PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องเล่าเช้านี้ มีหนาว..นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ ยอมรับ ผู้ประกอบการสินค้าและบริการเริ่มถอย




maxresdefault

เรื่องเล่าเช้านี้ มีหนาว..นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ ยอมรับ ผู้ประกอบการสินค้าและบริการเริ่มหารือกันแล้ว ว่าจะซื้อโฆษณากับสื่อที่ทำธุรกิจไม่โปร่งใสต่อไปหรือไม่ เหตุขัดต่อหลักการ เผยมีบางรายเริ่มถอดโฆษณาออกบ้างแล้ว แนะช่อง 3เปลี่ยนตัวพิธีกร เพราะผิดที่คน ไม่ใช่ตัวรายการ ย้ำเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด ก็ชี้ชัดว่าสรยุทธทำธุรกิจไม่สุจริตไม่มีจรรยาบรรณ
6f5a2ed4988648938c4f614a32cc83e8
นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างๆ ที่ลงโฆษณาในรายการข่าวของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา  พิธีกรและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด  เริ่มหารือถึงความเหมาะสมในการซื้อช่วงเวลาโฆษณาของรายการแล้วหลายราย และบางส่วนเริ่มถอดโฆษณาในรายการออกแล้ว เพราะมองว่าขัดต่อหลักการของบริษัทในการเลือกพื้นที่สื่อลงโฆษณาที่จะต้องพิจารณาใช้สื่อที่โปร่งใส  ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินมาแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิด ก็เป็นการชี้ชัดแล้วว่า นายสรยุทธกระทำธุรกิจที่ไม่สุจริตและไม่มีจรรยาบรรณ

นางวรรณีกล่าวต่อว่า ระยะยาวต้องรอดูการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ว่าจะยกเลิกรายการหรือเปลี่ยนผู้ดำเนินกรายการหรือไม่ เพราะหากเปลี่ยนแปลง จะส่งผลกระทบต่อความนิยมในตัวรายการ และจำนวนคนดู ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเข้าซื้อช่วงเวลาโฆษณา และหากจำนวนคนดูลดลง ย่อมจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อช่วงโฆษณาอย่างแน่นนอน
“จริงๆบริษัทผู้ที่ซื้อโฆษณา ใส่ใจเลือกซื้อสื่ออยู่แล้ว และจะไม่ยอมซื้อสื่อที่ผิดจรรยาบรรณ จึงต้องรอดูท่าทีของช่อง 3 ว่าจะทำอย่างไร โดยส่วนตัวทองว่าสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการเพราะมันผิดที่คน ไม่ใช่ผิดที่รายการ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับช่อง 3 เองว่าจะตัดสินใจอย่างไร “

มาร์ค จวกรัฐอย่าเหมารวม หัดแยกระบอบทักษิณ ออกจากประชาธิปไตย


“อภิสิทธิ์” ติงรัฐอย่าเหมารวม “ระบอบทักษิณ” กับ “ประชาธิปไตย” เป็นเรื่องเดียวกัน หวั่นหากแยกไม่ออกอาจเข้าทางกลุ่มโหวตโนรธน.เรียกร้องปชต. ชี้ข้อเสนอครม.ทำ “มีชัย” แบกภาระ แนะ กรธ.กำหนดแนวทางช่วงเปลี่ยนผ่านให้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมีความรู้สึกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กับรัฐบาล ไม่ค่อยแยกแยะระบอบทักษิณ กับระบอบประชาธิปไตย เช่น การจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบอบทักษิณ แต่กลายเป็นว่ามีปัญหากับระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นมาถึงช่วงที่กำลังจะทำรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนอยู่ขณะนี้แม้ปรับปรุงไปแล้วบ้าง แต่ก็ถูกวิจารณ์อยู่แล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยจะถดถอยหรือไม่ เพราะตอนนี้มีความเห็นของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีการตีความกันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะข้อ 16 ที่เหมือนว่ามีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรืออำนาจไม่กลับไปสู่ประชาชนอย่างเต็มที่บ้างในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ตนจึงคิดว่าจะยิ่งไปเข้าทางฝ่ายที่เอาประชาธิปไตยมาชูแล้วก็ต้องการเรียกร้อง เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าคสช. กับรัฐบาลไม่ระมัดระวัง คือ ไม่แยกระบอบทักษิณ ออกจากระบอบประชาธิปไตย และเหมาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จะเป็นเรื่องอันตรายและน่าเป็นห่วงมาก เพราะเส้นทางของประเทศต้องเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีกระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่ตัวบุคคล แต่เป็นกลุ่มที่ออกมารณรงค์ เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องแยกคนที่เคลื่อนไหว เพราะมีหลายกลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มก็มีจุดยืนว่า เขาไม่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามาจากรัฐประหาร เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้เขาต่อต้านแน่นอน ดังนั้นเราจะไปคาดหวังว่าจะไม่มีคนกลุ่มนี้มันเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน ตนก็ย้ำมาตลอดว่า ขอให้พยายามปรับปรุงสาระให้ดี พอเดินต่อไปในที่สุดก็ต้องมีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ เกี่ยวกับประชาธิปไตย ต้องยอมรับโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา ทุกยุคสมัยจะมีอุดมการณ์ในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติเขาก็จะโน้มเอียงไปในทางที่เห็นว่า มันไม่ใช่ และอะไรที่ดูย้อนยุค เช่น ข้อเสนอของรัฐบาลซึ่งบางคนก็แปลความว่าเอาแบบปี พ.ศ. 2521 คือ 38 ปีที่แล้ว หรือที่มาพูดว่าจะทำลักษณะของโครงสร้างให้ราชการมาครอบงำในเชิงนโยบาย ซึ่งคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง เขาดูในเชิงของสภาพความเป็นจริงของโลก และการบริหาร เขาก็จะตอบว่ามันไม่ใช่
“การบอกแค่เพียงว่า เดี๋ยวขอให้มีอะไรเปลี่ยนผ่านแล้วมันจะไปสิ้นสุดตรงไหน นั่นเป็นการยกตัวอย่างว่า เอาประเด็นแรกก่อน คือ กลัวคนแพ้ไม่ยอมแพ้ แต่ถามว่า ถ้ากลัวคนชนะ หรือฝ่ายชนะเกเรบ้าง จะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงต้องถามว่ากลไกในรัฐธรรมนูญนั้น คนที่ได้อำนาจไปแล้วจะต้องใช้อำนาจอย่างไรนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)จึงต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะกาล แต่ต้องเป็นเรื่องถาวร ไม่ใช่เขียนแค่เฉพาะกาล ว่าพอพ้นช่วงนั้นไปแล้ว เราจะทำยังไงต่อหรือจะต้องมีอะไรที่จะไปสู่ตรงนั้น แต่วันนี้ข้อเสนอ ครม.กลับเป็นประเด็นที่มีการจุดกระแสขึ้นมาว่า เป็นเรื่องประโยชน์ส่วนตัว หรือสืบทอดอำนาจ หรือไม่ ภาระจึงไปตกหนักอยู่กับท่านประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มา : มติชน http://www.matichon.co.th/news/55152

‘จาตุรนต์’ ชี้ ช่วงเปลี่ยนผ่าน5ปี ของ ‘บิ๊กตู่’ จะพาประเทศไทยถอยหลัง40ปี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศน่าจะมีกลไกรับมือกับวิกฤติช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปีนั้น

นายจาตุรนต์ระบุว่า ติดตามข่าวพล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแล้ว ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ต้องการอะไร
พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าให้มองแผนระยะยาว 20 ปี แผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี ต้องมีไกด์ตรงนี้ แต่ถามว่าต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ มันก็ต้องมีและต้องมีอะไรซักอย่างควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งมีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็นส.ว.หรือใครก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ คือกลไกที่จะประเมินเท่านั้นเอง
พล.อ.ประยุทธ์บอกต่อว่าถ้าไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ โดยการเปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำนี่ทำนู่น แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่าก็ไม่รู้…ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ ถึงเวลาสถานการณ์ปกติกลับมา ทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้าต้องเกิดความมั่นใจให้เรา
พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่ใช่สองขยัก แต่ความจริงแล้วพล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่าที่ว่า 2 ขยักนั้นแปลว่าอย่างไร ฟังทั้งหมดแล้วก็ทำให้นึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่เคยทำแบบ 2 ขยักมาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เช่น ให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้และส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่ก็ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีและให้ส.ว.มีอำนาจอย่างจำกัด เหมือนกับว่าเมื่อประชาชนไปเลือกตั้งแล้วจะสามารถเลือกรัฐบาลตามที่ต้องการได้
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในมาตราท้ายๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้บัญญัติสาระที่แตกต่างอย่างสำคัญ จากที่บัญญัติไว้ในตอนต้น คล้ายกับเป็นบทเฉพาะกาลโดยให้ใช้ไปเป็นเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งสมาชิกที่วุฒิสภาซึ่งก็คือ วันเดียวกับวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง
เนื้อหาสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน 4 ปีนั้น ก็คือ การกำหนดให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดนั้นมีอำนาจที่จะประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายสำคัญสำคัญเช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติสำคัญอื่นๆ รวมทั้งร่างพระราชกำหนดและยังสามารถร่วมประชุมในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย
การกำหนดไว้อย่างนี้ก็เท่ากับทำให้ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด ‘ความเป็นความตาย’ ของรัฐบาล หรือพูดง่ายๆ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ย่อมขึ้นกับวุฒิสภานั่นเอง
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มีผลตามที่มีการออกแบบไว้ คือ ทำให้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันมาอีกมากกว่า 4 ปี ตามที่บัญญัติไว้ เพราะก่อนจะครบกำหนด 4 ปีก็มีการยุบสภาเสียก่อน ทำให้กติกาในการเลือกตั้งและอำนาจของวุฒิสภาที่มีผลต่อการตั้งรัฐบาลยังคงใช้บังคับอยู่
นี่เอง คือ ระบบที่เรียกกันว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’
ความจริงระบบอย่างนั้นไม่ควรเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบด้วยซ้ำ เพราะมีความเป็นเผด็จการอยู่มาก แต่สาเหตุที่ระบบอย่างนั้นสามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานานโดยไม่มีการต่อต้านคัดค้านที่รุนแรงเท่าใดนัก เป็นเพราะสังคมไทยในด้านหนึ่ง เพิ่งผ่านการเผชิญกับความคิดที่จะปกครองแบบเผด็จการสุดโต่งเป็นเวลานานถึง 12 ปี อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งผ่านความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ และอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าประเทศไทยจะล้มไปตามทฤษฎีโดมิโนด้วย
แต่ถึงกระนั้น ‘ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ก็ไม่อาจอยู่ยงคงกระพันตลอดไป ในที่สุดประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะระบบรัฐสภาและบทบาทของพรรคการเมืองไปได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในเวลาต่อมาถูกรัฐประหาร รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ก็ถูกประชาชนต่อต้านคัดค้าน จนในที่สุดบ้านเมืองก็ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และพัฒนาต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลานานหลายปี
จากปี 2521 ถึงวันนี้ โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยเองก็มีพัฒนาการมามาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนพยายามทำให้ประเทศต้องถอยหลังไปเกือบครึ่งศตวรรษ
แต่ก็อย่าแปลกใจ ถ้าคณะกรรมการร่างชุดปัจจุบันจะไปเปิดกรุเอาแนวความคิดที่เคยใช้กันเมื่อ 40 ปีก่อน มาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้ที่เข้าใจกระบวนการที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน เนื่องจากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มากับมือ ทั้งยังเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมากที่สุดคนหนึ่งด้วย
มาวันนี้ เป็นข่าวว่า ท่านประธานคนเดียวกับที่ถามท่านรองวิษณุ ‘บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา ทำยังไง’ มาจับเข่านั่งคุยกัน 2 ชั่วโมง จนเข้าใจตรงกัน
เพื่อพาประเทศ ‘ถอยหลัง’ ไป 40 ปี ???

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/49401

นิธิ เอียวศรีวงศ์: นายกฯ คนนอก

นิธิ เอียวศรีวงศ์: นายกฯ คนนอก



จริงที่ว่า การเปิดให้ “คนนอก” (ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.) สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ มิได้ขัดแย้งกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างไร รัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยหลายแห่ง ก็มิได้บัญญัติห้ามเอาไว้
เมื่อมีผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ชนชั้นนำในอดีตมักจะชี้แจงว่า ไม่เหมาะสมหรือยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ชนชั้นนำในปัจจุบันถึงกับกล่าวว่าทำไมต้องไปตามก้นฝรั่ง จนดูประหนึ่งว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสมบัติทางชาติพันธุ์ผิวขาว (หรือบางคนก็บีบให้แคบลงเป็นแค่แองโกล-แซกซอน) ที่ผิวสีอื่นไม่ควรเอาอย่าง แต่ครั้นคนชี้ว่าข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญไทยที่ปล่อยให้ “คนนอก” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารได้ ไม่เป็นประชาธิปไตย ชนชั้นนำก็กลับชี้ว่าประชาธิปไตยผิวขาวก็ไม่ได้ห้ามเอาไว้ จึงไม่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย
คนไทยจึงไม่รู้ว่า เมื่อไรจึงควรหรือไม่ควรตามก้นฝรั่ง ต้องรอให้ชนชั้นนำสั่งอีกทีหนึ่ง
และนี่คือประชาธิปไตยแบบไทย
เพื่อให้ประชาธิปไตยพ้นจากสีผิว และไม่จำเป็นต้องตามก้นใครทั้งนั้น ไม่ว่าฝรั่งหรือชนชั้นนำ ผมคิดว่าเราควรมีความชัดเจนว่า อะไรคือหลักการของประชาธิปไตย ซึ่งควรมีลักษณะเป็นสากล และอะไรคือแบบปฏิบัติตามหลักการนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกสังคมประชาธิปไตย เพราะอาจปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละสังคมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการ
ผมคิดว่าหลักการที่ขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย และมีความเป็นสากล ต้องประกอบด้วย
1. มีหลักประกันที่มั่นคงแข็งแกร่ง ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งสิทธิเสรีภาพ, เสมอภาพ, และภราดรภาพ ให้แก่พลเมืองทุกคน หลักประกันที่มั่นคงของสามสิ่งนี้ จะช่วยให้รัฐถูกควบคุมได้ การควบคุมรัฐให้ได้มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่ เพราะรัฐในโลกสมัยใหม่มีอำนาจมาก และอาจแทรกเข้าไปรังควานพลเมืองได้แทบจะในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะแต่เรื่องเก็บภาษีเพียงอย่างเดียวเหมือนรัฐโบราณ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐชาตินั้น นอกจากมีคุณในหลายด้านแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายมหันต์แก่มนุษยชาติได้ พลเมืองจึงต้องมีกลไกที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพในการควบคุมรัฐ เช่นฝ่ายบริหารต้องมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน และต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจเลือกของพลเมือง (เลือกกลุ่มบุคคล, เลือกนโยบาย, เลือกวิธีการบริหาร) โดยตรง
2. อำนาจทุกอย่างในระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล คืออำนาจอื่นอาจตรวจสอบ และถ่วงดุลการตัดสินใจของอำนาจนั้นๆ ได้ นอกจากอำนาจในระบบแล้ว ยังมีอำนาจทางสังคมซึ่งเป็นอำนาจของพลเมือง ก็สามารถตรวจสอบอำนาจอื่นได้ด้วย อาจจะผ่านองค์กรอิสระ, ผ่านการพินิจของสื่อ, ผ่านงานวิชาการ, ผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ค่อนข้างเป็นอิสระในระดับหนึ่ง, ผ่านการลงประชามติ และผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นหัวใจหลักที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตย และต้องมีความหมายกว้างกว่าการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยสามฝ่าย
3. ที่สุดถึงที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักการสำคัญของประชาธิปไตยย่อมรวมหลักที่ว่า มติของประชาชนคือคำตัดสินเด็ดขาด อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่งที่ยังยืนยันเช่นนั้น
นี่เป็นหลักการที่ชนชั้นนำไทยรับไม่ได้ที่สุด นับเป็นเวลากว่า 100 ปีที่ความคิดประชาธิปไตยเริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศไทย ชนชั้นนำเฝ้าตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของ “เสียงข้างมาก” เสมอมา ในระยะแรกก็เพียงแต่ชี้ว่าเสียงข้างมากยังไม่พร้อม ครั้นในเวลาต่อมาก็อ้างว่า หากเมืองไทยมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงมีแต่สมาชิกที่เป็นพ่อค้าเจ๊กจีน ซึ่งพอใจจะหากำไรใส่ตัวมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้ที่เคยเป็นข้าราชการระดับกลาง ซึ่งเป็นพวกกึ่งดิบกึ่งสุก (น่าประหลาดที่ใช้สำนวนฝรั่งเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำไทย) มีความรู้ความชำนาญไม่พอจะบริหารบ้านเมืองได้
และในท้ายที่สุด “เสียงข้างมาก” ของนักคิด กปปส.คือชาวบ้านนอกที่ไร้การศึกษา ไม่มีความสามารถในการเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศได้
นักวิชาการที่สนับสนุน กปปส.ยังเห็นด้วยว่า ระบบเลือกตั้งของระบอบประชาธิปไตยนั่นแหละคือตัวปัญหา เพราะเสียงข้างมากย่อมยกอำนาจให้แก่ใครก็ได้ที่สัญญาจะให้ผลตอบแทนทางวัตถุแก่ตนได้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลเสียด้านการคลัง หรือเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศเลย
นโยบายที่ทำความพอใจแก่เสียงข้างมากกลายเป็นนโยบาย “ประชานิยม” การทำความนิยมแก่ “ประชา” กลับเป็นความบกพร่อง ความคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนทฤษฎีของ กปปส.ว่าคนไม่เท่ากัน “ประชา” หรือเสียงข้างมากคือเด็กที่ไม่ควรตามใจมากนัก นโยบายที่สร้างความพอใจแก่เสียงข้างมากจึงเป็นนโยบายที่ดีไปไม่ได้ ตรงกันข้ามกับนโยบายที่สร้างความพอใจให้แก่เสียงข้างน้อย อันประกอบด้วยดอกเตอร์ของสถาบันทางวิชาการต่างๆ เพราะพวกเขามีคุณภาพสูงกว่าคน ส่วนใหญ่
ทั้งหมดนี้ยังตั้งอยู่บนข้อสรุปที่ปราศจากการสำรวจอย่างจริงจังด้วยว่า นโยบายของเสียงข้างน้อยที่รักชาติ, เสียสละ, และทรงภูมิความรู้ ย่อมไม่ผิดพลาด หากลงมือสำรวจอย่างจริงจังจากทั่วโลก ก็จะเห็นได้ว่าเสียงข้างน้อยที่อ้างคุณสมบัติดังกล่าวนำความพินาศมาสู่บ้านเมืองมาหลายประเทศ และหากสำรวจไทยบ้าง ก็จะพบว่ากรณีไทยก็ไม่ต่างจากเขาอื่น เสียงข้างน้อยซึ่งเป็นผู้นำไทยเคยขัดขวางการเข้าสู่ความทันสมัยตามครรลองที่ควรเป็น เพื่อรักษาโครงสร้างทางสังคมตามประเพณีเอาไว้ เคยใช้เงินจนเกลี้ยงท้องพระคลังเพื่อสร้างความโอ่อ่าหรูหราให้แก่ตนเองและพรรคพวก เคยนำประเทศเข้าสู่สงครามกับฝ่ายอักษะจนแทบจะทำให้ประเทศไทยเกือบถูกยึดครองหลังสงคราม ฯลฯ
ที่สำคัญกว่าการดำเนินนโยบายผิดพลาด ซึ่งเกิดในระบอบที่เคารพเสียงข้างมากก็ได้เหมือนกันคือ ในระบอบประชาธิปไตย นโยบายที่ผิดพลาดจะถูกต่อต้านท้วงติงโดยเปิดเผยในเวลาต่อมา ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม จนกระทั่งในที่สุด เสียงข้างมากก็จะเลิกสนับสนุนนโยบายที่ผิดพลาดนั้น นโยบายก็จะถูกแก้ไขปรับปรุง ระบอบที่เคารพเสียงข้างมากก็คือ มันแก้ไขตัวมันเองได้ ในขณะที่ระบอบเสียงข้างน้อยเป็นใหญ่ จะแก้ไขได้ก็ต้องรอให้ระบอบนั้นพังลง หรือใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ส่วนรวมเลย
4.จะชอบหรือไม่ก็ตาม สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยวางอยู่บนปัจเจกบุคคล (เพราะรัฐชาติถูกสร้างขึ้นมาจากการรวมปัจเจกบุคคลไว้ภายใต้อำนาจรัฐเดียวกัน) นี่อาจเป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งระบอบอื่นที่อยากมีอำนาจในรัฐชาติก็ไม่มีทางเลี่ยงเหมือนกัน (แต่ก็มักใช้จุดอ่อนนี้โจมตีประชาธิปไตย) ประชาธิปไตยยอมรับจุดอ่อนอันนี้ด้วยการแก้ไขปรับปรุงในทางปฏิบัติ คือยอมรับสิทธิของ “กลุ่ม” ในรูปต่างๆ เช่น สิทธิชุมชน, สิทธิของการรวมกลุ่มฟ้องร้องคดี (class action) ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างให้เหมาะกับคดีประเภทนี้, ความเคลื่อนไหวที่แสดงทรรศนะของกลุ่มต้องได้รับความเคารพ (เช่นการประท้วง, การเรียกร้องผ่านสื่ออย่างหนาตา, เสียงโจษจัน, ศิลปกรรมเชิงประท้วงที่ได้รับความใส่ใจจากมหาชน) ฯลฯ
ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่ขัดขวางการแสดงเจตจำนงที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม แม้จำเป็นต้องให้ผ่านกระบวนการที่นับรายหัวเป็นตัวบุคคล เช่นการหาเสียงเลือกตั้งหรือการลงประชามติ คือการรวบรวมความเห็นของปัจเจกบุคคลให้กลายเป็นความเห็นของกลุ่ม นอกจากนี้ประชาธิปไตยไม่ขัดขวางการรวมกลุ่ม จะชุมนุมกันเกิน 5 คนสักเท่าไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
กลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพของพลเมืองคู่กันไปกับปัจเจกบุคคล แต่เมื่อไรที่ต้องนับหัว ก็ต้องนับหัวปัจเจกบุคคลเสมอ รัฐจะขีดเส้นคนให้เป็นกลุ่มเองไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงปัจเจกบุคคลย่อมเปลี่ยน “กลุ่ม” หรือสังกัด “กลุ่ม” มากกว่าหนึ่งเสมอ เช่นรัฐจะกำหนดว่าคนในอาชีพนี้ถือเป็นกลุ่ม ย่อมมีสิทธิเลือกผู้แทนของ “กลุ่ม” ให้เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งหมดไม่ได้ ผู้แทนของประชาชนต้องเลือกจากปัจเจกบุคคลเสมอ ทำนองเดียวกับที่รัฐจะบอกให้ทหารทั้งหมดเลือกเบอร์อะไรก็ไม่ได้ เพราะในขณะเลือกตั้ง ทหารเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม แม้ความเห็นทางการเมืองของเขาถูกกล่อมเกลามาจนเหมือนกันทั้งกลุ่ม แต่เขาเลือกผู้แทนในฐานะปัจเจกบุคคล รัฐจึงมีหน้าที่ประกันว่าเขาอาจใช้สิทธิเสรีภาพของเขาในฐานะปัจเจกบุคคลได้โดยไม่ถูกบังคับควบคุมจากกลุ่ม
หลักการของประชาธิปไตยสี่ประการนี้เป็นหลักการสากล รูปแบบการปกครองและรูปแบบการบริหารจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ “เนื้อดิน” ของแต่ละสังคมซึ่งไม่เหมือนกัน
เช่นการเลือกตั้งที่จะทำให้เสียงส่วนข้างมากได้อำนาจในการตัดสินขั้นสุดท้าย มีได้หลายวิธี และพึงเลือกใช้ให้เหมาะกับเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละสังคม แต่จะเลือกอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทำลายหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เช่นเปิดช่องให้เสียงข้างน้อยเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง
การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน จะวางให้สลับซับซ้อนหรือตรงไปตรงมาก็ตาม แต่อำนาจที่อาจตรวจสอบถ่วงดุลได้ต้องยึดโยงกับประชาชนโดยตรง และขอย้ำในที่นี้ว่า “โดยตรง” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลโดยเปิดให้คนบางกลุ่มมีอำนาจเหนือคนทั่วไป เลือกสรรกันเองเข้ามาทำหน้าที่นี้ ย่อมไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย จักรพรรดิจีนก็มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลมากว่าพันปีแล้ว แต่นั่นไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุลของระบอบประชาธิปไตย
นายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน จะเป็น “คนนอก” ก็ได้ ไม่ผิดหลักการของประชาธิปไตย ตราบเท่าที่เขายังถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างอิสระจากองค์กรและสังคมอยู่ แต่นายกฯ “คนนอก” มีความเหมาะสมกับ “เนื้อดิน” ของสังคมไทยหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูจากประสบการณ์ทางการเมืองของไทยในอดีต
รัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่ฉบับแรก ไม่เคยกำหนดว่านายกรัฐมนตรี (หรือประธานของคณะกรรมการราษฎร) ต้องเป็น ส.ส.มาก่อน จนกระทั่งได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 หลังจากได้เกิดเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535 แล้ว รัฐสภาจึงได้ผ่านมติแก้ไขรัฐธรรมนูญบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. อันเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญ 2540 รับเอาไป
ตลอดเวลาที่ไม่ได้กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. (ไม่นับช่วงที่ประเทศตกอยู่ใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร หรือไม่มีรัฐธรรมนูญ) เรามีนายกรัฐมนตรีหลายคนที่อยู่พ้นออกไปจากการตรวจสอบถ่วงดุลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และของสังคม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2481-87 เป็นผู้บัญชาการกองทัพไทย (ผบ.สส.ในสมัยหลัง) อำนาจทางทหารของท่าน เป็นสิ่งที่ไม่แต่คณะราษฎรเท่านั้นที่ต้องพึ่ง หากรวมถึงระบอบรัฐสภาไทยทั้งหมดนั่นแหละต้องพึ่ง เพื่อป้องกันการต่อต้านการปฏิวัติของกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งกระทำกันหลายรูปแบบทั้งอย่างสะอาดและอย่างโสมม แม้กระนั้นพรรคฝ่ายค้านในสภาซึ่งมีจำนวนน้อยก็ยังพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ จอมพล ป.เลี่ยงไปบริหารด้วยพระราชกฤษฎีกาแทนการออกเป็น พ.ร.บ.ในหลายเรื่อง สื่อมวลชนที่คัดค้านนโยบายหลายสำนัก ถูกรัฐบาลบีบเจ้าของให้เปลี่ยนกอง บก. หรือแทรกแซงสื่อ
หลังรัฐประหาร 2490 อำนาจเถื่อนของคณะรัฐประหารทำให้รัฐบาลไม่ถูกใครตรวจสอบถ่วงดุลได้เลย อดีต รมต., นักการเมืองฝ่ายค้าน, ผู้นำของชาวมลายูมุสลิม ถูกสังหารอย่างอุกอาจ สภาวะตรวจสอบไม่ได้นี้ยังดำรงสืบมาจนปลายยุคจอมพล ป. เมื่อกลุ่มผู้มีอำนาจแตกร้าวจนเป็นที่รู้ทั่วกันไปแล้ว จอมพล ป.จึงต้องเปิดเสรีสื่อและการชุมนุมของประชาชน เพื่อคานอำนาจคู่แข่ง
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ คนนอกสืบเนื่องกันถึง 8 ปีก็เช่นกัน พลเอกเปรมเป็นท่อ (conduit) ต่ออำนาจนอกระบบทั้งจากกองทัพและองค์กรอื่นๆ เข้ามากำกับควบคุมการเมืองไทย และด้วยเหตุดังนั้น พลเอกเปรมจึงอยู่พ้นออกไปจากการตรวจสอบของระบบและสังคม แม้แต่สภาจะเปิดอภิปรายทั่วไปยังทำไม่ได้ ไม่พูดถึงสื่อซึ่งหากล้วงลึกนัก กอง บก.ก็อาจได้รับคำเตือน หรือคำแนะนำให้เปลี่ยนนักข่าวหรือคอลัมนิสต์คนนั้นไปเสีย
การมีนายกรัฐมนตรีที่ใครๆ นับตั้งแต่พรรคการเมืองไปถึงสังคมในวงกว้างไม่อาจตรวจสอบถ่วงดุลได้นั่นแหละ ขัดกับหลักการประชาธิปไตยโดยตรง
ในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของไทย ซึ่งชนชั้นนำยังสงวนอำนาจไว้มาก จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่นายกฯ คนนอกจะต้องเป็นท่อต่ออำนาจของชนชั้นนำเข้ามากำกับควบคุมการเมือง (โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย) การพูดว่าการมีนายกฯ คนนอกไม่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย จึงไม่มีความหมายอะไร เพราะพูดโดยไม่มีบริบท หากนำมาใช้กับเมืองไทยซึ่งมีบริบททางการเมืองที่เอื้อให้ชนชั้นนำลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็อาจทำให้สูญเสียหลักการประชาธิปไตยไปได้
แม้เป็นคำพูดที่ไม่ผิด แต่ก็ถูกเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งที่เหลือก็คือ แม้บังคับให้นายกฯ ต้องไม่เป็นคนนอก ก็หาได้ขัดกับหลักการประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน
ที่มา: มติชนออนไลน์

ใบตองแห้ง: หัวโค้งอำนาจ

ใบตองแห้ง: หัวโค้งอำนาจ



การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มด้วยทักษิณ ชินวัตร ขย่มร่างรัฐธรรมนูญ ตามด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เรียกร้องให้ คสช.รีบสละอำนาจจัดเลือกตั้งในปีนี้ ปิดท้ายด้วยตำรวจออกหมายเรียก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตคนสนิทประธานองคมนตรี แชทไลน์กล่าวหาพลเอกซื้อขายตำแหน่งตำรวจ
อ้อๆ ยังมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร บอกว่ากรณีราชภักดิ์จบแล้ว สตง.ก็บอกว่าจบ แต่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ยืนยันยังไม่จบ
นายกรัฐมนตรีประกาศเสียงดังฟังชัด ร่างรัฐธรรมนูญควรขยักอำนาจพิเศษอีก 5 ปี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นงง ถกเครียดกับวิษณุ เครืองาม ร่วม 2 ชั่วโมง แม้ยังไม่รับปากแก้ให้ตามต้องการ แต่หลายฝ่ายก็ฮือออกมาต้าน ไม่ต่างจากร่าง คปป.ของบวรศักดิ์ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อนหน้านี้แบะท่าจะรับร่าง “ปราบโกง” เพราะแพ้เลือกตั้งก็ยังพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ล้มรัฐบาลได้ พอบอกจะยืดอำนาจพิเศษออกไป กษิต ภิรมย์ ก็สวนทันที “อยู่ 2 ปีไม่มีผลงานยังคิดจะอยู่อีก 5 ปี”
สถานการณ์วันนี้เห็นชัดแล้วว่าประเทศ The World’s Happiest Economy (แต่ส่งออกติดลบ 8.9%) ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก กำลังร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับอากาศร้อนและน้ำแล้ง โดยอาจแบ่งเป็น 2 พีเรียดคือ จากนี้ไปถึงปลายเดือนมีนาคม ที่ กรธ.จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญคือ กรธ.จะแก้ไขให้ตามที่ ครม. (คสช.นั่นแหละ) เรียกร้องต้องการหรือไม่
ถ้าไม่ คสช.จะทำอย่างไร จะยอมรับร่างไปลงประชามติตามนั้น หรือจะคว่ำร่าง? คว่ำอย่างไร รัฐธรรมนูญ 2557 ที่แก้ไขครั้งล่าสุดก็ไม่บอกไว้ว่าคว่ำวิธีไหน ไม่เหมือนร่างบวรศักดิ์ที่บอกให้ สปช.ลงมติ แล้วถ้าคว่ำร่าง จะตอบคำถามสังคมอย่างไร จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร ฯลฯ คว่ำได้ไม่คุ้มเสีย แถมผิดใจกับปู่มีชัย
ถ้า กรธ.แก้ให้ เขียนอำนาจเฉพาะกาลขยักไป 5 ปี กระแสต้านก็ยิ่งร้อนแรง ประเด็นสำคัญไม่เพียงคว่ำ-ไม่คว่ำ แต่ยังจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจ ใช้ระบบราชการ ใช้กฎหมาย ซึ่งจะมีคำถามว่าใช้อย่างเป็นธรรมหรือไม่ ฝ่ายรณรงค์คัดค้านจะถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกปรับทัศนคติสักกี่คน
แค่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมจะจัดเสวนารัฐธรรมนูญ ก็ถูกห้ามจนย้ายที่ 2 ครั้งซ้อน ขณะที่ทหารพา รด.ไปเดินรณรงค์ตามชุมชน
รัฐบาล คสช.อยู่มานานเกือบ 2 ปี ไม่ใช่แค่เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่คัดค้าน แต่การใช้อำนาจยังกระทบคนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่คนระดับนำด้วยกัน มาถึงพระ มาถึง NGO ที่เคยไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เกิด “เครือข่ายทวงคืนผังเมือง” เคลื่อนไหวค้านคำสั่ง คสช. ขณะที่รัฐบาลยังจะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง จะฟื้นเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งคง “เชิญแขก” ได้อีกเยอะ
เศรษฐกิจที่ตีปี๊บกันมา เจอของจริงส่งออกเดือนมกราคมติดลบ 8.9% สภาพัฒน์ปรับลดเป้าจาก 3.0-4.0 เป็น 2.8-3.8 (เดี๋ยวก็ลดอีก) “ทีมสมคิด” เริ่มสิ้นมนตร์ คิดได้แค่ขึ้นภาษี ขณะที่ภัยแล้งกำลังจะมา ภัยแล้งโทษรัฐบาลไม่ได้นะครับ แต่ต้องเข้าใจว่าเวลายากลำบาก ผู้คนจะเกี่ยงงอนและจ้องจับผิดกัน ยกตัวอย่างเงินตำบลละ 5 ล้าน ได้ช้าได้ไม่ครบได้อานิสงส์ไม่ทั่วถึง ฯลฯ ชาวบ้านก็จะบ่นขรม
หัวโค้งอำนาจ สารพัดการเคลื่อนไหวจะประดังในช่วง 1+4 เดือนต่อไปนี่แหละ

ทหารโผล่สมัคร 'เลขาธิการ กกต.' ปัดนายหรือคสช. ส่งมา

ทหารโผล่สมัคร 'เลขาธิการ กกต.' ปัดนายหรือคสช. ส่งมา

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่าจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดรับสมัครเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่างวันที่ 8 ก.พ. – 7 มี.ค. นี้ แทนนายภุชงค์ นุตราวงศ์ ที่ถูกเลิกจ้าง ในวันนี้ (29 ก.พ.) ก่อนปิดทำการในเวลา 16.30 น. ได้มีบุคคลเดินทางมายื่นสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กกต.เป็นคนที่สอง คือ พล.อ.เดชา ปุญญบาล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยการเดินทางมายื่นใบสมัครของ พล.อ.เดชา มีทีมงานของ กกต.มาช่วยดูแลและให้กำลังใจ
พล.อ.เดชา กล่าวถึงเหตุผลการยื่นสมัคร ว่า เนื่องจากการทำงานของตนในช่วงที่ผ่านมาจะอยู่ในต่างจังหวัดตามแนวชายแดน ต้องพบปะกับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งคนเหล่านี้จะขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของชาติ และกลายมาเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คิดว่าจะทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ รวมทั้งเคยทำงานถวายพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อการเข้าควบคุมอำนาจโดย คสช. ก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน กลุ่มการเมืองต่าง ๆ จนนำมาสู่การมีข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ
“จากการทำงานเหล่านี้ทำให้คิดว่ากลไกการเลือกตั้ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง เพราะถ้าเรามีระบบเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีความเป็นธรรม ก็จะคัดกรองให้ได้คนดี ซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศและทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ และขอปฏิเสธว่าการยื่นสมัคร ไม่ใช่เป็นเพราะนาย หรือ คสช. ส่งมาให้มายื่นใบสมัคร ผมมีความรักในงานที่ทำ และเห็นว่าหน้าที่การเป็นเลขาธิการ กกต.จะสามารถสานต่ออุดมการณ์ที่มีได้ อีกทั้งเป็นนักศึกษาเข้าอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของสำนักงาน กกต. ทำให้รู้สึกอินกับงานการเลือกตั้งด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเห็นว่ามีคุณสมบัติเพียงพอและพร้อมที่จะให้โอกาสในการเข้ามาทำงานหรือไม่” พล.อ.เดชา กล่าว
สำหรับ พล.อ.เดชา เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของ คสช. และเป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม นับแต่เปิดรับสมัครเลขาธิการ กกต. จนถึงวันนี้ (29 ก.พ.) มีผู้สมัครแล้ว 2 คน คือ นายประวิง คชาชีวะ อดีตรองเลขาธิการ กกต. และ พล.อ.เดชา
ภุชงค์ ฟ้องศาลปกครอง กกต.เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
วันเดียวกัน (29 ก.พ.59) สำนักข่าวไทย ยังรายงานด้วยว่า ที่ศาลปกครอง  เวลา 9.00 น. นายภุชงค์ อดีตเลขาธิการ กกต. พร้อมด้วยบุตรชาย เดินทางเข้ายื่นคำฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครอง จากกรณีคณะกรรมการ กกต. มีมติเลิกจ้าง  และให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา
นายภุชงค์ กล่าวว่า  มติดังกล่าวของคณะกรรมการ กกต. มีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีมติเลิกจ้างและให้มีผลในวันเดียวกันเลย  ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม  จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติ กกต.ดังกล่าว   และจ่ายเงินเยียวยาในส่วนของเงินประจำตำแหน่ง และเงินเดือนในช่วงเวลาที่เหลือตามสัญญาจ้าง
 
“ยืนยันว่าไม่ต้องการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.อีก แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบ และพิสูจน์ที่ศาลว่า มติดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่” นายภุชงค์ กล่าว และว่า ส่วนคดีหมิ่นประมาทที่คณะกรรมการ กกต.ฟ้องรวม 6 คดีนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน แต่ก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่พูดไป และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้เป็นการกล่าวหาใคร ซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล
 
ต่อกรณีที่มีข่าวว่า สำนักงาน กกต. มีปัญหาเรื่องงบประมาณนั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า  ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์  อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549  กกต.ของบประมาณต่อสำนักงบประมาณ แต่ไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ จึงต้องใช้งบสะสมที่มีอยู่ ทั้งการแก้ปัญหาและการดำเนินโครงการต่างๆ ของ กกต.
 
ส่วนที่เจ้าหน้าที่ กกต.มองว่าปัญหาเรื่องงบประมาณของกกต.เกิดจากการบริหารงบประมาณที่ผิดพลาดนั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า ก็ต้องไปดู เพราะการบริหารงานของ กกต.แต่ละชุด จะมีหลักในการพิจารณาการขยายตำแหน่งแตกต่างกันไป
 
“ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ กกต.ตั้งใจทำงาน เพราะขณะนี้มีงานสำคัญอย่างประชามติที่ต้องทำ ซึ่งจะเหมือนในปี 2542 ที่สำนักงาน กกต.ไม่มีงบประมาณเลย แต่ก็ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้” นายภุชงค์ กล่าว 

นายกฯไม่แถลง ครม.


นักข่าวสายทำเนียบฯ วันนี้ เจอกลยุทธ์ ลับลวงพราง ของ นายกฯ บิ๊กตู่ ...หลังประชุม ครม.-คสช. 2 ชม.เศษๆ ตอนเช้าถึงเที่ยง แล้วประชุม ครม.ต่อถึง 15.35 น. โดยก่อนหน้านั้น ครึ่งชม. จนท.ทำเนียบฯ มาแจ้งให้นักข่าว ไปรอในห้องแถลงข่าว ตึกสันติไมตรี โดยแจ้งว่า นายกฯ จะมาแถลงข่าว แต่พอประชุม ครม. เสร็จ นายกฯไม่ยอมเดืนเข้าห้องแถลง ไม้ยอมแถลงข่าว แต่เดินขึ้นตึกไทยฯไปเลย นักข่าว วิ่งอ้อมมา ก็ไม่ทัน นายกฯบอก ตอนเดินขึ้นตึกฯ แค่ว่า "ไปรอฟังแถลง" ของทีมโฆษกฯ......โอ้วววว !!!

ผบ.ทบ.สั่งทหารเตรียมตัวไปลงประชามติ รธน.




"พลเอกธีรชัย" สั่งทหาร เตรียมไปลงประชามติ และเชิญชวน ทำความเข้าใจ ประชาชน ร่างรธน.-ลงประชามติ/สั่ง อำนวยความสะดวก รด.จิตอาสา ไปพบปะประชาชน ชี่แจง ร่าง รธน.-ประชามติ/ คสช.เดินหน้าบรรเทาภัยแล้ง มอบ กกล.รส.ช่วยดูแลแหล่งท่องเที่ยวให้ปลอดภัยได้มาตรฐานตามกฎหมาย พร้อมเร่งตรวจสอบการใช้แรงงานผิดกฎหมายในพื้นที่ติดทะเล ส่วนจัดระเบียบสังคมมุ่งนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผบทบ.และ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ท และ ประชุม ผบ.หน่วยขึ้นตรง กองทัพบก
พลเอกธีรชัย ได้สั่งการให้กองทัพ สนับสนุน ภารกิจ ของ คสช. และรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การลงประชามติ
ที่ผ่านมา ทุกหน่วยได้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน โดยมีกลไกที่สนับสนุนภารกิจดังกล่าว คือ รด.จิตอาสา และกลุ่มมวลชนในพื้นที่ต่างๆ จึงให้ทุกหน่วยสานต่อภารกิจให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ รวมถึงครอบครัวกำลังพลด้วย อย่างไรก็ตาม จากการที่นักศึกษาวิชาทหารได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ คสช. ขอให้ทุกหน่วยได้ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับเยาวชนเหล่านี้ เพราะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศตามวัยวุฒิของนักศึกษาวิชาทหาร
นอกจากนี้ พลเอกธีรชัย ยังให้ทหารมีความรู้ มีความเข้าใจ และทันต่อสถานการณ์ของประเทศ โดยเฉพาะความรู้ในผลการปฏิบัติงานของภาครัฐ และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งการเตรียมพร้อมเพื่อไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ เพราะกองทัพยังคงต้องดำรงการสนับสนุนรัฐบาล และ คสช. ดูแลให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้เพื่อความเรียบร้อย
พลเอกธีรชัย ยังได้กล่าวขอบคุณกำลังพลทุกนายที่สามารถปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาล คสช. และการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเรียบร้อย
กองทัพบกยังคงเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความตั้งใจของรัฐบาลในการบริหาร พัฒนาและวางรากฐานของประเทศ ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงานของภาครัฐ เพื่อร่วมกันเดินหน้าสร้างอนาคตและความเข้มแข็งของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า พลเอกธีรชัย มีความห่วงใยในสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ทวีความรุนแรงขึ้น กำชับให้ใช้กลไกของศูนย์ดำรงธรรมเป็นหลักในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมบูรณาการแบ่งมอบพื้นที่ให้ทุกส่วนทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะการนำน้ำไปแจกจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ พลเอกธีรชัย ให้ความสำคัญกับการดูแล แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยสั่งการให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ร่วมกับ ตำรวจ และส่วนราชการเข้าไปตรวจสอบและกวดขันในมาตรการอำนวยความสะดวกและดูแลการท่องเที่ยวทั้งระบบทั่วประเทศ ให้มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งเรื่องมาตรฐานสถานที่ท่องเที่ยว ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การป้องกันไม่ให้มีอาชญากรรม อุบัติเหตุ
รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อดูแลให้เกิดความปลอดภัยในทุกส่วน เป็นการช่วยเสริมภาพลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดระเบียบสังคมและป้องปรามอาชญากรรมนั้น พลเอกธีรชัย ได้ย้ำให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดให้บังเกิดผลในรูปคดีตามกฎหมายทันที และให้สังคมได้รับทราบ ทั้งการเข้าตรวจสอบและขจัดปัญหาผู้มีอิทธิพล, การจับกุมบ่อนการพนัน และสินค้าผิดกฎหมาย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิต
พลเอกธีรชัย สั่งการให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดที่ติดกับชายทะเล ได้ประสานข้อมูลกับกองทัพเรือ พร้อมร่วมกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ เข้าตรวจสอบการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และกวดขันสถานประกอบการ และตรวจสอบพื้นที่ลักลอบใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนของแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รวมกลุ่มกันออกมาเรียกร้องในพื้นที่ต่างๆ นั้น ให้ใช้กลไกศูนย์ดำรงธรรมประจำพื้นที่ เกื้อหนุนให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับการดูแลแก้ไข
ขณะเดียวกันให้เปิดช่องทางการสื่อสาร และประสานส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้เข้ามาร่วมคลี่คลายในปัญหาเหล่านั้นโดยตรงในพื้นที่ เพื่อให้ตรงตามความเดือดร้อนของประชาชนมากที่สุด
ส่วนการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ยั้น ผบทบ. ยังคงให้ความสำคัญกับการที่หน่วยทหารต้องเข้าไปดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในทุกด้าน พร้อมสนับสนุนให้ความเดือดร้อน และได้รับการแก้ไขผ่านกระบวนการของศูนย์ดำรงธรรม
ในส่วนการการเตรียมความพร้อมของหน่วยทหารด้วยการฝึกในลักษณะต่างๆ
ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฝึกพื้นฐาน การฝึกทหารใหม่จนถึงการฝึกผสม การฝึกเฉพาะกิจ โดยในเดือน มี.ค.๕๙ จะมีการฝึกและตรวจสอบเป็นหน่วยกรมทหารราบเฉพาะกิจในพื้นที่กองทัพภาคที่ ๓ ก็ให้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของหน่วยและแสนยานุภาพของกองทัพบก
การประชุมในวันนี้ พลเอกธีรชัย ได้ย้ำถึงการดูแลสวัสดิการของกำลังพลที่ทุกหน่วยต้องดำรงความต่อเนื่อง โดยให้เพิ่มการรณรงค์เรื่องการออกกำลังกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งกำลังพลและครอบครัว

ได้เวลากวาดล้างผู้มีอิทธิพลอีกละลอก

"พลเอกประวิตร"รายงาน "นายกฯ" หลัง4 มีค. จนท.ตำรวจ-คสช.จะออกกวาดล้างจับกุม ดำเนินคดี ผู้มีอิทธิพล ทั่วประเทศ หลังตรวจสอบแยกแยะมา4เดือนแลัว เหลืออีก2 เดือน ปราบ จับกุม จบใน เมย. นี้ รวม 6เดือน ตามบัญชา นายกฯ
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม รายงานต่อ นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. ว่า หลัง วันที่ 4 มีค.2559 นี้ คสช.และตำรวจ จะออกกวาดล้าง จับกุม ผู้มีอิทธิพล และเครือข่าย
ตามกำหนด ที่ พลเอกประยุทธ์ นายกฯสั่งการไว้ ให้ ปราบปราม แก้ไขให้หมด ภายใน 6 เดือน แล้ว
ทั้งนึ้ทั้ผ่านมา เป็นช่วงการรวบรวมข้อมูล การข่าว เรื่องผู้มีอิทธิพล จากนั้น เป็นระยะการ ตรวจสอบ แยกแยะ และอีก2 เดือนสุดท้าย คือ มีค.-เมย. เป็นช่วงการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี

สัมภาษณ์พิเศษ “กุลลดา เกษบุญชู มี้ด” วิเคราะห์บทเรียน การเปลี่ยนผ่านรัฐไทย


หมายเหตุ ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิชาการที่ผลิตผลงานด้านประวัติศาสตร์การเมืองชิ้นสำคัญของไทย คือหนังสือ “The Rise and Decline of Thai Absolutism” จนได้รับการพูดถึงระดับโลก ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงปัจจัยด้านการต่างประเทศกับการเมืองไทยและทบทวนสภาวะการเปลี่ยนผ่านของรัฐไทยในครั้งนี้

– คิดว่าโลกตะวันตกจะมองสถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้อย่างไร หากมองจากบทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ถ้ามองจากมุมมองของนักประวัติศาสตร์การทูต สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดจะถูกบันทึกและรายงานผ่านสถานทูตทั้งหมด แต่จะให้เขามาพูดในเนื้อหาที่มันยังไม่ออกมา ก็คงจะทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ยืนยันว่าต่างประเทศเขารู้ทั้งหมด ว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย เขาฉลาดและมีข้อมูลเพียบพร้อมกว่าที่เราคิดเยอะ
– จุดยืนโลกตะวันตกและสหรัฐจะเป็นอย่างไร หากร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว เนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ได้เกิดบังคับใช้จริง
ต้องระลึกไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเป็นเรื่องภายในของเราว่าเราจะจัดการกับโครงสร้างอำนาจภายในของเราอย่างไร แน่นอนว่าต่างประเทศเขาเฝ้าดูตลอดในแง่ที่ว่าหากประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะทำให้ไทยได้ผู้นำประเทศแบบไหน ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็คงยังไม่สามารถมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับได้ในตอนนี้
– เป็นไปได้ไหมว่าตะวันตกไม่ได้ต้องการให้ไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบก็ได้ แต่พร้อมที่จะอยู่กับไทยแบบนี้ไปเรื่อยๆ หากไม่กระทบกับเศรษฐกิจของเขา
ต้องมองเป็นสองส่วน คืออันดับแรก ต้องยอมรับว่าถึงที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินด้วยผลประโยชน์ล้วนๆ แต่ว่าในบางครั้งเราก็ไม่สามารถล่วงรู้ผลประโยชน์ที่แท้จริงได้ โดยในส่วนสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่ามีจุดยืนต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมาโดยตลอด ได้ยินมาว่า เขาก็บอกว่าโอเค ทุกอย่างเหมือนเดิมนะ แต่ว่าอย่าพูดแล้วกันว่าทุกอย่างเหมือนเดิม เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่คนปกติไม่มีทางรู้ได้ มันเป็นกลยุทธ์ทางการทูต ท่าทีที่ออกมาก็อย่างหนึ่ง เรื่องผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผลประโยชน์จริงๆ เขาอยู่ตรงไหน มันไม่มีหรอก หลักการเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย หลักการส่งเสริมความเป็นมนุษยธรรม แต่ว่าเขาเลือกหลักการเหล่านี้เพราะมันดูดีที่สุด เราไม่มีทางรู้ว่าสหรัฐเองมีผลประโยชน์เกี่ยวโยงการเมืองไทยแค่ไหน แต่ว่ามีแน่
– การเมืองไทยขณะนี้ดูเหมือนสหรัฐไม่ได้มีศักยภาพในการกดดันอะไรเลย
ก็คงไม่เหมือนตอนที่สหรัฐเคยทำได้ในสมัยทศวรรษ 60-70 ซึ่งกลไกเหล่านี้ ตอนนี้มันหมดไปแล้ว ตอนนั้นมันมีสงครามเวียดนามที่มีความสำคัญ แต่ตอนนี้มันไม่มีเงื่อนไขใดๆ ปัจจุบันมันเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ด้านความมั่นคง ผลประโยชน์ทางการเมืองและประชาธิปไตย ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางตรง เป็นเพียงข้ออ้าง เป็นของที่เอามาเรียกร้องและดูดี รวมถึงใช้กดดันได้ในบางกรณี เพราะถ้าหากเป็นประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับสหรัฐ สหรัฐเขาก็ทำเป็นมองข้ามไปได้ สหรัฐเขาต้องแสดงท่าทีแบบนั้น เพราะนับแต่ยุคสงครามเย็น สหรัฐคิดว่าสามารถที่จะต่อรองเจรจากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่ายกว่า
– ตะวันตกหรือยุโรปด้วยหรือเปล่า
ก็อาจจะรวมด้วยแต่ผลประโยชน์อาจจะไม่ได้มากเหมือนสหรัฐ
– การเมืองไทยล้มแนวคิดการพัฒนาดั้งเดิมที่บอกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีต้องไปคู่กับการเมืองแบบประชาธิปไตย
จริงๆ ทุนนิยมมันมีหลายกลุ่มนะ ตอนนี้คุณเห็นได้ชัดเลยว่าโครงสร้างอำนาจตอนนี้มันเอื้อให้กับกลุ่มทุนกลุ่มเก่า มันเอื้อมากด้วย ที่ผ่านมาทุนใหม่มันสามารถเข้ามามีอำนาจทางการเมืองได้ แล้วมันก็เกิดการปะทะกันของทุนสองกลุ่ม ซึ่งขณะนี้มันเป็นชัยชนะของฝ่ายทุนเก่า และบางครั้งในกลุ่มทุนเก่าเอง เขาก็มีความสามารถในการที่จะอยู่ได้ในการเมืองทั้งสองระบบ เขาสามารถสร้างพันธมิตรได้ ทุนบางกลุ่มเคยอยู่กับอำนาจใหม่ ล่าสุดก็กลับไปอยู่กับอำนาจปัจจุบัน
– โดยภาพรวมคิดว่าสหรัฐมีท่าทียังไงกับชนชั้นนำไทย
มีท่าทีผ่อนคลายเยอะเพราะสหรัฐต้องการให้ผู้นำไทยนำประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลง TPP ซึ่งสหรัฐมีผลประโยชน์สำคัญ
– ในเชิงวิวัฒนาการของรัฐและสังคม อะไรคือปัจจัยการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญของไทย
มันเป็นเรื่องของพลังทางสังคมใหม่ๆ ส่วนหนึ่งคือทุนใหม่แต่ที่สำคัญคือประชาชน ที่เริ่มมีที่ทางในกระบวนการทางการเมือง แต่ตอนนี้เขาถูกกำจัดออกไป มันขึ้นอยู่กับว่าความเข้มแข็งของพลังใหม่จะเป็นอย่างไร สามารถรับมือกับผู้ที่มีอำนาจตอนนี้ได้แค่ไหน
– พลังใหม่คืออะไร
พลังใหม่คือประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง มีความต้องการเลือกรัฐบาลที่เขาเองต้องการ ซึ่งสังคมไทยไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน นี่คือผลจากการต่อสู้ของพลังใหม่ทั้งสิ้น และในที่สุดพลังนี้เองจะเป็นฝ่ายชนะ แต่มันไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อไหร่ มันจะมีเงื่อนไขและตัวแปรเยอะมากที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ มีเพียงปัจจัยบางอย่างเท่านั้นที่เราสามารถคาดการณ์ได้บ้าง แต่ไม่รู้ว่าผลที่จะออกมาเป็นอย่างไร ปัจจัยต่างประเทศไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องเลย ยกเว้นแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม เป็นเรื่องของพลังใหม่ล้วนๆ
– การเปลี่ยนแปลงของทุนนิยมโลกเป็นปัจจัยส่งผลมากแค่ไหน
ในส่วนของเศรษฐกิจทุนนิยมโลก อาจจะเกี่ยวในแง่ของการเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สภาวะความเป็นผู้นำของรัฐบาลปัจจุบันง่อนแง่นหรือเข้มแข็ง แต่จะไม่เข้ามาเกี่ยวโดยตรง
– ศึกษาเรื่องพัฒนาการของรัฐมานาน อะไรน่าห่วงเมื่อหันมามองพัฒนาการรัฐไทยขณะนี้
ในที่สุดการต่อสู้มันต้องลงเอย จุดสิ้นสุดจะเป็นอย่างไรมันบอกไม่ได้แต่มันจะลงเอยแน่นอน แต่คิดว่าพลังส่วนล่างของสังคมจะกลับเข้ามามีบทบาท
หากมองจากองค์ความรู้ด้านพัฒนาการทางสังคม จะพบว่าความขัดแย้งของสังคมเป็นเรื่องปกติ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์รู้ดีว่าพลังของความขัดแย้งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้สังคมเกิดวิกฤตขึ้นมา ก่อนจะถึงจุดจบที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ในที่สุด
ในช่วงของความขัดแย้งทางสังคม จึงเรียกช่วงระยะเวลานั้นว่าเป็น “การเปลี่ยนผ่านทางสังคม” ถือเป็นการจัดระเบียบอำนาจใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่น่ากลัวเพราะมักเกิดความรุนแรงขึ้น หากไม่สามารถจัดการความแตกต่างด้านผลประโยชน์ด้วยกติกาที่เป็นธรรมมากพอ
– มีหนทางจำกัดเรื่องความรุนแรงในช่วงเปลี่ยนผ่านบ้างไหม
ตามประวัติศาสตร์ พลังใหม่จะชนะ และมีการจัดระเบียบอำนาจใหม่ แต่ตอนนี้เป็นช่วงความขัดแย้ง เพราะมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ถามว่าจะไม่ให้มีความรุนแรงได้ยังไง เรื่องนี้ตอบยาก เพราะมันขึ้นอยู่กับธรรมชาติของความขัดแย้งในขณะนี้ ซึ่งในอนาคตหากมันเกิดความไม่เป็นธรรม หรือเกิดความไม่ยุติธรรมมากๆ มันน่าจะนำมาสู่ความรุนแรงได้
คือเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและรัฐจะไปทางไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ action และ reaction ที่มันเกิดขึ้นในสังคม ตอนนี้ฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ เขา take action อยู่ ซึ่งaction ตรงนี้ มันก็อาจก่อให้เกิด reaction ได้ ถ้าหากว่ามีประเด็นที่ถูกจุดขึ้นมามันก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ เช่นเราไม่รู้ว่าประเด็นศาสนาจะเป็นตัวจุดประเด็นได้มากแค่ไหน แต่มันจะมีเรื่องแบบนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ
– ตรวจการบ้านสองปีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านการต่างประเทศ
ไม่ขอตรวจว่าถูกหรือไม่ถูก แต่เห็นชัดเจนว่าเขากำลังหามิตรใหม่ จะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องดูกัน แต่จากที่ผ่านมาดูแล้วไม่เวิร์คนะ ดูเรื่องรถไฟก็น่าจะเห็นแล้วนะ เพราะต้องเข้าใจธรรมชาติทางการเมืองของประเทศมหามิตรที่เราพยายามจะสัมพันธ์ด้วย
– ธรรมชาติการต่างประเทศของจีนเป็นอย่างไร
ก็เน้นมุมมองเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก
– ต่างกับอเมริกาอย่างไร


ต่างกันเรื่องผลประโยชน์ ที่ ในอดีตสหรัฐฯเขาจะกำหนดผลประโยชน์ของเขา บางครั้งเป็นเรื่องความมั่นคง และเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นประโยชน์ของไทยด้วย ในบางเรื่อง ขณะที่ผลประโยชน์ของจีนมันชัดเจนว่าเขาต้องการหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจเต็มที่ เรามองไม่ออกว่าจีนมีผลประโยชน์เรื่องความมั่นคงยังไงกับไทย
ที่มา : มติชน