PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พท.คึก-ดัน"สุดซอย" นิรโทษกรรม ชนะศึก-ชนะ"สงคราม"



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 17:00 น.
วิเคราะห์



พิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประกาศพร้อมเริ่มต้นใหม่ เซตซีโร

พิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพิจารณาจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แล้ว

สรุปได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีความปรารถนาสนับสนุนคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ

ซึ่งขยายเนื้่อหาการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึง "แกนนำ" และ "ผู้สั่งการ"

การสนับสนุนดังกล่าว ผลักดันให้ นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ และกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันที่จะคงการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

เหตุที่สนับสนุนเพราะ มีข้อเสนอจากฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยว่า หากยังคงเนื้อความตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัยอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30

รัฐธรรมนูญมาตรา 30 ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน....

คล้ายกับว่า หากนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชน ไม่รวมถึงแกนนำและผู้สั่งการแล้ว จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัยขัดต่อความ "เสมอกันในกฎหมาย"

และอาจเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทย มีการประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนี้มีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้น

ผ่านแน่ ๆ

ผ่านได้เพราะแรงสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 

ได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยนั้นมีสูงยิ่งในฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทย

ผ่านได้เพราะแรงต้านทานจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พลังมวลชนที่พยายามรวมตัวกันคัดค้านนั้นอ่อนแรง

ดังนั้น ณ ห้วงจังหวะเวลาเช่นนี้ ถือว่าการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยมีโอกาสเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด

ศึกครั้งนี้จึงเห็นชัยชนะอยู่เบื้องหน้า!

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ โดยให้นิรโทษกรรมไปถึง "แกนนำ" และ "ผู้สั่งการ" ด้วยนั้น ทำให้กระแสสังคมทั่วสารทิศขยับออกมาตั้งคำถาม

กลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มนี้คัดค้านมิให้มีการนิรโทษกรรม

กลุ่มนี้เคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เริ่มตั้งไข่

โดยมีเหตุผลสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดอาญา 

กลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นประธาน และรวมไปถึงกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ด้วย กลุ่มนี้คัดค้านมิให้นิรโทษกรรม แกนนำผู้สั่งการที่ก่อให้เกิดการฆ่าในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงให้สัมภาษณ์ว่า

แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะเหมารวมไปถึงผู้มีส่วนในการเสียชีวิตของประชาชนเมื่อเหตุการณ์ปี 2553 นายจตุพรบอกว่า...รับไม่ได้

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักวิชาการ ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง และอื่น ๆ

นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์กรณีที่เกิดขึ้น 2 ประเด็น 

ประเด็นแรก การรับหลักการในวาระที่ 1 คือ ให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้นิรโทษกรรมสุดซอย 

การมาตีความใหม่ของคณะกรรมาธิการ เมื่อเข้าวาระที่ 2 โดยหลักการแล้วไม่แน่ใจว่าจะมีผลทำให้พระราชบัญญัตินี้ตกไปหรือเปล่า 

ประเด็นที่สอง ถ้าพรรคเพื่อไทยดันทุรังทำไป จะเป็นการทดสอบพลังของสังคม ในด้านหนึ่งถ้าชนชั้นนำฮั้วกันได้หมด ทหารเองก็ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินี้ คนทำรัฐประหารอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือทั้งเสื้อเหลือง พ.ต.ท.ทักษิณ และเสื้อแดงเองจะได้รับประโยชน์ 

ถ้าชนชั้นนำฮั้วกันได้ ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยต่อไปข้างหน้าจะเผชิญอยู่กับวัฏจักรของการรัฐประหาร 

นายวิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า หลักการในรอบแรกที่ผ่านสภาไป คุยว่าจะไม่รวมแกนนำ และที่สำคัญที่สุดคือ พยายามสอดไส้การลดผลพวงของรัฐประหารไปด้วย เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากให้จบ 

คิดว่านี่ไม่ใช่การสอดไส้แบบตั้งใจ เพราะพูดตรงๆ ในเชิงรัฐบาล การแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ก็ดี คือร่างแรกที่ไม่รวมแกนนำโดย นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นที่ชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นการช่วยเหลือ

พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้ง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และแกนนำ

ทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ความผิดทางคดีอาญา

และ...การกระทำในขณะนี้เป็นการเพิ่มความหวาดระแวง คงไม่มีใครเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะไม่มีการสอดไส้ และประชาชนยังคงตกเป็นตัวประกันทางการเมืองต่อไป 

สรุปได้ชัดว่า นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังไม่มีกลุ่มใดเห็นพ้องกับการแก้ไขดังกล่าว

กลุ่มที่ไม่เห็นพ้อง ไม่อยากให้ "แกนนำ" ผู้ก่อเรื่องได้รับนิรโทษกรรม ไม่อยากปล่อยให้ประชาชนในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตายฟรี

ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยคิดใช้วิธี "หักดิบ" ในชั้นกรรมาธิการ เพื่อเอาชนะ "ศึก" ในการนิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยก็ต้องประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

เพราะการชนะ "ศึก" ใช่ว่าจะชนะ "สงคราม" 

จับตา"นิรโทษกรรม"สุดซอย เสื้อแดง-ปชป.กับความหวัง"วาระ2"



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 16:00 น.

ถกกันอย่างดุเดือดสำหรับการประชุมเพื่อให้ผู้เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยที่ 

"หัวเขียง" ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการฯ คนที่หนึ่งเสนอแปรญัตติ หักดิบ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องการนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำสั่งการชุมนุม ทหาร รวมไปถึงผู้สั่งการ) ในมาตรา 3 ใหม่ โดยระบุให้ขยายการนิรโทษกรรมเหมารวม ทุกกลุ่มทุกฝ่าย

สัญญาณร้อนของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยนี้ ดูได้จากการประชุมเพื่อให้ผู้เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ เพราะท่าทีของ กมธ.ทั้งสองฝั่ง อย่าง กมธ.ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย และ กมธ.ทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันในจุดยืนเดิมของตัวเอง 

โดย กมธ.ฝั่งพรรคเพื่อไทย จับมือแท็กทีมกันอย่างเหนียวแน่น ยืนกรานเห็นด้วยกับญัตติของ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ที่เสนอให้นิรโทษกรรมแบบเหมารวม ไม่ว่า กมธ.ในสัดส่วนที่เป็น ส.ส.และแกนนำคนเสื้อแดง จะเสนอแปรญัตติให้กับกลับมายึดร่างเดิม ฉบับ วรชัย เหมะ ที่ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำ และผู้สั่งการ แต่ก็ไม่สามารถทัดทานมติของ กมธ.เสียงข้างมากที่ยืนยันจะให้มีการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมเหมือนเดิม 

กมธ.ในสัดส่วนที่เป็น ส.ส.และแกนนำคนเสื้อแดง จึงต้องสงวนคำแปรญัตติ เพื่อนำเหตุผลไปอภิปรายต่อในสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 เพื่อโน้มน้าวให้ ส.ส.เปลี่ยนใจหันมายกมือสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ตามเดิมแม้จะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะให้เสียงของ ส.ส.ที่ส่วนใหญ่เป็นของพรรคเพื่อไทยยังยึดมั่นกับมติพรรคฯ อย่างเคร่งครัด 

ขณะที่ กมธ.ในฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ แม้พยายามจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ตลอดจนความคลุมเครือของ กมธ.เสียงข้างมากที่ยังไม่เคลียร์ข้อสงสัยในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ชัดเจน ทั้งเรื่อง ประเด็นกฎหมาย "เกี่ยวกับการเงิน" หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้เงินคืนจำนวน 4.6 หมื่นล้าน พร้อมดอกเบี้ย ที่ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว 

รวมทั้งการนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลให้คดีทุจริตการเลือกตั้งที่ กกต.วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่างปี 2547-2556 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่นั้น 

แม้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งใน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยจะออกมาให้ความเห็นว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีองค์กรเดียวคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ได้หมายรวมถึง คดีที่ กกต. และ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยหรือชี้มูลความผิดไปแล้วจะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย แต่ กมธ.ทางฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงไม่เชื่อมั่นในความชัดเจนถึงการตีความข้อกฎหมายในเรื่องนี้ 

จึงขอสงวนความคิดเห็นไว้เพื่อนำไปอภิปรายในสภาในการพิจารณาวาระ 2 

ซึ่งเบ็ดเสร็จมีบุคคลที่เสนอคำแปรญัตติ และเมื่อรวมกับกรรมาธิการฯ ที่สงวนความเห็นทำให้มีผู้ที่แปรญัตติในสภา รวมถึง 197 คน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 2 

หากเป็นไปตามนี้การพิจารณาในวาระ 2 ที่มีผู้ยื่นแปรญัตติและสงวนความเห็นเกือบ 200 คน คงทำให้สภากลับมาร้อนแรงอีกครั้ง และคงใช้เวลาการพิจารณาไม่ได้รวดเร็วตามที่พรรคเพื่อไทยคาดหวังไว้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีรายการเสนอญัตติปิดอภิปราย 

หากเป็นไปเช่นนั้นจะยิ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้กลุ่มการเมืองที่พร้อมใจกันเป่านกหวีดออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยนี้ ทวีความร้อนแรงขึ้นอีกเท่า 

ห้วงเวลาช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะวางแผนรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่อเค้าจะร้อนแรงได้เพียงใด เป็นเรื่องที่น่าติดตาม 

เงื่อนปม...พ.ร.บ.นิรโทษฯ ผูกโยง"กกต.-ป.ป.ช.-คตส."

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 15:00 น.

หมายเหตุ - ข้อถกเถียงภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พิจารณาการนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมอยู่ในเงื่อนไขหรือไม่

สามารถ แก้วมีชัย

ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

สําหรับการประชุมพิจารณาเพื่อให้ผู้ที่เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงต่อคณะ กมธ.นั้น คณะ กมธ.ได้เปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงได้เป็นเวลา 2 วัน และได้เสร็จสิ้นเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว การชี้แจงคำแปรญัตติมี ส.ส.ที่ไม่ได้มาชี้แจงและไม่ได้มอบอำนาจให้เพื่อน ส.ส.เข้ามาชี้แทนด้วย แต่ทางคณะ กมธ.ได้มีความเห็นให้สิทธิแก่ผู้ที่ขอแปรญัตติได้สงวนความเห็นไว้เพื่ออภิปรายวาระ 2 ต่อที่ประชุมสภาทุกคน ซึ่งขั้นตอนนับจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะ กมธ.จะไปรวบรวมคำแปรญัตติทั้งหมด เพื่อจัดทำเป็นรายงาน ซึ่งคณะ กมธ.ได้กำหนดนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อตรวจรายงานความถูกต้องของคณะ กมธ.ก่อนจะส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมต่อไป ดังนั้น กำหนดวันประชุมสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ประธานสภาจะเป็นผู้กำหนด

ความเห็นของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะ กมธ.คนที่ 1 ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า การนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลให้คดีทุจริตการเลือกตั้งที่ กกต.วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่างปี 2547-2556 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยนั้น ในที่ประชุม กมธ.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีการซักถามกัน ซึ่งองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารก็หมายถึง คณะกรรมการตรวจสอบการ

กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.นั่นเอง ไม่ได้หมายรวมถึงคดีใน กกต.หรือ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรที่ทำงานสืบเนื่องจาก คตส.เท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกัน ส่วนความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินด้วยชัดเจนนั้น ตนก็ยืนยันความตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ทั้งหมดไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินตามที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด และยืนยันด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมโทษทางอาญา จึงไม่ต้องคืนเงินให้ใคร แต่หากมีข้อโต้แย้ง หรือมีความเห็นต่างก็สามารถยืนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือเป็นผู้ชี้ขาดได้อยู่แล้ว 

นันทวัฒน์ บรมานันท์

คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้องดูเจตนารมณ์ตอนร่างกฎหมายชั้นคณะกรรมาธิการพูดเเล้วมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่านิรโทษกรรม การกระทำมันรวมถึงตรงไหน ต้องอธิบายเอาไว้เพราะหลายครั้งถ้ากฎหมายเขียนไม่ชัด ก็จะไปดูต้นร่าง ซึ่งทางปฏิบัติกฎหมายหลายร่าง พอเขียนชัดไม่ได้ คณะกรรมาธิการก็จะพูดเเล้ว สรุปบันทึกตามนั้น หากสงสัยว่าเรื่องนี้มีความหมายอย่างไรหรือมีปัญหาไม่เข้าใจในการตีความก็ให้กลับมาดูตรงนี้เเล้วยุติ 

ฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องจบในชั้นกรรมาธิการ ต้องพูดให้ชัดเพราะถ้าไม่ชัดเจนย่อมเกิดปัญหาในการตีความ ซึ่งเรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่จับตามองเท่านั้น เเต่รวมถึงต่างชาติด้วย มีผลกระทบในวงกว้างพอสมควรเเละเป็นเเนวทางปฏิบัติให้ประเทศอื่นๆ เอาไปอ้าง

ประเด็นที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะมายกเลิกผลของคำพิพากษาที่ศาลตัดสินไปเเล้วนันเป็นเรื่องใหญ่ ที่คณะกรรมาธิการต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบเเละบันทึกอย่างละเอียดเพราะปัจจุบันเรื่องเเบบนี้ หากออกมาไม่ชัดก็จะมีการประท้วงว่ากฎหมายเขียนมาเเค่นี้ เหตุใดตีความกว้างไปเเบบนี้ ทั้งนี้ ผมคิดว่าเรื่องใหญ่เเบบนี้คณะกรรมาธิการรู้อยู่เเล้วว่าจะต้องมัดประเด็นให้เเน่นเเละชัดเจน เว้นเเต่ว่าตั้งใจจะไม่มัดประเด็นเสียเอง

เรื่องสำคัญที่ถกเถียงกันอีกเรื่องอย่าง การคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องจบในชั้นกรรมาธิการ เพราะถ้าไม่จบ จะเป็นเรื่องให้โต้เถียงกันต่อไปว่าต้องคืนหรือไม่อย่างไร เเละก็เกิดการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรมคิดว่าต่อให้มีผลใช้บังคับ ถึงขั้นลงพระปรมาภิไธยเเล้ว ก็ต้องมีคนไปฟ้องศาลขอให้พิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 

ทั้งหมดจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ที่ต้องมีข้อสรุปให้ชัดเจนว่า กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมตรงไหนบ้าง ถ้าเขียนเอาไว้ได้ในกฎหมายก็ควรเขียนให้ชัดเจน เเต่หากเขียนไม่ได้ก็ต้องมีมติที่ชัดเจน เเละสรุปออกมาเป็นบันทึกในชั้นกรรมาธิการ เวลามีปัญหาในการตีความจะได้เปิดดูเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ เเต่ขั้นตอนที่ถูกต้อง ควรยกเลิกมาตรา 309 ก่อน เพื่อปราศจากภูมิคุ้มกัน ไม่อย่างนั้นจะมีคนไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญอยู่เเล้ว

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคประชาธิปัตย์

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่หมายรวมถึงคดีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ในที่ประชุม กมธ.นิรโทษฯ ทางฝ่ายค้านได้เสนอร้องขอให้ผู้แทนกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นนี้ โดยผู้แทนกฤษฎีกาให้ความเห็นชัดเจนว่า ในข้อความที่ใช้ระบุว่าองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีองค์กรเดียวคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในส่วนของประเด็นการจัดตั้งองค์กรผู้แทนกฤษฎีกาได้ยืนยันแล้ว 

นอกจากนั้นมีข้อความระบุต่อเนื่องว่า รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา หมายถึงเรื่องคดีต่างๆ ของ คตส. ที่ได้ส่งต่อไปยัง ป.ป.ช. และ กกต. ให้ดำเนินคดีก็จะถูกระงับด้วยเช่นกัน ทำให้คดีต่างๆ ที่เป็นการทุจริตก็กลับกลายเป็นถูกหมด ส่วนเรื่องของการที่ฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนหลังจบวุฒิสมาชิกก่อน เพราะตามกฎหมายศาลจะรับวินิจฉัยหลังจบวาระ 3 หรือระหว่างช่วงเวลาที่รอทูลเกล้าฯ 

ทั้งนี้ ขั้นตอนของ กมธ.นิรโทษฯยังไม่จบ แต่ดูแล้วท่าทีเขาจะเอาให้จบภายในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ช่วงนี้ดูเหมือนในสภาเร่งรัดมาก ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองขณะเป็นช่วงที่ไม่ควรเร่งรีบเรื่องดังกล่าว แต่ชัดเจนว่ารัฐบาลเร่งรัด เดินหน้าต่อไปแบบไม่มีถอย 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคประชาธิปัตย์ 

ตามที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายโดยที่นายประยุทธ์ ยอมรับเจตนารมณ์ที่ได้เสนอว่า ต้องการให้ยกเลิกคดีความผิดที่เกิดจากองค์กรหลังรัฐประหารโดยรวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แต่ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า นายประยุทธ์ไม่สามารถที่จะเหมารวมถึง กกต. และ ป.ป.ช.ได้ เพราะในร่างกฎหมายที่เขียนมาต้องหมายถึงการยกเลิกคดีที่เกิดจาก คตส.เท่านั้น 

ทั้งนี้ นายประยุทธ์ยืนยันกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าต้องการยกเลิกทั้งหมด อีกทั้งทางฝั่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กมธ.เสียงข้างมากก็ยืนยันตามที่นายประยุทธ์เสนอ ดังนั้น ก็ต้องว่าตามเขา แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะแย้งว่าไม่ได้ เช่นนี้หากมีการประชุมอภิปราย หรือมีการถาม ส.ส.ในการสรุปอภิปรายก็ต้องว่าไปตามนั้น การประชุม กมธ.

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมีการเร่งรัดทำให้คาดว่าเป็นไปได้ที่ทางฝ่าย กมธ.เสียงข้างมากจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวันที่ 30 ตุลาคม 

ชวน ขอทุกฝ่ายหยุดการเมือง ไว้ทุกข์พระสังฆราช



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 15:30 น.

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แนะทุกฝ่ายหยุดการเมืองในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อเป็นการไว้ทุกข์ สมเด็จพระสังฆราช... 

วันนี้ (27 ต.ค.56) ที่บ้านพักนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ถนนวิเศษกุล จ.ตรัง ตั้งแต่เช้าได้มีประชาชนจากกรุงเทพฯ และสถานีโทรทัศน์บลูสกายกว่า 100 ชีวิต มาเยี่ยม โดยมีนายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง และนายระลึก หลีกภัย ประธานชมรมฟุตบอลตรัง นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ประชาธิปัตย์ตรัง และบรรดาคนที่รักชอบพรรคประชาธิปัตย์ มารอต้อนรับ โดยมีการแสดงรำมโนราห์ และหนังตะลุงจากโรงเรียนเทศบาล 6 วัดตันตยาภิรม ต้อนรับแขก จัดเลี้ยงอาหาร ขนมจีน โรตี ข้าว หมูย่าง เครื่องดื่มหลากชนิด          

หลังจากนั้น นายชวน ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่มต่างๆ ในช่วงระยะนี้ว่า ในสัปดาห์นี้ทุกฝ่ายต้องหยุดการเมืองไว้ก่อน เพราะต้องให้ความเคารพไว้ทุกข์พระสังฆราช ส่วนกลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล และระบบทักษิณ เรียกร้องจะให้มีการปฏิรูปการเมือง นายชวน กล่าวว่า ก็ได้ยินอยู่เหมือนกันแต่ไม่ทราบว่าฝ่ายไหนพูด   

ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่า กลุ่มพันธมิตรเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการเรียกร้อง นายชวน ตอบว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ในสภาได้ดี 100% อยู่แล้ว ส่วนนอกสภาก็เดินบอกความจริงกับประชาชน ในช่วงนี้ทุกฝ่ายควรหยุดการเมืองไว้ก่อน ไว้ทุกข์สังฆราชก่อน พรรคประชาธิปัตย์ในวันเสาร์นี้ยังต้องหยุดปราศรัยเลย แต่ในส่วนของรัฐบาลกลับยังเดินหน้าในสภาเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมอยู่

ส่วนคิดว่าหลังจากสัปดาห์นี้มีโอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองจนกลายเป็นวิกฤติหรือไม่ ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิกฤติอยู่ที่รัฐบาล ประชาชนจะเผชิญหน้ากันหรือไม่ ให้ไปถามประชาชน




โดย ทีมข่าวภูมิภาค

แดงเสียงแตก กวป.เชียร์ร่างนิรโทษฯ ฉบับสุดซอย

แดงเสียงแตก กวป.เชียร์ร่างนิรโทษฯ ฉบับสุดซอย

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 16:00 น.

"เสื้อแดง" เสียงแตก กวป.ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เชียร์ลุยนำร่างนิรโทษกรรมสุดซอยเข้าสภาฯ อ้างเพื่อยุติความขัดแย้งของคนในประเทศ...

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่พรรคเพื่อไทย กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ประมาณ 70 คน ยื่นหนังสือถึง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผ่านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เพื่อสนับสนุนให้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้แก้ไขเนื้อหา เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ต่อไป โดยนายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป.กล่าวว่า กวป.ขอสนับสนุนร่างนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากที่ให้นิรโทษกรรมทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศยุติความขัดแย้ง และขอให้พรรคเพื่อไทยเร่งดำเนินการเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้ประธานสภาฯ บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการลงมติวาระ 2 และ 3 โดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัญหาของประเทศต้องแก้ในสภาฯ เท่านั้น

โดย ทีมข่าวการเมือง

ปชป.จัดหนัก อ้าง'ปู'มุ่งช่วยทักษิณ



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 17:38 น.

ปชป. ย้อนรอย 2 ปีรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"มุ่งช่วยพี่พ้นทุกคดี ฟื้นอดีตเชิด"บิ๊กบัง"ดัน"ปรองดอง" ย้อนนายกฯ หยุดสร้างภาพต้านโกงถ้าหนุนนิรโทษฯ...

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อจะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า มีมาตลอดสองปีของรัฐบาลนี้คือ 1 นับตั้งแต่มีการเพิ่มข้อความในมาตรา 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ แต่นายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยพยายามปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะชัดเจนว่าทำไปเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และนักการเมืองในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา และคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะคดีทุจริตที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกเข้าไปเกี่ยวข้องถึง 16 คดี มีบุคคลเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 75 คน จึงชัดเจนว่าการแก้ไขตามนายประยุทธเสนอเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ก็มีพฤติกรรมที่จะอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม 2554 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปสิงห์บุรี ไม่ยอมกลับมาร่วมประชุม ครม. เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาเรื่องนี้ แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวเปิดเผยต่อสังคม ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จนทำให้ ครม.ไม่กล้าฝ่าด่านความไม่เห็นด้วยของประชาชน แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสมรู้ร่วมคิดด้วยก็ตาม เพราะการอ้างว่าไม่สามารถกลับกรุงเทพฯ มาร่วมประชุมได้นั้น ทำให้ประชาชนหัวเราะทั้งประเทศเพราะหากใช้เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ ก็สามารถนั่งรถกลับได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากนั้นยังมีความพยายามที่จะเชิด พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ให้เป็นประธานกรรมาธิการปรองดองฯ ของสภาฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาไปหางก็โผล่ว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และ นิรโทษกรรม โดยอ้างรายงานของสถาบันพระปกเกล้าในทางที่ตัวเองได้ประโยชน์ แต่ในปี 2555 เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ ก็เกิดความวุ่นวายอย่างมาก โดย พล.อ.สนธิ ถูก ส.ส.ล้อมกรอบเพื่อให้ถอนรายงานดังกล่าวออกไป เมื่อการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลก็เดินหน้าต่อในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อยกเลิกคดีความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็ยังค้างอยู่ในสภาฯ

นายองอาจ กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยมีการเสนอหลายฉบับซึ่งล้วนแต่เป็น ส.ส.ของรัฐบาล ทั้งร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานฯ ฉบับสุดซอย แต่กระแสต่อต้านรุนแรง จึงลดกระแสแล้วหยิบเอากฎหมายฉบับของนายวรชัยมาพิจารณาแทนโดยเอาประชาชนมาบังหน้า แต่ละเลยร่างของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด ผู้ช่วยพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ปี 53 และมีข่าวว่านายประยุทธ์ เดินทางไปรับใบสั่ง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลกำลังคิดถึงประโยชน์ตัวเองและพวกพ้องมากกว่าบ้านเมือง เพราะหากคิดถึงประเทศต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่นายกฯ หาทางยุติหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่วิสัยของนายกรัฐมนตรีที่ดี ในขณะที่ภาคประชาชนมีการรวมตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ นายกฯ จึงควรไตร่ตรองก่อนที่จะมีการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 และ 3 แม้จะขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ที่สำคัญคือ การนิรโทษกรรมคนทุจริตคอร์รัปชันเท่ากับรัฐบาลนี้กำลังสนับสนุนการทุจริต คอร์รัปชัน ดังนั้น นายกฯต้องหยุดพูดถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว หากเพราะเห็นด้วยกับการนิรโทษให้คนทุจริต เพราะเป็นการออกกฎหมายเพื่อการช่วยเหลือคนทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด จึงขอให้ประชาชนที่ต่อต้านการทุจริตต้องแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนทุจริต.




โดย ทีมข่าวการเมือง

'สุริยะใส' มั่นใจนิรโทษสุดซอยเรียกแขกให้รัฐบาล


วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556, 19:57 น.

"สุริยะใส" เผยเรียกตัวแทน 77 จังหวัด รวมตัวค้านนิรโทษฯ สุดซอย พรุ่งนี้ มั่นใจนิรโทษฯ เรียกคน-เครือข่าย ร่วมได้มากสุด ชี้ มหาดไทยเดินสายล็อบบี้ สกัดคนเข้าร่วม...

วันที่ 26 ต.ค. 56 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ต.ค. ทางเครือข่ายภาคประชาชนจัดประชุมแกนนำหลายเครือข่ายและตัวแทนจาก 77 จังหวัด จะจัดประชุมหารือ ถึงสถานการณ์บ้านเมืองและกำหนดแนวทางการเคล่ื่อนไหวใหญ่ ทั้งกรณีการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย และกรณีคำตัดสินศาลโลกคดีเขาพระวิหาร ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อประเมินสถานการณ์ และกำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหว ร่วมกันทั้งประเทศ 

โดยกระแสตอบรับจากเครือข่ายต่างๆ มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมเคลื่อนไหว ซึ่งหลายๆ จังหวัด อาจเคลื่อนไหวในระดับจังหวัดก่อน เคลื่อนขบวนมารวมกันที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ เริ่มมีการสกัดจากภาครัฐ หลายรูปแบบ เช่น เกลี้ยกล่อมแกนนำในหลายจังหวัด ไม่ให้เคลื่อนไหว และกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ฝ่ายปกครอง ในพื้นที่บิดเบือนให้ข้อมูลประชาชน ว่า การนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นแนวทางปรองดอง ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ 

ทั้งนี้ มั่นใจว่าผลของกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย จะเป็นตัวเรียกแขก ดึงเครือข่ายต่างๆ มาร่วมกันได้คับคั่ง มากกว่าประเด็นอื่นๆ ถ้ารัฐบาลเดินหน้าไม่ถอย ไม่ทบทวน เราก็ไม่มีทางเลือกต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด เช่นกัน เพราะกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่ set zero หรือเริ่มต้นกันใหม่ แต่เป็น Zero sum game เพราะมีคนคนเดียวได้ประโยชน์ จะสร้างความแตกแยกเพิ่มเติม.




โดย ส่วนกลาง


พท.ส่งซิกฉีกร่างนิรโทษฯ ฉบับ'วรชัย'แน่!!


วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 12:45 น.

เพื่อไทยส่งสัญญาณชัด ใช้มติพรรควันที่ 29 ต.ค. ฉีกร่างนิรโทษกรรม "วรชัย" วอนให้ ส.ส.และคนเสื้อแดงยอมกลืนเลือดเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ป้อง "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ไม่ได้สั่งการรวบรัดเร่งเครื่องร่างนิรโทษกรรม...

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่าในวันที่ 29 ต.ค.พรรคจะเรียกประชุม ส.ส.เพื่อทำความเข้าใจร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากมีมตินิรโทษกรรมทุกฝ่าย โดยจะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากชี้แจงความจำเป็นที่แก้ไขเนื้อหาร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และเปิดโอกาสให้ ส.ส.แสดงความเห็นเต็มที่ การประชุมในวันดังกล่าวจะมีมติพรรคออกมา ไม่มีฟรีโหวตแน่นอน เมื่อที่ประชุมมีความเห็นอย่างไร ส.ส.ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งพรรคและคณะกรรมการยุทธศาสตร์เห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก เพราะกฎหมายไม่สามารถเลือกปฏิบัตินิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนได้ หากใช้ร่างของนายวรชัย จะถูกทำแท้งแน่นอน เมื่อถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พรรคเข้าใจความขมขื่นของ ส.ส.เสื้อแดง และมวลชนเป็นอย่างดี แต่กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญ หากมีปัญหาขึ้นมาอาจนำไปสู่การยุบสภาได้ แม้การโหวตเป็นสิทธิ ส.ส. แต่หากมีการแหกมติพรรค ต่อไปพรรคคงเดินลำบาก ขอให้ลืมความเจ็บปวด ยอมกลืนเลือดเพื่อประโยชน์ของประเทศ ถ้ากฎหมายตกไปประชาชนก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะไปตอบคำถามประชาชนอย่างไร

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากทำตามใบสั่ง รวบรัดลงมติแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น เป็นการใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเกมการเมืองมาเรียกแขก หวังจุดกระแสชุมนุมขับไล่รัฐบาล ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่เบื้องหลังสั่งการกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ อยากให้พรรคประชาธิปัตย์หันมาใช้วิธีพูดคุยในสภา ไม่อยากให้ใช้เรื่องนี้มาสุมไฟขัดแย้ง.




โดย ทีมข่าวการเมือง