PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

เปิดใจ “ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์” จุดยืน ส.นักข่าว ในยุควงการสื่อผันผวน

Posted by: nattaphonc in ข่าวและบทความบทความ  0 26 Views

FacebookTwittertumblrGoogle+EmailLinkedInPinterestStumbleUponRedditflattrDiggbuffer

pradit1
“…เป้าหมายของเราอยู่ที่ตัวนักข่าวเป็นหลัก มากกว่าจะไปเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมจะไม่พาสมาคมไปเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เกิดปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ…”


ปฏิกิริยาจากคนในสนามข่าว ที่ผู้เขียนสัมผัสด้วยตัวเอง เมื่อรู้ว่า “ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์” หนุ่มใหญ่วัย 45 จาก นสพ.บางกอกโพสต์ ได้รับเลือกให้เป็น “นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” คนใหม่ แยกตามความรู้สึก ได้ 3 รูปแบบ


มีทั้งแปลกใจ – ไม่คิดมาก่อนว่าประดิษฐ์จะได้เป็นถึงผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อ


ไม่แปลกใจ – คนในสมาคมก็มีอยู่แค่นี้ ประดิษฐ์ก็ทำงานในสมาคมมานาน จะได้เป็นก็ไม่แปลกอะไร


แต่ที่พบมากที่สุดกลับเป็น ไม่สนใจ ไม่แคร์ เฉยๆ คือไม่ได้รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงในสมาคมจะส่งผลอะไรต่อพวกเขา จึงไม่ได้คิดว่า การเปลี่ยนตัวนายกสมาคมมาเป็น “ประดิษฐ์” จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างไร


การขาดมวลชน หรือแนวร่วม คือ “โจทย์ใหญ่” ที่ประดิษฐ์และคนในสมาคม ต้องเร่งแก้ไข หากจะขับเคลื่อนสมาคมไปข้างหน้า หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ยิ่งในภาวะที่องค์กรสื่อหลายแห่งหันไปทำธุรกิจเต็มตัว แถมยังมีการแบ่งขั้ว-เลือกข้าง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนไม่มีใครเกรงใจใคร ใครอยากทำอะไรก็ทำ …แล้วทำไมจะต้องสนใจสมาคมนักข่าว?


“ราชดำเนิน” มีโอกาสนั่งพูดคุยกับประดิษฐ์ บ่ายวันฝนตกกลางเดือน เม.ย.2556 เพื่อสอบถามถึงสิ่งที่คิดจะทำตลอดขวบปีข้างหน้า ซึ่งเขาก็ยอมรับตรงๆ ว่า แม้จะมีสารพัดโปรเจ็กต์ที่อยากจะทำ แต่หัวใจสำคัญคือการดึงคนในสนามมาทำงานกับสมาคมให้มากขึ้น


“การออกแถลงการณ์ของสมาคมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครเชื่อถือ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนมันมีพลังมาก เราก็รับรู้ฐานะตรงนี้ของสมาคมที่ต้องคิดเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เปลี่ยนทิศทาง วางยุทธศาสตร์ในการสร้างบทบาทสมาคมใหม่ ยิ่งสมาคมมีอายุใกล้ 60 ปี ก็ต้องหาวิธีว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร ให้ยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากสังคม จากคนในวิชาชีพสื่อ” ประดิษฐ์ยอมรับ


นาทีนี้ การปฏิรูปสมาคมนักข่าว คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป


…เพราะต่อให้ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน แต่ไม่มีคนกราบไหว้ แล้วใครจะเคารพ?


…ต่อให้เป็นยักษ์หน้าตาถมึงทึง แต่ไร้ซึ่งกระบอง ใครเล่าจะเกรงกลัว?


…ต่อให้เป็นสมาคมมีชื่อ แต่ถ้าขาดคนเข้าร่วม แล้วจะอยู่ไปเพื่ออะไร?


ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ นอกจากมีการเปิดแผนกู้ชีพสมาคมแล้ว “ประดิษฐ์” ยังตอบข้อข้องใจของหลายๆ คน ทั้งข้อหาว่าสมาคมเป็นพวกเสื้อเหลือง-ไม่เอาทักษิณ ประดิษฐ์เป็นพวกประชาธิปัตย์ ใช้สองมาตรฐานในการปกป้องสื่อ หรือถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว


สมาคมวิชาชีพแห่งนี้ จะเดินต่อไปทางไหน ภายใต้การนำของ “ประดิษฐ์” คำตอบอาจอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้


00000
ความท้าทายของวงการสื่อไทยเวลานี้มีอะไรบ้าง
ตอนนี้วงการสื่อมันเปลี่ยนมหาศาล เมื่อก่อนสมาคมต้องเฝ้าระวังไม่ให้รัฐคุกคามหรือแทรกแซง แต่วันนี้สื่อเป็นของทุนหมดแล้ว ทุนสื่อกลับมามีอิทธิพลเหนือกอง บก. เหนือนักข่าว ตรงนี้มีผลต่อพื้นที่ข่าวในหน้า นสพ.ต่างๆ ทำให้ข่าวสืบสวน ข่าวตรวจสอบลดลง เพราะนายทุนสื่อไม่เปิดพื้นที่ให้ข่าวเชิงนี้


การที่ทุนเข้ามามีอิทธิพลในวงการสื่อเกิดจากอะไร แล้วจะเป็นปัญหาอย่างไร
ผลประโยชน์ด้านธุรกิจสื่อมันมากขึ้น ซึ่งผมเล็งเห็นว่า ในอนาคต การเข้ามามีอิทธิผลเหนือกอง บก.ของทุน จะทำให้เกิดปัญหา ก็มีการคิดกันว่าจะทำให้เกิดอิสระระหว่างกอง บก.กับทุนอย่างไร เพราะวันนี้มันเป็นส่วนเดียวกันมากเกินไป เมื่อก่อนเจ้าของไม่ค่อยยุ่ง แต่วันนี้ผมชักไม่แน่ใจว่า เจ้าของกำหนดข่าวหรือเลือกข่าวเองมากน้อยแค่ไหน


ตรงนี้คือคำถามใหญ่ว่า วิชาชีพสื่อจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างทุนสื่อกับเสรีภาพในการทำข่าวอย่างไร เคยคิดคร่าวๆ ว่าให้มีการออกกฎหมายมาจัดความสัมพันธ์ ว่าระดับไหนยุ่งได้-ยุ่งไม่ได้ แต่ก็คงได้แค่คิด เพราะสุดท้าย ฝ่ายทุนสื่อคงไม่ยอม เพราะถ้าปล่อยให้อิสระ เขาก็กลัวว่าสื่อจะไปทำข่าวที่ส่งผลกระทบต่อเขา


ส่วนตัวคุณประดิษฐ์คิดว่า เรื่องสื่อเลือกข้างเป็นปัญหามากน้อยแค่ไหน
ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหา เพราะถ้าเราดูการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เวลานี้เรามีสื่อจำนวนมหาศาล จากที่สมัยก่อนเคยพูดกันถึงเรื่องสื่อแท้-สื่อเทียม ถึงกับเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ แต่วันนี้เรามีสื่อของพรรคการเมือง แม้ไม่บอกตรงๆ แต่คนก็รู้ว่าใช่ คำถามคือสื่อที่ยังประกาศตัวว่าเป็น “สื่อสาธารณะ” จะทำอย่างไรให้สังคมเห็นว่าเรายังมีความต่าง ซึ่งเท่าที่คุยกันเห็นว่ามีวิธีเดียวคือเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณสื่อ


คือในเมื่อสื่อไม่สามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ก็ควรจะรักษาจริยธรรมจรรยาบรรณเบื้องต้น 3 ข้อเอาไว้ ได้แก่ 1.ความเป็นธรรม คือถ้ากล่าวหาใครต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ชี้แจง ไม่ใช่ว่าไม่เปิดพื้นที่ให้เขาเลย 2.ความรอบด้านของข้อมูลมีเพียงพอหรือไม่ และ 3.ข้อมูลที่นำเสนอเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีข้อเท็จจริงแค่ไหน เพื่อให้เกิดข้อแตกต่างกับที่ปลุกปั่นกันอยู่ โดยใช้ข่าวที่มีการเสกสรรปั้นแต่ง ข่าวโฆษณาชวนเชื่อ


ถ้าทำให้ต่างกันแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะทำให้สังคมสามารถคัดกรองได้ ว่าควรจะอ่านข้อมูลจากสื่อประเภทไหน


สมาคมจะไปเข้าไปมีบทบาทตรงนี้อย่างไร ถึงขนาดเป็นผู้ตรวจสอบควบคุมจริยธรรมจรรยาบรรณสื่อได้ไหม
เราคงทำได้แค่รณรงค์ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าสื่อมวลชนวิชาชีพต่างกับสื่อทั่วไปอย่างไร


แต่ท่ามกลางความแตกแยกทางการเมือง เวลาที่สมาคมมีชุดความคิดอะไรออกมา สื่อกลุ่มหนึ่งก็อาจจะไม่ยอมรับ
เราทำให้คนเห็นด้วยทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว และเราก็ไม่สนใจจะทำเช่นกัน หน้าที่ของเราคือบอกกับสังคม กับสื่อ กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ที่เป็นสื่อสาธารณะ เพื่อให้พวกเขาฉุกคิดได้ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็ยึดหลักการข้างต้นในการทำงานอยู่แล้ว เพราะในภาวะที่สังคมแตกแยก การถ่วงดุลด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ด้วยความเป็นธรรม ด้วยข่าวที่เป็นจริง มันจะทำให้สังคมเกิดความสมดุล


เราไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสื่อเลือกข้าง แต่เป็นหน้าที่ของเราจะทำให้สังคมได้รับรู้ แล้วคนอ่านจะเป็นคนเลือกเองว่า ควรจะเสพสื่อประเภทใด สื่อที่มีข่าวที่พร้อมให้ความเป็นธรรมกับคนที่เห็นไม่ตรงกัน ข่าวที่ไม่คุกคามฝ่ายที่เห็นต่าง ข่าวที่ไม่จิกหัวด่าเขาอย่างไม่เป็นธรรม ข่าวแบบนี้ควรจะมียังอยู่ในประเทศนี้


ถ้าสมาคมเป็นผู้ออกมากระตุก คนบางส่วนก็จะถามถึงบทบาทของสมาคมที่ผ่านมา ที่พวกเขาเชื่อว่าเทคไซด์ เอียงเข้าข้างบางฝ่าย
ไม่จริง ผมยืนยันได้ว่าที่ผ่านมา เราทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ยกตัวอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะวันที่พันธมิตรยึดช่อง 11 วันที่สมัชชาคนจนบุกล้อมเนชั่น หรือวันที่ทหารบุกยึดดาวเทียมของกลุ่มเสื้อแดง เราก็ออกแถลงการณ์ประณามเหมือนกันหมด เพราะถือเป็นการคุกคามสื่อ เพราะแม้จะไม่เห็นด้วยกับบางอย่างของสื่อ แต่ถึงขนาดไปปิดเขาเลย ก็ไม่ใช่ นี่คือการทำหน้าที่ของเรา และเราก็ถูกด่าจากทุกสี ซึ่งพิสูจน์ได้


สมาคมพยายามอธิบายว่าปกป้องนักข่าวของทุกฝ่าย แต่ทำไมช่วงหลังถึงโดนว่า ว่าเป็นพวกเสื้อเหลือง ปกป้องแต่ฝ่ายไม่เอาทักษิณ และไม่เอาเสื้อแดง
ผมไม่สามารถห้ามได้ เพราะแล้วแต่มุมมองคน เขามีสิทธิถาม เรามีสิทธิ์ฟัง แล้วก็ดูว่าบทบาทของเรา “เลยธง” หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องมาดู จุดยืนของสมาคมคือปกป้องนักข่าวกับองค์กรสื่อ แต่เวลาเดียวกัน เราก็ต้องเตือนเพื่อนร่วมวิชาชีพให้เสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง อยู่ในจริยธรรมของสื่อ อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้ามีการใช้เสรีภาพไปยั่วยุความเกลียดชัง หรือละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง เราถือว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเตือนทุกฝ่าย


ถ้าไปอ่านแถลงการณ์ของสมาคมย้อนหลัง จะเห็นทิศทางได้เลย


เวลานี้มีองค์กรสื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ มากมาย บางสื่อก็มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง ให้นิยามได้หรือไม่ว่าองค์กรสื่อลักษณะไหนที่สมาคมจะออกมาปกป้องหากถูกคุกคาม


มันยังพูดไม่ได้ ยังสรุปไม่ได้ คือเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบไหน ต้องดูพฤติกรรม ดูเหตุการณ์ ดูเรื่องที่จะเกิด แต่ถ้าเป็นการคุกคามสื่อตรงไปตรงมา เราก็เลือกปกป้อง


อย่างกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารว้อยซ์ ออฟ ทักษิณ (ถูกฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) คนบางกลุ่มก็บอกว่า นี่ก็เป็นสื่อเหมือนกัน ทำไมสมาคมไม่ออกมาปกป้อง
ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เท่าที่รู้มามีการถกเถียงกันเยอะ


ถ้าเป็นคุณประดิษฐ์ จะทำอย่างไร
ยังตอบไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องสมมติ ต้องมาดูก่อน ผมบริหารองค์กร ไม่สามารถชี้ขาดด้วยคนเดียว เรามีคณะกรรมการชุดต่างๆ จะทำอะไรต้องผ่านการเห็นชอบ ฉะนั้นเรื่องทั้งหมดไม่สามารถพูดก่อนได้


แล้วอย่างกรณีสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีถูกทหารตบเท้าบุกสำนักงาน โดยอ้างว่าไม่พอใจที่มีการเขียนบทความโจมตี ผบ.ทบ. เราต้องดูก่อนไหมว่ามีการเขียนโจมตี ผบ.ทบ.จริงหรือไม่ หรือพอเกิดเหตุก็ต้องออกมาปกป้องเลย
ถ้าดูแถลงการณ์กรณีดังกล่าว จะมี 2 ส่วน คือไม่เห็นด้วยกับทหาร และเสนอแนะองค์กรสื่อด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ต้องทำ 2 ด้าน คือตอนนั้นผมยังไม่มีตำแหน่ง แต่เท่าที่ออกมา ผมว่าก็แฟร์ดี ไม่ให้สังคมรู้สึกว่า เราเล่นงานหรือวิจารณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมว่าจุดยืนสมาคมควรจะเป็นอย่างนี้


อีกด้านก็มีเสียงวิจารณ์ถึงคุณประดิษฐ์เอง ว่ามีเพื่อนอยู่พรรคฝ่ายค้านเยอะ อาจทำให้ทำงานลำบาก จะชี้แจงข้อหานี้อย่างไร
ไม่เกี่ยวครับ ผมทำข่าวมา 20 ปี ผมรู้จักคนเยอะมาก และมันพิสูจน์ด้วยผลงานข่าวของผม ถ้าผมทำข่าวก็คือทำข่าว และขีดเส้นกับแหล่งข่าวชัดเจน ถ้าคุณทำเรื่องที่ไม่ชอบผมก็ตีแผ่ เขียนวิจารณ์คุณ คือผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าสนิทฝ่ายไหน จริงๆ แล้วแหล่งข่าวที่ผมสนิทและโอเคจะอยู่ในพรรคเพื่อไทยมากกว่า เราเป็นนักข่าว เราต้องหาข่าว ไม่ได้สนใจเท่าไร


แต่คนพูดถึงคุณประดิษฐ์ มักบอกว่าใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอะไร
เพราะผมเป็นคนใต้เท่านั้นแหละ เรื่องนี้พิสูจน์ได้ด้วยการทำหน้าที่ ด้วยตัวข่าว อย่าเอาการสนิทกับหลายคนมาตัดสิน


การขับเคลื่อนงานหลายอย่างต้องการแนวร่วม แต่ในช่วงเวลาที่ทั้งสมาคมและคุณประดิษฐ์ถูกผลักให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง จะดึงคนในวงการมาร่วมงานได้อย่างไร
สมาคมใหญ่กว่าตัวเราเยอะ มันมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้อยู่ เรื่องการดึงคนเราก็คุยกัน ว่าต้องวิธีเชื่อมโยงกับนักข่าวในพื้นที่ หาวิธีสร้างความเป็นตัวแทนขึ้นมา โดยมีการวิเคราะห์กันขนาดว่า ในวันนี้ที่มีความแตกแยก ถ้าสมาคมไม่ปรับตัวเองให้กว้างขึ้น ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ เราก็อาจะอยู่ลำบาก เพราะใครก็ตั้งสมาคมขึ้นมาได้


การออกแถลงการณ์ของสมาคมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครเชื่อถือ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนมันมีพลังมาก เราก็รับรู้ฐานะตรงนี้ของสมาคมที่ต้องคิดเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เปลี่ยนทิศทาง วางยุทธศาสตร์ในการสร้างบทบาทสมาคมใหม่ ยิ่งสมาคมมีอายุใกล้ 60 ปี ก็ต้องหาวิธีว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร ให้ยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากสังคม จากคนในวิชาชีพสื่อ


วิธีดึงมวลชน สร้างความเชื่อมโยง ที่คิดไว้เบื้องต้นมีอะไรบ้าง
ผมให้นโยบายไปว่า สโลแกนของสมาคมปีนี้คือ “พัฒนาศักยภาพ ดูแลสวัสดิการ ส่งเสริมสวัสดิภาพ กระชับความสัมพันธ์กับนักข่าว” อันนี้คือเป้าหมายของเรา นักข่าวคือศูนย์กลางในการทำกิจกรรมทั้งหมด เพราะนักข่าวคือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของวิชาชีพสื่อ ในยุคนี้เราต้องหันกลับมาดูแลนักข่าวในทุกๆ ด้าน


อย่างเรื่องสวัสดิการ ค่าแรงนักข่าว วันนี้มันน้อยมาก อยู่อย่างไม่สมศักดิ์ศรี เรื่องสวัสดิภาพก็เช่นกัน เรากำลังทำโครงการไปคุยกับโรงพยาบาลเอกชน ให้มีโครงการสุขภาพนักข่าว อันนี้เป็นปีกของสวัสดิการนักข่าวที่กรรมการบริหารสมาคมชุดนี้ให้ความสำคัญ นอกจากนี้จะมีการตระเวนไปพบกอง บก.นสพ.ต่างๆ เพื่อเสนอว่ามีโครงการอะไรบ้าง และจะดึงนักข่าวมาทำกิจกรรมร่วมกับสมาคม โดยใช้วิธีเปิดให้รับสมัคร แทนการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบในอดีต


ปีนี้เราเลยพยายามเลือกคนที่อยู่ในพื้นที่เข้ามาเป็นคณะทำงาน มาเป็นอนุกรรมการ จะมีนักข่าวจากทุกสาย


แต่คนในสนามมองว่าสมาคมไม่ใช่ตัวแทนพวกเขา เพราะกระทั่งผู้บริหารก็วนเวียนอยู่กับคนหน้าเดิม ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงไม่ส่งผลอะไรต่อพวกเขา เลยไม่รู้จะมาร่วมกิจกรรมทำไม
จริงๆ ถ้าไปดูชื่อกรรมการบริหารสมาคมชุดนี้ จะเป็นนักข่าวในพื้นที่เยอะมาก เป็นคนใหม่ๆ ก็ไม่น้อย เพราะ นสพ.ใหญ่ๆ ก็ไม่ยึดติดกับโควต้าเหมือนเดิม เรื่องความเป็นตัวแทน ก็มีการคุยกันเยอะว่าถ้าจะเลือกตั้งโดยตรง เป็นไปได้ไหม ก็ต้องมาคิดกัน แต่จริงๆ ถ้าไปดู ข้อบังคับสมาคม มันทำได้ ไม่ได้ปิดกั้น คนที่เป็นสมาชิกใครจะเสนอตัวก็ได้


แปลว่าโอกาสจะเลือกตั้งนายกสมาคมโดยตรงก็มีอยู่
ไม่ใช่ว่าการโหวตแข่งกันไม่เคยมี ในอดีตก็มี แต่ผู้อาวุโสก็บอกว่า เคยเห็นข้อดี-ข้อเสียแล้ว เขาก็คิดปรับปรุงมาตลอด แต่จริงๆ ถ้าไปดูในข้อบังคับจะเห็นว่า ไม่มีการปิดกั้น คนที่เป็นสมาชิกใครจะเสนอตัวก็ได้ แต่มันต้องเป็นสมาชิกก่อน คนไม่เป็นสมาชิกมาแข่งไม่ได้อยู่แล้ว


แล้วข้อดีข้อเสียของการโหวตเลือกนายกสมาคมโดยตรง ที่พบในอดีตคืออะไร
วันนี้เราต้องยอมรับว่า เราหาคนมาทำงานเพื่อส่วนรวม ก็ยากแล้ว งานสมาคมเป็นงานจิตอาสา งานหลักของพวกเราคือทำข่าว แล้วยังต้องมาทำงานเพื่อส่วนร่วมอีก เป็นงานเสียสละ และแนวโน้มคือหาคนที่มีจิตอาสาและเสียสละมาทำงานได้น้อยลง ดูจากการหากรรมการ หาคนมาทำงานกับสมาคม ที่ใครบอกว่ามีแต่หน้าเดิมๆ


อีกโจทย์ท้าทายคือสมาคมจะมีวิธีพัฒนาศักยภาพนักข่าวอย่างไร ในยุคที่คนอ่านเริ่มตั้งคำถามถึงคุณภาพการทำงานและความเป็นมืออาชีพ
ก็คงต้องอาศัยการฝึกอบรมต่างๆ เพราะในยุคคอนเวอร์เจนซ์ นักข่าวถูกเรียกร้องว่าต้องทำข่าวทุกข่าว-ทุกประเภท แล้วเสนอข่าวผ่านทุกแพลตฟอร์มได้ เราก็คิดทำหลักสูตรอบรมเพิ่มความสามารถนักข่าว โดยเรื่องความเป็นมืออาชีพ ก็คิดว่าจะตั้งหัวข้ออบรมไว้โครงการหนึ่ง เช่น มีคนเสนอเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม การไม่เซ็นเซอร์ข้อมูลตัวเอง นอกจากนี้ยังอาจใช้การสื่อสารกับคนในสนามบางอย่าง แต่ไม่อยากคิดเร็วๆ อยากให้คนที่ร่วมงานมาช่วยกันคิด


เรื่องความเป็นมืออาชีพมันลำบาก เพราะเวลาสื่อสารไป เราก็จะถูกด่าจนคนภายนอกว่า เขาเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว จริงๆ ก็ไม่มีหน้าที่แบ่งว่าใครเป็นหรือไม่เป็นมืออาชีพ แต่อยากให้ตระหนักว่าเราเป็นวิชาชีพสื่อด้วยกัน มันมีจริยธรรม มีคุณธรรมไม่กี่ข้อไว้แบ่งความคลุมเครือระหว่างสื่อมวลชนวิชาชีพกับสื่อประเภทอื่นๆ อาทิ การให้ความเป็นธรรม ความรอบด้านของข้อมูล ความรับผิดชอบต่อสังคมและการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ซึ่งวันนี้เราหลุด ไม่ค่อยยึดมั่นเรื่องพวกนี้ ทำให้ถูกสังคมถามว่ามีส่วนในการสร้างความขัดแย้ง


การเป็นนายกสมาคมนักข่าวในช่วงที่สังคมแตกแยกคืออะไร ถือเป็นงานยากแค่ไหน เพราะทำอะไรก็ถูกวิจารณ์ ถูกจับตา
มันก็ยาก แต่ผมคิดว่ามันท้าทายมากกว่า ถ้าเราทำให้คนในสังคมเห็นคุณค่า ศักดิ์ศรีของความเป็นวิชาชีพสื่อ และยังเห็นว่าสื่อมีความสำคัญที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง หรือช่วยให้เกิดบรรยากาศการให้เหตุผลภายในสังคม


การที่มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสมาคม พวกเราที่มาทำงานใจกว้างพอจะรับฟัง มีความอดทนพอจะฟัง แล้วเราก็มาคิดว่าจะทำอะไร อันไหนอธิบายได้ก็อธิบาย ไม่ได้ก็เก็บไว้ กลับมาหาคำตอบ ไม่รีบร้อน


เป้าหมายของเราอยู่ที่ตัวนักข่าวเป็นหลัก มากกว่าจะไปเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมจะไม่พาสมาคมไปเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เกิดปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ หรือเว้นแต่บางเรื่องที่สมาคมจริงจังมาก เช่นการจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล ส่วนเรื่องอื่นจะไม่ไปเกี่ยวข้อง มากที่สุดคือใช้เวทีราชดำเนินเสวนาเป็นตัวเคลื่อนในการให้ความรู้ ให้เหตุผล กับคนในสังคม.


00000
“ประดิษฐ์” กับวันวานใน “มติชน”


แม้จะเคยเขียนบทความเรื่อง “วุฒิภาวะ นสพ.กรณีผลสอบอีเมล์ฉาว” ที่คล้ายพาดพิงไปยัง นสพ.มติชน ที่ไม่ยอมรับผลสอบกรณีอีเมล์ฉาวของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ


แต่รู้กันดีว่า บ้านหลังแรกในวงการสื่อของ “ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์” ก็คือ นสพ.ค่ายประชาชื่นฉบับนี้ โดยเริ่มงานเมื่อปี 2537 หลังรับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต จากรั้วรามคำแหง แล้วไปเป็นเอ็นจีโออยู่ภาคเหนือถึง 3 ปี


“ตอนนั้นมติชนใครก็อยากไปทำ เพราะเป็นแนวการเมือง มีจุดยืน มีอุดมการณ์ สอดคล้องกับจริตของเรา ตอนอยู่มติชน ข่าวที่มีส่วนร่วมมากคือ สปก.4-01 ที่มีผลทำให้รัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยุคธงเขียว” เขาย้อนอดีต


“พี่ดิษฐ์” ของนักข่าวรุ่นน้อง ยังเล่าว่า วิธีเทรนนักข่าวของ นสพ.มติชนยุคนั้น สร้างประโยชน์ให้เขาถึงวันนี้ เพราะนักข่าวใหม่จะถูกให้อยู่ในกอง บก.เป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นจะให้ไปตระเวนฟังงานสัมมนาต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ แล้วค่อยส่งไปประจำยังที่ต่างๆ ทำให้เรามีฐานความรู้กว้าง ไม่แคบ


เขายังกล่าวถึงสาเหตุที่ย้ายไปอยู่ นสพ.บางกอกโพสต์ ในปี 2543 ว่าเป็นเพราะ “ต้องการหาความท้าทายใหม่ๆ และอยากฝึกภาษาอังกฤษ” ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่คนข่าวรุ่นเก่าเล่าลือกันว่า มีการ “สลายโต๊ะการเมือง” ของ นสพ.มติชน ที่ทำให้นักข่าวสายการเมือง ซึ่งเวลานั้นมีราว 6-7 คน ถูกจับแยกไปคนละทิศละทาง แต่อย่างใด


โดยประดิษฐ์ซึ่งถูกตอนนั้น ถูกย้ายจากประจำรัฐสภาและพรรคชาติไทย ไปประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าถึงเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยน้ำเสียงกลางๆ


“เวลานั้น ความที่ มติชนเป็น นสพ.การเมือง เมื่อนักข่าวการเมืองทำข่าวตอบสนองกอง บก. ตอบสนองความเป็นมติชนได้ มันก็เลยเสียงดัง ต่อรองได้ คิดประเด็น กำหนดทิศทาง นสพ.ได้ ถึงขนาดว่า ลงข่าวเราผิดหรือยกข่าวเราออก ก็สามารถเชิญกอง บก.มาพูดคุย ชี้แจงเหตุผลได้…


“แต่ผมกลับคิดว่าการที่ออฟฟิศตัดสินใจเช่นนั้น เป็นผลดีกับตัวผมมากกว่า เพราะทำให้ผมได้ทำข่าวสายอื่น ได้ความรู้ ได้แหล่งข่าวมากขึ้น ไม่ใช่แค่สายการเมืองอย่างเดียว”


เขายังยืนยันว่าการลาจากมติชนเป็นไปด้วยดี ไม่มีอะไรติดข้องหมองใจ และเวลานี้ก็ยังมีมิตรสหายอยู่ในมติชนเป็นจำนวนมาก.


สัมภาษณ์โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
(เผยแพร่ครั้งแรกในจุลสารราชดำเนิน ฉบับที่ 26 ประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2556)

ไม่มีความคิดเห็น: