PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าว8/2/60

สังฆราช

"วิษณุ" ยัน มีขั้นตอนพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ชัดเจนแล้ว อ้างอิงพระราชพิธีเมื่อปี 2532

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่า มีขั้นตอนไว้อยู่แล้ว โดยอ้างอิงจากการสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อปี 2532 ซึ่งมีการจดบันทึกในจดหมายเหตุอย่างละเอียดมาเป็นแบบอย่างทุกขั้นตอน ซึ่ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร จะใช้พระนามใหม่ เมื่อมีการอ่านพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาในพระราชพิธี แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวถึงเรียกตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ได้

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จพระราชพิธีคณะบุคคล ทั้งประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ จะเข้าถวายสักการะ ส่วนหากประชาชนต้องการโพสต์ข้อบนโซเชียลมีเดีย ขอให้ใช้คำว่า "พุทธศาสนิกชนต่างร่วมยินดีและถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่"
--------------

"ออมสิน" เตรียมเข้ากราบสักการะพระสังฆราชพระองค์ใหม่ 10 ก.พ. ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

นายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จะเดินทางไปพบกับสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อถวายฎีกาอารธนาไปเข้ารับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20ส่วนขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่นั้นเป็นขั้นตอนของสำนักพระราชวัง

ขณะเดียวกัน นายออมสิน ยังกล่าวถึงเงินบริจาคผ่านกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณะภัย สำนักนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ได้นำเงินไปจ่ายค่าทำศพผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ที่เสียชีวิตแล้วรายละ 5 หมื่นบาท เป็นเงินรวมกว่า 5 ล้านบาท  และยังไม่มีการจ่ายใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากต้องฟังรายงานความเสียหายจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก่อน ส่วนเงินบริจาคผ่านกองทุนเบื้องต้นจะเป็นนำไปสร้างบ้านเรือนที่มีความเสียหายและนำไปเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานต่างๆ ใช้ในการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ไม่สามารถนำเงินบริจาคไปใช้ได้ทั้งหมดเนื่องจากมีความเสียหายเป็นจำนวนมากและเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเงินบริจาค มีเพียงเงินสด จำนวน 354 ล้านบาท และเป็นตัวเลขอีก 420 ล้านบาท
----------
"วิษณุ" ไม่ขอพูดเรื่องความสำคัญวันชาติ ชี้ยังมีเวลา 10 เดือน ในการจัดเตรียมกิจกรรม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยถึงกิจกรรมต่าง ๆ ภายหลังมติคณะรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ว่า ส่วนตัวไม่ขอพูดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะยังมีเวลาเหลืออีก 10 เดือน ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นรู้ว่าเป็นวันชาติ ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูตที่เคยจัดงานวันชาติก็จัดตามปกติ ส่วนกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ ยังคงจัดตามปกติ ขณะที่วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็อาจมีการจัดกิจกรรมที่แสดงความรำลึกถึงพระองค์ท่าน เพราะวันสำคัญของแผ่นดินใน 1 ปี มีหลายวัน เพียงแต่บางวันเป็นหยุดแต่บางวันไม่เป็นวันหยุดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวันสำคัญ และรัฐบาลจึงมีมติคณะรัฐมนตรี ให้เป็นวันหยุดเพื่อให้ประชาชนทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวันหยุด แต่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวันสำคัญ ต่อมารัฐบาลได้รับสนองใส่เกล้าฯ จึงอนุมัติให้เป็นวันหยุด ซึ่งกิจกรรมใด ๆ ที่เคยจัดก็ให้จัดได้ตามปกติ
////////
ปยป.

นายกฯ เข้าทำเนียบแล้ว เตรียมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขณะ พล.อ.ประวิตร ถก คกก.ขับเคลื่อนปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 1/2560 เนื่องจากเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 ได้มีการหารือถึงการปรับแผนยุทธศาสตร์การลงทุนในปี 2560 ที่จะเน้นการลงทุนเชิงคุณภาพมากขึ้น รวมถึงติดตามความคืบหน้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการผลักดันออกมาบังคับใช้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่น ๆ นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 2/2560 ณ ตึกสันติไมตรี ซึ่งคาดว่าจะมีการติดตามความคืบหน้าในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน รวมถึงการจัดระเบียบในด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย นายออมสิน  ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แทนรัฐบาลรับมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ ห้องประชุม 109 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
------------
ที่ประชุมปฏิรูปคณะที่ 5 ติดตามบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ เดินหน้าทำใบอนุญาตในรูปแบบสมาร์ทการ์ด

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการบริหารจัดการและควบคุมแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมีผลการทำงานที่คืบหน้าไปมาก ปัจจุบันมีแรงงานด้าวในไทย 2.63 ล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องรักษาแรงงานกลุ่มนี้ไว้ในประเทศไทย เพราะเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่คนไทยไม่ทำ ขณะเดียวกัน มีแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1.34 ล้านคน ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการ สำหรับกลุ่มนี้ไว้ 2 มาตรการ ได้แก่ กลุ่มแรงงานประมงหลังสิ้นสุด ระยะเวลาผ่อนผัน 15 วัน ในเดือนพฤศจิกายน 2560 จะส่งแรงงานกลุ่มดังกล่าวกลับประเทศโดยไม่ถือเป็นความผิด ส่วนแรงงานที่ทำถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการผ่อนผัน 8 ปี คือ ปี 2557 - 2565 ซึ่งจะมีการทำใบอนุญาตในรูปแบบสมาร์ทการ์ดที่มีข้อมูลครบถ้วน ไม่สามารถปลอมแปลงได้ จากนั้นจะใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจพิสูจน์แรงงานต่างด้าวได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ จะมีการจัดระเบียบโซนนิ่งพื้นที่กลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยนำร่อง 2 จังหวัด คือ จ.สมุทรสาคร และ ระนอง ก่อนจะขยายเพิ่มเติมอีก 13 จังหวัด ที่มีแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เกิน 5 หมื่นคน โดยเชื่อว่าจะช่วยปลดล็อกปัญหาต่าง ๆ ใหห้คลี่คลาย อาทิ ปัญหาการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ ปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาอื่น ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะไม่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แต่เข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด
----------
พล.อ.ประวิตร กำชับเร่งแก้ประมง IUU ปรับแก้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล มั่นใจปลดธงแดง ICAO ภายในปีนี้ 

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ที่ไทยได้ส่งรายงานการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน ให้สหภาพยุโรป หรือ อียู ไปแล้วนั้น โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับว่าอียูยังมีข้อกังวลเรื่องการแก้ไขกฎหมาย จึงขอให้เร่งรัดปรับแก้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล พร้อมเน้นย้ำการควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งขณะนี้มีเรือไทยจำนวน 14 ลำ ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่สุ่มเสี่ยงทำผิดกฎ IUU จึงได้เรียกเรือไทยทั้ง 14 ลำ กลับมาแล้ว

นอกจากนี้ พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2560 จะมีการตรวจภายใน 10 สายการบิน และจะมีการยืนยันความพร้อมเพื่อให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาตรวจสอบได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยจะสามารถปลดธงแดงการแก้ปัญหา ICAO ได้ภายในปี 2560 นี้

-----------
นายกฯ ประชุม BOI ชม จนท. ปรับเปลี่ยนรูปแบบสะท้อนการทำงานเชิงรุก ห่วงคนจ้องวิจารณ์ จี้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุมโดยขอบคุณ พร้อมระบุว่า ขอชื่นชมคณะทำงานที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบสะท้อนการทำงานเชิงรุกหลายอย่าง เช่น การสรุปผลประชุม ที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น และได้เห็นถึงความก้าวหน้าหลายอย่าง รวมทั้งปัญหา และอุปสรรคได้ชัดเจน และสามารถทำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์นำไปชี้แจง ได้ทั้งส่วนที่ดี และส่วนที่เป็นอุปสรรค ทำให้รู้สึกสบายใจว่าหลายอย่างดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม คนไม่ดีก็ยังมีอยู่มีความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และเปิดหน้าออกมาเรื่อย ๆ บางเรื่องที่ทำดีแต่โดนกล่าวหาว่าไม่ดี ทั้งหมดขึ้นอยู่กับทุกคน โดยเฉพาะคณะทำงานและส่วนราชการ ต้องรู้จักทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการขยายความเข้าใจไปสู่วงกว้าง แบบปากต่อปาก และเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย หลังพบประเด็นที่เกี่ยวโยงกับหน่วยงานของตนเอง อย่าปล่อยทิ้งไว้ โดยคิดว่าไม่สำคัญเพราะสามารถสร้างกระแสตอบรับ ได้มากกว่าพูด เพราะคนพูดไม่ต้องรับผิดชอบ แต่รัฐบาลในฐานะผู้ปฏิบัติต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง
-----------
พล.อ.ประวิตร นัดคุย คกก.ปรองดอง 9 ก.พ. นี้ บอกเชิญพรรคการเมือง แสดงความคิดเห็นเรียงลำดับตามตัวอักษร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งจะมีเรื่องที่ต้องหารือในที่ประชุมประมาณ 10 หัวข้อ ที่จะพิจารณาร่วมกันและรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงจะมีการชี้แจ้งถึงการตั้งอนุกรรมการเพิ่มขึ้นอีก 4 คณะ ประกอบด้วย คณะรับฟังข้อคิดเห็น คณะบูรณาการ คณะจัดทำข้อตกลงและคณะประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายที่ดำเนินการในแต่ละด้านแต่ละพื้นที่มีความชัดเจนและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีสันติ

ทั้งนี้ ในส่วนของการเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความปรองดองจะต้องรอให้ทุกฝ่ายพร้อม แล้วอนุกรรมการจะไปเชิญมาร่วมให้ข้อคิดเห็น เรียงลำดับตามตัวอักษร
----------
ม.ล.ปนัดดา ชี้คนไทยจะต้องรู้รัก สามัคคี ภาคภูมิใจที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ยืนยันบนเวทีโลก ยันเป็นมิตรกับทุกประเทศ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง ความสัมพันธ์ของไทยกับชาติมหาอำนาจ ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เพราะมีการศึกษาด้านวิชาการและการติดต่อในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน ความขัดแย้งเรื่องดินแดนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงต้องแยกแยะ เพราะจะกลายเป็นความขัดแย้งไปทั้งหมด ในขณะเดียวกัน บทบาทของไทยกับชาติมหาอำนาจอย่าง เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ก็เป็นสิ่งบ่งบอกว่าคนไทยมีความฉลาด และไม่ยอมแพ้ แต่ก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนในตัว ทำให้ประเทศในอาเซียนยกย่องและชื่นชม

ทั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ยังระบุว่า ประเทศไทยมีในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนไทยและต่างประเทศ ได้ให้การยกย่อง เพราะฉะนั้นคนไทย จะต้องรู้ รัก สามัคคี และต้องภาคภูมิใจที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย อยู่ใต้ร่มพระบารมี ของพระองค์ท่าน
------------
"อภิสิทธิ์" รอดู ป.ย.ป. ทำงาน ยันไม่ขอให้ความเห็น ย้ำ ยินดีร่วมมือหากเชิญมา ยันยึดหลักการเดิมของพรรค

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ของรัฐบาลว่า ไม่มีความเห็นใด ๆ ขอรอดูทำงานก่อน โดยหลักการของพรรคยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือการปรองดองที่ยั่งยืน ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนการนิรโทษกรรมก็ควรคำนึงถึงประชาชนในความผิดทั่วไปไม่ร้ายแรง และความผิดตามกฎหมายพิเศษ ขณะที่ความผิดอื่น ก็ให้เข้ากระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอยู่แล้ว หากมีหนังสือเชิญ ก็ยินดีร่วม
---------
"อภิสิทธิ์" หนุนนายกฯ หาข้อยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ภายใน 2 สัปดาห์ จี้ เลิกใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 ผลักดัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า จะเร่งหาข้อยุติกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ภายในสัปดาห์หน้า โดยย้ำถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเสนอให้รัฐบาลเลือกใช้แนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและโลกอนาคตโดยสนับสนุนให้หาข้อยุติในภาพรวมไม่ใช่เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่ง เพราะมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ ไม่ควรใช้กฎหมายพิเศษ หรือ ม.44 ในการผลักดันโครงการ

ด้าน นายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว พร้อมแถลงจุดยืนต่อสาธารณะ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคำถามจำนวนมากจากผู้ที่สนใจ จึงได้สรุปคำถามหลักและชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป
--------
"อภิสิทธิ์" แนะ รัฐสร้างโรงงานไฟฟ้าแอลเอ็นจี แทนถ่านหิน ที่เทพา สงขลา ปาล์มน้ำมันที่กระบี่ เชื่อตรงเป้าหมาย ไม่กระทบมลภาวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอเสนอแนวทางให้รัฐบาล เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลา แต่เปลี่ยนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ควบคู่ไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ โดยใช้ปาล์มน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก พร้อมกับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะเป็นทิศทางของการใช้พลังงานในอนาคต และเป็นคำตอบที่สอดคล้องเป้าหมาย คือ มั่นคง สะอาด ยั่งยืน เพราะมีข้อดีในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมยืนยันว่า พรรคไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ และการให้โรงไฟฟ้าเทพาใช้แอลเอ็นจี ไม่ได้ขัดแย้งเรื่องการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องนำเข้าเช่นเดียวกับถ่านหิน

นอกจากนี้ ข้อมูลทางเทคนิคพบว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี จะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงไม่ล่าช้า แต่จะทำให้รวดเร็วมากขึ้น
--------
"นพ.ประเวศ" บอกไม่รับตำแหน่งทำงานปรองดองคล่องตัวกว่า ชี้ ต้องไม่พูดถึงเรื่องในอดีต แต่ให้คุยเรื่องในอนาคต

นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลกำลังตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อหาทางออกให้ประเทศ นั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ส่งเสริมให้มีการ จัดเวทีคนไทยร่วมพัฒนา

ประเทศไทย ซึ่งสามารถจัดได้ในทุกสัปดาห์ เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็น และการจัดรายการสุนทรีสนทนาพัฒนาประเทศไทย ทางโทรทัศน์ที่มีผู้รับชม และมีส่วนร่วมทั้ง
ประเทศ เป็นประจำ ซึ่งไม่ใช่การดีเบตหรือมาอภิปราย แต่เป็นการมารับฟัง ข้อคิดเห็นของแต่ละฝ่าย โดยใช้ข้อมูลและการใช้เหตุผล ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความเข้าใจและเห็นใจกันมาก

ขึ้น ส่วนผู้ที่จะมาดำเนินรายการจะต้องผู้เข้าใจในเรื่องของสันติวิธี ซึ่งมีหลายคนที่ศึกษาเรื่องนี้ อาทิ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี  มหาวิทยาลัยมหิดล นายชัยวัฒน์
สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า โดยสามารถเชิญเข้าร่วมรายการได้ทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การปรองดองจะทำได้ต้องไม่พูดถึงเรื่องในอดีต แต่ให้คุยเรื่องในอนาคตและ ต้องเริ่มสร้างจากฐานล่างก่อน เช่น การ สร้างความเข้มแข็งของชุมแต่ละท้องถิ่น เพราะชุมชนคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ไปเริ่มจากเรื่องยาก ๆ รวมถึงการดูแลคุณภาพของเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ส่วนของเรื่องการไม่นั่งเป็นคณะกรรมการนั้น เนื่องจากมองว่าการทำหน้าที่โดยไม่มีตำแหน่ง สามารถทำงานได้คล่องตัวกว่า เพราะถ้ามีตำแหน่งก็ต้องรอความคิดเห็นคณะกรรมการซึ่งทำให้เสียเวลา
---------
"สุวิทย์" ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วม ป.ย.ป. ตอบรับแล้ว 80% มี "ศุภชัย พานิชภักดิ์ - พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ" ร่วมด้วย 

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวถึงกรณีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ป.ย.ป. ว่า ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ 30 - 40 คน โดยจะมาจากทุกภาคส่วน ตามที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ป.ย.ป. ตั้งไว้ และไม่ใช่เพียงมาให้คำปรึกษา แต่ต้องมาขับเคลื่อนได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ จะไปอยู่ในส่วนของคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด เน้นไปอยู่ที่คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เพราะมีการทำงานในหลายมิติ ทั้งพลังงาน การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ กล่าวว่า บุคคลที่จะเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒินั้น ขณะนี้ตอบรับแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการทาบทาม และรายชื่อดังกล่าวต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ก.พ. นี้ และรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อออกเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีต่อไป สำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการทาบทามและรอการตอบรับ อาทิ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (ยูเอ็นซีทีเอดี) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลทีโอ) พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการและบุคลากรของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น
----------
"สุวิทย์" แจง ป.ย.ป. พรุ่งนี้ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ ตามที่นายกฯ ให้โจทย์ไว้ 

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ จะมีประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของยุทธศาสตร์กระทรวง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้โจทย์การทำยุทธศาสตร์ภาค ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวง และยุทธศาสตร์ภาคด้วย โดยเริ่มด้วยให้งบประมาณแสนล้านบาท ใน 18 กลุ่มจังหวัดเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมและมีผู้รับผิดชอบโดยตรง ตลอดจนแบ่งยุทธศาสตร์ภาคเป็น 6 ภาค ที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 6 คน รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้แนะนำว่าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องผ่านนายกรัฐมนตรีแล้ว สามารถดำเนินการผ่านรองนายกรัฐมนตรีได้ทันที และมีการประชุม ป.ย.ป. เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนเรื่องของการปฏิรูป 27 วาระปฏิรูปเร่งด่วนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. จะมีการขยับวาระการปฏิรูปเล็กน้อยเพื่อเชื่อมต่อการปฏิรูปของรองนายกรัฐมนตรี โดยสปท. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะพูดคุยวงเล็กแบ่งเป็น 6 ด้าน และสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและไม่เกิดการทับซ้อน จากนั้นจะมีการประชุมของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศต่อไป
----------
โฆษก ยัน คสช. สนับสนุน รบ. เต็มที่ ไม่ประมาทปมข่มขู่นายกฯ - พล.อ.ประวิตร มั่นใจหน่วยปฏิบัติเร่งดำเนินการตรวจสอบประสานลาวติดตามจับกุม

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผย ว่า ภารกิจสำคัญของ คสช. ในขณะนี้ ยังเน้นในเรื่องของการดูแลความสงบเรียบร้อย สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่เป็นหลัก และไม่ได้มีการปรับมาตรการในการดำเนินการแต่อย่างใด ส่วนประเด็นมีการโพสต์ข่มขู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น ยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่ประมาทกับกระแสข่าวดังกล่าว และมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยเข้มงวดอยู่แล้ว มั่นใจว่าแต่ละหน่วยได้นำข้อมูลมาพิจารณา เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนแล้ว

ทั้งนี้ พ.อ.วินธัย ยังกล่าวด้วยว่า กรณีมีการเปิดเผยว่า กลุ่มที่โพสต์ข่มขู่เป็นกลุ่มบุคคลที่หลบหนีความผิดข้อหาหมิ่นสถาบัน และกบดานอยู่ในประเทศลาวนั้นจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดของหน่วยปฏิบัติในแต่ละช่องทางต่อไป และยังไม่มีข้อมูลเรื่องท่อน้ำเลี้ยง ว่ามีความเชื่อมโยงกับใครแต่อย่างใด
-------
กกต. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์เลือกตั้ง 20 ปี เตรียมส่งสำนักนายกฯ - สำนักงบประมาณ มุ่งหวังจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ ประชาชนมีส่วนร่วม

นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการรองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการบริหารกลาง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทสำนักงาน กกต. ระยะ 20 ปี ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทสำนักงาน กกต. แล้ว โดยสำนักงานจะนำแผนแม่บทดังกล่าว ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินภารกิจจัดการเลือกตั้งในระยะเวลา 20 ปี ต่อจากนี้

สำหรับการจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้ กกต. ได้วางยุทธศาสตร์ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกำหนดเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ คือ การจัดการเลือกตั้งที่คุ้มค่าและสะดวก
ต่อประชาชน มีเป้าประสงค์ให้ประชาชน, การจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ สร้างระบบการคัดกรองและกลไกตรวจสอบบุคลากรเลือกตั้งทุกระดับให้น่าเชื่อถือ, การจัดการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม ในการจัดการ กำกับ และตรวจสอบการเลือกตั้งในทุกขั้นตอนอย่างมีคุณภาพ, การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองและองค์กรทางการเมือง บนพื้นฐานนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และการพัฒนาองค์การสู่ความเป็นมืออาชีพ
---------
สปท. ประชุมเชิงปฏิบัติการ "ขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา" วางกลไกการมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น - ระดับชาติ 

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ขับเคลื่อนสืบสาน ศาสตร์พระราชา" และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา คณะอนุกรรมการศึกษาปรัชญา ทฤษฎีแห่งศาสตร์พระราชา คณะอนุกรรมการดำเนินการตามศาสตร์พระราชา คณะอนุกรรมการกลไกการมีส่วนร่วมสืบสานศาสตร์พระราชาอย่างยั่งยืน และกลุ่มผู้ริเริ่มขับเคลื่อนการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี “ป่าสักโมเดล” จัดโดยคณะอนุกรรมการกลไกการมี

ส่วนร่วมสืบสาน ศาสตร์พระราชา อย่างยั่งยืน ในคณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา ซึ่งมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธานอนุกรรมการฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกลไกการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ อย่างยั่งยืน ในการนี้ ได้จัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา ภายในห้องประชุมด้วย
--------
วิทยาลัยการทัพบก จัดสัมมนา เรื่อง "บทบาทของชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย" 

วันนี้ ที่ ณ สโมสรทหารบก วิภาวดี วิทยาลัยการทัพบก จัดสัมมนา เรื่อง "บทบาทของชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย" โดยมี พล.อ.สุภกิจ นุตสถิตย์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง ความสัมพันธ์ของไทยกับมหาอำนาจ

พร้อมกันนี้ ยังมีการสัมมนาเรื่อง บทบาทชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของประเทศไทย โดย มี นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ และ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)            
----------
รอง ผบ.สส. เปิดการสัมมนา "บทบาทของชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย"

พล.อ.สุภกิจ นุตสถิตย์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา "บทบาทของชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย" ว่า ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ของโลกในด้านต่าง ๆ ที่เป็นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ประเทศมหาอำนาจมักจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ดังนั้น การสัมมนาในหัวข้อดังกล่าวนี้ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจและสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังสอดรับนโยบายของรัฐบาลและกองทัพ ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ทหาร ตลอดจน ยุทธศาสตร์ของแต่ละเหล่าทัพ อีกด้วย
////////////
คดีไซซะนะ

พล.อ.ประวิตร ยันคดี "ไซซะนะ"ยึดขั้นตอนกฎหมาย มั่นใจ จนท. มีหลักฐาน ประสาน สปป.ลาว ต่อเนื่อง ชี้ สื่อโซเชียลพยายามทำให้แตกแยกพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริการราบการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่ตึกสันติไมตรี ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนเข้าร่วมการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวถึงกรณีสื่อโซเชียลมีเดียในประเทศลาวกดดันให้ประเทศไทยปล่อยตัว นายไซซะนะ แก้วพิมมา เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่า เรื่องดังกล่าวนี้เจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐาน แต่ถ้าหากไม่มีพยานหลักฐานทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องปล่อยตัว ขออย่ากังวล เพราะจะมีการประสานงานระหว่างกัน สำหรับสื่อโซเชียลนั้น
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่โดยตรง แต่เป็นสื่อที่พยายามเขียนให้เกิดความแตกแยก
----------
"ทักษิณ" ส่งทนายแจ้งความฟ้องหมิ่นประมาท คนตัดต่อภาพคู่ "ไซซะนะ" เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย        

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่มีการตัดต่อภาพ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใส่แทนบุคคลอื่นในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม นายไซซะนะ แก้วพิมพา ในคดียาเสพติดที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้เผยแพร่ภาพดังกล่าว เพื่อยุยงให้เกิดความเกลียดชังว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการใส่ร้ายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกรณีระเบิดที่ราชประสงค์ หรือกรณีระเบิดที่ภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายป้ายสี นายทักษิณ อย่างไร้คุณธรรม และที่ผ่านมา นายทักษิณ ได้พยายามอดทน และให้อภัยมาโดยตลอด แต่ขบวนการทำลายก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายนพดล ระบุว่า นายทักษิณ ได้มอบหมายให้ทนายความไปแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้บิดเบือนตัดต่อภาพ และ โพสต์ข้อความใส่ร้ายทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์
ภาพต่อ ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และขอเรียกร้องให้ยุติการแชร์ภาพตัดต่อ ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าการปรองดองจะสำเร็จนั้นไม่ใช่เฉพาะในหมู่นักการเมืองเท่านั้น คนบางกลุ่มที่ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายต้องร่วมมือด้วย เริ่มจากการเอาความเกลียดชังออกจากใจตนเอง เคารพสิทธิ์ของคนอื่นและไม่นำความเท็จมาใส่ร้ายกันเพราะประเทศบอบช้ำจากการใส่ร้ายป้ายสีและวาทกรรมสร้างความเกลียดชังมามากแล้ว
---------
////////////
รัฐธรรมนูญ

"มีชัย" โยนนายกรัฐมนตรี แจงเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ขอคาดเดาวันเลือกตั้ง พร้อมย้ำร่างกฎหมายลูกตามกรอบเวลา

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กรธ. โดยปฏิเสธที่จะเปิดเผยการปรับแก้เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกต โดยระบุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นผู้ชี้แจงเอง พร้อมกล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะมีการเลือกตั้งได้ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะกรอบเวลาการเลือกตั้ง จะเริ่มนับ 1 ได้ ก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เริ่ม แต่ กรธ. จะยังคงเดินหน้าจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา และจะสามารถเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ทันที หลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเลือกและ ร่าง พ.ร.ป.กกต. จะต้องกำหนดกรอบเวลาให้ทั้ง 2 องค์กร ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ และเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถกำหนดได้ เพราะร่างกฎหมายที่ กรธ. ยกร่างไปนั้น จะต้องผ่านการพิจารณาจาก สนช. ก่อน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
-----------
"มีชัย" ยัน กรธ. พยายามหาแนวทางเขียนกฎหมายลูกว่าด้วยองค์กรอิสระ ให้ทำงานง่าย ไม่ซ้ำซ้อน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรต่าง ๆ ว่า ขณะนี้ ได้ทยอยเชิญองค์กรอิสระ มาให้ข้อมูล และ กรธ. กำลังหาแนวทางให้การทำงานขององค์อิสระต่าง ๆ ไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยจะให้แต่ละหน่วยงานไปหารือขอบข่ายงาน เพราะที่ผ่านมาองค์กรอิสระต่างคนต่างทำงาน ทั้งที่บางกรณีเป็นเรื่อง
เดียวกัน

ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เบื้องต้นมีแนวโน้มให้การพิจารณาคดีทุจริต สามารถกระทำการลับหลังจำเลย
ได้ หากจำเลยไม่มาศาล แต่ยังสามารถส่งทนายความมาแทนได้ ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าการพักอายุความ เพราะการพิจารณาคดีทุจริตออกไปนาน อาจทำให้พยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ได้
---------------
กรธ. เตรียมเชิญ ปปช. แจงปมเพิ่มเนื้อหาร่างกฎหมายลูก แนะต้องเขียนให้ทำงานด้านทุจริตมีประสิทธิภาพ

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  (กรธ.) แถลงว่า กรธ. เตรียมเชิญตัวแทนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าให้ข้อมูลหลังพบว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช.จัดทำ 240 มาตรา มีการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่เข้ามา เช่น เรื่องอำนาจการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ในองค์การระหว่างประเทศ จึงต้องการทราบเหตุผลที่เพิ่มเติมเข้ามา และ ป.ป.ช. ยัง เขียนกฎหมายฟุ่มเฟือย สะท้อนว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการ ปราบปรามการทุจริต มีการกำหนดขั้นตอนไว้เยอะเกินไป ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบทุจริตต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุผลได้

ส่วนการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็น กรรมการ ป.ป.ช. กรธ.เห็นว่าต้องอิงองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย จึงจะใช้เช่นเดียวกับกับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่การดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ในร่างของ ป.ป.ช.กำหนดให้อยู่จนครบวาระ แต่กรธ.เห็นว่า ตามหลักการควรจะเป็นแบบเดียวกับ กกต.

-------------
"วิษณุ" แจง จะมีเลือกตั้งใน 1 ปี แค่ประมาณการ ชี้มีหลายอย่างต้องเตรียมการ -ปลดล็อกพรรคฯ ขึ้นอยู่กับ คสช.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายไทยบนเวทีโลก ตอนนี้ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปี นับจากวันนี้ว่า คำพูดดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงว่าต้อง 365 วัน ซึ่งเมื่อนำรัฐธรรมนูญขึ้นเกล้าทูลฯ ถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว มีบางอย่างที่ต้องดำเนินการทันที เช่น ม.77 ที่กำหนดให้การออกกฎหมายทุกครั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งยอมรับว่าจะทำให้การออกกฎหมายทำได้ยากขึ้น เพราะจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาอีกครั้ง จึงไม่อยากให้นิ่งนอนใจ เพราะมีหลายอย่างต้องเตรียมการก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งหากในอนาคตมีหน่วยงานใดไม่ยอมปฏิบัติตาม ม.77 อาจนำไปสู่ฟ้องร้องเพราะถือเป็นการบกพร่องทางวินัย แต่คงไม่เข้าข่ายความผิด ม.157 ประมวลกฎหมายอาญา ส่วนพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินการกิจกรรมได้เมื่อไรนั้น เป็นเรื่องที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะพิจารณาส่วนตัวไม่ทราบ
-----------------
"วิษณุ" บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความคาดหวังของผู้บริหารต่อผู้ตรวจราชการ” ชี้ เป็นกลไกสำคัญของฝ่ายบริหาร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความคาดหวังของผู้บริหารต่อผู้ตรวจราชการ” ในการฝึกอบรมการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจราชการ ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้ตรวจราชการจะต้องอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของแต่ละกระทรวงก่อน เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความความสำคัญอย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องรื้อระบบทั้งหมด ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังระบุ ในอดีตโบราณเจ้าเมืองจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ซึ่งหากคัดเลือกบุคคลมาอย่างดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้ตรวจราชการ และเมื่อเจ้าเมืองเสียชีวิตลงไป ลูกชายก็จะขึ้นแทนทันที แต่ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจราชการแบบบูรณาการเป็นกลไกสำคัญของฝ่ายบริหารที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนผลการปฏิบัติงานในภาพรวมของทุกกระทรวงว่ามีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่
--------------
/////////////
ท่าทีต่างประเทศ

กกต. พอใจ KPI ประเมินผลปฏิบัติงานรอบ 3 เดือน มุ่งมั่นทำให้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร

นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการรองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการบริหารกลาง เปิดเผยถึงผลการประชุม กกต. ว่า ที่มีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงาน และผลการประเมินตนเองรายตัวชี้วัด (Self Assessment Report : SAR) ซึ่งได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกคำรับรองตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายการประเมินผลการปฏิบัติงาน (KPI) ระหว่างเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และรอง เลขาฯ กกต. ทุกด้าน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ คำรับรองการปฏิบัติงานและผลการประเมินตนเองรายตัวชี้วัด (KPI) ประกอบด้วย 16 ตัวชี้วัด จาก 5 ด้านกิจการ ได้แก่ ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เช่น การจัดการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติที่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยการพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ด้านกิจการการมีส่วนร่วม เสริมสร้างความรู้ประชาธิปไตย การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและวิถีประชาธิปไตย, รณรงค์หมู่บ้านไม่ขายเสียง, เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์การเอกชน, ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย โดยการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรด้านการสืบสวนสอบ วินิจฉัยและการดำเนินคดีในศาล ด้านกิจการบริหารกลาง ศึกษาวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เพื่อพัฒนาพรรคการเมืองสู่ความเป็นสถาบันการเมือง ซึ่งปรากฏว่าผลการประเมินในรอบ 3 เดือน (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2559) ระดับที่ 1 ค่าเป้าหมายเต็ม 1 ผลการประเมินค่าเป้าหมายในภาพรวมเท่ากับ 0.82 ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
--------
กตต. แจงข้อห่วงใยข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ปม ม.112 ย้ำ มีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน มิได้มีแรงจูงใจจากการเมือง - คดี "ไผ่ ดาวดิน" อยู่ในชั้นศาล รบ. แทรกแซงไม่ได้

กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงความเชิงแสดงความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112 ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติที่สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ประชาชนชาวไทยเคารพเทิดทูนยาวนานกว่า 700 ปี ถึงปัจจุบัน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญการที่ไทยหรือชาติใด ๆ จะตรากฎหมายที่เหมาะสมเพื่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันฯ จึงเป็นเรื่องปกติสามัญที่ชนในชาติพึงเคารพยึดปฏิบัติ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป มิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด ทั้งนี้ การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มิได้มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด ตลอดจนประเทศไทยเคารพและให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่กระทบความสงบเรียบร้อยและสันติสุขในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่นตามที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดังนั้น ม.112 จึงไม่ได้ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

ส่วนกรณี นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ซึ่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นั้น คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลซึ่งเป็นกระบวนการอิสระที่รัฐบาลไม่อาจแทรกแซงได้ ทั้งนี้ นายจตุภัทร เคยได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 แต่ต่อมาถูกถอนประกันเนื่องจาก นายจตุภัทร ได้กระทำผิดซ้ำ ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัว
///////////
เงินคงคลัง

"กรณ์" ชี้ เงินคงคลังเหลือน้อยเรื่องปกติของการบริหารเงินสด แนะ จับตาใช้จ่ายรัฐ เหตุขาดดุลสูง - จัดงบกลางปีต้องระวังนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าเงินคงคลังของรัฐบาลเหลือน้อยว่า ไม่ส่งผลต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่อง

การบริหารเงินสด ซึ่งบางช่วงที่มีการเบิกจ่ายมาก ก็ทำให้เงินสดที่เก็บในลิ้นชักน้อยลง เมื่อมีรายได้เข้ามาหรือสามารถกู้ยืมเพิ่มเติมได้ ก็จะทำให้เงินคงคลังกลับมาอยู่ที่สี่แสนกว่าล้านเช่นเดิม จึงไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา แต่ที่ติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งในปีนี้ เป็นปีที่ขาดดุลงบประมาณค่อนข้างมาก และมีงบประมาณกลางปีด้วยต้องมีความระมัดระวัง จึงต้องจับตาดูว่าการใช้เม็ดเงินนี้ส่งผลต่อประเทศระยะยาวและทำอย่างระมัดระวังหรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็คงตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว

จับตาวิกฤติทวีคูณโรงไฟฟ้า

จากกรณีที่ วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงกรณีที่ แหล่งก๊าซซอติก้าและยาดานา ของ ประเทศเมียนมา จะต้องหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงระหว่าง 3-12 ก.พ.นี้จะทำให้ก๊าซหายไปจากระบบวันละ 610 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้า มีการรับมือโดยการเร่งผลิตก๊าซ LNG ในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นจากวันละ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต

ส่วนแหล่ง ยาดานา จะปิดซ่อมบำรุงระหว่าง 25 มี.ค.-3 เม.ย. ก๊าซธรรมชาติจะหายไปจากระบบวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต และส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้าแน่นอนเนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่ใช้หล่อเลี้ยงโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าราชบุรี ที่เป็นหัวใจหลักในการส่งกระแสไฟฟ้าไปใช้ในภาคใต้

ทั้งนี้จะต้องเพิ่มการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยจากวันละ 500 ลูกบาศก์ฟุตเป็น 1,000 ลูกบาศก์ฟุต แต่ก็ยังไม่พอเพียงต้องนำเข้าน้ำมันเตามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอีก 89.7 ล้านลิตร น้ำมันดีเซลอีกกว่า 16.2 ล้านลิตร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน เม.ย.มี แหล่งก๊าซในอ่าวไทย ที่ต้องปิดซ่อมบำรุงเช่นกันคือ แหล่งบงกชใต้ ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบวันละ 320 ล้านลูกบาศก์ฟุต แหล่งไพลินใต้ ก๊าซหายไปจากระบบวันละ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุต และ แหล่งยาดานา จะหายไปประมาณวันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต

เพราะฉะนั้นการคิดค่าไฟตามสูตรอัตโนมัติจึงเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญกว่าคือ มีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้อีกระลอก เพราะในภาคใต้ยังไม่มีแหล่งไฟฟ้าสำรอง และมักจะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นทุกครั้งที่มีการปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้

ปัญหา วิกฤติพลังงานไทยในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องนำมาปรับแผนรับมือกันใหม่ จากอุปสรรคและปัจจัยที่เกิดจาก กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ยังขึ้นคานอยู่ในการพิจารณาของ สนช. ที่เลื่อนการพิจารณามาถึง 5 ครั้งแล้ว ทำให้การสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยและในบริเวณอื่นต้องชะลอไปด้วยโดยอัตโนมัติ
นั่นหมายถึง การผลิตก๊าซธรรมชาติจะลดลงไปทุกปี จนกว่าจะหมดอายุสัมปทานเช่น แหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดสัมปทานในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ

เฉพาะที่เราต้องอาศัย แหล่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นการบ้านที่ต้องคิดหนัก ไม่ว่าเหตุใดก็ตามถ้าแหล่งก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้านหยุดผลิตหรือหยุดส่งให้ประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่สุดวิสัยของการควบคุม ที่แม้แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถไปทำอะไรได้

เมื่อให้สัมปทานแหล่งก๊าซไม่ได้ สร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มก็ไม่ได้ เพราะมีแต่พวกประท้วงไม่ลืมหูลืมตา ทุกข์ของชาวบ้านที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศพินาศในพริบตาเดียวระหว่างผลประโยชน์ของเอ็นจีโอที่ออกมาคัดค้านกับผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจเลือก.
หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com

รัฐบาลถังแตกจริงไหม

กำลังทอล์กกันให้แซ่ด รัฐบาลถังแตกจริงไหม เมื่อ กรมสรรพสามิตขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเครื่อง เพื่อหารายได้เพิ่ม 8,000 ล้านบาท เนื่องจาก 3 เดือนแรกของงบปี 60 ถึงเดือนธันวาคม รายได้ติดลบอยู่ 5,000 ล้านบาท ในการทำงบกลางปีเพิ่มอีก 190,000 ล้านบาท ก็มีการตั้งงบ “คืนเงินคงคลัง” ถึง 27,000 ล้านบาท

ร้อนถึง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ต้องออกมาแถลงว่า ไม่จริงรัฐบาลไม่ได้ถังแตก ณ เดือนธันวาคม 2559 รัฐบาลมีเงินคงคลังเหลือ 74,907 ล้านบาท (ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา) ยิ่งทำให้ตกใจกันใหญ่

คุณเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ขอช่วยโฆษกชี้แจงเพิ่มเติม “ตอนเดือนกันยายน 2557 หลังจากรัฐบาล คสช. เข้ารับตำแหน่งใหม่ รัฐบาลมีเงินคงคลัง 495,747 ล้านบาท ผ่านไป 2 ปีกว่า เงินคงคลังรัฐบาลเหลืออยู่ 74,907 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังไม่ถังแตกครับ แค่เงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาท เท่านั้นเอง

ยังไม่นับรวมในระหว่างเดือน ก.ย.57 ถึง ธ.ค.2559 รัฐบาล คสช.ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาท นึกไม่ออกเลยจริงๆว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก 15 ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

เมื่อนักข่าวเอาไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำเอานายกฯตู่ มีอารมณ์หงุดหงิด จนนักข่าวต้องปลอบ ให้นายกฯ ใจเย็นๆ นายกฯก็ตอบว่า ใจเย็นอยู่แล้ว

ต่อมา คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง ได้แถลงยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ถังแตกจนต้องขึ้นภาษีสรรพสามิต แต่ขึ้นเพื่อความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีน้ำมันประเภทอื่นปรับขึ้นไป 3-6 บาทต่อลิตร ดีเซลอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร คนโดยสารรถ บขส. เสียภาษีลิตรละ 5 บาท คนโดยสารเครื่องบินเสียภาษีเพียงลิตรละ 20 สตางค์

แต่เงินคงคลังลดเหลือ 7 หมื่นล้านบาท รัฐมนตรีคลัง ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่เป็นไปตามนโยบายที่เพิ่งมอบหมายให้ กรมบัญชีกลาง ไปรักษาระดับเงินคงคลัง ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะรับได้ เพื่อ ประหยัดรายจ่ายดอกเบี้ย ที่รัฐบาลไปกู้เงินคงคลังมาไว้ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องจ่าย ปัจจุบันเงินคงคลัง 100,000 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 ล้านบาท กรมบัญชีกลางเสนอว่า เงินคงคลังควรอยู่ที่ 50,000–100,000 ล้านบาท ระดับ 100,000 ล้านบาทก่อนจ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการต่างๆ เมื่อจ่ายแล้วเหลือ 50,000 ล้านบาท

(ผมรู้สึกว่า กรมบัญชีกลาง จะ “ประมาท” มากไปหน่อย “ไม่เผื่อวิกฤติ” เอาไว้เลย)

รัฐมนตรีคลัง บอกว่า หลักการเงินคงคลัง จะเตรียมเงินไว้ใช้ล่วงหน้าประมาณ 2 สัปดาห์ หากเกิดเหตุการณ์ที่ประเทศจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินอีกมาก เรายังมีวงเงินกู้ระยะสั้นอีกประมาณ 80,000 ล้านบาท ปีงบประมาณที่ผ่านมาเราขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท มีการกู้จริงเพียงแสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินกู้ส่วนนี้รวมแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาท เพียงพอรองรับการใช้เงินของประเทศแน่นอน
เงินคงคลังคืออะไร ชาวบ้านทั่วไปอ่านแล้วอาจจะงงๆ ผมขออธิบายสั้นๆว่า

เงินคงคลัง คือ เงินสดและเงินฝากของกระทรวงการคลัง นั่นเอง พูดง่ายๆก็คือ “เงินออมของประเทศ” ถ้าปีไหนรัฐบาลมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย ก็มีเงินเหลือเก็บ มีรายได้มาก เงินก็เหลือมาก มีรายได้น้อย เงินก็เหลือน้อย แต่ถ้าปีไหนมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ก็ต้องเอาเงินคงคลังออกมาใช้

การที่เงินคงคลังลดลงจาก 495,747 ล้านบาท เหลือ 74,907 ล้านบาท ในเวลาเพียงสองปีเศษ แสดงว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงต้องเอาเงินคงคลังมาใช้มาก

ผมไม่มีความรู้ว่า เงินคงคลังที่มั่นคง จะต้อง มีกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ แต่รู้ว่าหลักการเงินที่ดีที่สุดในโลกก็คือ Cash Is King เงินสดคือพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็น “ธนบัตร” หรือ “เงินอิเล็กทรอนิกส์” ถ้าไม่มีเงินสดในมือ เกิดวิกฤติขึ้นมาลำบากแน่นอนครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”

ผบ.สส.เยือนลาว

ผบ.สูงสุด"ปุย" ควง "บิ๊กต๊อก-บิ๊กตู่-บิ๊กโหน่ง" เยือนลาว พบ รมว.กห."จันสะหมอน" กระชับสัมพันธ์ทางทหาร
พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กระชับความสัมพันธ์ 6-7กพ.2560
ที่ กระทรวงป้องกันประเทศ และทำพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์นักรบนิรนาม ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อการสู้รบอย่างกล้าหาญของบรรพบุรุษและบรรดานักรบปฏิวัติที่เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติและประชาชน จนได้รับชัยชนะและประกาศ
เอกราชเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในวันที่ 2ธันวาคม 2518
นอกจากนี้ ได้เข้าพบ พลตรี สุวอน เลืองบุนมี รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ และหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการ กองทัพประชาชนลาว เพื่อพบปะสนทนาและหารือข้อราชการ
และเช้าพบ พลโท จันสะหมอน จันยาลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ เพื่อหารือ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูง และกำลังพลในระดับปฏิบัติงานของกองทัพไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการและความร่วมมือทางทหารระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประวิตร นัดคก.ปรองดองทหารพรุ่งนี้

ปรับใหม่!!
"บิ๊กป้อม"นั่ง ประธานกรรมการอำนวยการสร้างสามัคคีปรองดองเอง ส่วน บิ๊กช้าง ปลัดกห. เป็นปธ.อนุกรรมการรับฟังความเห็น นั่งหัวโต๊ะ เชิญนักการเมืองคุย เรียงตามตัวอักษร
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นัด ปลัดกห.ผบ.สส.ผบ.เหล่าทัพ ประชุมคกก.อำนวยการสร้างสามัคคีปรองดอง 9กพ.ที่กลาโหม 10.00 น.โดยมีการปรับโครงสร้างใหม่ โดย บิ๊กป้อม นั่งปธ.กก.อำนวยการฯเอง 
ส่วน พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกห. นั่งเป็น ปธ.อนุกก.รับฟังความเห็นฯ ที่จะทำหน้าที่ ร่วมกับ ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพ ในการเชิญนักการเมืองมาแสดงความคิดเห็น ที่คาดว่า จะเริ่มในสัปดาห์หน้าได้ทัน โดยเรียงตามตัวอักษร ชื่อพรรค

/////////
"‪บิ๊กป้อม" เผย เชิญพรรคการเมืองคุยเรียงตามตัวอักษร สยบข้อครหา ใครมาก่อน-หลัง เรียกประชุม กก.ปรองดองกห. 9กพ. เผย บิ๊กป้อม นั่งปธ.เอง ส่วนปลัดกห.เป็นประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็น / ร่วมผบ.เหล่าทัพ
พลเอกประวิตร เผย เตรียมเชิญพรรคการเมือง มาแสดงความคิดเห็น ต่อคณะกก.อำนวยการ เตรียมสร้างสามัคคีปรองดอง ของ กห. เรียงลำดับตามตัวอักษร เพื่อไม่ให้มีปัญหาว่า พรรคใด จะมาด่อนมาหลัง...เผย เรียกประชุมกก.อำนวยการ มีพลเอกประวิตร เป็นประธาน เอง
ครั้งแรก 9กพ.‬นี้ที่กลาโหม เพื่อมอบแนวทางในการทำงาน กำหนดหัวข้อ10 ข้อ ในการพูดคุย โดยเอาข้อเสนอแนะของ "นพ.ประเวศ-อ.คณิต"มาใช้ในการทำงาน ด้วย และเพิ่อตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อเตรียมทำงาน จนถึงการส่งผลความเห็นร่วม ไปให้ ปยป.ใหญ่ ...ยันไม่มีการโต้เถียงใดๆ แค่แสดงความคิดเห็น

ส่วน คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่มี พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกห. เป็นประธาน ร่วมด้วย ผบ.เหล่าทัพ ก็รับฟังอย่างเดียว...คาดสัปดาห์หน้า ยังไม่เริ่ม เชิญพรรคมาคุย ต้องให้คณะอนุกรรมการ เตรียมการก่อน