PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

การซื้อเรือดำน้ำในอดีต

ความคิดที่ว่าสยามควรจะมีเรือดำน้ำเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ทำให้ต้องระงับการสร้างเรือดำน้ำไป จนได้มีการรื้อฟื้นการสร้างเรือดำน้ำขึ้นอีกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ความคิดที่จะมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือเป็นจริงขึ้นมาได้ หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คือในปลายปี 2477 สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นได้อนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2477 ให้กองทัพเรือจัดการบำรุงกำลังทางเรือให้เสร็จใน 6 ปี ใช้งบประมาณ 18 ล้านบาท
นาวาเอกพระยาวิจารณ์จักรกิจ ผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนั้นเห็นว่าไทยควรจะมีเรือดำน้ำเป็นอาวุธทางทะเล เพื่อป้องกันประเทศ จึงให้นาวาเอกหลวงสินธุ์สงครามชัย เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้นเป็นหัวแรงในการจัดหา มีการตั้งกรรมการจัดหากำลังทางเรือขึ้นมา ก่อนมีการประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2478 จากนั้นเป็นขั้นตอนบริษัทตัวแทนต่างๆ และอู่ต่อเรือในต่างประเทศ ให้มีการเริ่มเสนอราคาและรายการเรือประเภทต่างๆ โดยเป็นแบบเรือที่มีอยู่แล้ว ก่อนที่ภายหลังจะมีการกำหนดคุณสมบัติของเรือดำน้ำขึ้นมา หลักๆ เช่น ขนาดระหว่าง 300-400 ตัน ตอร์ปิโด ให้มีท่อประจำทางหัว 4 ท่อ มีปืนใหญ่ขนาด 75-80 มม. 1 กระบอก ปืนกลแล้วแต่จะออกแบบ ความเร็วตามแบบนั้นๆ ไม่จำกัด
ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวไม่มากเลยเมื่อเทียบกับสมัยนี้ โดยการประชุมในวันที่ 9 ตุลาคม มีบริษัทและอู่ต่อเรือประเทศต่างๆ ได้ร่วมเสนอราคากันอย่างคึกคัก ตามรูปภาพประกอบดังนี้
ตารางแสดงรายละเอียด ประเทศต่างๆที่เคยร่วมเสนอราคา ต่อเรือดำน้ำให้ไทย ในปี 2478 – ภาพจาก นาวาเอกไชยา เตี้ยมฉายาพันธุ์ นาวิกศาสตร์ ปีที่ 92 เล่มที่ 10 ตุลาคม 2552
ก่อนที่ที่ประชุมกรรมการดังกล่าวจะมีมติเลือกข้อเสนอของญี่ปุ่น มีการลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทมิตซูบิชิ แห่งเมืองโกเบ จำนวน 4 ลำ ทำให้ไทยมีเรือดำน้ำเป็นครั้งแรก และเข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2481
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 เมษายน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ตามที่กองทัพเรือเสนอ โดยหากซื้อครบ 3 ลำ จะใช้งบประมาณรวม 3.6 หมื่นล้านบาท คงต้องจับตาเรื่องคุณสมบัติต่างๆ รวมถึงประโยชน์การใช้งานที่จะได้รับจากเรือดำน้ำจีน ซึ่งจะเป็นอาวุธชิ้นใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าของทัพเรือไทย
แบบแปลนเรือดำน้ำของไทย ในขณะนั้น – ภาพจาก นาวาเอกไชยา เตี้ยมฉายาพันธุ์ นาวิกศาสตร์ ปีที่ 92 เล่มที่ 10 ตุลาคม 2552


ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก นาวาเอกไชยา เตี้ยมฉายาพันธุ์ ใน “นาวิกศาสตร์” ปีที่ 92 เล่มที่ 10 ตุลาคม 2552 หน้า 33-34