PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จับตา"นิรโทษกรรม"สุดซอย เสื้อแดง-ปชป.กับความหวัง"วาระ2"



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556, 16:00 น.

ถกกันอย่างดุเดือดสำหรับการประชุมเพื่อให้ผู้เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยที่ 

"หัวเขียง" ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการฯ คนที่หนึ่งเสนอแปรญัตติ หักดิบ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องการนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำสั่งการชุมนุม ทหาร รวมไปถึงผู้สั่งการ) ในมาตรา 3 ใหม่ โดยระบุให้ขยายการนิรโทษกรรมเหมารวม ทุกกลุ่มทุกฝ่าย

สัญญาณร้อนของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยนี้ ดูได้จากการประชุมเพื่อให้ผู้เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ เพราะท่าทีของ กมธ.ทั้งสองฝั่ง อย่าง กมธ.ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย และ กมธ.ทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันในจุดยืนเดิมของตัวเอง 

โดย กมธ.ฝั่งพรรคเพื่อไทย จับมือแท็กทีมกันอย่างเหนียวแน่น ยืนกรานเห็นด้วยกับญัตติของ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ที่เสนอให้นิรโทษกรรมแบบเหมารวม ไม่ว่า กมธ.ในสัดส่วนที่เป็น ส.ส.และแกนนำคนเสื้อแดง จะเสนอแปรญัตติให้กับกลับมายึดร่างเดิม ฉบับ วรชัย เหมะ ที่ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำ และผู้สั่งการ แต่ก็ไม่สามารถทัดทานมติของ กมธ.เสียงข้างมากที่ยืนยันจะให้มีการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมเหมือนเดิม 

กมธ.ในสัดส่วนที่เป็น ส.ส.และแกนนำคนเสื้อแดง จึงต้องสงวนคำแปรญัตติ เพื่อนำเหตุผลไปอภิปรายต่อในสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 เพื่อโน้มน้าวให้ ส.ส.เปลี่ยนใจหันมายกมือสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ตามเดิมแม้จะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะให้เสียงของ ส.ส.ที่ส่วนใหญ่เป็นของพรรคเพื่อไทยยังยึดมั่นกับมติพรรคฯ อย่างเคร่งครัด 

ขณะที่ กมธ.ในฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ แม้พยายามจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ตลอดจนความคลุมเครือของ กมธ.เสียงข้างมากที่ยังไม่เคลียร์ข้อสงสัยในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ชัดเจน ทั้งเรื่อง ประเด็นกฎหมาย "เกี่ยวกับการเงิน" หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้เงินคืนจำนวน 4.6 หมื่นล้าน พร้อมดอกเบี้ย ที่ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว 

รวมทั้งการนิรโทษกรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากจะส่งผลให้คดีทุจริตการเลือกตั้งที่ กกต.วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่างปี 2547-2556 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่นั้น 

แม้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งใน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยจะออกมาให้ความเห็นว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีองค์กรเดียวคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ได้หมายรวมถึง คดีที่ กกต. และ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยหรือชี้มูลความผิดไปแล้วจะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย แต่ กมธ.ทางฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงไม่เชื่อมั่นในความชัดเจนถึงการตีความข้อกฎหมายในเรื่องนี้ 

จึงขอสงวนความคิดเห็นไว้เพื่อนำไปอภิปรายในสภาในการพิจารณาวาระ 2 

ซึ่งเบ็ดเสร็จมีบุคคลที่เสนอคำแปรญัตติ และเมื่อรวมกับกรรมาธิการฯ ที่สงวนความเห็นทำให้มีผู้ที่แปรญัตติในสภา รวมถึง 197 คน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 2 

หากเป็นไปตามนี้การพิจารณาในวาระ 2 ที่มีผู้ยื่นแปรญัตติและสงวนความเห็นเกือบ 200 คน คงทำให้สภากลับมาร้อนแรงอีกครั้ง และคงใช้เวลาการพิจารณาไม่ได้รวดเร็วตามที่พรรคเพื่อไทยคาดหวังไว้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีรายการเสนอญัตติปิดอภิปราย 

หากเป็นไปเช่นนั้นจะยิ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้กลุ่มการเมืองที่พร้อมใจกันเป่านกหวีดออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยนี้ ทวีความร้อนแรงขึ้นอีกเท่า 

ห้วงเวลาช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะวางแผนรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่อเค้าจะร้อนแรงได้เพียงใด เป็นเรื่องที่น่าติดตาม 

ไม่มีความคิดเห็น: