PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

มาร์ค จวกรัฐอย่าเหมารวม หัดแยกระบอบทักษิณ ออกจากประชาธิปไตย


“อภิสิทธิ์” ติงรัฐอย่าเหมารวม “ระบอบทักษิณ” กับ “ประชาธิปไตย” เป็นเรื่องเดียวกัน หวั่นหากแยกไม่ออกอาจเข้าทางกลุ่มโหวตโนรธน.เรียกร้องปชต. ชี้ข้อเสนอครม.ทำ “มีชัย” แบกภาระ แนะ กรธ.กำหนดแนวทางช่วงเปลี่ยนผ่านให้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมีความรู้สึกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กับรัฐบาล ไม่ค่อยแยกแยะระบอบทักษิณ กับระบอบประชาธิปไตย เช่น การจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบอบทักษิณ แต่กลายเป็นว่ามีปัญหากับระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นมาถึงช่วงที่กำลังจะทำรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนอยู่ขณะนี้แม้ปรับปรุงไปแล้วบ้าง แต่ก็ถูกวิจารณ์อยู่แล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยจะถดถอยหรือไม่ เพราะตอนนี้มีความเห็นของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีการตีความกันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะข้อ 16 ที่เหมือนว่ามีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรืออำนาจไม่กลับไปสู่ประชาชนอย่างเต็มที่บ้างในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ตนจึงคิดว่าจะยิ่งไปเข้าทางฝ่ายที่เอาประชาธิปไตยมาชูแล้วก็ต้องการเรียกร้อง เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าคสช. กับรัฐบาลไม่ระมัดระวัง คือ ไม่แยกระบอบทักษิณ ออกจากระบอบประชาธิปไตย และเหมาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จะเป็นเรื่องอันตรายและน่าเป็นห่วงมาก เพราะเส้นทางของประเทศต้องเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีกระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่ตัวบุคคล แต่เป็นกลุ่มที่ออกมารณรงค์ เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องแยกคนที่เคลื่อนไหว เพราะมีหลายกลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มก็มีจุดยืนว่า เขาไม่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามาจากรัฐประหาร เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้เขาต่อต้านแน่นอน ดังนั้นเราจะไปคาดหวังว่าจะไม่มีคนกลุ่มนี้มันเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน ตนก็ย้ำมาตลอดว่า ขอให้พยายามปรับปรุงสาระให้ดี พอเดินต่อไปในที่สุดก็ต้องมีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ เกี่ยวกับประชาธิปไตย ต้องยอมรับโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา ทุกยุคสมัยจะมีอุดมการณ์ในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติเขาก็จะโน้มเอียงไปในทางที่เห็นว่า มันไม่ใช่ และอะไรที่ดูย้อนยุค เช่น ข้อเสนอของรัฐบาลซึ่งบางคนก็แปลความว่าเอาแบบปี พ.ศ. 2521 คือ 38 ปีที่แล้ว หรือที่มาพูดว่าจะทำลักษณะของโครงสร้างให้ราชการมาครอบงำในเชิงนโยบาย ซึ่งคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง เขาดูในเชิงของสภาพความเป็นจริงของโลก และการบริหาร เขาก็จะตอบว่ามันไม่ใช่
“การบอกแค่เพียงว่า เดี๋ยวขอให้มีอะไรเปลี่ยนผ่านแล้วมันจะไปสิ้นสุดตรงไหน นั่นเป็นการยกตัวอย่างว่า เอาประเด็นแรกก่อน คือ กลัวคนแพ้ไม่ยอมแพ้ แต่ถามว่า ถ้ากลัวคนชนะ หรือฝ่ายชนะเกเรบ้าง จะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงต้องถามว่ากลไกในรัฐธรรมนูญนั้น คนที่ได้อำนาจไปแล้วจะต้องใช้อำนาจอย่างไรนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)จึงต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะกาล แต่ต้องเป็นเรื่องถาวร ไม่ใช่เขียนแค่เฉพาะกาล ว่าพอพ้นช่วงนั้นไปแล้ว เราจะทำยังไงต่อหรือจะต้องมีอะไรที่จะไปสู่ตรงนั้น แต่วันนี้ข้อเสนอ ครม.กลับเป็นประเด็นที่มีการจุดกระแสขึ้นมาว่า เป็นเรื่องประโยชน์ส่วนตัว หรือสืบทอดอำนาจ หรือไม่ ภาระจึงไปตกหนักอยู่กับท่านประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มา : มติชน http://www.matichon.co.th/news/55152

ไม่มีความคิดเห็น: