผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของนายทุนก็มีส่วนทำให้ชนชั้นล่าง ๆ ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะเรียกร้องผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นตนด้วย  ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาข้าว ราคายาง หรือค่าชดเชยเรื่องมลภาวะ  พูดกันง่าย ๆ คือไม่มีใครยอมอ่อนข้อ หรือเสียสละเพื่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป

ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าปีนี้มีการชุมนุมของประชาชนไทยมากกว่า 3,000 ครั้ง และในจำนวนนั้นเป็นการประท้วงหรือเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจปากท้องถึง 1,939 ครั้ง ที่เหลือเป็นเรื่องการเมือง (ไทยรัฐ 8 ตค.56)
แน่ละ เราอาจตีความได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพของชาวไทยในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับความเสมอภาคและความเป็นธรรมแล้วเห็นทีจะไม่ใช่  ข้อเท็จจริงคือผู้คนกำลังเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์  และไม่มีใครยอมรับความเดือดร้อนนี้โดยไม่ต่อสู้ดิ้นรน
ดังนั้น ผู้นำการเมืองที่ตื่นรู้จึงควรย้ายฐานความชอบธรรมของอำนาจไปสู่การสนองผลประโยชน์รูปธรรมของประชาชนให้มากขึ้น  ยอมรับว่ารัฐบาลต้องมีบทบาทบริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกลไกตลาด  รวมทั้งต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่หลากหลายแตกต่างไม่เฉพาะในช่วงเสียงเลือกตั้ง หากตลอดช่วงที่อยู่ในอำนาจ และในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ
หากทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับแปรวิกฤตฉันทานุมัติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ผมต้องขออภัยที่ได้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยไทย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัย  ทั้งของโลกและของบ้านเรา มันเป็นสถานการณ์ที่สาปแช่งคนจำนวนมหาศาล ให้จมปลักอยู่กับความต่ำต้อยน้อยหน้า อับจนข้นแค้น และเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความเจริญ
วันนี้ ผมขออนุญาตเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องเหล่านั้น เพราะผมคิดว่าพวกเขามีโอกาสน้อยเกินไปในการพูดถึงความเสียเปรียบของตน
โดยสารัตถะแล้ว สิ่งที่ผมพูดก็ไม่ได้ต่างจากที่เคยพูดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว  ไม่ได้หลุดไปจากความฝันเดือนตุลาคมที่หมุดประวัติศาสตร์กำลังจะจดจารึกไว้
เพียงแต่ว่าในวันนี้ บริบทที่เปลี่ยนไปของโลก ทำให้เราเห็นพ้องต้องกันน้อยลง
ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง