PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)

โดย : ศาสตราจารย์พิเศษ พลโท พิศาล เทพสิทธา
ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์แสดงความสนใจของไทย ในการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ในช่วงที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา เดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 นั้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ว่าจ้างให้ บริษัท ไบรอันเคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ทำการศึกษาวิจัยให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับที่ไทยจะเข้าร่วมการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค TPP ดังกล่าวหรือไม่ อย่างใด โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าว เข้าสู่การสัมมนาเวทีสาธารณะผ่านกลุ่มต่างๆ จำนวน 8 กลุ่ม เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาประมวลจัดทำร่างกรอบเจรจา และมาตรการการรองรับการเจรจา TPP เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ประกอบการพิจารณาเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ต่อไป
การสัมมนาเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ได้จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 09.00-15.00 น. ที่โรงแรมอิสตินแกรนด์ ถนนสาทร กรุงเทพมหานคร
  1. ไทยและสหรัฐฯ ได้เคยมีความพยายามทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกันมาแล้ว
    แต่ต้องสะดุดหยุดลงในปี ค.ศ. 2006
  2. ในระหว่างนั้น ประเทศบรูไน สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และ ชิลี 4 ประเทศ
    ได้มีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกัน เรียกว่า 4P
  3. ต่อมาสหรัฐฯ ได้พยายามเจรจาการค้าเสรีกับประเทศริมฝั่งแปซิฟิค ทำให้เกิดประชาคม APEC (Asian Pacific Economic Community)
  4. ปี ค.ศ. 2008 สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงการค้าเสรี กับกลุ่ม 4P ตามข้อ 2 โดยสหรัฐฯ ได้แสดงบทบาทโดดเด่นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรี ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership: TPP หรือ TPP 8 โดยได้เชิญอีก 4 ประเทศมาร่วม ทำให้มี 8 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยมาร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว โดยเรียกชื่อว่า TPP 8
  5. ต่อมาใน ค.ศ. 2013 สหรัฐฯ ได้เชิญประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก TPP อีก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา มาเลเซีย และเม็กซิโก ทำให้สมาชิก TPP มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2013 จึงเรียกว่า TPP 12
  6. การดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้เห็นได้ว่า สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และพัวพันในเอเชียยิ่งขึ้น อาจพิจารณาไปได้ว่า สหรัฐฯ ต้องการลดอิทธิพล และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียก็ได้
    ประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Products (GDP) รวมกันทั้งสิ้น มีมูลค่า 27,558 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือได้ว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก
  7. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญชวนนายกรัฐมนตรีไทย ขอให้ประเทศไทยพิจารณาการสมัครเข้าเป็นสมาชิก TPP ในคราวที่มาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
  8. การที่ไทยจะเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิก TPP ต้องดำเนินการตามกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ ต้อง
    1. แสดงความประสงค์เข้าร่วมกับสมาชิก TPP เดิม
    2. เข้าสู่กระบวนการเจรจากับสมาชิก TPP เป็นรายประเทศ คือต้องทำเป็น Bilateral consultation
    3. ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงและมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ TPP
    4. เข้ากระบวนการพิจารณาของประเทศสมาชิกดั้งเดิม
    5. หากได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ TPP ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศสมาชิก TPP ก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP
    6. การเจรจากับกลุ่ม หรือของกลุ่ม TPA ถือเป็นความลับ จะเปิดเผยให้ผู้อื่นที่มิใช่สมาชิกทราบไม่ได้
ตอบได้ว่าอยู่ระหว่างการประเมินท่าทีการเจรจาของประเทศสมาชิก TPP ในประเด็นที่น่าสนใจ นั่นก็คือ เข้าสู่กระบวนการเจรจากับสมาชิก TPP เป็นรายประเทศ ประเทศที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา
เนื่องจาก ประเทศไทยได้ลงนามทางการค้าเสรีกับประเทศสมาชิกของ TPP อื่นๆ ไปเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้น 4 ประเทศ ต่อไปนี้เท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และชิลี
ดังนั้น ผลกระทบหากไทยเข้าร่วม TPP จึงจะคล้ายกับการที่ไทยต้องมีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับสหรัฐฯ นั่นเอง
กลุ่มหัวข้อเจรจา ภายใต้กรอบ Trans-Pacific Partnership ต้องใช้กลยุทธ์เจรจา “Comprehensive Single Undertaking” นั่นคือ ถ้าการเจรจาแต่ละข้อยังไม่จบ จะถือว่าการเจรจาไม่เสร็จสิ้น จนกว่าการเจรจาทุกข้อบทจะจบลง
แนวทางการเจรจาในหัวข้อการเปิดตลาดสินค้า แบ่งเป็นสินค้า เกษตรกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และ อุตสาหกรรม โดยข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต้องการการเจรจาแบบทวิภาคี แบ่งสินค้าเป็น 4 ตะกร้า คือ
  1. สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ทันที
  2. สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าภายใน 5 ปี
  3. สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าภายใน 10 ปี
  4. สินค้าที่ยกเว้นการลดภาษี
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
สิทธิบัตรยาและการเข้าถึงยาที่จำเป็น
  1. ขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปี ออกไปอีกไม่เกิน 5 ปี
  2. การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี สำหรับยาใหม่ และ 3 ปี สำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว
  3. ระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage System)
สิทธิบัตรพืชและสัตว์
  1. ไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV)
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
ยอมรับหลักการของปฏิญญา ILO ว่าด้วย หลักการและสิทธิบัตรขั้นพื้นฐานในการทำงาน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การยกเลิกแรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิผล ห้ามมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ การยอมรับสิทธิในการร่วมเจรจาเสรีภาพในการสมาคม และการขจัดแรงงานบังคับและการเกณฑ์แรงงานในทุกรูปแบบ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. เข้าร่วมเป็นสมาชิกในความตกลงสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ 7 ฉบับ
  2. ลดภาษีสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือศูนย์ทั้งหมด และขยายขอบเขตของมาตรการห้ามการค้าสินค้าของป่าที่เก็บเกี่ยวโดยผิดกฎหมาย ร่างกรอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  3. ให้มีบทบัญญัติเฉพาะการอนุรักษ์ สัตว์ป่า การประมงทางทะเล และไม้แปรรูป หรือการลักลอบตัดต้นไม้
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
  1. ไทยต้องไม่ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ
  2. ไทยต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส
สหรัฐฯ เห็นว่าไทยมีหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่บริหารเรื่องการจัดซื้อยาของประเทศ ตามนโยบายสาธารณสุขของประเทศ และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของหน่วยงานของรัฐ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ เนื่องจากการบริหารจัดการโดยรัฐบาล และกระบวนการจัดทำบัญชียาหลักนั้น สามารถกีดกันสินค้ายาของสหรัฐฯ ระหว่างการจัดซื้อ นอกจากนี้อาจมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในกระบวนการดังกล่าว
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
ประเทศไทยฯ ต้องป้องกันพฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน และดูแลให้รัฐวิสาหกิจใช้อำนาจในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับพันธกรณีในข้อตกลง
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. เปิดให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100%
  2. ให้การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค
  3. ห้ามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการลงทุนประกอบธุรกิจ เช่น การบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือกำหนดสัดส่วนภายในประเทศ
  4. ต้องกำกับดูแลที่โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ
  5. ต้องมีการคุ้มครองการลงทุนจากการเวนคืน
  6. ต้องมีบทบัญญัติเรื่องการอนุญาโตตุลาการ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. เปิดเสรีให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100%
  2. มีการเปิดเสรีบริการทางการเงินใหม่
  3. ให้เปิดให้มีบริการข้ามพรมแดน
  4. มีมาตรการกำกับดูแลที่ไม่เป็นภาระต่อการทำธุรกิจ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้องทำให้
  1. มีการเข้าถึงโครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมกัน
  2. ต้องมีการแข่งขันที่เป็นธรรม
  3. ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. ไม่ให้ผู้ผูกขาดบริการไปรษณีย์ ใช้อำนาจผูกขาดไปในทางที่เอาเปรียบผู้ให้บริการจัดส่งด่วนในตลาด
  2. มีการปรับปรุงกระบวนการศุลกากร
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อสินค้าดิจิตอล
  2. นิยามคำว่าสินค้าดิจิตอล ให้ครอบคลุมสินค้าดิจิตอลที่บรรจุอยู่ในวัสดุสื่อกลาง และสินค้าเสมือน (Virtual Goods) เช่น ซอฟท์แวร์ เพลง วิดีโอ หนังสือ ดิจิตอล เป็นต้น
  3. ให้งดเว้นการเก็บภาษีศุลกากรจากการซื้อขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์
  4. การเก็บภาษีสินค้าดิจิตอล ให้ประเมินราคาจากวัสดุสื่อกลาง มิใช่ราคาของข้อมูลที่บรรจุในสื่อนั้น
  5. การยอมรับการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์
  6. ให้คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์
  7. ยืนยันสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และเลือกใช้
  8. ให้มีการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนโดยเสรี และลดอุปสรรคด้านการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ต
  1. รักษาความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย จากการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิก TPP
  2. ลดความเสี่ยงจากการถูกตัดการลดภาษีนำเข้า GSP. (Generalized System of Preference) โดยสหรัฐฯ (ปัจจุบัน สินค้าส่งออกของไทย ประมาณ 15% มีมูลค่า 17,525.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่งไปสหรัฐฯ ได้รับ GSP.)
  3. การเปิดเสรีภาคบริการมีผลกระทบทั้ง Backward และ Forward Linkage ของภาคการผลิตในประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เปิดโอกาสให้ขยายการค้าบริการ และการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น จะทำให้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจต่อไป
  4. เปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดภาครัฐในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสร้างความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อ จัดจ้างในประเทศ
  5. เปิดโอกาสให้ประเทศไทย ได้พัฒนาและปฏิรูป โดยไทยจะมี Gross Domestic Products (GDP) สูงขึ้น
  6. มีต้นทุนการนำเข้า ต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต่ำลง รวมถึงผู้บริโภคยังมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
  7. เป็นการแสดงจุดยืนของไทยในเวทีการค้าโลก
  8. ลดอุปสรรคทางการค้าตามกรอบ TPP
  1. ข้าวสาร
  2. ปลาทูน่ากระป๋อง
  3. กุ้งแปรรูป
  4. หน่วยเก็บข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์
  1. น้ำมันหล่อลื่น
  2. น้ำยางข้น
  3. ยางแท่ง
  4. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป
  5. เครื่องประดับทอง
  6. เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง
  7. รถปิคอัพ
  8. ถังน้ำมันเชื้อเพลิงรถ
  1. ประเด็นสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา สหรัฐฯ จะขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิต หรือการใช้ยา จาก 20 ปี ออกไปอีกไม่เกิน 5 ปี มากกว่าระดับความคุ้มครอง ภายใต้ความตกลงหรืออนุสัญญา ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเป็นสมาชิก
  2. การผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ทำให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญ ต้องดำเนินการทดลองทางคลินิก ที่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งหมดใหม่อีกครั้ง และวางตลาดได้ช้าลง
    การเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage) อาจจะเป็นเครื่องมือกีดกันคู่แข่ง ไม่ให้สามารถขออนุญาตวางตลาดยาได้โดยง่าย
    การผูกขาดข้อมูลยา และการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา ทำให้การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licenses: CL) ได้ยากขึ้น และมีการจำกัดการใช้ CL เฉพาะกรณีโรคติดต่อร้าย และในสถานการณ์ “ฉุกเฉินระดับประเทศ” หรือ “ฉุกเฉินเร่งด่วน” เท่านั้น
    สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เจรจาให้ประเทศคู่เจรจาเปิดโอกาสหรือปรับปรุงกระบวนการให้บริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ มีโอกาสนำเสนอยาใหม่ของตนให้อยู่ในบัญชียาหลักของประเทศคู่เจรจาได้อย่างโปร่งใสขึ้น
  3. ไทยไม่อาจใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่เป็นหรือมีส่วนผสม GMO (Genetically Modified Organisms) เพื่อปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักการระมัดระวัง ได้อย่างเต็มที่
  4. เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำมากอยู่แล้วของสหรัฐฯ ผู้ส่งออกไทย อาจได้ประโยชน์จากการลดภาษีไม่มากนัก โดยไทยต้องยอมรับพันธกรณีต่างๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของ TPP หรือตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือผลของการเจรจาต่อรองกับประเทศสมาชิก TPP รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย
  5. การเปิดตลาดภาคบริการ อาจนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการต่างชาติได้
  6. อาจเกิดความเสียหายต่อภาครัฐ จากกรณีพิพาทภายใต้ Investor-state-dispute กล่าวคือ หากมีการบังคับใช้ข้อตกลงตามอนุสัญญาที่ไทยภาคี แต่สหรัฐฯ มิได้เป็นภาคี อาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้
  7. กรณีพิพาทที่อาจเกิดขึ้น หากมีการดำเนินการพันธกรณี ภายใต้อนุสัญญาที่แต่ละประเทศสมาชิก TPP เป็นภาคี ไม่ตรงกันอยู่
  8. ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง เป็นจำนวนมาก หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP ธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบมาก จนถึงต้องเลิกกิจการ รัฐบาลต้องเตรียมการ และหาทางเยียวยา
การเข้าเป็นสมาชิก TPP ของไทย จะมีผลกระทบต่อการพัฒนา ASEAN Economic Community ได้ เพราะ TPP ดูประหนึ่งจะเป็นคู่แข่งของ AEC นั่นเอง
ผู้นำอาเซียน เมื่อพฤศจิกายน 2554 ได้รับรองเอกสาร ASEAN Framework ที่เรียกว่า “Regional Comprehensive Economic Partnership” (RCEP) ซึ่งเป็นกรอบและหลักการพื้นฐานของอาเซียนในการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับคู่ภาคี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ที่สนใจจะเข้าร่วม โดยวางบทบาทให้อาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการต่อไป
อาเซียนอยู่ระหว่างเตรียมการตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน คือ สินค้า ถิ่นกำเนิดสินค้า บริการ การลงทุน เพื่อจัดทำแม่บทการเปิดการค้าเสรี โดยอาเซียนตั้งเป้าหมายการเจรจา RCEP ให้เสร็จในปี 2558 อันเป็นปีเดียวกับที่ AEC มีผลใช้บังคับ
การเข้าเป็นสมาชิก TPP จะมีผลกระทบต่อการพัฒนา AEC ทำให้การพัฒนา AEC ให้เข้มแข็ง และประสบความสำเร็จ ต้องใช้เวลายาวนานออกไป เกินกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะกลไกต่างๆ ดังกล่าว ต้องหยุดชะงักลง ถ้ามีข้อตกลง TPP เข้ามาสกัดกั้น เพราะ ASEAN มีประชากร 595 ล้านคน ส่วน TPP มีประชากร 792 ล้านคน
  1. การจัดตั้ง TPP ขึ้น โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ พิจารณาได้หรือไม่ว่า เพื่อเป็นการปิดล้อมจีน ไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
  2. การจัดตั้ง TPP เป็นการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ASEAN Economic Community (AEC) หรือไม่
  3. กลุ่มประเทศ TPP มีการเจรจาที่เป็นความลับ และดำเนินการในลักษณะลึกลับซับซ้อน เปิดเผยไม่ได้ ทำให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP ยากที่จะประเมินได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่ได้เป็นสมาชิก หรือเป็นสมาชิก TPP แล้ว มีข้อผูกพันที่เกิดผลลบขนาดใดหรือไม่ อย่างใด กับประเทศของตน
  4. ลักษณะการผูกพันของสมาชิก TPP ขยายตัวได้ไม่มาก เพราะเงื่อนไขขาดการผ่อนปรน หาก TPP ขยายสมาชิกได้ไม่มากกว่านี้ ก็ไม่น่าเป็นที่สนใจ
  5. อาจกล่าวได้ว่า การเข้าเป็นสมาชิก TPP สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ควบคุม โดยสหรัฐอเมริกาต้องการให้การเป็นสมาชิก TPP เสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2013 โดยที่นักธุรกิจสหรัฐฯ ได้เตือนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า อย่าเร่งรัดตกลง TPP เพราะข้อจำกัดด้านเวลา อาจทำให้การเจรจาของสหรัฐฯ มีจุดอ่อน พร้อมระบุว่า ถ้าจำเป็นต้องใช้เวลา เพื่อให้ข้อตกลงสมบูรณ์แบบมากขึ้น ก็ควรดำเนินการขยายเวลาการเจรจาออกไป นักธุรกิจสหรัฐฯ ต้องการได้ข้อตกลงที่มีคุณภาพสูง ต้องไม่มีการประนีประนอม ต้องไม่เร่งการตกลง โดยที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามชักจูงให้ประชาชนสหรัฐฯ เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ ด้วยการระบุว่า “การส่งออกของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1,000 ล้านดอลล่าห์ จะช่วยสร้างงานในประเทศได้ 5,000 ตำแหน่ง”
  6. เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลง TPP อาจไม่สามารถยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมดในกลุ่มสมาชิกทั้ง 12 ประเทศของ TPP ได้
    มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สหรัฐฯ ถูกกดดันให้ยกเลิกข้อจำกัดนำเข้าสินค้าอ่อนไหวทางการเมือง เช่น น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์จากนม รองเท้า และเครื่องแต่งกาย แลกเปลี่ยนกับการที่ประเทศคู่เจรจาจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ด้านสินค้าหรือบริการดิจิตัล
  7. ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการเปิดตลาดสินค้าน้ำตาลในสหรัฐฯ ไม่ว่ากับประเทศที่มี FTA เช่น ออสเตรเลีย หรือประเทศที่ยังไม่มี FTA เช่น เวียดนาม โดยให้เหตุผลว่า การลดภาษีน้ำตาลดังกล่าว จะทำให้เกิดอุปทาน (supply) ส่วนเกิน และราคาน้ำตาลลดลง อันส่งผลให้รายได้ของผู้ผลิตน้ำตาลลดลง จนทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และเกิดค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อไป
  8. ประเด็นทางการค้าและเศรษฐกิจ ถูกยึดโยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง ด้วยข้อตกลงทาง TPP โดยสหรัฐฯ กลับมามีอิทธิพลในเอเชีย ทั้งๆ ที่สภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของสหรัฐฯ อยู่ในสภาพย่ำแย่ คล้ายกับการผิดนัดการชำระหนี้สินของประเทศของตน ขาดงบประมาณใช้จ่ายเงินให้หน่วยงานของรัฐ ทำให้หน่วยงานของรัฐต้องปิดกิจการไปชั่วคราวเกือบครึ่งเดือน ปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถาวรหรือสิ้นเชิง เป็นเพียงแต่ผ่อนปรนปัญหาออกไปชั่วคราว จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และมกราคม 2557 เท่านั้น
  9. ประเทศที่เป็นสมาชิก ASEAN ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP ปัจจุบัน คือ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
  10. ประเทศอินโดนีเซีย แม้มิได้เป็นสมาชิก TPP ก็มีต่างประเทศไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก มี GDP. สูงขึ้น เพราะค่าแรงงานต่ำ ราคาพลังงานต่ำ ก็สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจของตนให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นได้
    การที่ประเทศเวียดนาม สมาชิก TPP มี GDP. สูงขึ้น ไม่ใช่เป็นผลมาจากเป็นสมาชิก TPP แต่เป็นเพราะมีราคาค่าแรงงานที่ต่ำ ต้นทุนสินค้ามีราคาถูก จึงส่งออกได้มาก ทำให้ GDP. สูงขึ้น
  11. ผลกระทบที่รวดเร็วและรุนแรง และการปรับตัวที่ไม่ง่ายนัก หรือจะเรียกว่า เป็นการปรับตัวอย่างทุรนทุรายของไทย จะมีความยากในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ของไทย
  12. อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก TPP ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ โดยที่ประเทศไทยต้องเตรียมให้พร้อมในหัวข้อการเจรจา คาดการณ์เนื้อหาการเจรจา ประเด็นถกเถียง ประเด็นอ่อนไหว การเยียวยา และการเตรียมความพร้อมต่อผลกระทบของธุรกิจไทยที่จะได้รับจากการเป็นสมาชิก TPP ครั้งนี้ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และการปรับตัว

โอบามา รับนายกฯ


เชิงสัญลักษณ์......แม้เป็นนายกฯจากรัฐประหาร Obama ปธน.สหรัฐฯก็เชิญและต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ ร่วมวงถก US-Asean Leaders ครั้งแรก ที่ CA เพราะยังให้ความสำคัญกับประเทศไทย
เริ่มแล้ว 15กพ.2559 Barack Obama ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประชุมกับ ผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งแรก (the First ever standalone U.S.-ASEAN summit) อันเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมว่า สหรัฐฯ มีความจริงจังในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐ ฯ ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (the ASEAN-US Strategic Partnership) ตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ประกาศในการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 3 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียที่ผ่านมา
โดยการประชุม ฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใน 3 ช่วง
15 กุมภาพันธ์ ช่วงบ่าย การหารือช่วงที่ 1 หัวข้อ คือ การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคผ่านนวัตกรรมและประกอบการธุรกิจ (Promoting Regional Prosperity Through Innovation and Entrepreneurship)
และในช่วงค่ำ การหารือระหว่างอาหารค่ำ หรือ Working Dinner หัวข้อ คือ ทิศทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค (Regional Strategic Outlook)
ส่วนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ช่วงเช้า การหารือช่วงที่ 2 ในหัวข้อ คือ การรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก (Protecting peace, Prosperity and Security in the Asia-Pacific) ครอบคลุมประเด็น การก่อการร้าย และความท้าทายข้ามชาติ โดยจะมีเอกสารผลลัพธ์การประชุม ฯ ครั้งนี้ คือSunnylands Principle

โดยประเด็นสำคัญที่ไทยและอาเซียนจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ ในทุกมิติ การเน้นย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคการสนับสนุนนโยบาย Rebalancing ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางของภูมิภาค และการสานต่อความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการขยายความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่และประเด็นท้าทายข้ามชาติ
นอกจากนี้ ไทยและอาเซียนยังคาดหวังว่า การประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อประเทศไทย อีกด้วย

กลุ่มคนไทยสนับสนุน นายกฯ บิ๊กตู่ มาให้กำลังใจ พลเอกประยุทธ์


มาตามนัด......
กลุ่มคนไทยสนับสนุน นายกฯ บิ๊กตู่ มาให้กำลังใจ พลเอกประยุทธ์ ในการมาประชุมUS-Asean Leaders Summit ที่ California โดยมีการขออนุญาตทางการสหรัฐฯในการชุมนุม โดยทางสหรัฐฯ จัดพื้นที่ริมถนน ใกล้ๆ4 แยก ห่างจากSunnylands Center สถานที่ประชุม ราว 1 กม....โดยมี กลุ่มต่อต้าน คสช.จำนวนหนึ่ง มาชุมนุมด้วย โดยในบริเวณนั้น มี ผู้ชุมนุมของชาติต่างๆ ในAsean ทั้ง ลาว-เขมร หลายทุกประเทศ บางประเทศก็สวมเสื้อแดงสัญลักษณ์ของกลุ่ม ก็มี มา เช่นกัน.....โดย กลุ่มคนไทย มารอกันตั้งแต่ 10โมงเช้า และสลายตัวไป ตอน บ่าย3 ตามเวลาท้องถิ่น หลัง พลเอกประยุทธ์ และผู้นำอาเซี่ยน เข้าประชุมแล้ว....แต่เส้นทางนี้ ขบวนรถ ของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ผ่าน แต่ พลเอกประยุทธ์ รับทราบ และ ได้ฝากตัวแทนไปขอบคุณ

บิ๊กป้อม ยัน นายกฯต้องรอบคอบ ปมตั้ง"สังฆราชใหม่" ถ้าพลาดแล้วจะแก้ตัวไม่ได้

บิ๊กป้อม ยัน นายกฯต้องรอบคอบ ปมตั้ง"สังฆราชใหม่" ถ้าพลาดแล้วจะแก้ตัวไม่ได้ เผยรอถกนายกฯกลับจากอเมริกา ก่อน ยัน ผมดูแลได้ แม้นายกฯไม่อยู่ "ผมก็อยู่ได้"เชื่อไม่มีการเมืองแทรก พระรู้ว่าบวชเรียนมาทำไม แจงทหารล้อมลวดหนาม พุทธมณฑล เพื่อให้เข้าทางเดียว หวั่นมีระเบิด ส่วนภาพพจน์พระ ล็อคคอทหาร นั้น แล้วแต่จะมอง ระบุพระบวชเรียนมาแล้วทั้งนั้น เผยรับแค่4 ข้อเสนอ เครือข่ายพระสงฆ์ โยน กรธ.พิจารณา บัญญัติศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็น รักษาการนายกฯ กล่าวถึง การรับเสนอเครือข่ายพระสงฆ์5ข้อ เมื่อวานนี้ ว่า ไม่ใช่เป็นการผูกมัดว่าต้องทำ รอนายกฯกลับจากอเมริกา 18กพ.นี้ก่อน เพราะเรื่องนี้ต้องรอบคอบ โดยเฉพาะการตั้งสังฆราช เพราะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ใครก็ไม่กล้านำขึ้นทูลเกล้าฯหรอก แม้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ก็ต้องรอบคอบ เพราะมีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้าน
เมื่อถามว่า ควรจะต้อง มีการเจรจา3 ฝ่าย คือรัฐบาล และตัวแทน ฝ่ายหนุนและฝ่ายต้าน หรือไม่ นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า คงไม่ต้อง หรอก ไม่ต้องมาสอยหนือเสนอแนะ เดี๋ยวเขาพิจารณากันเอง เพราะเรื่องนี้จะทำตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ไม่ใช่จะเอาแต่ใจตนเอง
ส่วนการที่ ตัวแทนพระสงฆ์ จะกลับมาชุมนุมอีก หากข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า ท่านไม่ได้บอกผมแบบนั้น เพราะตนเชื่อว่าคงเรียบร้อย เพราะพระท่านก็บวชเรียนกันมาแล้ว ทั้งนั้น ผมเชื่อจบลงด้วยดี ไม่มีอะไรต้องหนักใจ ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะผมมีสื่อช่วย
เมื่อถามว่า นายกฯไม่อยู่ ท่านเป็นห่วงอะไรทางนึ้มั้ย พลเอกประวิตร กล่าวว่า "ไม่ต้องห่วง นายกฯก็ทำงานของท่าน ผมก็อยู่ได้"
พลเอกประวิตร กล่าวต่อว่า นายกฯท่านแค่ห่วง อยากให้บ้านเมืองสงบ เดืนหน้าไปได้ ท่านห่วงเรื่องใหญ่ๆ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษามากกว่า ว่าแข็งแกร่งจริงมั้ย ไม่มาห่วงเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้หรอก ตาย...พอดี"
ส่วนภาพพจน์พระ ล็อคคอทหาร นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า แล้วแต่จะมอง พระบวชเรียนกันมาแล้วทั้งนั้น เชื่อว่าพระรู้ว่าบวชเรียนกันมาทำไม
เมื่อถามว่า ไม่ควรใช้กำลัง ใช่หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ใช่ๆๆ
เมื่อถามว่า ต้องการปรับกฎเกณฑในการเอาผิดพระ หรือไม่ พลเอกประวิตร จะไปปรับพระได้ยังไง โดยมองในแง่ดีว่า พระสงฆ์แค่จะไปยื่นหนังสือ และ ไปสวดมนต์ ไม่ได้จะไปชุมนุม เพราะไปที่พุทธมณฑลเท่านั้น
"ผมฟังพระท่านดูแล้ว ไม่ได้มีการเมือง มีสี อะไร ท่านก็ไม่มีอะไรหรอก แต่ต่องการให้ทางนายกฯ ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อ สังฆราช ใหม่ ตามมติมหาเถระสมาคม เร็วๆเท่านั้น แต่นายกฯก็ต้องดู ก็ต้องมองหลายด้าน ต่องมองให้ครบ ถ้าตั้งไปแล้วมันผิด จะแก้ตัวไม่ได้แล้ว
แล้วท้ายสุดก็เป็นพระราชอำนาจ ที่จะโปรดเกล้าฯลง แต่ทว่า ฝ่ายบริหาร ก็ต้องกลั่นกรองพิจารณา จึงจะเสนอขึ้นไป"
ส่วนเริ่องบัญญัติพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญ นั้น ต้องให้เป็นเรื่องของกรรมการร่างรธน.(กรธ.)
ส่วนการที่ทหารต้อง เอาลวดหนาม มาปิดล้อมนั้น เพราะต้องการให้เข้าทางเดียว และดูแลเรื่องความปลอดภัย เผื่อมีระเบิดจะทำยังไง

ประเดิม กฏสัมภาษณ์ใหม่...4 คำถาม

บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร รองนายกฯ/รมว.กลาโหม ในฐานะรักษาการนายกฯ บอกสิ่อ ขอแค่4คำถาม แต่ที่สุด ก็ให้มากกว่า 4คำถาม เพราะสื่อถามกันไม่หยุด และมีคำถามแถมด้วย....และยังไม่ถามที่ไมค์ และส่วนใหญ่ไม่บอกชื่อและสังกัด....รอดูว่า เมื้อนายกฯกลับมา แล้วใช้กฏใหม่ นี้ จะ4 คำถาม ตามที่กำหนดได้หรือไม่
ทั้งนึ้ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ได้ออกคำสั่ง เมื่อ12กพ.2559 ปรับรูปแบบการให้สัมภาษณ์ใหม่ ให้ตัวแทนสื่อ เตรียมแค่4คำถาม สำคัญ แล้ว ยืนถาม ที่ไมโครโฟน โดยบอกชื่อ นามสกุล และสังกัดก่อน ....คาดเป็นผลพวง จาก การที่สื่อ ถามคำถาม ทำให้ นายกฯอารมณ์เสีย หลังประชุม ครม. สัปดาหฺที่แล้ว แล้ว ไม่รู้ว่า นักข่าวคนถามเป็นใคร ฉบับไหน จึงให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ให้ สื่อรับผิดชอบต่อคำถามของตนเอง...ด้านสื่อ ติงว่า มาตรการนี้ ไม่คล่องตัว เพราะต้องเดินไปถามที่ไมโครโฟน และการถามได้แค่4คำถาม นั้น อาจไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อนายกฯกลับมา อาจมีการ ต่อรอง ปรับเปลี่ยน เพราะน่าจะเป็น 4ประเด็น มากกว่า 4 คำถาม และอาจกลายเป็นการจำกัดสิทธิในการถาม เพราะเป็นสิทธิของนายกฯ ที่จะตอบกี่คำถาม หรือตอบหรือไม่ ก็ได้

"ตามใจผู้จัดและไม่ขัดใจผู้ฟัง"จัดระเบียบคำถามสื่อ เพื่อให้เป็นสากล


"เสธ.ไก่อู"แจงคำสั่งนายกฯ จัดระเบียบคำถามสื่อ เพื่อให้เป็นสากล "ตามใจผู้จัดและไม่ขัดใจผู้ฟัง"ระบุ เป็นแนวคิดสำนักโฆษก เสนอนายกฯ ให้เล่าก่อน นักข่าวถาม 3-4คำถาม หลังสังคมได้ตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากตัวผู้ให้ข่าวหรือสื่อมวลชน
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง การปรับรูปแบบการให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่า ที่ผ่านมา นายกฯ
ไม่สบายใจกับคำถาม ซึ่งสังคมได้ตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากตัวผู้ให้ข่าวหรือสื่อมวลชน
"จึงเกิดการสะท้อนว่าจะทำให้เหมือนกับผู้นำต่างประเทศ จึงได้กำหนดกติการ่วมกันว่า ผู้ให้สัมภาษณ์จะเล่าในสิ่งที่อยากเล่า ก่อนจะเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์ 3-4 คำถาม โดยขอให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสำนักข่าว
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากทางสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้ออนุมัติหลักการเพื่อให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับทราบ เพื่อตามใจผู้จัดและไม่ขัดใจผู้ฟัง

ขอ4คำถาม คำสั่งปรับรูปแบบสื่อสัมภาษณ์นายกฯใหม่นักข่าวต้องแจ้งชื่อ-สังกัด ก่อน

ทีมโฆษกรัฐฯ ยัน ไม่ได้ปิดกั้นสื่อ คำสั่งปรับรูปแบบสื่อสัมภาษณ์ใหม่ ถามได้ 4 คำถาม พร้อมแจ้งชื่อ-สังกัด ก่อนทุกครั้ง หลัง นายกฯเกริ่นนำ แล้ว หวังให้สื่อทุกสำนัก มีโอกาสถาม ไม่จำกัดอยู่แค่ กลุ่มเดียว
พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงแนวทางการแถลงข่าวใหม่แก่สื่อมวลชน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติ ตามที่สำรักโฆษกฯ เสนอไป ในการปรับรูปแบบการถามคำถามนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในวันประชุมครม.
โดย เมื่อ นายกฯพูดเกริ่นนำแล้ว จะกำหนดให้ถามคำถามผ่านไมโครโฟนได้ ราว 4 คำถาม ซึ่งก่อนถามสื่อมวลชนจะต้องแจ้ง ชื่อ-นามสกุล และสังกัด ก่อนทุกครั้ง
ส่วนประเด็นย่อยอื่นๆนั้น จะให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยโฆษกประจำกระทรวง และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง โดยเริ่มจากวันนี้เป็นต้นไป และจะพยายามใช้รูปแบบนี้ในทุกครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในเอกสารคำสั่ง นี้ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 59
พ.อ.หญิงทักษดา ชี้แจงว่า เรื่องของการปรับปรุงรูปแบบการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้น มีคำสั่งมาจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มีเจตนาที่ปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่เพื่อต้องการให้เกิดความหลากหลาย เนื่องจากต้องการให้เกิดความหลากหลายในเรื่องการถามคำถามให้ทุกสำนักข่าวได้มีสิทธิ์ในการถามอย่างเท่าเทียม ไม่อยู่ที่กลุ่มเดียว
ทั้งนี้ต้องการให้ประเด็นคำถามนั้นขอให้เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นประเด็นใหญ่ของเรื่องนั้น ส่วนประเด็นอื่นๆอยากให้สื่อมวลชน ไปสอบถามกับโฆษกประจำกระทรวงต่างๆ ที่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีการสร้างความรับรู้ได้ชัดเจนมากขึ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องการสร้างบรรยากาศในการสร้างการรับรู้ และตอบคำถามสื่อ เป็นไปด้วยดี เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงสำคัญ

บิ๊กป้อม ลั่น ส่วนตัว โหวตให้ ร่าง รธน.ผ่านประชามติแน่ เพราะเป็นสากล ผมไม่ได้เข้าข้างใคร




บิ๊กป้อม ลั่น ส่วนตัว โหวตให้ ร่าง รธน.ผ่านประชามติแน่ เพราะเป็นสากล ผมไม่ได้เข้าข้างใคร แต่จะให้ถูกใจคนทั้งหมดยันยังไม่ให้พรรคการเมืองประชุมพรรค ถามกลับถ้าไม่สงบแล้วใครจะรับผิดชอบ ให้ฝ่ายเห็นต่างแสดงความเห็น สงสัยอะไรให้ถาม “มีชัย"
หลังเป็นประธานการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ รักษาการนายกฯแถลงข่าว ถึงในส่วนของ รัฐบาล และ คสช.ได้ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปให้ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมาตามกำหนดระยะเวลาของ กรธ.
เมื่อถามย้ำว่าได้เสนอประเด็นใดเป็นพิเศษบ้าง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งข้อเสนอแนะของทุกกระทรวง ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านการเมืองไม่มีอะไรเสนอไป ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น เรื่องของงบประมาณแผ่นดินของทุกกระทรวง เพราะเราหวังว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว รัฐบาลใหม่เข้ามาจะได้ทำงานได้สะดวก อะไรที่ติดขัดในปัจจุบันเราก็จะพยายามช่วยให้รัฐบาลต่อไปทำงานได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกันกับข้อเสนอของรัฐบาลก็ได้ส่งข้อเสนอแนะไปให้ กรธ.แล้วเช่นกัน แต่ไม่ทราบว่า กรธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ตนไม่ทราบ
เมื่อถามว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อต่างประเทศในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญหรือยัง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาต้องชี้แจง ต้องรอให้ทาง กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยก่อน ที่ผ่านมา กรธ.ก็ชี้แจงผ่านสื่อเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของรัฐบาล นายวิษณุ จะเป็นผู้ชี้แจงอย่างละเอียดว่า ครม.ได้ส่งข้อเสนอแนะใดไปบ้าง อย่างไรก็ตามเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องภายในของเรา
ถามว่าถึงเวลานี้มีความกังวลหรือไม่เพราะระยะเวลาก็ใกล้เข้ามา 29 มี.ค.จะเป็นร่างสุดท้าย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ส่วนตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อรัฐบาลและ คสช.ส่งต่องานให้รัฐบาลใหม่ไปบริหารต่อ เราควรจะร่วมมือกันเพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า 4 -5 ปี ข้างหน้า ให้เป็นชั่วคราวไปก่อน แล้วค่อยเป็นถาวร ค่อยเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาแบบถาวรรวมถึงมีบทเฉพาะกาลต่างๆ ในความคิดของตนน่าจะเป็นแบบนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในการทำงานต่อไป
เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงไว้ล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะมีผลบวก ลบอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ถ้าประชาชนมั่นใจในรัฐธรรมนูญ ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นเพราะถือเป็นกติกาชัดเจน หากเรามีกติกาดีและทุกคนเห็นว่าดีก็จะเกิดความเชื่อมั่น เรื่องนี้ถือเป็นความคิดส่วนตัวไม่ได้มีการหารือในที่ประชุม ครม.แต่อย่างใด
เมื่อถามย้ำว่าจากการประเมินเบื้องต้นฝ่ายการเมืองเตรียมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนไม่รู้เพราะไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายการเมืองต่างก็คิดไม่เหมือนกัน
ถามว่า คสช.จะเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยน้ำเสียงโมโหว่า “ เวลานี้ไม่ได้ให้หรืออย่างไร ปัจจุบันใครบอกว่าไม่ให้ทำ แต่ไม่ใช่ว่าจะออกมาเดินขบวน”
ถามว่ากรณีกลุ่มเครือข่ายองค์กรสตรีเองก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารออกมาห้ามไม่ให้จัดเวทีแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ ผมก็บอกแล้วว่าให้ออกมาถ้าสงสัยในเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ขอให้ไปคุยกับนายวิษณุดีกว่า เรื่องนี้เขาให้แสดงความเห็นอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่ได้ห้าม จะไปห้ามตอนไหน”
เมื่อถามว่าแต่ฝ่ายการเมืองเองก็มองว่าการไม่ให้เปิดประชุมพรรคเป็นการไม่ให้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้ ถ้าพรรคการเมืองเปิดที่เดียวก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าให้เปิดก็จะเปิดทั่วประเทศ ลงไปถึงหมู่บ้าน แล้วใครจะไปคุมไหว ตนจะใช้กำลังที่ไหนไปดูแล มีอะไรเกิดขึ้นแล้วใครจะรับผิดชอบ เวลานี้ก็บอกแล้วว่าต้องยอมกันไปก่อนแต่ถ้าสงสัยอะไรก็ให้ส่งมาเพราะนายวีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็อ่านทุกเรื่องอยู่แล้ว จะมาอะไรกันอีก
เมื่อถามว่าประเมินหรือยังว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ ผมตอบไปหลายครั้งแล้ว แต่ถ้าเป็นผมให้ผ่าน" เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้มีความเป็นสากล ผมไม่ได้เข้าข้างใคร แต่จะให้ถูกใจคนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ผมยืนยันว่าไม่มีทางจะถูกใจคนทั้งหมด ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ที่ออกมาแสดงความเห็นทุกวันนี้ก็มีทั้งสองอย่าง แต่ถ้าจะไม่ผ่านก็เพราะมีฝ่ายที่ไม่ชอบใจร่างรัฐธรรมนูญส่วนจะเป็นฝ่ายไหนไม่ขอตอบ”
เมื่อถามว่าฝ่ายความมั่นคง หรือทหารได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนหรือยังว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวปฏิเสธว่า ทหารยังไม่ได้ทำการสำรวจ ทหารเองยังไม่ได้บอกว่าจะให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน การทำโพลภายในสำรวจความคิดเห็นก็ยังไม่ได้ทำ”

โฆษก คสช.โต้ "สุรพงษ์"วิจารณ์ นายกฯไทย ร่วมประชุมUS-Asean ไม่เป็นประชาธิปไตย แค่อคติ

โฆษก คสช.โต้ "สุรพงษ์"วิจารณ์ นายกฯไทย ร่วมประชุมUS-Asean ไม่เป็นประชาธิปไตย แค่อคติส่วนตัว ยันรัฐบาลทหาร บริหารงานดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย เพราะให้ความสำคัญกับปชช.ทุกกลุ่มไม่ใช่แค่พวกพ้องเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ยันตปท.เข้าใจมากขึ้น ติงคนโกง ต้าน ร่างรธน. ยันเป็นรธน. ที่เป็นปชต.มากกว่า ฉบับก่อนๆ
พ.อ.วินธัย สุวารีโฆษก คสช.กล่าวถึงกรณี นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สหรัฐอเมริกามองว่าการประชุมระหว่างผู้นำอาเฃียนกับสหรัฐฯในครั้งนี้ มีผู้นำอาเซียนบางประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คงเป็นข่าวส่วนบุคคลมากกว่า ด้วยมุมมองที่มีอคติ ตามสไตล์ เชื่อว่าต่างประเทศมีความเข้าใจมากขึ้น
ปัจจุบันแม้ว่าวิธีการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช.จะไม่ตรงตามแบบธรรมเนียมของประชาธิปไตย แต่รูปแบบและวิธีการบริหารยังคงอยู่ในรูปแบบแนวทางประชาธิปไตย เน้นให้ความสำคัญกับประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง
"มีบางส่วนเคยให้ข้อสังเกตว่าประชาธิปไตยไม่ใช่มองแค่เพียงวิธีการเข้ามาสู่อำนาจเท่านั้น อยู่ที่วิธีการบริหารด้วยว่าเพื่อประชาชนทั้งประเทศจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการดูแลเฉพาะกลุ่ม เฉพาะฐานเสียงสนับสนุนหรือพวกพ้องตนเองเท่านั้น เหมือนไม่ให้อำนาจกับคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงจริง"พ.อ.วินธัย กล่าว
สำหรับกรณีเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นนั้น ทาง กรธ.มั่นใจมีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากกว่าฉบับก่อนๆ มีบางความเห็นพูดถึงสิ่งที่ฝ่ายการเมืองบางฝ่ายกังวลนั้นอาจเป็นเรื่องของยาแรง หรือเรื่องของผลกระทบที่เกี่ยวกับบทลงโทษต่างๆที่กำหนดไว้ใน รธน.ที่อาจจะมีผลกับนักการเมืองที่คดโกงหรือมีเจตนาไม่ดี
ซึ่งที่จริงแล้วต่อข้อกังวลนี้ ถ้านักการเมืองที่คิดดีเจตนาดีมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ก็ไม่น่าจะต้องไปกังวลอะไรในผลกระทบเกี่ยวกับบทลงโทษใดๆ
อีกทั้งอาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมมีความเชื่อถือฝ่ายการเมืองมากยิ่งขึ้นได้
สำหรับความเห็นและข้อเสนอต่างๆ ขณะนี้ ทาง กรธ.คงกำลังรวบรวมอยู่ เพื่อที่จะนำไปพิจารณาปรับตามความเหมาะสมคเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยทั้งประเทศต่อไป

จีนปล่อยกู้เงินหยวนครั้งล่า ยอดพุ่ง 2.51 ล้านล้านหยวน


จีนปล่อยกู้เงินหยวนครั้งล่า ยอดพุ่ง 2.51 ล้านล้านหยวน
ข้อมูลของธนาคารกลางจีนเผยในวันนี้ (16 ก.พ.) ว่ายอดการปล่อยกู้เงินหยวนรอบล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพุ่งทะยานถึง 2.51 ล้านล้านหยวน (ราวๆ3.85 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 70 และแทบจะสูงเป็น 4 เท่าของยอดการปล่อยกู้เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015
ธนาคารกลางรายงานบนเว็บไซต์ว่าปริมาณเงิน M2 หรือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในมือประชาชน รวมถึงเงินฝากประจำและออมทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะที่ 141.36 ล้านล้านหยวนเมื่อตอนปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในขณะที่ปริมาณเงินในความหมายแคบ (M1) ที่ประกอบไปด้วยเงินสดบวกด้วย เงินฝากกระแสรายวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 อยู่ที่41.27 ล้านล้านหยวน

แถลงการณ์พระอาการในหลวง ฉบับที่ 20

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 20 ความว่า วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานการติดตามพระอาการ ภายหลังการถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรอท(ไข้) ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 19 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรอท(ไข้) มีพระอาการเหนื่อย หายพระทัยเร็ว ร่วมกับมีพระชีพจรเร็วเป็นครั้งคราว ผลการตรวจทางพระโลหิตไม่บ่งชี้ว่ามีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ภาพถ่ายเอกซเรย์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของพระอุระ(อก) พระนาภี(ท้อง) และพระสมอง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ไม่พบลักษณะการอักเสบ ส่วนการอักเสบที่พระชานุ(ข้อเข่า) ด้านขวาดีขึ้น แต่พบการอักเสบที่พระข้ออื่นๆ ผลการตรวจพระหทัยด้วยคลื่นเสียง (Echocardiography) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ไม่พบการอักเสบติดเชื้อภายในพระหทัย แต่พบการคลายตัวของกล้ามเนื้อพระหทัยผิดปรกติ (Diastolic Dysfunction) และความดันของระบบการไหลเวียนพระโลหิตในพระปัปผาสะ(ปอด) สูงกว่าปรกติ
เนื่องจากผลการตรวจพระโลหิตด้านการชี้วัดการอักเสบ (Biomarker) ยังคงแสดงว่ามีการอักเสบหลงเหลืออยู่ คณะแพทย์ฯจึงได้ถวายพระโอสถปฏฺิชีวนะทางหลอดพระโลหิตเป็นระยะและถวายออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดถวาย กับดูดพระเสมหะและพระเขฬะ(น้ำลาย) ตามจำเป็น เพื่อป้องกันการอุดกั้นหลอดพระวาโย(หลอดลม)
เมื่อคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หายพระทัยเร็วขึ้น ผลการตรวจเอกซเรย์พระอุระ(อก) ไม่พบการอักเสบของพระปัปผาสะ(ปอด) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 มีพระปรอทสูง 38.1 องศาเซลเซียส คณะแพทย์ฯได้พยายามสืบค้นหาสาเหตุของการอักเสบโดยวิธีพิเศษต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และการอักเสบที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลตรวจ ในระหว่างนี้คณะแพทย์ฯได้เริ่มถวายพระโอสถปฏิชีวนะขนานใหม่เพิ่มทางหลอดพระโลหิต และติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิด จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

S__10608754

อิหร่านเผย รัสเซียกำลังจัดส่งระบบขีปนาวุธ S-300 ให้


อิหร่านเผย รัสเซียกำลังจัดส่งระบบขีปนาวุธ S-300 ให้
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายฮอสเซน จาเบอร์ อันซารี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านแถลงการณ์ว่า รัสเซียกำลังจัดส่งระบบขีปนาวุธป้องกันอากาศยาน S-300 ให้อิหร่าน
นายอันซารีกล่าวว่า ระบบขีปนาวุธ S-300 กำลังอยู่ระหว่างทางมาอิหร่าน จากการบรรลุข้อตกลงซื้อขายระหว่างรัสเซียกับอิหร่านเมื่อเดือนที่แล้ว 
เขากล่าวว่า อิหร่านและรัสเซียได้ร่วมมือกันในหลายด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการเมืองและการป้องกันประเทศ
ทั้งนี้เมื่อปี 2007 รัสเซียและอิหร่านได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงซื้อขายระบบขีปนาวุธป้องกันอากาศยาน S-300 ห้าชุดในมูลค่า 8 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐ
แต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2010 ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟของรัสเซียประกาศยกเลิกที่จะมีการซื้อขายกับอิหร่าน ตามมติสหประชาชาติ ซึ่งห้ามไม่ให้ประเทศใดก็ตามซื้อขายอาวุธสามัญกับอิหร่าน
อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้ลงนามในรัฐบัญญัติเพื่อดำเนินการจัดส่งระบบขีปนาวุธป้องกันอากาศยาน S-300 หลังจากอิหร่านและชาติมหาอำนาจบรรลุข้อตกลงการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ร่วมกันแล้วนั่นเอง

ชุมนุมสงฆ์


<< สังฆมติ >>

อาณาจักรและพุทธจักรต้องเกื้อกูลกัน

อาณาจักร : การปกครองทางโลกมีอำนาจมาก เป็นอำนาจแบบแข็ง แต่เปราะ พ้นตำแหน่งก็หมดอำนาจ ประชาชนไม่ยอมรับก็หมดอำนาจ

พุทธจักร : เป็นสายใย ความเคารพศรัทธา ไม่มีอำนาจจะไปสั่งการอะไรมากมาย เป็นอำนาจแบบอ่อน แต่เหนียวแน่น ผูกพันตลอดชีวิต

นับแต่โบราณ ผู้ปกครองแผ่นดินเข้าใจความสัมพันธ์เกื้อกูลนี้ดี จึงให้ความเคารพคณะสงฆ์ อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างของพุทธมามกะที่ดี คณะสงฆ์ก็เป็นที่พึ่งทางใจให้ประชาชน และทำให้อำนาจของผู้ปกครองแผ่นดินเกิดความชอบธรรม สังคมก็สงบร่มเย็น

>> พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชจากพม่าได้ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงประกาศจุดยืนชัดเจนว่า

   “ อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
     ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
     ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
     แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม ”

>> ทำให้จิตใจของประชาชนที่ระส่ำระสายสงบลง เกิดความสมานสามัคคี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนเช่นกันว่า

     “ ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
       ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี ”
 
>> ขณะนี้มีความพยายามจะนำการเมืองทางโลกเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์ มีการจาบจ้วงดูหมิ่นมหาเถรสมาคมและพระมหาเถระอย่างไม่เคยมีมาก่อน

>> มีบุคคลบางกลุ่มซึ่งเคยโจมตีให้ร้ายคณะสงฆ์ทั่วประเทศอย่างหนักหน่วงมาแล้วได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ โจมตีให้ร้ายและแทรกแซงขัดขวางกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอย่างชัดเจน อาทิ อ้างว่าการที่มหาเถรสมาคมมีมติเสนอชื่อ ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นการทำผิดขั้นตอน ทั้งที่เป็นการทำตามขั้นตอน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมเด็จพระญาณสังวรฯได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

>>พฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้แสดงอย่างชัดเจนว่าขบวนการนี้พยายามหาเหตุทุกอย่างเพื่อขัดขวางมติของมหาเถรสมาคมที่เสนอผู้ที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช

>>เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องความดำรงอยู่ของการปกครองคณะสงฆ์ไทย เพราะหากผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยังถูกกลั่นแกล้งรังแกจากผู้ไม่หวังดี โดยอ้างเหตุต่างๆนานา มติมหาเถรสมาคมที่เป็นเอกฉันท์ ๑๗ : ๐ ทั้งจากฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติ ไม่มีความหมาย ไม่ได้รับการยอมรับปฏิบัติ นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ไปพระภิกษุทุกรูปในประเทศไทยอาจถูกกลั่นแกล้งได้ทุกเมื่อจากผู้ไม่หวังดี โดยมติมหาเถรสมาคมก็ไม่มีความหมาย นั่นคือจุดล่มสลายของการปกครองคณะสงฆ์ไทย และจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อทุกสถาบันในสังคมไทย

กลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีประกาศแผนการร้ายจะรื้อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และเข้าครอบงำการปกครองคณะสงฆ์ไทย

>>คนเพียงไม่กี่คนที่จาบจ้วงโจมตีคณะสงฆ์อย่างรุนแรง พยายามหาช่องใช้ข้อกฎหมายและหน่วยงานภาครัฐเข้ามาข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ น่าแปลกใจที่เมื่อบุคคลเหล่านี้ไปยื่นหนังสือจาบจ้วงกดดันคณะสงฆ์ตามหน่วยงานของรัฐ กลับได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง มีรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการออกมาต้อนรับอย่างนอบน้อมผิดปกติ และรับลูกรุกเร้าคุกคามข่มขู่คณะสงฆ์ด้วยข้อกฎหมายต่างๆ หาช่องดำเนินคดีกับพระมหาเถระผู้ใหญ่อย่างไม่ให้เกียรติ พฤติกรรมส่อแสดงชัดว่าต้องการจะขู่ให้กลัว เพื่อให้ยอมสยบ ดำเนินการตามที่ตนปรารถนา

>>มีการออกหมายจับเจ้าอาวาสด้วยข้อหาเพียงแค่ไม่ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในวัด เจ้าอาวาสที่เป็นหลวงปู่หลวงตานับหมื่นๆรูปทั่วประเทศท่านไม่ใช่นักกฎหมาย สวดมนต์ นั่งสมาธิ รักษาวัดตามพระธรรมวินัย อยู่ๆก็มีหมายจับมาข่มขู่ให้ต้องกลัวตัวสั่นงันงก เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองนี้แล้ว

>>มีการออกข่าวว่าจะเล่นงานวัดและพระภิกษุในข้อหารับของโจร ญาติโยมมาทำบุญ วัดและพระไม่รู้หรอกว่าเขานำทรัพย์มาจากไหน และไม่อยู่ในวิสัยจะไปถามได้ เพราะเป็นการเสียมารยาทมากเหมือนไปดูถูกทายกผู้ถวายทาน แต่โบราณมาไม่เคยมีประวัติที่พระมหากษัตริย์หรือหน่วยราชการ จะมาฟ้องร้องข้อหารับของโจรกับวัดและพระภิกษุ หากเขาทำสำเร็จ พระและวัดทั้งประเทศก็จะตกอยู่ในอันตราย อาจถูกกลั่นแกล้งได้ทุกเมื่อ

           อาณาจักรกับพุทธจักรต้องเกื้อกูลกัน
                 สังคมจึงจะสงบร่มเย็น
      การเอาการเมืองทางโลกมาแทรกแซงคณะสงฆ์ 
               เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

>>จะสร้างความระส่ำระสายแก่สังคมไทยอย่างรุนแรงลึกซึ้ง จนถึงขนาดสายสัมพันธ์ของอาณาจักรและพุทธจักรในสังคมไทยอาจล่มสลายลงได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง 

    ** อย่าท้าทายกับศรัทธามหาชน **

ที่ประชุมคณะสงฆ์จากทั่วประเทศจึงมีสังฆมติร่วมกัน ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้

๑.ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย

๒.ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือ การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน

๓.ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ยึดถือดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคมที่มีการเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

๔.ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย

๕.ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท ๔ ทั่วประเทศ
๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙