PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

เมื่อเศรษฐกิจไทยเจอ 3 โรครุมเร้า "บิ๊กตู่" มึน! สารพัดมาตรการ "ถอย" แช่แข็งสัมปทานปิโตรเลียม-ภาษีที่ดินฯ

นที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:01:00 น.



บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

เมื่อเศรษฐกิจไทยเจอ 3 โรครุมเร้า "บิ๊กตู่" มึน! สารพัดมาตรการ "ถอย" แช่แข็งสัมปทานปิโตรเลียม-ภาษีที่ดินฯ

(มติชนสุดสัปดาห์ 20-26 มีนาคม 2558)

จากคำปาฐกถาของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมมนาเมื่อ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จากปัญหารุมเร้าทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีสภาพเหมือน "คนป่วย" ที่มีอาการซ้ำซ้อนหลายด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุนและส่งออกที่อ่อนแรง

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ถูกคาดหวังให้เป็นพระเอกหลังจากมีรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติได้ ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยป่วยจากการเผชิญกับโรค 3 ชนิด

โรคแรกคือ "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งติดเชื้อมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าๆ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ยังเปราะบางอยู่ อีกทั้งไทยยังสูญเสียสิทธิทางศุลกากร (GSP) กับประเทศคู่ค้าหลักของไทยตั้งแต่ต้นปี 2558 ทำให้ความหวังที่จะให้ส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจึงทำไม่ได้มากนัก

โรคที่สองคือ "ข้อเข่าเสื่อม" จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ทั้งจากขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงแรงงานทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเสื่อมสมรรถภาพลงจนเป็นปัญหาเรื้อรัง

และโรคสุดท้าย "ขาดความมั่นใจ" เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่าวิธีการรักษาถูกต้องหรือเปล่า เปลี่ยนเข่าแล้วจะเดินได้เหมือนเดิมหรือจะยิ่งทำให้แย่ลง

นอกจากนี้ นายประสารยังระบุว่า บทบาท ธปท. สามารถเข้ามาช่วยรักษาได้คือใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ซึ่งเสมือนจ่าย "ยารักษาโรค" เข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออก ซึ่งช่วยดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน

แต่ยานี้บรรเทาอาการของโรคทั้ง 3 และเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้บางส่วนเท่านั้น

เนื่องจากการรักษาโรคจำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในส่วนที่เหลือกลับมา

เรียกว่าเป็นการโยนลูกกลับมาที่รัฐบาล และการดำเนินนโยบายการคลังให้สัมฤทธิผล 

หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 11 มีนาคม 2558 มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ไปแล้ว

หมายความว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง และ ธปท. เองก็กำลังพิจารณาจะปรับ (ลด) จีดีพี

ดังนั้น จากนี้ก็เป็นความท้าทายของรัฐบาลในการใช้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นภาคเอกชน

โดยในการประชุม ครม. ล่าสุดก็มีการอนุมัติแผนกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน 7.8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.7 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนน 4.06 หมื่นล้านบาท และโครงการติดตั้งระบบซีซีทีวีของกรมศุลกากรอีก 1,199 ล้านบาท เพื่อหวังช่วยกระตุ้นการลงทุนอีกทาง นอกเหนือจากเงินงบประมาณปกติ ที่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ขณะที่ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้รัฐบาล 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558) ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ

ดูเหมือนว่าช่วงเวลาเกือบ 1 ปี จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศหลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 กับเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและจัดระเบียบประเทศไทย ยังเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย ขณะที่โจทย์ก็ยากขึ้นทุกวัน

และเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้แต่รัฐบาลทหารก็ใช้ว่าจะดำเนินนโยบายทุกอย่างที่ประกาศไว้ได้ง่ายๆ แบบ "ซ้ายหัน-ขวาหัน"

เพราะหลายเรื่องที่ คสช. และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศแบบขึงขังตั้งแต่ครั้งเข้ามาทำหน้าที่ อย่างเรื่องการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยเจตนารมณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวยในประเทศ

แต่เมื่อมีเสียงต่อต้านจากประชาชน (เศรษฐี) รัฐบาลถอยกรูดทันที โยนให้กลับไปศึกษาใหม่แบบไม่มีกรอบเวลาใดๆ

เรียกได้ว่าการถอยของรัฐบาลครั้งนี้จะไม่เป็นกระบวนเท่าไหร่ เพราะขณะที่กระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมายเสนอเข้า ครม.

แต่จู่ๆ เมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องโครงสร้างภาษีที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะเวลานี้เศรษฐกิจยังมีปัญหา และเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี สังคมยังไม่พร้อม ส่วนจะชะลอออกไปนานหรือไม่คงต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังออกมาชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินฯ เป็นภาษีเพื่ออนาคต วันนี้ประชาชนยังเดือดร้อนจึงให้ชะลอไปก่อน พร้อมระบุว่าแนวคิดมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็เพื่อเป็นรายได้ให้กับท้องถิ่น เพราะกฎหมายเดิมใช้มานานแล้วจึงต้องปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสม และถ้าไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ เงินที่จะมาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่มี

ทั้งที่เมื่อครั้งประกาศเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่คำอธิบายในครั้งนี้กลับเป็นเรื่องเป้าหมาย "จัดเก็บรายได้"

ดูเหมือนว่าเป้าหมายของกฎหมายจะเปลี่ยนไป จนกลายเป็นความสับสน

ปัญหาของเรื่องนี้จึงไม่ใช่การหยุด หรือชะลอ แต่ต้องทบทวนเนื้อหาที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายเดิม จนกลายเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน แทนที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นการพับแผนยาว เช่นเดียวกับกรณีของการแช่แข็งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

ที่เริ่มต้นเดินในเส้นทางไม่แตกต่างคือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศขึงขังชัดเจนว่าจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยจุดยืนเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ กระทั่งมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้สนใจมายื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังการประชุมร่วมระหว่าง ครม. และ คสช. รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะให้มีการแก้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานต่อแบบไม่มีกรอบเวลาชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่การปรับแก้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเสร็จเรียบร้อย และจะพร้อมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมอีกครั้งเมื่อไหร่ โดยโยนให้คณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายหาข้อยุติในการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะตกลงกันได้จากความเห็นที่แตกต่างกัน ท่ามกลางความกังวลของภาคเอกชนจากข้อเท็จจริงที่ว่า เวลาของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลงในอีก 7 ปีข้างหน้า

วันนี้ความสับสนและความล่าช้าที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ไม่ใช่ปัญหาของการสื่อสาร แต่เป็นหลักคิดของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจนและไม่หนักแน่นในเชิงนโยบาย ที่ประกาศว่า "เข้ามาปฏิรูปประเทศ" จึงทำให้ต้องใช้สารพัดมาตรการ "ถอย" เช่นนี้.

ไม่มีความคิดเห็น: