PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บันทึกของ นิค นอสติทซ์ "รามคำแหง : มุมมองจากในสนามกีฬา"

     นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวที่ติดตามความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เขียนบันทึกกรณีเหตุการณ์ปะทะที่ราชมังคลากีฬาสถานและ ม.รามคำแหง คืนวันที่ 30 พ.ย. โดยเล่าตั้งแต่เหตุการณ์นักศึกษาทำร้ายร่างกายคนบนรถบัสข่วงบ่าย ไปจนถึงเหตุการณ์ปะทะช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า
     เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2556 นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในเมืองไทย ได้เขียนบันทึกกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ราชมังคลากีฬาสถานและที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในคืนวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. ชื่อบทความ "รามคำแหง : มุมมองจากในสนามกีฬา" (Ramkhamhaeng: A view from inside the stadium) เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ New Mandala เนื้อหามีดังนี้
     นี้คือบันทึกถึงสิ่งที่ผมพบเห็นในราชมังคลากีฬาสถาน และที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนระหว่างวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. 2556 มีนักข่าวน้อยคนมากที่จะอยู่ที่นั่นตลอดคืน เพื่อนร่วมงานของผมส่วนใหญ่กำลังเตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์การปะทะกันที่อาจจะเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานตำรวจในวันถัดไป ผมเองก็เกือบจะทำอย่างเดียวกันแล้ว แต่ว่าการที่มีคนทำร้ายผมในวันที่ 25 พ.ย. ตามมาด้วยการรณรงค์สร้างความเกลียดชังจะทำให้ผมไม่อยากไปที่แหล่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ผมจึงเดินทางไปที่การชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชมังคลากีฬาสถาน เหตุผลส่วนใหญ่คือมันเป็นที่ๆ ทำให้ผมปลอดภัย และเพราะผมรู้สึกอยากออกไปทำอะไรสักอย่างมากกว่าจะรู้สึกซึมเศร้าอยู่ที่บ้าน อย่างน้อยผมก็อยากถ่ายภาพสนามกีฬาที่เต็มไปด้วยผุ้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งเป็นภาพชวนประทับใจ ผมไม่เคยคิดมาก่อนแม้แต่น้อยว่าผมจะได้เห็น ได้ประสบกับค่ำคืนที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553
     ผมเก็บบันทึกไว้ไม่เผยแพร่มาจนถึงบัดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าผมอาจตกเป็นเป้ามากขึ้น สิ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบอกเล่าออกมาดูขัดกับสิ่งที่ผมได้เห็นจริง และผมเองก็ต้องรอการยืนยันข้อเท็จจริงกับข้อมูลเพิ่มเติมในหลายๆ กรณี
     ในวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. ผมออกจากบ้านไปตอนบ่าย 4 โมงด้วยรถจักรยานยนต์ของผมเอง ปกติแล้วการเดินทางไปราชมังคลาจะใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 40 นาที แต่วันนั้นผมใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีรถติดมากขนาดนี้ การจราจรแทบไม่เคลื่อนไปข้างหน้าเลย แต่เมื่อภรรยาของผมโทรหาไม่นานนักก่อนกำลังจะถึงสนามกีฬาเธอบอกว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงไปปิดถนนรามคำแหง มีการค้นรถเพื่อหาเสื้อแดงและทุบตีพวกเขา โชคดีและอาจจะถือว่าฟลุ๊กที่ผมตัดสินใจไปใช้ถนนลาดพร้าว แทนถนนพระราม 9 เช่นที่เคยใช้ปกติซึ่งจะทำให้ผมต้องผ่านมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาตรวจค้นเสื้อแดง
     เมื่อผมไปถึงสถานที่ผมก็เจอเพื่อนบางคนถ่ายภาพนักศึกษาทุบตีคนเสื้อแดง มีคนหนึ่งบอกผมว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งตบหน้าช่างภาพต่างประเทศขณะที่เขากำลังถ่ายภาพเหตุการณ์ ผมอยู่ห่างๆ มหาวิทยาลัยและกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลกลุ่มนั้นเพราะกลัวว่าพวกเขาจะจำผมได้หลังจากมีการสร้างความเกลียดชังตัวผมผ่านเพจบลูสกายแชนแนลในเฟซบุ๊ค ผมอาจจะโดนแบบเดียวกับที่เสื้อแดงโดนได้ เพื่อนผมบอกว่าไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเริ่มการต่อสู้ก่อน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่านักศึกษาได้ดึงตัวคนเสื้อแดงทุกคนออกมาจากรถโดยสาร รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนตัวเพื่อลงไม้ลงมือ ต่อมาเพื่อนผมที่อยู่มาตั้งแต่ช่วงบ่ายสองโมงครึ่ง ถึงบ่ายสามโมง บอกว่าในตอนนั้นก็เริ่มใช้อารมณ์รุนแรงกันแล้ว ภายใต้การควบคุมของการ์ดเสื้อดำโพกหัวธงชาติไทย ซึ่งตอนนั้นพวกเขาอยู่ที่หน้าทางเข้าซึ่งมีเวทีเคลื่อนที่และตะโกนใส่รถหรือจักรยานยนต์ทุกคันที่รับส่งคนเสื้อแดง
     ในเตนท์พยาบาลหน้าสนามกีฬา มีคนเสื้อแดงที่ถูกทุบตีได้รับการรักษาอยู่ เขาต้องอยู่ที่นี่ไปก่อนเพราะการลำเลียงผู้บาดเจ็บตอนนี้มีความเสี่ยงเกินไป เขาชื่อวิชืต กัลยาโท อายุ 45 ปี เขาบอกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนราวๆ สี่โมง และมีเขาคนเดียวที่เป็นผู้ประท้วงเสื้อแดงที่อยู่บนรถประจำทางตอนที่นักเรียนพากันล้อมรถประจำทางและเริ่มทุบกระจกรถ เขาจึงตัดสินใจลงจากรถเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นเป็นอันตราย เขาถูกลากไปที่ถนนรามคำแหงซอย 43 ด้านตรงกันข้ามกับทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัยถูกคน 10 ถึง 20 คนรุมทำร้าย บังคับให้ถอดเสื้อแดงออก ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และเตือนไม่ให้เข้าไปในสนามกีฬา แต่วิชิตก็ยังคงหาทางเข้าไปในสนามกีฬาได้ขณะที่ตัวเขาเองกระดูกซี่โครงหลายซี่รวมถึงกระดูกไหปลาร้าหัก มีรอยฟกช้ำทั่วตัว พอถึงเวลาหนึ่งทุ่มครึ่งหน่วยกู้ภัยอาสาก็มากันมาที่ด้านนอกและนำตัวเขาออกไปจากพื้นที่โดยใช้เปลพยาบาล เพื่อไปที่สถานีตำรวจหัวหมากที่มีรถพยาบาลจอดอยู่
     ตกเย็นนักศึกษารามคำแหงก็มารวมตัวกันที่อีกฟากของถนนรามคำแหง เยาะเย้ยและตะโกนใส่กลุ่มเสื้อแดง ตำรวจที่คุ้มกันอยู่หน้าทางเข้าสนามกีฬามีเพียงไม้กระบองและโล่ห์ป้องกันเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ คอยทำหน้าที่โบกรถให้ไปอีกทาง
     คนเสื้อแดงที่เฝ้าประตูมีไม้กระบองกับท่อนเหล็กเป้นอาวุธเพื่อใช้ปกป้องตัวเองเนื่องจากมีโอกาสที่นักศึกษาจะเข้าโจมตีพวกเขา พวกเขาตั้งรับและคอยหลบอยู่หลังเส้นกั้นตำรวจบางที่ใช้ป้องกันอะไรไม่ได้อยู่ในสนามกีฬาตลอดเวลา อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สนามหญ้าหลังหนองน้ำเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างถนนกับสนามหญ้า
      ที่ประตูหลังไปสู่สนามกีฬาก็มีสถานการณ์คล้ายๆ กัน มีซอยแคบๆซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับเสื้อแดง สนามกีฬาราชมังคลาจึงถูกล้อมโดยที่เสื้อแดงไม่สามารถเข้าหรือออกไปได้เนื่องจากกลัวว่าจะถูกทุบตีหรือทำร้าย
     เวลาราวสองทุ่ม ผมก็เดินไปที่ทางเข้าเวที ในตอนนั้นเองมีระเบิดลูกเล็กๆ ถูกขว้างจากมหาวิทยาลัยข้ามรั้วเข้ามาในสนามกีฬา มาระเบิดตรงกระจกหน้ารถที่จอดอยู่ในนั้น ผมเห็นควันลอยมาจากส่วนที่ถูกระเบิด
     จากนั้นผมก็เข้าไปในสนามกีฬาเพื่อเก็บภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่มีอยู่เต็มสนาม
     เสร็จแล้วผมก็ไปที่ประตูหมายเลข 5 ออกไปทางซอยรามคำแหงที่ 24 ที่นั่นมีเสื้อแดงถือท่อนอาวุธยืนรวมตัวกันหลังแถวตำรวจที่ดูเบาบางในเขตสนามกีฬา มีเฮลิคอปเตอร์ตำรวจส่องไฟลาดตระเวณไปทั่วพื้นที่อยู่ตลอดเวลา มันเป็นฉากที่น่าขนลุกชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในปี 2553 
    ในเวลาสามทุ่มสี่สิบนาที ก็มีเสียงปืนดังมาจากบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยที่ทางเข้าด้านหลัง มีเสื้อแดงหลบอยู่หลังรถที่จอดอยู่ แล้วก็วิ่งหนี แล้วก็ก้มหลบอีก การ์ดหลายคนพยายามมองหาว่าคนยิงอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะจากอาคารในมหาวิทยาลัยหรือบนพื้นที่ใกล้กับกำแพง ผมอยู่ที่นั่นราว 30 นาที
     เมื่อเหตุการณ์เริ่มเงียบสงบลงผมก็ไปที่ประตูที่ 5 อีกครั้ง มีคนบอกว่ามีการปะทะเกิดขึ้นที่ซอยรามคำแหง 24 หลังสนามกีฬาตรงทางเข้ามหาวิทยาลัย ที่ประตูผมเห็นเสื้อแดงหลายคนที่เกยกันอยู่ข้างนอกกำลังหวาดผวาก่อนที่จะได้เข้าไปข้างใน
     เวลาประมาณสี่ทุ่มสี่สิบนาที ผมเข้าไปที่เขตปะทะอย่างช้าๆ และระมัดระวัง อยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตรจากประตูด้านขวา แต่ก็ตั้ดสินใจอยู่หลังเส้นกั้นเพราะอยากหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนจับตัวหรือมีนักศึกษาคนใดจำหน้าได้ ซึ่งผมเห็นเงาร่างของนักศึกษาได้จากระยะห่างหลังเส้นกั้นของเสื้อแดง มีคนในพื้นที่เล็กน้อยมองดูฉากสถานการณ์จากข้างถนน มีเสียงปืนและเสียงระเบิดปิงปองดังหลายครั้งมาก ไม่นานนักนักสู้เสื้อแดงก็บุกไปพร้อมกับไม้กระบองสองไม้ชู้ขึ้น ส่งเสียงร้อง และโห่แสดงความดีใจซ้ำๆ ว่า "มีเสียงปืนหลายนัด แต่พวกเราไม่มีใครตายเลย พวกเราไม่มีใครตายเลย!"
     ถึงตอนนั้นดูเหมือนว่านักสู้เสื้อแดงจะสามารถดันกลุ่มนักศึกษากลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยและตามตรอกได้ ห่างออกไปจากสนามกีฬา มีเสื้อแดงบางคนอยู่ที่กำแพงมหาวิทยาลัยซึ่งตรงนั้นยังมีเสียงปืนและระเบิดให้ได้ยินอยู่ ผมไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นคนยิง และคิดว่าจะดีกว่าถ้าไม่เข้าไปใกล้กว่านี้ เมื่อมีคนจากอาคารด้านบนมองออกมา เสื้อแดงก็ตะโกนบอกให้เขาปิดหน้าต่างเสีย พวกเขาอธิบายกับผมว่ามีคนจากอาคารบางแห่งขว้างปาขวดลงมาที่พวกเขาในช่วงที่มีการต่อสู้
     เมื่อถึงเวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง ก็มีรถตำรวจหลายคันเรียงขบวนเข้ามา มีบางส่วนอยู่ห่างออกไปทางถนนที่มีนักศึกษาอยู่ ที่เหลือมาหยุดอยู่ที่พื้นที่ของกลุ่มเสื้อแดง นักสู้เสื้อแดงส่งเสียงเชียร์ให้กับตำรวจ หลังจากนั้นสถานการณ์ก็วุ่นวายน้อยลงมาก
     เพื่อนชาวต่างชาติของผมบางคนเดินผ่านมา พวกเขาอยู่ตอนช่วงที่มีการปะทะ พวกเขาบอกว่าแนวหน้าของการปะทะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงหนึ่งเป็นนักศึกษา ต่อมาเป็นกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งย้ำให้ผมรู้สึกว่าผมตัดสินใจถูกที่อยู่ข้างหลัง มีคนหนึ่งเผยรูปให้เห็นนักศึกษาที่ถูกสังหาร กับรูปของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บสาหัสและถูกจับตัวไว้
     คนเสื้อแดงและตำรวจช่วยหันพาตัวพนักงานร้านพิซว่าคอมพานีที่กำลังหวาดกลัวออกมาจากร้าน กระจกหน้าร้านถูกทำลาย มีรถจักรยานยนต์ถูกขว้างเข้ามาในร้าน คนเสื้อแดงบอกว่าถูกขว้างมาจากด้านบนอาคารซึ่งมีคนขว้างปาขวด และอาจจะมีระเบิดด้วย ในช่วงที่พวกเขาต่อสู้กัน
      ถึงเวลาเที่ยงคืน ยังคงมีเหตุการณ์มาจากซอยย่อยที่ 14 มีกลุ่มนักศึกษายังคงปฏิบัติการในที่มืด มีเสื้อแดงคนหนึ่งเดินออกมา เขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการถูกขว้างขวดใส่ แล้วก็มีเสื้อแดงอีกคนหนึ่งร้องตะโกนว่าเขาถูกยิงที่แขนนั่งรถจักรยานยนต์ออกมา
     จากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง แล้วผมก็เดินกลับไปที่สนามกีฬา จากที่นั่นผมยังได้ยินเสียงปืนดังอยู่เป็นพักๆ ผมเดินไปที่ประตูหลักซึ่งเหตุการณ์สงบ ขณะที่ผมกำลังจะเดินกลับ ผมก็เห็นการ์ดเสื้อแดงจับตัวชายวัยกลางคนไว้ได้คนหนึ่ง เขามีตราของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล การ์ดพาตัวเขาไปที่เขตเวทีพร้อมกับตะโกนห้ามไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงจู่โจมชายผู้นี้
    พวกเขาสามารถนำตัวชายผู้นี้ไปที่หลังเวทีได้ แม้ว่าจะมีเสื้อแดงที่กำลังโกรธพยายามจะทำร้ายเขา เด็กอายุ 17 ปีคนหนึ่งที่ถูกยิงที่แขนชี้บอกว่าชายคนนี้เป็นคนยิงเขา
     ชายวัยกลางคนผู้นี้ถูกนำไปที่ห้องหลังเวทีเพื่อไต่สวนเพิ่มเติม จากนั้นจึงส่งตัวให้กับตำรวจ ผมหิวน้ำมากจึงขอน้ำดื่มแต่ตอนนั้นไม่มีน้ำเหลือในสนามกีฬาอีกแล้ว
     ผมเดินกลับไปทีหลังประตูที่ 5 ผ่านไปยังซอยรามคำแหงที่ 24 ซอยย่อยที่ 14 ผมเห็นนักศึกษาที่ซ่อนอยู่ในทางมืดๆ กำลังเยาะเย้ยคนเสื้อแดง มีรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวออกมาจากซอยมืดๆ นั้นและได้ขายก๋วยเตี๋ยวให้กับเสื้อแดงที่รวมตัวกันอยู่ มีเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้าไปในซอยเพื่อไล่กลุ่มนักศึกษาออกไป
     ตอนนั้นมีนักข่าวอยู่แค่สองคนคือผมกับนักทำหนังสารคดีคนหนึ่งชื่อจูน พวกเราตัดสินใจเดินเข้าไปราว 30 เมตรในซอยทันใดนั้น จากทางเดินลึกเข้าไปข้างในพวกเราก็ได้ยินเสียงปืน 6 นัด ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ตีหนึ่ง 55 นาที ของวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ไม่นานหลังจากที่เสื้อแดงคนหนึ่งวิ่งเข้ามาทางพวกเรา ตะโกนว่ามีคนหนึ่งในพวกเขาถูกสังหาร ก็มีเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งหอบร่างๆ หนึ่งออกมา ผมถ่ายภาพไว้บางส่วน เมื่อมูลนิธิร่วมกตัญญูเข้ามาในพื้นที่ คนเสื้อแดงก็พากันนำร่างขึ้นไปบนรถและขับออกไปจากซอย ผมถ่ายภาพๆ ร่างกายของเขาไว้ได้ชัดๆ ภาพหนึ่ง เขาถูกยิงที่ศรีษะ
     ผู้ประท้วงเสื้อแดงยืนอยู่รอบชายสวมหมวกกันน็อก ผมถ่ายภาพไว้ เริ่มจากหมวกด้านนอก เห็นชัดว่ามีรูกระสุน จากนั้นจึงถ่ายด้านใน มีเศษสมองติดอยู่ในหมวก พยานเล่าว่าเขาเห็นชายคนนี้ถูกยิงจากระยะห่างออกไป 10 เมตร จากชั้นสองของอาคารกอพักซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากภาคใต้
     ผมเห็นคนเดินเข้าไปในเซเว่นอิเลเว่นอย่างเงียบๆ ผมจึงตามเข้าไป กระจกร้านถูกปิดไปด้วยการดาษหนังสือพิมพ์จากด้านใน ผมถามขอซื้อน้ำเปล่าผ่านทางช่องเล็กๆ ของประตูที่ล็อกไว้ บอกว่าตัวเองเป็นนักข่าวจากต่างประเทศ พนักงงานมองลอดช่องออกมา แง้มประตูเพื่อรับธนบัตรใบละ 100 บาทของผม ก่อนที่จะถุงบรรจุขวดน้ำเปล่าให้สองถุง ผมเก็บไว้ที่ตัวเองขวดหนึ่ง อีกขวดหนึ่งเอาให้จูน และที่เหลือก็ยกให้คนเสื้อแดง จูนกับผมนั่งลงดื่มน้ำบนเก้าอี้พลาสติกที่อีกด้านหนึ่งของซอย ทีแรกผมยังไม่รู้สึกอะไร แต่ต่อมาก็เริ่มรู้สึกเศร้ามาก นี้ผมได้ถ่ายภาพคนหนุ่มที่ถูกสังหารอีกแล้วหรือ
     จูนใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปจากกล้องของผมต่ออีกทีหนึ่ง แล้วส่งข่าวไปในให้สำนักข่าวประชาไท ระบุว่ามีคนถูกสังหารอีกหนึ่งรายในคืนนี้ ทันใดนั้นกลุ่มเสื้อแดงก็ร้องตะโกนด้วยความโกรธ เดินออกมาจากซอย หนึ่งในนั้นขณะที่เดินออกมาก็ใช้ปืนพกของเขายิงขึ้นไปในอากาศ พวกเรายังคงนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิม
     มีคนในพื้นที่เดินผ่านไปเป็นพักๆ และคนเสื้อแดงก็บอกพวกเขาว่าให้ระวังไม่เข้าไปในซอยลึกๆ เพราะพวกเขาอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเสื้อแดงโดยนักศึกษาที่โจมตีพวกเขา ตอนนั้นเหตุการณ์เริ่มสงบลงจูนกับผมจึงเดินไปที่สนามกีฬา ผมถ่ายภาพเสื้อแดงซึ่งยังคงติดอยู่ที่นี่ รอเวลาที่จะกลับบ้านได้ ภาพส่วนหนึ่งที่จับใจผมคือภาพของครอบครัวที่นอนหลับอยู่ในมุมเงียบๆ ใกล้กับหลังเวที
     จูนกับผมไปที่ทางเข้าหลัก ดูตึงเครียดแต่ก็ค่อนข้างสงบ มีตำรวจเฝ้าอยู่ที่ประตูโดยมีเสื้อแดงอยู่ข้างหลังและส่วนหนึ่งก็อยู่ที่สนามหญ้าหลังหนองน้ำ นักศึกษาต่อต้านรัฐบาลยังคงครอบครองพื้นที่ถนนรามคำแหงอยู่ บางช่วงก็มีการเย้ยหยันกันระหว่างกลุ่มนักศึกษากับเสื้อแดง บางครั้งก็มีการใช้ประทัดยิงด้วยหนังสติ๊กใส่อีกฝ่าย (แต่ก็ไม่ถูกตัวใคร เพราะระยะห่างมากเกินไป) รวมถึงมีการตะโกนด่ากัน
     พวกเราผ่านทางประตูที่ 5 ออกไปจนเจอกับนักข่าวไทยกลุ่มเล็กๆ ที่โรงแรมในซอย 24 ใกล้ๆ ประตู พอถึงช่วงตีห้า กลุ่มเสื้อแดงกลุ่มแรกก็เริ่มออกจากพื้นที่ ผมตัดสินใจรอจนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อให้สถานการณ์ปลอดภัย จูนกลับบ้านไปราวตีห้าครึ่ง ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นไม่นาน นักข่าวไทยหลายคนเดินไปที่ประตูที่ 1 มีกลุ่มเสื้อแดงปรบมือให้กับตำรวจขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเปลี่ยนกะ
     ทันใดนั้นเอง กลุ่มคนเสื้อแดงก็วิ่งไปที่ประตูข้างแล้วแห่กันออกไปที่ถนนรามคำแหง
     สถานการณ์เริ่มบ้าคลั่ง มีระเบิดเต็มไปหมด มีการยิงปืนจากทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็มีอารมณ์โกรธ "เลือดขึ้นหน้า" กลุ่มเสื้อแดงส่วนหนึ่งถูกกักตัวอยู่ในสนามกีฬาโดยที่น้ำเปล่าหมดตั้งแต่ห้าทุ่มของคืนที่แล้วเริ่มดุร้าย พากันไล่นักศึกษาออกไปจากถนน มีบางคนที่อยู่ตรงสะพานข้ามทางด่วนขว้างปาระเบิดลงมาใส่เสื้อแดง มีกลุ่มเสื้อแดงขนาดใหญ่วิ่งเข้าไปที่ประตูหลักของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีเสียงปืน เสื้อแดงตะโกนว่าคนของพวกเขาคนหนึ่งถูกยิงใส่หลายนัดที่หน้าอก
     ผมยังคงอยู่ที่ประตูสนามกีฬา ไม่นานนักก็มีคนได้รับบาดเจ็บหลายคนถูกนำตัวเข้ามา มีคนหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่มือ อีกคนมีแปลที่ศรีษะจากอะไรผมก็ไม่ทราบได้ เหตุการณ์สงบลงอีกครั้ง เสื้อแดงกลับเข้าไปในสนามกีฬา เหตุการณ์ปะทะกันทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 25 นาทีเท่านั้น
     แกนนำนปช. ประกาศยกเลิกการชุมนุม คนเสื้อแดงก็พากันออกจากสนามกีฬาผ่านทางประตูหลังซึ่งในตอนนี้ปลอดภัยสำหรับพวกเขาแล้ว ผมก็ออกจากที่นั่นด้วย รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างที่สุด พอถึงบ้านผมก็หลับไปได้ 3 ชั่วโมง อะดรีนาลีนและอารมณ์ความรู้สึกของคืนนั้นยังคงหลั่งไหลอยู่ในตัว มีข้อมูลของเมื่อคืนปรากฏออกมาเรื่อยๆ แล้วก็มีทั้งเสียงปืนและเสียงระเบิดมากขึ้นในบริเวณนั้น มีข่าวนักศึกษาได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยโดยทหาร มีข่าวรถประจำทางถูกเผาและมีซากกระดูกหลงเหลืออยู่ภายใน ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นประกอบด้วย นักศึกษาต่อต้านรัฐบาล 1 คน (ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี) เสื้อแดงเสียชีวิต 3 คน (ธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 22 ปี, วิโรจน์ เข็มนาค อายุ 43 ปี, วิษณุ เภาพู่ อายุ 26 ปี)  ซึ่งในตอนแรกการเสียชีวิตยังคงเป็นปริศนาก่อนที่หลายวันต่อมาบทความในบางกอกโพสท์ระบุว่านักศึกษาต่อต้านรัฐบาลที่เสียชีวิตกับเพื่อนของเขาทำการเผารถประจำทางที่ขนคนเสื้อแดงแต่นักศึกษาคนดังกล่าวไม่สามารถหนีออกมาได้ทันก่อนที่ไฟจะลุกลามไปทั่ว
     ขณะที่เหตุการณ์ช่วงกลางส่วนมากคืนยังดูเลือนราง ต่อมาก็มีข้อเท็จจริงมากขึ้นเพื่อให้ตั้งคำถามที่ชวนไม่สบายใจว่า อะไรเป็นขนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงตั้งแต่แรก เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเบื้องหลังเหตุการณ์สักเล็ฏน้อย มีสองเหตุผลที่นปช. เลือกพื้นที่ราชมังคลากีฬาสถานเป็นที่ชุมนุม
     เหตุผลแรกคือ ราชมังคลาฯ เป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตอนนั้นเสื้อแดงเริ่มเปลี่ยนสภาพจากกลุ่มที่ค่อนข้างไร้การจัดการมาเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนในสังคม พวกเขาเริ่มจัดการชุมนุมใหญ่ๆ ได้ ที่แรกคือที่ธีนเดอร์โดม เมืองทองธานีในวันที่ 11 ต.ค. 2551 และต่อมาก็จัดโดยมีคนมาร่วมมากขึ้นราว 80,000 คนในวันที่ 1 พ.ย. 2551
     เหตุผลที่สองคือ นปช. ต้องการเน้นให้เสื้อแดงออกมาห่างๆ กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างผู้ประท้วงสองกลุ่มแต่ก็อยากแสดงให้เห็นตัวตนของผู้สนับสนุนรัฐบาล พวกเขาจัดชุมนุมเสื้อแดงครั้งแรกขึ้นที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ในวันที่ 10 พ.ย. 2556 ซึ่งมีคนมาร่วม 50,000 - 60,000 คน และเมื่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่สามารถไปที่นั่นอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญอยู่ติดกับที่นั่นซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงไม่กี่วันก่อนการตัดสินครั้งสำคัญเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของวุฒิสภา ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ราชมังคลากีฬาสถานเพื่อจัดชุมนุมแทน เริ่มจากวันที่ 19 พ.ย. 2556 ซึ่งมีคนมาร่วมจำนวนน้อยเพียง 5,000 ถึงมากสุด 30,000 คนเท่านั้น
     เหตุการณ์เริ่มต้นจากการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเสื้อแดงก่อน นักศึกษาอาชีวะและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลฮาร์ดคอร์อยู่ในพื้นที่ต้นซอยของถนนรามคำแหงและถนนลาดพร้าว มองหาเสื้อแดงที่มาคนเดียว การโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นในคืนแรกของการชุมนุมที่ซอยรามคำแหง 53 มีคนเสื้อแดงคนหนึ่งได้รับชาดเจ็บจากการถูกทำร้ายขณะกำลังเดินกลับบ้าน ในคืนวันที่ 26 พ.ย. มีเสื้อแดงคนหนึ่งถูกแทงที่ท้อง (มีรูปที่แสดงให้เห็นด้ามมีดยังคงปรากฏออกมา) และในคืนเดียวกันนั้นเองก็มีคนเสื้อแดง 3 คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า มีการเตะและทุบตีด้วยเสาธงชาติ มีคนเดินผ่านไปมาเก็บภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ
    จากนั้นเสื้อแดงก็ประกาศชุมนุมใหญ่วันที่ 30 พ.ย. ผมเชื่อว่าผมต้องถูกหาว่า "อคติ" หรือเป็น "นักข่าวเสื้อแดง" อีกแน่ๆ แต่ผมตั้งคำถามกับแรงจูงใจของกลุ่มนักศึกษาและแกนนำที่มาจัดการชุมนุมต่อต้านในวันเดียวกันใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่งที่บอกว่าเหตุการณ์เป็นการที่ "เสื้อแดง" เข้าไปปะทะกับ "นักศึกษา" ก็ฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน เพราะในฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงก็มีนักศึกษารามคำแหงและศิษย์เก่าอยู่จำนวนมากเช่นกัน รวมถึงบางคนที่ผมพบเจอและพูดคุยด้วยในช่วงที่มีการต่อสู้กันในซอยรามคำแหง 24 และในกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลก็มีกลุ่มนักศึกษาอาชีวะรวมอยู่ด้วย และอาจจะมีบางคนที่ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยเลย
     ตั้งแต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีการแบ่งแยกทางเมือง กลุ่มนักศึกษารามคำแหงซึ่งมีความกระตือรือร้นทางการเมืองก็มีหลายคนที่อยู่คนละข้างกัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่มาจากภาคใต้เป็นเสื้อเหลือง หรือเป็นกลุ่มสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ นักศึกษาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจำนวนมากอยู่กับฝ่ายเสื้อแดง นักศึกษารามคำแหงบางคนที่ทำหน้าที่การ์ดในช่วงการเดินขบวนจัดโดยพรรคประชาธิปัตย์หลายเดือนก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ในการประท้วงปัจจุบัน เวทีเครือข่ายนักศึกษาที่นางเลิ้งก็มีนักศึกษารามคำแหงอยู่จำนวนมาก อีกฟากหนึ่งฝ่ายเสื้อแดงก็มีเครือข่ายนักศึกษาของตัวเองในม.รามคำแหง แกนนำนักศึกษาปรากฏตัวหลายครั้งในเวทีของนปช. และเสื้อแดง ตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550 ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ที่สนามหลวงก็มีการ์ดเป็นนักศึกษารามคำแหง แกนนำนปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นศิษย์เก่าของรามคำแหง มหาวิทยาลัยนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องสะท้อนสังคมไทยโดยทั่วไปที่มีการแบ่งแยกสีทางการเมืองกันอย่างฝังราก และส่วนใหญ่ก็มีเรื่องของภูมิภาคมาเกี่ยวข้องแม้จะไม่ได้สามารถแบ่งได้เช่นนั้นเสมอไป
     เรื่องเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือการเล่าแบบมักง่ายว่าเสื้อแดงล้อมมหาวิทยาลัยและทำให้นักศึกษาติดอยู่ในนั้น จากมุมมองที่ผมเห็นจากในที่ชุมนุมเสื้อแดงแล้ว เหตุการณ์มันกลับกันเลย ช่วงก่อนที่เสื้อแดงจะสามารถดันกลุ่มนักศึกษาให้กลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้ช่วงก่อนเที่ยงคืน สนามกีฬารางมังคลาก็ถูกปิดล้อม (แม้จะมีซอยเล็กๆ ด้านหลัง แต่ก็ยังคงอันตรายเกินไปสำหรับเสื้อแดงที่จะออกไปก่อนพระอาทิตย์ขึ้น) ทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ถนนรามคำแหง และถนนนี้ก็มีนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลครองพื้นที่อยู่จรกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น (ซึ่งอาจเป้นคำที่ไม่ถูกเท่าไหร่ แต่ก็ใช้โดยทั่วไป)
     มีคำถามอีกว่านักสู้ต่อต้านรัฐบาลในมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษาจริงๆ กี่คน และมีคนนอกเข้ามากี่คน ผมเชื่อว่ามีนักศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมืองติดอยู่ในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก หวาดกลัวกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น จากเสียงปืนและเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นตลอดคืนและในช่วงเช้า พวกเขากลัวเกินกว่าจะออกมาจากมหาวิทยาลัย และพวกเขาก็กลายเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์เพราะมีแกนนำบางคนเลือกพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งชุมนุมต่อต้านเสื้อแดง
     ไม่น่าแปลกใจเลยว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยมีคนที่ใช้ความรุนแรงและมีกลุ่มคนที่มีอาวุธ ไม่เพียงแค่มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น แต่เสื้อแดงอีก 3 คนและคนอื่นๆ ก็ได้รับบาดเจ็บจากลูกกระสุน เรื่องนี้ชวนให้ตั้งคำถามสำคัญเรื่องความรับผิดชอบของแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้มีการประท้วงในเชิงยั่งยุใกล้กับแหล่งชุมนุมของกลุ่มนปช. ทั้งที่เดิมทีนปช. เลือกพื้นที่นี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันแต่แรกมานานก่อนหน้าที่กลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐบาลจะตัดสินใจใช้ที่นี่ด้วย แล้วพวกเขาจะมาที่นี่ทำไมเมื่อมีการชุมนุมที่ราชดำเนินและในเขตใกล้เคียงแล้วอย่างในศุนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และที่กระทรวงการคลัง
     แม้ว่ากลุ่มแกนนำเสื้อแดงอาจจะถูกต่อว่าเรื่องไม่ยอมยกเลิกการชุมนุมก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ราชมังคลาฯ หลังจากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่วันที่ 30 พ.ย. แต่เรื่องนี้ก็กลายเป้นคำถามได้อีกว่าคนเสื้อแดงจะไม่อนุญาตให้ชุมนุมในกรุงเทพได้เลยหรือ? ผมได้ไปเยี่ยมเวทีของเสื้อแดงอิสระเล็กๆ ที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ แกนนำบอกว่ามีคนนั่งรถจักรยานยนต์มายิงพวกเขาช่วงกลางคึก ทำให้เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ใส่ชุดสีแดงเพราะกลัวว่าจะถูกทำร้ายขณะกลับบ้าน
      อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกตั้งเป้ากล่าวหาให้รับผิดชอบต่อความรุนแรงคือกลุ่มตำรวจ แต่จะให้ตำรวจทำอะไรได้บ้างล่ะ จะให้บุกเข้าไปใช้ปืนยิงเหรอ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่สนามกีฬาไม่มีปืนเลย) ให้ไปประจันหน้ากับทั้งสองกลุ่มที่ต่างก็มีอาวุธเหรอ ถ้าทำแบบนั้นแล้วพวกเวทีต่อต้านรัฐบาลอาจเอาไปอ้างได้ว่าตำรวจใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม หรือจะให้พวกเขาถือโล่ห์กับกระบองเข้าไปแล้วก็คอยหมอบรอเป็นเป้าถูกยิงล่ะ ซึ่งตำรวจก็ถูกพวกต่อต้านรัฐบาลใส่ความอยู่แล้วว่าเป็น "ขี้ข้าทักษิณ" การเข้าแทรกแซงใดๆ ของตำรวจอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ได้ แต่ตำรวจก็มาที่รามคำแหงซอย 24 ท่ามกลางการต่อสู้ของสองกลุ่ม เพื่อพยายามกันให้สองกลุ่มออกจากกัน 
     เราต้องไม่ลืมด้วยว่าตำรวจกับทหารมีความขัดแย้งกัน ทำให้ตำรวจกลัวว่าการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมใดๆ ก็ตามอาจทำให้ทหารหันไปเข้าข้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เรื่องนี้มีที่มาก่อนหน้านี้ช่วงปี 2549-2551 ที่ทหารอยู่ข้างเดียวกับเสื้อเหลือง จากมุมมองของผมต่อข้อเท็จจริงที่มีตามเรื่องที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ผมนึกไม่ออกว่าตำรวจจะได้อะไรจากการเข้าแทรกแซงสถานการณ์มากกว่านี้
     ในวันที่ 3 ธ.ค. 2556 และวันถัดมาซึ่งเป็นพิธีฌาปนกิจ ผมได้ไปงานศพของนักสู้เสื้อแดงที่ถูกสังหารและผมได้ถ่ายภาพไว้ ผมได้รู้ชื่อของเขาในตอนนั้นเองว่าเขาชื่อธนสิทธิ์ เวียงคำ เป็นทหารเกณฑ์อายุ 22 ปี  เขามีภรรยาและลูกสาวอายุ 5 ปี ครอบครัวเขาทุกคนเป็นเสื้อแดงที่มีความกระตือรือร้น ภรรยาและพ่อแม่ของเขาก็อยู่ที่สนามราชมังคลาฯ ในคืนนั้นด้วย ครอบครัวเขาบอกว่าธนสิทธิ์เป็นคนที่ไม่กลัวอะไรและมักจะไปอยู่แนวหน้า พวกเขายังเคยไปร่วมชุมนุมในปี 2553 ด้วย
      พิธีศพก็เหมือนกับงานศพของกลุ่มเสื้อแดงคนอื่นๆ คือมีเสื้อแดงจำนวนมากมาเข้าร่วม มีแกนนำนปช. อย่างธิดา ถาวรเศรษฐ กับสามีคือเหวง โตจิราการ แม้แต่ส.ส. เสื้อแดง สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ก็เดินทางจากจังหวัดศรีษะเกษมาร่วมงาน นปช.และพรรคเพื่อไทยต่างก็ให้เงินชดเชยแก่ครอบครัวพวกเขา มีการกล่าวคำปราศรัยในพิธีการและการแสดงนาฎศิลป์ตามประเพณี มีพระทอดผ้าบังสุกุล และมีทหารจากหน่วยของธนสิทธิ์เข้าร่วมพิธีด้วย กลุ่มเสื้อแดงทั้งเศร้าและโกรธ ตอนแบกส่งโลกศพมีบางคนเคาะฝาโลงพร้อมบอกว่า "สู้ๆ" หลังจากพิธีฌาปนกิจแล้ว เสื้อแดงก็พากันไปที่อีกถนนหนึ่งที่มีพิธีศพของเสื้อแดงคนอื่นที่ถูกสังหาร
     ภรรยาของธนสิทธิ์บอกว่าเธออยากจะไปที่ๆ ธนสิทธิ์เสียชีวิตเพื่อทำพิธีทางศาสนาตรงจุดนั้น เธอบอกว่า "วิญญาณของสามีเธอยังคงอยู่ตรงนั้น ยังคงต่อสู้ ขว้างก้อนหินและขวดน้ำ เขายังไม่รู้ว่าตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว ฉันอยากช่วยให้เขาออกมาจากตรงนั้น ฉันอยากจะสวดมนตร์ จุดธูปเทียน"
     แต่ที่นั่นก็ยังอันตรายสำหรับเธอที่จะเข้าไป
 ที่มา : 
เรียบเรียงจาก
Ramkhamhaeng: A view from inside the stadium, New Mandala, 10-12-2013

ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ความขัดแย้งและปฏิรูปประเทศไทยภายใต้กรอบของการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ความขัดแย้งและปฏิรูปประเทศไทยภายใต้กรอบของการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

การหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ทุกฝ่ายยอมรับในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย “ก่อน” แล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้ง จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลก็ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่สามารถลาออกได้ ทำให้ติดขัดกันอยู่ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้ว การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่อาจจะหนีไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เหตุผลสำคัญที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย “ก่อน” การเลือกตั้ง คงจะด้วยเกรงว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ทุกอย่างอาจจะกลับไปเป็น “เหมือนเดิม” รัฐบาลเดิม พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองเดิม แต่จริงๆ แล้วการเมืองไทยนับจากนี้จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเสียงข้างมากไม่อาจจะทำอะไรตามอำเภอใจได้อีก เนื่องจากประชาชนสามารถถ่วงดุลรัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาได้แล้วไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นพรรคไหนหรือเสียงข้างมากจะเป็นพรรคใด ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งผมขอเสนอทางเลือกที่จะทำได้ “ก่อน” เลือกตั้ง เพื่อให้เกิด “ผล” หลังเลือกตั้ง ๒ -๓ ทางเลือก ดังนี้ 

ท า ง เ ลื อ ก ที่ ห นึ่ ง การทำสัญญาประชาคมหรือสัตยาบันพรรคการเมือง : ให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคใหญ่ที่สุดสองพรรคคือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ลงนามทำสัญญาประชาคมหรือสัตยาบันพรรคการเมืองที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยหลังเลือกตั้ง โดยให้มีรูปธรรมที่ชัดเจนที่จะดำเนินการได้ สำหรับข้อสัญญาประชาคมพรรคการเมืองจะมีอะไรบ้าง ก็ให้นำมาจากข้อสรุปของเวทีประชาคมหรือเวทีสาธารณะ ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ ทำเป็นข้อสัญญาประชาคมให้พรรคการเมืองรับที่จะดำเนินการเมื่อได้รับเลือกตั้งหรือได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่ถ้าเห็นว่าทางนี้ไม่หนักแน่นพอ ก็อาจใช้ทางเลือกที่สอง หรือทางเลือกที่สาม ดังจะได้กล่าวต่อไป

ท า ง เ ลื อ ก ที่ ส อ ง การทำประชามติในวันเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ : ในต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา มักจะใช้วันเลือกตั้งในการทำประชามติในเรื่องหนึ่งเรื่องใดควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง เนื่องจากประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันอยู่แล้ว และมีหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้วในวันนั้น ในเมื่อเราจะมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เราจึงน่าจะใช้โอกาสนี้ทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๕ ในเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องสภาประชาชน หรือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สุดแท้แต่ว่าเราจะให้ประชาชนตัดสินในเรื่องใด ซึ่งจะมีผลทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องผูกพันให้ดำเนินการตามผลของประชามติ สำหรับประเด็นประชามติจะเป็นเรื่องใดก็อาจจะให้มีเจรจาตกลงกัน หรือมาจากเวทีสาธารณะตามทางเลือกที่หนึ่ง

แต่ทางเลือกที่สองนี้ มีปัญหาตรงที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา ๖ (๑) กำหนดให้ต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น ถ้าจะใช้ทางเลือกนี้ก็จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยแก้เพียงมาตราเดียวคือ มาตรา ๖ (๑) ให้การออกเสียงประชามติที่ดำเนินการในวันเลือกตั้งยกเว้นไว้ว่าไม่จำเป็นต้องมีระยะเวลาถึง ๙๐ วัน แต่ปัญหาคือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไปแล้ว จะแก้ไขกฎหมายได้หรือ? คำตอบคือตามรัฐธรรมนูญมีหนทางที่จะทำได้ ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องรายละเอียดที่ยังไม่ขอกล่าวถึงในชั้นนี้

ท า ง เ ลื อ ก ที่ ส า ม ประชามติแบบไม่เป็นทางการในวันเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ : ถ้าเห็นว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป ก็อาจใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๖ (๘) ในเรื่อง “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” ในการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในวันเลือกตั้ง โดยทำหีบเหมือนกับทำประชามติ ถึงแม้จะไม่ใช่ประชามติในทางกฎหมาย แต่สามารถมีผลได้เท่ากันถ้าพรรคการเมืองให้สัตยาบันที่จะยอมรับผลของการออกเสียงของประชาชน

รัฐบาลรักษาการมีเวลาก่อนเลือกตั้งไม่ถึง ๒ เดือน เราจึงไม่ควรไปมุ่งเน้นแต่เพียงเรื่องรัฐบาลรักษาการ แต่ควรมุ่งเน้นไปที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ส่วนใครจะเป็นรัฐบาลก็เป็นไปตามการตัดสินของประชาชนเจ้าของประเทศ และถ้าหากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่ดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนไม่ว่าข้างไหนหรือฝ่ายใดก็จะมาช่วยกันทวงถาม นี่แหละคือ “ประชาธิปไตย” และประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งอย่างแน่นอน. 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

'ปู'โดนเอง!ม็อบนกหวีดเป่าไล่ที่บ้านเกิด

'ปู'โดนเอง!ม็อบนกหวีดเป่าไล่ที่บ้านเกิด หวิดปะทะกลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ หลวงพ่อพันเทวาเพ่งตะวันช่วยอีก

              เมื่อเวลา 15.20 น.วันที่ 12 ธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าประชุมหารือผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดภาคใต้ โดยมีนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับกลุ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดเชียงใหม่ และประชาชนกว่า 100 คน เพื่อร่วมต้อนรับและให้กำลังใจกับนายกในการปฏิบัติหน้าที่

              อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่กว่า 50 คน ที่เดินทางจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ได้ตามมาสบทบ หลังจากนั้นมีกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณจำนวน 10 คน มาชุมนุมเป่านกหวีดขับไล่น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ถูกกลุ่มเสื้อแดงขัดขวาง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลไม่ให้เกิดการปะทะกัน กระทั่งกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณได้แยกย้ายกลับ ทำให้ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น


  "ยิ่งลักษณ์"บอกสื่อมาเชียงใหม่ทำให้มีกำลังใจ     

              ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงการเดินทางมาประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร้นของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่นั้น ซึ่งมีประชาชนมารอต้อนรับและให้กำลังใจนั้น ปรากฏว่านายกรฯได้ยกมือไหว้ขอบคุณและโบกมือทักทายก่อนที่จะหันมาบอกกับผู้สื่อข่าวคนหนึ่งว่า "มาที่นี่ค่อยมีกำลังใจหน่อย ได้กลับบ้านที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเหลือเกิน"


หลวงพ่อพันเทวาเพ่งตะวันช่วยอีก

              ขณะเดียวกันในช่วงเวลาประมาณ 11.30 น.พระครูสุเทพสิทธิคุณ หรือหลวงพ่อพันเทวา อายุ 76 ปี เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อาจารย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เพ่งพระอาทิตย์ เพื่อปกปักรักษา ให้รักษาการนายกรัฐมนตรีปลอดภัย และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ทางแกนนำได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อขอเข้าให้กำลังในรักษาการนายกรัฐมนตรี 


นักวิชาการแนะแก้กม.เลือกตั้งลดผูกขาด

              ผศ.ดร.ทิวากร แก้วมณี อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัจจุบันพรรคการเมืองของไทยแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวที่จะสะท้อนความคิดและความต้องการของประชาชน และพรรคการเมืองใหญ่ถูกครอบงำโดยคนไม่กี่คนและผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่แย่งชิงกันไปมา ทำให้พรรคการเมืองของไทยล้มเหลว ส่งผลให้ระบอบรัฐสภาล้มเหลว ส.ส.ถูกชี้นำให้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทุนพรรคเท่านั้น จึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาและเกิดกระแสต่อต้านระบอบทักษิณดังที่สังคมไทยเห็นๆกันอยู่ ซึ่งระบอบทักษิณนี้ ก็คือ นายทุนเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดสามารถสั่งการ ส.ส.ที่เป็นเหมือนสมุนให้ซ้ายหันขวาหันเท่านั้น เพียงมีผลประโยชน์บางอย่างตอบแทน ส.ส.เหล่านี้จึงละเลยความคิดและความต้องการของประชาชนที่เลือกเขาเข้าไป

              กระนั้น การจะขจัดระบอบทักษิณให้หมดอย่างไรก็ต้องทำตามวิถีประชาธิปไตย ต้องยึดถือระบอบรัฐสภา ยึดตามกรอบระบอบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งทางออกเบื้องต้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ คือ ต้องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองเพื่อลดการผูกขาดอำนาจของนายทุนพรรค แก้ไขให้ ส.ส.มีอิสระมากขึ้น เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาสมัคร ส.ส.ให้สังคมไทยมีตัวเลือกที่จะเลือกผู้แทนราษฎรมากขึ้น ส.ส.จะได้ไม่ตกอยู่ภายใต้คำสั่งและการบัญชาของนายทุนพรรคแต่เพียงอย่างเดียว  และควรมีคนกลางที่มีความรู้ความสามารถและเป็นคนที่ประชาชนเชื่อถือช่วยมารวมตัวกันเพื่อบ้านเมืองจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม อย่างน้อยก็รับประกันได้ว่าระบบรัฐสภาของไทยยังคงมีนักการเมืองและส.ส.ที่มีคุณภาพคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และอย่างน้อยประชาชนและสังคมไทยก็มีโอกาสได้เลือกนักการเมืองหน้าใหม่ๆ พรรคการเมืองใหม่ๆที่อาจเป็นความหวังของประเทศไทยก็เป็นได้

              ส่วนทางออกของการเมืองเฉพาะหน้านี้ ดร.ทิวากร เสนอว่า ทุกฝ่ายควรหันเข้ามาเจรจาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน และที่ผ่านมาทาง กปปส.มีทางลงหลายทางแล้ว แต่คงประเมินสถานการณ์ว่าตนเองจะชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจึงชุมนุมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะส่อเค้ายืดเยื้อ และหากการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ดำเนินการไม่ได้ หรือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และ กปปส.ยังคงชุมนุมขับไล่รัฐบาลซึ่งอาจเป็นรัฐบาลชุดเดิม ทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็อาจจะออกมาต่อต้านได้ และความรุนแรงก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น ทางที่ดีสำหรับประเทศไทย คือ ทั้งสองฝ่ายควรหันมาเจรจากันหาทางออกร่วมกัน  ฝ่ายไหนจะเสนอปฏิรูปประเทศจะมีข้อเสนออะไรก็มาร่วมกันเจรจาหาทางออก และที่สำคัญต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย

ผบ.เหล่าทัพไม่ได้เจอสุเทพลำพังจัเเวทีเสวนาสาธารณะฟังกปปส.

รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชนหยุดออกอากาศหลังนายกฯยุบสภา

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน จะหยุดการออกอากาศ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) และทุกสัปดาห์ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภาแล้ว ทำให้รายการดังกล่าวต้องหยุดการออกอากาศ และรัฐบาลจะไม่มีการทำรายการอื่นเข้ามาทดแทน

เพราะตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุว่า ห้ามมีการใช้คลื่นความถี่ทำกิจกรรมที่เป็นการหวังผลทางการเมือง ซึ่งหากรายการดังกล่าวยังออกอากาศรัฐบาลอาจถูกโจมตีว่าใช้ความได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้งได้

ตท.7-13 ตบเท้าแถลงอัด "เสธ.อ้าย" หนุน กปปส. ไม่ใช่มติศิษย์เก่าทุกคน ??

ตท.7-13 และ 19 แถลง ไม่เห็นด้วย "เสธ.อ้าย" สนับสนุน กปปส. ไม่ใช่มติศิษย์เก่าทุกคน ชี้การเสนอตั้งสภาประชาชนไม่สามารถทำได้ ลั่นยุบสภาก็ต้องเข้าสู่การเลือกตั้ง
วันนี้ (13 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมเอเทรียม ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 7-13 และ 19 ประมาณ 25 คน นำโดย พล.ต.ต.มณเฑียร ประทีปะวณิช เตรียมทหารรุ่น 8 ได้แถลงการณ์คัดค้านกรณีที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานเตรียมทหารรุ่น 1 ได้ออกมาแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นในนามศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่น 1-9 สนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่เสนอให้รัฐบาลลาออกจากรักษาการ และให้มีสภาประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พล.ต.ต.มณเฑียร กล่าวว่า ตามที่พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานเตรียมทหารรุ่น 1 ได้ออกมาแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นในนามศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่น 1-9 สนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ที่เสนอให้รัฐบาลออกและให้มีสภาประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พวกเราในฐานะศิษย์เก่านักเรียนเตรียมหทาร เห็นว่าการกระทำของพล.อ.บุญเลิศ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ตามจารีตประเพณีอันดีงามของทหารและกฏหมายบ้านเมือง ซึ่งเป็นการกระทำโดยพลการโดยมิได้รับฉันทานุมัติจากศิษย์เก่าเตรียมทหารทุกคนแต่ประการใด

การที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาโปรดเกล้าให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ถือเป็นพระราชโองการที่ทุกคนต้องน้อมนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราทุกคนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเตรียมทหาร ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันเหนือสิ่งอื่นใด การที่พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และพวกออกมาแสดงการสนับสนุนแนวทางของกปปส. ถือเป็นการขัดพระราชโองการซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ พวกเราศิษย์เก่าเตรียมทหารทุกคน ขอประกาศจุดยืนให้พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านทราบว่า พวกเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพล.อ.บุญเลิศ และพวก ทั้งนี้พวกเราขอเรียกร้องให้พี่น้องนักเรียนเตรียมทหารทุกคนได้น้อมนำพระบรมราชโองการมาปฏิบัติโดยยึดหลักประชาธิปไตยและกฏหมายบ้านเมือง เพื่อให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2ก.พ.57 ได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและประเทศชาติสืบไป

พล.ต.ต.มณเฑียร กล่าวต่ออีกว่า ความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่เราต้องยึดหลักเสียงข้างมาก และเป็นไปตามกฏหมาย การตั้งสภาประชาชนนั้นไม่สามารถทำได้เพราะยุบสภาอยู่ แต่ถ้าหากมีการการเลือกตั้งแล้วมีสภาฯเข้ามาทำหน้าที่แล้วจะเสนอเป็นแนวทางแก้กฏหมายเข้ามายังสภาฯ จึงจะทำได้ ตนไม่อยากให้ใครเอาชื่อเตรียมทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตัวแทนนักเรียนเตรียมทหารหลายรุ่นที่มาวันนี้ยืนยันมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่สนับสนุนฝ่ายกบฏแผ่นดิน

ดังนั้นการที่ พล.อ.บุญเลิศ และพวก ออกมาสนับสนุนแนวทางของ กปปส.จึงเท่ากับขัดพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ และไม่ต้องการให้ทหารเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้ในวันพรุ่งนี้ จะมีการพบปะและพูดคุยระหว่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. และ ผบ.เหล่าทัพก็ตามโดยความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ แต่หลักประชาธิปไตยทุกฝ่ายต้องยึดเป็นแนวทางเนื่องจากเป็นกฎหมายหลัก อีกทั้ง การเสนอตั้งสภาประชาชนไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อมีการยุบสภาก็ต้องเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่สามารถทำได้หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว เพราะมีกฎหมายรองรับ

แถลงการณ์สภาพัฒนาการเมือง ฉบับที่2 วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

............................................................................................................

ตามที่ได้เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ได้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของประชาชนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ถึงแม้ในวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วก็ตาม แต่ประชาชนผู้มาชุมนุมก็มิได้ยุติการชุมนุมโดยยังเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยการให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาประชาชนและการปฏิรูปการเมืองรวมทั้งการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ 

สภาพัฒนาการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีขึ้นตามมาตรา 78 (7) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง มีความห่วงใยต่อวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้


1. เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวพ้นวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวไปได้อย่างยั่งยืน สภาพัฒนาการเมืองเห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมือง อาทิ การปฏิรูประบบและกลไกในการแก้ไขและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ การกระทำอันขัดกันแห่งผลประโยชน์ การทุจริตการเลือกตั้ง และการซื้อสิทธิขายเสียง เป็นต้น

2. สภาพัฒนาการเมืองเห็นว่าการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวได้ ในไม่ช้าก็จะเกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ขึ้นอีก สภาพัฒนาการเมืองจึงขอเรียกร้องว่า หากจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการเลือกตั้งดังกล่าวทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางและกรอบเวลาของการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศอันเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และให้พรรคการเมืองทุกพรรคตกลงเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว จะดำเนินการตามแนวทางและกรอบเวลาของการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศดังกล่าวอย่างเคร่งครัด อันเป็นการใช้วิกฤตการณ์ครั้งนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความปรองดองและความอยู่ดีมีสุขของคนในชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

3. ด้วยเหตุที่กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่แสดงออกโดยการเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนนับล้านคน สภาพัฒนาการเมืองจึงมีความเห็นว่านับเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้บริบททางการเมืองและกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ จึงควรให้มีการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง อาทิ การจัดตั้งสภาพลเมืองขึ้นทุกจังหวัด โดยสภาพัฒนาการเมืองจะเป็นผู้ประสานดำเนินการให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

4. สภาพัฒนาการเมืองพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นเวทีกลางในการเชื่อมร้อยประสานหาทางออกและดำเนินการเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางและกรอบเวลาของการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศอันเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

5. ด้วยเหตุที่การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง และการหาแนวทางการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศที่จะมีขึ้น ตลอดทั้งการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเชิงคุณภาพต่อไป สื่อสารมวลชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น สภาพัฒนาการเมืองขอเรียกร้องให้สื่อสารมวลชนได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว ตลอดทั้งแนวทางและกระบวนการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นกลางและให้เกิดความสมดุลระหว่างฝ่ายต่างๆ รวมทั้งจัดสรรเวลาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ รอบด้าน และเหมาะสม

สภาพัฒนาการเมืองจึงขอประกาศแถลงการณ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน


สภาพัฒนาการเมือง
13 ธันวาคม 2556

ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เป็นประธานการแถลงการณ์
ในครั้งนี้ วันนี้ (13 ธันวาคม 2556 ) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ 

ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง
สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า 120 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 
อาคารบี ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะเขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ 02-141-9728 โทรสาร 02-143-8203 www.pdc.go.th
และติดตามทาง www.YouTube.com/pdcvdo และ
www.Facebook.com /politicaldevelopmentcouncial

“สุเทพ” นำทีมแกนนำ กปปส.ทำความเข้าใจสื่อ พร้อมยืนยันต้องเลื่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เพื่อปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน

“สุเทพ” นำทีมแกนนำ กปปส.ทำความเข้าใจสื่อ พร้อมยืนยันต้องเลื่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เพื่อปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน ย้ำนายกฯ ต้องลาออกจากตำแหน่งรักษาการ ระบุที่มาของสภาประชาชนต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ปลอดพรรคการเมืองแทรก เลือกตั้งตามอาชีพ 300 แต่งตั้ง 100 และอยู่ชั่วคราว ใครเป็นห้ามลงเลือกตั้ง 5 ปี (ที่มาจาก Manager Online)

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสนามม้านางเลิ้ง แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมด้วยนายสาทิตย์ วงหนองเตย เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ และนายสุริยะใส ตกะศิลา ร่วมงานกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. พบประชาชน การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยเป็นการพบปะสื่อมวลชนจากสื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ โดยนายสุเทพ กล่าวว่า การจัดให้มีการพบปะกันระหว่างสื่อมวลชนและ คณะกรรมการ กปปส. เพราะสื่อมวลชนรู้สึกกดดันเมื่อต้องตั้งคำถามต่อหน้ามวลชน จึงขอให้มีการจัดพูดคุยกันสักครั้งโดยไม่มีมวลชน

โดยนายสุเทพ กล่าวว่า ตนขอชี้แจงถึงการลุกขึ้นต่อสู้ของมวลมหาประชาชนว่ามีเจตนารมณ์ 2 ข้อใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีกษัตริย์เป็นประมุขและปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อปูพื้นฐานการพัฒนาประเทศให้เจริญยั่งยืนมีความเป็นธรรมในการดูแลพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่อย่างทั่วถึง ซึ่งข้อที่ 1 จะทำได้ มวลมหาประชาชนต้องขจัดระบอบทักษิณให้จบสิ้นไปก่อน เพราะเป็นตัวทำลายทุกอย่างในประเทศ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ จริยธรรมความเป็นธรรมต่างๆ ถ้าไม่ขจัด ก็ยากที่จะปฏิรูปประเทศไทยได้ ประเด็นต่อไป เมื่อมวลมหาประชาชนได้กำหนดเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อปฏิรูปประเทศไทยแล้ว เมื่อต้องขจัดระบอบทักษิณออก ใครจะมาดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น กปปส. ได้ปรึกษา ศึกษาร่วมกันและฟังเสียงประชาชน เราเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน ที่มีส่วนสำคัญอยู่ 2 ด้าน คือรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารและสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่รัฐสภาเมื่อได้รับมอบอำนาจจากประชาชน แต่ในความจริงปรากฏว่า รัฐสภานี้ทำการทรยศ หักหลังประชาชน แทนที่จะเอาอำนาจประชาชนไปทำเรื่องดีงามแต่รัฐสภากลับเอาอำนาจมาใช้ในทางที่ผิด คือออก กม เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเดียว หรือพวกพ้องของตนเท่านั้น ที่เห็นชัดคือออก กม นิรโทษ เพื่อล้างผิดทักษิณ ซึ่งเป็นความผิดสำคัญฐานทุจริต โกงชาติ บ้านเมือง และเป็นความผิดที่ต่อสู้จนจบกระบวนการยุติธรรมแล้ว สู้คดีถูกศาลจำคุก 2 ปี และถูกยึดทรัพย์ ซึ่งทักษิณหลบคดีไม่ยอมรับโทษตามคำพิพากษาและหนีไปอยู่ต่างประเทศโดยให้ตัวแทนยุยงปลุกปั่นให้เข้าใจว่าประเทศไทยมี 2 ชนชั้นคือ อำมาตย์และไพร่ และมอมเมาประชาชนว่าชนชั้นล่างมีความทุกข์ยากถูกเอารัดเอาเปรียบและบอกว่าทักษิณถูกลั่นแกล้ง จนเป็นที่มาของปัญหาบ้านเมือง

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายในชั้นรัฐสภา ประชาชนทั่วไปก็คัดค้านมาตลอด แต่สภาก็ใช้เสียงข้างมากจนผ่านทั้ง 3 วาระและเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว.เมื่อประชาชนออกมาต่อสู้ รัฐบาลก็สั่งให้วุฒิสภายอมความกันไป จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา รัฐบาลสามารถทำให้กฎหมายตกไปได้แต่รัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลอ้างเสียงข้างมากไม่ฟังเสียงทัดทานของประชาชน

นายสุเทพ ยังกล่าวต่อว่า รัฐบาลและรัฐสภาได้ทำการทรยศประชาชนอย่างชัดแจ้ง ทั้งที่ประชาชนให้มอบรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร แต่รัฐบาลกลับมุ่งไปที่การแสวงหาประโยชน์ ทุจริตขนานใหญ่ ได้รับประโยชน์มิชอบการโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งชาวนาได้รับเงินจริงเพียง 1 หมื่นบาท อีก 5 พันถูกเข้ากระเป๋าตามกระบวนการต่างๆ มีการเวียนเทียน มีสต็อกลม ทำให้ตลาดข้าวไทยเสียหายทั้งหมด เป็นตัวอย่างเห็นชัดว่านโยบายประชานิยมมีการปูทางไปสู่การทุจริตได้ประเทศจึงเสียหายหลายแสนล้าน นอกจากการทุกจริต รัฐบาลยังใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงกฎหมายเลือกเฉพาะที่ได้ประโยชน์ แต่ที่เสียประโยชน์จะไม่ยอมรับ มีการดักฟังโทรศัพท์ โต้ตอบทุกรูปแบบ การอุ้มฆ่าก็มี รัฐบาลยอมให้คนที่อยู่ต่างประเทศบงการรัฐทุกอย่างร่วมถึงสั่งการในรายละเอียดการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการต่าง ไม่มีประเทศไหนทำ มีแต่ประเทศไทยที่เดียว และที่สำคัญ รัฐบาลไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงหมดความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป ตั้งแต่วันที่รัฐบาลปฏิเสธอำนาจศาล นอกจากนี้ยังหมดความชอบธรรมทางการเมืองตั้งแต่มีประชาชนมาชุมนุมหลายล้านคน สภาพของประเทศไทยจึงถือว่าไม่มีทั้งรัฐบาลและรัฐสภา ประชาชนจึงบุกขึ้นทวงคืนอำนาจอธิปไตย ด้วยวิธีสงบ อหิงสา อย่างแท้จริง

“ในสถานการณ์แบบนี้มี 2 ทางเดินที่จะไปสู่จุดสุดท้าย 1. วิธีที่ราบรื่น นุ่มนวล คือ นายกฯต้องยอมรับความจริงว่า ตนเองหมดสภาพ สิ้นสภาพการเป็นรัฐบาลแล้ว การสั่งการใดๆ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องการยุบสภาเพราะทำตอนที่หมดสภาพความเป็นรัฐบาล ดังนั้น นายกและครม.ต้องลาออก เพื่อเกิดช่องว่าสุญญากาศทางการเมือง เพื่อให้มีการเลือกนายกใหม่ 2.ประชาชนยึดคืนอำนาจและเดินหน้าต่อ จนกระทั่งควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้ทั้งหมด และใช้อำนาจประชาชนดำเนินการแต่งตั้งนายกฯ และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสภาประชาชน และทำงานร่วมกันในการปฏิรูปประเทศไทยให้เสร็จสิ้น เช่น การแก้ กฎหมายให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งมวลมหาประชาชนเห็นว่าต้องทำเรื่องนี้ก่อน 2.ต้องมีกฎหมายที่เข็มแข็งเรื่องการคอร์รัปชั่น 3.ต้องมีการปฏิรูปให้ประชาชนมีการกระจายอำนาจ และบริหารงบประมาณให้กระจายทั่วประเทศ และปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ เช่น ปรับโครงสร้างตำรวจเพื่อให้ตำรวจเป็นของประชาชน ที่สำคัญต้องมีการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งมาจากสภาประชาชนที่มีบทบัญญัติชัดว่าไม่ให้มีโครงการ ประชานิยม อีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อเสียงและเป็นช่องทางการทุจริต และทำวาระแห่งชาติดูแลคนจนอย่างเป็นระบบ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเฉพาะกิจต้องทำร่วมกับสภาประชาชน เมื่อทำครบถ้วนพร้อมเพรียงแล้วก็ดำเนินไปสู่สถานการณ์ปกติ คือให้มีการเลือกตั้งทั่วไป”นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การได้มาซึ่งรัฐบาลเฉพาะและสภาประชาชนต้องยืนบนแนวทางประชาธิปไตยไม่ใช่ กปปส. จะแต่งตั้งหรือกำหนดทุกอย่าง เช่น การได้มาซึ่งสมาชิกสภาประชาชนต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยสภาวิชาชีพต่างๆ มีเฉพาะบางส่วนที่จะต้องมาจากการสรรหาเพราะต้องการผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่กับสมาชิกสภาประชาชนเพื่อให้เกิดความรัดกุม มีข้อที่ กปปส.กำหนดชัดคือ ต้องไม่มีนักการเมืองมาแทรกแซงในสภาประชาชน

ด้านนายสุริยะใส กล่าวว่า เป็นสถานการณ์พิเศษไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่จะตีความแบบเดิม ไม่ใช่ตีความไปข้างหน้าหรือให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างสันติ การพูดถึงมาตรา 3 และ7 ของรัฐธรรมนูญเชื่อว่าเป็นแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีการ ส่วนรูปแบบสภาประชาชนนั้น เราต้องการถ่ายโอนอำนาจการเปลี่ยนผ่านมาสู่มือประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง รูปแบบที่มีการคุยกันนั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีหลักการใหญ่ 4 ข้อ คือ 1. เป็นองค์การชั่วคราว 2.มี 400 คน 300 คนมาจากการเลือกตั้ง อีก 100 คนมาจากการสรรหา โดย กปปส. จะมีส่วนร่วม 3. สภาประชาชนจะต้องปลอดจากการแทรกแซง ครอบงำของนักการเมือง เมื่อสภาประชาชนยุติลง บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะลงสมัครทางการเมืองไม่ได้ และ 4. ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งสภาประชาชนจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ กระบวนการการเลือกตั้งทำอย่างไร ถ้าไม่ทัน 2 ก.พ.จะทำอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า เราต้องทำเรื่องการปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนเลือกตั้งทั่วไป ยังไม่เห็นว่าต้องทำให้ทัน 2 ก.พ.ต้องเลื่อนไปก่อน ส่วนกระบวนการเลือกตั้ง ต้องการสมาชิกที่มีความหลากหลายด้าน เราเน้นเลือกผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ แต่ใช้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เช่น วิชาชีพต่างๆ ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งกันเองและเป็นตัวแทนให้เลือกมา มีบัญชีรายชื่อ และคำนวณตามจำนวนประชากรของสาขาอาชีพนั้น ๆ ส่วนกฎหมายที่จะใช้การรองรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ กฎหมายจึงยังไม่สามารถใช้ได้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่มีนายกฯ นายกฯก็จะออกกฎหมายเรื่องการเลือกตั้งให้ผ่านกฎหมายปกติ โดยจะมีการประยุกต์ใช้ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.อาจจะต้องดำเนินการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการสรรหาก็จะต้องหารืออีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของจำนวนตัวเลข 400 คนนั้นก็เป็นเพียงการประมาณการ แต่ก็จะเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นจะใช้งบประมาณจากที่ใด และการเสวนาในวันเสาร์-อาทิตย์ ใครจะเป็นตัวแทน นายสุริยะใส จึงกล่าวว่า ในงานนั้นจะมีตนและนายสาทิตย์เป็นโฆษก ส่วนการหารือร่วมกับผบ.จะมีตัวแทน กปปส. 20 คน งบประมาณก็ใช้งบปกติ เพราะเรามีรัฐบาลชั่วคราวอยู่แล้ว

ส่วนแนวทางการเคลื่อนไหวของ กปปส.จะดำเนินการคู่ขนานกับการดำเนินการของรัฐบาล หรือไม่นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า จุดยืนของ กปปส.คือ รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารงานทั้งทาง กม และทางการเมือง สิ่งที่ กปปส.ทำคือเอาอำนาจคืนมาแล้ว กปปส.ก็เป็นผู้ดำเนินการในการจัดการให้มีรัฐบาล มีสภาประชาชนตามอำนาจประชาธิปไตยมาตรา 3

เมื่อถามต่อว่า ถ้าแนวทางของ กปปส. ดำเนินการสำเร็จ ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเข้ามาอีกครั้ง กปปส.จะรับได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า กปปส.ได้ประกาศแล้วว่า คนเสื้อแดงเชิญมาร่วมกับเรา ถ้าต้องการปฏิรูปประเทศ วันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับพรรคเพื่อไทยแต่เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับระบอบทักษิณ จะได้มีการเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ส่วนที่คนไม่เห็นด้วยกับ กปปส.จะมีการจัดการยังไง นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้รังเกียจคนที่ไม่เห็นด้วย และเปิดโอกาสให้แต่ละวิชาชีพเลือกตั้งมาเอง

ส่วนรัฐบาลใหม่ ใครเป็นนายก ฯ นั้น นายสุเทพ บอกมี 2 ทาง คือ นายกฯลาออก คนที่ทูลเกล้าเสนอคือประธานวุฒิสภา ซึ่งตนก็ภาวนาขอให้ลาออกด้วย เพื่อให้เป็นหน้าที่ของรองประธานวุฒิฯ แทน แต่จะเสนอใครก็ตอบไม่ได้ แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ก็คงมี อีกทางหนึ่งถ้าไม่ยอมออก ก็ต้องใช้คนบังคับให้ออก เมื่อควบคุมประเทศได้แล้วก็จะหารือกันว่าใครที่สมควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
2