PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สรุปเนื้อหา สปช.


สรุปเนื้อหาของ พรฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 (สปช.)
เปิดดูรายละเอียดได้ที่  www.thaigov.go.th/th/news1/item/download/2232.html
-   พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาฯ แบ่งเป็น 11 ด้าน ตามแนวทางการปฏิรูป เสนอชื่อด้านละไม่เกิน 50 คน และคณะกรรมการสรรหาฯ ประจำจังหวัด เสนอชื่อจังหวัดละ 5 คน ก่อนนำบัญชีรายชื่อส่งให้ คสช.เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก

       พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 มีจำนวน 18 มาตรา เนื้อหาระบุถึงข้อกำหนดและรายละเอียดในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีที่มาแบ่งตามการปฏิรูป 11 ด้าน ประกอบด้วยคณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา ด้านเศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และด้านอื่น ๆ  รวมทั้งกรรมการสรรหาประจำจังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 12 คณะ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะแต่งตั้งผู้มีความรู้ ประสบการณ์ในแต่ละด้านทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา คณะละ 7 คน เพื่อให้เสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็น สปช. เสนอให้ คสช.สำหรับทำการคัดเลือกต่อไป

        สำหรับ ผู้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา สปช. ประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด นอกจาก กทม. ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายก อบจ. ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดของจังหวัดนั้นครั้งล่าสุด และประธาน กกต.ประจำจังหวัด เป็นกรรมการสรรหา ส่วนคณะกรรมการสรรหา สปช. ประจำ กทม. ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนใน กทม. และประธาน กกต.กทม.

        โดยจำนวน สปช. ใน 11 ด้านนั้น คณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้าน สามารถเสนอบุคคลเพื่อเป็นสปช. ได้ไม่เกินคณะละ 50 คน แต่ไม่ต้องน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ส่วนคณะกรรมการสรรหา สปช.ประจำจังหวัดสามารถเสนอชื่อบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นได้จังหวัดละ 5 คน ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือก สปช. ทั้งหมดต้องคำนึงถึงการกระจายผู้มีความรู้ความสามารถจากทุกภาคส่วน ความเท่าเทียมกันทางเพศและผู้ด้อยโอกาสด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาจะต้องพิจารณานิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสามารถเสนอชื่อได้ไม่เกิน 2 ชื่อ โดยเป็นมติของผู้บริหารนิติบุคคลนั้น จากนั้นจะต้องเสนอชื่อต่อหน่วยงานที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน

       ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้าน และคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอชื่อรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว คสช. จะคัดเลือกรายชื่อจังหวัดละ 1 คน รวมกับตัวแทนจากด้านต่างๆ ต้องไม่เกิน 250 คน จากนั้น หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้นำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุให้ตำแหน่ง สปช. ว่างลง หรือหากต้องแต่งตั้งเพิ่ม ให้ คสช.แต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็น สปช.ได้ รวมถึงหากมีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อ การสรรหา หรือปัญหาอื่นใด ให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้วินิจฉัยและถือว่าชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกันนี้ ยังให้ คสช.มีอำนาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลา หรือให้ดำเนินการและงดเว้นการดำเนินการใดที่เกี่ยวกับการสรรหา สปช. ได้

เปิดดูรายละเอียดได้ที่  www.thaigov.go.th/th/news1/item/download/2232.html