PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคาะแล้ว! 5ประเด็นแก้รธน.ชั่วคราวฯปมประชามติ ใช้วิธีนับคะแนนเสียงข้างมากผู้ออกมาใช้สิทธิ์


เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2559 เวลา 16.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายแถลงภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุมร่วมเห็นชอบในหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 37 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา...ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ 5ประเด็น ดังนี้

1. เรื่องเกณฑ์การตัดสินประชามติว่าจะต้องใช้เสียงข้างมากผู้มาใช้สิทธิเป็นเกณฑ์ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าให้ใช้คำว่า “คะแนน” เสียงข้างมากของผู้ออกเสียง ยกตัวอย่างเช่น สมมุติหากวันนั้นมีผู้เดินทางจากบ้านมาใช้สิทธิ์ลงประชามติทั้งสิ้น 30 ล้านเสียง ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 12 ล้านเสียง ลงคะแนนไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง และงดออกเสียง 8 ล้านเสียง ให้เทียบเสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบ คือ 12 ล้านเสียง เทียบกับ 10 ล้านเสียง เท่านั้นส่วนบัตรลงคะแนนที่งดออกเสียง (โหวต No) และบัตรเสียนั้นจะไม่นับเป็นคะแนนใดๆ

2. เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติผู้ออกเสียงประชามติจะใช้เกณฑ์อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียงประชามติ จะเป็นการขยายฐานผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่ใช้วันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการออกเสียงหรือที่มีการเลือกตั้ง ขณะนี้ขอให้มีการแก้ใหม่ไปจนถึงวันออกเสียง สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือใช้เกณฑ์ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ลงประชามติ

3.เรื่องหลักเกณฑ์การส่งร่างรัฐธรรมนูญถึงมือประชาชน อย่างน้อยร้อยละ 80 จึงจะออกเสียประชามติได้ ทางที่ประชุมเห็นว่าจะมีปัญหา และศึกษาเห็นว่านานาประเทศที่มีการประชามติก็ไม่ได้แจกถึงร้อยละ 80 จึงเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยจะให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำคู่มือ อินโฟกราฟิก แจกจ่ายให้ประชาชน โดยจะใส่ข้อมูลลงไปในเว็บไซต์ให้โหลดฟรี หรือจะเผยแพร่ทางสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ พร้อมทั้งส่งไปยังบ้านของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแต่ละชุมชน ให้เผยแพร่แก่ลูกบ้าน โดยจะจัดพิมพ์ในจำนวนน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้แต่เดิม

4. เรื่องการเพิ่มคำถามเพิ่มเติม นอกเหนือจากการถามว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทางที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะอนุญาตให้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นฝ่ายตั้งคำถามเพิ่มเติมได้แต่เพียงรายเดียว และส่งต่อไปยัง กกต. โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ได้บอกว่าจำเป็นต้องตั้งคำถามเพิ่ม เพียงแต่เป็นหลักเกณฑ์ที่เคยกำหนดไว้เดิมว่าสามารถทำได้

5. เรื่องหลักเกณฑ์ในการรณรงค์และชี้แจงการทำประชามติ ทาง กกต. ยังไม่ได้ฟันธงว่าจะใช้คำว่า รณรงค์หรือชี้แจง แต่อย่างไรก็ตามจะยึดหลักเกณฑ์เดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และเช่นเดียวกับการทำประชามติเมื่อครั้งปี 2550

รองนายรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากนี้จะนำเรื่องส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้นายวิษณุ เปิดเผยว่า สำหรับกรณีหากการทำประชามติแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน ทาง คสช. และ ครม. ยังไม่ได้หารือกันในวันนี้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต

สำหรับบรรยากาศภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง คสช. และ ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ หลังร่วมหารือกันหลายชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้งดให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และได้รีบเดินไปยังตึกไทยคู่ฟ้าโดยทันที ตามมาด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า นายกรัฐมนตรีได้เรียกคุยโดยด่วน แต่เพียง 15 นาทีหลังจากนั้น ขบวนรถของนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกจากทำเนียบรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น: