PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

"ผบ.สูงสุด"นำ380นายพล ทบ.อำลา จปร. ลั่น กองทัพ หล่อหลอม

"ผบ.สูงสุด"นำ380นายพล ทบ.อำลา จปร. ลั่น กองทัพ หล่อหลอม ให้เป็นสุภาพบุรุษ ชายชาติทหารที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เข้มแข็ง ยัน จิตวิญญาณทหาร ไม่มีวันเสื่อมคลาย แม้เกษียณ จะยึดอุดมการณ์ชายชาติทหาร
ที่ รร.นายร้อยจปร. ...พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบทบ. กล่าวสดุดีนายทหารชั้นนายพลที่อำลาชีวิตราชการทหาร ในตอนหนึ่งว่า การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นทางทหารมาตลอดอายุราชการจนสำเร็จ ซึ่งทุกท่านสร้างคุณูปการต่อกองทัพ และ วางรากฐานให้มั่นคง ตลอดจนเสียสละกาย กำลังใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
โดยเฉพาะห้วงเวลาบ้านเมืองเผชิญภัยคุกคามหลายๆ ด้าน ส่งกระทบต่อความมั่นคง และความสงบเรียบร้อย ทุกท่านมีส่วนร่วมบทบาทแก้ไขปัญหา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงชาติ บ้านเมืองปกติสุข ปลอดภัย
จึงเป็นเกียรติประวัติภาคภูมิใจ และเป็นศักดิ์ศรีกองทัพ ทำให้สง่างาม เป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ พร้อมทั้งเป็นนายทหารอาชีพที่สืบสานนำพากองทัพไทยให้เจริญรุ่งเรือง มีศักยภาพค้ำจุนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนให้ผาสุกตลอดไป
พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นผู้แทนนายทหารชั้นนายพลอาวุโส อัตราจอมพล กล่าวคำอำลาว่า ตลอดชีวิตรับราชการ เป็นช่วงเวลาที่พวกเราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติและบ้านเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ ที่หล่อหลอมให้เป็นสุภาพบุรุษและเป็นชายชาติทหารที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเข้มแข็ง ทั้งร่างกายและจิตใจ มีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร
และพร้อมต่อ การปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบ อย่างเต็มขีดความสามารถ ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมายในการสร้างความมั่นคงสงบสุขให้กับชาติบ้านเมืองและพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดีอันสูงสุด
พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเราไม่มีวันเสื่อมคลาย แม้ว่าการทำหน้าที่จะสิ้นสุดไม่กี่วันข้างหน้านี้ แต่ความรักความผูกพันและอุดมการณ์ของชายชาติทหารที่มีต่อกองทัพ สถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ของพวกเราจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและพร้อมเสมอที่จะมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทัพด้วยความเต็มใจในทุกโอกาส
พร้อมกันนี้พวกเราเชื่อมั่นว่าทุกท่านที่ยังอยู่ในราชการจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดด้วยความทุ่มเท เสียสละรับผิดชอบและมุ่งมั่นต่อภารกิจบนพื้นฐานของความรู้รักสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อพัฒนากองทัพ ให้มีความเจริญก้าวหน้าดำรงไว้ซึ่งการเป็นสถาบันหลักด้านความมั่นคงของประเทศชาติ

"บิ๊กตู่ "บอกแล้ว "ยิ่งลักษณ์" อยู่ "ดูไบ"

"บิ๊กตู่ "บอกแล้ว "ยิ่งลักษณ์" อยู่ "ดูไบ" เผย กระทรวงต่างประเทศ รายงาน ชี้ไม่ใช่สายลับอะไร เผย อยู่ระหว่างการดำเนินการ ตามตัว และถอนพาสปอร์ต
ติงสื่อ อย่าไปขยายให้เขาสิ หาก"ยิ่งลักษณ์" เคลื่อนไหวจากดูไบ โวย ถ้าขยายไป ก็ทำให้บ้านเมืองเสียหายแล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นมา ก็ประณาม ด้วย
พล.อ ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กล่าวว่า ไม่รู้สึกอะไร หลัง ศาลตัดสิน จำคุก5ปี"อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" เพราะก็เหมือนกับทุกคดี ผมไม่รู้สึกอะไร ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง
"ก่อนหรือหลัง ผมก็ไม่รู้สึกอะไร มันไม่ใช่เรื่องของผม มันเป็นเรื่องของศาล เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เหมือนคดีทุกคดี" นายกฯกล่าว
ทั้งนี้ เพราะคือการตัดสินของศาล ที่ใช้กม. อำนวยความเท่าเทียมให้ทุกคนอยู่ภายใต้กม.เดียวกัน ไม่ว่า จะใคร พ่อค้า ปชช. นักการเมือง ที่มี กม.นักการเมือง เพิ่มอีก
ส่วน ทหาร ตำรวจ ก็มีวินัยทหาร ตำรวจ ข้าราชการเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นทุกคนใช้กฎหมายเดียวกันซึ่งมีอยู่หลายพันหลายหมื่นฉบับที่เกี่ยวข้องไปถึงกฎกระทรวง ที่จะเป็นการอำนวยความเท่าเทียม และตนสนใจติดตามคดีนี้อยู่ แต่เมื่อตัดสินไปแล้วก็จบ เพราะมีคดีอื่นอีกมากที่จะต้องดำเนินการต่อไป เป็นเรื่องของศาล และ กระบวนการยุติธรรม เราต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย และเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาต้องไปต่อสู้คดีเอา ขั้นตอนการต่อสู้มีเยอะเเยะ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาล จะดำเนินการกับ น.ส ยิ่งลักษณ์ หลังมีคำพิพากษา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดี๋ยวก็ทำ ต้องทำต่อ คดีทั่วไปก็เป็นแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตัดสินคดีแล้ว มีการออกหมายจับ ถ้าตัวผู้ต้องหาไม่อยู่ต้องออกหมายจับ
ถ้าเจอต้องจับมา ถ้าอยู่ในต่างประเทศต้องขอตัวกลับมา ถ้าเขาให้ก็ได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้ จะไปยากตรงไหนก็แค่นี้
ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการต่อไป เมื่อมีการออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานต่อ และขั้นตอนต่อไป เป็นกระทรวงต่างประเทศ และไปยังInterpol ขอให้เวลาเจ้าหน้าที่ทำงาน
ส่วนเรื่องการเพิกถอนพาสปอร์ตนั้น นายกฯกล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศชี้แจงไปแล้ว ให้เค้าทำงานไปขั้นตอนต่างๆมีอยู่
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกฯเผยว่า มีสายลับ บอกว่า คุณยิ่งลักษณ์ อยู่ไหนนั้น นายกฯ กล่าวว่า ผมพูดไปอย่างนั้น ไม่มีหรอกสายลับ อะไร ผมก็พูดไปยังงั้นล่ะ
"ไม่ต้องมาถามมาก ถามมา3วันแล้วถามให้ได้อะไรขึ้นมา เขากำลังติดตามอยู่ กำลังจะบอกอยู่นี่"
"ผมทราบข่าวจากกระทรวงต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ว่า ขณะนี้ไปอยู่ที่ดูไบ"
โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวจบ ก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ อยู่ดูไบ แล้วเคลื่อนไหว ปลุกระดม จะทำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า สื่อก็อย่าไปขยายความ ถ้าไปขยาย และทำให้บ้านเมืองขัดแย้ง วุ่นวาย ก็ต้องโดนประณาม

เมื่อ"บิ๊กป้อม" เผย "ปู"อยู่"ดูไบ"รับปาก ไม่ยุ่งการเมือง...แล้วอะไรจะตามมา

Deal Deal Deal??
เมื่อ"บิ๊กป้อม" เผย "ปู"อยู่"ดูไบ"รับปาก ไม่ยุ่งการเมือง...แล้วอะไรจะตามมา
พลเอกประวิตร ปัดตอบ เชื่อใจ"ยิ่งลักษณ์"ได้หรือไม่ ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง จริง /เปรย "ดีแล้ว ไปอยู่ ดูไบ" แต่ไม่มี สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
‪พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการที่นายกฯเผยว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ ดูไบ UAE นั้นว่า "ก็ดีแล้ว ไปอยู่ ดูไบ "
เมื่อถามว่า กลัว ซ้ำรอย "ทักษิณ"มั้ย บิ๊กป้อม เผยว่า "ยิ่งลักษณ์" อยู่"ดูไบ" รับปากแล้วว่า ไม่ยุ่งการเมือง
เมื่อถามว่า รู้ได้ยังไง ว่ายิ่งลักษณ์ จะไม่ยุ่งการเมือง พลเอกประวิตร กล่าวว่า ทางการ ดูไบ UAE บอก กระทรวงการต่างประเทศ ไทย มาแล้วว่า ยิ่งลักษณ์ จะไม่ยุ่งไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทาง ดูไบ รับปาก กต.ว่าจะดูแลไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองจากดูไบ ก็ว่ากันไปตามระบบ
ทั้งนี้ เราไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน กับดูไบ
ส่วนจะเชื่อใจ "ยิ่งลักษณ์" หรือไม่ว่า จะไม่เคลื่อนไหว บิ๊กป้อม บอก "ไม่รู้"
ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ประกาศจะไม่ยุ่งการเมืองนั้น จะจริงๆหรือไม่ และเป็นเพราะมี "Deal" เช่นที่ร่ำลือกันมาตลอด หลังหนีออกนอกประเทศ แล้วทำให้คสช. กลายเป็นจำเลยสังคมว่า สมยอม หรือเปิดทางให้หนี
แม้ว่า พลเอกประยุทธ์ บิ๊กป้อม และแกนนำคสช. จะยืนยันว่าไม่มดีล ไม่มีสมยอมคุณยิ่งลักษณ์ หนีไปด้วยศักยภาพของตัวเอง ที่เป็นถึงอดีตนายก

"บิ๊กป้อม" บอก ก็ดีแล้ว "ปู"ไปอยู่ "ดูไบ"

"บิ๊กป้อม" บอก ก็ดีแล้ว "ปู"ไปอยู่ "ดูไบ"
บิ๊กป้อม"เผย "ปู"อยู่"ดูไบ" ก็ "ดีแล้ว ไปอยู่ ดูไบ" แต่ไม่มี สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
‪พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการที่นายกฯเผยว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ นครดูไบ UAE นั้นว่า ก็ดีแล้ว อยู่ ดูไบ
เมื่อถามว่า กลัว ซ้ำรอย "ทักษิณ"มั้ย บิ๊กป้อม เผยว่า "ยิ่งลักษณ์" อยู่"ดูไบ" รับปากแล้วว่า ไม่ยุ่งการเมือง
เมื่อถามว่า รู้ได้ยังไง ว่ายิ่งลักษณ์ จะไม่ยุ่งการเมือง พลเอกประวิตร กล่าวว่า ทางการ ดูไบ UAE บอก กระทรวงการต่างประเทศ ไทย มาแล้วว่า ยิ่งลักษณ์ จะไม่ยุ่งไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทาง ดูไบ รับปาก กต.ว่าจะดูแลไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองจากดูไบ ก็ว่ากันไปตามระบบ
ทั้งนี้ เราไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน กับดูไบ
ส่วนจะเชื่อใจ "ยิ่งลักษณ์" หรือไม่ว่า จะไม่เคลื่อนไหว บิ๊กป้อม บอก "ไม่รู้"

กระทรวงการต่างประเทศ นี่แหล่ะ รายงาน นายกฯบิ้กตู่ ว่า"ยิ่งลักษณ์" อยู่ "ดูไบ"

ไม่มีหรอก"สายลับ"
กระทรวงการต่างประเทศ นี่แหล่ะ รายงาน นายกฯบิ้กตู่ ว่า"ยิ่งลักษณ์" อยู่ "ดูไบ"
พลเอกประยุทธ์ อ้าง กต."บอก "ยิ่งลักษณ์" อยู่ "ดูไบ" ชี้ไม่ใช่สายลับอะไร ผมก็พูดไปยังงั้นล่ะ ระบุ รายงานอย่างไม่เป็นทางการ เผย อยู่ระหว่างการดำเนินการ ตามตัว และถอนพาสปอร์ต
พล.อ ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กล่าวว่า ไม่รู้สึกอะไร หลัง ศาลตัดสิน จำคุก5ปี"อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" เพราะก็เหมือนกับทุกคดี ผมไม่รู้สึกอะไร ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง
"ก่อนหรือหลัง ผมไม่รู้สึกอะไร มันไม่ใช่เรื่องของผม มันเป็นเรื่องของศาล เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เหมือนคดีทุกคดี" นายกฯกล่าว
ทั้งนี้ เพราะคือการตัดสินของศาล ที่ใช้กม. อำนวยความเท่าเทียมให้ทุกคนอยู่ภายใต้กม.เดียวกัน ไม่ว่า จะใคร พ่อค้า ปชช. นักการเมือง ที่มี กม.นักการเมือง เพิ่มอีก
ส่วน ทหาร ตำรวจ ก็มีวินัยทหาร ตำรวจ ข้าราชการเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นทุกคนใช้กฎหมายเดียวกันซึ่งมีอยู่หลายพันหลายหมื่นฉบับที่เกี่ยวข้องไปถึงกฎกระทรวง ที่จะเป็นการอำนวยความเท่าเทียม และตนสนใจติดตามคดีนี้อยู่ แต่เมื่อตัดสินไปแล้วก็จบ เพราะมีคดีอื่นอีกมากที่จะต้องดำเนินการต่อไป เป็นเรื่องของศาล และ กระบวนการยุติธรรม เราต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย และเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาต้องไปต่อสู้คดีเอา ขั้นตอนการต่อสู้มีเยอะเเยะ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาล จะดำเนินการกับ น.ส ยิ่งลักษณ์ หลังมีคำพิพากษา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดี๋ยวก็ทำ ต้องทำต่อ คดีทั่วไปก็เป็นแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตัดสินคดีแล้ว มีการออกหมายจับ ถ้าตัวผู้ต้องหาไม่อยู่ต้องออกหมายจับ
ถ้าเจอต้องจับมา ถ้าอยู่ในต่างประเทศต้องขอตัวกลับมา ถ้าเค้าให้ก็ได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้ จะไปยากตรงไหนก็แค่นี้
ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการต่อไป เมื่อมีการออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานต่อ และขั้นตอนต่อไป เป็นกระทรวงต่างประเทศ และไปยังInterpol ขอให้เวลาเจ้าหน้าที่ทำงาน
ส่วนเรื่องการเพิกถอนพาสปอร์ตนั้น นายกฯกล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศชี้แจงไปแล้ว ให้เขาทำงานไปขั้นตอนต่างๆมีอยู่
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกฯเผยว่า มีสายลับ บอกว่า คุณยิ่งลักษณ์ อยู่ไหนนั้น นายกฯ กล่าวว่า ผมพูดไปอย่างนั้น ไม่มีหรอกสายลับ อะไร ผมก็พูดไปยังงั้นล่ะ
"ไม่ต้องมาถามมาก ถามมา3วันแล้วถามให้ได้อะไรขึ้นมา เขากำลังติดตามอยู่ กำลังจะบอกอยู่นี่"
"ผมทราบข่าวจากกระทรวงต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ว่า ขณะนี้ไปอยู่ที่ดูไบ"
โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวจบ ก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ อยู่ดูไบ แล้วเคลื่อนไหว ปลุกระดม จะทำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า สื่อก็อย่าไปขยายความ ถ้าไปขยาย และทำให้บ้านเมืองขัดแย้ง วุ่นวาย ก็ต้องโดนประณาม
_///

จำคุก ‘ปู’ 5 ปี บทเรียนการบริหาร ที่ต้อง’ศึกษา’

จำคุก ‘ปู’ 5 ปี บทเรียนการบริหาร ที่ต้อง’ศึกษา’


27 กันยายน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา
คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558

ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย

คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทในโครงการจำนำข้าว

ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา

และให้ออกหมายบังคับ เพื่อนำตัวมารับโทษ

การนัดฟังคำพิพากษาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 เพราะเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯเคยนัด น.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟังคำพิพากษาคดีแล้ว

แต่วันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มา ทนายความแจ้งว่า ป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ศาลพิเคราะห์เห็นว่าไม่น่าเชื่อ จึงออกหมายจับ

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ปรากฏตัว

มีเพียงแค่การสืบสวนสอบสวน และควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย

และให้การยอมรับว่า วันที่ 23 สิงหาคม ได้ขับรถนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ไปส่งห่างจากสถานีรถไฟอำเภออรัญประเทศ 1 กิโลเมตร และเห็นมีรถกระบะมารับช่วงต่อ

จากนั้นตำรวจที่ไปส่ง ได้ขับรถกลับกรุงเทพฯและไม่รู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ไหน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 2 ว่า รู้ที่อยู่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่ขออุบไว้ก่อน อาจจะบอกหลังวันที่ 27 กันยายน ซึ่งก็คือวันที่ศาลนัดฟังคำตัดสินอีกรอบ

และผลการตัดสินก็ออกมาแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดตามฟ้อง

ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

ผลจากคำตัดสิน จะทำให้เกิดความชัดเจนทางการเมือง

หนึ่ง เกิดความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยต้องพบกับปัญหาผู้นำพรรคแน่นอน

เพราะจุดขายแรก ทักษิณ ชินวัตร ต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

ผู้นำที่โดดเด่นอีกคนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องหนีคดี

พรรคเพื่อไทยจึงต้องทบทวน และควานหาผู้นำพรรค เพื่อเป็นจุดขายของพรรคก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้น

สอง ผลของคำตัดสินนี้มีความหมายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ชัดเจนว่านโยบายพรรคการเมืองอย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนั้นยังสามารถกระทำได้

และชัดเจนเช่นกันว่าการบริหารนโยบายอาจก่อเกิดความผิดขึ้นได้

และผู้ต้องรับผิดชอบอาจมีตำแหน่งสูงถึงระดับนายกรัฐมนตรี

ผลจากคดี แม้ยังไม่ถึงที่สุด แต่อาจกลายเป็นมาตรฐานในการบริหารนโยบายของรัฐบาล

โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคต

อย่าลืมว่า รัฐบาลชุดไหนๆ ก็ต้องบริหารประเทศ

ต้องมีนโยบาย ต้องบริหารนโยบาย และรับความเสี่ยงจากการบริหาร

ในเมื่อคดีนี้ นายกรัฐมนตรีบริหารงานและเกิดปัญหาในการบริหาร

จนเป็นการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต

จึงเป็นคดีที่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องศึกษา

เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินซ้ำรอยเดิม


ยิ่งลักษณ์ 'ไปแล้วก็ต้องไปลับ'

คนเรานี่ก็แปลก...........?
ตอนแม่ดอกลำโพงอยู่ก็ไล่ ยังกะเห็นเป็นเสนียดจัญไรแผ่นดินอย่างนั้นแหละ
ครั้นเธอไปจริงๆ...........
เมื่อวาน (๒๗ ก.ย.๖๐) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำตัดสินลับหลังจำเลย
ยังไม่ทันจบ ในคดีว่าด้วยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลยโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดการทุจริตเสียหายหลายแสนล้าน
"นอกศาล" เซ็งแซ่แต่เสียงถาม.........
"ยิ่งลักษณ์หนีไปอยู่ไหน...ยิ่งลักษณ์หนีไปอยู่ไหน?"
เธอจะไปซุกหัวอยู่ไหน ก็เป็นทางที่เธอเลือกแล้ว จะต้องไปอาลัย-อาวรณ์อะไรกันนักหนา
อยากให้อยู่เป็นขวัญถุงประเทศมากนักหรือไง?
เราเคยคุยกันไปแล้วว่า.......
เมื่อเธอไม่ไปตามที่ศาลนัดเมื่อ ๒๕ สิงหา และศาลนัดใหม่ ให้มาฟังคำตัดสินคดีอีกครั้งเมื่อวาน (๒๗ ก.ย.) แต่เธอก็หายจ้อย นั้น
ช่วงก่อนถึง ๒๗ กันยา เธอจะต้องเป็นปูมุดรูอย่างเดียว ไม่ยอมโผล่ให้ใครรู้ว่าอยู่ไหนแน่นอน
มันเป็นเชิงกลทางประเมิน "เผื่อรุก-เผื่อถอย" น่ะ
แต่เมื่อศาลอ่านคำตัดสิน รู้ผลเป็นที่เบ็ดเสร็จ "คุก ๕ ปี" และศาลออกหมายจับ!
นั่นถือว่า อนาคตและชีวิตเธอ ต่อจากนี้ ถึงเวลาต้องขีดเส้นแดง ๒ เส้น ใต้ "คำตอบชีวิต" แล้ว
จะกลับมาเป็น "ขวัญใจเจ้าทุย".........
หรือไม่กลับ หนึ่งริ-หนึ่งยำ เอาเงินที่โกงไม่เป็นไร หาซื้อเกาะร้างซักเกาะ แถวๆ แอฟริกา
แล้วตั้งประเทศ "ชินจนตาย" อยู่กันที่นั่น!?
ไปต้องไปเซ้าซี้นายกฯ ตู่ รองนายกฯ ป้อม ให้เป็นที่จั๊กจี้หัวใจคนแก่หรอกว่า ยิ่งลักษณ์อยู่ไหน
นอนหลับ-ฝันดีอยู่กะบ้านกันนั่นแหละ
เดี๋ยว..ไม่เจ้าตัวยิ่งลักษณ์ ก็เจ้าตัวพี่ชาย หรือนังตัวหลาน โผล่หน้า มาทวีต สไกป์ หรือไม่ก็ โพสต์เฟซ
"ยู้ฮู..ยู้ฮู..ปูสู้ตายคารูประชาธิปไตยอยู่นี่ไงคะ จุ๊บ..จุ๊บ"!
คือไม่ว่าเธอจะตัดสินใจแบบไหน?
กลับมาตายบ้าน หรือหนีไปจนตาย มันถึงเวลาที่เธอต้องโผล่ออกมาล่อหน้า-ล่อตา ทั้งกับลุงตู่ ปู่ป้อม และคนไทย ว่าปูอยู่นี่ไง
เหมือนครั้งเจ้าพี่ชาย .........
หนีแล้ว ทั้งพ่อ-แม่-ลูก ไปชักแถวเรียงหนึ่งกลางถนนลอนดอน แล้วถ่ายลงรูปเฟซเย้ย!
ยิ่งลักษณ์ก็จะไม่พ้นแนวนี้ จะที่อังกฤษ ที่ดูไบ หรือที่ประเทศไหนก็ช่างมัน สำหรับผม "ยินดี" สถานเดียว
ถ้าสถานที่นั้น ไม่ใช่ประเทศไทย!
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เธออุทธรณ์คำตัดสินศาลฎีกาฯ นี้ได้ แต่ตัวเธอจะต้องมายื่นอุทธรณ์เอง
ด้วยลีลานี้ เธอน่าจะปล่อยให้คดีถึงที่สุด คือภายใน ๓๐ วันที่ให้อุทธรณ์ เธอไม่มาแน่
เมื่อไม่มา คดีเป็นอันสิ้นสุด ก็ถามกันว่า ด้วยโทษคุก ๕ ปี ยิ่งลักษณ์ต้องหนีกี่ปี คดีถึงจะหมดอายุความ?
ตรงนี้สับสนกันมาก เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ บอก โทษคุก ๑-๗ ปี มีอายุความ ๑๐ ปี
คือ อย่างยิ่งลักษณ์ หนีไป ๑๐ ปี คดีหมดอายุความไปเอง!
ก็เข้าใจกันอย่างนี้.........
เพราะตอนนี้ กฎหมายลูกว่าด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ที่ว่า "หนี..ไม่นับอายุความ" ยังไม่ประกาศใช้
โปรดเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้อง
ก่อนอื่น ต้องดูให้ชัดว่า ที่ศาลตัดสินจำคุกยิ่งลักษณ์ ๕ ปี ด้วยความผิดตามมาตราไหน?
เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑
ด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา ๑๒๓/๑
ตรงนี้แหละ..........
ที่เข้าใจกันว่ามีอายุความ ๑๐ ปี "ไม่มีแล้วครับ" ถ้าจะหนี ยิ่งลักษณ์ต้อง "หนีไปจนตาย"!
เพราะด้วยมาตรา ๑๒๓/๑ ตาม พ.ร.บ.นี้ โทษ "ไม่นับอายุความ"
กลับเข้ามาวันไหน จะ "กี่ปี-กี่ชาติ" ก็ตาม ต้อง "เข้าคุก" วันนั้น
ผมพูดเอง ไม่น่าเชื่อถือ
ท่าน "ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ fb เป็นวิทยาทานไว้เมื่อวาน จะยกมาให้เป็นที่ "สิ้นสงสัย" กัน ดังนี้
Chuchart Srisaeng
.....ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ให้ลงโทษจำคุก ๕ ปี
.....การที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑
มีผลให้นำมาตรา ๗๔/๑ มาใช้บังคับแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ด้วย
.....มาตรา ๗๔/๑ บัญญัติว่า
ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไป ในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล
มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
และเมื่อได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ
มิให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ
.....ตามบทบัญญัติของมาตรา ๗๔/๑ หมายความว่า
เมื่อศาลลงโทษจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ ๕ ปี การที่นางสาวยิ่งลักษณ์หลบหนี
มิให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความการลงโทษ
เช่น ถ้าจำเลยถูกลงโทษจำคุก ๕ ปี ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาจำคุกภายใน ๑๐ ปี ก็เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษจำเลยคนนั้นไม่ได้อีก
.....แต่เมื่อมาตรา ๗๔/๑ บัญญัติไม่ให้นำมาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ จึงหมายความว่า
กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะหลบหนีไปกี่ปี เช่น ๑๐ ปี ๑๕ ปี หรือ ๒๐ ปี ก็ไม่ล่วงเลยการลงโทษ
คือได้ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์มาเมื่อใด ก็สามารถนำตัวมาลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาได้
.....สรุปว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหลบหนีไปตลอดชีวิต ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ไม่อาจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อีก
เพราะถ้าเข้ามา ก็ต้องถูกจับกุม นำตัวไปคุมขังในเรือนจำ ๕ ปี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ"
ถ้าปูหรือใคร ยังข้องใจ........
เปิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๕๔ อ่านดู เพราะมีแก้ไข-เพิ่มเติมเป็นลำดับ!
อาจอยากทราบกัน ที่ยิ่งลักษณ์ติดคุก ๕ ปี นั้น ผิดประเด็นไหน?
ก่อนอื่น ต้องบอกว่า "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง" ยุคนี้ เป็นยุคดิจิทัล ๔.๐ จริงๆ
ตัดสินปุ๊บ นอกจากเผยแพร่คำพิพากษาเป็นเอกสารข่าว "ศาลฎีกาฯ" ปั๊บแล้ว
กองการนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม ยัง PRESS RELEASE คำพิพากษาเป็นภาษาอังกฤษ
แจกจ่ายไทย-เทศ ไปทั่ว!
ไม่รู้ CNN, BBC เอาไปอ่านออกจอหรือยัง น่าจะอ่านแล้วนะ ถ้าอ่าน ผมก็สบายใจ สองศรีพี่น้องคงได้นอนดูเพลินไปแล้ว
ขอสรุปจากข่าวศาลฎีกาฯ ประเด็นใดผิด-ไม่ผิดไว้นิด ดังนี้
การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง ๕ ฤดูกาลผลิต แม้พบความเสียหาย เช่น สวมสิทธิ์การรับจำนำข้าว นำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์
ข้าวสูญหาย ออกใบประทวนเป็นเท็จ ใช้เอกสารปลอม โกงความชื้นและน้ำหนักเพื่อกดราคารับซื้อจากชาวนา ข้าวสูญหายจากโกดัง ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวเน่า ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์
เป็นความเสียหายที่เกิดจากฝ่ายปฏิบัติ
ยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันความเสียหายไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ
อีกทั้งเมื่อพบความเสียหาย ก็ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว
กรณี ความเสียหายในส่วนนี้...........
"ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ"
ประเด็นระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีคำวินิจฉัยว่า
"ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการส่งมอบข้าวตามสัญญาให้รัฐวิสาหกิจจีนต่อไปอีก อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น
การกระทำของยิ่งลักษณ์จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ลงโทษจำคุก ๕ ปี"
หนีไปเถอะนะคนดี ชาติหน้าถ้ามี ก็ไม่ต้องกลับมา.
เปลว สีเงิน
http://www.thaipost.net/?q=node/36130

ไปดีมาดี

ไปดีมาดี

ฝันเป็นจริงซะที หลังจากรอคำยืนยันมา 5 เดือนเต็ม

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯไทย ก็ได้รับไฟเขียวจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกา ให้เดินทางไปเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการระหว่าง วันที่ 2–4 ตุลาคม

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะนำคณะชุดใหญ่เดินทางไปเยือนอเมริกาในฐานะหุ้น ส่วนยุทธศาสตร์สำคัญ และพันธมิตรระดับเก่าซี้ปึ้กของอเมริกา

ไฮไลต์คือวันที่ 3 ตุลาคม ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ จะได้จับเข่าคุยตัวต่อตัว และเปิดเจรจาเต็มคณะแบบทวิภาคี เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน

รวมทั้งพูดคุยหารือถึงแนว โน้มอนาคตการเมืองไทย และการ เลือกตั้งใหม่ตามโรดแม็ป คสช.

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และรองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะนำคณะนักธุรกิจภาคเอกชนไทยพบปะหารือกับคณะนักธุรกิจอเมริกัน เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้าไทย และเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในเมืองไทยให้ระเบิดเถิดเทิง

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า ตามหลักปฏิบัติ มหาอำนาจอเมริกาจะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยไปเยือนอย่างเป็นทางการ

นอกจากนั้นยังลดระดับความสัมพันธ์ และระงับความช่วยเหลือระหว่างประเทศลงอีก 50 เปอร์เซ็นต์

การที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ อ้าแขนต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำรัฐบาลทหารไทยให้ไปเยือนทำเนียบขาว ในฐานะแขกวีไอพี

จึงเป็นโอกาสทองที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องคว้าหมับไม่ยอมให้หลุดมือ

เพราะการที่ผู้นำอเมริกามหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ให้การยอมรับ ผู้นำรัฐบาลทหารไทย

ถือเป็นสัญญาณบวกให้ประเทศกลุ่มยุโรปที่เคยตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ รัฐบาล คสช.เปลี่ยนท่าทีมาญาติดีกับผู้นำรัฐบาลทหารไทยตามพี่เบิ้มอเมริกา

เมื่อแรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยเบาลง

เงื่อนไขข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ ที่ไทยโดนจัดหนักจัดเต็มมา 3 ปี ก็จะค่อยๆผ่อนคลาย

การกระเด้งรับคำเชิญของนายทรัมป์จึงเกิดประโยชน์หลายเด้งด้วยประการฉะนี้แล

“แม่ลูกจันทร์” มองว่า การโผผิน บินกลับสู่อ้อมอกอันอบอุ่นของมหา อำนาจอเมริกา จะทำให้การจัดระเบียบความสัมพันธ์ของไทยกับขั้วอำนาจของโลกเกิดความสมดุล

ไม่เอียงกระเท่เร่ไปอยู่ใต้ปีกพี่เบิ้มจีนอย่างที่ผ่านมา

ทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

อย่างไรก็ดี...การเดินทางไปเยือนอเมริกาของผู้นำรัฐบาลไทยจะหวังได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวคงไม่มีทาง!!

เพราะ นายทรัมป์ ก็ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นซีอีโอเขี้ยวลากดิน

เขาต้องเล็งเห็นประโยชน์จากการเชิญผู้นำรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับไทยเล็งเห็นประโยชน์จากการเยือนอเมริกา

“แม่ลูกจันทร์” ฟันธงล่วงหน้าว่า เกมนี้จะจบ “แบบวินวิน”

ไทยได้ประโยชน์จากอเมริกา และอเมริกาได้ประโยชน์จากรัฐบาลไทย

แฮปปี้ทั้ง 2 ฝ่ายว่างั้นก็แล้วกัน.

“แม่ลูกจันทร์”

จังหวะคุมแรงเหวี่ยง

จังหวะคุมแรงเหวี่ยง

บันทึกไว้อีกคดีประวัติศาสตร์เมืองไทย

ในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีความผิดมาตรา 157 ไม่ระงับยับยั้งให้เกิดความเสียหายในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาและให้ออกหมายบังคับคดี นำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา

โดยบรรยากาศไม่น่าตื่นเต้นซักเท่าไหร่ เพราะสถานการณ์ค่อนข้างคาดเดาได้ตั้งแต่วันที่อดีตนายกฯหญิงตัดสินใจไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

น่าจะรู้ชะตากรรมตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

แต่สิ่งที่คนอยากรู้มากกว่าผลการตัดสินคดีจำนำข้าว นั่นคือ ปมที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. แพลมเองเลยว่า รู้แหล่งกบดานของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่รอเปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าวชัดเจนแล้ว

แนวโน้มคงจะข้ามช็อตไปถึงการติดตามตัวอดีตผู้นำหญิงกลับเมืองไทย

ตามรูปการณ์คงต้องต่อสู้กันด้วยเงื่อนไขในการขอลี้ภัยทางการเมือง

ตามท้องเรื่องที่แตกต่างจากกรณีของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่โดนทำรัฐประหารระหว่างบินไปปฏิบัติภารกิจอยู่ต่างประเทศ จึงเข้าเงื่อนไขการลี้ภัยทางการเมือง

แต่กรณีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ อยู่ในโหมดของการหนีฟังคำพิพากษาศาล โดนออกหมายจับ ตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญาจากประเทศไทย

มันก็ยังก้ำกึ่ง เข้าเงื่อนไขลี้ภัยทางการเมืองได้หรือไม่

ตามสถานการณ์ไหลมาถึงจุดวัดใจ จะไล่ต้อนให้จนตรอก บีบให้ปักหลักสู้ตายกันไปข้าง หรือปล่อยให้ไปหลบอยู่ในมุมที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับฝ่ายคุมเกมอำนาจประเทศไทย

แต่ก่อนอื่นใด ตามจังหวะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รีบออกมาประกาศในวันเดียวกับที่ศาลตัดสินคดีจำนำข้าวเลยว่า นักลงทุนไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากขึ้น หลังรัฐบาลวางนโยบายปฏิรูป สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดที่เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ได้ปรับอันดับไทยดีขึ้น 2 อันดับ จาก 34 มาอยู่ที่ 32 จาก 137 ประเทศ

โดยเฉพาะเศรษฐกิจปรับขึ้นจากอันดับ 13 มาอยู่อันดับที่ 9 ติดท็อปเทน

มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่ 2 เกิน 3.7 เปอร์เซ็นต์แน่ จากบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนฟื้นตัวดี ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น

ประกอบกับการเมืองก็มีเสถียรภาพ แม้จะมีการตัดสินคดีของอดีตนายกฯก็ตาม

“สมคิด” ต้องประคองไม่ให้คดี “ยิ่งลักษณ์” ลามกระแทกเศรษฐกิจที่กำลังเข้าที่เข้าทาง

และตามรูปการณ์ที่น่าจะโยงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะมันเกิดขึ้นในจังหวะที่พลพรรคประชาธิปัตย์กำลังเปิดยุทธการตีกินกระแสอย่างสนุก

รุกไล่ฝ่ายความมั่นคง คสช.ปล่อย “น้องปู” ล่องหนออกจากประเทศไทย

ตามเหลี่ยมเขี้ยวยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งประจาน คสช.กระตุกระแวงเกมเกี้ยเซียะ ทั้งตามซ้ำพรรคเพื่อไทย กดลูกข่าย “ทักษิณ” ไม่ให้โงหัวขึ้น

ฉกฉวยสถานการณ์เป็นพระเอกตามฟอร์มถนัด

แต่ประชาธิปัตย์ก็ต้องสะดุ้ง กับการที่อัยการสูงสุดเห็นชอบให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษลงนามส่งหนังสือแจ้งไปที่เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เพื่อให้ไต่สวนในประเด็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศอฉ.ในเหตุสลายการชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553

ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยยกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา จึงเป็นการดำเนินการคดีในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทางอัยการสูงสุดจึงให้ ป.ป.ช.ไต่สวนในประเด็นดังกล่าว ว่าทั้ง 2 คนได้ทำผิดตามมาตรา 157 หรือไม่
และหลังจากไต่สวนแล้วให้ทาง ป.ป.ช.แจ้งมายังอัยการสูงสุด เพื่อนำไปประกอบสำนวนความผิดฐานเจตนาฆ่า ที่อัยการสูงสุดเคยสั่งฟ้องไปแล้ว

แนวโน้ม “ปลุกผี” เสื้อแดง นปช.มาหลอนคนประชาธิปัตย์แน่

ย้ำ “แผล” มือเปื้อนเลือดให้เสียววาบ.

ทีมข่าวการเมือง

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำความรู้จัก “ศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง”

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำความรู้จัก “ศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง” 

ขณะที่คดีจำนำข้าวงวดเข้าไปทุกที หลายคนอาจยังไม่เข้าใจระบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปิยบุตรอธิบายปรัชญาการก่อตั้ง กระบวนการพิจารณา พลวัตของศาลนี้ในทางสากลเปรียบเทียบกับไทย คำถามเรื่องความเป็นธรรมที่มีมากขึ้นในกฎหมายฉบับใหม่ รวมถึงการไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามจำเลยร้องขอทำได้หรือไม่ 

  

 แฟ้มภาพประชาไท

@ ที่มาที่ไปของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

 การพิจารณาคดีอาญาของนักการเมือง มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆ ระบบแรก ใช้ศาลปกติ เพราะมองว่ารัฐมนตรีกับประชาชนต้องเท่าเทียม ต้องขึ้นศาลในระบบเดียวกัน ไม่ต้องมีศาลพิเศษ มีเยอรมนี อังกฤษ ระบบที่สอง ใช้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าคดีอาญาของนักการเมืองไปคาบเกี่ยวอยู่กับรัฐธรรมนูญ ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น ออสเตรีย ระบบที่สาม ใช้ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์โดยมีแผนกคดีอาญาของนักการเมืองแยกออกมาต่างหาก เช่น สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และระบบสุดท้ายตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเฉพาะ โดยมีนักการเมืองและผู้พิพากษาอาชีพร่วมนั่งเป็นองค์คณะพิจารณาคดีด้วยกันประเทศที่ใช้ก็มี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ กรีซ ทั้ง 4 ระบบนี้ อาจแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ใช้ระบบปกติเหมือนบุคคลทั่วไป กับกลุ่มที่แยกระบบพิเศษออกมา กลุ่มแรก ให้เหตุผลจากหลักความเสมอภาค กลุ่มที่สอง ให้เหตุผลว่าคดีอาญาที่รัฐมนตรีกระทำผิดจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวอยู่กับเรื่องนโยบายทางการเมืองหากใช้ศาลอาชีพทั้งหมดจะเปิดโอกาสให้ศาลเข้ามาแทรกแซงในทางการเมืองได้ ดังนั้นจึงควรมีมิติของนักการเมืองเข้าไปผสมด้วย ผสมมากหน่อย ก็ให้ ส.ส. ส.ว.เข้าร่วมเป็นองค์คณะพิพากษา หรือ ผสมน้อยหน่อย ก็ให้ ส.ส. ส.ว.เป็นองค์กรผู้กล่าวหาริเริ่มคดี

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยอยู่ในกลุ่มที่สร้างระบบพิเศษเฉพาะให้กับนักการเมือง เริ่มมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเหตุผลของการตั้งศาลนี้ มีการอธิบายว่า นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันเยอะ เป็นผู้มีอิทธิพลจับไม่ได้ ลงโทษไม่ได้ จึงต้องสร้างระบบพิเศษให้กับคดีอาญาของนักการเมือง โดยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จะเริ่มยกร่างกัน อ.ประเวศ วะสี ได้มอบหมายให้อาจารย์ นักวิชาการ ไปเขียนวิจัยหลายชิ้น มีเล่มหนึ่งว่าด้วยคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผู้เขียน โดยนำความคิดมาจาก "la Cour justice de la Republique" หรือศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่มีหน้าที่พิจารณาคดีอาญาของรัฐมนตรี ในงานชิ้นนี้ อาจารย์บวรศักดิ์ได้อธิบายระบบของฝรั่งเศสไว้อย่างละเอียด พร้อมยังยกร่างกฎหมายเป็นตัวแบบไว้ให้ด้วย โดยอาจารย์บวรศักดิ์ให้ชื่อว่า “คณะตุลาการอาญาธร”

ต่อมา ในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ร่างรัฐธรรมนูญแรกๆ กำหนดให้มี “คณะตุลาการคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกา 11 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน และสมาชิกวุฒิสภา 5 คน จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบนี้ผสมนักการเมืองกับผู้พิพากษาร่วมเป็นคณะตุลาการตามแบบของฝรั่งเศสเลย อย่างไรก็ตาม ในชั้นหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใหม่ โดยตัดสัดส่วนที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาออกไป กำหนดให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา องค์คณะมีผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน เลือกเป็นรายคดี และให้เรียกชื่อว่า “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” และก็ใช้เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2560  

เหตุที่ผมต้องเล่าย้อน เพราะว่า ที่มาของไทยมันย้อนแย้งลักลั่นกับของตะวันตก ถ้าต้องการมีระบบพิเศษของนักการเมืองก็ต้องนำส.ส.เข้ามาผสม แต่พอจะนำเข้ามาผสมก็เกิดอาการรังเกียจกลัวว่านักการเมืองจะช่วยกัน และไม่มีความรู้ในการตัดสินคดี จึงไปนำผู้พิพากษาศาลฎีกาอาชีพมาทั้งหมด ปัญหาก็คือว่าหากเชื่อว่า นักการเมืองตัดสินคดีไม่เป็น ต้องใช้ศาลอาชีพทั้งหมด แล้วแบบนี้ ทำไมถึงไม่กลับไปใช้ระบบศาลปกติ เราอธิบายกันว่า เหตุที่ไม่สามารถนำรัฐมนตรีเข้าคุกได้ซักคนเดียวในอดีตนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาล แต่เกิดขึ้นจากตำรวจ และอัยการ ถ้าคำอธิบายนี้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เราตั้ง "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือป.ป.ช. ขึ้นมาทำหน้าที่แทน คดีอาญาของนักการเมืองทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมือของตำรวจแล้ว เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.เพื่อส่งไปให้อัยการสั่งฟ้องศาล ดังนั้น เมื่อปัญหาถูกแก้ไขแล้วทำไมถึงต้องมีแผนกคดีอาญานักการเมืองขึ้นมาอีก แล้วแผนกที่ว่าก็ไม่ได้เป็นระบบใหม่ องคาพยพใหม่ ก็คือศาลฎีกานั่นแหละ ถ้าแบบนี้ ทำไมไม่ใช้กระบวนการปกติ ให้ ป.ป.ช.ทำ แล้วขึ้นสู่ศาลตามระบบปกติเหมือนคดีอาญาของบุคคลทั่วไป 

ทุกวันนี้ของฝรั่งเศสที่เราไปลอกมา เขามีความพยายามที่จะยกเลิกอยู่ เพราะมองกันว่า ถ้ายังเป็นเช่นนี้นักการเมืองก็ได้เปรียบไม่เสมอภาคกับคนประชาชน โดยประธานาธิบดีคนก่อนนาย François Hollande พยายามยกเลิก มีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้นำไปบังคับใช้ ล่าสุดนาย Emmanuel Macron ได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ 2 สภาว่าเขาจะยกเลิกศาลพิเศษนี้ นั่นจึงเท่ากับว่าประเทศต้นแบบที่เราไปนำมาใช้ ก็ไม่เอาแล้ว เพราะมันทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกัน ประชาชนมองว่านักการเมืองเอาเปรียบใช้ศาลพิเศษ ที่มี ส.ส. ส.ว.เข้ามานั่งเป็นคณะตุลาการ ส่วนนักการเมืองก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงต้องมาขึ้นศาลพิเศษด้วย บางคนถึงกับบอกว่าศาลปกติดีกว่า เพราะสู้ได้หลายชั้น ผมคิดว่าภายในวาระ 5 ปีของประธานาธิบดีคนใหม่ น่าจะยกเลิกระบบศาลพิเศษในคดีอาญาของรัฐมนตรีได้แน่นอน

โดยสรุป “เหตุผลพิเศษ” ที่เรานำมาใช้อ้างในการออกแบบระบบพิเศษให้กับคดีอาญานักการเมือง คือ นักการเมืองทุจริตมาก นักการเมืองมีอิทธิพล ต้องจับนักการเมืองทุจริตเข้าคุกให้ได้ ในขณะที่ “เหตุผลพิเศษ” ที่ต่างประเทศใช้ คือ คดีอาญานักการเมืองเกี่ยวพันกับการเมืองและนโยบาย ไม่ควรปล่อยให้ศาลทำกันเอง พอของเราใช้ “เหตุผลพิเศษ” แบบนี้ ก็เลยต้องออกแบบกลไกเพื่อที่จะจัดการนักการเมืองทุจริตให้ได้ นานวันเข้าความคิดที่เน้นไปที่ crime control ก็ขึ้นมาอยู่เหนือเรื่อง due process ในทางจิตวิทยา พอเราเอา “เหตุผลพิเศษ” แบบนี้เป็นตัวตั้ง การวัดความสำเร็จ ก็ไปอยู่ที่ตัดสินเสร็จกี่คดี ลงโทษได้กี่คดี มีนักการเมืองติดคุกบ้างหรือไม่ เราจึงเห็นทิศทางของไทยตั้งแต่ 40 จน 60 ในคดีอาญาของนักการเมือง เน้นไปที่ crime control มากขึ้นๆ

@วิธีพิจารณาคดีแบบ "ไต่สวน" ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญานักการเมืองฉบับ สนช. 

ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาเรามีศาลในระบบกฎหมายมหาชนเยอะขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลคดีอาญานักการเมือง ศาลเหล่านี้ใช้วิธีพิจารณาคดีในระบบไต่สวน เรามักบอกกันว่า ประเทศไทยแต่ไหนแต่ไรมาใช้ระบบกล่าวหา ที่การดำเนินกระบวนพิจารณาการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ดำเนินโดยคู่ความว่ากันเป็นหลัก ศาลอยู่ตรงกลาง แต่ระบบไต่สวน การดำเนินพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง ศาลเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก ดังนั้น ระบบไต่สวน ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี 

ทั้ง 2 ระบบนี้ต่างก็มีข้อดีข้อเสีย ระบบกล่าวหา ในด้านหนึ่งทำให้ศาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในตัวคดี โดยให้เป็นเรื่องของโจทก์และจำเลยที่ต้องต่อสู้กันให้ชนะ แต่ข้ออ่อนก็มีอยู่ เพราะมีการสืบพยานเยอะจนทำให้คดีมันช้า และหากคู่ความ 2 ฝ่ายมีลักษณะไม่เท่าเทียมกันมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ศาลไม่สามารถลงไปช่วยอีกฝ่ายให้เกิดความเท่าเทียมกันได้ จึงทำให้ระบบไต่สวนถูกนำเข้ามาใช้ อย่างน้อยที่สุดคู่ความจะถ่วงเวลาไม่ได้และ หากสิ่งใดไม่จำเป็นต่อคดีศาลสามารถสั่งให้ตัดทิ้งได้ สามารถเร่งรัดได้มากขึ้น ในกรณีที่คู่ความอยู่ในสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ศาลสามารถใช้มาตรการเพื่อทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายมีสถานะเท่าเทียมกันได้ เช่น คดีในศาลปกครอง ผู้ถูกฟ้อง คือ หน่วยงานราชการ ซึ่งมักครอบครองเอกสารราชการอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญไว้ หากผู้ถูกฟ้องไม่ยอมนำเอกสารเหล่านี้เข้ามาในคดี  เพราะเกรงว่าจะทำให้ตนแพ้ ศาลก็ใช้อำนาจเรียกเข้ามาได้

การดำเนินคดีอาญานักการเมือง มี ป.ป.ช. ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีและชี้มูลความผิด ทำสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากเทียบกับของฝรั่งเศส ศาลคดีอาญารัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี แต่มีหน้าที่พิพากษาอย่างเดียว ระบบของฝรั่งเศสมี 3 ส่วนซ่อนอยู่ ส่วนแรก คือองค์คณะรับฟ้อง ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องและกลั่นกรอง หากรับฟ้องถึงจะไปส่วนที่สอง นั่นคือ องค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คนเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้เสร็จ ถ้ามีมูลถึงจะส่งไปที่องค์คณะ 15 คนที่ประกอบไปด้วย ส.ส. 6 ส.ว 6 และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 3 เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคดีในสองประเด็น คือ มีความผิดหรือไม่ และลงโทษเท่าไร

กรณีของไทย ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย จากนั้นก็ชี้มูลความผิดและให้อัยการเป็นผู้เสนอฟ้องไปยังศาล จึงมีนักวิชาการและผู้พิพากษาจำนวนมาก มองว่าเช่นนี้ก็เท่ากับให้ป.ป.ช.เป็นทำหน้าที่เสมือนกึ่งตุลาการที่ทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี ทำนองเดียวกับของฝรั่งเศส โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองไม่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ทำหน้าที่ชี้ขาดคดีเท่านั้น รัฐธรรมนูญกับกฎหมายคดีอาญานักการเมืองของเราจึงเขียนชัดเจนว่าให้ศาลยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลัก แต่ศาลอาจจะแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามสมควร นัยนี้ คือ การแบ่งแยกองค์กรแสวงหาข้อเท็จจริงออกจากองค์กรตัดสินคดี ป.ป.ช แสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์ ส่วนศาลทำหน้าที่ตัดสินคดี การแสวงหาข้อเท็จจริงโดยศาลเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น

ตอนผมทำวิจัยเรื่องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2554-2555 ได้ไปค้นคว้าเอกสาร บทความต่างๆ  พบว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากและนักวิชาการ เห็นว่าป.ป.ช.ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์แล้วก่อนส่งให้ศาล หากสำนวนสมบูรณ์แล้ว ศาลก็ดูแต่ข้อกฎหมาย และพิพากษาอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วางแนวเอาไว้ตอนปี 2546 ว่า ที่กฎหมายบอกให้ยึดสำนวนป.ป.ช. เป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าศาลทำอะไรไม่ได้เลย ศาลยึดตามสำนวน ป.ป.ช. แต่สามารถไต่สวนได้อีก


@เปิดช่องศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่ม 

ในมาตรา 6 ตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญานักการเมืองฉบับใหม่โดยเฉพาะในวรรคแรก เขียนเน้นมากขึ้นกว่าเดิม “ให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการรับฟังข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งพยานหลักฐานนั้นแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น” พอเขียนแบบนี้แล้วเท่ากับว่า ที่บอกให้ศาลยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักนั้น ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะในท้ายที่สุดศาลก็ลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เต็มที่อยู่ดี ตกลงแล้ว เราต้องการให้ ป.ป.ช.เป็นอะไรกันแน่ ถ้าจะเอากันแบบนี้ จะมี ป.ป.ช. ไปทำไม ต่อไป ทำสำนวนหลวมๆ มา เอกสารไม่กี่ชิ้น พยานหลักฐานไม่มาก เสร็จแล้วมาถึงศาล ให้ศาลจัดการเอง แบบนี้หรือ?

ที่ผ่านมาศาลลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งศาลอ้างว่าเป็นระบบไต่สวน ศาลจึงมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้มาก อย่างไรก็ตาม ระบบไต่สวน ไม่ได้หมายความถึงระบบอะไรก็ได้ที่ศาลจะใช้ตามความต้องการ แต่อำนาจต่างๆ ตามระบบไต่สวนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานที่ให้หลักประกันสิทธิแก่คู่ความในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ได้แก่ หลักการต่อสู้โต้แย้ง หลักความเสมอภาคระหว่างคู่ความ ดังนั้น ระบบไต่สวน จึงเป็นระบบที่ให้ศาลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาและการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ต้องเคารพหลักการต่อสู้โต้แย้งและหลักความเสมอภาคระหว่างคู่ความด้วย

ในกรณีที่ศาลใช้มาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อเท็จจริงใดมา ก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้ง และการใช้มาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของศาลนั้นก็ต้องไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ

วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเทศไทย รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเขียนไว้ชัดว่าให้ใช้ระบบไต่สวน แต่ยังเขียนด้วยว่า ในการพิจารณาคดี ให้ใช้สำนวน ป.ป.ช. เป็นหลัก นั่นหมายความว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์แล้ว ส่วนศาลมีหน้าที่ชี้ขาดพิพากษา หากศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก กฎหมายก็ยอมให้ทำได้ แต่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น หากศาลจะใช้ข้อยกเว้น ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระบบไต่สวน ก็ต้องไม่ทำให้ความเสมอภาคระหว่างโจทก์และจำเลยเสียไป หากรักษาดุลยภาพตรงนี้ไว้ไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่า ศาลลงไปช่วย ป.ป.ช. ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดกับจำเลย

ผมคิดว่า ป.ป.ช.ควรต้องทำหน้าที่นี้ หากเรายอมให้ ป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงแบบไม่สมบูรณ์ แล้วก็ทำสำนวนให้เสร็จๆ ไปเพื่อชี้มูลความผิดไปก่อน แล้วเดี๋ยวให้ศาลฎีกาไปว่ากันเอง รับไปจัดการต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็กลายเป็นว่า ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นเดียวเป็นทั้งองค์กรผู้ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง และเป็นทั้งองค์กรพิพากษาด้วย ลงไปหาทุกอย่างแล้วพิพากษาเอง เท่ากับไปรวมอำนาจอยู่ที่เดียว ไม่ได้ดุลยภาพ ศาลแบบนี้มีที่เดียว คือ ศาลไคฟงของเปาบุ้นจิ้น

ลองคิดเปรียบเทียบกับการดำเนินคดีอาญาตามระบบปกติดู ตำรวจ อัยการ ทำสำนวนมา ถ้าบรรยายฟ้องไม่ดี บรรยายไม่ครบองค์องค์ประกอบความผิด ข้อเท็จจริงอ่อนมาก ตัดสินลงโทษไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้องไป เราอาจเคยเห็นหลายคดีที่สะเทือนขวัญ ที่เป็นข่าวดังๆ สังคมคาใจมากว่าศาลยกฟ้องได้อย่างไร ก็อธิบายกันว่า สำนวนมันอ่อนมาแต่แรก พยานหลักฐานไม่สมบูรณ์มาแต่แรกแล้ว ศาลก็ต้องยกฟ้องไป แต่พอเป็นคดีอาญาของนักการเมือง บอกให้เอาสำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก ถ้าสำนวนอ่อน ข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็จะกระทบกับหลักความเสมอภาคของคู่ความ พอฝ่ายโจทก์ทำมาไม่ดี ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มโดยอ้างอำนาจตามระบบไต่สวน แบบนี้จำเลยเขาก็ย่อมรู้สึกได้ว่าศาลต้องการเล่นงานเขาใช่หรือไม่ 

@ปลดล็อคพิจารณาคดีลับหลังจำเลย - ให้สิทธิในการตั้งทนายสู้ แต่การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอาจมีผลต่อการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน  

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเคร่งครัดกับเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาก มีข้อยกเว้นให้ทำได้ไม่กี่เรื่องใน ป.วิอาญา มาตรา 172 ทวิเท่านั้น แนวของศาลไทยจึงไม่ยอมพิจารณาลับหลังจำเลยโดยเด็ดขาด เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม กรณีคดีอาญาของนักการเมืองกลับต่างออกไป เรายอมให้มีการดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้ ตั้งแต่เริ่มใช้ระบบนี้ ในข้อกำหนดของศาลฎีกา 2543 ข้อ 10 เขียนไว้ชัดว่า ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้จำเลยมาปรากฏตัวในศาลในการพิจารณาคดีนัดแรกเสียก่อน หากไม่มา ศาลจะพิจารณาคดีต่อไม่ได้ แต่ถ้ามานัดแรก แล้วนัดต่อๆ มา ไม่มา หรือหนีไป ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยได้ โดยศาลมองว่า การนำตัวจำเลยมานัดแรก แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมเข้าสู่อำนาจของศาลแล้ว หากต่อมาหลบหนีไป ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้

ที่ผ่านมา มีกรณีการพิจารณาลับหลังจำเลยเกิดขึ้นหลายกรณีแล้ว เช่น คดีกล้ายาง ซึ่งมีจำเลยหลายคน บางคนมา บางคนไม่มา รวมทั้งคดีที่ดินรัชดาด้วย แต่ก็มีอีกหลายคดีที่ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยต่อไปไม่ได้ เพราะจำเลยไม่มาศาลตั้งแต่นัดแรก ได้แก่ คดีที่คุณทักษิณถูกฟ้องหลายคดี

การพิจารณาคดีอาญานักการเมืองแบบลับหลังจำเลยนี้ ขัดหลักการต่อสู้โต้แย้ง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ในขณะที่ระบบวิธีพิจารณาความอาญาปกติของไทย ยอมให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอย่างจำกัดมาก มีการอธิบายว่า วิธิพิจารณาความอาญานักการเมืองยอมให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ เพราะการพิจารณาคดียึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก เป็นการพิจารณาในทางเอกสารเป็นหลัก แม้จำเลยไม่อยู่ก็สามารถพิจารณาได้ เพราะศาลแทบไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเท่าไรแล้ว เนื่องจากใช้สำนวนของ ป.ป.ช. เหตุผลนี้ ก็พอรับฟังได้อยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า เกือบทุกคดี ศาลไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเสมอ เรียกบุคคล เรียกเอกสารใหม่มาสืบกันอยู่เสมอ เมื่อจำเลยไม่อยู่ ก็น่าคิดว่าการพิจารณาคดีต่อไปจะกระทบสิทธิในการต่อสู้หรือไม่

ร่างใหม่ที่ สนช.เพิ่งโหวตกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปลดล็อกหมดเลย ต่อจากนี้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทั้งหมด จากเดิมต้องเอาเขามาศาลให้ได้ครั้งหนึ่งก่อน แต่จากนี้แม้ว่าจะนำจำเลยมาศาลไม่ได้ ศาลก็ประทับรับฟ้องได้เลยแล้วออกหมายจับ ผ่านไปสามเดือนยังจับไม่ได้ ศาลก็พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทันที ตามที่ปรากฏในมาตรา 26, 27

กรธ.หลายท่านอ้างถึงกฎหมายฝรั่งเศส ที่จริงแล้วกฎหมายฝรั่งเศสมีปัญหาในตัวของมันอยู่หลายเรื่อง แต่ก่อนฝรั่งเศส อนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เรียกว่า "contumace" โดยระบบกฎหมายฝรั่งเศสมองว่าจำเลยสมัครใจที่จะสละสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพราะหนี ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายหากศาลอยากดำเนินคดีลับหลังก็ทำได้ โดยในการพิจารณาลับหลังนี้ พิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก ไม่มีการสืบพยานบุคคล ไม่มีการโต้แย้งทางวาจา ไม่มีลูกขุน และจำเลยที่หลบหนีไปจะตั้งทนายเข้ามาสู้คดีไม่ได้ 

ต่อมา ในปี 2001 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงโทษฝรั่งเศส เพราะการดำเนินคดีลับหลังจำเลยที่ตัดสิทธิทนายจำเลยไม่ให้เข้าแก้ต่างในคดีนั้น ละเมิดต่อหลักการต่อสู้โต้แย้ง ขัดกับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามมาตรา6 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป จึงทำให้ฝรั่งเศสต้องแก้กฎหมายในปี 2004 เพื่อยกเลิก "contumace" และมาใช้วิธีพิจารณาลับหลังจำเลยในลักษณะที่ว่าถ้าหากจำเลยหนีไป แล้วอยากให้มีทนายมาสู้ก็ทำได้ แต่ถ้าจำเลยไม่มา ทนายก็ไม่มา ศาลมีทางเลือกว่าจะเลื่อนคดีออกไปหรือพิพากษาลับหลังไปเลยก็ได้ทำได้สองแบบ โดยจำเลยอุทธรณ์ไม่ได้ แต่ถ้าตามจับได้แล้วคดียังอยู่ในอายุความก็ต้องพิจารณาคดีใหม่อีกรอบหนึ่ง ทั้งหมดนี้ใช้กับคดีอาญาทั่วไป แต่ในส่วนคดีอาญาของนักการเมืองกฏหมายฝรั่งเศสยังกำหนดให้ดำเนินคดีแบบ  "contumace" ได้อยู่เฉพาะในความผิดอาญาที่มีโทษสูงระดับอุกฤษฏ์โทษ ซึ่งเป็นไปได้ว่ากฎหมายคดีอาญาทางการเมืองของฝรั่งเศสน่าจะขัดกับกฎหมายอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปอีกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหาในอนาคต เพราะระบบศาลพิเศษของฝรั่งเศสคงถูกยกเลิกไปเร็วๆ นี้

ที่ กรธ.อ้างว่าฝรั่งเศสก็ยอมให้ใช้ ก็มีส่วนถูก อีกประเทศที่มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาก คืออิตาลี อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย หรือยอมให้มีแบบจำกัดจริงๆ ดังนั้น เรื่องแบบนี้จึงเป็นนิตินโยบายโดยแท้ ถ้าประเทศไหนยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย แล้วจะขัดกับอนุสัญญายุโรป หรือ ICCPR หรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นเอา ซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาติตาม ICCPR ยอมรับให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ในฐานะเป็นข้อยกเว้น แต่ต้องมีมาตรการที่สร้างหลักประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้งของจำเลยไว้ด้วย

ผมเห็นว่า หากเรายอมให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย อาจส่งผลถึงกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ได้ ในกรณีที่จำเลยหลบหนีไปต่างประเทศ ต่อมาศาลดำเนินคดีลับหลังจำเลย และพิพากษาลงโทษจำเลย จึงต้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จำเลยที่หลบหนีอยู่นั้น มักคัดค้านขอให้ประเทศที่ตนอยู่นั้นไม่ส่งกลับ โดยใช้ข้ออ้างว่า คดีของตนเกิดจากการพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งหลายกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้ออ้างนี้ใช้คัดค้านการส่งตัวกลับได้สำเร็จ

@จับตาคดี "ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์" หลัง ม.67 บทเฉพาะกาลมีผลย้อนหลัง

มาตรา 67 บทเฉพาะกาล ร่างแรกที่ทาง กรธ.เสนอ บอกว่าบทบัญญัติในกฎหมายประกอบฉบับใหม่นี้ไม่ให้ใช้แก่คดีก่อนหน้านั้น เว้นแต่เรื่องอุทธรณ์ นั่นเท่ากับว่าในสายตาของกรธ.มองว่า การอุทธรณ์เป็นคุณ จึงย้อนหลังได้ จำเลยมีสิทธิสู้คดีอีกชั้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นโทษมีผลย้อนหลังไม่ได้ แต่เมื่อร่างไปถึง สนช.มีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 67 อย่างมีนัยสำคัญ กฎหมายใหม่ให้ใช้กับคดีที่ฟ้องมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด เท่ากับว่าคดีของคุณทักษิณ กับคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องใช้ตามกฎหมายใหม่นี้ นั่นคือหากไม่ปรากฏตัวศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ระยะเวลาที่หลบหนีไม่นำมานับรวมเป็นอายุความ การหลบหนีไม่เป็นเหตุให้นำ ป.อาญา มาตรา 98 มาใช้ อย่างคดีที่ดินรัชดาที่คุณทักษิณโดนจำคุก 2 ปี หากผ่านไป 10 ปีนับจากวันพิพากษา ก็ไม่ต้องรับโทษแล้ว แต่กฎหมายใหม่ไม่ให้นำมาตรา 98 มาใช้ ดังนั้น จะผ่านไปกี่ปี โทษจำคุก 2 ปีนี้ก็ยังอยู่ แล้วก็คดีที่ฟ้องคุณทักษิณไว้ และศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวเพราะคุณทักษิณไม่มาศาลตั้งแต่แรก คดีพวกนี้ ศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้

ตามหลักแล้ว การใช้กฎหมายอาญาให้มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายไม่สามารถทำได้ ความเห็นทั้งในทางตำราและคำพิพากษา บอกว่า "กฎหมายอาญา" ที่ห้ามใช้ย้อนหลังเป็นผลร้าย หมายถึง กฎหมายอาญาในส่วนสารบัญญัติเท่านั้น ได้แก่ การกำหนดฐานความผิด การกำหนดองค์ประกอบความผิด การกำหนดโทษ ส่วนกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความ ไม่อยู่ในความหมายนี้ ดังนั้น จึงใช้ย้อนหลังได้ กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ ก็เช่น เขตอำนาจศาล การจัดองค์กรศาล เงื่อนไขการฟ้องคดี อายุความ พยานหลักฐาน เป็นต้น ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ เขตอำนาจศาล พยานหลักฐาน วิธีพิจารณาความ หากประสงค์ให้ใช้กับคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้า หรือการกระะทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ก็สามารถกำหนดลงไปให้ชัดเจนได้ในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่ คือ หากกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความที่ใช้ย้อนหลังนั้น มีอิทธิพลต่อกฎหมายอาญาส่วนสารบัญญัติ ส่งผลต่อความรุนแรงของโทษ อัตราโทษ ทำให้จำเลยต้องรับโทษเพิ่มขึ้น เช่นนี้ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัตินั้นย้อนหลังได้

กรณีมาตรา 67 นี้ เขียนไว้แบบทั่วไป เพราะคงไม่มีใครกล้าเขียนกฎหมายเพื่อเจาะจงมาใช้กับคนใดคนหนึ่งแบบระบุชื่อลงไปแน่ จะมาเจาะจงเขียนว่ากฎหมายนี้ให้ใช้กับนายทักษิณ คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าดูบริบทแวดล้อมประกอบกัน ใครๆ ก็คงมองออกว่าการย้อนหลังนี้ต้องการใช้กับใคร คดีใด คุณคำนูณ คุณสุริยะใส ออกมาอธิบายเป็นฉากๆ ผู้สื่อข่าวเห็นแล้วก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ยังเอาไปสัมภาษณ์ผู้ร่างเลย

ผมเห็นว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาบริบทการเมืองไทยตั้งแต่ 2548 ประกอบด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายกรณีมีปัญหา มีข้อวิจารณ์จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในหลายๆ คดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พูดง่ายๆ คือ คดีที่พัวพันกับการเมืองอันเป็นผลมาจาก “ตุลาการภิวัตน์” มีคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัย มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม คณะนิติราษฎร์จึงเคยเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร แล้วเอาคดีพวกนี้มาเริ่มต้นใหม่ตามระบบปกติ พอมาวันนี้ มีการออกกฎหมายใหม่ย้อนหลังไปถึงคดีพวกนี้อีก แล้วคนออกเป็นใคร ก็เป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารทั้งนั้น ช่วงเวลาแห่งการออกคือตอนไหน ก็เป็นช่วงเวลาหลังรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลเลือกตั้งจากกลุ่มการเมืองกลุ่มเดิม ผมจึงเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรมเท่าไร โอเค อาจอธิบายจากหลักกฎหมายไปว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าเราพิจารณาตลอดสาย มันเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2549 ต่อเนื่องมาถึง 2557

@ระบบ "Concrete control" ของไทย หากคู่ความยื่นเรื่องตรวจสอบกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ศาลแห่งคดีต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเสมอ 

ฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์ได้เสนอคำร้องต่อศาลฎีกาให้ส่งประเด็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ในกรณีที่ศาลจะนำกฎหมายมาใช้แก่คดี หากคู่ความเห็นว่า กฎหมายนั้นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ คู่ความอาจเสนอคำร้องให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ศาลแห่งคดีของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่ส่งประเด็นนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่? คำตอบ คือ ไม่ได้ การตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรม หรือ concrete control ในประเทศไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราใช้ระบบบังคับส่ง หมายความว่า เมื่อคู่ความโต้แย้งมา ศาลแห่งคดีต้องส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเสมอ เพราะ มาตรา 212 ไม่มีส่วนที่ให้ศาลแห่งคดีใช้ดุลยพินิจไม่ส่งได้ เงื่อนไขเบื้องต้นของ 212 มีเพียงต้องเป็นประเด็นเรื่องกฎหมายที่จะใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ซึ่งกรณีที่เราพูดถึงอยู่นี้ เป็นกรณีที่โต้แย้งว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ขัดรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 พึ่งประกาศใช้เอง

มาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ระบุว่า "การพิจารณาคดีให้ศาลยึดตามรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร" ฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์โต้แย้งว่ามาตรานี้ขัดต่อมาตรา 235 วรรค 6 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า “การพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนของป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาและเพื่อประโยชน์ต่อความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้"  ขณะที่ศาลได้นำมาตรา 5 มาใช้กับคดีแล้ว โดยศาลได้อนุญาตให้ป.ป.ช.นำพยานหลักฐานที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนป.ป.ช.เพิ่มเข้ามา ทางจำเลยจึงโต้แย้งว่า นี่ไม่ได้อยู่ในสำนวนป.ป.ช. แต่ศาลอนุญาตให้นำเข้าโดยอ้างมาตรา 5 ว่า ศาลต้องยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักก็จริง แต่ศาลอาจไต่สวนเพิ่มเติมได้ตามสมควร 

เท่าที่ผมตามความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าว มีความเห็นเป็น 2 แบบ แบบแรกเห็นว่า มาตรา 5 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ว่าถ้อยคำจะต่างกัน แต่เนื้อหาไม่ได้ต่างกัน และเป็นเอกลักษณ์ของระบบไต่สวนอยู่แล้วที่ให้อำนาจศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ แบบสอง เห็นว่าขัด เพราะว่ามาตรา 5 บอกว่าศาลสามารถไต่สวนเพิ่มได้ตามสมควร คำว่า “ตามสมควร” เป็นดุลพินิจแท้ๆ ของศาล แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรรค 6 กำหนดว่า ศาลสามารถไต่สวนเพิ่มเติมได้ “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” เท่านั้น การไต่สวนของศาลนี้เป็นข้อยกเว้น ทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งก็คือหลักประกันสิทธิของคู่ความทั้งหลาย เช่น การต่อสู้โต้แย้ง ความเสมอภาคระหว่างคู่ความ

มีข้อสังเกตน่าสนใจจากตัวร่างใหม่ที่สนช.โหวตผ่าน ในร่างแรกที่ กรธ.เสนอ มาตรา 6 เขียนเหมือนกับมาตรา 5 ของกฎหมายปัจจุบัน คือ “ตามสมควร” แต่พอถึงชั้น สนช. ได้แก้ไขมาตรา 6 ใหม่ โดยเขียนให้โดยมีนัยยะให้ล้อไปกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 6 โดยเพิ่มคำว่า"และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" เข้ามา นัยนี้หมายความว่า ถ้อยคำ “ตามสมควร” กับ “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” นี้มีนัยต่างกันจริงๆ เพราะ ถ้ามีนัยไม่ต่างกัน สนช ก็ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนถ้อยคำนี้ให้ล้อตามรัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อศาลฎีกาส่งประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลก็จะพิพากษาคดีจำนำข้าวไม่ได้ จึงมีคนคิดกันว่านี่คือการประวิงเวลาไว้ ผมคิดว่าถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ยังมีโอกาสถ่วงเวลา เพราะศาลแห่งคดีต้องหยุดกระบวนพิจารณาไว้เลย แต่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราได้แก้ปัญหานี้ไป โดยกำหนดว่า เมื่อศาลแห่งคดีส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลแห่งคดีสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ เพียงแต่ต้องรอการพิพากษาไว้ก่อน และในการตรวจสอบว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่นาน