PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

ผอ.โรงพยาบาลแขวนคอดับปริศนา

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2556 เวลา 16:05 น. เดลินิวส์

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ร.ต.ท.สมหมาย เพชรสุริยา พนักงานสอบสวน สภ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ รับแจ้งเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ผูกคอตายที่ รพ.สต.ก้านเหลือง หมู่ 1 บ.ก้านเหลือง ต.ก้านเหลือง จึงเดินทางไปสอบสวนพร้อมด้วยนายเลิศบุศย์ กองทอง นอภ.อุทุมพรพิสัย, ร.ต.ต.นันทสาร เพ็งพันธ์ รอง สวป., พ.ญ.สุกัญญา บุญบัวมาศ แพทย์เวร รพ.อุทุมพรพิสัย และกำลังตำรวจฝ่ายสืบสวนอีกจำนวนหนึ่ง
ในที่เกิดเหตุ บริเวณเชิงบันไดชั้นล่างบ้านพัก ภายในเขตโรงพยาบาล พบศพนายประชา ครุธแก้ว อายุ 57 ปี ผู้อำนวยการ ( ผอ.) โรงพยาบาลดังกล่าว เสียชีวิตตัวแข็งทื่อในท่ายืน ที่บริเวณลำคอมีเชือกไนล่อนใหม่เอี่ยมสีขาวรัดแน่น ปลายเชือกอีกข้างแขวนกับคานบ้าน สภาพศพสวมแว่นสายตา เสื้อโปโลสีขาว กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน ที่แขนขวามีผ้าสีน้ำเงินรัดแน่น มีรอยเข็มฉีดยาแทงจนเลือดจนเลอะพื้น
ใกล้ศพพบบันไดอะลูมิเนียมขนาด 3 ขั้นวางอยู่ นอกจากนั้นยังพบเข็มฉีดยา 2 เล่ม โดยถูกฉีกซองใช้ไปแล้ว 1 เล่ม กรรไกร และสำลี ทรัพย์สินต่างๆ ภายในบ้านยังอยู่ครบ ไม่มีร่องรอยการถูกรื้อค้น มีเพียงรอยงัดที่หน้าต่างหลังบ้าน ซึ่งมีพยานยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้งัด เพื่อเข้าไปตรวจสอบ หลังจากที่ไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อ ผอ.ได้ จึงเกรงว่าจะเกิดเหตุร้าย เนื่องจากรถยนต์ปิกอัพยี่ห้อฟอร์ด เรนเจอร์ สีดำ หมายเลขทะเบียน บท 1739 ศรีสะเกษ ของผู้ตายยังจอดอยู่ที่หน้าบ้าน
จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนที่จะพบศพนั้น นอภ.อุทุมพรพิสัยได้มาตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาล ตามวาระงานปกติ แต่ไม่พบผู้ตายมาปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงพยายามโทรศัพท์ติดต่อ ซึ่งผู้ตายไม่ได้รับสาย เจ้าหน้าที่ได้ไปตามที่บ้าน ก็พบว่ารถยนต์ยังจอดอยู่ เคาะประตูบ้านก็ไม่มีเสียงตอบรับ จึงได้ช่วยกันงัดหน้าต่างเข้าไปตรวจสอบ ก็พบว่าเสียชีวิตก่อนหน้านี้เสียแล้ว โดยแพทย์สันนิษฐานว่า เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 8 ชม.
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้นำศพส่งตรวจชันสูตรพลิกศพที่ รพ.อุทุมพรพิสัย เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงอีกครั้ง พร้อมกับเก็บหลักฐานเข็มฉีดยาที่พบในที่เกิดเหตุ ส่งตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นตัวยาชนิดใด ซึ่งยังไม่ฟันธงแน่ชัดว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด เพราะไม่มีประวัติเรื่องโรคประจำตัว อีกทั้งยังไม่พบประเด็นความเครียดส่วนตัว หรือความขัดแย้งเรื่องงาน ที่พอจะเป็นสาเหตุให้คิดสั้นได้.

วิธีแห่งความสุข

พระธนวรรธน์ แซ่เจน

ชีวิตของมนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุขและต่างก็แสวงหาความสุขด้วยกันทั้งสิ้น วันนี้ผู้เขียนมีวิธีที่ช่วยเพิ่มความสุขให้ตัวเองที่ทำได้ไม่ยากมาฝาก

1.อยู่กับคนที่ทำให้เรายิ้มได้ จากการศึกษาพบว่าเราจะมีความสุขที่สุดเมื่ออยู่ท่ามกลางคนที่มีความสุขเหมือนกัน ให้เราอยู่กับคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส สร้างอารมณ์สุนทรีย์เพราะคนเหล่านั้นจะพลอยพาให้เราหัวเราะและมีความสุขไปด้วย

2.ยึดถือคุณค่าในตัวเอง อะไรคือความเชื่อของเรา อะไรคือสิ่งที่ยึดถือ เช่น ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม หากเราให้ความสำคัญต่อคุณค่าเหล่านี้มากเท่าไหร่ เราจะมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองและคนที่เรารักมากขึ้นเท่านั้น

3.ยอมรับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม อย่าผลักไสสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นและคิดว่าสิ่งนั้นไม่สมบูรณ์แบบ ให้เรายอมรับสิ่งดีที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นสิ่งน้อยนิดก็ตาม

4.จินตนาการถึงการประสบความสำเร็จ อย่ากลัวว่าสิ่งที่เราคาดหวังไว้นั้นเราจะไปไม่ถึง ให้เราวาดภาพความสำเร็จของตัวเอง หลายคนไม่กล้าวาดภาพความสำเร็จของตัวเอง เพราะกลัวว่าจะทำให้ตัวเองผิดหวัง แต่ในความจริงการจินตนาการถึงความสำเร็จของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราไปถึงจุดนั้น

5.ทำในสิ่งที่เรารัก แม้ว่าเราไม่สามารถไปนั่งชมวิวชายทะเลทุกวัน หรือดำน้ำดูปะการังที่เราชอบได้บ่อยๆ แต่การได้ทำในสิ่งที่เรารักบ้างนานๆครั้ง จะช่วยเพิ่มความสุขให้แก่เราอย่างไม่น่าเชื่อ

6.มีเป้าหมายในชีวิต คนที่มีเป้าหมายในชีวิตจะพยายามไปถึงจุดนั้นและจะมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองและต่อชีวิต

7.ทำตามใจของเรา เราเป็นคนเดียวเท่านั้นที่สามารถบอกตัวเราเองได้ว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวหรือเพื่อนๆบอก แต่เป็นสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจตัวเอง

8.ผลักดันตัวเองไม่ใช่กดดันผู้อื่น เป็นการง่ายที่เราจะรู้สึกว่าความสำเร็จของเรานั้นขึ้นอยู่กับคนอื่น แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับเรา เมื่อเราเข้าใจและตระหนักในสิ่งนี้แล้ว ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้จะมีอำนาจผลักดันให้เราไปถึงจุดหมายได้ ให้เราหยุดตำหนิโลกนี้และคนอื่น อย่าเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนอื่น และเราจะค้นพบคำตอบในไม่ช้า

9.เต็มใจรับการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าอาจจะยาก แต่ให้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆในชีวิต และจะทำให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง

10.พอใจกับชิวิตง่ายๆ คิดทางบวกอยู่เสมอ เช่น เรามีคนที่รักเรา เรามีความทรงจำที่ดี เรามีเพื่อนที่ดี วันนี้รถติดน้อยกว่าเมื่อวาน สิ่งง่ายๆ เหล่านี้ทำให้ชีวิตของเราดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร

11.ทำดีกับทุกคน การทำดีกับผู้อื่นจะช่วยสร้างความสุขให้แก่ตัวเรา ไม่ว่าความดีที่เราทำนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด แต่จะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตัวเราได้ งานวิจัยพบว่า เด็กอายุ 9-11 ขวบที่ให้ทำสิ่งที่ดีเป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ไม่เพียงแต่มีความสุขเพิ่มมากขึ้นแต่ยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนๆอีกด้วย

12.มีความเพียงพอ รู้จักประหยัด การมีหนี้สินหรือการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้เราเป็นทุกข์ สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตนั้นมีไม่กี่อย่าง แต่สิ่งที่เราต้องการมีมากจนไม่รู้จบ ให้เรารู้จักพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ ว่าเรามีเพียงพอแล้ว ความละโมบทำให้เราเกิดความทุกข์ จากการไม่รู้จักพอ

13.เป็นพ่อแม่คน สิ่งนี้หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่การจากศึกษาพบว่าการเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองทำให้เรามีประสบการณ์อีกขั้นหนึ่งในชีวิตที่คนที่ไม่มีลูกไม่ได้รับ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเป็นพ่อแม่คนทำให้เรามีความสุขแต่การเป็นพ่อแม่เป็นการเชื่อมต่อของความสุขและเป็นสิ่งที่มีความหมาย จากการศึกษาของ Lyubomirsky ในปี 2012 พบว่า การเป็นพ่อ แม่ของลูกเป็นประสบการณ์ที่ทำให้มีความสุขอีกขั้นหนึ่งของชีวิตและทำให้เรารู้จักความหมายของชีวิตมากขึ้น

ความสุขเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราและหาได้ไม่ยาก แค่เพียงเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเอง มองเห็นคุณค่าในตัวเอง พอใจกับชีวิตง่ายๆ รู้จักพอ และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ ในชีวิต ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอนะโยม

ข้อมูลอ้างอิงจาก http://m.psychologytoday.com/

ยิ่งลักษณ์กล่าวที่เจนีวา: ขอปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจไม่เป็นประชาธิปไตย

Mon, 2013-09-09 20:11

นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม UNHRC ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตย ไทยผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายทศวรรษแต่การเดินทางยังไม่ราบรื่น จึงต้องปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจไม่เป็นประชาธิปไตย ด้าน "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ฟังจนจบก่อนโพสต์บอกตรงๆ "ไม่ปลื้มนะครับ" เพราะนายกฯ ไม่พูดเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ แม้แต่คำเดียว ทั้งที่เพิ่งมีคดีหมิ่นฯ ติดกัน 3 คดี
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 9 กันยายน 2556 (ที่มา: เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra)

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 24 โดยมีการถ่ายทอดสดและบันทึกวิดีโอลงในเว็บไซต์ของสหประชาชาติ โดยรายละเอียดของปาฐกถาซึ่งเผยแพร่ในเพจ Yingluck Shinawatra ด้วย มีดังนี้
000
คำกล่าวนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 24
9 กันยายน 2556
ท่านประธานฯ
ท่านผู้อำนวยการฯ
ท่านข้าหลวงใหญ่ฯ
ท่านผู้มีเกียรติ
สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
"ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยือนสำนักงานสหประชาชาชาติ ณ นครเจนีวา แห่งนี้
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ได้มากล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ดิฉันภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมของคณะมนตรีฯ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆเมื่อเทียบกับสำเร็จและความท้าทายต่างๆของท่านทั้งหลายในที่นี้ ที่เกี่ยวข้องในงานด้านสิทธิมนุษยชน
การมาประชุมครั้งนี้ ทำให้ดิฉันระลึกถึงความสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal of Declaration of Human Rights)  ซึ่งมีการรับรองเมื่อ 65 ปีที่แล้ว คำว่า “ มนุษย์ทุกคนต่างเกิดมาอย่างเสรี และมีสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน” หมายความว่าประชาชนต่างเกิดมาด้วยสิทธิที่เท่าเทียมที่ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถปฏิเสธได้
แต่เหตุการณ์ในซีเรีย และที่ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างไป  
ความท้าทายของการรักษาสิทธิของประชาชนยังคงน่าเป็นห่วง  แต่ประวัติศาสตร์เตือนเราว่าผู้ถูกกดขี่จะลุกขึ้นสู้ และพวกเราที่เชื่อในเสรีภาพจะต้องสามัคคีรวมตัวกันเป็นหนึ่งเพื่อสนับสนุน และในปัจจุบันที่เป็นยุคของการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารตลอดจนโซเชียลมีเดียต่างๆ ผู้ถูกกดขี่มีเครื่องมือใหม่ที่จะแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองต่อความปรารถนาของประชาชน ย่อมต้องเผชิญผลกระทบของการปฏิบัติการในการปกป้องคุ้มครองความคิดที่อิสระเสรี หลายคนต่างตั้งความหวังไว้ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และประเทศไทยยินดีที่เห็นคณะมนตรีฯนี้รับแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆในหลากหลายโอกาส
การแก้ปัญหาสภาพความกดดันต่อสิทธิมนุษยชนนั้นมีความสำคัญที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะต้องแสดงข้อกังวลและการตอบสนองอย่างเป็นเอกภาพ การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถบรรลุผลได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบและตอบสนองอย่างรับผิดชอบ ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลใดประสบความล้มเหลว ชุมชนระหว่างประเทศไม่สามารถทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นได้
สถานการณ์เหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยมติที่ประชุมแต่เพียงลำพัง คำพูดต่างๆทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี แต่ด้วยการดำเนินการเท่านั้น ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ความท้าทายของเราคือ เราจะสร้างผลลัพธ์ที่จริงจังและนำมาซึ่งความแตกต่างในชีวิตของประชาชนหรือไม่ สิ่งนี้ต้องมีการเจรจาหารืออย่างจริงจังและมีพันธสัญญาต่อกันในการปฏิบัติการ
เป็นเรื่องจริงเช่นกันที่ว่า หลายประเทศขาดศักยภาพที่จะรับประกันการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและในการป้องกันความรุนแรงนั้น เราต้องส่งเสริมขีดความสามารถของรัฐบาลให้มากกว่าที่เป็นอยู่
นื่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงได้เสนอข้อริเริ่มประจำปีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและสร้างศักยภาพในงานของคณะมนตรีฯ  และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสนับสนุน Voluntary Fund for Technical Cooperation in the Field of Human Rights ซึ่งการสนับสนุนนี้เป็นการเพิ่มจากการสนับสนุนประจำปีที่ให้กับงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ (Office of the High Commissioner) ซึ่งเราหวังว่าประเทศต่างๆจะได้สนับสนุนและดำเนินการร่วมกันให้มากขึ้น
การเรียกร้องให้ทุกส่วนดำเนินการให้มากขึ้นและดียิ่งขึ้น ดิฉันไม่ได้หมายถึงเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะสิทธิทางการเมืองและพลเมือง ที่รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เรายังต้องแก้ปัญหาสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม และหาทางเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน เราจะต้องไม่ยอมรับการกีดกันแบ่งแยกในความไม่เท่าเทียมกัน
ในการนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนควรภาคภูมิใจกับความสำเร็จของ The Universal Periodic Review หรือ UPR ซึ่งถือเป็น เพชรยอดมงกุฏ ท่ามกลางเครืองมือของคณะมนตรีฯในการพัฒนางานสิทธิมนุษยชนโดยมีเป้าหมายคือ ทุกประเทศได้รับการตัดสินภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีใครที่มีความสมบูรณ์ แต่เราสามารถทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงตนเอง
ประเทศไทยได้ดำเนินการตามกระบวนการ UPR เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว และในการดำเนินการนี้ เราผ่านการประเมินตนเองและเราได้ดำเนินการแก้ปัญหาในประเด็นที่มีการแนะนำไว้อย่างต่อเนื่อง โดยมีความก้าวหน้าตามข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับและเราจะทำให้ดียิ่งขึ้น
ท่านประธานฯ
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน ของทุกคน แต่เราก็ตระหนักดีว่า ผู้ที่ขาดสิทธิขาดเสียงและผู้ที่มีความเปราะบางยังปรากฏอยู่รายรอบ
สตรีและเด็กยังคงตกเป็นเหยื่อของความไม่เท่าเทียม ความด้อยโอกาสและการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย การค้ามนุษย์เป็นปัญหที่าสร้างความเจ็บปวดเสียหายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และมีผู้พิการอีกจำนวนมากยังไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
เมื่อดิฉันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ดิฉันรู้สึกว่ายังมีผู้คนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมด้วยถูกจำกัด ดังนั้นดิฉันจึงสัญญาว่าจะทุ่มเททำงานเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับพวกเขาเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
ดิฉันได้ริเริ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้สตรีได้ใช้ศักยภาพที่เต็มเปี่ยม กองทุนได้จัดให้สตรีในชุมชนทั่วประเทศมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างโอกาสที่เท่าเทียม
นอกจากนี้ เราได้ตั้ง One Stop Crisis Centres (OSCC) เพื่อให้มีการปฏิบัติการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ที่เดือดร้อน ทั้งจากการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงภายในครอบครัว และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆที่ได้ดำเนินการ และมีมามากกว่า 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ มีการพัฒนายกระดับในเรื่องของสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง
ในทำนองเดียวกัน ดิฉันเพิ่งจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางที่จะทำงานร่วมกันในการดูแลแรงงานต่างด้าว รวมทั้ง การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวจดทะเบียน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักประกันสุขภาพ การลงทะเบียนยังจะช่วยป้องกันแรงงานต่างด้าวจาก การกดขี่และผิดกฏหมาย
สำหรับผู้พิการ ดิฉันได้สนับสนุนนโยบายและการปฏิบัติการให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลเพื่อคนพิการ (Universal Design) เพื่อลดลดอุปสรรคทางกายภาพ ผู้พิการต้องสามารถเข้าถึงบริการการเดินทางที่เท่าเทียม ตลอดจนสิทธิประโยชน์ทางสังคม และการสร้างรายได้
ดิฉันควรต้องกล่าวถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการของคณะมนตรีฯ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรีและเด็ก จากความท้าทายที่หลากหลายระหว่างภูมิภาคถึงภูมิภาค จึงสำคัญยิ่งสำหรับคณะมนตรีฯในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคและกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลของอาเซียน ( ASEAN Intergovernmental Commission : AICHR ) ด้านสิทธิมนุษยชน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นก้าวสำคัญเช่นกัน
ท่านประธานฯ
สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตย และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องยึดหลักประชาธิปไตย เราไม่สามารถและต้องไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และเราต้องคงไว้ซึ่งการสนับสนุนคุณค่าประชาธิปไตยด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ในขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แต่เป็นการใช้อำนาจในวิถีทางที่เคารพต่อเสียงส่วนน้อย ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่ในอำนาจต้องไม่ยึดติดกับอำนาจและไม่นำความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งยัดเยียดให้กับผู้อื่น ดิฉันเชื่อว่า การดำเนินการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และความร่วมมือในการแก้ปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนสามารถทำให้รัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น และจะทำให้อำนาจเป็นของประชาชนเสมอไป
ประเทศไทยได้ผ่านความท้าทายในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาหลายทศวรรษ การเดินทางยังคงไม่ราบรื่น แม้แต่ขณะนี้ ดิฉันยังต้องปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และนิติรัฐ นิติธรรม เป็นคุณค่าสากลที่เชื่อมประชาชนและประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ประเทศไทยตระหนักถึงความทุ่มเททั้งหลายในการกำหนดให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา เราสนับสนุนหลักคิดที่สะท้อนประเด็นเหล่านี้ ภายใต้วาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 อย่างต่อเนื่อง
ท่านปะธานฯ
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้กล่าวยกย่อง มาดาม Pilay (หมายถึง: Navi Pillay ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) และองค์กรนี้
ในฐานะผู้นำสตรี ดิฉันได้แบ่งปันความปรารถนาที่แรงกล้าของเธอในต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสตรีและเด็ก และยังมีอีกมากที่เราสามารถแบ่งปันซึ่งกันและกันและเป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่มีบทบาทและเสนอบทบาทเป็นสะพานเชื่อมในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีในช่วงเวลาที่สำคัญของการทบทวนบทบาทนี้
เราจะยังคงทำงานอย่างสร้างสรรค์กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่และขอแสดงความประสงค์ต่อพันธสัญญาที่มีต่อคณะมนตรีฯต่อไป ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นสมาชิกของคณะมนตรีฯในช่วงปี 2015-2017ความพยายามด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในระดับประเทศและระหว่างประเทศเป็นกุญแจสู่เส้นทางประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญคือ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่บ่มเพาะขึ้นในประเทศนั้นๆ แต่เราทุกคนสามารถเรียนรู้จากกันและกัน
ประเทศไทยหมายถึงแผ่นดินแห่งเสรีภาพ จึงเป็นเหตุผลว่าทำเราจึงสนับสนุน Universal of Declaration of Human Rights และเราคนไทยยึดมั่นเคียงคู่กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและทุกคนที่เชื่อว่า มวลมนุษย์ทุกคนต่างเกิดมามีเสรีภาพ และมีสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน
ขอบคุณค่ะ"
000
โดยภายหลังการปาฐกถา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กบัญชีส่วนตัวว่า
"นายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรไทยคนแรกทีไปพูดที่ Human Rights Council แต่ผมดูหมดแล้ว บอกตรงๆว่า ไม่ปลื้มนะครับ
ตลอดทั้งสปีชนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เอ่ยถึง กฎหมายหมิ่นฯ เลยแม้แต่คำเดียว ทั้งๆที่
(1) สปีชนี้ เกิดขึ้นหลังจากเพิ่งมีคดีหมิ่นฯ 3 คดีติดๆกัน คือ ตัดสินจำคุก ไม่รอลงอาญา เสื้อแดงโคราช (กรณี "พระองค์ท่าน เปรม"), ฟ้องศาล คดีคนขาย "กงจักรปีศาจ" และ จับเข้าคุก คนโพสต์ออนไลน์ เมือ่วันที่ 30 สิงหาคมนี้
ความจริง ทีผ่านมา องค์กรของ UN หลายองค์กร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหากฎหมายหมิ่นฯนี้ แต่รัฐบาลไทย รวมทั้งรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ไม่อยมทำอะไรเลย แม้แต่ เมือ่ "คอป" มีรายงานเสนอต่อรัฐบาลให้ปรับปรุงกฎหมายนี้ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ก็ไม่สนใจเลย
(2) คุณยิ่งลักษณ์ พาดพิงถึง สิ่งทีเรียกว่า UPR หรือ Universal Periodic Review ซึงเป็นกลไกใหม่ ที่ UN สร้างขึ้น ในปี 2008 เพื่อเป็นเวทีในการทบทวนเรือง Human Rights ในประเทศต่างๆ (ดูแนะนำ UPR ที่นี่http://www.upr-info.org/ )
คุณยิ่งลักษณ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมกระบวนการนี้
ความเป็นจริงคือใน UPR คร้ังหลังสุดทีเกิดขึ้นในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เอง เมื่อปลายปี 2554 ผู้แทนหลายประเทศ (ผู้แทนยุุโรปตะวันตก เรียกว่า ทุกประเทศ ทีเข้าร่วม คือ ฝรังเศส อังกฤษ เยอรมัน เสปน สวีเดน) ได้เรียกร้องต่อประเทศไทยในเรืองกฎหมายหมิ่นฯ และเสรีภาพในการแสดงออก
ดูรายงานข่าวทีนี่ (หัวข้อรายงานข่าวคือ "UN: Spotlight on Thailand’s Lèse-Majesté Law and Computer Crimes Act")
ดูรายงานทางการของ UPR สำหรับประเทศไทย ทีนี่ http://upr-epu.com/ENG/country.php?id=251(เอกสาร pdf อยู่ด้านขวามือของจอ โดยเฉพาะ รายงานของ working group ตาม link นี้ http://upr-epu.com/files/251/GR.pdf )"

วิธีแก้อาการ"เบื่อ"


“เบื่อ” เป็นสภาวะของอารมณ์ที่รู้สึกไม่พึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในขณะนั้น โดยอาจแสดงออกด้วยการซึมเศร้า นิ่งเฉย ขาดความสดชื่น ไม่มีความตื่นเต้น ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ขาดแรงจูงใจและเป้าหมายในการกระทำสิ่งต่างๆ

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนต้องเคยตกอยู่ในสภาวะแห่งความเบื่อหน่ายกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเบื่องาน เบื่อแฟน เบื่อคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งเบื่อตัวเอง

ผู้เขียนมีวิธีการแก้เบื่ออย่างง่ายๆ ที่มั่นใจว่าช่วยลดความเบื่อได้อย่างแน่นอน 100% ดังนี้

1.เบื่องาน เช่น รู้สึกไม่อยากทำงาน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน รวมไปถึงเบื่อเพื่อนร่วมงาน เบื่อหัวหน้า เบื่อลูกนัอง เบื่อระบบงานต่างๆ ซึ่งทำให้ไม่อยากจะหยิบจะจับงานอะไรหรือพาลอยากจะลาออกจากงานไปเลยด้วยซ้ำ

วิธีแก้เบื่องาน
- คิดด้านบวกเกี่ยวกับการทำงาน คือ คิดเสียว่างานเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของเรา มีงานทำดีกว่าไม่มี เพราะถ้าไม่มีงานเราก็จะขาดรายได้ซึ่งทำให้เราไม่มีเงินสำหรับการใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นหรือซื้อหาความสะดวกสบายให้ชีวิต
- คิดว่างานเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเรา เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่เราจะต้องเอาชนะและทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความสามารถของเรา
- จัดแต่งโต๊ะทำงานใหม่ เช่น เอารูปภาพวิวสวย ๆ มาติด เอาแจกันใส่ดอกไม้สวย ๆ มาวางบนโต๊ะทำงาน ทำความสะอาดโต๊ะทำงานให้เรียบร้อยสะอาดสะอ้าน ซึ่งจะช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายหายเบื่อได้
- แก้ปัญหาเบื่อเพื่อนร่วมงาน อาจจะเกิดจากการที่เรามีเพื่อนร่วมงานที่มีทัศนคติไม่ตรงกัน หรือเจอเพื่อนร่วมงานที่ชอบเอาเปรียบ อิจฉาริษยา ชอบนินทาว่าร้าย ซึ่งทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่ายจนพาลอยากจะลาออกจากงาน วิธีแก้เบื่อเพื่อนร่วมงานอย่างง่ายที่สุดก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กับคนที่ทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็พยายามพูดหรือเกี่ยวข้องกับคนที่เราเบื่อให้น้อยที่สุด

2.เบื่อคนใกล้ตัว เช่น เบื่อแฟน เบื่อสามี เบื่อภรรยา ซึ่งก็มักเกิดจากความไม่เข้าใจกัน มีปากเสียงทะเลาะกันบ่อยๆ รู้สึกว่าถูกคนใกล้ตัวเอาเปรียบอย่างใดอย่างหนึ่งเบื่อหน่ายนิสัยบางอย่างของเขา ถูกเขาทำให้เสียใจ ผิดหวังซ้ำซาก หรืออาจเกิดจากการที่ความพิศวาส หรือความพึงพอใจในตัวเขาลดลง ทำให้ขาดความตื่นเต้นในชีวิตคู่ สัญญาณในการบอกว่าเรารู้สึกเบื่อแฟนหรือเบื่อสามีภรรยา สังเกตได้ง่ายๆ คือ รู้สึกคิดถึงและห่วงใยน้อยลง เวลาอยู่ด้วยกันก็แทบไม่คุยกันหรือมีกิจกรรมร่วมกันน้อยมาก

วิธีแก้เบื่อคนใกล้ตัว
- หันหน้าเข้าหากันเพื่อปรับความเข้าใจ รวมทั้งพูดตรงๆ ถึงความรู้สึกของกันและกันว่าเรารู้สึกไม่พอใจกันตรงไหนบ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขและปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะมีความเข้าใจกันมากขึ้นและเมื่อได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนแล้ว ความรู้สึกจะดีขึ้นและทำให้หายเบื่อหน่ายซึ่งกันและกันได้
- ท่องเที่ยวร่วมกัน การที่แฟนหรือสามีภรรยา ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ในการไปดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง เที่ยวต่างจังหวัด ไปเที่ยวต่างประเทศ เหมือนเป็นการไปฮันนีมูน ไปดูสิ่งที่สวยงามแปลกใหม่ เป็นโอกาสให้ได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกัน ซึ่งนอกจากช่วยสานสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังช่วยทำให้ความเบื่อหน่ายระหว่างกันลดลงด้วยเพราะความตื่นเต้นสนุกสนานจะทำให้อารมณ์ดีและมีความสุขขึ้นได้

3.เบื่อตัวเอง เกิดจากความรู้สึกเหงา คับข้องใจ ไม่ได้ตามที่ใจต้องการ หันไปทางไหนก็มีแต่สิ่งที่ซ้ำซากจำเจ หดหู่ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ถ้าเกิดกับใครขึ้นมา คนนั้นก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายตัวเองจนขาดแรงบันดาลใจและความสุขในการดำเนินชีวิต

วิธีแก้เบื่อตัวเอง
- เปลี่ยนทรงผมและเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวของตัวเอง แค่นี้ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าเราเป็นคนใหม่ได้
- ออกกำลังกาย ทำให้จิตใจแจ่มใสและอารมณ์ผ่อนคลาย ยิ่งถ้าคุณมีปัญหาในเรื่องน้ำหนักด้วยแล้วยิ่งดีใหญ่ ลองท้าทายตัวเองโดยการออกกำลังกายเพื่อให้เรามีรูปร่างที่ดีขึ้น แล้วชีวิตใหม่ๆ จะเกิดขึ้นแน่นอน
- เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น แต่งบ้านใหม่ ปรับเปลี่ยนมุมในบ้านให้แปลกตาไปกว่าเดิม จัดสวนใหม่ หาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยง เช่น สุนัข แมว ปลา จะทำให้ชีวิตเราสดชื่นขึ้นและผ่อนคลายขึ้น
- ลองเปลี่ยนเส้นทางในการไปทำงานหรือกลับบ้านบ้าง จากเส้นทางเดิมๆที่รถติดน่าเบื่อหน่ายอาจสลับเปลี่ยนไปเดินทางที่ลัดบ้างอ้อมบ้างแต่รถไม่ติดมากและยังได้เห็นทิวทัศน์ที่แปลกตาไปจากเดิม
- ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิต
- กินอะไรที่ไม่เคยกิน ไปร้านอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน หรือลองคิดค้นหาเมนูอาหารใหม่ๆ ลองทำกินดู
- โซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยได้ การคุยกับเพื่อน ๆ ออนไลน์ผ่านทาง facebook whatsapp line ช่วยทำให้เราหายเบื่อได้ แต่อย่าถึงเสพติดจนติดแหง่กไม่สนใจชีวิตด้านอื่นเลย
- สมัครเรียนคอร์สสั้นๆ ที่เราสนใจ เช่น เรียนทำขนม เรียนภาษา เรียนร้องเพลง เรียนโยคะ
- ไปเดินตลาดต้นไม้ หาต้นไม้มาปลูกที่บ้าน เพื่อสร้างความสดชื่น
- เขียนบันทึก หรือเขียนบล็อกของตัวเอง ระบายความในใจ
- ไปเยี่ยมคนชราหรือเด็กกำพร้าที่สถานสงเคราะห์ สมัครเป็นอาสาสมัครในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เช่น ไปอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ไปเก็บขยะที่ชายหาด เราจะได้รู้สึกว่าชีวิตเรามีค่าขึ้น

ความรู้สึก “เบื่อ” เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราสามารถจัดการกับมันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับสภาพแวดล้อม เปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเราเอง ด้วยการก้าวไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราสดชื่นและหายเบื่อได้ อย่าบ่อยให้ความเบื่อครอบงำเรานานเกินไป เพราะมันไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับชีวิตเรา มีแต่จะสร้างความเสียหายทั้งนั้น

ถึงเวลาทิ้งความเบื่อของคุณแล้วรึยัง!

10พ.ย.นี้ตู้โทรศัพท์เถื่อน1.2หมื่นตู้พ้นทางเท้า


วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2556 เวลา 16:30 น.เดลินิวส์
นางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่14/2556 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการจัดระเบียบตู้โทรศัพท์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดแนวทางที่จะดำเนินการรื้อย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยคัด 6 ถนนใน 6กลุ่มเขตเป็นเส้นทางนำร่องจัดระเบียบตู้โทรศัพท์  ดังนี้ กลุ่มกรุงเทพใต้ ดำเนินการในถนนสุขุมวิท กลุ่มกรุงเทพกลาง  ถนนราชดำเนินกลาง กลุ่มกรุงเทพเหนือ ถนนพหลโยธิน กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ถนนรามคำแหง กลุ่มกรุงธนใต้ ถนนสุขสวัสดิ์ และกลุ่มกรุงธนเหนือ ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า  และขณะนี้ในส่วนของสำนักการโยธาได้ทำการย้ายฐานคอนกรีตที่ไม่มีตู้โทรศัพท์ ซึ่งหน่วยงานเจ้าของตู้หรือผู้รับสัมปทานรื้อเฉพาะส่วนตู้โทรศัพท์และทิ้งฐานคอนกรีตเอา ไว้กีดขวางทางเดินเท้า โดยได้รื้อออกแล้ว 198 ฐาน  
นางสาวตรีดาวกล่าวต่อว่า บมจ. ทีโอที ซึ่งเป็นเจ้าของตู้โทรศัพท์ฯและเป็นผู้ให้สัมปทานเอกชนรายอื่นติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะได้ให้ความร่วมมือกับกทม. โดยแจ้งว่าจะทำการรื้อตู้โทรศัพท์ที่ติดตั้งผิดกฎหมายภายในวันที่ 10 พ.ย. 56นี้ อย่างไรก็ตามกทม.จะติดตามการจัดระเบียบตู้โ ทรศัพท์สาธารณะตอ่ไป โดยแจ้งแนวทางในการปฎิบัติให้ทั้ง 50 สำนักงานเขต แจ้งหน่วยงานสื่อสารเจ้าของตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาตส่งแผนการ รื้อถอนภายในกำหนดเวลาในถนนนำร่อง ซึ่งเบื้องต้นหน่วยงานสื่อสารแจ้งว่าได้ทำแผนในการรื้อย้ายตู้โทรศัพท์  หากเลยกำหนดเวลาสำนักงานเขตจะส่งแผนการรื้อถอนพร้อมแจ้งค่าใช้ จ่ายให้หน่วยงานสื่อสารเจ้าของตู้โทรศัพท์ทราบ หากหน่วยงานเจ้าของตู้ฯ เพิกเฉยหรือไม่ให้ความร่วมมือให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฏหมายในการรื้อย้าย  และให้สำนักการโยธาสนับสนุนเครื่องมือในการรื้อย้าย  โดยปัจจุบันมีตู้โทรศัพท์ที่ได้รับอนุญาต ประมาณ 6,300 ตู้ ขณะที่ตู้โทรศัพท์ไม่ได้รับอนุญาตมีจำนวน 27,580 ตู้ ซึ่งสำนักการโยธา รายงานว่าเมื่อเดือนสิงหาคม รื้อถอนตู้ผิดกฎหมายไปแล้ว 15,156 ตู้ เหลืออีก 12,324 ตู้ที่ยังไม่ได้รื้อ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมากทม.เคยดำเนินการแจ้งเจ้าของตู้ให้รื้อย้าย แต่บริษัทฯเจ้าของตู้ไม่ดำเนินการจึงได้ให้เจ้าหน้าที่เขตเข้าทำการรื้อถอนแต่ถูกเอกชนฟ้องกลับฐานทำทรัพย์สินเสียหาย เป็นคดีเกิดขึ้นในพื้นที่เขตสาทร  จึงทำให้การจัดระเบียบตู้โทรศัพท์ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร  ดังนั้นจึงได้มีการแจ้งแนวทางปฎิบัติให้เป็นในทิศทางเดียวกันตามขั้นตอนเพื่อป้องกันเขตฯถูกดำเนินคดีกลับอย่างเช่นที่ผ่านมา.

หมอชี้กินยา"มาก-ซ้ำซ้อน"สุดอันตราย ตับวาย ไตพัง ถึงชีวิตได้ แนะ5เทคนิคง่ายๆกินยาไม่สับสน

วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 14:25:01 น.มติชน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ภายใต้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวแสดงความห่วงใยการบริโภคยาที่มากเกินความจำเป็น ว่า ปัจจุบันมียาจำนวนมาก และยาหลายชนิดมีฤทธิ์ซ้ำและก้ำกึ่งกัน เช่น ยาลดไข้ก็สามารถแก้ปวดได้ หรือยาละลายลิ่มเลือดก็แก้ปวดได้ด้วย ทำให้เกิดปัญหายาเป็นพิษ ปัญหานี้มักพบได้กับคนที่ใช้ยาเยอะอยู่แล้ว หรือมียาประจำตัวอยู่แล้ว ต่อไปก็จะเจอปัญหาสับสนกับการใช้ยาเพราะประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมอุดมยา

"กฎข้อห้ามข้อหนึ่งคือการกินยายิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงมาก ทั้งพิษจากยาและยาออกฤทธิ์ตีกัน อีกข้อหนึ่งคือ กินยามากไม่ได้ช่วยให้หายมากขึ้น ตรงข้ามอาจทำให้ตับวายมากกว่า" น.พ.กฤษดากล่าว

น.พ.กฤษดากล่าวว่า เพื่อระงับปัญหาจากการกินยามาก เวชศาสตร์อายุรวัฒน์มี 5 เทคนิคจัดโปรแกรมกินยาไม่สับสน แบบง่ายๆ สำหรับคนกินยาเยอะ คือ 1.แยกยาเป็นชนิดเขียนชื่อกำกับไว้ให้ชัดเจน

2.เขียนฉลากโดยเขียนฤทธิ์ยาสั้นๆ ติดไว้ พร้อมวิธีรับประทาน 3.ใช้ตลับแบ่งยา ข้อนี้ช่วยคนกินยาเยอะไม่ให้กินยาซ้ำ เช่น ยาละลายลิ่มเลือดหากกินซ้ำเข้าไปก็อาจทำให้ตกเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

4.พกยาติดตัวไปหาหมอเพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายยาซ้ำ สุดท้ายคือ ขอให้ถามหากสงสัย โดยเฉพาะเรื่องของยาซ้ำ ให้ถามแพทย์หรือเภสัชกร

ผู้อำนวยการศูนย์ เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ ได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับภาษาทางเคมีและปฏิกิริยาในทางเภสัชวิทยา ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของการใช้ยา คือ ยาลดความดันกับยาโรคหัวใจ ยากลุ่มนี้มีอยู่มาก บางตัวลดความดันและทำให้หัวใจเต้นช้าลง แต่ถ้ารับประทานผิดคือซ้ำซ้อนจนทำให้มากเกินไปอาจทำให้ หัวใจเต้นช้า มึนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยไม่รู้สาเหตุ ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นภูมิแพ้หอบหืดอยู่จะถึงขั้นหลอดลมตีบเสียชีวิตได้ ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกับยาลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ถูกเรียกให้สับสนว่า “ยาลดไขมัน” เหมือนๆ กัน

การรับประทานที่มากเกินไปและต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้มึนศรีษะ ไม่สบายตัว ปวดตามร่างกายและทำให้ตับทำงานหนักถึงขั้นเสื่อมเร็วได้ ยาแก้ปวดกับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาประเภทนี้มักถูกจ่ายคู่กันซึ่งในหลายครั้งไม่จำเป็นต้องกินควบเลย เพราะการได้รับมากไปใช่ว่าจะทำให้ดีขึ้น หลักง่ายคือห้ามคิดว่า ปวดมากต้องกินยามาก อันนี้จะอันตรายหนักขึ้น

“ยาแก้แพ้กับยาแก้หวัด เป็นยาที่ถูกจ่ายบ่อยมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีหลักง่ายคือ ยาแก้แพ้บางชนิดไม่ใช่ยาแก้หวัด และยาแก้หวัดบางชนิดก็ไม่อาจแก้แพ้ได้ ข้อสำคัญคืออย่าใช้ซ้ำซ้อนกันมาก หากเป็นหวัดไปหาคุณหมอขอให้บอกว่าท่านใช้ยาเหล่านี้อยู่ครับจะได้ไม่ถูกจ่าย ยาซ้ำ ยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ยา 2 ชนิดนี้ไม่ใช่ยาตัวเดียวกันเลย แต่ถูกจับมาเรียกจนคุ้นปากคุ้นหู ขอให้ทราบว่ายาแก้อักเสบมีอยู่กว้างมากและฆ่าเชื้อไม่ได้

ส่วนยาฆ่าเชื้อนั้นก็ใช่ว่าจะแก้อักเสบได้เสมอไป ถ้าใช้ยาฆ่าเชื้อนานไปจะเสี่ยงเชื้อดื้อยา มากขึ้นด้วย ยาคลายเครียดกับยานอนหลับ ยากลุ่มคลายเครียดอาจมีฤทธิ์ง่วงก็จริงแต่ไม่ใช่ยาช่วยให้หลับเพราะยาคลาย เครียดหรือต้านซึมเศร้ามีฤทธิ์ไปกวนสารเคมีในสมองทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ การรับประทานคู่กันจะยิ่งอันตรายต่อเคมีในสมองมากขึ้น

ยาลดไข้กับยาแก้ปวด ท่านที่ทานยาแก้ปวดเป็นประจำอยู่ เมื่อมีไข้ขอให้ระวังการทานยาลดไข้เพิ่ม และให้หยุดยาแก้ปวดก่อน เพราะยาทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ซ้ำซ้อนกันมาก และพิษก็ซ้ำซ้อนกันมากด้วย

ยาโรคกระเพาะกับยาแก้ปวดบิดไส้ เวลาปวดท้องหมออาจจะให้ยาร่วมกันมาทั้ง 2 ชนิด ขอให้ดูให้ดีก่อนรับประทาน หากเป็นโรคกระเพาะไม่มากอาจไม่ต้องกินยาแก้ปวด หรือท่านที่ปวดท้องแต่ไม่แน่ใจว่าจากลำไส้ขอให้เลี่ยงยาแก้ปวดบิดไส้ไว้ก่อนยาช่วยระบายกับยาถ่าย ยกตัวอย่างยาช่วยระบายเช่น ใยอาหาร มะขามแขก ส่วนยาถ่ายคือแบบที่ทำให้ปวดลำไส้ถ่ายเหลวคล้ายท้องเสีย หากรับประทานร่วมกันจะทำให้เกิดอันตรายถ่ายจนถึงขั้นช็อกได้

ยาละลายลิ่มเลือดกับยาช่วยเลือดไหลคล่อง ยาละลายลิ่มเลือดอย่าง “แอสไพริน” ถ้ากินกับยาที่ทำให้เลือดไหลคล่องอย่าง “วาร์ฟาริน” จะทำให้เกิดเลือดออกได้มากหากไม่ระวัง ดังนั้น เทคนิคคือไม่ควรรับประทานร่วมกันและหมั่นเจาะเลือดดูการแข็งตัวของเลือดอยู่เสมอ

ยาสร้างเม็ดเลือดกับยาธาตุเหล็ก ยา 2 ชนิดนี้บางทีถูกจ่ายคู่กัน แม้จะทานร่วมกันได้แต่มันมีพิษโดยเฉพาะกับ “ธาตุเหล็ก” ในกรณีที่โลหิตจางอย่างไม่แน่ใจขอให้เลี่ยงธาตุเหล็กไว้ก่อนเพราะมันเป็นพิษ กับโลหิตจางชนิด “ธาลัสซีเมีย” ส่วนยาสร้างเม็ดเลือดที่เป็น “โฟลิก” นั้นปลอดภัยรับประทานได้ในเลือดจางทุกประเภท

"อานันท์"กั๊กร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง ชี้ยังไม่มีกระบวนการสร้าง"ความเข้าใจ-ไว้เนื้อเชื่อใจ"

วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 18:14:43 น. :มติชน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ รัชโยธิน ชั้น 29 นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะประธานขับเคลื่อนเวทีปฏิรูปการเมือง ตามแนวคิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง แกนนำ ชทพ. เดินทางเข้าพบนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียนเชิญร่วมเวทีสภาปฏิรูปการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทสนทนาเริ่มต้นด้วยการถามไถ่สารทุกข์และอายุ นายอานันท์ถามอายุของนายนิกร จำนง นายสมศักดิ์ และนายบรรหารตามลำดับ โดยนายบรรหารสนทนาตอบโต้ว่า อายุ 81 แล้ว ส่วนนายอานันท์ก็สนทนากลับว่า อายุ 82 ปีแล้ว และเมื่อถามนายสมศักดิ์ว่าอายุเท่าไร นายสมศักดิ์สนทนากลับว่า อายุ 60 แล้ว นายอานันท์ก็หยอกกลับอย่างติดตลกว่า "อายุ 60 แล้ว แต่ยังหนุ่มอยู่นะ" โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง

ต่อมาเวลา 15.40 น. นายบรรหารพร้อมด้วยนายอานันท์ นายสมศักดิ์ และนายนิกร แถลงภายหลังการหารือ นายบรรหารกล่าวว่า นายอานันท์ได้ให้โอกาสมาเยี่ยมเยียน ตนพูดตลอดว่าอยากจะมาพบเพื่อมาปรึกษาหารือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม นายอานันท์ได้ให้ข้อสังเกตหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานต่อไปในอนาคต โดยสรุปว่าการจะทำสภาปฏิรูปให้สำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจไม่ใช่หนึ่งปีหรือสองปี อาจจะห้าปีหรือสิบปีก็ได้ สิ่งที่สำคัญที่ท่านได้ให้ข้อสังเกตคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

“การมาวันนี้อยากกราบเรียนเชิญท่านไปปรึกษาหารือในสภาปฏิรูป ท่านไม่ได้ปฏิเสธ แต่ให้ผมไปทำอะไรให้เรียบร้อยก่อน เป็นกรอบ เป็นรูป ในอนาคตท่านอาจจะไปร่วมด้วยก็ได้ ท่านก็มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองเหมือนกัน อยากเห็นบ้านเมืองมีความสุข ปกติ เข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายขึ้นมา” นายบรรหารกล่าว

ถามว่า ทำไมท่านไม่ตอบรับที่จะเข้าร่วมเลย นายอานันท์กล่าวว่า ยังไม่มีสภาปฏิรูป เท่าที่เข้าใจฝ่ายรัฐบาลได้เชิญผู้ทรงเกียรติ 60-70 คน ไปคุยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และนายบรรหารรับการเชื้อเชิญให้เป็นผู้ประสานงาน ท่านมาคุยกับตนในฐานะที่เป็นเพื่อนเก่า และเคารพซึ่งกันและกัน มีคำถาม ข้อสังเกตหลายประการ บางประการท่านเห็นด้วย บางประการท่านบอกว่าคงยาก ถือว่าระยะนี้เป็นระยะการพูดคุยกันมากกว่า

ถามว่า มองแนวทางต่างๆ แล้วคิดว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้หรือมีอุปสรรคอะไรหรือไม่ นายอานันท์กล่าวว่า อุปสรรคมีแน่ ประเด็นใหญ่ๆ คือ ยังไม่มีกระบวนการที่จะเริ่มสร้างความเข้าใจ ความไว้ใจหรือเชื่อใจกันเลย ฉะนั้น กว่าจะไปสู่จุดที่จะมีสภาปฏิรูปและทำงานได้ ตนคิดว่ายังมีหลายประเด็นได้รับการดูแลให้เรียบร้อยก่อน

"ยื่นหมูยื่นแมว! “กิตติรัตน์” อัดฉีดค่าปุ๋ยชาวสวนยางสองพันห้าต่อไร่-สูงสุด 6.3 หมื่น"

รองนายกฯ-รมว.คลัง เผยที่ประชุม กนย.มีมติช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 1,260 เป็น 2,520 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 25 ไร่ หรือหกหมื่นสาม อ้างชาวสวนยางนครศรีธรรมราชพอใจกิโลกรัมละ 90 บาท ทำเป็นเตือนถ้าราคาขึ้นลงเกษตรกรก็รับกลไกตลาดเอาเอง เตรียมชงที่ประชุม ครม.พรุ่งนี้

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นประธานประชุม กนย.เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะสั้นและเร่งด่วน โดยมี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 16.00 น.นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรพอใจราคายางพาราที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม โดยไม่จำกัดวิธีการช่วยเหลือ ที่ประชุม กนย.จึงมีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือ และได้มีมติออกมาว่า จากเดิมที่จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรรายละ 1,260 บาทต่อไร่ เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะคิดเป็นการช่วยเหลือที่กิโลกรัมละ 6 บาท และปัจจุบันราคาอยู่ที่ 78 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ หากจะช่วยเหลือให้ราคายางอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัมนั้น จึงต้องช่วยเหลือ 12 บาทต่อกิโลกรัม จึงมีมติที่จะให้การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 1,260 บาท เป็น 2,520 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 25 ไร่ (สูงสุดรายละ 63,000 บาท) ซึ่งเกษตรกรจะได้ราคายางที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้งบประมาณช่วยเหลือเป็นวงเงินทั้งสิ้น 21,248.95 ล้านบาท ที่แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 21,209.30 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 29.95 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 9.90 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินช่วยเหลือจะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิประมาณ 8.97 ล้านไร่

“อย่างไรก็ตาม มติราคา 2,520 บาทต่อไร่นั้น หากการรับซื้อยางพาราในตลาดมีการขึ้นลงตามกลไกตลาด ทางเกษตรกรก็ต้องยอมรับด้วย เพราะเป็นข้อเสนอของเกษตรกรเอง อยากฝากให้ตัวแทนเกษตรกรไปช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรด้วยกัน และในส่วนของภาคธุรกิจก็ขอให้ดำเนินการด้วยความเชื่อมั่น ทั้งนี้ อัตราการช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยเหลือในระยะเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ถึง 31 มี.ค.2557 ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 ก.ย.จะมีการเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบตามมติของ กนย.ต่อไป” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 10 ก.ย.จะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา มาประชุมรับทราบถึงการดำเนินการในการจดทะเบียนเกษตรกร


"วสันต์"ชี้รัฐส่อกระทำผิดรธน.

เมื่อ เวลา 13.00 น. ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำการปกครองท้องถิ่น (สพท) จัดเสวนาเรื่อง "ระบบนิติรัฐกับทางรอดของประเทศไทย" โดยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ตอนเป็นตุลาการยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่เป็นกลาง ทำงานตามกฎหมายที่บังคับใช้โดยรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มิใช่ศาลรัฐธรรมนูญจะคิดไปเองในการตัดสินคดี"

อดีตประธานศาล รัฐธรรมนูญกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ารัฐบาลมีการละเมิดหลักนิติรัฐด้วยการกระทำการขัดกฎหมายรัฐ ธรรมนูญหลายเรื่อง เช่น รัฐบาลไม่แถลงนโยบาย 1 ปีต่อรัฐสภา ซึ่งบริหารประเทศมาแล้ว 2 ปียังมิได้ดำเนินการ หรือการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แม้จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีประเด็นน่าเป็นห่วง คือรัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ไม่น่าจะเบิกเงินกู้จาก 4 ธนาคาร ที่รัฐบาล ขอกู้ ทางกบอ.อาจจะไม่สามารถเบิกมาจ่ายให้กับบริษัท เค วอเตอร์ และบริษัท อิตาเลียนไทย เพื่อดำเนินโครงการทั้ง 9 โมดูลในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากเกินกำหนดการเบิกจ่ายตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ในพ.ร.ก.กู้เงิน

ยันนิรโทษต้องยกทั้งยวง

นายวสันต์กล่าวว่า เห็นว่าสาเหตุที่ทั้ง 4 ธนาคารและกระทรวงการคลังไม่อนุมัติการเบิกจ่าย เพราะอาจทำให้ประสบปัญหาขาด ทุนจากส่วนต่างและผลประโยชน์ของอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เชื่อว่าทั้ง 4 ธนาคารและกระทรวงการคลังจะไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ 3.5 แสนล้านบาท ย่อมทำให้กลุ่มบริษัทเอกชนเดือดร้อนและจะฟ้องศาลแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายต่อ รัฐบาล ว่ากระทำการผิดสัญญาในที่สุด

นายวสันต์กล่าวอีกว่า สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีประเด็นอยู่ 3 มาตรา คือ 1.มาตรา 3 วรรคสอง เรื่องหลักนิติธรรม เช่น คดีที่เกิดพิพากษามาแล้ว อยู่ๆ จะยกเลิกมาพิจารณาใหม่ไม่ได้ 2.การออกกฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป จะบังคับใช้กับคนคนเดียว หรือบางกลุ่มไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 29 และ 3.ในมาตรา 30 กำหนดไว้ว่ากฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสถานะของบุคคล ฟันธงเลยผู้ใช้จ้างวาน ผู้โฆษณาก่อให้เกิดความผิด ถ้าจะมีการนิรโทษกรรม ต้องไปทั้งยวง ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หากออกกฎหมายแล้วยกเว้นแกนนำจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องนี้หาก จะวินิจฉัยไม่ยากเลย.

ข่าวสดออนไลน์ .

งามไส้! ตำรวจผู้ดีเซ่อซ่าสกัดจับ “ฟ้าชายแอนดรูว์” ในสวนพระราชวังบักกิงแฮม


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์9 กันยายน 2556 15:12 น.
เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และรัชทายาทลำดับที่ 5 แห่งอังกฤษ
       เอเอฟพี – สำนักงานตำรวจอังกฤษได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยจากเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ รัชทายาทลำดับที่ 5 แห่งอังกฤษ หลังตำรวจกลุ่มหนึ่งเข้า “สกัดจับ” พระองค์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในอุทยานของพระราชวังบักกิงแฮมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สืบเนื่องจากกรณีที่มีชายผู้หนึ่งลักลอบเข้าไปในพระราชวังเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น จนทำให้ตำรวจต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ
      
       ทางตำรวจยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ติดอาวุธ 2 นายได้เข้าไปขัดขวางดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะที่ทรงพระดำเนินเล่นในอุทยานเมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา(4)
      
       “ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจในคำขอโทษ และหวังว่าคงจะสามารถเดินเล่นในสวนได้อย่างปลอดภัยในวันหน้า” แถลงการณ์จากเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ระบุ
      
       “ตำรวจเองก็มีภารกิจที่ยุ่งยากในการถวายอารักขาพระบรมวงศานุวงศ์และป้องกันผู้บุกรุก บางครั้งอาจจะมีการเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้”
      
       สำนักงานตำรวจกรุงลอนดอนปฏิเสธรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อ้างว่า ตำรวจ 2 นายได้ “เล็งปืน” ไปที่เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ พระชนมายุ 53 พรรษา และตะโกนสั่งให้ทรงหมอบลงกับพื้นด้วย
      
       “เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน เวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 2 นายได้เข้าสกัดจับชายคนหนึ่งในสวนของพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อขอให้แจ้งชื่อว่าเป็นใคร... ซึ่งชายคนดังกล่าวก็สามารถยืนยันตัวตนได้เป็นที่พอใจ ไม่มีการชักอาวุธปืน และไม่มีการใช้กำลังใดๆทั้งสิ้น” สำนักงานตำรวจลอนดอน แถลง
      
       พระราชวังบักกิงแฮมปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
      
       เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ทรงอภิเษกสมรสกับ ซาราห์ เฟอร์กูสัน เมื่อปี 1986 และมีพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูจีนี
      
       ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน ตำรวจได้จับกุมชายที่บุกเข้าไปในเขตพระราชฐานกลางกรุงลอนดอน พร้อมตั้งข้อหาลักขโมย, บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ และยังมีชายคนที่สองซึ่งต้องสงสัยสมคบคิดถูกจับที่นอกเขตพระราชวังด้วย
      
       ตำรวจยันยันว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่ในพระราชวังบักกิงแฮม ส่วนสมเด็จพระราชินีนาถประทับอยู่ที่พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์
      
       เหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วถือเป็นการท้าทายมาตรการรักษาความปลอดภัยของพระราชวังอังกฤษครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับกรณีชายตกงานนาม ไมเคิล ฟาแกน บุกเข้าไปถึงห้องพักส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชีนีนาถ ขณะที่พระองค์บรรทมอยู่ เมื่อปี 1982
      
       ฟาแกน ปีนข้ามกำแพงพระราชวังและไต่ขึ้นไปตามรางระบายน้ำจนถึงห้องบรรทม และได้สนทนากับพระประมุขแห่งอังกฤษอยู่นานถึง 10 นาที ก่อนที่พระองค์จะสามารถกดสัญญาณเตือนให้ราชองครักษ์ทราบได้
เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ในวันที่ทรงอภิเษกสมรสกับ ซาราห์ เฟอร์กูสัน ปี 1986
      
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส (ขวา) และเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ แห่งอังกฤษ
      
พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน
       

มติเอกฉันท์ ส.ว.เลือก"อรรถพล ใหญ่สว่าง"เป็นอัยการสูงสุดคนใหม่

วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 16:35:05 น.
 
เมื่อวันที่ 9 กันยายน ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

โดยนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้รายงานผลการศึกษาในส่วนที่เปิดเผยได้

จากนั้นได้ประชุมลับ เพื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึกที่ไม่สามารถเปิดเผยได้โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่เป็นการลงคะแนนแบบลับ ผลปรากฏว่าที่ประชุมเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง เป็นอัยการสูงสุดคนใหม่ด้วยคะแนน 137 ต่อ 0 เสียง โดยมีผู้ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ขั้นตอนหลังจากนี้ ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

สดศรี" รำพึงชีวิต 7 ปี กกต. ปิดฉากไม่ Happy Ending แค่ไม่ติดคุก ไม่อยู่เรือนจำ ก็พอใจ

"สดศรี สัตยธรรม" เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมือง

เป็นหญิงเดียวในหมู่สี่ชาย เธอเคยเป็นถึงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้รับมอบหมายให้ทำคดีเลือกตั้งมากมาย ไม่เคยถูกเรียกว่า "ไอ้" หรือ "อี"

แต่พลันที่เธอสวมหัวโขน กกต. ต้องสู้รบปรบมือกับนักการเมือง กลับต้องเจอสารพัดถ้อยคำที่เสียดแทง ทิ่มแทงหัวใจ

"สดศรี" กำลังจะหมดวาระในอีก 13 วันข้างหน้า เธอบอกว่า 7 ปีในตำแหน่ง มีทั้งสุขที่สุด และทุกข์ที่สุด บางครั้งทุกข์จนอยากลาออก

ทุกคำพูด ทุกความรู้สึก เธออนุญาตให้ "ประชาชาติธุรกิจ" ถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ในบรรทัดต่อไป

- ความรู้สึก 7 ปี ที่เป็น กกต.

ถ้าในความรู้สึก เหมือนกับอยู่มานานแล้ว (หัวเราะ) เหมือนเป็นผู้พิพากษา 35 ปี ความรู้สึกว่าทำไมมันเนิ่นนานมาก จริงๆ ภารกิจ กกต.7 ปี เป็นภารกิจที่หนักหนาเอาการ เพราะเกี่ยวกับความแตกแยกทางการเมือง สิ่งที่หนักใจ คือเราจะทำยังไงให้อยู่ตรงกลางได้ โดยไม่ต้องถูกครหาว่าเป็นฝั่งเสื้อสีนั้น สีนี้ กกต.พยายามจะทำงานตามกฎหมายทุกอย่าง เราทำหน้าที่คล้าย ๆ กึ่งตุลาการในการวินิจฉัยข้อร้องเรียน มันจึงมีฝ่ายที่เราให้ชนะ และต้องมีฝ่ายหนึ่งแพ้ ฉะนั้น ฝ่ายที่แพ้ย่อมไม่พอใจแน่นอน และจะนำ กกต.ไปสู่การเมือง คิดว่า กกต.จะเอาใจทั้งสองฝ่าย เป็นไปไม่ได้ การทำงานต้องยึดตัวบทกฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และอธิบายให้ได้ ว่าทำไมเราถึงวินิจฉัยอย่างนั้น

- เป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็น กกต. และเป็นผู้หญิงคนเดียวแวดล้อมด้วยผู้ชาย 4 คน รู้สึกว้าเหว่ไหม

ไม่ว้าเหว่ค่ะ ตัวเองทำงานท่ามกลางผู้ชายมานานแล้ว ตอนที่เป็นผู้พิพากษาในรุ่นเดียวกันเข้ามา 140 คน มีผู้หญิงเพียง 6 คนเท่านั้น มีความรู้สึกว่าเราก็คือผู้ชายคนหนึ่ง ไม่มีการแบ่งแยกเพศกัน

- นักการเมืองโจมตีท่านเหมือนโจมตีผู้ชาย รับได้ไหม
ต้องรับให้ได้ เขาอาจมองเราเป็นคนสาธารณะ วิจารณ์เราได้ เราไม่ใช่ผู้พิพากษา เมื่อเข้ามาเป็น กกต.แล้ว หัวโขนผู้พิพากษาต้องถอดออก เราจะถือสาว่า เอ๊ะ..มาว่าเรา ฉันเป็นผู้พิพากษานะ ฉันทำงานในพระปรมาภิไธยนะ คุณว่าศาล ก็เหมือนกับว่าพระเจ้าอยู่หัว คุณว่าไม่ได้ เพราะตอนนี้เราไม่มีภูมิคุ้มกันเหมือนอย่างศาล ดังนั้น การทำงานของ กกต.ต้องยึดมั่นในความถูกต้อง อดทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์

- การเป็นผู้หญิง จึงทำให้ถูกฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นจุดอ่อน
เพศผู้หญิงเป็นเพศที่เขามองจุดอ่อนทั้งนั้น สังคมไทยยังไม่ยอมรับความสามารถของผู้หญิง

- 7 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ตัวเองได้หรือยังว่ามีความสามารถ
สามารถพิสูจน์ตัวเองว่า งานหลายเรื่องที่เริ่มต้นปรับปรุง เช่น ฐานข้อมูลพรรคการเมือง ขณะนี้เราไม่ถูกฟ้อง แต่ก่อนมีเรื่องราวมากมายที่เจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดี แต่หลังจากเข้ามาปรับปรุง ทุกอย่างก็ยุติลง ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา สามารถทำงานให้กับ กกต.ได้คุ้มกับเงินเดือน

- มีสิ่งไหนที่ทำให้ดีใจ หรือเสียใจที่สุด
ขณะนี้ยังไม่รู้สึกว่าอะไรถึงที่สุดสำหรับตัวเอง การทำงานของตัวก็คิดว่ายังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ประสบความสำเร็จถึงที่สุด และไม่รู้สึกว่ามีความเสียหายถึงที่สุด มีความรู้สึกว่าเราทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้วแค่นั้น เพราะการทำงานของ กกต.ทำเป็นคณะกรรมการ เราทำงานคนเดียวไม่ได้ หลายอย่างที่คิดอยากจะทำ แต่ทำไม่ได้ ถ้าทำงานคนเดียวได้ one woman show (หัวเราะ) คิดว่าน่าจะทำได้ดีมากกว่านี้ หลายครั้งยอมรับว่าอึดอัดใจในการทำงานร่วมกับคนอื่น แต่เมื่อใช้เสียงข้างมาก เราต้องยอมตามเสียงข้างมาก อันนี้คงเป็นจุดหนึ่ง ว่าทำไมหลายหน่วยงานไม่ค่อยเดิน 7 ปีเต็มยอมรับว่าไปไม่ถึงไหน พูดกันตรง ๆ อยากให้ กกต.ชุดหน้าเข้มแข็งกว่า กกต.ชุดนี้ คนที่จะทำงานการเมือง หรือกึ่งการเมืองได้ ต้องเข้มแข็งอดทน และจะต้อง...อย่าเป็นฝั่งใดฝ่ายหนึ่ง (เน้นเสียง) และต้องอธิบายให้ประชาชนทราบได้ ว่าทำไมคุณวินิจฉัยอย่างนี้ อย่าไปกลัว ความกลัว มันทำให้เกิดความเสื่อม สิ่งไหนกลัวมาก มันเสื่อมมาก อย่าไปกลัว ตายเป็นตาย มีแค่นั้น

- หมายถึงมี กกต.บางคนยังไม่เข้มแข็งพอ
ไม่ใช่มีบางคน มันต้องเข้มแข็งทั้งกลุ่ม เข้าใจไหม ตัวเองก็ยังไม่เข้มแข็งพอ ไม่ใช่จะไปโทษคนอื่น หมายถึงว่า เรากล้าไปตัดสินเปรี้ยงปร้างลงไปไหม กล้าไหม ถ้าท่านไม่กล้า และท่านยังอยู่ในลักษณะแบบนี้ แน่นอนที่สุด เขาก็จะย้อนถามว่า ทำไมถึงตัดสินอย่างนี้ กล้าอธิบายได้ไหม ว่าทำไมถึงวินิจฉัยอย่างนั้น (เอานิ้วจิ้มโต๊ะ) มันสำคัญตรงนี้ กฎหมายว่าอย่างนี้ ทำไมถึงตัดสินครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำไม...เชื่อว่า กกต.ชุดหน้า ท่านต้องพยายามตอบคำถาม ว่าทำไมได้

- แสดงว่า กกต.ชุดนี้กล้าตัดสิน แต่ไม่กล้าออกมาชี้แจง ทำให้ถูกโจมตีบ่อยครั้ง
ก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง ต้องชี้แจงได้ เพราะอะไร 1+1 เป็น 2 ถ้า 1+1 เป็น 3 ท่านจะต้องอธิบายได้ว่า เลขอีก 1 มาจากไหน อย่าหนีอีก 1 ที่เข้ามาเพราะอะไร ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้

- ที่ผ่านมา เหมือนท่านออกมาอธิบายคนเดียว จนทำให้ตกเป็นเป้า
(สวนทันที) เนื่องจากตัวเองเป็นคนชอบสู้ ตั้งแต่เป็นผู้พิพากษา เคยได้รับความไม่ถูกต้องแล้วสู้ สู้จนคนเขายอมรับว่าเป็นผู้หญิงคนเดียวที่กล้าสู้กับความไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ยกยอตัวเองว่าฉันเป็นคนยุติธรรม แต่ถ้ากล่าวหาว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราเฉยซะ แสดงว่าเรายอมรับ

การที่ตัวเองออกมาพูดแก้ข่าวอยู่ตลอดเวลา ทำให้บางคนคิดว่าอยากดัง อยากโชว์ออฟ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ นี่คือนิสัยตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ถ้าไม่ถูกต้อง ต้องพูด ตอบคำถามได้ ว่าทำไม จะไม่หนีหน้าใคร ถ้าหนีหน้า ก็ยอมรับว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ถูก ถ้าตอบไม่ได้ คุณก็ไม่ต้องอยู่องค์กรนี้ ต้องอยู่องค์กรนี้ไม่ได้

- แต่การชี้แจงของเรากลับเดินไปคนละทางกับ กกต.อีก 4 คน จนบางครั้งเหมือนถูกโดดเดี่ยว
ไม่โดดเดี่ยวนะ พอเราอธิบายแล้ว ฝั่งที่เราบอกว่าไม่ถูกต้อง เขาก็ยอมรับว่าไม่ถูกต้องจริง มาเป็นกลุ่มเรา แต่ถามว่า...เอ่อ..เพื่อนเราซึ่งทำงานอยู่ด้วยกันขัดแย้งกับเรา ท่านอายไหมล่ะว่าฝั่งที่ไม่ถูกต้องเขายอมรับว่าที่เราพูดน่ะจริง 7 ปีที่ผ่านมา ตัวเองไม่เคย blame (ตำหนิ) ใคร โอเคฉันมีความเห็นอย่างนี้ จะไม่มีว่าคุณไม่ถูกต้อง ก่อนที่จะบอกว่าคุณไม่ถูกต้อง ถามว่าสิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ คืออะไร ต้องรู้ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อนว่าอย่าง ฉันไม่ชอบ ฉันจะต้องพูดอีกอย่าง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ใช่นิสัยของคนคนนี้

- เคยพูดเอาไว้ว่า พอพ้นวาระจะเขียนหนังสือชื่อ "ชีวิตบัดซบ กกต." วันนี้จะใช้ชื่อเดิมไหม
(หัวเราะ) ก็อาจจะใช้ทำนองนั้น แต่อาจสุภาพกว่านี้ คือคิดว่าชีวิตมนุษย์ที่ผ่านมามีอะไรเยอะแยะไปหมด มีทั้งบทเรียน มีทั้งสิ่งที่กระทบใจเรา สิ่งที่มีความสุข มีหมดทุกอย่าง อยากเขียนหนังสือนะ อยากให้รู้ว่า การเป็น กกต.ไม่ได้เป็นกันง่าย อย่าคิดว่าเป็น กกต.แล้วมีอำนาจ อำนาจเป็นของร้อนมาก ถือไว้ก็พอง มีความทุกข์ อย่าคิดว่าเป็น กกต.แล้วเป็นเรื่องดี นำมาซึ่งอำนาจ เงินทอง ไม่จริง สิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียง..หน้าฉาก สิ่งที่เลื่อนลอย คิดกันเอง

จริง ๆ แล้ว การเป็น กกต.เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ถ้าท่านอยากมีความสุข อยู่ในอาชีพเดิมดีที่สุด การเป็นผู้พิพากษา เป็นอาชีพที่เราได้รับการยกย่อง คำว่าอี นาง อี..อีสัตว์ (เสียงเข้ม) มันจะไม่มีในวงการของเรา เรามีแต่คำว่าใต้เท้า มีแต่ท่าน แต่ถ้าท่านหลุดมาจากศาลเมื่อไหร่ คุณก็ต้องยอมรับ ว่าคุณต้องโดนเขาด่า คุณทนได้ไหม ถ้าทนได้ มาเป็น กกต.ได้เลย

- วันนี้ กกต.กำลังปิดฉาก Happy Ending ยังคิดใช้ชื่อเรื่อง "ชีวิตบัดซบ กกต." อีกเหรอ
ชีวิตของการเป็น กกต.มันเป็นชีวิตที่มีทั้งทุกข์ทั้งสุขอยู่รวมกัน ถ้าทุกข์มันทุกข์มาก ทุกข์มากถึงขนาดอยากจะออก แต่ทนได้ และสามารถผ่านมาได้ คำว่า Happy Ending คงจะใช้กับ กกต.ชุดนี้ไม่ได้ เราไม่ได้ Happy Ending เท่าไหร่ เชื่อว่าทุกคนไม่มีความรู้สึกว่ามีความสุขเมื่อจบแล้ว คิดว่า 7 ปี เราหมดทุกข์แล้วนะ แค่นั้น

ถ้า Happy Ending ต้องไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย 7 ปี ทำงานสบายมาก (เสียงสูง) ทุกคนไม่มีใครว่าเรา การเมืองตกลงกันได้ มีรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีฝ่ายค้าน ทำงานสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ นี่คือ Happy Ending

- ไม่ได้จบสมหวังทุกฝ่าย แต่จบแบบเศร้า เคล้าน้ำตา เป็นละครดราม่า
(สวนทันที) ไม่..เรามีความรู้สึกว่า จบโดยที่เรายังไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องมีคนมาประกันตัว หรืออยู่ในเรือนจำ เราก็พอใจ เพราะทุกครั้งที่ประชุมกัน ก็จะมีการพูดเรื่องนี้ว่า ผมไม่ตายคนเดียว ผมตายด้วยกัน แล้วตัวเองก็จะพูดอยู่เรื่อยว่า ดิฉันอยู่ขังแปดนะ คุณจะมาอยู่ขังแปดอย่างดิฉันไม่ได้หรอก ก็พูดเล่น ๆ กันอย่างนี้ นี่คือความทุกข์ในใจ (เอานิ้วจิ้มที่อก) เพราะเราผ่านการเป็นผู้พิพากษามาแล้ว เรารู้ว่าการถูกตัดสินว่าเป็นจำเลย มันเศร้ามาก จากเรานั่งบนบัลลังก์แล้วลงมาเป็นจำเลย มันเป็นความทุกข์ของคนที่จากผู้พิพากษามาเป็นตำแหน่งนี

- รู้สึกโล่งใจไหม ที่ยังไม่ถึงจุดนั้น
ความระแวงยังไม่หมด คดีความยังมีอยู่ (หัวเราะ) ยังไม่รู้ เพราะเราไม่รู้ว่าผู้พิพากษาจะคิดอย่างไร การตัดสินของศาล เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรในกรณีที่ฟ้องเรา

- หลังจากพ้นวาระไป จะทำอะไรต่อ
ตอนนี้ยังไม่ได้คิด ความจริงอยากทำงานศาล แต่คงไม่คิดกลับไปเป็นผู้พิพากษา อาจเป็นงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม จะถนัดกว่า มากกว่าจะกลับไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ถึงกลับได้ ก็คิดว่าไม่กลับ

- กกต.ชุดหน้าจะเป็นไหม จะต้องเป็นผู้พิพากษา
ไม่จำเป็น แต่ต้องเป็นนักกฎหมาย ต้องรู้เรื่องกฎหมายเยอะมาก งาน กกต. 80 เปอร์เซ็นต์เป็นงานกฎหมาย ฉะนั้น ถ้ามีกฎหมายอยู่ในมือ แต่เป็นคนที่ไม่เชี่ยวชาญกฎหมายเลย จะลำบากมาก ท่านจะต้องเข้าใจว่ากฎหมายเลือกตั้งเป็นยังไง ถ้า กกต.ชุดหน้ามาจากครู อาจารย์ หรือเป็นหมอ ยากมากที่ท่านจะต้องมานั่งศึกษา ท่านต้องระวังว่าคนจะหลอกท่าน

Cr.ประชาชาติธุรกิ