PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขอมีส่วนร่วม !!

ขอมีส่วนร่วม !!
(31ต.ค.)กว่าจะเสร็จแต่ละภารกิจ ที่ขอนแก่น ก็ค่ำมืดแล้ว หลังพบประชาชนพร้อมมอบถุงยังชีพ ณ บ้านบึงสวาง หมู่ 5 ตำบลบึงเนียม แล้ว
เพราะ"นายกฯบิ๊กตู่"....ตั้งใจไว้ แล้ว จึงไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทหาร และ ผู้ปฏิบัติงานปิดพนังคันดินคลองส่งน้ำชลประทาน 3L - RMC ที่ บ้านคุยโพธิ์ หมู่ 6 ตำบลบึงเนียม อำเภอเมือง ขอนแก่น. ที่ซ่อมทำกันมาต่อเนื่องกว่า 40ชม. แล้ว
นายกฯเห็นทหาร ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน แบบนี้ เลยอยากมีส่วนร่วม ช่วยขนหิน เพิ่อเอาไปเท เสริมพนังกั้นน้ำ ที่แตก
โดยมี บิ๊กแบล็ก พลโทธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาค2 ตัอนรับ

วีระ อัด คสช.ล้มเหลวสิ้นเชิงเรื่องธรรมาภิบาล-บริหารประเทศ เพราะไม่ปฎิรูปสำนึกตัวเอง

วีระ อัด คสช.ล้มเหลวสิ้นเชิงเรื่องธรรมาภิบาล-บริหารประเทศ เพราะไม่ปฎิรูปสำนึกตัวเอง


วันนี้ ( 1 พ.ย.) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ตอบโต้คำชี้แจงกรณี นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการตั้งบุตรสาว ดำรงตำแหน่งเลขาฯประตัวผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยระบุว่า

“มีชัย บอกตั้งลูกสาวมาทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขาฯของตนเอง ไม่มีกฏหมายห้าม ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน พูดออกมาได้ว่า ไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นนักกฎหมายชั้นครู มาได้อย่างไรวะ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องนายกฯประยุทธ์ แต่งตั้งลูกชายเข้ารับราชการทหาร ก็ไม่ผิด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตั้งลูกชายเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับ การปฏิรูปกฏหมาย ก็ไม่แคร์ใคร นายมีชัย ฤชุพันธ์ สมาชิก คสช. และประธาน กรธ. แต่งตั้งลูกสาวให้มาเป็นผู้ช่วยเลขาฯ ก็ไม่อายใคร ไม่สงสัยเลยว่าทำไม คสช.จึงล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ เพราะพวกเขา ไม่เคยปฏิรูปจิตสำนึกของตนเอง ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในเรื่อง ธรรมาภิบาล”

สถานการณ์น้ำ เปรียบเทียบปี 2554 กับ 2560

สถานการณ์น้ำ เปรียบเทียบปี 2554 กับ 2560



ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ล่าสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ระบุปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 ตุลาคม 2560 วัดได้ 1,771 มิลลิเมตร (มม.) เทียบช่วงเดียวกันปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย วัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 ตุลาคม 2554 มีปริมาณทั้งสิ้น 1,798 มม.
ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เปรียบเทียบปริมาณน้ำผ่านจุดควบคุมสำคัญ พบว่า สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปี 2554 น้ำไหลผ่าน 3,542 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ส่วนปี 2560 อยู่ที่ 2,879 ลบ.ม.ต่อวินาที มีความต่าง 663 ลบ.ม.ต่อวินาที, สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปี 2554 น้ำไหลผ่าน 3,254 ลบ.ม.ต่อวินาที ปี 2560 อยู่ที่ 2,697 ลบ.ม.ต่อวินาที ความต่าง 557 ลบ.ม.ต่อวินาที, และสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี 2554 ล้นตลิ่ง แต่ปี 2560 น้ำไหลผ่าน 2,795 ลบ.ม.ต่อวินาที

การเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมในปี 2554 กับปี 2560 พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั่วประเทศ 19.2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5.9 ล้านไร่ และภาคกลาง 6.7 ล้านไร่ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำรวมอยู่ด้วย ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1-23 ตุลาคม 2560 มีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั่วประเทศ 4.2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นภาคเหนือตอนล่าง 2.2 ล้านไร่ และภาคกลาง 1.3 ล้านไร่

เมื่อสรุปเป็นตัวเลขความเสียหายจากน้ำท่วม พบว่าในปี 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศ 67 จังหวัด พื้นที่เมือง/เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ 16 จังหวัด พื้นที่เกษตรเสียหาย 11.16 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหาย 39,060 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 1.16 ล้านราย มูลค่าความเสียหาย 3,480 ล้านบาท พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเดือนตุลาคม 6.70 ล้านไร่ พื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศเดือนตุลาคม 19.20 ล้านไร่

ส่วนในปี 2560 ความเสียหายโดยรวมลดลง มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศ 36 จังหวัด พื้นที่เมือง/เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ 1 จังหวัด พื้นที่เกษตรเสียหาย 4 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหาย 14,000 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 0.55 ล้านราย มูลค่าความเสียหาย 1,650 ล้านบาท พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเดือนตุลาคม 1.30 ล้านไร่ พื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศเดือนตุลาคม 4.20 ล้านไร่

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะคาดการณ์ว่าพื้นที่น้ำท่วมทั้งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ บางพื้นที่ที่เป็นที่สูงกว่า น้ำก็จะถูกระบายและแห้งเร็วกว่าพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าเป็นเรื่องปกติ การบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาล กรมชลฯได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งตามแผนยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันรวมประมาณ 5,016 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักได้ถึง 1,579 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านไร่ จากก่อนปี 2557 สามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาณ 79,551 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 30 ล้านไร่ ทำให้ปัจจุบันรวมมีโครงการต่างๆ เก็บกักน้ำได้ 80,934 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 32 ล้านไร่ ทั้งนี้ ใน 5,016 โครงการดังกล่าวกระจายอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศ โดยจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ แหล่งกักเก็บน้ำ 626 โครงการ แก้มลิง 555 โครงการ ระบบควบคุมน้ำและการระบายน้ำ 1,886 โครงการ และขุดลอกคูคลอง-กำจัดวัชพืช 1,994 โครงการ

เมื่อแยกดูเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รวม 321 โครงการ เพิ่มปริมาณเก็บกักได้ถึง 190 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 0.51 ล้านไร่ ดังนี้ แหล่งเก็บกักน้ำ 45 โครงการ แก้มลิง 43 โครงการ ระบบควบคุมน้ำและการระบายน้ำ 233 โครงการ

ด้านสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับปี 2554 ระบุว่า ปริมาณฝนสะสมของทั้งประเทศในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 19 ตุลาคม เทียบกับปี 2554 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปีนี้แม้จะใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือ เป็นพื้นที่เหนือเขื่อนและเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำเหนือ พบว่าฝนของปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2554 อยู่ประมาณ 300 มิลลิเมตร (มม.) มีพื้นที่ฝนตกมากกว่าปี 2554 คือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจากพายุเซินกา และพื้นที่ภาคใต้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมไปเมื่อต้นปี

สสนก.ระบุว่า ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ เมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำสูงสุดถึง 4,686 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ส่วนปีนี้ยังมีปริมาณน้ำเพียง 3,059 ลบ.ม.ต่อวินาที ชี้ชัดว่าปริมาณน้ำเหนือยังคงต่างกันมาก

ส่วนพื้นที่น้ำท่วมบริเวณภาคกลาง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2554 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 7.3 ล้านไร่ ในปีนี้มีพื้นที่น้ำท่วมเพียง 1.2 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554

ภาพรวมสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงถือว่าดีขึ้น ไม่มีฝนตกเพิ่ม น้ำเหนือน้อยลง น้ำทะเลหนุนต่ำลง

จากข้อมูลสถานีโทรมาตรวัดระดับน้ำอัตโนมัติที่ส่งข้อมูลทุกๆ 10 นาที พบว่าแม้แม่น้ำเจ้าพระยายังคงมีระดับน้ำมากและล้นตลิ่ง โดยเฉพาะเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี มีน้ำล้นตลิ่งต่ำตามธรรมชาติริมแม่น้ำขึ้นมาวันละ 2 รอบ รอบละ 6-7 ชั่วโมง นั้น แต่จากปริมาณฝนทางด้านภาคเหนือและภาคกลางที่ลดน้อยลงถึงแทบไม่มีฝนแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำที่ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ระดับน้ำคาดว่าจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ส่วนระดับน้ำบริเวณ จ.ปทุมธานี และนนทบุรี มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่หนุนวันละ 2 รอบ โดยปัจจุบันมีระดับน้ำหนุนต่ำลงจากวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่มีน้ำหนุนสูงสุดไปค่อนข้างมาก และแนวโน้มระดับน้ำทะเลหนุนตามการคาดการณ์จะลดลงต่อเนื่อง

อธิบายแบบง่ายๆ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมน้ำเวลานี้คือ เกิดจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยานั่นเอง รูปแบบการระบายน้ำแบบนี้มีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทุกปีที่ผ่านมาก็มีการระบายน้ำเช่นนี้อยู่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ก็รู้ตัวดีว่าพื้นที่ของตัวเองนั้นอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และน้ำจะท่วมเป็นปกติ แต่ไม่กระทบกับตัวเมือง

สำหรับน้ำที่ท่วมอยู่ในทุ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยามองจากภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียมเวลานี้ ประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม.นั้นเป็นทุ่งที่ทางกรมชลประทานเตรียมเอาไว้สำหรับรองรับน้ำอยู่แล้ว จำนวน 12 ทุ่ง ทางกรมชลประทานได้แบ่งน้ำออกด้านซ้ายและด้านขวาของเขื่อนเจ้าพระยา และระบายลงไปเก็บไว้ในทุ่งที่จัดเตรียมไว้ ไม่กระทบต่อการทำการเกษตร กรมชลประทานได้เตรียมแผนไว้ว่า วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เป็นเวลาที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลลดต่ำลงแล้ว จะระบายน้ำจากทั้ง 12 ทุ่งออก โดยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทั้งหมด อยู่ในแผนการจัดการน้ำอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

แต่ที่เป็นปัญหาคือ การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วสร้างผลกระทบกับพื้นที่ริมแม่น้ำ คือทำให้น้ำท่วม แนวทางการแก้ไขคือ ขยายและเพิ่มคุณภาพการระบายน้ำของคลองชัยนาท ป่าสัก เพื่อให้สามารถแบ่งน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มมากขึ้น

อารมณ์ สังคม คึกคัก และ หงุดหงิด ก่อน ‘เลือกตั้ง’

อารมณ์ สังคม คึกคัก และ หงุดหงิด ก่อน ‘เลือกตั้ง’


พลันที่ “ฤดูหนาว” มาเยือนในเดือนพฤศจิกายน จะปรากฏอารมณ์ 2 อารมณ์ขึ้นภายในระบบนิเวศทางการเมือง

1 อารมณ์คึกคัก เปี่ยมด้วยความหวัง
1 อารมณ์หงุดหงิด งุ่นง่าน ไม่พอใจ

ไม่ว่าจะมองไปยัง “นักการเมือง” ไม่ว่าจะมองไปภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” จะสัมผัสได้ใน 2 อารมณ์อันสวนทางกัน

แล้วก็ส่งผลสะเทือนมาถึง “สังคม” โดยรวม

เพราะมีความหวังว่าจะเกิดการ “ปลดล็อก” ให้กับพรรคการเมือง เพราะมีความหวังว่าคืนวันแห่งการเลือกตั้งใกล้เข้ามาเป็นลำดับ

“นักการเมือง” จึงคึกคัก ดวงตาเป็นประกาย

ตรงกันข้าม ภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” กลับมากด้วยความหงุดหงิด งุ่นง่าน เพราะยิ่งใกล้วันเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นการนับถอยหลัง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันยกร่างขึ้นตามพิมพ์เขียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ครบถ้วนและแทบจะล้นเกิน

อันเท่ากับเป็น “หลักประกัน” แห่ง “อำนาจ”

กระนั้น บทเรียนในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ไม่ว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 ไม่ว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2535

สะท้อนอย่างเด่นชัดถึงสภาวะแห่งความไม่แน่นอน

จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ต้องไปหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512 แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปี
พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ต้องไปหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 ด้วยเวลาไม่ครบ 1 ปีด้วยซ้ำไป

เส้นทางของนักรัฐประหารมักเป็นเช่นนี้ ไม่มีเป็นอื่น

ความหงุดหงิด งุ่นง่าน จึงบังเกิดขึ้นภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” ซึ่งมาด้วยกระบวนการ “ลากตั้ง” จำเป็นต้องหลีกทางให้กับ “นักเลือกตั้ง”

พลันที่กระบวนการเลือกตั้งมาถึง บรรดา “นักลากตั้ง” จำนวนหนึ่งอาจยังมีที่ยืน อาจยังสามารถแสดงบทบาทได้

ผ่าน 250 ส.ว.

ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และดำรงอยู่ภายในองค์กรอิสระ

แต่สถานะก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

อย่างน้อยก็ไม่เหมือนกับอำนาจที่ได้มาพร้อมกับการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เพราะจะต้องถูกตรวจสอบ ท้าทาย

ท้าทายผ่านกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน

ท้าทายจากบรรดา “นักการเมือง” ที่ได้รับฉันทานุมัติอันมาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศ

การดำรงอยู่ของ “อำนาจ” จึงไม่เหมือนเดิม

และนับวันอำนาจอันได้มาจากฐานซึ่งง่อนแง่น โงนเงน ก็มิอาจตั้งอยู่ได้อย่างองอาจ สง่างาม เพราะถูกบ่อนเซาะทุกวินาที

มีความจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจต่ออุณหภูมิในทางสังคมที่กระบวนการเลือกตั้งกำลังย่างสามขุมและคืบคลานเข้ามา

เพื่อที่จะมองพวกที่คึกคักด้วยความเข้าใจ

ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะมองพวกที่หงุดหงิด งุ่นง่าน เพราะวันเวลาแห่งการนับถอยหลังได้คุกคามกดดัน หนักหน่วงเป็นลำดับ

นี่คือ “อารมณ์” ในทางสังคมที่จะเกิดขึ้นแน่นอน

เย็นสบายไทยแลนด์

เย็นสบายไทยแลนด์

ปีนี้เมืองไทยหนาวเร็ว แค่เริ่มเดือนพฤศจิกายน ภาคเหนือ ภาคอีสาน อากาศหนาวเฉียบเย็นเจี๊ยบชื่นสะดือ

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า สัปดาห์นี้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเย็นลงอีก 2–4 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดจะอยู่ที่ 16 องศาเซลเซียสโดยประมาณ

ส่วนอุณหภูมิบนยอดดอยต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสหนาวยะเยือกสะใจ

ท่านที่อยากสัมผัสลมหนาวไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าเมื่อลมหนาวแผ่พังพานปกคลุมตอนบนของประเทศไทย จะทำให้ภาคเหนือมีฝนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

ส่วนภาคอีสานยังมีฝนประปราย 30 เปอร์เซ็นต์

ส่วนกรุงเทพมหานคร สัปดาห์นี้อุณหภูมิจะลดลงอีก 1–3 องศาเซลเซียส

เย็นสบายๆต้อนรับเทศกาลลอยกระทง

ยกเว้น ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จะมีฝนฟ้าคะนองตกกระจายต่อไปอีกหลายวัน

“แม่ลูกจันทร์” คาดว่าปีนี้เมืองไทยจะหนาวยาวๆไปจนถึงสิ้นปี

และอาจหนาวยาวๆไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าโน่นเลย

เพราะปีไหนน้ำเยอะ ปีนั้นจะหนาวนาน

ปีนี้ฝนตกสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางยืดเยื้อมากว่า 2 เดือน
ยังโชคดีที่ปีนี้เขื่อนใหญ่ๆ สามารถรองรับปริมาณน้ำส่วนเกินเพิ่มได้เป็นกอบเป็นกำ

ล่าสุด เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำเพียง 78 เปอร์เซ็นต์ ยังรับน้ำเพิ่มได้อีก 22 เปอร์เซ็นต์

เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนใหญ่อันดับ 2 มีปริมาณน้ำในอ่าง 88 เปอร์เซ็นต์ ยังสามารถรับน้ำเพิ่มได้อีกก้อนโต

แต่สาเหตุที่เกิดนํ้าท่วม เป็นเพราะร่องฝนปีนี้เลื่อนลงไปตกใต้เขื่อน

ทำให้มวลนํ้าก้อนใหญ่ไหลไปกองอยู่ที่ภาคกลางตอนบน

เพราะฝนตกใต้เขื่อนเยอะจึงทำให้นํ้าท่วมระเบิดเถิดเทิง

อย่างไรก็ดี “แม่ลูกจันทร์” เห็นว่ารัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดการปัญหานํ้าท่วมได้ดีพอสมควร

เช่น...การเตรียมขุดลอกแม่นํ้าลำคลองหนองบึง

ทำสงครามกวาดล้างผักตบชวา ซึ่งเป็นตัวแสบที่ทำให้การระบายนํ้าไม่สะดวกโยธิน

และการที่รัฐบาลสั่งผันนํ้าส่วนเกิน 1,300 ล้าน ลบ.เมตร เข้าไปพักไว้ในแก้มลิงยักษ์ 12 แห่งชั่วคราว
ช่วยบรรเทาผลกระทบจากนํ้าท่วมเห็นผลทันตา

ส่วนการที่รัฐบาลระบุว่าปริมาณฝนปีนี้ใกล้เคียงกับปริมาณฝนปี 2554 แต่เพราะรัฐบาลวางแผนจัดการปัญหานํ้าท่วมได้ดี ทำให้ปีนี้ไม่เกิดมหาวิกฤตินํ้าท่วมวินาศสันตะโรซํ้ารอยเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา

“แม่ลูกจันทร์” ยืนยันว่าปริมาณฝนปีนี้น้อยกว่าปี 2554 ซึ่งมีปริมาณฝนสะสมสูงสุดในรอบ 30 ปี

ปี 2554 มีปริมาณนํ้าท่วมต้องระบาย 1.6 หมื่นล้าน ลบ.เมตร

ปีนี้มีปริมาณนํ้าท่วมต้องระบาย 3 พันล้าน ลบ.เมตร

ยังห่างกันเยอะนะคุณโยม.

"แม่ลูกจันทร์"

ตีกรรเชียง “เล่นน้ำ”?

ตีกรรเชียง “เล่นน้ำ”?

ลัดคิว แทรกโปรแกรมด่วนเลย

ตามฉากสถานการณ์ที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจน้ำท่วมที่จังหวัดอ่างทอง ต่อเนื่องอีกวันหลังเสร็จประชุม ครม.ก็รีบบินตรงไปดูสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดขอนแก่น

จุดในแผนที่น้ำท่วมอ่วมสุดในภาคกลางและภาคอีสาน

มุมหนึ่งก็เหมือนนั่งไม่ติด “ลุงตู่” ต้องรีบลงจากหอคอยงาช้างไปช่วยชาวบ้าน

ท่ามกลางกระแสตื่นตระหนกฝันร้ายน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ข่าวลือว่อนโซเชียลมีเดีย ภาพประกอบน้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี น้ำล้นที่ลุ่มภาคกลาง จ่อทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล

เสียงบ่นกระเส็นกระสาย รัฐบาลไม่ค่อยกระตือรือร้น

โดยเฉพาะคนเดือดร้อนแช่อยู่ในน้ำนานนับเดือนแล้ว

แต่อีกมุมฟังจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม และทีมงานโฆษกรัฐบาลที่เปิดข้อมูลเลยว่า สถานการณ์น้ำหลากปี 2560 นี้ไม่ธรรมดา

เพราะมวลน้ำเท่ากับอุทกภัยใหญ่ปี 2554

อย่างไรก็ตาม มาถึงตรงนี้ ย่างเข้าฤดูหนาว น้ำเหนือไม่เติมมาเพิ่มเขื่อนเจ้าพระยา เหลือแค่ระบายน้ำที่กักไว้ใน 12 ทุ่งรับน้ำที่ลุ่มภาคกลาง อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อุทัยธานี ชัยนาท ฯลฯ

ซึ่งตามธรรมชาติก็เป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำทุกปีอยู่แล้ว

โดยแนวโน้มรัฐบาลก็เตรียมมาตรการเยียวยา จัดงบประมาณฟื้นฟูชดเชยให้อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดขอบคุณพวกที่เสียสละพื้นที่รับน้ำแทนพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ออกมาแสดงว่าความมั่นใจ น้ำไม่ท่วม กทม.แน่

แปลความโดยสรุปว่า “เอาอยู่” น้ำไม่ทะลักเข้าท่วมเมืองกรุง

มันก็ไม่แปลก ถ้าสุดท้ายแล้วทีมงานรัฐบาล คสช.จะคุยได้ว่าไม่เสียหายซ้ำรอยปี 2554

ประกอบกับจับอาการ “นายกฯลุงตู่” ที่ยังดูสบายใจ ในระหว่างเยี่ยมชาวบ้านก็ยังไม่วายออกลีลานักเลือกตั้งอาชีพ ออกตัวเป็นเชิงว่า การลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมช่วยเหลือชาวบ้านที่จังหวัดอ่างทอง ไม่ได้เป็นการหาเสียงแต่อย่างใด แต่ถ้าใครจะให้คะแนนก็ไม่ว่าอะไร เพราะมันยังไม่ใช่เวลานี้

ออกลีลาตุนแต้มล่วงหน้า ส่อนัยให้แปลความไปถึงการเลือกตั้ง

จับทาง “ลุงตู่” ยังมีแถมเหลี่ยมแปลงวิกฤติเป็นโอกาส แบบที่เจ้าตัวยอมรับเลยว่า รัฐบาลนี้เข้ามาด้วยวิธีพิเศษก็ต้องทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยวิธีพิเศษบางอย่าง

เหมือนจะใช้สถานการณ์น้ำ แปลงเสียงด่าเป็นเสียงหนุนให้รัฐบาล คสช.เดินหน้าเมกะโปรเจกต์มูลค่ากว่าแสนล้านในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง

แผนงานต่อเนื่องช่วงคุมเกมเปลี่ยนผ่านต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

เอาเข้าจริง “ลุงตู่” ก็ยังตีกรรเชียง “เล่นน้ำ” สู้กับแรงเสียดทานที่พุ่งเข้าใส่ได้ ภายใต้เงื่อนสถานการณ์บังคับที่นักการเมืองต้องออกมาเร้าให้ปลดล็อก ไล่บี้เกมเลือกตั้ง

แต่ที่วูบไปเลยก็คือแนวรบด้าน “น้องปู” อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ภายหลังครบกำหนดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เปิดให้จำเลยคดีไม่ระงับยับยั้ง

ความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี หรือขอขยายระยะเวลาการยื่นเรื่องอุทธรณ์ หลังศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

แต่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้ส่งตัวแทนมาติดต่อขอใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ขณะที่อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ยื่นอุทธรณ์คดีเช่นกัน จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว

ตามกระบวนการขั้นตอนที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ยอมรับว่ามีการเพิกถอนหนังสือเดินทางของอดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 4 เล่ม ประกอบด้วยหนังสือเดินทางการทูต 2 เล่ม และหนังสือเดินทางบุคคล 2 เล่ม ตามที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ได้ระบุมา
ชัดเจนเมื่อตัดสินใจไม่สู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมปกติ ทั้งๆที่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญใหม่ล็อกไว้

นั่นหมายถึง “น้องปู” ต้องหนีตลอดชีวิต

ถึงตรงนี้ คิดได้ทางเดียว รอลุ้นเงื่อนไขพิเศษเท่านั้น.

ทีมข่าวการเมือง