PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ระหว่างเวที "ปฏิรูป" กับเวที "ผ่าความจริง"

พลันที่ "สภาปฏิรูปการเมือง" เริ่มตัดริบบิ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ภาพเปรียบทางการเมืองก็เริ่มขึ้นระหว่างเวที "ปฏิรูป" กับเวที "ผ่าความจริง"

ระหว่างบทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ บทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่เวที "ปฏิรูป" เริ่มต้นจากความรัก ความปรารถนาดี

เวที "ปฏิรูป" มีคนอย่าง นายบรรหาร ศิลปอาชา มีคนอย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีคนอย่าง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มีคนอย่าง นายสนธยา คุณปลื้ม นอกจากนั้น ยังมีคนอย่าง นายพิชัย รัตตกุล

มีคนอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีคนอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

แต่เวที "ผ่าความจริง" หากไม่เป็นวาจาอันเสียดแทงจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นโวหารอันเกรี้ยวกราดจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

2 เวที เป้าหมายต่างกัน

มีความพยายามเป็นอย่างมากจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับแต่เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2554

ความพยายาม 1 คือ การลดระยะห่างกับ "ผู้อาวุโส"

เห็นได้จากการเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าร่วมฟังคอนเสิร์ตที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น ก็เดินทางเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์

ขณะเดียวกัน เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ความพยายาม 1 คือ การเยือนแต่ละเหล่าทัพเพื่อสมานความเป็นหนึ่งเดียว

ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่าง "รัฐบาล" กับ "กองทัพ"

เป็นการเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เป็นการเข้าสู่เหล่าทัพก่อนการเปิดเวที "สภาปฏิรูปการเมือง" เพื่อก้าวเข้าสู่มิติใหม่ทางการเมือง

มิติแห่งความรู้จัก สามัคคี

การดึงคนอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้าร่วมนับว่าสำคัญ การดึงคนอย่าง นายบรรหาร ศิลปอาชา ให้มามีบทบาทนับว่าสำคัญ

เพราะ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คือคนที่เคยทำรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพราะนายบรรหาร ศิลปอาชา คือคนที่เคย "บอยคอต" การเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2549

แปร "ศัสตรา" เป็น "แพรพรรณ"

การเคลื่อนไหวของรัฐบาล การเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกประเมินและตีความว่าเท่ากับโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับโดดเดี่ยว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

เป็นเช่นนั้นหากว่าไม่มีคำเชิญชวนจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อพรรคประชาธิปัตย์และต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในความเป็นจริง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกปากเชิญด้วยตัวเอง

ในความเป็นจริง คณะกรรมการดำเนินการโดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โดย นายวราเทพ รัตนากร ได้มีหนังสือไปยังพรรคประชาธิปัตย์

แต่ได้รับการปฏิเสธ

เป็นการปฏิเสธทั้งๆ ที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ตอบรับ เป็นการปฏิเสธทั้งๆ ที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ตอบรับ เป็นการปฏิเสธทั้งๆ ที่ นายสนธยา คุณปลื้ม ตอบรับ เป็นการปฏิเสธทั้งๆ ที่ นายอนุทิน

ชาญวีรกูล ตอบรับ

แม้กระทั่ง นายพิชัย รัตตกุล ก็ตอบรับ

จึงมิใช่รัฐบาล จึงมิใช่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรอกที่โดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่พรรคประชาธิปัตย์ หากแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างหากที่โดดเดี่ยวตัวเอง

"โดดเดี่ยว" ใน "บ้านร้าง"

มีคำกล่าว 1 ว่า เมื่อนักการเมืองพูด ประชาชนจะฟัง เมื่อนักการเมืองลงมือทำ ประชาชนจะเชื่อ

พรรคการเมืองบางพรรคเก่งในการพูด นักการเมืองบางคนเก่งในเชิงโวหาร แต่พรรคการเมืองบางพรรคถนัดในการลงมือทำ นักการเมืองบางคนถนัดในการลงมือทำ

"เมื่อท่านพูด ประชาชนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำ ประชาชนจะเชื่อ"

( @ Matichononline)

"อลงกรณ์"เปิดใจ เรื่องน่าเศร้า-จุดยืนปชป.

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:45:25 น.
 

สัมภาษณ์พิเศษ โดย พนัสชัย คงศิริขันต์ และศุภกาญจน์ เรืองเดช

(ที่มา:มติชนรายวัน 26 ส.ค.2556)



"...บางครั้งถึงแม้เราจะคิดว่าเราต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการต่อสู้..."

หมายเหตุ - นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลภาคกลาง ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการต่อสู้ของ ปชป.ทั้งในและนอกรัฐสภา รวมทั้งเงื่อนไขข้อเรียกร้องในการเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปซึ่งรัฐบาลพยายามเชิญให้คู่ขัดแย้งเข้าร่วมหาทางออกให้กับประเทศ

@ มองอย่างไรกับเหตุการณ์การประชุมร่วมกันของรัฐสภาขณะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่มาของ ส.ว.เกิดภาพอลหม่านครั้งยิ่งใหญ่ที่มาจากการคัดค้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ในสภาอย่างเต็มที่

ผมว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น และประชาชนคงจะผิดหวังและกระทบต่อภาพลักษณ์ ภาพพจน์ของรัฐสภาของเรา รวมทั้งพรรคของเราด้วย ผมก็เห็นสอดคล้องกับที่ท่านหัวหน้า
พรรคบอกว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแล้วก็ประสงค์ที่จะไม่เห็นเหตุการณ์เหล่านั้นอีก ท่านประธานเองก็จะต้องไม่ปิดกั้นสิทธิการอภิปรายของสมาชิก จะต้องรู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา ผ่อนปรน
ในการประชุมก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ผมคิดว่าทุกคนเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผมเองก็อยากให้ขอโทษประชาชนในฐานะส่วนตัว ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อยากขอโทษประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผมก็เชื่อว่าเราไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ขอให้เป็นบทเรียนของประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาแต่ละท่าน เพราะฉะนั้นในวันที่ 2 จึงพิสูจน์ชัดเจนว่า เมื่อไม่มีการปิดกั้นสิทธิการอภิปรายการประชุมก็เป็นไปอย่างราบรื่น

@ แต่ ปชป.คัดค้านด้วยการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอย่างยืดเยื้อทำให้ถูกมองว่าเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อย

เหตุการณ์มันเกิดขึ้นโดยชนวนที่เกิดจากการที่ท่านประธานรัฐสภา กรรมาธิการได้ตัดสิทธิผู้แปรญัตติ 57 ท่าน และมีการอภิปรายเพื่อขอใช้สิทธิและมีการรวบรัดลงมติ ตรงนั้นเองที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ของความอลหม่านขึ้น เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องที่มีการกำหนดไว้ หรือเป็นการวางแผนของ ปชป. หรือเสียงข้างน้อยแต่อย่างใด ข้อพิสูจน์คือวันรุ่งขึ้นที่มีการให้สิทธิอภิปราย ให้สิทธิผู้แปรญัตติทั้ง 57 คน ทุกอย่างก็ดำเนินหน้าตามปกติ ขอให้ทุกคนมีสติ อย่างกฎหมายบางฉบับ เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปชป.ได้ยึดหลัก Flilbuster (การขัดขวางการผ่านญัตติหรือมติในรัฐสภา) คือการต่อสู้ในรัฐสภา หรือในสภาผู้แทนราษฎรโดยการอภิปรายอย่างยืดยาว ซึ่งถือเป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผมคิดว่าตราบใดที่ยังเป็นการต่อสู้ในระบบรัฐสภาก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง

@ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป. ห่วงการคัดค้านในสภาและนอกสภาจะนำไปสู่อนาธิปไตย

ผมคิดว่าบทเรียนดังกล่าวคงทำให้เราตระหนักและสำนึก และทำให้เรามีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นวันที่ 2 ของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเหตุการณ์ก็เป็นปกติ คงไม่เป็นไปถึงขั้นอย่างที่วิตกกังวลอย่างนักวิชาการบางท่าน ซึ่งอันนี้คงต้องมีการพูดคุยกันในพรรค บางครั้งถึงแม้เราจะคิดว่าเราต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการต่อสู้

@ ดูแนวทางของ ปชป.จากนี้จะเดินหน้าคัดค้านในและนอกสภาอย่างจริงจังใช่หรือไม่

เราได้มีข้อสรุปในเรื่องนี้ในคณะกรรมการบริหารพรรคในเดือนสิงหาคมว่า ปชป.จะต้องต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาเท่านั้น ส่วนการชุมนุม การเดินขบวนภายนอกเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่ในนามของพรรค ไม่เกี่ยวกับพรรค กรรมการบริหารพรรคเราได้พูดชัดเจน และเราได้พูดถึงเรื่องอย่างเวทีผ่าความจริงว่าการจัดเวทีทางการเมือง หรือการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิ่งที่พรรคดำเนินการได้ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่เอาพรรคออกมาเดินขบวน เพราะการจัดปราศรัยทางการเมืองหรือการจัดการชุมนุมทางการเมืองก็ถือเป็นสิทธิเหมือนกับประชาชนทั่วไป ส่วนการไปร่วมกับองค์กรพลังมวลชนอื่นๆ ในการชุมนุมหรือไม่เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล จะต้องไม่นำพรรคเข้าไปเกี่ยวข้อง

@ คุณอลงกรณ์คิดว่าการต่อสู้ในสภาน่าจะเป็นแนวทางของพรรคมากกว่าการออกมาคัดค้านนอกสภา

เป็นจุดยืนของประเทศนี้ด้วย ไม่ว่า ปชป.หรือพรรคเพื่อไทย (พท.) กลุ่มพลังมวลชนใดๆ จะต้องให้การยอมรับว่ารัฐสภานั้น คือ ศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา ศูนย์กลางของการตัดสินใจของประเทศนี้และ ปชป.ต้องเป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองในอดีต จะต้องไม่มี 2 ขา จะต้องมีเพียงขาเดียว นั่นคือการต่อสู้ในระบบรัฐสภา ส่วนการต่อสู้นอกรัฐสภาก็เป็นและเสรีภาพของประชาชน จะกลุ่มใดก็ตามที่แสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

@ แต่ท่านชวนลงมาคัดค้านนอกสภาด้วยซึ่งเป็นการนำทัพเพื่อยับยั้งกฎหมายที่จะเข้าสภา

ผมกังวลใจต่อเรื่องนี้มาก ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ไปเดินด้วยในเช้าวันนั้น และเมื่อมีคำถามขึ้นมาผมก็บอกว่าผมอยู่ในสภา เพราะผมปฏิบัติตามมติของกรรมการบริหารที่ให้เราต่อสู้กันในระบบรัฐสภาอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันผมคิดว่าการแสดงออกในวันนั้นเป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์ของการไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เกรงว่าจะมีการสอดไส้ หมกเม็ดในชั้นการแปรญัตติ และหวังว่าจะเป็นครั้งเดียว เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและไม่ใช่ในนามของพรรค ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้เกิดความชัดเจน จะได้เห็นว่าแนวทางของพรรคยังยึดมั่นในระบบรัฐสภา

@ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เรียกร้องให้ ปชป.ลาออกจาก ส.ส.มานำมวลชนนอกสภา

ผมคิดว่าเราไม่ได้ตอบรับในเรื่องการลาออก เพราะไม่ใช่วิถีทางการต่อสู้ในระบบรัฐสภาที่เรายึดมั่น แต่ในขณะเดียวกันการที่มีเป้าหมายตรงกันในเรื่องของการต่อต้านการคอร์รัปชั่น การดำเนินงานเพื่อคนบางกลุ่ม บางพวกโดยไม่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นแนวร่วมทางความคิด เพราะฉะนั้น ในขณะนี้พรรคก็ไม่มีแนวคิดที่จะลาออก แต่หากสมาชิกเห็นว่ามติของพรรคนั้นได้กำหนดกรอบไว้ว่าเราจะต่อสู้ในระบบรัฐสภาและให้เป็นสิทธิส่วนบุคคลในการที่จะไปดำเนินการในการต่อสู้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ใดๆ เราก็ไม่ปิดกั้น

ผมคิดว่าในสถานการณ์ขณะนี้มันท้าทายที่จะพิสูจน์จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ทางการเมืองแบบ 2 ขาของ พท.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และเห็นว่าการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วเราจะไปทำผิดซ้ำแบบเดียวกันได้อย่างไร และถ้าเราไปดำเนินการในลักษณะเดียวกันก็จะสร้างความแตกแยกให้กับประเทศนี้รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เราต้องสร้างแบบอย่างที่ดีเป็นต้นแบบเพื่อให้กลุ่มคน พท.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นได้กลับมาสู่แนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและกลับมายึดมั่นในการต่อสู้ระบบรัฐสภา ถ้าเราเปลี่ยนแปลงการเมืองสู่โฉมหน้าใหม่อย่างนี้ก็จะเป็นการต่อสู้ในระบบรัฐสภา ต่อสู้ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริง ถ้าเราแพ้เสียงข้างมากในสภา เราก็ต้องคิดชนะใจประชาชน เพื่อชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า นั่นคือ คิดให้เก่งกว่าแล้วการเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าต่อสู้กันโดยไม่คำนึงถึงวิธีการมันก็จะเป็นกงเกวียนกำเกวียน เป็นประชาธิปไตยแบบกงเกวียนกำเกวียน เป็นการเมืองแบบกงเกวียนกำเกวียน และไม่รู้ว่าอนาคตประเทศจะจบลงที่ตรงไหน

@ ถ้ารัฐบาลชะลอกฎหมายนิรโทษกรรม หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปชป.จะเข้าร่วมตอบรับสภาปฏิรูปในอนาคตหรือไม่

ท่านหัวหน้า ปชป.ได้เสนอข้อเสนอ ซึ่งผมคิดว่าเป็นโอกาสทองก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้ชะลอ ปชป.พร้อมที่จะมามีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อที่จะหาทางออกให้กับ
ประเทศ นั่นเป็นครั้งที่ 1 ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้มีการตอบสนอง ครั้งที่ 2 เมื่อได้มีการเสนอสภาปฏิรูปการเมือง หัวหน้าพรรคก็ได้ผ่อนปรนข้อเสนอดังกล่าวขอเพียงแค่ชะลอ เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาล และถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ปชป.ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีตอบสนองจากฝั่งของรัฐบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คกับมติออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline

นายกฯนัดผบ.เหล่าทัพหารือโผทหาร

ความคืบหน้าในการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2557 โดยมีรายงานข่าวจากนายทหารในพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้ทหารส่วนหนึ่งเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อวิ่งเต้นขอตำแหน่งในการปรับย้ายครั้งนี้ พร้อมกระแสข่าวว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม และพล.อ.มล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งพล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อหารือเรื่องโผโยกย้ายหลังจาก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เสนอชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่

ข่าวแจ้งด้วยว่า พล.อ.นิพัทธ์ ได้รับแรงสนับสนุนจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขณะที่มีรายงานว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต้องการผลักดันให้ พล.อ.จิระเดช ข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เนื่องจากสนิทสนมเป็นการส่วนตัว ส่วนตำแหน่ง ผบ.ทร. นั้น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ยังคงยืนยันจะเสนอชื่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รอง ผบ.ทร. ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีท่าทีปฏิเสธ ทั้งนี้คาดว่านายกฯ จะนัด ผบ.เหล่าทัพประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลในวันที่ 30 ส.ค. นี้


นิวยอร์คไทม์ตีข่าวการเมืองไทย

"นิวยอร์กไทมส์"แนะอียิปต์ยึดแนว"ปูโมเดล"-ยุติรุนแรงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ-ยอมต่อรองเพื่อความสงบ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สื่อชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความชื่อ "อียิปต์จะเรียนรู้จากไทยได้หรือไม่?" เขียนโดยนายโจนาธาน เทปเปอร์แมน บรรณาธิการของนิตยสาร "ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส" ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ

นายเทปเปอร์แมนระบุในบทความดังกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคคลที่สามารถต่อรองกับกลุ่มต่างๆ ในการเมืองไทย และพลิกสถานการณ์จากสภาวะความไม่สงบต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนประเทศไทยกลับมาดำรงเสถียรภาพได้ ต่างจากประเทศอียิปต์ยังอยู่ในวิกฤตวุ่นวายจากการเดินหน้าปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล

นายเทปเปอร์แมนกล่าวว่า ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยเริ่มขึ้นจากรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพ กลุ่มนิยมสถาบัน และกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองที่พยายามพิทักษ์ระบอบ "กึ่งศักดินา" ในไทย กับฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในต่างจังหวัดและเขตเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ

บทความระบุอีกว่า เกิดความวุ่นวายทางการเมืองมาตลอด จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 90 ราย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชนะการเลือกตั้งในปีถัดมา
ซึ่งผลที่ตามมาคือไทยพลิกกลับมาอยู่ในความสงบ เศรษฐกิจเติบโต และการท่องเที่ยวก็คึกคักอีกครั้ง โดยความสำเร็จของน.ส.ยิ่งลักษณ์มาจากการปราบปรามพฤติกรรมทุจริต ต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม
และมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

โดยนายเทปเปอร์แมนมองว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์เริ่มแผนการช่วยเหลือคนจนในประเทศจากการสร้างเสถียรภาพก่อน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีรถคันแรก ขึ้นค่าแรง
ขั้นต่ำ 300 บาท ที่ทำให้ชนชั้นล่างและกลางพอใจ ขณะเดียวกันก็ลงทุนด้านสาธารณูปโภคและลดภาษี เพื่อเอาใจกลุ่มธุรกิจและคนร่ำรวย

"นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยไม่แตะต้องกองทัพซึ่งมีบทบาทในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้พ.ต.ท.
ทักษิณซึ่งเป็นบุคคลที่ชนชั้นสูงต่อต้านกลับมายังประเทศ ไทยเช่นกัน"

ผู้เขียนระบุด้วยว่า การยอมต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้ทำให้อำนาจไม่เป็นประชาธิป ไตยเข้ามาจำกัดบทบาทของรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลก็ยอมให้มีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ด้านครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ต่างไม่พอใจเพราะเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จริงจังในการดำเนินคดีกับผู้สั่งการ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลกระทบที่ย่ำแย่

นายเทปเปอร์แมนวิเคราะห์ว่า แต่สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่มีการต่อสู้กันบนท้องถนน ประเทศไทยก็มีโอกาสพัฒนาประชาธิป ไตยในระยะยาวได้ต่อไป

"ความไม่สมบูรณ์ของการต่อรองครั้งใหญ่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์สะท้อนว่าเป็นการต่อรองที่ดี เพราะแสดงว่าทุกคนรู้สึกว่าตนไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งก็แปลว่าไม่มีใครได้สิ่งที่ตัวเองต้องการทุกอย่าง" นาย
เทปเปอร์แมนระบุ

บ.ก.ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส สรุปว่า ถึงแม้การต่อรองนี้เป็นสันติภาพที่เปราะบาง เพราะอาจเกิดความวุ่นวายได้หากพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับไทย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศเพิ่มพูนขึ้นกว่านี้ แต่ก็ยังดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะเดินหน้าชนกับฝ่ายตรงข้ามท่าเดียว

"แน่นอนว่าการต่อรองนี้มีความยุ่งยากอยู่ แต่ก็เป็นความยุ่งยากที่ประเทศอื่นๆ อย่างอียิปต์ เวเนซุเอลา ซิมบับเว ได้แต่ฝันถึงในขณะนี้" นายเทปเปอร์แมนสรุป

http://www.nytimes.com/2013/08/23/opinion/tepperman-can-egypt-learn-from-thailand.html
/////////////////

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:55 น.  ข่าวสดออนไลน์


"นิวยอร์กไทมส์" ตีข่าวทั่วโลก ชี้ปชป.ละทิ้งอุดมการณ์รัฐสภา - ปลุกระดมหยาบคาย นำม็อบประท้วงข้างถนน

 วันที่ 26 ส.ค. นิวยอร์กไทมส์ สื่อหนังสือพิมพ์ชื่อดังระดับโลกของสหรัฐอเมริกา รายงานบรรยากาศเวที “ผ่าความจริง” ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พร้อมบทวิเคราะห์ของนายโทมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเอเชียของนิวยอร์กไทมส์

 บทวิเคราะห์ที่เขียนโดนนายฟุลเลอร์ชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ละทิ้งแนวทางในรัฐสภา จากที่เคยย้ำว่าจะยึดมั่นในระบอบรัฐสภา และหันมาใช้วิธีปลุกระดมการประท้วงตามท้องถนนแทน โดยอ้างว่าเป็นการเลียนแบบ “อาหรับสปริง” ซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะที่ผ่านมาพรรคนี้มีภาพลักษณ์เป็นพรรคที่มีความสุภาพ ไม่ก้าวร้าว และมีลักษณะเชิงปัญญาชน แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่พยายามจุดชนวนการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากที่เมืองไทยห่างเหินจากบรรยากาศการปะทะกันตามท้องถนนตั้งแต่เหตุการณ์การประท้วงเมื่อปี 2553

 รายงานนิวยอร์กไทมส์ ระบุต่อไปว่า สาเหตุสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์นำการประท้วงในครั้งนี้คือแผนการผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของพรรคเพื่อไทย แต่อีก
สาเหตุหนึ่งคือความรู้สึกไร้ซึ่งอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ หลังพรรคนี้แพ้การเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน จนปูทางให้กลุ่มการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาสู่อำนาจได้อีกครั้ง

 นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังนำพรรคของตนไปสู่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และหัวหน้าพรรคดีกรีระดับออกซ์ฟอร์ดผู้นี้ ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้ โดยเฉพาะประชาชนในเขตภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาและคนยากจน

 รายงานข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ในการชุมนุมเวที “ผ่าความจริง” เมื่อวันที่ 24 ส.ค. มีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากขึ้นเวทีปราศรัย รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย โดยมีการ
ใช้วาจาด่าทอน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างหยาบคาย และมีการปลุกระดมให้โค่นล้มรัฐบาลด้วย

 นอกจากนี้ รายงานของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธกระบวนการปรองดองของรัฐบาล และยังใช้วิธีก่อความปั่นป่วนมาใช้ในรัฐสภาเช่นกัน จนทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถึงกับพาดหัวว่า “อัปยศ”

 อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทมส์ มองว่า ยังไม่แน่ชัดว่าผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถชุมนุมยืดเยื้อเพื่อโค่นล้มรัฐบาลได้ดังที่แกนนำต้องการหรือไม่ เพราะการชุมนุมระยะยาว
ในประเทศไทยเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องเจอกับทั้งสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวหรือพายุฝน อีกทั้งผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากเป็นคนชั้นกลาง ซึ่งผู้ประท้วงส่วนหนึ่งก็ให้สัมภาษณ์ในข่าวว่า ถ้าหากลำบากมาก ก็คงดูทีวีอยู่ที่บ้านดีกว่า

 รายงานข่าวนิวยอร์กไทมส์ ยังได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอลงกรณ์กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ มองว่าพรรคจะไม่มีทางชนะใจประชาชน “ประชาธิปไตยแบบม็อบ” เพราะจะมีแต่สร้างความแตกแยกไม่สิ้นสุด โดยตนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรเร่งปฏิรูปตนเองจะดีกว่า เช่น ใช้ระบบไพรมารีคัดสรรผู้สมัครเลือกตั้งที่ประชาชนต้องการ และเน้นการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนในขณะที่เศรษฐกิจของไทยและประเทศรอบข้างเริ่มส่อเค้าถดถอย

 ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ให้สัมภาษณ์รายงานข่าวนิวยอร์กไทมส์ว่า พรรคประชาธิปัตย์คาดการณ์ความรู้สึกของประชาชนผิดพลาด จึงจุดกระแสไม่ติด นอกจากนี้ นายสมบัติยังแสดงความผิดหวังที่เห็นพรรคประชาธิปัตย์ลงมาเล่นการเมืองบนท้องถนน โดยเปรียบเทียบว่าเหมือนเป็นมาราโดน่าลดตัวลงมาเล่นบอลข้างถนนเสียเอง

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM056VXhNVEEyTmc9PQ%3D%3D&subcatid
//////////////////
The New York Times – International Herald Tribune แพร่ข่าวม๊อบ ปชป.ชี้อภิสิทธิ์ไฮปาร์คแข็งกร้าวหนัก ที่มา : http://www.naewna.com/

26 ส.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาย Thomas Fuller ผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลในสหรัฐ ได้นำเสนอรายงานเชิงข่าว 'Well-Mannered Thai Party Throws Down Its Gloves in Government Protests' โดยระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีชื่อเสียงว่า เป็นพรรคน้ำดี ใช้สติปัญญา ในสายตาของคนชั้นกลางกรุงเทพ และมุ่งมั่นแก้ปัญหาผ่านสภาผู้แทนฯได้ขู่ที่จะ'โค่นล้ม' รัฐบาล ด้วยการระดมผู้สนับสนุนออกมาประท้วงบนท้องถนน โดยนำมวลชนก่อการลุกฮือแบบอาหรับสปริง


พรรคประชาธิปัตย์กับรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ขัดแย้งในเรื่องร่างกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งพรรค ปชป. ถือว่าเป็นการลบล้างความผิดให้แก่ผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งทำผิดกฎหมายอาญาในข้อหาต่างๆ

เขารายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเกิดในอังกฤษ จบการศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ด ได้ถูกกดดันอย่างต่อเนื่องนับแต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 2 ปีก่อน เขาถูกตั้งข้อหาก่อให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 ระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังถูกวิจารณ์ว่า ไม่สามารถเชื่อมโยงกับคนรากหญ้าได้ โดยพรรค ปชป.พ่ายแพ้อย่างยับเยินในภาคอีสาน ซึ่งมีผู้ออกเสียงราว 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

“ในการปราศรัยเมื่อวันเสาร์ นายอภิสิทธิ์ได้ใช้คำพูดแบบตีนติดดิน และแข็งกร้าวขึ้นกว่าแต่ก่อน ขณะที่ผู้ร่วมฟังการปราศรัยต่างตะโกนขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้จัดการประชุมเพื่อปฏิรูปการเมือง ซึ่งพรรค ปชป.บอกปัดคำเชิญเข้าร่วม”


นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า ยังไม่แน่ชัดว่า ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จะอดทนกับการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ท่ามกลางแดดร้อนและฝนตกได้หรือไม่ ผู้ฟังปราศรัยเมื่อวันเสาร์บางรายบอกว่า ตนเองต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ แต่ต้องขอดูก่อนว่าจะสะดวกเข้าร่วมประท้วงหรือไม่