PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จับตาวิกฤติทวีคูณโรงไฟฟ้า

จากกรณีที่ วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงกรณีที่ แหล่งก๊าซซอติก้าและยาดานา ของ ประเทศเมียนมา จะต้องหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงระหว่าง 3-12 ก.พ.นี้จะทำให้ก๊าซหายไปจากระบบวันละ 610 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้า มีการรับมือโดยการเร่งผลิตก๊าซ LNG ในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นจากวันละ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต

ส่วนแหล่ง ยาดานา จะปิดซ่อมบำรุงระหว่าง 25 มี.ค.-3 เม.ย. ก๊าซธรรมชาติจะหายไปจากระบบวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต และส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้าแน่นอนเนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่ใช้หล่อเลี้ยงโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าราชบุรี ที่เป็นหัวใจหลักในการส่งกระแสไฟฟ้าไปใช้ในภาคใต้

ทั้งนี้จะต้องเพิ่มการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยจากวันละ 500 ลูกบาศก์ฟุตเป็น 1,000 ลูกบาศก์ฟุต แต่ก็ยังไม่พอเพียงต้องนำเข้าน้ำมันเตามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าอีก 89.7 ล้านลิตร น้ำมันดีเซลอีกกว่า 16.2 ล้านลิตร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน เม.ย.มี แหล่งก๊าซในอ่าวไทย ที่ต้องปิดซ่อมบำรุงเช่นกันคือ แหล่งบงกชใต้ ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบวันละ 320 ล้านลูกบาศก์ฟุต แหล่งไพลินใต้ ก๊าซหายไปจากระบบวันละ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุต และ แหล่งยาดานา จะหายไปประมาณวันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต

เพราะฉะนั้นการคิดค่าไฟตามสูตรอัตโนมัติจึงเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญกว่าคือ มีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้อีกระลอก เพราะในภาคใต้ยังไม่มีแหล่งไฟฟ้าสำรอง และมักจะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นทุกครั้งที่มีการปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้

ปัญหา วิกฤติพลังงานไทยในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องนำมาปรับแผนรับมือกันใหม่ จากอุปสรรคและปัจจัยที่เกิดจาก กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ยังขึ้นคานอยู่ในการพิจารณาของ สนช. ที่เลื่อนการพิจารณามาถึง 5 ครั้งแล้ว ทำให้การสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยและในบริเวณอื่นต้องชะลอไปด้วยโดยอัตโนมัติ
นั่นหมายถึง การผลิตก๊าซธรรมชาติจะลดลงไปทุกปี จนกว่าจะหมดอายุสัมปทานเช่น แหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดสัมปทานในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ

เฉพาะที่เราต้องอาศัย แหล่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นการบ้านที่ต้องคิดหนัก ไม่ว่าเหตุใดก็ตามถ้าแหล่งก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้านหยุดผลิตหรือหยุดส่งให้ประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่สุดวิสัยของการควบคุม ที่แม้แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถไปทำอะไรได้

เมื่อให้สัมปทานแหล่งก๊าซไม่ได้ สร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มก็ไม่ได้ เพราะมีแต่พวกประท้วงไม่ลืมหูลืมตา ทุกข์ของชาวบ้านที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศพินาศในพริบตาเดียวระหว่างผลประโยชน์ของเอ็นจีโอที่ออกมาคัดค้านกับผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจเลือก.
หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: