PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เงื่อนปม...พ.ร.บ.นิรโทษฯ ผูกโยง"กกต.-ป.ป.ช.-คตส."

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 15:00 น.

หมายเหตุ - ข้อถกเถียงภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พิจารณาการนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมอยู่ในเงื่อนไขหรือไม่

สามารถ แก้วมีชัย

ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

สําหรับการประชุมพิจารณาเพื่อให้ผู้ที่เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงต่อคณะ กมธ.นั้น คณะ กมธ.ได้เปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงได้เป็นเวลา 2 วัน และได้เสร็จสิ้นเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว การชี้แจงคำแปรญัตติมี ส.ส.ที่ไม่ได้มาชี้แจงและไม่ได้มอบอำนาจให้เพื่อน ส.ส.เข้ามาชี้แทนด้วย แต่ทางคณะ กมธ.ได้มีความเห็นให้สิทธิแก่ผู้ที่ขอแปรญัตติได้สงวนความเห็นไว้เพื่ออภิปรายวาระ 2 ต่อที่ประชุมสภาทุกคน ซึ่งขั้นตอนนับจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะ กมธ.จะไปรวบรวมคำแปรญัตติทั้งหมด เพื่อจัดทำเป็นรายงาน ซึ่งคณะ กมธ.ได้กำหนดนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อตรวจรายงานความถูกต้องของคณะ กมธ.ก่อนจะส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมต่อไป ดังนั้น กำหนดวันประชุมสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ประธานสภาจะเป็นผู้กำหนด

ความเห็นของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะ กมธ.คนที่ 1 ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า การนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลให้คดีทุจริตการเลือกตั้งที่ กกต.วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่างปี 2547-2556 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยนั้น ในที่ประชุม กมธ.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีการซักถามกัน ซึ่งองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารก็หมายถึง คณะกรรมการตรวจสอบการ

กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.นั่นเอง ไม่ได้หมายรวมถึงคดีใน กกต.หรือ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรที่ทำงานสืบเนื่องจาก คตส.เท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกัน ส่วนความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินด้วยชัดเจนนั้น ตนก็ยืนยันความตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ทั้งหมดไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินตามที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด และยืนยันด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมโทษทางอาญา จึงไม่ต้องคืนเงินให้ใคร แต่หากมีข้อโต้แย้ง หรือมีความเห็นต่างก็สามารถยืนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือเป็นผู้ชี้ขาดได้อยู่แล้ว 

นันทวัฒน์ บรมานันท์

คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้องดูเจตนารมณ์ตอนร่างกฎหมายชั้นคณะกรรมาธิการพูดเเล้วมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่านิรโทษกรรม การกระทำมันรวมถึงตรงไหน ต้องอธิบายเอาไว้เพราะหลายครั้งถ้ากฎหมายเขียนไม่ชัด ก็จะไปดูต้นร่าง ซึ่งทางปฏิบัติกฎหมายหลายร่าง พอเขียนชัดไม่ได้ คณะกรรมาธิการก็จะพูดเเล้ว สรุปบันทึกตามนั้น หากสงสัยว่าเรื่องนี้มีความหมายอย่างไรหรือมีปัญหาไม่เข้าใจในการตีความก็ให้กลับมาดูตรงนี้เเล้วยุติ 

ฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องจบในชั้นกรรมาธิการ ต้องพูดให้ชัดเพราะถ้าไม่ชัดเจนย่อมเกิดปัญหาในการตีความ ซึ่งเรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่จับตามองเท่านั้น เเต่รวมถึงต่างชาติด้วย มีผลกระทบในวงกว้างพอสมควรเเละเป็นเเนวทางปฏิบัติให้ประเทศอื่นๆ เอาไปอ้าง

ประเด็นที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะมายกเลิกผลของคำพิพากษาที่ศาลตัดสินไปเเล้วนันเป็นเรื่องใหญ่ ที่คณะกรรมาธิการต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบเเละบันทึกอย่างละเอียดเพราะปัจจุบันเรื่องเเบบนี้ หากออกมาไม่ชัดก็จะมีการประท้วงว่ากฎหมายเขียนมาเเค่นี้ เหตุใดตีความกว้างไปเเบบนี้ ทั้งนี้ ผมคิดว่าเรื่องใหญ่เเบบนี้คณะกรรมาธิการรู้อยู่เเล้วว่าจะต้องมัดประเด็นให้เเน่นเเละชัดเจน เว้นเเต่ว่าตั้งใจจะไม่มัดประเด็นเสียเอง

เรื่องสำคัญที่ถกเถียงกันอีกเรื่องอย่าง การคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องจบในชั้นกรรมาธิการ เพราะถ้าไม่จบ จะเป็นเรื่องให้โต้เถียงกันต่อไปว่าต้องคืนหรือไม่อย่างไร เเละก็เกิดการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรมคิดว่าต่อให้มีผลใช้บังคับ ถึงขั้นลงพระปรมาภิไธยเเล้ว ก็ต้องมีคนไปฟ้องศาลขอให้พิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 

ทั้งหมดจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ที่ต้องมีข้อสรุปให้ชัดเจนว่า กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมตรงไหนบ้าง ถ้าเขียนเอาไว้ได้ในกฎหมายก็ควรเขียนให้ชัดเจน เเต่หากเขียนไม่ได้ก็ต้องมีมติที่ชัดเจน เเละสรุปออกมาเป็นบันทึกในชั้นกรรมาธิการ เวลามีปัญหาในการตีความจะได้เปิดดูเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ เเต่ขั้นตอนที่ถูกต้อง ควรยกเลิกมาตรา 309 ก่อน เพื่อปราศจากภูมิคุ้มกัน ไม่อย่างนั้นจะมีคนไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญอยู่เเล้ว

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคประชาธิปัตย์

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่หมายรวมถึงคดีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ในที่ประชุม กมธ.นิรโทษฯ ทางฝ่ายค้านได้เสนอร้องขอให้ผู้แทนกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นนี้ โดยผู้แทนกฤษฎีกาให้ความเห็นชัดเจนว่า ในข้อความที่ใช้ระบุว่าองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีองค์กรเดียวคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในส่วนของประเด็นการจัดตั้งองค์กรผู้แทนกฤษฎีกาได้ยืนยันแล้ว 

นอกจากนั้นมีข้อความระบุต่อเนื่องว่า รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา หมายถึงเรื่องคดีต่างๆ ของ คตส. ที่ได้ส่งต่อไปยัง ป.ป.ช. และ กกต. ให้ดำเนินคดีก็จะถูกระงับด้วยเช่นกัน ทำให้คดีต่างๆ ที่เป็นการทุจริตก็กลับกลายเป็นถูกหมด ส่วนเรื่องของการที่ฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนหลังจบวุฒิสมาชิกก่อน เพราะตามกฎหมายศาลจะรับวินิจฉัยหลังจบวาระ 3 หรือระหว่างช่วงเวลาที่รอทูลเกล้าฯ 

ทั้งนี้ ขั้นตอนของ กมธ.นิรโทษฯยังไม่จบ แต่ดูแล้วท่าทีเขาจะเอาให้จบภายในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ช่วงนี้ดูเหมือนในสภาเร่งรัดมาก ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองขณะเป็นช่วงที่ไม่ควรเร่งรีบเรื่องดังกล่าว แต่ชัดเจนว่ารัฐบาลเร่งรัด เดินหน้าต่อไปแบบไม่มีถอย 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคประชาธิปัตย์ 

ตามที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายโดยที่นายประยุทธ์ ยอมรับเจตนารมณ์ที่ได้เสนอว่า ต้องการให้ยกเลิกคดีความผิดที่เกิดจากองค์กรหลังรัฐประหารโดยรวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แต่ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า นายประยุทธ์ไม่สามารถที่จะเหมารวมถึง กกต. และ ป.ป.ช.ได้ เพราะในร่างกฎหมายที่เขียนมาต้องหมายถึงการยกเลิกคดีที่เกิดจาก คตส.เท่านั้น 

ทั้งนี้ นายประยุทธ์ยืนยันกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าต้องการยกเลิกทั้งหมด อีกทั้งทางฝั่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กมธ.เสียงข้างมากก็ยืนยันตามที่นายประยุทธ์เสนอ ดังนั้น ก็ต้องว่าตามเขา แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะแย้งว่าไม่ได้ เช่นนี้หากมีการประชุมอภิปราย หรือมีการถาม ส.ส.ในการสรุปอภิปรายก็ต้องว่าไปตามนั้น การประชุม กมธ.

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมีการเร่งรัดทำให้คาดว่าเป็นไปได้ที่ทางฝ่าย กมธ.เสียงข้างมากจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวันที่ 30 ตุลาคม 

ไม่มีความคิดเห็น: