PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

บอร์ด สวรส.เลือก ‘นพ.พีรพล’ รองเลขาธิการ สปสช.เป็น ผอ.สวรส.คนใหม่

บอร์ด สวรส.เลือก ‘นพ.พีรพล’ รองเลขาธิการ สปสช.เป็น ผอ.สวรส.คนใหม่

กดถูกใจแฟนเพจ Hfocus.org บน Facebook ติดตามข่าวสารระบบสุขภาพทุกความเคลื่อนไหว
Tue, 2015-03-24 19:43 -- hfocus
บอร์ดสวรส.เลือก ‘นพ.พีรพล’ รองเลขาธิการ สปสช.เป็นผอ.สวรส.คนใหม่ จากผู้สมัคร 2 คน 'นพ.สัมฤทธิ์' รองเลขาธิการ สปสช. รอประกาศอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ก่อนส่งเรื่องให้ ครม.เห็นชอบต่อไป ภารกิจท้าทาย นพ.พีรพล คือการเปลี่ยนผ่าน สวรส.เป็น สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ สานต่อแนวคิด 'รมช.สมศักดิ์' ที่มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายที่เห็นต่างในขณะนี้
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์
24 มี.ค.58 มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(บอร์ดสวรส.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด สวรส.มีมติเลือก นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช.ให้เป็น ผอ.สวรส.คนใหม่ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีประกาศจากบอร์ดสวรส. และส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเพื่อเป็นมติเห็นชอบก่อน
ทั้งนี้ ตำแหน่ง ผอ.สวรส.นั้น ได้ประกาศรับสมัครไปเมื่อวันที่ 9-27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเป็นการดำเนินการหลังจากมติบอร์ดสวรส.เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.57 มีคำสั่งเลิกจ้าง ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สวรส.ขณะนั้น ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามข้อ 6 ในสัญญาจ้าง ซึ่งบอร์ด สวรส.ได้แต่งตั้งให้ นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ให้เป็นรักษาการ ผอ.สวรส.ไปพลางก่อน ระหว่างที่มีการสรรหา ผอ.สวรส.คนใหม่เรียบร้อยแล้ว
โดยในภายหลังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือก ผอ.สวรส.โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ บอร์ดสวรส.เป็นประธาน  
มีผู้สมัคร 2 คน ตามประกาศ สวรส.เมื่อวันที่ 5 มี.ค.58 คือ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ และ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ซึ่งต่างเป็นรองเลขาธิการ สปสช.ทั้ง 2 คน โดย นพ.พีรพลนั้น เติบโตจากตำแหน่ง ผอ.สปสช.เขต 13 กทม. ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในส่วนเจ้าหน้าที่ประจำ (ตำแหน่งเลขาธิการต้องผ่านการสรรหา และไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ)
ขณะที่ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ นั้น เคยทำงานในสปสช.ในระยะก่อตั้งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.)ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือสถาบันของ สวรส. ก่อนจะกลับมาเป็นรองเลขาธิการ สปสช.เมื่อครั้งที่บอร์ดสปสช.เห็นชอบให้เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการสปสช.อีก 2 ตำแหน่ง จากเดิมที่ สปสช.จะมีรองเลขาธิการเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่ง ณ เวลานั้น ถูกมองว่าเป็นคนของการเมืองยุคนั้น อย่างไรก็ตาม นพ.สัมฤทธิ์ ก็ถือเป็นเครือข่ายเดียวกับสายแพทย์ชนบท ส่วน นพ.พีรพลนั้น ก่อนจะมาเป็น ผอ.สปสช.เขต 13 กทม.นั้น ดำรงตำแหน่งเป็น รองนายแพทย์ สสจ.นครสวรรค์ ซึ่งภารกิจที่สำคัญของ นพ.พีรพล ต่อจากนี้ที่น่าจับตาคือ การรับหน้าที่เป็นหัวขบวนการเปลี่ยนผ่าน สวรส.เป็นสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ซึ่งจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านบา ที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.กำลังเดินหน้า ท่ามกลางเสียงคัดค้านส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในขณะนี้
- See more at: http://www.hfocus.org/content/2015/03/9591#sthash.HDHbTgMq.dpuf
//////////////
ใบตองแห้ง

"มีผู้สมัคร 2 คน ตามประกาศ สวรส.เมื่อวันที่ 5 มี.ค.58 คือ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ และ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ซึ่งต่างเป็นรองเลขาธิการ สปสช.ทั้ง 2 คน"
555 ประเด็นนี้แซวไปแล้ว แต่มีภาคต่อ
"นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ เคยทำงานในสปสช.ในระยะก่อตั้งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.)ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือสถาบันของ สวรส. ก่อนจะกลับมาเป็นรองเลขาธิการ สปสช.เมื่อครั้งที่บอร์ดสปสช.เห็นชอบให้เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.อีก 2 ตำแหน่ง จากเดิมที่ สปสช.จะมีรองเลขาธิการเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่ง ณ เวลานั้น ถูกมองว่าเป็นคนของการเมืองยุคนั้น อย่างไรก็ตาม นพ.สัมฤทธิ์ ก็ถือเป็นเครือข่ายเดียวกับสายแพทย์ชนบท"
อ้าว เห็นไหม ที่ตั้งหมอสัมฤทธิ์ในยุคหมอประดิษฐ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โวยวายกันใหญ่ ตอนนี้ชัดเจนไหมว่าตั้งคนที่เหมาะสม

เมื่อเศรษฐกิจไทยเจอ 3 โรครุมเร้า "บิ๊กตู่" มึน! สารพัดมาตรการ "ถอย" แช่แข็งสัมปทานปิโตรเลียม-ภาษีที่ดินฯ

นที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:01:00 น.



บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

เมื่อเศรษฐกิจไทยเจอ 3 โรครุมเร้า "บิ๊กตู่" มึน! สารพัดมาตรการ "ถอย" แช่แข็งสัมปทานปิโตรเลียม-ภาษีที่ดินฯ

(มติชนสุดสัปดาห์ 20-26 มีนาคม 2558)

จากคำปาฐกถาของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมมนาเมื่อ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จากปัญหารุมเร้าทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีสภาพเหมือน "คนป่วย" ที่มีอาการซ้ำซ้อนหลายด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุนและส่งออกที่อ่อนแรง

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ถูกคาดหวังให้เป็นพระเอกหลังจากมีรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติได้ ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยป่วยจากการเผชิญกับโรค 3 ชนิด

โรคแรกคือ "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งติดเชื้อมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าๆ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ยังเปราะบางอยู่ อีกทั้งไทยยังสูญเสียสิทธิทางศุลกากร (GSP) กับประเทศคู่ค้าหลักของไทยตั้งแต่ต้นปี 2558 ทำให้ความหวังที่จะให้ส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจึงทำไม่ได้มากนัก

โรคที่สองคือ "ข้อเข่าเสื่อม" จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ทั้งจากขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงแรงงานทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเสื่อมสมรรถภาพลงจนเป็นปัญหาเรื้อรัง

และโรคสุดท้าย "ขาดความมั่นใจ" เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่าวิธีการรักษาถูกต้องหรือเปล่า เปลี่ยนเข่าแล้วจะเดินได้เหมือนเดิมหรือจะยิ่งทำให้แย่ลง

นอกจากนี้ นายประสารยังระบุว่า บทบาท ธปท. สามารถเข้ามาช่วยรักษาได้คือใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ซึ่งเสมือนจ่าย "ยารักษาโรค" เข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออก ซึ่งช่วยดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน

แต่ยานี้บรรเทาอาการของโรคทั้ง 3 และเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้บางส่วนเท่านั้น

เนื่องจากการรักษาโรคจำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในส่วนที่เหลือกลับมา

เรียกว่าเป็นการโยนลูกกลับมาที่รัฐบาล และการดำเนินนโยบายการคลังให้สัมฤทธิผล 

หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 11 มีนาคม 2558 มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ไปแล้ว

หมายความว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง และ ธปท. เองก็กำลังพิจารณาจะปรับ (ลด) จีดีพี

ดังนั้น จากนี้ก็เป็นความท้าทายของรัฐบาลในการใช้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นภาคเอกชน

โดยในการประชุม ครม. ล่าสุดก็มีการอนุมัติแผนกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน 7.8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.7 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนน 4.06 หมื่นล้านบาท และโครงการติดตั้งระบบซีซีทีวีของกรมศุลกากรอีก 1,199 ล้านบาท เพื่อหวังช่วยกระตุ้นการลงทุนอีกทาง นอกเหนือจากเงินงบประมาณปกติ ที่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ขณะที่ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้รัฐบาล 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558) ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ

ดูเหมือนว่าช่วงเวลาเกือบ 1 ปี จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศหลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 กับเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและจัดระเบียบประเทศไทย ยังเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย ขณะที่โจทย์ก็ยากขึ้นทุกวัน

และเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้แต่รัฐบาลทหารก็ใช้ว่าจะดำเนินนโยบายทุกอย่างที่ประกาศไว้ได้ง่ายๆ แบบ "ซ้ายหัน-ขวาหัน"

เพราะหลายเรื่องที่ คสช. และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศแบบขึงขังตั้งแต่ครั้งเข้ามาทำหน้าที่ อย่างเรื่องการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยเจตนารมณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวยในประเทศ

แต่เมื่อมีเสียงต่อต้านจากประชาชน (เศรษฐี) รัฐบาลถอยกรูดทันที โยนให้กลับไปศึกษาใหม่แบบไม่มีกรอบเวลาใดๆ

เรียกได้ว่าการถอยของรัฐบาลครั้งนี้จะไม่เป็นกระบวนเท่าไหร่ เพราะขณะที่กระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมายเสนอเข้า ครม.

แต่จู่ๆ เมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องโครงสร้างภาษีที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะเวลานี้เศรษฐกิจยังมีปัญหา และเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี สังคมยังไม่พร้อม ส่วนจะชะลอออกไปนานหรือไม่คงต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังออกมาชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินฯ เป็นภาษีเพื่ออนาคต วันนี้ประชาชนยังเดือดร้อนจึงให้ชะลอไปก่อน พร้อมระบุว่าแนวคิดมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็เพื่อเป็นรายได้ให้กับท้องถิ่น เพราะกฎหมายเดิมใช้มานานแล้วจึงต้องปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสม และถ้าไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ เงินที่จะมาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่มี

ทั้งที่เมื่อครั้งประกาศเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่คำอธิบายในครั้งนี้กลับเป็นเรื่องเป้าหมาย "จัดเก็บรายได้"

ดูเหมือนว่าเป้าหมายของกฎหมายจะเปลี่ยนไป จนกลายเป็นความสับสน

ปัญหาของเรื่องนี้จึงไม่ใช่การหยุด หรือชะลอ แต่ต้องทบทวนเนื้อหาที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายเดิม จนกลายเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน แทนที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นการพับแผนยาว เช่นเดียวกับกรณีของการแช่แข็งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

ที่เริ่มต้นเดินในเส้นทางไม่แตกต่างคือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศขึงขังชัดเจนว่าจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยจุดยืนเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ กระทั่งมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้สนใจมายื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังการประชุมร่วมระหว่าง ครม. และ คสช. รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะให้มีการแก้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานต่อแบบไม่มีกรอบเวลาชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่การปรับแก้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเสร็จเรียบร้อย และจะพร้อมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมอีกครั้งเมื่อไหร่ โดยโยนให้คณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายหาข้อยุติในการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะตกลงกันได้จากความเห็นที่แตกต่างกัน ท่ามกลางความกังวลของภาคเอกชนจากข้อเท็จจริงที่ว่า เวลาของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลงในอีก 7 ปีข้างหน้า

วันนี้ความสับสนและความล่าช้าที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ไม่ใช่ปัญหาของการสื่อสาร แต่เป็นหลักคิดของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจนและไม่หนักแน่นในเชิงนโยบาย ที่ประกาศว่า "เข้ามาปฏิรูปประเทศ" จึงทำให้ต้องใช้สารพัดมาตรการ "ถอย" เช่นนี้.

"ศาลทหารและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย"

"ศาลทหารและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย"

... กรณีกลุ่มบุคคลหรือองค์กรบางแห่ง แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีต่อบุคคลพลเรือนโดยศาลทหาร นั้น
... คสช. ขอยืนยันว่า ..
... “เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง"
... เพราะที่ผ่านมา ได้มีการชี้แจงโดยตลอดแล้วว่า
... ไม่ได้มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยขอให้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการแก้ปัญหา ในช่องทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และจะต้องไม่เสรีเกินไป จนไปละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือละเมิดกฎหมาย คือ ไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น หรือแสดงความคิดเห็นให้ร้าย ทำลายผู้อื่น เพราะ
... “เสรีภาพที่ไม่มีกรอบที่เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และไม่ใช่ประชาธิปไตย”
... ซึ่งเชื่อว่า ผู้ที่ศึกษากฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนทุกคนคงเข้าใจความจริงในเรื่องนี้ดี ทั้งนี้ อยากให้สังคมมองถึงความเป็นจริง และช่วยตอบคำถามด้วย ว่า
... “หากเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ จำเป็นต้องละเมิดกฎหมายด้วยหรือไม่”
... และ ... “เมื่อมีกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตรวจพบคนกระทำผิดกฎหมายแล้ว จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้อย่างไร?”
... สำหรับเรื่อง ศาลทหาร นั้น ได้เคยชี้แจงให้ทราบแล้วว่า ..
... “ศาลทหารจะพิจารณาเฉพาะคดีความมั่นคง 2 - 3 เรื่องเท่านั้น” ..
... เช่น คดีอาวุธสงคราม การบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ และการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและการแตกความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้ ..
... “เหตุผลที่ให้ศาลทหารตัดสินคดีดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังคงมีความอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงกลับขึ้นมาอีก และศาลปกติก็มีคดีค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมสามารถป้องปรามและป้องกันการกระทำผิดในคดีร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถนำตัวคนร้ายมารับโทษได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้ให้ศาลทหารเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้สังคมสงบเรียบร้อยและมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย” ..
... สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร นั้น ขอยืนยันว่า ..
... “มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารนั้น เป็นมาตรฐานเดียวกัน และยึดถือหลักกฎหมายที่เป็นสากลเช่นเดียวกันกับศาลพลเรือน” ..
... อีกประการ คือ ..
... “ศาลทหารมีมานานมากแล้ว มากกว่าศาลอื่นๆ หลายประเภท และที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมในศาลทหารก็ได้รับการยอมรับมาโดยตลอด" ..
... ดังนั้น .. "การมอบหน้าที่ให้ศาทหารช่วยตัดสินคดีบางประเภทในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดแปลกหรือขัดต่อมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด”


เครื่องบินโดยสาร'เยอรมัน วิงส์'ตกที่ฝรั่งเศส ดับยกลำ 148 ศพ

เครื่องบินโดยสาร'เยอรมัน วิงส์'ตกที่ฝรั่งเศส ดับยกลำ 148 ศพ

สุดสลด... เครื่องบินโดยสารของสายการบิน โลว์ คอสต์ ‘เยอรมัน วิงส์’ จากเมือง บาร์เซโลนา - ดุสเซลดอร์ฟ โหม่งโลก ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ดับยกลำ 148 ศพ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด่วน เครื่องบินโดยสาร แบบ แอร์บัส A320 ของสายการบิน เยอรมัน วิงส์ ( German Wings) เที่ยวบิน 4U 9525 พร้อมผู้โดยสาร 142 และลูกเรือ 6 คน รวม 148 ชีวิต ทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มุ่งหน้าไปยังเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ประสบอุบัติเหตุตกบริเวณเทือกเขาแอลป์ ใกล้เมืองดีญ เลส์ แบงส์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เมื่อเวลา 16.41 น. ของวันที่ 24 มี.ค. ตามเวลาในประเทศไทย

ข่าวแจ้งว่า เครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน 4U9525 ของสายการบิน ‘เยอรมัน วิงส์’ ซึ่งเป็นสายการบินแบบ โลว์ คอสต์ ในเครือของสายการบินลุฟต์ฮันซาของเยอรมนี ได้หายไปจากจอเรดาร์ เมื่อเวลา 09.39 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 15.39 น. ตามเวลาในประเทศไทย ก่อนจะมีการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ทางการและเจ้าหน้าที่ตำรวจของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวประสบเหตุเครื่องตก

ด้านประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุ ที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารตกในครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีผู้โดยสารและลูกเรือรอดชีวิต อีกทั้ง พื้นที่ที่เครื่องบินตกนั้น ยังเป็นสภาพภูมิประเทศที่เข้าไปถึงยากลำบากอีกด้วย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมานูเอล วอลล์ส ของฝรั่งเศส กล่าวว่า ได้มีคำสั่งให้ รมว.มหาดไทย เดินทางยังที่เกิดเหตุเครื่องบินตกแล้ว เพื่อประสานงานในโศกนาฏกรรมครั้งนี้.


ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2558

ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2558
วันมหาสงกรานต์ ตรงกับ วันอังคารที่ 14 เมษายน เวลา 14 นาฬิกา 24 นาที 0 วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือนห้า (5) ปีมะแม
นางสงกรานต์นามว่า "รากษสเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล หัตถ์ซ้ายทรงธนูศร เสด็จนั่ง มาเหนือหลังวรวาหะ (สุกร) เป็นพาหนะ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ อาทิตย์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ ปฐวี(ธาตุดิน) น้ำอุดมสมบูรณ์ดี เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะแม นาคราชให้น้ำ 3 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปี กลางปี ปลายปีเสมอกันแล
เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแล
วันเถลิงศก ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน เวลา 18 นาฬิกา 21 นาที 36 วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันพฤหัสบดี แรม 13 ค่ำ เดือนห้า (5) ปีมะแมวันอังคาร เป็นวันมหาสงกรานต์ : จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิง และ โจรผู้ร้าย และ จะเจ็บไข้นักแล ฯ , วันพุธ เป็นวันเนา : ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ , วันพฤหัสบดี เป็นวันเถลิงศก : สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล ฯ , นางสงกรานต์ นั่ง : จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ


โอลองด์ระบุไม่มีความหวังจะพบผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินเยอรมันตกในฝรั่งเศส


นายฟรองซัวส์ โอลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า ไม่มีความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตจากอุบัติเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 ของสายการบินเยอรมันวิงส์เที่ยวบิน 4U 9525 ที่ประสบอุบัติเหตุตก ขณะทำการบินจากนครบาร์เซโลนาไปยังเมืองดุสเซลดอร์ฟ โดยมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 148 คน บนเครื่อง
นายโอลองด์ กล่าวว่าแม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของเครื่องบินตกแต่หากพิจารณาข้อมูลจากจุดที่เครื่องบินตกซึ่งเป็นบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง ทำให้เชื่อว่าไม่น่าจะมีผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าเครื่องบินของสายการบินเยอรมันวิงส์ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดภายใต้การกำกับดูแลของลุฟท์ฮันซา ได้ส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้ายเมื่อเวลา 10.47 น.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนจะตกลงใกล้เมืองดีนเลบะ
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของฝรั่งเศสเปิดเผยว่าคณะค้นหาและกู้ภัยได้ออกเดินทางไปยังที่เกิดเหตุแล้ว ขณะที่กระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสระบุว่าได้พบซากชิ้นส่วนเครื่องบินที่บริเวณระดับความสูงจากน้ำทะเล 2,000 เมตร
ทั้งนี้ เครื่องบินแอร์บัส A320 เป็นเครื่องบินที่ได้รับความนิยมที่ใช้ในการการบินเส้นทางระยะสั้นและระยะปานกลาง

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานละเมิดสิทธิทั่วโลก เสนอไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-แก้ไข ม.112

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานละเมิดสิทธิทั่วโลก เสนอไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-แก้ไข ม.112

25 ก.พ. 2558 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นำเสนอรายงานประจำปี 2557-2558 สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก
ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า  เหล่าผู้นำในแต่ละประเทศมีความล้มเหลวในการปกป้องพลเรือนจากภัยสงคราม ลามถึงเรื่องปัญหาผู้ประสบภัยจากสงคราม ทั้งยังมีการบังคับให้พลเรือนเป็นบุคคลศูนย์หาย ในหลายประเทศมีการปราบปรามเอ็นจีโอที่ออกมาเรียกร้อง โดยรัฐใช้ความรุนแรงเข้าควบคุม ยกอย่างกรณีในประเทศฮ่องกงที่ผู้ประท้วงชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองนำโดยนักศึกษา แต่ทางรัฐบาลกลับมีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามข่มขู่คุกคามเหล่านักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบ ทั้งยังนี้มีรายงานเรื่องที่หลายประเทศใช้วิธีการทรมานพลเรือนเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับคำสารภาพหรือข้อมูล ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนักโทษทางความคิดไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเชื่อทางศาสนา มีทั้งหมด 62 ประเทศ โดย 18 ประเทศที่มีอาชญากรรมสงครามที่ทำให้พลเรือนเป็นเหยื่อ ใน 119 ประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มี 28 ประเทศที่ระบุว่าการขอทำแท้งคืออาชญากรรมส่งผลให้เหล่าสตรีที่ถูกข่มขืนอาจเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางการแพทย์ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และ 78 ประเทศ ที่ระบุเรื่องของการเป็นเพศทางเลือกหรือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ปริญญายังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนของฝั่งเอเชียแปซิฟิก พบว่า ในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเรื่องของการออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งของตนเองและสังคม เช่น เมียนม่าร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฯลฯ โดยนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการตรวจสอบรัฐบาล แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องอย่างสันติวิธี โดนรัฐใช้ความรุนแรงเข้าทำการปราบปรามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ทั้งในจีน เกาหลีเหนือ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา เกาหลีใต้ ปากีสถาน และประเทศไทย ด้านของสื่อก็ได้รับการข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวาง รวมทั้งถูกสังหาร ทั้งในประเทศจีน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน อินเดีย ฯลฯ  ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีเหยื่อและครอบครัวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากปฏิบัติการที่โหดร้าย โดนทรมานจากการตรวจสอบเพื่อซัดทอดข้อกล่าวหา และการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ เช่น ในอัฟกานิสถานที่มีรายงานตัวเลขจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่มีผู้ขอลี้ภัยจากสงครามถึง 2 ล้านคน และยังมีอีกนับ 6 แสนคน ที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และในเมียนมาร์ที่ยังคงมีความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธ์ทั้งในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น โดยกองกำลังติดอาวุธปลดแอกตนเองและจากรัฐบาลเมียนมาร์
ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ยังกล่าวเสริมอีกว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงมีปัญหาเรื่องของสิทธิสตรีและเด็ก โดยการละเมิดบังคับให้สมรสหรือสังหารเพื่อศักดิ์ศรี และการออกกฎหมายทำแท้งเป็นอาชญากรรม แม้ว่าผู้หญิงจะโดนข่มขืน และประเด็นในเรื่องของเพศสภาพ มีหลายประเทศในโซนเอเชียแปซิฟิกที่คุกคามขุมขังเพียงเพราะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ด้านความอดทนอดกลั้นในด้านศาสนาและชาติพันธ์ที่แตกต่างกันมีการหมิ่นศาสนาและความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ในส่วนของหลายประเทศบรรษัทไม่มีการเคารพเรื่องของสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้พลเรือนต้องรับผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเอง และระบบนิเวศน์ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายจากการเข้าไปทำเหมืองเป็นต้น
ทั้งนี้ปริญญาเปิดเผยการสรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอันครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การทรมานภายใต้บริบทการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ 2) สภาพเรือนจำและสถานที่กักขัง 3) กฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา 4) หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) 5) การทรมานและความรับผิด
ผลกระทบที่รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 80% ที่เสียชีวิต เป็นพลเรือน ซึ่งผิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ในส่วนของปัญหาทางการเมือง ปีที่ผ่านมามีการใช้ความรุนแรงโดยมีกองกำลังติดอาวุธทั้งจากภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.นอกจากนี้สถานการณ์ในเรือนจำและสถานที่กักขังในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความกังวลว่าสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอาจเข้าข่ายเป็นการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ โดย มี134 เรื่อง ใน 138 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการทรมานซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง การบังคับให้กลายเป็นบุคคลศูนย์หาย จากรายงานที่มีการร้องเรียนในประเทศไทยมี 89 เรื่องอยู่ที่องค์กรสหประชาชาติ(UN) ว่ามีผู้ถูกบังคับศูนย์หาย โดยมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่ทางรัฐบาลมีคำตอบให้กับUN รายแรกได้รับอิสรภาพ และมีอีก 1 รายยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร โดยประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ทางรัฐบาลทหารไทยได้ออกกฎห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ทั้งการสั่งปิดสื่อชุมชนและการห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห้ามจัดสัมมนาวิชาการเป็นเชิงกระทบต่อความมั่นคง ควบคุมพลเรือนโดยพลการแบบไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา จำนวนไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้มีมากกว่า 193 คนถูกบังคับให้ไปรายงานตัว และมีหลายรายที่โดนขึ้นศาลทหารจากการขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของ คสช. ทางรัฐบาลทหารไทยยังมีการลงโทษกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารแบบไม่มีการไต่สวนที่เป็นธรรม รวมทั้งออก พ.ร.บ.ศาลทหาร ให้พลเรือนที่เป็นจำเลยคดีความมั่นคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหารและไม่สามารยื่นอุทธรณ์ได้ รวมทั้งกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บังคับให้พลเรือนต้องรับการพิจารณาคดีในศาลทหาร
ปริญญายังแจงอีกว่า ความล้มเหลวของรัฐไทยในการปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มี 42 กรณี ถูกอุ้มหายและขู่ฆ่า ยังไม่รวมกรณีถูกคุกคามและและถูกข่มขู่ รวมถึงการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เช่น ชาวโรฮิงยา และอุยกูร์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยบกพร่องในนโยบายไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ สุดท้ายประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต แม้ในปี 2557 ยังไม่มีการประหารนักโทษ แต่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงดำเนินหน้ารณรงค์ยกเลิกโทษประหารในประเทศไทยต่อไป
ภายในงานแถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคง ที่จำกัดเสรีภาพของพลเรือน ทั้งการแสดงออก การชุมนุม การปิดกั้นสื่อ ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลสามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญา ม. 112 เสนอให้กำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิดและให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมาย ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถอนข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ยุติการใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งยุติมาตรการที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก และปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
ซาลิต เซ็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ใน 2557 เป็นปีแห่งหายนะสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ตกอยู่ในวังวนความรุนแรง การตอบสนองสงครามระดับโลกต่อความขัดแย้งและการปฏิบัติการโดยไม่ชอบทั้งรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ยังเป็นเรื่องน่าละอายและไม่เป็นผล ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับการทำร้ายและการปราบปรามที่ป่าเถื่อนมากขึ้น ประชาคมนานาชาติยังต้องมีบทบาทที่จำเป็น
"องค์การสหประชาชาติก่อตั้งเมื่อ70ปีก่อน เราจะต้องไม่เห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเรากำลังเห็นความรุนแรงในวงกว้าง และเป็นวิกฤตใหญ่หลวงด้านผู้ลี้ภัยที่เป็นผลมาจากความรุนแรงเหล่านั้น ที่ผ่านมามีความล้มเหลวในการค้นหาทางออกเพื่อรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุดในยุคของเรา" เลขาธิการแอมเนสตี้ฯ กล่าว
ด้านรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ได้มีการออก ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย
“ทางเจ้าหน้าที่เองก็รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่ต้องรับเรื่องพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่เองที่เป็นผู้ทรมาน ผู้ถูกกล่าวหา และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ ได้มอบหมายไปยังท่านวิษณุ เครืองาม เพื่อจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างดีทีสุด”รองอธิบดีกล่าว
นอกจากนี้ยังมีนางรอมือละห์ แซเยะ ภรรยานายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ(อันวาร์) อดีตนักข่าวอิสระในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้ทำงานถึง 12 ปี ต้องคดีเมื่อ 2548 เป็นเหยื่อของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกกล่าวหาว่าเป็น อั่งยี่ ซ่องโจร(อ่านรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.org/journal/2013/05/46736)  ภรรยาของอันวาร์ เผยว่า ก่อนที่สามีจะถูกดำเนินคดี ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเชิญตัวอันวาร์ในลักษณะเหมือนเป็นญาติมานั่งทางข้าวที่บ้าน และกล่าวกับครอบครัวอย่างเป็นมิตรว่าจะมีการสอบปากคำเล็กน้อยจากนั้นจะปล่อยตัวกลับมา แต่ในที่สุดสามีตนกลายเป็นจำเลยสั่งคม โดยสื่อทุกสื่อทั้งสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ได้พิพากษาอันวาร์ว่าเป็นผู้ต้องหาผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี ตลอด 11 ปี จนถึงในปี 2552 ศาลอุธรณ์จึงได้สั่งยกฟ้องอันวาร์ แต่เมื่อในปี 2556 ศาลได้เรียกตัวสามีกลับไปเพื่อพิจารณาคดีตามศาลชั้นต้นอีกครั้ง
รอมือละห์ ยังเสริมว่า เมื่อตั้งข้อสังเกตอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ไม่เคารพคำตัดสินของศาล แต่ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ข้อกล่าวที่สามีตนได้รับไม่มีน้ำหนัก แต่หลังจากศาลตัดสินกลับเจ้าหน้าที่มาที่บ้านอีกครั้ง และกล่าวหาว่าสามีตนว่ามีส่วนในการสังหารพระภิกษุในพื้นที่ ทั้งที่อันวาร์ซึ่งอยู่ในเรือนจำไม่สามารถออกจากคุกไปก่อเหตุได้อีก ทั้งยังมีกรณีที่น้องชายตนนั้นถูกเรียกตัวไปจากที่ทำงาน ไม่มีการบอกให้ครอบครัวรับรู้ และได้มาทราบทีหลังว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับไป โดยได้รับคำพูดที่เจ็บปวดจากเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อไม่ได้ทำอะไรผิดทางญาติก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดือดร้อนดิ้นรนตามหา
“เจ้าที่ขาดสามัญสำนึกอย่างรุนแรง ลองถอดชุดทหารแล้วกลายมาเป็นปุถุชน หากญาติพี่น้องลูกเมียหายตัวไปตัวทหารเจ้าหน้าที่จะยังนิ่งเฉยไม่ตามหาใช่หรือไม่ ไม่ว่าใครที่มารับรู้เรื่องราวของอันวาร์ ต้องเกิดคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ไหน เราจะเชื่อมั่นอะไรได้อีก ไม่ใช่ว่าไม่เคารพศาล แต่หากศาลไม่ตัดสินอันวาร์เมื่อปี 2556 ในปี 2557 อันวาร์ก็ต้องโดนข้อกล่าวหาเรื่องใหม่อีก ไม่ว่าใครที่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในแบล็คลิสต์ มันไม่มีความปลอดภัยหลงเหลือ ดังนั้นไม่แปลกใจว่าทำไมคนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วเลือกที่จะหนีหายไปที่ไหนได้ ไปต่างประเทศก็ได้ ไปมาเลเซียก็ได้ ที่รู้สึกปลอดภัยแล้วอีกหลายปีค่อยกลับมา ความร่วมมือมันไม่เกิด เปิดปากปกป้องสิทธิ์ก็หาว่าต่อต้านไม่ทำตาม ศึกษาหาความรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองและครอบครัวก็ถูกมองว่าไม่รักชาติ และเราจะมีชีวิตที่ปลอดภัยได้อย่างไร ได้โปรดส่งคืนความสุขความยุติธรรมให้เราเถอะค่ะ” รอมือละห์ กล่าวทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติ ดังนี้
กฎหมายด้านความมั่นคงในประเทศ
·        ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพรอดพ้นจากการควบคุมตัวโดยพลการ เสรีภาพในการแสดงความเห็น การรวมตัวและการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการเดินทาง
·        ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที โดยเป็นองค์คณะที่มีคุณสมบัติในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวบุคคล
·        ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใด ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยที่มุ่งคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น
·        ฟื้นฟูสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยทันที ปัจจุบันมาตรการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการใช้สิทธิเหล่านี้ กำลังทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว
·        แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ การกำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิด และให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
·        ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
·        ถอนข้อกล่าวหาบุคคลใด ๆ ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
วิกฤตทางการเมือง
·        ให้มีการทบทวนถึงวิธีการที่ใช้เพื่อควบคุมฝูงชนระหว่างการเดินขบวนประท้วง และประกันว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติตามหลักสากลในการสลายฝูงชนและการใช้กำลัง อย่างเช่น จรรยาบรรณของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการใช้กำลังเป็นวิธีการสุดท้าย และให้ใช้เท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
·        ให้ประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยทันที อย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และในระหว่างการสอบสวน ให้สั่งพักราชการบุคคลใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว
·        ให้ประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเต็มที่
·        การปราบปรามต่อผู้ประท้วงอย่างสงบต้องยุติลงโดยทันที และต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ การใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ มาตรการอื่นใดที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง และการขัดขวางไม่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะ
·        ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก ทางหน่วยงานเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากพวกเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการประท้วงอย่างสงบ ทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และควรตั้งข้อหาและฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัยโดยใช้ฐานความผิดทางอาญาตามกฎหมาย และให้ดำเนินการผ่านศาลพลเรือน และดูแลให้กระบวนการยุติธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานว่าด้วยความเป็นธรรมระหว่างประเทศ
การทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย
·        กำหนดข้อบัญญัติตามกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดด้านการทรมานอย่างชัดเจนตามนิยามที่กำหนดในอนุสัญญา
·        ให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้ายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการ ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
·        ประกันการเยียวยาและชดเชยอย่างรอบด้านแก่เหยื่อและครอบครัวที่ถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย
การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
·        ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลของความเป็นธรรม ไม่ให้สั่งลงโทษประหารชีวิต
·        ให้มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง หรือให้ยกเลิกไป
·        ในการนำมาตรการฉุกเฉินมาใช้นั้น ให้ใช้ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก้ไขข้อบัญญัติในพรก.ฉุกเฉินฯที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 17 ที่มีข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานในสภาพการณ์ทั่วไป
·        ประกันว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และตามค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และมีการอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวทุกแห่ง
·        ให้หาทางสืบหาและแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีลไพจิตรและบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ
·        ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมีการให้สัตยาบัน
ผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง
·        ให้เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement)และประกันว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนกรณีที่มีความเสี่ยงว่าต้องกลับไปเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศพม่าหรือลาว
·        ให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญา และประกันว่ามีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบังคับขับไล่เช่นนี้อีกในอนาคต
·        ให้เคารพต่อพันธกรณีที่ต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงอย่างจริงจัง และให้ได้รับการติดต่อกับ UNHCR และประกันว่าบุคคลที่หลบหนีจากภัยคุกคามจะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ
·        ให้ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีเวลากำหนดและโดยพลการ และยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยในสภาพที่แออัดเป็นเวลานาน
·        ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสาร 1967 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees and its 1967 Protocol)
·        ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคนงานพลัดถิ่น เพื่อประกันว่าคนงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมจากการทำงาน มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ มีโอกาสได้พักผ่อน ทำกิจกรรมสันทนาการ และมีการจำกัดชั่วโมงทำงานอย่างชอบด้วยเหตุผล
·        ให้ยุติการละเมิดใด ๆ ที่กระทำต่อคนงานพลัดถิ่น ทั้งการค้ามนุษย์และการรีดไถ
โทษประหารชีวิต
·     ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
·     เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต
·     ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต