PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทุน การเมือง ตำรวจ

ทุน การเมือง ตำรวจ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556, 13:52 น.
โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ที่มา โพสต์ทูเดย์


ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้รัฐบาลปัจจุบันทำงาน|ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลและหน่วยงานที่มีงบการจัดซื้อจัดจ้างสูง ผู้บริหารเหล่านี้ทำงานได้ปกติตราบใดที่นักการเมืองยังไม่แทรกเข้ามา แต่เมื่อใดที่มีการจัดซื้อจัดจ้างหรือมีนโยบายเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้บริหารหน่วยก็เริ่มอยู่ไม่เป็นสุข มีหลายคนที่ไม่ต้องการติดคุกตอนแก่ ขอย้ายตนเองออกไปก่อน เพราะไม่คุ้มกับการอยู่ต่อแต่อาจต้องติดคุกทีหลังหรือโดนสังคมก่นด่าจนไปถึงลูกหลาน 

เพื่อนฝูงถามว่า ตำแหน่งออกดี เงินเดือนก็สูง ใครๆ ก็อยากอยู่ในตำแหน่งนี้ทั้งสิ้น กว่ามึงจะก้าวมาสู่จุดนี้ก็ยาก แล้วจะลาออกไปทำไมวะ ผู้บริหารคนนั้นตอบว่า อยู่ต่อก็ติดคุกน่ะซี เพราะที่มันสั่งกูมาแต่ละเรื่อง กูเห็นคุกรออยู่ข้างหน้าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นกูไปดีกว่า พร้อมระบายว่า ที่ผ่านมากูไม่เห็นนักการเมืองติดคุกสักที ที่มีก็น้อยมาก แต่คนที่ติดคุกคือข้าราชการอย่างกูมึงนี่แหละ ที่เป็นคนลงนามในคำสั่งจัดซื้อจัดจ้าง พวกมันไม่เคยลงนามเลย มันแด๊กซ์อย่างเดียว

การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบางหน่วยงานเวลานี้ แม้ความรู้ความสามารถเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ยังสำคัญน้อยกว่าคำสัญญาว่าจะยอมทำตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการหรือไม่ หากไม่ทำ ยังมีคนอื่นที่แม้อาวุโสน้อยกว่า ความรู้ความสามารถน้อยกว่า แต่เขาสัญญาว่าจะทำได้รออยู่ ดังนั้นปัจจัยตัดสินสุดท้ายอยู่ที่สัญญาว่าจะทำหรือละเว้นการกระทำตามที่นักการเมืองต้องการหรือไม่ อย่างไร ความรู้ความสามารถมาทีหลัง บางทีก็พาไปพบนายใหญ่เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าพร้อมจะเป็นทาสรับใช้ นายสั่งมาอย่างไรผมทำให้ได้ทั้งนั้น 

ไม่เพียงแต่ผู้บริหารระดับสูงของทางราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ที่ต้องตามใจรัฐบาลหรือไม่ขัดขวางกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการจึงจะอยู่ได้ นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักธุรกิจที่ไม่ตามใจรัฐบาลชุดนี้ และคนที่มีความเห็นต่าง ก็โดนกดดัน ข่มขู่ คุกคามสารพัดรูปแบบ ตัวเองโดนคนเดียวไม่พอ บางทีลูกเมียถูกหางเลขไปด้วย เริ่มต้นด้วยสัญญาว่าจะให้ อาทิ ให้ตำแหน่ง หรือให้มีส่วนแบ่งในผลประโยชน์ที่จะได้ หากทำตามหรือไม่ขัดขวางกับสิ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องการ แต่ถ้าหากไม่ทำตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการแล้ว ผลที่ตามมาคือ ไม่ได้ตำแหน่ง ไม่ได้งาน ไม่ได้โอกาส แล้วฝ่ายการเมืองก็ทำได้จริงๆ ตามคำพูด 

หากต่อรองหรือกดดันผู้บริหารคนนี้หรือผู้เห็นต่างไม่ได้ ก็สืบจนรู้ว่าลูกหลานของผู้นี้ทำงานอยู่ที่ไหน ในภาคราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด แล้วไปเสนอว่าจะเลื่อนยศชั้นตำแหน่งให้ลูกหลานสูงขึ้นไป หรือให้ไปประจำการในต่างประเทศหากต้องการ แต่ถ้าไม่ทำตาม ภรรยาและลูกหลานอาจได้รับผลกระทบในการทำงาน และฝ่ายการเมืองก็ทำได้จริงตามที่ขู่ จุดอ่อนของคนคือ บางทีตัวเองไม่กลัว แต่ห่วงลูกเมียมากกว่า 

หากข้าราชการหรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือผู้เห็นต่างคนใดทำผิดกฎระเบียบหรือผิดศีลธรรม จริยธรรม ผู้มีอำนาจจะแสวงประโยชน์จากจุดอ่อนนี้ทันที โดยใช้ต่อรองให้บุคคลนั้นกระทำหรือละเว้นการกระทำตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ เช่น หากรู้ว่าผู้นั้นยักยอก ทุจริต หรือเอาเงินไปฝากไว้ต่างประเทศ ก็จะใช้ต่อรองไม่ให้พูดโจมตีรัฐบาล หรือเปลี่ยนมาสนับสนุนรัฐบาลแทน บางคนแอบไปมีเมียน้อยซุกซ่อนไว้ เขาก็ดักฟังโทรศัพท์การสนทนาออดอ้อนระหว่างนักการเมืองกับเมียน้อย และนำมาใช้ข่มขู่แบล็กเมล์ไม่ให้นักการเมืองคนนี้อภิปรายโจมตีรัฐบาล หรือไม่ทำอะไรที่จะทำให้รัฐบาลเสื่อมเสีย เป็นต้น 

วิธีหนึ่งใช้ได้ผลมาแล้ว คือ ฝ่ายมีอำนาจรู้จักนิสัยของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามดีว่าชอบเด็กเอ๊าะๆ จึงสะกดรอยตามจนไปพบแหล่งพักผ่อนประจำ พอถึง วัน ว. เวลา น. ก็แจ้งให้ตำรวจไปจับกุมดำเนินคดีติดคุกติดตะรางกันไป เท่ากับทำลายคู่แข่งทางการเมืองจนไม่มีโอกาสเกิดอีก 

นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามบางคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตก็เคยโดนแบล็กเมล์มาแล้ว เพราะพลาดถูกแอบดักฟังโทรศัพท์ที่ตนเองคุยกับเมียน้อย แม้เป็นฝ่ายเดียวกัน แต่ผลประโยชน์ขัดกันก็โดนแบล็กเมล์มาแล้ว เช่น มีการใช้ภาพถ่ายที่นักการเมืองแอบเข้าโรงแรมกับกิ๊กสาวกลางวันแสกๆ ไปแบล็กเมล์ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในทางมิชอบนำไปแบล็กเมล์เพื่อประโยชน์ของตนเอง 

วิธีป้องกันดีที่สุด คือ อย่าไปสร้างจุดอ่อนของตัวเองจนผู้อำนวยเอาไปใช้ประโยชน์ได้

นายทุนระดับชาติบางคนที่สนับสนุนด้านการเงินให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักให้ยุติการช่วยเหลือดังกล่าว โดยทั่วไป นักธุรกิจไม่ว่าใครก็ตามไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาล เพราะจะ “ไม่ได้รับความสะดวก” ในการติดต่อกับทางการ เสียโอกาสในการประมูลงานโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ บางคนถึงกับต้องเดินทางไปพบนายใหญ่เพื่อขอ “ชี้แจง” และถูกขู่ว่าต่อไปอย่าทำอีก 

มาตรการตรวจสอบภาษีย้อนหลังเป็นเครื่องมือประการหนึ่งของฝ่ายมีอำนาจในการข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับตน แม้ตัวเองไม่ได้ทำธุรกิจ แต่ญาติพี่น้องที่ทำธุรกิจก็ยังถูกตรวจสอบด้วย แม้ตัวเองจะบริสุทธิ์สะอาด แต่ญาติพี่น้องอาจโดนข่มขู่คุกคามเพื่อใช้ญาติพี่น้องมากดดันไม่ให้พูดต่อต้านรัฐบาล เพราะญาติพี่น้องเดือดร้อนไปด้วย

เวลานี้หน่วยงานรัฐบางแห่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่มีความเห็นต่าง โดยเฉพาะหน่วยงานหนึ่งที่หัวหน้าหน่วยคุยว่ามีเครื่องมือในการดักฟังที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในประเทศ ทั้งที่เครื่องมือเหล่านี้ถูกซื้อด้วยเงินภาษีของประชาชน โดยเจ้าของเงินต้องการให้เอามาใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เอามาใช้เป็นเครื่องมือสนองความต้องการของฝ่ายการเมือง 

การใช้อันธพาลไปข่มขู่ผู้มีความเห็นต่างเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ การข่มขู่มีทั้งรูปแบบต่างๆ อาทิ ส่งคนไปคุกคามที่บ้าน ข่มขู่ทางโทรศัพท์ ทุบกระจกรถ ทำร้ายร่างกาย การเซ็นเซอร์รายการที่เห็นต่างหรืออาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล เป็นต้น ฝ่ายตรงข้ามคนไหนที่ชอบคุยว่าเป็นผู้รู้ความลับหรือกุมความลับสำคัญของผู้มีอำนาจทางการเมืองไว้ อาจตายเอาง่ายๆ เพราะฉะนั้นหากใครรู้ความลับอะไรอย่าเก็บไว้กับตัว เพราะเป็นอันตราย รีบแพร่กระจายให้สื่อและสังคมรู้โดยเร็ว 

คนที่มีความเห็นต่างอย่างรุนแรงกับรัฐบาล เวลานี้จะไปไหนมาไหนก็ระมัดระวังตัวกันหน่อย อย่าไปที่เปลี่ยวคนเดียว ไปไหนมาไหนมีเพื่อนไปด้วยก็ดี การพูดโทรศัพท์ก็ระมัดระวัง แม้โทรศัพท์มือถือก็มีจุดอ่อน ต้องรู้จักเลือกค่าย แต่อย่ากลัวจนเป็นโรคประสาทไปเสียก่อน 

ทุน การเมือง ตำรวจ จับมือกันได้เมื่อไร คนที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาลเดือดร้อนเมื่อนั้น 

เปิด9ปมร้องค้านแก้รธน.รอศาลชี้ชะตา



วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2556, 13:18 น.
โดย...ทีมข่าวการเมือง 

เปิดศึกอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาอย่างดุเดือด ในที่สุดพรรคเพื่อไทยโบกธงนำพรรคร่วมรัฐบาลผสาน สว.เลือกตั้งเทเสียงโหวตวาระ 3 ปูทางให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเเละ รมว.กลาโหม ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่มา สว.เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากมีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้ระบบการได้มาซึ่ง สว.เป็นไปดังนี้ 1.ยุบระบบ สว.สรรหา ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน มีวาระดำรงตำเเหน่ง 6 ปี และไม่จำกัดวาระการดำรงตำเเหน่ง 2.บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง สส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถลงสมัครได้ 3.ผู้ที่ลงสมัคร สว.สามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค การดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง สส.หรือ รัฐมนตรี แล้วสามารถลงสมัคร สว.ได้ทันทีโดยไม่กำหนดเวลาเว้นวรรคหลังจากลาออก 

อย่างไรก็ตามระหว่างที่รัฐสภายังประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ปรากฏว่า สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ สว.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลได้มีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 4 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สส.ปชป. ,นายสาย กังกเวคิน สว.ระยอง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สส.ปชป.แต่มีคำสั่งยกคำขอ ที่ผู้ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวการลงมติในวาระ 3 รวมถึงยกคำขอล่าสุดของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา ที่ขอชะลอการทูลเกล้าฯ สมาชิกรัฐสภาจึงสามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 นำไปสู่การทูลเกล้าฯ โดยปราศจากคำสั่งคุ้มครองของศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้ จึงอยู่ที่คำร้องของ สส.ปชป.และกลุ่ม สว.ที่ศาลมีมติรับคำร้องก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องจับตาว่าที่สุดแล้วศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาแนวทางใด โดยคำร้องค้านการเเก้ไขรัฐธรรมนุญที่มา สว.ทั้งหมดแบ่งออก 9 ประเด็น ดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการและเหตุผลให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้วิธีการได้มาซึ่ง สว.มีลักษณะเช่นเดียวกับ สส.เพื่อให้ สว.สรรหาพ้นจากวุฒิสภานั้น เพราะทำลายการถ่วงดุลส่งผลให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาบวกกับจำนวน สว.ที่มีฐานทางการเมืองเดียวกับพรรคฝ่ายข้างมาก ทำให้มีเสียงในรัฐสภาเกินกว่า 2 ใน 3 กรุยทางนำไปสู่การเกิดเผด็จการโดยรัฐสภาแบบเบ็ดเสร็จ ทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นญัตติต้องห้ามจะเสนอมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) วรรค 2

2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ในส่วนของคำปรารภว่า “การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม”

3. ในร่างแก้ไขมาตรา 11 วรรค 3 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง หรือมีเหตุอื่นใดทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาฯ นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่สภาให้ความเห็นชอบเสนอต่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความมาตรา 150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งมาตรานี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหมวด 6 มาตรา 140 และ 141 ที่กระบวนการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต้องผ่านวุฒิสภาให้พิจารณา 3 วาระ และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อน

4. ร่างแก้ไขมาตรา 12 บัญญัติให้ สว.สรรหา สิ้นสุดสมาชิกภาพในวันที่ สว.ได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ทำให้ สว.สรรหา ที่เหลือวาระดำรงตำแหน่งถึง ก.พ.2560 ต้องถูกตัดสิทธิให้เหลือเพียงเดือน พ.ค.2557 จึงเป็นการลบล้างสิทธิการดำรงตำแหน่งของ สว.สรรหา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รัฐธรรมนูญปี 50 รับรองไว้ นอกจากนี้ผลของร่างแก้ไขมาตรา 12 ยังขยายวาระดำรงตำแหน่งของ สว.เลือกตั้งเพิ่มขึ้น โดยญัตติที่เสนอโดย สว.เลือกตั้งเอง เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 

5. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอญัตติโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร สส.พรรคเพื่อไทย กับร่างแก้ไขฉบับที่สมาชิกรัฐสภาทำการพิจารณาเป็นคนละฉบับกัน มีเนื้อหาต่างกันหลายส่วน เช่น ร่างฉบับที่แจกจ่ายให้สมาชิกสอดแทรกหลักการ โดยกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และมาตรา 241 วรรค 1 เพิ่มเข้ามา มีการแทรกข้อความเพิ่มเข้าไปในมาตรา 5 ในส่วนของมาตรา 115 (9) มีการแทรกมาตรา 6 ขึ้นมาใหม่ทั้งมาตรา เป็นต้น

6. การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 เวลาประมาณ 02.00 นาฬิกา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรค 2 และฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จากกรณีมีผู้เสนอญัตติกำหนดเวลาการแปรญัตติต่างกัน คือ ภายใน 15 และ 30 วัน โดยต้องขอมติจากที่ประชุมเพื่อวินิจฉัย แต่เมื่อนับองค์ประชุมแล้วปรากฏว่าไม่ครบองค์ แทนที่นายสมศักดิ์จะมีคำสั่งให้ปิดการประชุมหรือเลื่อนการประชุม แต่กลับทำการวินิจฉัยเสียเองว่าเมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องถือเอากำหนดเวลาในการแปรญัตติภายใน 15 วัน

7. การประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระ 2 วันที่ 20 ส.ค.2556 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยตัดสิทธิสมาชิกรัฐสภาผู้สงวนคำแปรญัตติและกรรมาธิการเสียงข้างน้อย รวม 57 คน โดยอ้างว่าคำแปรญัตติและการสงวนความเห็นของสมาชิกขัดต่อหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งที่สิทธิในการอภิปรายสนับสนุนคำแปรญัตติของสมาชิกในวาระ 2 ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ประธานรัฐสภาจะลิดรอนไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ดังนั้นการตัดสิทธิสมาชิกย่อมมีผลให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยมิชอบ

8. นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรค 4 ที่บัญญัติให้ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ นายนิคมยังถือเป็น สว.เลือกตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา แต่การทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีผลประโยชน์ต่อ สว.เลือกตั้งนั้น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สส.และ สว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

9. การประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.เวลา 17.33 น.ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายนริศร ทองธิราช สส.พรรคเพื่อไทย จ.สกลนคร ได้ทำการกดบัตรลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่น การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ที่บัญญัติให้การลงคะแนนเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน และถือว่าผู้ที่ลงคะแนนให้นั้นลงคะแนนเสียงเกินกว่าหนึ่งคะแนน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 126 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน”

เส้นทาง"จรูญ อินทจาร"ประธานศาลรธน.คนใหม่


วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2556, 04:38 น.
โดย...ทีมข่าวการเมือง

เป็นไปตามคาดเมื่อที่ประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ “จรูญ อินทจาร” เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญใหม่แทน “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปจะส่งเรื่องให้ “นิคม ไวยรัชพานิช” ประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

จรูญ ในวัย 69 ปี จะมีวาระดำรงตำแหน่งอีกเพียงหนึ่งปีเท่านั้น เพราะทันทีที่มีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 29 พ.ค. 2557 จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ โดยเวลาเหลืออีกเพียงประมาณ 1 ปี แม้จะเป็นเวลาที่สั้นแต่หนทางข้างหน้านับว่าวิบากไม่น้อย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีงานใหญ่รออยู่ถึง 2 งานด้วยกัน

1.การวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแยกย่อยเป็นอีก 2 ประเด็น 

- การวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 ที่ตัดอำนาจไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องจากประชาชนว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้โดยตรง ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยมีอยู่ในสารบบของศาลอยู่จำนวน 6 คำร้อง 

- การวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ สว. เป็นลักษณะของการกระทำที่เข้าข่ายต่อการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งมีอยู่ในสารบบของศาล 4 คำร้อง 

2.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ หลังจากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในอนาคต

นอกเหนือไปจากงานวินิจฉัยอรรถคดีแล้ว ประธานศาลคนใหม่ยังมีภารกิจในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระถึง 3 องค์กรด้วยกัน ได้แก่ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 คน 2.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน และ 3.กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 1 คนแทน 

สำหรับเส้นทางในสายศาลรัฐธรรมนูญของ “จรูญ” เริ่มจากการได้รับฉันทามติจากที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2551 ให้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับ “อุดมศักดิ์ นิติมนตรี” โดยการทำงานในด้านการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นที่ปลาบปลื้มของพรรคเพื่อไทยมากนัก ไล่ตั้งแต่ปี 2551 วินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นเวลา 5 ปี

ถัดมาปี 2553 ได้เป็นเสียงข้างมากไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคำร้องกล่าวหาว่าบริษัท ทีพีไอโพลีน จ่ายเงินค่าจ้างทำสื่อโฆษณาให้กับบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น เป็นการอำพรางการบริจาคเงินของบริษัท ทีพีไอโพลีน ให้กับพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 258 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ ในปีเดียวกันได้แจ้งความดำเนินคดีกับ “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทย ในข้อหาหมิ่นประมาทเกี่ยวกับการบริหารในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้จรูญต้องขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะตุลาการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ในปมเงินบริจาคเข้าพรรค 29 ล้านบาท

ขณะที่การวินิจฉัยคดีในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของจรูญนับว่ามีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะใน 2 คดีสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

เริ่มตั้งแต่การให้ความเห็นว่าการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุน วางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 

“การโอนการบริหารจัดการหนี้ไปให้กองทุนฯ มีเจตนา เพื่อบรรเทาภาระของงบประมาณแผ่นดินในการที่จะต้องจัดการคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ยของกองทุนฯ อันจะทำให้มีงบประมาณแผ่นดินสำหรับจัดสรรไปฟื้นฟู บรรเทา เยียวยา และในการบริหารจัดการป้องกันอุทกภัย” ส่วนหนึ่งจากความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2555 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ “จรูญ” ได้ให้แนวทางเอาไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตนว่า “หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่...ย่อมกระทำได้โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งอาจแสดงออกโดยการลงประชามติเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” (วันที่ 13 ก.ค. 2555) 

เห็นแบบนี้แล้วทำให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ผู้นำคนใหมจึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง