PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การเมืองหลังเลือกตั้ง ปี 62 ประชาชนจะได้อะไร?

การเมืองหลังเลือกตั้ง ปี 62 ประชาชนจะได้อะไร?

การเปิดตัวและออกตัวของนักการเมืองที่ดาหน้ากันออกมาเลือกพรรคการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าเก่าๆ หรือตระกูลเก่าๆที่คร่ำหวอดอยู่ในเวทีการเมืองไทยในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งหลายๆตระกูลได้ส่งไม้มายังรุ่นลูกหรือรุ่นหลานแล้ว

นักการเมืองที่ผูกขาดการเมืองไทยเหล่านี้มีแนวคิด และความเชื่อว่า “ การเมืองคือการลงทุนระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนเร็วที่สุดและสูงที่สุดกว่าธุรกิจอื่นใดๆ”

ประชาชนที่สนใจและติดตามข่าวสารการเมือง จะตระหนักถึงบาดแผลที่นักการเมืองเหล่านี้ได้สร้างไว้ให้กับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไทยๆไว้ลึกขนาดไหน ในเรื่องการคอรัปชั่น การขายตัว การซื้อเสียง ขายเสียง. การรับเงินทอนในการลงมติระบบให้สัมปทานตั้งแต่ร้านค้าดิวตี้ฟรี ไปจนถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และระบบการคมนาคมขนส่งทั้งระบบทางหลวง ทางพิเศษ และระบบราง ระบบพลังงาน การผลิตและจัดจำหน่ายเหล้า เบียร์ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาด และปัดภาระมาให้ประชาชนแบกรับค่าสินค้าและค่าบริการในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และแพงกว่าที่ประชาชนในประเทศอื่นๆจ่าย การรับสินบน จนมีความร่ำรวยอย่างผิดปกติ โดยที่พิสูจน์ที่มาของรายได้ไม่ได้ เป็นต้น 

ในขณะเดียวกัน ระบบผูกขาดของระบบการตลาดทำให้สินค้าเกษตรทุกชนิดราคา ทั้งเกษตรกรและครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 1 แสน 5 หมื่นบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลพวงหรือมรดกของนักการเมืองน้ำเน่าในสภาในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

หลายๆคนมีคดีติดตัว เคยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด และเคยติดคุกมาแล้ว หรือพัวพันกับการทุจริต มีคดีค้างอยู่ในศาล ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด แต่รอการลงอาญา บางคนบิดามารดากำลังหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ โดยสรุป บรรดาบุคคลที่ถูกสังคมและสื่อเรียกว่า “นักการเมืองน้ำเน่า” หรือลูกหลานนักการเมืองน้ำเน่า ยังสามารถเสนอหน้าเข้าสู่วงการเมืองได้โดยไม่มีข้อห้าม ไม่ถูกตรวจสอบประวัติ ไม่ถูกตัดสิทธิ์ห้ามเข้าสู่การเมืองอีก เป็นเรื่อง Amazing Thailand Politics

มีนักการเมืองหน้าใหม่หรือนักการเมืองน้ำดีหรือพรรคการเมืองน้ำดีที่ไร้ประวัติเสียหายให้ประชาชนมีทางเลือกอยู่บ้างแต่น้อยมากๆ 

กระนั้น โอกาสที่จะได้รับเลือกและแสดงบทบาทในสภาอย่างมีพลังก็ไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 60 

ดังนั้น การเมืองภายหลังการเลือกตั้งปี 62 ที่จะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ล๊อกสเป็คไว้อย่างแน่นหนา จึงมองเห็นแต่ สภาพความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพในสภา ( Chaos ) และประชาชนส่วนข้างมากก็คงจะไม่ได้อะไรที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ค่าครองชีพถูกลง หรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

มองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ครับ

นายกฯ เยอรมัน เรียกร้อง 'ประยุทธ์' พาประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด!

นายกฯ เยอรมัน เรียกร้อง 'ประยุทธ์' พาประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด!
วันที่ 28 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ที่สำนักนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เข้าพบหารือกับ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างการรับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นแถลงข่าวร่วมกัน นางอังเกลา แมร์เคิล กล่าวตอนหนึ่งว่า มีความยินดีต่อพัฒนาการการเมืองของไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้าและขอให้ไทยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ซึ่งเยอรมนีพร้อมขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จต่อไป
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอบคุณที่รัฐบาลเยอรมนีให้การต้อนรับการอย่างสมเกียรติ เยอรมนีถือเป็น 1 ในพันธมิตรที่ยาวนานและสำคัญที่สุดของไทยในยุโรป โดยมีความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันยาวนานถึง 156 ปี และตั้งเป้าเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันให้ถึง 1.5 หมื่นล้านยูโรภายในปี 2563 พร้อมส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืนผ่านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เยอรมนีเป็นต้นแบบการพัฒนาของไทยในหลายด้านโดยเฉพาะแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0
ด้านสำนักข่าวเอพี รายงานว่า ในการแถลงข่าวร่วม ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยได้มีปีที่ยากลำบากภายในมาหลายปี ดิฉันขอผลักดันให้ท่านนายกฯ นำพาประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าตนมีความตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งให้ยุติธรรมและโปร่งใส

ยูเนสโกประกาศรับรอง "โขนไทย" เป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้แล้ว

ยูเนสโกประกาศรับรอง "โขนไทย" เป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้แล้ว

  • วันที่ 29 พ.ย. 2561 เวลา 20:20 น.


ยูเนสโกได้ประกาศรับรองการขึ้นบัญชีให้ การแสดงโขนของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ได้มีมติประกาศรับรองขึ้นบัญชี การแสดง "โขน" ของไทย (Khon,masked dance drama in Thailand" ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางความเห็นชอบประเทศภาคีสมาชิก 24 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
ทั้งนี้ ภายหลังโขนไทยได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นทางการแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม จะมีการจัดทำแผนงานและกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโขนตลอดปี 2561-2562 อาทิ
1.จัดแสดงโขนรอบพิเศษ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” วันที่ 3–4 ธันวาคม 2561 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
2.จัดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสาธิตงานช่างฝีมือโขน สาธิตการแสดงโขน การเสวนาความรู้คุณค่าของโขน จัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับโขนฉบับเยาวชน สารคดีโขน คลังข้อมูลโขนในรูปแบบดิจิทัล
3.จัดกิจกรรมสร้างความภาคภูมิใจด้วยการยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคล องค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน
4.จัดงานมหกรรมการแสดงโขน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ไ่ม่เสียของแน่

เรียงคนมาเป็นข่าว ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 : โดย ชโลทร



ไทยแลนด์ 4.0 - นภาพร รัตนแสงหิรัญ กก.ผจก. บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย และ จียอง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ร่วมพิธีเปิดงาน “ขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม : THAILAND 4.0 IN THE MAKING” โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิทยาศาสตร์ ใน 4 ด้าน “วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน วิทย์เสริมแกร่ง และวิทย์สู่ภูมิภาค” เมื่อเร็วๆ นี้

•…ข่าวลือ “เลื่อนเลือกตั้ง” หายไปพร้อมกับ “กระแสเข้มข้น” ของ “พลังประชารัฐ” ที่ “นักการเมือง” ในพื้นที่เดินมาต่อแถวสมัครเป็นสมาชิกกันคึกคัก กระทั่งทุกฝ่ายสรุปว่า “นาทีนี้พลังประชารัฐร้อนแรงที่สุด” นั่นหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่ง “พลังประชารัฐ” ชัดเจนว่าตั้งขึ้นเป็นฐานส่งให้กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง” ราคาพุ่งกระฉูดขึ้นมาทันที หลังตกเป็นรองมาระยะหนึ่ง

•…นักวิเคราะห์ทุบโต๊ะว่า “ลองทำรัฐประหาร” ครองอำนาจมาเกือบ 5 ปี และเขียน “กฎหมายโครงสร้างอำนาจ” เปิดทางกว้างขวางแบบ “ดีไซน์มาเพื่อพรรคเรา” และปิดทางป้องกัน “เสียของ” กันแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมกันถึงเพียงนั้น แล้วยังอยู่ได้อย่างสบายๆ ไม่มีแรงกดดันใดทำให้กระทบกระเทือนได้ การกระทำอย่างอื่น เพื่อ “ปิดประตูแพ้” ย่อมเป็น “เรื่องเล็ก” ไม่มีอะไรที่ต้องทำให้ “รู้สึกว่าน่าเกลียด” แล้ว

•…ครึกครื้นกันอย่างยิ่งในหมู่นักการเมือง ด้วยเสียงเล่าลือกันสนุกปาก ด้วยความเชื่อที่ว่า หาก “ผู้ชนะไม่ใช่พลังประชารัฐ” ตั้งรัฐบาลไปก็มีหวัง “อยู่ไม่นาน” เพราะ “กฎหมายโครงสร้างอำนาจ” ไม่อนุญาตให้เป็นไปนอกแบบที่ “ดีไซน์ไว้เพื่อพรรคเรา” เมื่อ “ลงทุนแล้วอยู่ไม่ได้” จะมี “นายทุนที่ไหน” ควักกระเป๋าตัวเองมาทุ่มสู้ ผิดกับ “พลังประชารัฐ” แค่ตามน้ำไปกับ “โครงการรัฐบาล” ที่ใช้เงิน “งบประมาณจากภาษีประชาชน” ไม่ใช่ “กระเป๋าส่วนตัว” ของใคร ก็ “เหนือกว่าเหลือเฟือ”

•…ผู้สันทัดกรณียังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า ยังมี “การใช้อำนาจควบคุมการหาคะแนน” ซึ่ง “นักการเมือง” ต่างเชี่ยวชาญกันดีว่า ควรจัดการให้แตกต่างกันอย่างไรระหว่าง “พรรคตัวเอง” กับ “พรรคคู่แข่ง” เมื่อ “กลไกทั้งหมด” มีเป้าหมายของภารกิจชัดว่า “เสียของไม่ได้” จึงไม่แปลกที่ “เผ่าพันธุ์พลังประชารัฐ” จะฮึกเหิมด้วยความเชื่อมั่น ว่า “เที่ยวนี้ไม่มีอะไรแปลกปลอม”


•…สำหรับ “พรรคคู่แข่ง” ที่พยายามเสนอประเด็นให้เลือกว่าจะ เอา “เผด็จการ” หรือ “ประชาธิปไตย” ที่หวังได้แค่ “ประชาชน” จะเล่นด้วย โดยประเมินจาก “ผลงานรัฐบาลที่ผ่านมา” ทว่า “ความเชื่อของฝ่ายตรงกันข้าม” มองไม่เห็น “คุณภาพการเลือกของประชาชน” จะมีมากจนเป็นความหวังได้ขนาดนั้น ยังเชื่อว่า “ประโยชน์เฉพาะหน้า” เป็นตัวตัดสินมากกว่า ด้วย “อุดมการณ์” เป็น “ประโยชน์ที่ไกลเกินจะมองเห็น”

•…เพียงแต่ว่า “เพื่อไทย” และ “เครือข่าย” ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็น “จุดขาย” นั้นตกในสภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” หาก “ไม่ทุ่มสู้เต็มที่” โอกาสจะสิ้นหวังในส่วนร่วมในอำนาจยาว ย่อมเป็นไปได้สูง แต่หาก “ทุ่มสู้” ในยุคที่ “กับดัก” เพียบ เสี่ยงต่อ “เสียเปล่า” เป็นอย่างยิ่ง จะเดินเกมอย่างไร “คิดไม่ง่าย” แน่นอน และที่สำคัญ ยัง “แยกสาย แตกกอ” กันวุ่นวายให้ “ฐานเสียงปวดหัว” ในการตัดสินใจเข้าไปอีก งานนี้เป็นไปได้ที่จะไม่ใช่อย่างที่คิด

•…เรื่องของ “เจียง” นักธุรกิจ “ไต้หวัน” มาลงทุนในประเทศไทย ขัดแย้งกับ “หุ้นส่วน” ถูกแจ้งความข้อหากรรโชกทรัพย์ ประกันตัวชั้นสอบสวนออกมาสู้คดี จากนั้น “ตม.” ลงมาเล่นด้วย จับไปขังไว้กว่า 20 วัน หลังประกันตัวออกมาอีกรอบ “หายตัวไปอย่างลึกลับ” ไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ไหน “หุ้นส่วนที่เป็นคนไทย” ไปร้อง “กองปราบฯ” ให้ช่วยติดตาม สอบสวน เพราะเป็นห่วงว่าจะ “ถูกอุ้มฆ่า” ยังไม่ทันไร พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. สรุปทำนอง “หายไปเพราะหนีคดี” คนแจ้งกองปราบฯเลย “งง” เพราะหากตรวจสอบนิดเดียวกับกองปราบฯ “บิ๊กโจ๊ก” จะไม่ด่วนสรุปแบบ “คิดเอง” อย่างนั้น ด้วยน่าจะรู้ว่ามีหลักฐานระดับขยายเป็นคดี “เรียกค่าไถ่” ได้เลย

ชโลทร

รัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร : วีรพงษ์ รามางกูร

รัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร : วีรพงษ์ รามางกูร



รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใครก็รู้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมากจนเกินไป จนพรรครัฐบาลเมื่อรวมกับสมาชิกวุฒิสภาแล้วนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขียนเพื่อให้นายกรัฐมนตรีกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง โดยใช้เสียงจากวุฒิสภารวมกับเสียง ส.ส.ของพรรครัฐบาลและพรรคแนวร่วม

ถ้าให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบเดิมคือ กาบัตรเลือกผู้แทนราษฎรเขตใบหนึ่ง แล้วกาบัตรเลือกสมาชิกสภาผู้แทนในระบบบัญชีรายชื่ออีกใบหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงให้ตรงกับเจตนารมณ์ของตน ก็ให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งสมาชิกพรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งจับสลากเพื่อรับเลขหมายของสมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อซึ่งใช้สัดส่วนของคะแนนเสียงแต่ละพรรค ได้สมาชิกสภาผู้แทนฯก่อนหลังตามบัญชีของพรรคที่กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งแล้ว

ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้ที่พรรคต้องการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับแรกของพรรค ซึ่งอย่างไรเสียก็จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรค่อนข้างแน่ ถ้าเป็นกรณีของพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางดูก็สามารถจะเข้าใจได้ง่ายดี แต่ก็มีคนไม่เข้าใจเป็นจำนวนมากเพราะมีบัตรเสียเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่มาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ 7-8 ปีก่อน พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ได้ที่นั่งในสภามากจนเกินไป ถึงกับมีคำกล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การปฏิวัติรัฐประหาร “เสียของ” อุตส่าห์ทำปฏิวัติรัฐประหารมาทั้งที แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรกลับออกมาเหมือนเดิม พรรคเพื่อไทยได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับสอง พรรคเพื่อไทยได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม

ในแง่รูปแบบจำนวน ส.ส.ของแต่ละภาคก็เหมือนเดิม กล่าวคือพรรคประชาธิปัตย์ชนะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดในภาคใต้ พรรคเพื่อไทยชนะในภาคเหนือและภาคอีสาน พรรคชาติไทยชนะในเขตภาคกลางตอนใต้ นอกนั้นก็คงกระจัดกระจายและกำลังจะพัฒนาไปเป็นประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรคและมีพรรคเล็กแทรกกลางอยู่ 1 พรรค แบบเดียวกับอังกฤษและยุโรปตะวันตกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ไม่เป็นประชาธิปไตยระบบพรรคเดียวแบบญี่ปุ่น สิงคโปร์หรือมาเลเซีย อาจจะรวมถึงไต้หวันในยุคหนึ่งด้วย

ก่อนที่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด จะกลับมาลงเลือกตั้งและชนะอีก สามารถรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามจัดเขตเลือกตั้งเอาเปรียบพรรคอื่นอยู่แล้ว

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ของไทยอ้างว่า เพื่อไม่ให้คะแนนที่แพ้ในเขตการเลือกตั้งเสียเปล่า ผู้ลงคะแนนเสียงไม่ต้องกาบัตรใหม่ แต่ใช้คะแนนที่กาเลือก ส.ส.เขตนั้นเองมาคำนวณสัดส่วนที่พรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหักจำนวน ส.ส.ที่พรรคได้แล้วจากเขตต่างๆ ออก พรรคที่ได้ ส.ส.เขตมากก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสัดส่วนที่น้อย พรรคที่ได้ ส.ส.เขตในสัดส่วนที่น้อยลงก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเก่าแล้วจึงเป็นระบบที่ทำลายแนวทางของการพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองแบบ 2 พรรค

เพื่อให้แน่ใจว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้จะไม่เสียของ กล่าวคือจะได้คะแนนเสียงฟ้าถล่มดินทลายอย่างไรก็เป็นได้เพียงฝ่ายค้าน เพราะนายกรัฐมนตรีมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว ในการลงคะแนนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล เมื่อหมดบทเฉพาะกาลก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกสมัยหนึ่งโดยการมาร่วมลงคะแนนเสียงของวุฒิสภาก่อนจะหมดวาระไป เมื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมพาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่หลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว เราถึงจะมีประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเดียวกับที่เคยมีมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2520 ย้อนหลังกลับไป 42 ปี

แต่จะอยู่ได้ไม่นานเพราะลืมเขียนรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภามาช่วยลงคะแนนเสียงผ่านร่าง พ.ร.บ.สำคัญและ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน โดยร่าง พ.ร.บ.ใดจะเข้าข่ายเช่นว่าหรือไม่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย ดังนั้นหลังจากลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ววุฒิสภาก็กลับไปทำหน้าที่ที่ควรจะทำ กล่าวคือกลั่นกรองกฎหมายตามจุดมุ่งหมายของการมีวุฒิสภา ซึ่งความจริงไม่ต้องมีวุฒิสภาก็ได้สำหรับ “รัฐเดี่ยว” อย่างประเทศไทย บทบาทนี้ของสภาขุนนางหรือ House of Lords ของอังกฤษนี้ก็หมดไปแล้วแต่ยังดำรงอยู่ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ไม่มีก็ได้เพราะไม่มีอำนาจอะไรเหลืออยู่เลยในขณะนี้ แม้แต่การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ

โดยวินัยพรรคที่เคร่งครัด ระบบการปกครองของอังกฤษจึงเป็นระบบเผด็จการโดยรัฐสภาอย่างแท้จริง แต่เป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งในทุกๆ 5 ปี ในรัฐสภามีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านดำรงคงอยู่ยาวนานมากว่า 250 ปี และจะคงยังอยู่ต่อไป เพราะไม่มีทหารมาทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจเหมือน “รัฐกล้วยหอม” หรือ Banana State อย่างประเทศไทย

ทั้งๆ ที่ไม่ได้กินกล้วยเป็นอาหารหลัก อย่างประเทศในทวีปละตินอเมริกา


สิ่งที่น่ากลัวอีกเรื่องนอกจากรัฐธรรมนูญจะเขียนให้เกิดการเอียง เข้าข้างฝ่ายอำนาจรัฐมากกว่าฝ่ายอำนาจประชาชน ก็คือการใช้มาตรา 44 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเป็น “ศรีธนญชัย” ได้มากขึ้นในการวินิจฉัยให้ใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าพรรคเพื่อไทยจ้างบริษัทสำรวจมืออาชีพของอเมริกามาสำรวจดูว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนในแต่ละภาคต้องการอะไร เพื่อนำมาทำเป็นนโยบายหาเสียงและจะเลือกพรรคการเมืองใด ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคบริวารและพรรคพันธมิตร จะยังคงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แม้ว่าที่นั่งในสภาจะลดลงบ้าง

ทำให้พรรคฝ่ายเผด็จการจะไม่ได้ครองเสียงข้างมาก แต่อาศัยเสียงจากวุฒิสภาเสนอชื่อให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งได้ แต่เนื่องจากหลังจากนั้นจะอาศัยเสียงจากวุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินและ พ.ร.บ.ที่สำคัญไม่ได้ ความจำเป็นที่จะต้องได้เสียงในสภาล่างเกินครึ่งก็ยังมีความสำคัญ

ในทางการเมืองระบอบเผด็จการเต็มใบหรือเผด็จการครึ่งใบ ถ้าหัวหน้ารัฐบาลมีความเข้มแข็ง พรรคการเมืองก็จะเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังเพื่อขอเข้าร่วมรัฐบาล แต่เมื่อใดก็ตามถ้ารัฐบาลเริ่มอ่อนแอไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนใน เสียงในสภาเริ่มมีคนมาแทรกแซง เช่นกรณี ผบ.ทบ.ท่านหนึ่งออกมาประกาศไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาทและเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศขึ้นค่าเงินบาทกลับไปที่เดิม สภาพการณ์เช่นนี้ก็จะทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการจะยกมือ ให้เสียงอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ในสภา หรือไม่อาจจะต้องเพิ่มจำนวนชะลอมผลไม้จากปกติที่มอบให้เป็นของกำนัล ชะลอมแต่ละใบมีเงินสด 500,000 บาท

ตามปกติเมื่อมีการยุบสภาหรือสภาครบวาระตามรัฐธรรมนูญจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้วรัฐบาลจะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่เรามักจะเรียกรัฐบาลดังกล่าวว่าเป็น “รัฐบาลรักษาการ” มีอำนาจบริหารราชการเหมือนรัฐบาลปกติ ยกเว้นจะกระทำการบางอย่างไม่ได้

ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับการอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินที่จะผูกพันรัฐบาลในอนาคตเท่านั้น

ที่ผ่านๆ มาจนกลายเป็นประเพณีก็คือ คณะรัฐประหารควรจะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปและส่งมอบงานให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วง เพราะสภาที่ตนแต่งตั้งได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ให้เรียบร้อยแล้วสำหรับความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร ที่ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษหนักถึงประหารชีวิต กฎหมายถือว่าเป็นอาชญากรรมที่หนักที่สุดที่พลเมืองจะกระทำต่อ “รัฐ” จึงได้ชื่อว่า “รัฐประหาร” หรือ “coup d’état” แต่สำหรับประเทศไทยทำกันเป็นประจำอยู่แล้วและปกครองประเทศโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดเลย เพราะสถาบันนิติบัญญัติทำหน้าที่เดียวคือออกกฎหมาย แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วย

มาตรการตรวจสอบเบื้องต้นก็คือ การแจ้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เข้าดำรงตำแหน่งของหน่วยงานของรัฐและคู่สมรส รวมทั้งคู่สมรสที่มิได้จดทะเบียนสมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และแจ้งอีกครั้งเพื่อพ้นจากตำแหน่ง 30 วัน และ 1 ปี

การที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของรัฐเข้าใจผิดคิดว่าตนมิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของหน่วยงานของรัฐ พากันมีปฏิกิริยาและจะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง ยกเว้นคำจำกัดความของคู่สมรสที่มิได้จดทะเบียนไม่ค่อยจะชัดเจนว่ามีได้คนเดียวหรือหลายคน ซึ่งไม่เหมือนกรณีที่จดทะเบียนสมรส จดได้คนเดียวเพื่อความเป็นธรรม รัฐธรรมนูญควรจะเขียนให้ชัดเจนจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง

ไม่เกิดปัญหาต้องลาออกก่อนกฎหมายบังคับใช้

วีรพงษ์ รามางกูร

เดินหน้าชน : คสช.แพ้ไม่ได้!

เดินหน้าชน : คสช.แพ้ไม่ได้!



เคยได้ยิน คสช.และรัฐบาล บอกว่า จะไม่ทำโครงการ “ประชานิยม” จะไม่แจกเงินให้ประชาชนฟรีๆ เหมือนแจกปลา แต่จะสอนให้ประชาชนรู้จักทำมาหากิน มีอาชีพสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
เพื่อจะได้ไม่ต้องนอนรอเงินจากรัฐบาลเหมือนที่ผ่านๆ มา หรือนโยบาย “ประชานิยม” ประเภทลดแลกแจกแถมอีก
และยังเคยได้ยินเสียงบ่นว่า รัฐบาลไม่มีเงิน ไม่มีสตางค์แล้ว ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาให้ หลังกลุ่มเกษตรกรออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
แต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ครม.ก็อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กับประชาชน
หนึ่งคือ ช่วยเหลือพัฒนาอาชีพเกษตรกรสวนยาง ไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ รวมงบฯ 1.8 หมื่นล้านบาท
หนึ่งคือ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และข้าราชการบำนาญ วงเงิน 5.87 หมื่นล้านบาท
เหตุผลของฝ่ายรัฐบาลคือ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ใช่การหว่านเงินเพื่อซื้อเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าให้กับพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง
พร้อมยืนยันว่า เป็นโครงการที่คิดกันมานานแล้ว แต่เพิ่งทำเสร็จ
ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า ทำกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาสำเร็จในช่วงปลายรัฐบาล จึงเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยส่วนหนึ่ง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่การซื้อเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล เพราะให้การบ้านกระทรวงการคลังมาเป็นปีแล้ว
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธว่า ไม่ใช่การหาเสียงล่วงหน้าให้พรรคพลังประชารัฐ ที่มี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลเป็นแกนนำพรรค

ทั้งยังยืนยันว่า ไม่ใช่โครงการประชานิยม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับใคร หรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง
พร้อมระบุว่า อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคนเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ไม่ใช่ 4 รัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่ฝ่ายนักการเมืองส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายรัฐบาล โดยมองว่า การอนุมัติงบประมาณครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่แน่นอน
มองว่า เป็นโครงการประชานิยม ถึงรัฐบาลจะออกมาปฏิเสธว่า ไม่ใช่ก็ตาม
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การแจกเงินในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลระบุว่า เป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เหมือนเป็นการเอาเงินแผ่นดินหรือภาษีประชาชน มาหาเสียงและซื้อเสียงล่วงหน้า หรือซื้อเสียงทางอ้อมหรือไม่
เหมือนจะบอกถึงประชาชนหรือไม่ว่า เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แล้ว อย่าลืมให้คะแนนพรรคที่หนุน คสช.ด้วย
นักการเมืองบางคนยังดักคอว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง อาจจะได้เห็นรัฐบาลแจกจ่ายอะไรต่างๆ ให้ประชาชนอีก
เนื่องจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น คสช.จะแพ้ไม่ได้
ที่ผ่านมา คสช.ก็ถูกวิจารณ์เรื่องสืบทอดอำนาจ ไม่ว่า จะเป็นการกำหนดกติกา และการดูดอดีต ส.ส.เข้าพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุดก็ถูกวิจารณ์เรื่องการขยายเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 350 เขตให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยิ่งมาอนุมัติงบประมาณในช่วงนี้อีก จึงถูกตั้งคำถามว่า หวังกระแสนิยมเพิ่มหรือไม่
นักการเมืองจึงเชื่อกันว่า คสช.จะทุ่มเทแบบสุดสุด เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง
ทรงพร ศรีสุวรรณ

สถานีคิด : เกมเปลี่ยน : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิด : เกมเปลี่ยน : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข



บรรยากาศก่อนเลือกตั้ง พลิกเปลี่ยนแต่ไม่ถึงกับผิดคาด
เมื่อมาถึงขั้นตอนของการจัดทัพ แล้วพรรคน้องใหม่ คือพลังประชารัฐเปิดตัวอดีต ส.ส.ที่แห่มาซบใต้ปีก
จากพรรคเฟรชชี่ กลายเป็นพรรคหนวดเฟิ้มขนหน้าแข้งยาวเฟื้อยขึ้นมา
ปรากฏว่า จำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเสริมทัพให้กับ พปชร. ไหลมาจากพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย
หลายคนเคยเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว และใกล้ชิดแกนนำระดับสูงของพรรค
อยู่ๆ มาย้ายสังกัด จนเกิดการต่อว่าต่อขานขึ้นภายในพรรค
ส่งผลเขย่าแชมป์เก่าอย่างเพื่อไทย ทำให้สถานะเต็งหามเริ่มแกว่งไกว และคงจะต้องปรับแผนเตรียมพลิกเกมกันต่อไป
นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีอดีต ส.ส.จากประชาธิปัตย์ และพรรคขนาดกลางๆ อีกหลายพรรคเหมือนกัน ที่ไหลไปเข้าร่วม
กระแสข่าวบอกด้วยว่า ยังมีนักการเมืองดังอีกหลายคนที่ขอเว้นวรรคตัวเองไม่ลงสมัครเที่ยวนี้
แต่มีสัญญาหรือข้อตกลงพิเศษว่าจะสนับสนุนพรรคในสายรัฐบาล
นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปของสนามการเมือง เมื่อได้เห็นหน้าค่าตาของผู้สมัครแต่ละฝ่ายแต่ละพรรคอย่างชัดเจนมากขึ้น
นับจากวันนี้ ไปถึงวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้น
คิดเป็นวันเวลา คงหย่อน 3 เดือน หรือ 90 วันไปไม่กี่วัน ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่น้อย
และสำหรับพรรคการเมือง ก็เป็นอีกช่วงเวลาอันตรายอีกเหมือนกัน
เพราะการเมืองในรอบนี้ เป็นเรื่องของการสร้างกฎกติกามากำหนดรูปแบบ และทิศทาง ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

รัฐบาลจะเป็นอย่างไร มีที่ไปที่มาอย่างไร เขียนไว้ละเอียดแล้วในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560
จะบริหารงานอย่างไรก็เขียนกรอบไว้แล้วเหมือนกัน วางยาวไว้ถึง 20 ปี
ส่วนขั้นตอนเฉพาะหน้า ก่อนเลือกตั้งและเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้งเสร็จตั้งแต่ปีมะโว้
แต่ก็มีคำสั่ง คสช.-คำสั่ง หน.คสช. มากำหนด-กำกับวิธีใช้อีกที
อย่างการฟื้นพรรค ตั้งพรรค นั่นก็โวยกันมารอบหนึ่งแล้ว เพราะเท่ากับโดนเซตซีโร่ สมาชิกหล่นหายไปเป็นล้านก็มี
กว่าจะผ่านมาได้ก็หืดขึ้นคอ
ตอนนี้เข้าสู่โหมดผู้สมัคร การยื่นใบสมัคร แล้วจะตามมาด้วยการหาเสียง
ต้องหยิบกฎหมาย ระเบียบมาอ่านกันให้ดี
เทียบกับหนังกำลังภายใน ก็เป็นเหมือน “ค่ายกล” อีกขั้นตอนหนึ่งเหมือนกัน
ผิดท่าพลาดทางขึ้นมา ไม่ศึกษา “วรยุทธ์” มาให้ดี กำลังภายในไม่แข็งกล้า อาจโดนร้อง เจอคดีได้ง่ายๆ
พ้นจากขั้นตอนหาเสียง ก็จะไปสู่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ซึ่งวันเลือกตั้งนั้นชัดเจนแล้วว่า คือ 24 ก.พ. 2562
ซึ่งน่าสนใจว่าภายใต้กฎกติกา ตัวบุคคลผู้เข้าแข่งขันในสนามเลือกตั้ง พรรคและแนวทางนโยบายต่างๆ ที่เสนอกันมา
จะทำให้ประเทศไทยหลัง 24 ก.พ.2562 เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนอย่างไร
วรศักดิ์ ประยูรศุข

ทนไม่ไหว! 'นานา' ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ประกาศลาออกแล้ว

29 พ.ย.61 - เพจเฟซบุ๊ค "Nana Wipaphan Wongsawang" ของ น.ส.วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือนานา วัย 25 ปี คนรุ่นใหม่ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความประกาศลาออกจากพรรค โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า "วันนี้เพิ่งยื่นคำร้องขอพ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ทางออนไลน์ ให้ข้าพเจ้าพ้นจากสภาพสมาชิก , กรรมการบริหาร , ผู้สมัคร ส.ส. ให้ฝ่ายทะเบียนดำเนินการไปตามขั้นตอนโดยไม่ต้องการกระบวนการอภิปรายหรือต่อรอง เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าประสบได้เกินแก่กำลังของข้าพเจ้า และนับจากนี้คือ ข้อความในฐานะปัจเจกบุคคล เพราะข้าพเจ้าได้พ้นจากตำแหน่งใดๆในพรรคแล้ว 
บัดนี้ข้าพเจ้าไม่มีความผูกพันใดๆกับพรรคอนาคตใหม่ ชื่อก็ไม่อยากได้ยิน ข้าวของก็ไม่อยากเห็น"
ทั้งนี้ น.ส.วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือ “นานา” เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiconsent.org ภายใต้สโลแกน "แฟร์เซ็กส์ แฮปปี้เซ็กส์ สุนทรียะทางเซ็กส์ และการเคารพในความสัมพันธ์" เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องเพศ และเป็นผู้หญิงแถวหน้าที่ถูกชักชวนให้มาร่วมงานการเมืองกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ในการร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์มาสะท้อนสู่สังคมในวงกว้างขึ้น
 

สุริยะชี้การเมืองไม่มี‘เดทล็อก’ตั้งรัฐบาล

สุริยะชี้การเมืองไม่มี‘เดทล็อก’ตั้งรัฐบาล เหน็บปชป.ปัดจับมือแค่‘ลีลา’หาเสียง
29 พ.ย.61 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย inside thailand โดยตอบคำถามตอนหนึ่งว่า หากต้องตั้งรัฐบาลแล้วต้องจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่มีเงื่อนไขเยอะ ตรงนี้หนักใจ หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เมื่อถึงช่วงนั้นการเมืองที่ผ่านๆมา พอมีการเลือกตั้งในที่สุดก็สามารถลงตัวได้ ที่ปฏิเสธว่าไม่ต้องการรวม ก็เป็นยุทธศาสตร์ เป็นลีลาในการหาเสียงเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนให้พรรคของตัวเองให้มากที่สุด
“แต่ในที่สุดพอพ้นการเลือกตั้งตอนมาจับมือกัน เชื่อว่าจะมีหลายพรรคมาจับมือกับพลังประชารัฐ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีเดทล็อกว่าพรรคการเมืองไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้” นายสุริยะ กล่าว

สุริยะโว พปชร.จัดผู้สมัครครบ350เขต มั่นใจกวาด150เก้าอี้

สุริยะโว พปชร.จัดผู้สมัครครบ350เขต มั่นใจกวาด150เก้าอี้
29 พ.ย.61 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย inside thailand โดยระบุตอนหนึ่งว่า ขณะนี้การจัดสรรตัวบุคคลที่จะลงสมัคร ส.ส.เรียบร้อยแล้วกว่า  ร้อยละ 99.99 ทั้ง 350 เขต ซึ่งในพื้นที่ทับซ้อนกันก็มีการหลีกทาง โดยให้ไปลงในแบบบัญชีรายชื่อแทน ตรงนี้ได้พูดคุยกันทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มสามมิตร กลุ่มบ้านริมน้ำ กลุ่มนายสุพล ฟองงาม กลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ  กลุ่มนายสนธยา คุณปลื้ม กลุ่มนายวราเทพ  รัตนากร เป็นต้น เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐได้หาผู้สมัครที่ดีที่สุด สำหรับแกนนำของแต่ละกลุ่มตอนนี้ก็จะมาพูดคุยกันเพื่อร่วมจัดทำยุทธศาสตร์พรรค
“ถ้าดูจากโพลจะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐนำพรรคเพื่อไทยแล้ว ส่วนผลงานของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนนิยมก็นำ และนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เป็นที่ยอมรับของประชาชน จากการที่ผมได้ลงพื้นที่ไปพบกับประชาชนมาแม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่ได้มาจากประชาชน แต่เน้นเพื่อคนจนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อว่าจากปัจจัยภาพรวมทั้งหมดน่าจะได้ ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งจะสูสีกับทางพรรคเพื่อไทยและพรรคในกลุ่มของเขา”นายสุริยะ กล่าว

‘ไทกร’โหรการเมือง วิพากษ์‘พปชร.-ปชป.-พท.’ชิงชัยคะแนน‘เลือกตั้ง’

29 พ.ย. 61 นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุเนื้อหาว่า 
เพราะกลวง...จึงต้อง Propagada 
ความเหนียวแน่นที่พลังประชารัฐไม่มี
ลำดับความสำคัญที่ประชาชนใช้ในการพิจารณาในการเลือกตั้งทั่วไป
1. พรรคอะไร ?
2. หัวหน้าพรรคเป็นใคร ?
3. นโยบายพรรคเป็นอย่างไร ?
4. ผู้สมัคร ส.ส. เป็นใคร ?
ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตพื้นที่จึงเป็นความสำคัญลำดับสุดท้ายที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะนำมาพิจารณา
ระยะเวลา 10 กว่าปี ของวิกฤตการเมืองมีการเลือกตั้ง 3 ครั้ง โมฆะ 1 ครั้ง พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ได้สร้างความยึดเหนี่ยวระหว่างมวลชนกับพรรคไว้อย่างเหนียวแน่น
การเลือกตั้งปี 2550
ประชาธิปัตย์ได้คะแนนพรรค 12.1 ล้านคะแนน
พลังประชาชน(เพื่อไทย)ได้คะแนนพรรค 12.3 ล้านคะแนน
การเลือกตั้งปี 2554
ประชาธิปัตย์ได้คะแนนพรรค 11.4 ล้านคะแนน
เพื่อไทยได้คะแนนพรรค 15.7 ล้านคะแนน
จะเห็นได้ว่า มีมวลชนที่เหนียวแน่นอยู่กับพรรคทั้งสองมากกว่า 10 ล้านคนในแต่ละพรรค
ความเหนียวแน่นของมวลชนมาจากการร่วมสู้ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข
พลังประชารัฐไม่มีสิ่งนี้
เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงของพลังประชารัฐ
(1)พลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่พึ่งก่อตั้ง และถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ สนับสนุนเผด็จการ
(2)หัวหน้าพรรคเป็นคนที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ถูกมองว่าเป็นลูกทีมของรองนายกฯสมคิด และยังถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตปล่อยกู้เงินของธนาคารกรุงไทยให้กับกฤษดามหานคร
(3)นโยบายพรรคไม่มีอะไรได้เพียงอาศัยผลงานของรัฐบาล คสช. มาอ้าง ซึ่งประชาชนทั่วไปทราบดีว่า บริหารประเทศล้มเหลว ความฝืดเคือง ความยากจนขยายไปทั่วประเทศ
(4) ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเป็นอดีต ส.ส. ปี 2554 จำนวน 60 คน อดีต ส.ส. ปี 2550 หรือไกลไปกว่านั้น จำนวน 20 คน ซึ่งโอกาสจะได้รับการเลือกตั้งอีก เป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องฝ่าด่านข้อกล่าวหาเรื่อง “ขายตัว”  “ทรยศ” และ “สนับสนุนเผด็จการ” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่แก้ตัวยากหรือแทบแก้ตัวไม่ได้เลย
“ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  กินข้าวไม่ได้กินหญ้า”
สภาพพลังประชารัฐจึงกลวง ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง
แนวโน้มการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทุกคะแนนมีความหมาย
(1)ประชาธิปัตย์จะรักษาฐานมวลชนเดิมไว้ได้ เหตุเพราะปฏิบัติการของพรรคเครือข่ายเผด็จการอย่างพรรคลุงกำนันที่จะดึงคะแนนออกจากประชาธิปัตย์ “ล้มเหลว” และมีแนวโน้มสูงที่ประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการเลือกตั้งปี 62 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ เพิ่มอีก 6 ล้านกว่าคน (คนรุ่นใหม่) ซึ่งมีเพียงสองพรรคที่จะเข้ามาแย่งคะแนนจากคนกลุ่มนี้ คือ ประชาธิปัตย์ กับ อนาคตใหม่ จึงต้องวัดประสิทธิภาพกันระหว่าง NEW DEM กับ อนาคตใหม่ ว่าใครจะจูงใจคนกลุ่มนี้ได้มากกว่ากัน ส่วนพรรคอื่นๆจะได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้ลดหลั่นกันไป แต่คนรุ่นใหม่ ร้อยทั้งร้อย ไม่เอาเผด็จการ โอกาสของพลังประชารัฐจะได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้จึงน้อยมากๆ
(2) เพื่อไทยคะแนนพรรคจะถูกแบ่งไปพรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเมื่อดูจากฐานมวลชนที่เหนียวแน่น เชื่อแน่ว่า พรรคเพื่อชาติจะได้คะแนนมากกว่าพรรคไทยรักษาชาติหลายเท่าตัว เพราะมีฐานมวลชนที่ชัดเจนแน่นอนกว่า พรรคเพื่อชาติมีทั้ง AIR WAR และทหารราบ (คนเสื้อแดง) ที่จะเข้าไปช่วงชิงคะแนนในพื้นที่ ส่วนพรรคไทยรักษาชาติมีแต่ AIR WAR ไม่มีกองทหารราบเข้าไปจัดการเก็บคะแนนในพื้นที่ ส่วนเพื่อไทยนั้นจะสู้ ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งเป็นหลัก เพราะมีต้นทุนยืนพื้นอยู่แล้ว 200 กว่าเขตเลือกตั้ง 
(3)พลังประชารัฐจะได้คะแนนจากข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็นหลัก ส่วนคะแนนที่จะเสริมเข้ามา จะเป็นคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค และคะแนนจากผู้ถือบัตรคนจนบางส่วน การจัดการคะแนนของพลังประชารัฐเป็นระบบจัดตั้ง พรรคที่จะได้รับผลกระทบจากการหาคะแนนรูปแบบนี้มากที่สุดคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา คะแนนของพลังประชารัฐก็จะดึงมาจากพรรคดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก
ดังนั้นที่มีนักวิชาการเครือข่ายเผด็จการออกมา PROPAGANDA โฆษณาชวนเชื่อแบบล้างสมอง โดยใช้โพลชี้นำนั้น จึงขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ได้สะท้อนสภาพที่แท้จริงของพรรคการเมือง โครงสร้างทางการเมือง และความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชน

ราชกิจจาฯ แพร่ประกาศกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.350เขตทั่วประเทศ

29 พ.ย.61 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนด และประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ เพื่อดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและเป็น การเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น
ต่อมาได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๖/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบ หรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามหมวด ๓ การจัดการเลือกตั้ง แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ และข้อ ๗ ของคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ในกรณี ที่มีข้อร้องเรียนของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ให้ได้ข้อยุติ โดยหากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือมติใดๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกไว้ ก็ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศ เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องเรียนหรือการแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ ๒๐ - ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติในการพิจารณาการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๕๔/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ถึงครั้งที่ ๖๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ครั้งที่ ๖๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ครั้งที่ ๖๗/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ และครั้งที่ ๖๘/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เห็นชอบให้มีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๓๕๐ เขตเลือกตั้ง จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๖๐ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๖/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ประกาศเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ทราบทั่วกัน ดังนี้


สมศักดิ์-เจ๊หน่อย-จาตุรนต์ เดิมพันสูง ขุนพล 3 พรรค

     เมื่อฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ย้ำจะพยายามเดินหน้าจัดเลือกตั้งให้ได้ในช่วง 24 ก.พ.2562 และเตรียมประกาศเขตเลือกตั้งทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ ทำให้หลายพรรคการเมือง เมื่อตลาดการเมือง การย้ายเข้า-ย้ายออก สมัครสมาชิกพรรคเพื่อลงเลือกตั้ง ปิดตลาดไปเมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา โหมดการเลือกตั้งต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้ง  

ทั้งการเตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค ตลอดจนการเตรียมกำหนดนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งบางพรรคให้ความสำคัญอย่างมากเพราะถือว่าเป็น อาวุธเด็ด-ธนูการเมือง ที่จะทำให้พรรคประสบความสำเร็จการเลือกตั้ง จนบางพรรคตั้งทีมงาน ซุ่มเงียบเขียนนโยบายให้ฉีกโดนใจประชาชนกลุ่มต่างๆ ชนิดประกาศออกมาแล้วร้องว้าวปัง ปัง ชนิดพรรคอื่น ตาค้าง คาดไม่ถึงมาหลายเดือนแล้ว รวมถึงแต่ละพรรคก็ต้องเตรียมวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งอย่างไรให้ได้ชัยชนะมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแคปเปญรณรงค์หาเสียง  การวางแผนหาเสียงเลือกตั้ง การวางตัวแคนดิเดตนายกฯของพรรค การใช้สื่อเพื่อทำให้ประชาชนสนใจและเลือกผู้สมัครของพรรค เป็นต้น

     จับจังหวะการเตรียมพร้อมของแต่ละพรรคการเมือง ก็เริ่มขยับกันหลายท่วงท่า อย่าง เพื่อไทย ที่แม้จะมีอดีตแกนนำ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ลาออกไปอยู่กับพรรคเครือข่ายจำนวนมาก แต่ในฐานะเป็นพรรคใหญ่ มีฐานเสียงคะแนนจัดตั้งหลายจังหวัด ก็ทำให้แกนนำพรรคเชื่อว่ายังคุมสภาพความได้เปรียบในภาพใหญ่ไว้จนทำให้น่าจะชนะเลือกตั้งได้ เวลานี้งานหนักเลยอยู่ที่ เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะหัวหอกหลักของพรรค กับเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่ทางการเมืองในเพื่อไทยถือว่าเป็นบอร์ดหลักในการเตรียมเลือกตั้งทุกอย่าง ซึ่งหากเจ๊หน่อยทำให้เพื่อไทยได้ ส.ส.ตามเป้า โอกาสลุ้นชิงนายกฯ ของเจ๊หน่อยก็ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่หากวืดแพ้ไม่เป็นท่า หลายกลุ่มก๊วนในเพื่อไทยไม่กินเส้นเจ๊หน่อยและรอจังหวะถล่มอยู่ ย่อมไม่ปล่อยไว้แน่

     ส่วนพรรคเครือข่ายเพื่อไทยอย่าง ไทยรักษาชาติ (ทษช.) เพิ่งตั้ง จาตุรนต์ ฉายแสง พี่ใหญ่ ทษช.เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และน่าจะมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช.ด้วย แต่กรรมการคนอื่นๆ ยังไม่ตั้งเข้ามา แต่เชื่อว่า ทษช.จะส่งขุนพลการเมือง-ยังบลัดทษช. เข้าไปอยู่ในกรรมการชุดนี้หลายคน

     ก็จะได้เห็นการประชันฝีมือ ความเก๋าเกม ความเจนจัดศึกเลือกตั้งกัน ระหว่าง สุดารัตน์-จาตุรนต์ ที่ไม่ถูกกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ว่าสุดท้ายใครจะเก่งกว่ากัน จะได้วัดกันเสียที และสองคนนี้อาจถือเป็นคู่ชิงนายกฯ ในฝั่งทักษิณ ชินวัตร-พท.-ทษช. ก็เป็นไปได้ หากผลงานหลังเลือกตั้งและแรงหนุนของสองคนนี้ไม่ห่างกันมาก แม้จะมีเสียงปรามาสว่า จาตุรนต์ เอาแค่ แปดริ้ว-ฉะเชิงเทรา ทำให้ วุฒิพงศ์-ฐิติมา น้องตัวเองไม่สอบตกยกตระกูลแบบรอบที่แล้วก็หืดขึ้นคอแล้ว จาตุรนต์ จึงมีเดิมพันใน ทษช.สูงไม่ใช่น้อย กับบทบาทคีย์แมนหลักของพรรค ที่หากผลงานที่ ทษช.ไม่เข้าเป้า โอกาสที่ ทักษิณ ชินวัตร จะดันให้ไปไกลกว่านี้ คงยากแล้ว

     ขณะที่พรรคใหม่มาแรงอย่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แม้จะมีอดีต ส.ส.อยู่ในสังกัดค่อนข้างมาก แถมเป็นพรรคขั้วฝ่ายรัฐบาล เลยทำให้จากที่เคยถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 3-4 ตอนนี้แกนนำ พปชร.เริ่มมั่นใจจะได้อันดับ 2 แซง ปชป.แล้ว โดยล่าสุด พปชร.ได้ตั้งคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ โดยมีสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์และเลขาธิการพรรค เป็นประธาน แต่ทัพหลักของ พปชร.น่าจะเป็น คณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง ที่ใช้บริการ สมศักดิ์ เทพสุทิน ขุนศึกการเมือง พปชร.-อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย-แกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 13 คน ซึ่งมีทั้งอดีต รมต.-อดีตนักเลือกตั้งหลายสมัยเช่น อนุชา นาคาศัย, ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นต้น

     ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวก็ติดเครื่องนัดประชุมกันทันทีเมื่อช่วงเย็นวันพุธที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับสมศักดิ์ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนในรัฐบาล-คสช.-พปชร. ยอมรับเช่นกันว่า เขาเป็นของจริง ไม่ใช่นักการเมืองรุ่นใหญ่ หมดราคา 

เห็นการวอร์มอัพ เตรียมอุ่นเครื่องของหลายพรรคเวลานี้แล้ว รับรองได้ว่าเข้าฤดูกาลเลือกตั้งเต็มตัว แต่ละพรรคหวดกันมันส์หยด.

กกต.ประกาศแบ่งเขต

กกต." เซ็นประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว พร้อมส่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา คาดเปิดรับสมัคร ส.ส. 14-18 ม.ค.62 "วิษณุ" ชี้อำนาจ กกต.ถือเป็นที่สุด ระบุหากใครไม่พอใจไปฟ้องศาลปกครองได้ "อภิสิทธิ์" บอกยังไม่ได้รับเชิญถกร่วม 7 ธ.ค.นี้ "ชทพ." จี้ขอความชัดเจนการเลือกตั้งทั้งหมด 
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 28 พ.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำสัปดาห์ โดยมีวาระที่น่าสนใจคือเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 350 เขต หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ให้ กกต.รับเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม ซึ่ง กกต.ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 19-25 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามารวม 95 เรื่อง ใน 31 จังหวัด 
    มีรายงานว่า ภายหลังจากการประชุม กกต.เสร็จสิ้นเวลา 16.30 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้เซ็นประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จากนั้นได้ส่งให้สำนักงานเลขาธิการ กกต.ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปเผยแพร่อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 
    นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ยังเห็นชอบกับแผนเตรียมการเลือกตั้ง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ และได้ส่งให้ คสช.และรัฐบาลแล้ว ตามที่มีการร้องขอมาเพื่อนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า และนำไปหารือในการประชุมแม่น้ำ 5 สายกับตัวแทนพรรคการเมือง โดยระยะเวลาในการปฏิบัติแต่ละเรื่องจะเร็วขึ้นจากแผนเดิมประมาณ  2 สัปดาห์ ซึ่งตามแผนปฏิบัติการล่าสุดที่เสนอนั้น หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.แล้ว กกต.จะเสนอให้รัฐบาลออกร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 26 ธ.ค. จากนั้นในวันที่ 28 ธ.ค. จะมีประกาศ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง และกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งคือวันที่ 14-18 ม.ค.2562 
    ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า  ตนไม่รู้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของ กกต. คนอื่นไม่มีสิทธิ์ เพียงแต่เมื่อมีเรื่องร้องเรียนมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็รับเรื่องและส่งไปยัง กกต. ซึ่งเคยส่งไปแล้ว 1-2 ครั้ง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นข้อร้องเรียนที่จังหวัดใด
     ถามว่า มีบางพรรคการเมืองร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เช่นที่ จ.สุโขทัย และ จ.กาญจนบุรี นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะเมื่อ คสช.ส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ตน ก็ส่งไปยัง กกต.ทันที จึงไม่ได้ดูรายละเอียด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้ร้องเรียนเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งมาก่อนแล้ว จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 
    “เมื่อมีการร้องมา เราก็ถามไปที่ กกต.ว่าทำไมจึงมีการร้อง กกต.อธิบายว่าเขาถูกจำกัดด้วยเรื่องระยะเวลาที่เขาเป็นฝ่ายกำหนดเอง แต่เขาก็ต้องยึดตรงนั้น และระบุด้วยว่าถ้ามีเวลามากกว่านี้จะทำได้ละเอียด เพราะเขายอมรับว่ายังมีบางจังหวัดที่ทำได้ไม่ละเอียด ดังนั้นคำสั่ง คสช.ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการขยายเวลาให้ กกต. ไม่ได้ให้ไปแบ่งเขตว่าต้องออกมาเป็นอย่างไร”
    เมื่อถามว่า จะอธิบายอย่างไรต่อบางฝ่ายที่ตีความ คำสั่ง คสช.ที่ 16/61 เป็นการครอบงำการแบ่งเขตของ กกต. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องอธิบายอะไร ตนได้ทราบว่าเขาแบ่งเสร็จแล้ว โดยแจ้งมาเมื่อวันที่ 27 พ.ย. แต่ยังไม่ได้ส่งมา เมื่อส่งมาก็คงประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในไม่ช้า และเมื่อประกาศในราชกิจจาฯ แล้วก็ไม่สามารถร้องเรียนได้ เพราะอำนาจเป็นของ กกต. เมื่อ กกต.แบ่งแล้วก็จบ คราวที่แล้วยังไม่ได้มีประกาศอะไร ยังไม่มีใครรู้ว่าจะแบ่งเขตกันอย่างไร เพียงแต่เมื่อมีการร้องเรียนกันมาก กกต.ก็ต้องการเวลา จึงออกคำสั่งเพื่อให้เวลาเท่านั้น
    ซักว่า หากออกประกาศแล้ว แต่การแบ่งเขตไม่ตรงกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะทำอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ถือว่าถึงที่สุด คำนี้เป็นคำในกฎหมาย อาจจะไม่ยอมรับก็ได้ แต่ถือว่ามันถึงที่สุด หากยังมีความเห็นต่างก็ต้องไปร้องศาลปกครอง แต่ระหว่างที่ศาลยังไม่สั่งอะไรเขาก็เดินหน้าต่อไป
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ไปร่วมประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ซึ่งคงต้องดูหนังสือเชิญก่อนว่ามีอะไรบ้าง แต่สันนิษฐานได้ว่าขณะนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. การหารือคงเป็นเรื่องการปลดล็อก ซึ่งแทบไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องหารือ เพราะตนมองไม่เห็นว่าถ้ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีข้อจำกัดการทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะเราต้องการให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับและเป็นประชาธิปไตย ถ้ายังมีข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนไหวอยู่ก็จะเป็นปัญหาต่อไป 
    เมื่อถามว่า ในเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ยังไม่มีข้อยุติ จะทำให้เป็นปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยู่ที่การทำงานของ กกต. เพราะเราเห็นว่าคำสั่งของคสช.ที่ออกมาล่าสุดเป็นการสร้างปัญหาทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นในเรื่องการทำงานเป็นอิสระของ กกต.ใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ ทำไมต้องเอารัฐบาลกับ คสช. มาเกี่ยวข้องกับกระบวนการแบ่งเขตการเลือกตั้งด้วย และสอง การที่ไปคุ้มครองทางกฎหมายว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งอาจไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติที่จะเป็นเรื่องบั่นทอนความเชื่อมั่นในการแบ่งเขต และในข้อเท็จจริงเราทราบว่าพรรคการเมืองที่อิงอยู่กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันเอาเรื่องของเขตการเลือกตั้งมาต่อรองในการดึงสมาชิกพรรคการเมืองอื่น 
    ส่วนนายยุทธพล อังกินันทน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีที่ คสช.นัดหารือพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ว่า ทางพรรคชาติไทยพัฒนาส่งตัวแทนคือ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับนายพิสิษฐ์ พิทยฐากุลเจริญ นายทะเบียนพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นตัวแทนเข้าร่วมในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความชัดเจนกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และความชัดเจนเรื่องการปลดล็อก ให้กับพรรคการเมืองเพื่อดูว่าจะสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้แค่ไหน มากน้อยเพียงใด
    “ความไม่ชัดเจนในขณะนี้ทำให้พรรคการเมืองทำงานแบบมีปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน เพราะบางเขตอาจต้องมีการถูกแบ่งหายไป ตำบลหายไป ซึ่งกระทบต่อการพิจารณาตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในแต่ละเขต นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคในการที่พรรคการเมืองจะประกาศนโยบายพรรค เรายังทำได้ไม่มาก ซึ่งหากเวลาในการรณรงค์หาเสียงมีน้อย ก็อาจทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ยากขึ้น ดังนั้นขอให้กำหนดเรื่องความชัดเจน ทั้งเขตเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และไทม์ไลน์ หรือโรดแมปให้ชัดเจน พรรคการเมืองจะได้ดำเนินการและปฏิบัติตนได้ถูกต้อง" รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าว. 

บัตรคนจนดันบิ๊กตู่พุ่ง สังศิตโพลชี้พรรคแม้วเสื่อม'พปชร.'กวาดชัยชนะ

ฮือฮา! ม.รังสิตเปิดผลโพล 4 ครั้งจาก 77จว. "บิ๊กตู่" ความนิยมนำโด่ง "มาร์ค" รั้งอันดับ 2 ชี้พรรคของทักษิณเสื่อมโทรมหนัก เหตุขาดนักคิดทุจริตแตกแยกหลายก๊ก เผยบัตรคนจนดันความนิยมพุ่ง เชื่อ พปชร.จะนำห่าง พท.มากขึ้น กำลังเป็นพายุกวาดชัยชนะได้เป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มเป็นรัฐบาล "สมศักดิ์" แบไต๋ พปชร.จะนำนโยบายรัฐบาลมาเป็นนโยบายพรรค "เพื่อแม้ว" ยังหวนถึงอดีต ไม่กังวลอดีต ส.ส.หนีออก "หญิงหน่อย" ปัดข่าวลง ส.ส.เขต "เดอะแจ็ค" หยาม รปช.ในภาคใต้สอบตกหมด
    เมื่อวันพฤหัสบดี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า วิทยาลัยฯ ได้ทำการรวบรวมประชากรครั้งละ 8,000 ตัวอย่าง ใน 350 เขตเลือกตั้งใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตามโครงสร้างของประชากรไทยในปัจจุบันคือ ภาค อาชีพ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ฯลฯ ด้วยระดับความเชื่อมั่นทางสถิติ 90% การสำรวจดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้ง คือ
    ครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 พ.ค.2561 ผลการสำรวจพบว่าผู้ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนทั่วประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 29.34% 2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 26.24% 3.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 24.74% 4.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 10.61% และ 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.54% และอื่นๆ ที่เหลือ 4.53%     
    ครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย.2561 พบว่า คะแนนนิยมของประชาชนทั่วประเทศที่อยากได้คนเป็นนายกฯ เรียงตามลำดับดังนี้ คือ 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19.34% 2. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 17.31% 3.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 8.93% 4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 5.68% 5. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 4.36% และ 6.อื่นๆ ที่เหลือ 37.61% 
    ครั้งที่ 3 วันที่ 15 ต.ค.2561 คะแนนนิยมผู้ที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกฯ เรียงตามลำดับ ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 19.62% 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 16.91% 3.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  16.43% 4.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 14.42% 5. นายอนุทิน ชาญวีรกูล 3.52% และ 6.อื่นๆ ที่เหลือ 29.10% 
    ครั้งที่ 4 วันที่ 24 พ.ย.2561 คะแนนนิยมผู้ที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกฯ ตามลำดับ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 27.06% 2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 18.16% 3.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 15.55%  4.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 9.68% 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 2.26% และ 6.อื่นๆ ที่เหลือ 27.30% 
    นายสังศิตระบุว่า จากผลการสำรวจทั้ง 4 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าพรรคของนายทักษิณ ชินวัตร (ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย) มาถึงจุดที่กำลังตกต่ำเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุปัจจัยดังนี้ 1.ในระยะเริ่มต้นของการต่อตั้งพรรคไทยรักไทย เคยมีผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์สูง (กลุ่มเอ็นจีโอ) ในการทำงานกับประชาชนระดับล่างทั่วประเทศ จนช่วยให้พรรคไทยรักไทยสามารถนำเสนอนโยบายและวาทกรรมที่สำคัญ 2 เรื่องคือ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายกองทุนหมู่บ้านที่สามารถเอาชนะพรรคการเมืองทุกพรรคมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2544 แต่ในปัจจุบันเอ็นจีโอส่วนใหญ่กลับยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามพรรคเพื่อไทย 
    2.จากที่เคยเป็นผู้นำในการนำระบบการสื่อสารที่ก้าวหน้ากว่าและทันสมัยกว่าในการเอาชนะพรรคคู่แข่ง แต่ในขณะนี้พรรคการเมืองอื่นๆ สามารถนำเอาเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ (Social Media) เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ ฯลฯ มาสื่อสารกับประชาชนได้ไม่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย ทำให้ความได้เปรียบในเรื่องนี้หมดไป
    3.เคยมีนักวิชาการ นักคิดและนักยุทธศาสตร์ที่ทำให้พรรคนี้มีแนวความคิดและนโยบายที่ท้าทายยิ่งกว่าทุกพรรคแต่วันนี้พรรคเพื่อไทยขาดบุคลากรเหล่านี้ทำให้ขาดความสามารถในการสร้างนโยบายการเงินการคลังที่เป็นประโยชน์แก่คนในสังคมส่วนใหญ่ได้ หลังจากที่นโยบายจำนำข้าวและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาทต่อวันก่อความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างร้ายแรง และติดตามมาด้วยการพบว่ามีการทุจริตอย่างรุนแรงเรื่องนโยบายจำนำข้าว คนชั้นกลางจำนวนมากได้หมดความเชื่อถือต่อพรรคเพื่อไทยไป
     4.พรรคเพื่อไทยในขณะนี้ขาดผู้นำที่มีบารมีและมีภาวะผู้นำที่สูงมากพอที่จะรวบรวมสมาชิกจำนวนมากให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ภายในกลุ่มที่สนับสนุนนายทักษิณ เกิดกลุ่มก๊กต่างๆ ที่มีแนวความคิดและการบริหารจัดการที่ยากจะร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น และการเกิดขึ้นของพรรคประชารัฐที่กำลังมีอำนาจทางการเมือง มีนโยบายด้านมหภาคและจุลภาคต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายบัตรคนจนซึ่งมีขอบเขตการให้ประโยชน์แก่คนจนอย่างกว้างขวาง โดยรวมเอานโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ผนวกรวมเข้ากับนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เบี้ยคนชรา ค่าโดยสารสำหรับผู้ป่วย ฯลฯ และพบว่าเป็นนโยบายที่เอาชนะใจกลุ่มคนจนจำนวน 11 ล้านคนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
พปชร.พายุกวาด พท.
    นายสังศิตให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า วันนี้ถ้าดูคะแนนนิยมส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสำรวจมา 4 หน ชนะแค่ 3 หน แต่ครั้งสุดท้ายเริ่มชนะเยอะ ส่วนคะแนนนิยมพรรคแพ้มาตลอด แต่วันนี้พลิกกลับมาชนะ เหตุผลที่พลิกกลับมาชนะคิดว่ามาจากเรื่องบัตรคนจน แล้วจากนี้อีก 90 วันพรรคพลังประชารัฐจะออกนำพรรคเพื่อไทยแบบทิ้งห่างมากขึ้น เพราะตอนนี้เขาไม่มีนักคิดที่จะมาคิดทำนโยบายเหมือนสมัยก่อน ตอนนี้เหลือแต่การสู้ด้วยการปลุกใจ อย่างนี้ในทางการเมืองเขาแพ้แล้ว เพราะว่าเหลือแต่การปลุกใจ สงครามปลุกใจอย่างเดียว ไม่ทำให้ชนะ ต้องมีประชาชนสนับสนุนด้วยถึงจะชนะ
     “ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังจะทำปรากฏการณ์เป็นพายุที่จะกวาดเพื่อไทย เป็นพรรคแรกตั้งแต่ปี 2544 ที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้เป็นครั้งแรก เพราะฝั่งพรรคประชารัฐ มีประชาชน นักคิดให้การสนับสนุนจำนวนมาก ดังนั้นพรรคพลังประชารรัฐมีแนวโน้มสูงมากที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง” 
    นายสังศิตกล่าวด้วยว่า การเมืองย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หากฝ่ายไหนเกิดทำอะไรผิดพลาดอาจจะเป็นฝ่ายแพ้ได้ แต่หากแนวโน้มเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พลังประชารัฐจะชนะเพื่อไทยเยอะ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี เหมือนทีมฟุตบอลที่มีกองหลังเพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้เสียประตู คือต้องป้องกันการดิสเครดิตตัวนายกฯ ประยุทธ์ เช่น เรื่องการมาจากเผด็จการ หรือเรื่องบุคลิกส่วนตัว รวมถึงการดิสเครดิตทางนโยบายอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งกองหน้าไปทำประตู เช่น การผลิตนโยบายที่ตอบสนองประชาชน การส่งคนลงไปในพื้นที่เพื่อทำคะแนน 
    ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีโพล ม.รังสิต ระบุประชาชนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และพรรค พปชร.มากขึ้น ว่า เห็นว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และพรรคอยู่ในระดับแนวหน้ามาโดยตลอด โดยมีปัจจัยความสงบสุขของบ้านเมือง สร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ไม่ทำให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยววิตกเหมือนในอดีต เช่น ความวุ่นวายในการประชุมผู้นำอาเซียนปี 2552 ที่ผู้นำต่างประเทศต้องหนีม็อบ แต่ปัจจุบันไม่มีเรื่องอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงนิด้าโพล ที่ประชาชนอยากให้คุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯ คนต่อไปเป็นอันดับหนึ่งว่า การสำรวจโพลต่างๆ เป็นประโยชน์ที่จะเอามาเป็นข้อมูล เป็นไฟส่องทางในการทำงานต่อไป พร้อมน้อมรับฟังทุกโพล และขอบคุณประชาชนที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนตน 
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองว่า ไม่เป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความสง่างามในการอาสามาเป็นผู้นำ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ควรทำคืออาสาตัวเองเข้ามายืนหน้าสปอตไลต์ ให้ประชาชนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำที่ทำหน้าที่มาให้ประชาชนตัดสินใจให้ทำงานต่อไปหรือไม่ ให้เหมือนนักการเมืองทั่วไป การกลับเข้าสู่อำนาจหากเกิดขึ้นจริงก็จะสง่างาม ดีกว่ายืนอยู่ห่างๆ ให้ตัวเองได้เรียบทุกอย่าง แบบนั้นไม่สง่างาม 
    นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรที่จะต้องมีความชัดเจนทางการเมือง เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นผู้นำประเทศและผู้นำของรัฐบาล
นโยบายรัฐใช้เป็นของ พปชร.
    ที่พรรค พปชร. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ถึงแนวทางในการลงพื้นที่หาเสียงรณรงค์การหาเสียงเลือกหลังปลดล็อก โดยมีกรรมการเข้าร่วมพร้อมเพรียงขาดเพียง 2 คนที่ยังติดภารกิจต่างจังหวัด 
    นายสมศักดิ์กล่าวว่า จะหารือถึงข้อมูลของแต่ละภาคว่าเป็นอย่างไร ตนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมในข้อกฎหมาย ที่จะช่วยสนับสนุนการหาเสียง โดยคณะกรรมการนี้จะดูเรื่องทั่วไป และหาความรู้เพื่อไม่ให้ผู้ที่ลงพื้นที่หาเสียงไม่ทำผิด ส่วนจุดเด่นในการหาเสียงของพรรคคือนโยบาย ซึ่งจะมีความโดดเด่นกว่าความสามารถของตัวบุคคล นอกจากนี้ พรรค พปชร.จะขอนำนโยบายของรัฐบาลมาเป็นนโยบายของพรรคด้วย
 หากพรรคจัดนโยบายที่ดีเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประชาชนก็จะหวังพึ่งพานโยบายมากกว่าตัวผู้สมัคร แต่ผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคก็ถือว่ามีความหมาย เชื่อว่าประชาชนจะให้คะแนนกับผู้ที่จะมาเป็นผู้นำในวันหน้า
     เมื่อถามว่า พรรคจะมีจุดขายอะไรที่ดึงดูดประชาชน นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขอให้รอดูภายใน 7 วัน จะเห็นอะไรดีๆ พรรค พปชร.เวลานี้ถือเป็นพรรคใหญ่ ส่ง ส.ส. 350 เขต เราต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ วันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. ตนจะเดินทางไปเปิดศูนย์ประสานงานของพรรคพลังประชารัฐที่จังหวัดแพร่และเชียงราย เพื่อให้เป็นที่ทำงานของผู้สมัครของพรรค เราจำเป็นต้องมีเซ็นเตอร์ในการประสานงานด้านต่างๆ โปรแกรมต่อไปก็จะออกไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาเป็นสมาชิกของพรรคด้วย 
    นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ในฐานะกรรมการเฉพาะฯ กล่าวกรณีพรรคเพื่อไทยระบุว่าอดีต ส.ส.ส่วนใหญ่ที่มาสังกัดเป็นพวกบัญชีสามที่ไม่ใช่ตัวเด่นหรือเป็นอดีตรัฐมนตรีว่า ขอให้ดูรายชื่อ ถ้าอย่างนั้นอดีตรัฐมนตรีคงไม่มากันหรอก พรรคเพื่อไทยไปไม่ได้ และที่ผ่านมาประเทศบอบช้ำมากว่า 10 ปี ก็รู้อยู่แก่ใจว่าใครทำให้ประเทศบอบช้ำ รัฐมนตรีที่มาก็รู้ดีว่าเพราะสาเหตุใด 
     เมื่อถามว่า ขณะนี้มีบางพรรคการเมืองออกมาระบุว่าถ้าพรรค พปชร.ได้อันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล จะไม่เข้าร่วมด้วย นายปรีชากล่าวว่า “โอ๊ย ไม่จับหรอก แต่วิ่งตามมา เชื่อผมเถอะ ผมอยู่การเมืองมา 30 กว่าปี ที่บอกว่าไม่จับๆ สุดท้ายก็วิ่งตามมาหมด"
     นายอำนวย คลังผา สมาชิกพรรค พปชร. อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการคลุกวงใน อินไซด์ข่าว ช่องสปริงนิวส์ ถึงสาเหตุการย้ายไป พปชร.ว่า การที่เขาไปตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พรรคเพื่อธรรม (พธ.) ตนไม่รู้เลย ก็อยู่พรรคเพื่อไทยมาตลอด กรรมการบริหารพรรคน่าจะบอกว่าเวลานี้เราจะต้องไปตั้งพรรคโน้นพรรคนี้ บอกให้เรารู้บ้าง นี่อยู่ๆ ก็ไปกัน ทษช. ตนไม่เห็นด้วยที่จะขยับ หากไปต้องไปให้หมด 
    "อันนี้ไปเป็นกลุ่มๆ ไปอยู่พรรคโน้นพรรคนี้ ผมเห็นว่ามันเป็นการปล่อยทิ้ง อย่างผม ก็ไม่รู้เรื่องเลย ก็อยู่ในพรรคเนี่ย จะไปไหนก็ต้องบอกกันมาสิ ในขณะที่ปล่อยให้เราอยู่บ้านเก่าๆ บ้านผุๆ อยู่” นายอำนวยกล่าว
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงตัวเลขสมาชิกพรรคที่ออกจากพรรคว่า อดีตส.ส.ปี 2554 ระบบเขตเลือกตั้งที่ออกจากพรรคเพื่อไทยไปยังพรรคต่างๆ ไม่นับรวมที่ไปพรรค ทษช. อยู่ที่ 28 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อก็มีอีกบางส่วน แต่คิดว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่พรรคการเมืองหากเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เขาเลือก การที่ ส.ส.ไหลออกไปไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจ เพราะเท่าที่ฟังพรรคของผู้มีอำนาจดูดอดีต ส.ส.ไปจากพรรคต่างๆ ประมาณ 50 คน แต่การเลือกตั้งทุกครั้งจะมีตัวเลข 20-30% ที่อดีต ส.ส.ไม่สามารถกลับเข้าสภาได้ ตรงนี้ต้องมาพิสูจน์กันว่าเขาอยากได้คณะรัฐบาลที่ตอบสนองการแก้ปัญหาแบบไหน 
     "การย้ายออกของอดีต ส.ส. ยืนยันไม่มีปัญหาเพราะเรามีบุคลากรที่มีคุณภาพให้ประชาชนเลือกใช้งานมากกว่าจำนวนเขตที่มีอยู่ มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยมีเครดิตเพียงพอที่ประชาชนจะฝากไว้วางใจกับเรา" 
"หน่อย" ปัดลง ส.ส.เขต
           เมื่อถามถึงกรณีอัยการจะนัดสั่งคดีที่แกนนำพรรคแถลงข่าวโจมตีผลงาน 4 ปี คสช. จะส่งผลให้ถูกยุบพรรค นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราไม่เคยกังวลในเรื่องนี้ แม้จะมีการสะท้อนให้สมาชิกเราหวั่นไหวบ้าง แต่ไม่กระทบความหวั่นไหวของสมาชิกพรรค ส่วนนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคโดยหลักการสมาชิกพรรคทุกคนมีสิทธิร่วมหาเสียง ถึงเวลาเราก็เรียกร้องขอความร่วมมือกับสมาชิกทุกคนอยู่แล้ว ส่วนลูกของนายทักษิณอีกสองคนยังไม่เห็นว่าสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ 
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวถึงกรณีอดีต ส.ส.ของพรรค พท. 28 คนลาออก ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีอดีต ส.ส.ย้ายพรรค ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยที่ถูกรัฐประหารปี 2549 มี ส.ส.ลาออกไปกว่าครึ่งพรรค ต้องหาผู้สมัครหน้าใหม่มาหมดเลย จนถูกดูแคลนว่าได้แต่นกแลมา แต่พอผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่าประชาชนไว้ใจนกแล ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมสร้างคนใหม่ การที่มีคนลาออกจากพรรคก็จะช่วยให้เกิดการปฏิรูปหลายส่วนประสบความสำเร็จได้ พรรคไม่ได้มีปัญหาตัวบุคคลที่จะส่งลงสมัคร รวมถึงเขตที่อดีต ส.ส.ลาออกไปก็ไม่มีปัญหา เพราะมีผู้สมัครหน้าใหม่ จนคิดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นโรงเรียนที่ผลิตคนการเมือง มั่นใจว่าประชาชนดูที่นโยบายว่าพรรคใดทำสำเร็จ พรรคไหนที่สามารถแก้ปัญหาปากท้องได้
      ส่วนกระแสข่าวที่ตนจะลงสมัครรับเลือกตั้งระบบเขตนั้น เธอบอกว่า ก็ไม่ทราบ ตอนนี้มีคนแถลงข่าวแบบไม่ปรากฏชื่อเรื่อยๆ แต่ขอว่ามีข้อสงสัยใดให้สอบถามมาที่ตนเอง ส่วนจะลงบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งหรือไม่นั้น เป็นเรื่องอนาคต ยังไม่มีการวางตัวบุคคล และเห็นว่าถ้าจะเป็นบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งควรจะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนกระแสข่าวนายพานทองแท้จะร่วมขึ้นเวทีเดินสายปราศรัยหาเสียงทั่วประเทศนั้น ยังไม่ถึงขั้นนั้น และยังแปลกใจกับกระแสข่าวทีมหาเสียงที่มีออกมา เพราะความสามารถของนายพานทองแท้จะเน้นไปในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยพรรคทำการประชาสัมพันธ์ สื่อใหม่และกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้
          ขณะที่นายพานทองแท้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า วิธี “ไดโนเสาร์สีเขียว” ได้ผลเสมอ ไม่ว่าจะล่อเด็กออกจากที่พัก หรือล่อนักการเมืองออกจากพรรคฯ  
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ เฟซบุ๊กไลฟ์หัวข้อ "ถึงวัฒนา เมืองสุข อย่าผลักมิตรเป็นศัตรู" โดยระบุว่า นายวัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กถึงอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ พลังประชารัฐ 16 คน ชาติไทยพัฒนา 3 คน ภูมิใจไทย 3 คน และเพื่อชาติ 1 คน ส่วนอีกจำนวนหนึ่งไปสังกัดพรรค ทษช. อุดมการณ์เดียวกับเพื่อไทย ว่า ในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ แล้วเห็นว่านายวัฒนาเอาพรรคเพื่อชาติไปรวมเป็นกลุ่มเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย ขณะเดียวกันก็เอาเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ เป็นพวกเดียวกัน เสมือนหนึ่งว่าบัดนี้ได้จัดกลุ่มก้อนทางการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  
    "ฝ่ายประชาธิปไตยต้องไม่มีพฤติกรรมในลักษณะ อิจฉาริษยาหรือว่าวิตกกังวลกันเอง ประเภทเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ผมอยากบอกนายวัฒนาว่า ลองคิดทบทวนเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความล้มเหลวต่างๆ นายวัฒนาก็ไปรู้เห็นและเกี่ยวข้องมากพอสมควร ผมเตือนอีกว่าถ้ายังไม่หยุด ผมก็พร้อมที่จะเป็นคู่วิวาทะได้ทุกวันกับนายวัฒนา ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ประเภทหาเศษหาเลยกันนั้นผมไม่นิยม เพราะฉะนั้นเขียนข้อความกำกวมแล้วไปมัดกันอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เกินกว่าจะรับได้." นายจตุพรกล่าว
    นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า พรรคมีผู้สมัครที่มีคุณภาพและจะส่งครบ 350 เขตทั่วประเทศ แม้ในหลายพื้นที่จะมีผู้สมัครของพรรคออกไปอยู่พรรคการเมืองอื่น แต่เราเคารพการตัดสินใจและได้ตัวบุคคลที่มีคุณภาพมาลงแทนแล้ว โดยเชื่อว่าประชาชนอยากได้นักการเมืองซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินการทางการเมืองได้อย่างซื่อตรง ประชาธิปัตย์ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค จะเป็นประชาธิปัตย์ที่ไม่เกรงใจใครอีกแล้ว ถ้าขัดหลักการของบ้านเมือง ผลประโยชน์ของประเทศจะต่อสู้และยืนหยัดทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งพรรคจะเสนอนโยบายเป็นจริง สัมผัสได้ และรวดเร็ว โดยนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นประธานจัดทำนโยบายพรรคเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะเริ่มแถลงในแต่ละเรื่องตั้งแต่สัปดาห์หน้า
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ปชป. กล่าวถึงกระแสข่าวนายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง ปชป. ขัดแย้งกับนายคมกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง ในเรื่องการลงพื้นที่ ส.ส.เขตระนอง จนนายคมกฤษย้ายไปสมัครพรรคภูมิใจไทยว่า ไม่เป็นความจริง นายวิรัชกับตระกูลฉัตรมาลีรัตน์ เจ้าของลูกชิ้นฮั้งเพ้ง เป็นคู่แข่งทางการเมืองกันมาตลอด ที่ผ่านมาก็ไม่เคยยิ้มให้ ลูกชิ้นสักไม้ก็ยังไม่ได้กิน   
    "เดิมทีฉัตรมาลีรัตน์เป็นคนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรค รปช. ต้องการให้ลงเขตระนองสังกัด ปชป. และพยายามกดดันให้นายวิรัชขึ้นไปสู่บัญชีรายชื่อ แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ ส่วนที่ไม่ยอมให้นายคมกฤษไปสังกัด รปช. เพราะมั่นใจว่าแพ้เลือกตั้งแน่นอน  จึงให้ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่ดูดีและมีภาษีดีกว่า และขอยืนยันว่าผู้สมัครของพรรค รปช.ของลุงกำนันในพื้นที่ภาคใต้สอบตกทั้งหมด" นายวัชระกล่าว.