PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปชป.จัดหนัก อ้าง'ปู'มุ่งช่วยทักษิณ



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 17:38 น.

ปชป. ย้อนรอย 2 ปีรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"มุ่งช่วยพี่พ้นทุกคดี ฟื้นอดีตเชิด"บิ๊กบัง"ดัน"ปรองดอง" ย้อนนายกฯ หยุดสร้างภาพต้านโกงถ้าหนุนนิรโทษฯ...

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อจะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า มีมาตลอดสองปีของรัฐบาลนี้คือ 1 นับตั้งแต่มีการเพิ่มข้อความในมาตรา 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ แต่นายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยพยายามปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะชัดเจนว่าทำไปเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และนักการเมืองในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา และคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะคดีทุจริตที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกเข้าไปเกี่ยวข้องถึง 16 คดี มีบุคคลเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 75 คน จึงชัดเจนว่าการแก้ไขตามนายประยุทธเสนอเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ก็มีพฤติกรรมที่จะอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม 2554 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปสิงห์บุรี ไม่ยอมกลับมาร่วมประชุม ครม. เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาเรื่องนี้ แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวเปิดเผยต่อสังคม ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จนทำให้ ครม.ไม่กล้าฝ่าด่านความไม่เห็นด้วยของประชาชน แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสมรู้ร่วมคิดด้วยก็ตาม เพราะการอ้างว่าไม่สามารถกลับกรุงเทพฯ มาร่วมประชุมได้นั้น ทำให้ประชาชนหัวเราะทั้งประเทศเพราะหากใช้เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ ก็สามารถนั่งรถกลับได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากนั้นยังมีความพยายามที่จะเชิด พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ให้เป็นประธานกรรมาธิการปรองดองฯ ของสภาฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาไปหางก็โผล่ว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และ นิรโทษกรรม โดยอ้างรายงานของสถาบันพระปกเกล้าในทางที่ตัวเองได้ประโยชน์ แต่ในปี 2555 เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ ก็เกิดความวุ่นวายอย่างมาก โดย พล.อ.สนธิ ถูก ส.ส.ล้อมกรอบเพื่อให้ถอนรายงานดังกล่าวออกไป เมื่อการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลก็เดินหน้าต่อในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อยกเลิกคดีความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็ยังค้างอยู่ในสภาฯ

นายองอาจ กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยมีการเสนอหลายฉบับซึ่งล้วนแต่เป็น ส.ส.ของรัฐบาล ทั้งร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานฯ ฉบับสุดซอย แต่กระแสต่อต้านรุนแรง จึงลดกระแสแล้วหยิบเอากฎหมายฉบับของนายวรชัยมาพิจารณาแทนโดยเอาประชาชนมาบังหน้า แต่ละเลยร่างของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด ผู้ช่วยพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ปี 53 และมีข่าวว่านายประยุทธ์ เดินทางไปรับใบสั่ง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลกำลังคิดถึงประโยชน์ตัวเองและพวกพ้องมากกว่าบ้านเมือง เพราะหากคิดถึงประเทศต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่นายกฯ หาทางยุติหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่วิสัยของนายกรัฐมนตรีที่ดี ในขณะที่ภาคประชาชนมีการรวมตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ นายกฯ จึงควรไตร่ตรองก่อนที่จะมีการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 และ 3 แม้จะขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ที่สำคัญคือ การนิรโทษกรรมคนทุจริตคอร์รัปชันเท่ากับรัฐบาลนี้กำลังสนับสนุนการทุจริต คอร์รัปชัน ดังนั้น นายกฯต้องหยุดพูดถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว หากเพราะเห็นด้วยกับการนิรโทษให้คนทุจริต เพราะเป็นการออกกฎหมายเพื่อการช่วยเหลือคนทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด จึงขอให้ประชาชนที่ต่อต้านการทุจริตต้องแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนทุจริต.




โดย ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: