PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

โฆษกศาลรธน.ไม่กังวล เสื้อแดง ขู่ปิดที่ทำการ

วันพุธที่ 24 เมษายน 2556, 04:23 น.

โฆษกสำนักงานศาล รธน. เผย กลต.รธน.ยังไม่พิจารณาคำร้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก้ ม.68 ขัดรธน.ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม พรุ่งนี้ เหตุยังไม่มีวาระการประชุม ยัน ไม่กังวลกลุ่มเสื้อแดง ขู่ ปิดศาลพรุ่งนี้

วันที่ 23 เม.ย. 2556 นายกมล โสตถิโภคา โฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึง กรณีคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ที่ร้องว่า การแก้ไขมาตรา 68 ขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ว่า คณะตุลาการ ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาในคำร้องดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ในวาระการประชุมตุลาการ เพราะยังไม่การประชุมในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.)

ส่วน กรณี ส.ส.เพื่อไทยและ ส.ว. 312 คน ที่ลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะส่งหนังสือไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาของศาลนั้น นายกมล เชื่อว่า เรื่องนี้ทางตุลาการคงต้องรอดูหนังสือเปิดผนึกดังกล่าวก่อน ว่ามีความต้องการ และวัตถุประสงค์อย่างไร แล้วจึงจะมาพิจารณาในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ไม่กังวลกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หน้าศาล เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อย ส่วนการที่ผู้ชุมนุมขู่จะปิดศาลในวันพรุ่งนี้ หากศาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง นั้น ตนมองว่า เป็นเพียงการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ที่ต่างคนต่างแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในช่วงวันนี้ 23 เม.ย. ตุลาการ ได้มีการพุดคุยกันถึงกรณีที่ ส.ส.เพื่อไทย และ ส.ว.จะยื่นแถลงการณ์ ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่า ทางศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาชี้แจง ให้ประชาชนเข้าใจ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตามที่ ส.ส.และ ส.ว.ไม่รับอำนาจศาล และจะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในดคีแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น น่าจะไม่เป็นผลดี กับผู้ถูกร้องมากกว่า โดยได้มีการยกกรณี ที่มีการฟ้องคดีในศาลแพ่งแล้ว จำเลยไม่โต้แย้ง ว่า ศาลก็ยังเดินหน้าพิจารณาคดี และไม่ต้องออกมาชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมศาลพิจารณาโดยไม่มีคำชี้แจงของอีกฝ่าย

ทั้งนี้ ในการพูดคุย มีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การที่ ส.ส.และ ส.ว.จะไม่รับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้ว่า เป็นการอ้างบทบัญญัติข้อใด ในรัฐธรรมนูญ เพราะหากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกไป รัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งรวมทั้งรัฐสภาต้องปฏิบัติตาม.

โดย ไทยรัฐออนไลน์

ศาลอังกฤษตัดสินนักธุรกิจขาย"เครื่องตรวจระเบิดปลอม"ให้ไทย

วันพุธที่ 24 เมษายน 2556, 10:10 น.
นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษที่ขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมให้แก่ประเทศต่างๆ อาทิ อิรัก จอร์เจีย และไทย โดยที่ทราบว่าเครื่องไม่มีประสิทธิภาพ ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกง

นายเจมส์ แม็คคอร์มิค 56 ปี มีรายได้กว่า 50 ล้านปอนด์ จากการขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าว โดยมียอดขายในอิรักกว่า 6,000 เครื่อง ตำรวจเผยว่า อุปกรณ์ดังกล่าว ที่ออกแแบคล้ายกับเครื่องตรวจหาลูกกอล์ฟ ยังคงมีการใช้ในจุดตรวจบางแห่ง

ในระหว่างการไต่สวนที่ศาลอาญากลาง กรุงลอนดอน เมื่อวันอังคาร ศาลกล่าวว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่าเครื่องละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ว่าไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงและขาดการอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพและนายแมคคอร์มิคทราบดี

โดยศาลมีคำตัดสินว่านายแมคคอร์มิคมีความผิดฐานฉ้อโกง จากการหลอกขายเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดขนาดมือถือ "เอดีอี 651" ให้แก่กองทัพและสำนักงานตำรวจหลายประเทศทั่วโลก รวมถึง อิรัก ไนเจอร์ จอร์เจีย อียิปต์ และไทย

นายแมคคอร์มิคอ้างว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยต่างๆที่ถูกซุกซ่อน อาทิ ยาเสพติด ระเบิด หรือแม้กระทั่งคน และยังอ้างว่าสามารถใช้ได้ในน้ำ และในอากาศ และสามารถตรวจจับวัตถุได้ลึกถึง 1 กม. ใต้พื้นดิน และกว่า 3 ไมล์ในอากาศ โดยอ้างว่าภายในเครื่องมีการ์ดที่ถูกตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบวัตถุได้หลายประเภท ตั้งแต่ งาช้าง ไปจนถึงธนบัตร

อย่างไรก็ดี ตามความจริงแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวมีกลไกการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องตรวจหาลูกกอล์ฟ มูลค่า 20 ดอลลาร์ ซึ่งเขาซื้อมาจากสหรัฐฯ และไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ

ตำรวจกล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านายแมคคอร์มิคมีการกระทำที่ขาดความเอาใจใส่ต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ที่กวังว่าว่าอุปกรณ์จะช่วยป้องกันความปลอดภัยได้ อย่างไรก็ดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีหลักฐานว่านายแมคคอร์มิคพยายามขายอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่กระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ศาลมีกำหนดอ่านคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.

อิรักใช้เงินไปกว่า 40 ล้านดอลลาร์ในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวจำนวน 6,000 เครื่อง ระหว่างปี 2008 และ 2010 ทำให้พลเอกจิฮัด อัล-จาบิรี หัวหน้าหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดแบกแดด ปัจจุบันต้องถูกจำคุกในข้อหาคอร์รัปชัน พร้อมกับเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย