PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พท.คึก-ดัน"สุดซอย" นิรโทษกรรม ชนะศึก-ชนะ"สงคราม"



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 17:00 น.
วิเคราะห์



พิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประกาศพร้อมเริ่มต้นใหม่ เซตซีโร

พิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพิจารณาจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แล้ว

สรุปได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีความปรารถนาสนับสนุนคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ

ซึ่งขยายเนื้่อหาการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึง "แกนนำ" และ "ผู้สั่งการ"

การสนับสนุนดังกล่าว ผลักดันให้ นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ และกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันที่จะคงการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

เหตุที่สนับสนุนเพราะ มีข้อเสนอจากฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยว่า หากยังคงเนื้อความตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัยอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30

รัฐธรรมนูญมาตรา 30 ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน....

คล้ายกับว่า หากนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชน ไม่รวมถึงแกนนำและผู้สั่งการแล้ว จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัยขัดต่อความ "เสมอกันในกฎหมาย"

และอาจเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทย มีการประเมินสถานการณ์แล้วเชื่อว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนี้มีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้น

ผ่านแน่ ๆ

ผ่านได้เพราะแรงสนับสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 

ได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยนั้นมีสูงยิ่งในฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทย

ผ่านได้เพราะแรงต้านทานจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พลังมวลชนที่พยายามรวมตัวกันคัดค้านนั้นอ่อนแรง

ดังนั้น ณ ห้วงจังหวะเวลาเช่นนี้ ถือว่าการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยมีโอกาสเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด

ศึกครั้งนี้จึงเห็นชัยชนะอยู่เบื้องหน้า!

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ โดยให้นิรโทษกรรมไปถึง "แกนนำ" และ "ผู้สั่งการ" ด้วยนั้น ทำให้กระแสสังคมทั่วสารทิศขยับออกมาตั้งคำถาม

กลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มนี้คัดค้านมิให้มีการนิรโทษกรรม

กลุ่มนี้เคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เริ่มตั้งไข่

โดยมีเหตุผลสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดอาญา 

กลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นประธาน และรวมไปถึงกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ด้วย กลุ่มนี้คัดค้านมิให้นิรโทษกรรม แกนนำผู้สั่งการที่ก่อให้เกิดการฆ่าในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงให้สัมภาษณ์ว่า

แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะเหมารวมไปถึงผู้มีส่วนในการเสียชีวิตของประชาชนเมื่อเหตุการณ์ปี 2553 นายจตุพรบอกว่า...รับไม่ได้

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักวิชาการ ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง และอื่น ๆ

นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์กรณีที่เกิดขึ้น 2 ประเด็น 

ประเด็นแรก การรับหลักการในวาระที่ 1 คือ ให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้นิรโทษกรรมสุดซอย 

การมาตีความใหม่ของคณะกรรมาธิการ เมื่อเข้าวาระที่ 2 โดยหลักการแล้วไม่แน่ใจว่าจะมีผลทำให้พระราชบัญญัตินี้ตกไปหรือเปล่า 

ประเด็นที่สอง ถ้าพรรคเพื่อไทยดันทุรังทำไป จะเป็นการทดสอบพลังของสังคม ในด้านหนึ่งถ้าชนชั้นนำฮั้วกันได้หมด ทหารเองก็ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินี้ คนทำรัฐประหารอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือทั้งเสื้อเหลือง พ.ต.ท.ทักษิณ และเสื้อแดงเองจะได้รับประโยชน์ 

ถ้าชนชั้นนำฮั้วกันได้ ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยต่อไปข้างหน้าจะเผชิญอยู่กับวัฏจักรของการรัฐประหาร 

นายวิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า หลักการในรอบแรกที่ผ่านสภาไป คุยว่าจะไม่รวมแกนนำ และที่สำคัญที่สุดคือ พยายามสอดไส้การลดผลพวงของรัฐประหารไปด้วย เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากให้จบ 

คิดว่านี่ไม่ใช่การสอดไส้แบบตั้งใจ เพราะพูดตรงๆ ในเชิงรัฐบาล การแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ก็ดี คือร่างแรกที่ไม่รวมแกนนำโดย นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นที่ชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นการช่วยเหลือ

พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้ง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และแกนนำ

ทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ความผิดทางคดีอาญา

และ...การกระทำในขณะนี้เป็นการเพิ่มความหวาดระแวง คงไม่มีใครเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะไม่มีการสอดไส้ และประชาชนยังคงตกเป็นตัวประกันทางการเมืองต่อไป 

สรุปได้ชัดว่า นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังไม่มีกลุ่มใดเห็นพ้องกับการแก้ไขดังกล่าว

กลุ่มที่ไม่เห็นพ้อง ไม่อยากให้ "แกนนำ" ผู้ก่อเรื่องได้รับนิรโทษกรรม ไม่อยากปล่อยให้ประชาชนในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตายฟรี

ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยคิดใช้วิธี "หักดิบ" ในชั้นกรรมาธิการ เพื่อเอาชนะ "ศึก" ในการนิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยก็ต้องประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

เพราะการชนะ "ศึก" ใช่ว่าจะชนะ "สงคราม" 

ไม่มีความคิดเห็น: