PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กองหนุน

อย่าด่ารัฐบาล แล้วกัน!!

“บิ๊กป้อม" ป้อง"กลุ่มสามมิตร-สุริยะ”"เดินสายดูด"อดีตส.ส."หนุน"บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ  ไม่ผิด ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ชี้ ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย  ไม่ได้หาเสียง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายสุริยะ จึ่งรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร เดินสายดูดอดีตส.ส.เพื่อมา สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์  ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ ว่า เขาไม่ได้ไปหาเสียงอะไร  เพราะขณะนี้พรรคการเมือง ยังไม่มีการเปิดตัว

เมื่อถามว่า  เป็นการรวมตัวกันเกิน 5 คน เพื่อพูดคุยประเด็นการเมืองถือว่าผิดหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "เขาไม่ได้คุยกันเรื่องต่อต้านอะไร ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปั่นป่วนทำให้เกิดความวุ่นวายในรัฐบาล  แต่เป็นการพูดคุยเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องการทำงานทางการเมือง"

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเชิญบุคคลพูดคุยแต่ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า  หากทำกิจกรรม เพื่อปั่นป่วน ไม่สามารถทำได้  

ส่วนหากพรรคเพื่อไทยนัดพูดคุยโดยไม่มีการปั่นป่วนสามารถทำได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็อย่าด่ารัฐบาล หากทำอะไรไม่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ทั้งนั้น 

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวสวนกลับว่า "ไม่มี  มีแต่ พักผ่อน"

3 มุมมอง ทางเลือก ‘ไพรมารีโหวต’ เลิก-เลื่อน-ปรับรูปแบบ

3 มุมมอง ทางเลือก ‘ไพรมารีโหวต’ เลิก-เลื่อน-ปรับรูปแบบ


หมายเหตุเป็นความคิดเห็นจากนักวิชาการและฝ่ายการเมือง ต่อแนวทางการทำไพรมารีโหวต เพื่อคัดเลือกผู้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมือง โดยมีข้อเสนอเป็นทางออกใน 3 ทางเลือก คือ 1.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต 2.เลื่อนออกไปก่อน และ 3.กำหนดทำไพรมารีโหวตเป็นระดับภาค แทนการเลือกในแต่ละเขตเลือกตั้ง

ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อเสนอการแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวตโดยใช้ ม.44 ซึ่งมีแนวทางแรกว่าให้ยกเลิกไพรมารีโหวตไปนั้น อยากให้มองถึงความตั้งใจของการทำไพรมารีโหวต คือต้องการทำให้คนที่เป็นสมาชิกได้เลือก ส.ส.ของตัวเอง ไม่ให้การตัดสินใจเลือกคนมาจากพรรคเท่านั้น
ปัญหาคือ เงื่อนไขเวลาตอนนี้พรรคจะหาสมาชิกครบตามกระบวนการทำไพรมารี ได้หรือเปล่า หลายพรรคยังไม่มีสมาชิกเพียงพอจะทำไพรมารีโหวตในแต่ละเขตได้ มีเพียงพรรคใหญ่เท่านั้น ที่มีสมาชิกเพียงพอสามารถทำไพรมารี ครบทุกเขตในทุกจังหวัดได้ ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ว่า ปลดล็อกแล้วจะทำให้การหาสมาชิกทันหรือไม่ ทุกคนมองว่าเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกได้ทัน ก็เลยให้ยกเลิกไพรมารีโหวตไปเสีย แต่ผมต้องมองว่าการยกเลิกไพรมารีโหวตเป็นข้อดีหรือเสียกันแน่
ผมมองว่า ไพรมารีโหวตเป็นการเพิ่มโอกาสให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง ประชาชนคนทั่วไปมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับพรรคมากขึ้น ส่วนตัวแล้วโดยพื้นฐานจึงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกไพรมารีโหวต
แนวทางที่ 2 ให้งดการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ และยกไปทำในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ส่วนตัวไม่อยากให้มีการใช้ ม.44 แต่ด้วยข้อจำกัดระยะเวลา ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องนำไปใช้ครั้งหน้า แต่การยกเลิกไพรมารีโหวตครั้งนี้ต้องมีมาตรการทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง ให้ไพรมารีในครั้งหน้าเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อครบกระบวนการเท่านั้น โดยทำให้ข้อกำหนดใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองต้องทำให้หมด เช่น การจัดตั้งสาขาพรรค สมาชิกมีการจ่ายค่าบำรุงพรรค มีแนวทางทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ควรพูดเพียงว่าครั้งนี้ยกเลิกแล้วไปใช้ครั้งหน้าเท่านั้น ครั้งนี้มีปัญหาคือความพร้อมจากเงื่อนไขเวลาหาสมาชิก
ส่วนแนวทางที่ 3 ทำไพรมารีโหวตเปลี่ยนเป็นระดับภาคแทนระดับเขต โดยให้สมาชิกระดับภาคมาคัดเลือกแทน อาจมีบางพื้นที่ไม่ได้มีคนของตัวเองมาเลือก ทำให้อาจมีคนหยิบมือหนึ่งมาเลือกแทนคนพื้นที่อื่น ข้อเสนอนี้จึงไม่เห็นด้วย และไม่ต่างจากการที่พรรคคัดเลือกกันเองเหมือนเดิม เพราะการทำไพรมารีคือ กระจายอำนาจพรรคการเมืองสู่สมาชิกพรรค การทำไพรมารีโหวตระดับภูมิภาคจะเหมือนการกลับมารวมศูนย์อีกครั้ง จึงเห็นว่าการงดใช้ไพรมารีโหวตครั้งนี้ไปใช้ครั้งหน้าน่าจะดีกว่า


ยุทธพร อิสรชัย

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ความจริงสามารถยกเลิกการทำไพรมารีโหวตได้ เพราะว่าคำสั่งที่ 53/2560 เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าสามารถใช้ ม.44 แก้ไขกฎหมายในระดับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากที่จะใช้ ม.44 แก้ไขเรื่องไพรมารีโหวต
ไพรมารีโหวตจะทำให้เกิดพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน เป็นระบบที่จะทำให้พรรคกลายเป็นสถาบันทางการเมือง ดังนั้นสังคมไทยจึงควรนำระบบดังกล่าวมาใช้ แต่ไม่ควรจัดให้เป็นไพรมารีโหวตในระบบปิดแบบที่กฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดไว้ แนวทางที่ดีที่สุดคือปรับวิธีการของไพรมารีโหวตและเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรค รวมถึงดำเนินการแก้ไขในบริบทอื่น เช่น คำสั่ง 53/2560 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองรณรงค์ให้หาสมาชิกเพิ่มเติมได้ทั้งพรรคเก่าและใหม่ ให้มีความเสมอภาคกัน สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไพรมารีโหวตประสบความสำเร็จ
การบอกว่าทางเลือกไหนจะดีกว่ากันระหว่างยกเลิกทั้งหมด หรือขยายระยะเวลาในการทำไพรมารีโหวต มองว่าไม่ใช่ทางออก ทางออกที่สำคัญคือต้องแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 และปรับให้ไพรมารีโหวตเป็นระบบเปิดและอาจขยายไปสู่ระดับชาติในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเป็นข้อเสนอของพรรคการเมืองที่น่าสนใจ
ตอนนี้ยังคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ยังทันการเลือกตั้งในปีหน้า เพราะการทำไพรมารีโหวตไม่ได้เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง การดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ทำมาตลอดอยู่แล้ว ถ้าพร้อมก็ทำได้ เพียงแต่มีปัญหาในข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ มากกว่า เรื่องขั้นตอนวิธีการทำพรรคการเมืองทำได้อยู่แล้ว กกต.ก็เดินหน้าในส่วนของตัวเองไป เช่น ขั้นตอนการรับทราบชื่อพรรค และเรื่องอื่นๆ

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มองว่าคนที่นำการทำไพรมารีโหวตไปใส่ในกฎหมายไม่ได้ทำการศึกษาอย่างถ่องแท้ว่า จะต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้างจึงจะถูกต้องเหมาะสม ดูตัวอย่างในอเมริกาที่พรรคการเมืองเขาทำกันเอง ของเราเขาให้ กกต.เป็นคนจัด ถ้าจะให้จัดต่อไปโดยไม่ให้กระทบการเลือกตั้งก็ต้องทำแบบขอไปที คือทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้มีไพรมารีโหวตแต่แบบนี้ ก็จะเป็นไพรมารีแบบจอมปลอมไม่มีประโยชน์ ถ้าเลื่อนก็อาจจะแก้กฎหมายได้ไม่ทัน
ส่วนที่ว่าให้จัดเป็นแบบภูมิภาคไม่ใช่แบบเขต ถามว่าคนที่มาเลือกจะเกี่ยวข้องอะไรกับ ส.ส.แต่ละคนที่อยู่นอกเขตเขา เช่น ถ้าแบ่ง 4 ภูมิภาค แล้วในภาคกลางให้คนสุโขทัยไปเลือกคนปราจีนบุรี สุดท้ายก็ต้องแบ่งเขตภูมิภาคอยู่ดี มันต้องทำตามเขตเลือกตั้ง หรือต่อให้ไม่เปลี่ยนแนวทางเลย กกต.ในฐานะผู้จัดก็คงไม่มีความพร้อมที่จะทำได้ ต้องหาทางอย่างไรก็ได้ เพื่อที่จะให้ไพรมารีโหวตเกิดขึ้นมา ก็ต้องโยนไปให้พื้นที่จังหวัดหรือ กกต.ในเขตพื้นที่ แต่ทำแบบนี้ก็อันตรายโกงกันง่ายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เกรงว่าจะเป็นข้ออ้างไม่ให้มีการเลือกตั้ง แม้จะกำหนดแผนไว้ก็คิดว่าไม่ทันการเลือกตั้งปีหน้า มีทางเลือกเดียวคือใช้ ม.44 ยกเลิกเหมือนที่ทำกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือระงับใช้ในการเลือกตั้งคราวนี้


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ควรจะยกเลิกเพราะมันเป็นเรื่องใหม่ ถ้าจะทำก็ควรกำหนดเวลา เช่น กำหนดว่าภายใน 3 ปีให้ตั้งสาขาพรรคการเมืองครบทุกจังหวัดหรืออย่างน้อยให้มี 1 ใน 3 ของจังหวัด และให้สาขาเป็นคนคัดเลือกด้วยวิธีการสอบถามที่ต้องใช้เวลา เพราะทั่วไปแล้วพรรคการเมืองไม่มีเวลาที่จะเตรียมตัว ไม่รู้ล่วงหน้าว่ามีการสมัครสมาชิกซี้ซั้วไม่เขียนใบสมัครเพราะการเมืองไทยไม่มีมาตรฐานในการรับสมาชิก เมื่อเราอยากจัดระเบียบก็ควรให้เขาใช้เวลา อย่างน้อยก็ต้องมีกติกาของพรรคก่อนเช่น สาขาพรรคเป็นผู้คัดเลือก และให้การทำไพรมารีโหวตต้องมีการโหวตโดยสมาชิกพรรคซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด ตอนนี้เราสุดโต่งเกินไป ในทางปฏิบัติมันลำบาก ถามว่า กกต.แทรกแซงไหม จริงๆ แล้วเขาก็มีกรรมการบริหารพรรคเป็นคนคัดเลือกโดยตรงอยู่แล้ว เขาต้องเอาคนในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงไม่งั้นก็ลงลำบาก ที่เรากำหนดเป็นตัวอักษรไปเขาก็ไม่พร้อมที่จะทำหรอก ถ้าจะให้มีก็ต้องกำหนดว่าใช้เวลาเท่าไหร่
ให้พรรคได้เตรียมตัว ยังไงตอนนี้ก็ต้องยกเลิกเฉพาะประเด็นไปก่อน ปล่อยไปตามเดิม ยังไงก็ทันไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง


วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
เรื่องไพรมารีโหวตเป็นเรื่องเจตจำนงของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธยาก และฟังเสียงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยังยืนยันที่จะให้มีไพรมารีโหวตอยู่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค แก้ไขข้อบังคับ และกำหนดแนวอุดมการณ์พรรค และโดยเฉพาะต้องให้พรรคการเมืองสามารถหาสมาชิก เพื่อจัดตั้งสาขาพรรคและเลือกประธานสาขาพรรค และเตรียมการทำไพรมารีโหวต โดยในเวลาเดียวกันก็ให้ใช้กฎหมายพิเศษ ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และถ้า คสช.รีบทำเสียแต่วันนี้ ก็ไม่ต้องตั้งคำถามว่า จะเลื่อนไพรมารีโหวต จะงด หรือจะใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งรอบถัดไปหรือไม่
ความจริงคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองก็ได้ลดเงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตไว้ว่า ในครั้งแรกเพียงแต่มีตัวแทนจังหวัด จังหวัดละ 100 คน ก็สามารถทำไพรมารีโหวตทั้งแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระจายอำนาจของผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองให้กับสมาชิกพรรคการเมือง
แน่นอนที่สุด การเริ่มต้นทำสิ่งใดย่อมมีปัญหาอุปสรรคบ้างเป็นเรื่องปกติ ปัญหาอยู่ที่ผู้มีอำนาจรัฐว่าจะเอาไพรมารีโหวตหรือไม่เอา หากเห็นว่าพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนตนทำไพรมารีโหวตไม่ทัน ก็จะยกเลิกในครั้งแรก แต่กลับอ้างว่าไปทำในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป จึงต้องจับตาดูกันต่อไป
สำหรับพรรค ปชป.จะมีไพรมารีโหวตหรือไม่มี ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการหาผู้สมัครที่มีคุณภาพที่รักชาติบ้านเมือง รักพี่น้องประชาชน มาลงในนามพรรคได้ทุกเขตเลือกตั้งในประเทศไทยอยู่แล้ว

สถานีคิดเลขที่ 12 : เสียงเชียร์ให้ยุบเพื่อไทย : สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : เสียงเชียร์ให้ยุบเพื่อไทย : สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน


พรรคเพื่อไทยจะโดนยุบก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เป็นประเด็นที่คอการเมืองสนใจกล่าวขวัญกันไม่น้อย โดยตอนนี้คงต้องรอผลการสอบสวนคลิปวิดีโอคอลของทักษิณ ซึ่งสนทนากับสมาชิกพรรคเพื่อไทย จากงานเลี้ยงวันเกิดยิ่งลักษณ์ ที่ร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน
แต่ก็นั่นแหละ การสอบสวนก็ว่ากันไปส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคงขึ้นอยู่กับทิศทางของเกมอำนาจว่าจะเอาแบบไหนแน่
ตอนนี้ก็เลยมีเสียงเชียร์อยู่ไม่น้อย ที่อยากให้ยุบพรรคเพื่อไทยไปเลย
เพราะจะนำมาซึ่งประเด็นร้อนแรงปูทางก่อนการเลือกตั้ง และน่าจะส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้งอีกด้วย
จะได้รู้กันว่า พรรคฝ่ายหนึ่ง ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ยังไม่ทันได้ขยับตัวการเมืองเพราะล็อกยังไม่ปลด ยังไม่ได้จัดประชุม ไม่ได้เลือกหัวหน้าพรรคด้วยซ้ำ แต่บทจะโดนยุบเขาก็ยุบกันได้ง่ายๆ
อีกทั้งมีการเสนอประเด็นกันเอาไว้แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง จะเกิดบรรยากาศเกิดกระแสที่ประชาชนจะได้คิดตัดสินใจว่า จะเอานักการเมืองและพรรคการเมืองขั้วสนับสนุนอำนาจทหารให้คงอยู่ในอำนาจต่อไป
หรือจะสนับสนุนพรรคฝ่ายตรงข้ามกับขั้วอำนาจทหาร ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นพรรคฝ่ายเสรีประชาธิปไตย
แถมยังจะมีอีกประเด็น ถ้าหากประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเป็นอุปสรรคต่ออนาคตของประชาธิปไตย ก็ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองฝ่ายที่ประกาศว่าจะไม่เอา 2 สิ่งนี้เด็ดขาด
แต่ถ้าหากอยากให้การเมืองไทยและประเทศไทยถอยหลังย้อนยุคและถูกแช่แข็งยาวนาน ก็เลือกพรรคฝ่าย คสช.
กระแสเหล่านี้จะยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีกแน่นอน ถ้าหากการบดขยี้อย่างดุดันเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
อีกอย่างหนึ่ง กองหนุนให้ยุบพรรคเพื่อไทยยังมองด้วยว่า เท่ากับจะเป็นการเปิดหน้ากันชัดๆ ไม่ต้องพูดจายอกย้อนกระมิดกระเมี้ยนกันอีกต่อไป
เปิดให้เห็นเลยว่า ที่ทำกันมาเมื่อ 4 ปีก่อนนั้น มันก็คือขบวนการหยุดอำนาจของฝ่ายพรรคการเมืองแนวเสรีประชาธิปไตย เพื่อให้ฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าเข้ามายึดครองการเมืองแทน เป็นยุคของฝ่ายขุนศึกและชนชั้นสูง แถมตอนนี้ยังหวังจะอยู่ยาวถึง 20 ปี

แค่การกำหนดให้มี ส.ว.250 เสียงจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีวาระนาน 5 ปี ก็คือ เจตนาจะให้เป็นเสียงโหวตนายกฯที่แน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ 2 สมัยการเมือง
ในเบื้องต้นก็วางกันเอาไว้ถึง 7-8 ปีแล้ว
จึงไม่ต้องมาพูดกันถึง การชัตดาวน์เพื่อหยุดประชาธิปไตย เพื่อให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและสังคมไทยให้ดีงามก่อน อะไรเหล่านี้อีกต่อไป
อีกฝ่ายจะได้ป่าวประจานว่า เห็นหรือไม่ ทุกอย่างเหมือนเดิมดังที่ขัดแย้งกันมากว่า 10 ปี
มีการถูกกระทำของฝ่ายหนึ่งโดยตลอดอย่างชัดเจน วันนี้ก็ไม่ต่างไปจากเดิม
เพราะฉะนั้นถ้ายุบพรรคเพื่อไทยจริงๆ ก็จะเห็นอะไรต่อมิอะไรได้กระจ่าง ว่ามันก็วนกลับไปสู่จุดเดิมๆ นั่นแหละ
เหมือนกับคดีคนตายถึง 99 ศพ ที่เป็นมวลชนของฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายไม่มีเส้น ถึงขนาดนี้ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดคดีเพื่อพิสูจน์ความถูกผิดและให้เกิดความยุติธรรมใดๆ ขึ้นมาได้
คงลืมนึกไปว่า คนที่ตายไปนั้นมีบ้านช่องมีพ่อแม่มีญาติมิตร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ไปจนถึงภาคกลาง
คงจะเป็นอีกประเด็นร้อนแรงที่ปรากฏผลในการเลือกตั้งอีกแน่นอน
นึกแล้วก็น่าเศร้าสำหรับบ้านเมืองเรา วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่ไปไหนเสียที
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ยุทธการ ‘หนามยอกใจ’

ยุทธการ ‘หนามยอกใจ’



ห้วงที่คนไทยใจจดจ่อ ติดตามการปฏิบัติงานค้นหาและช่วยเหลือโค้ชและทีมฟุตบอลเด็ก “หมูป่า อะคาเดมี” ที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ทุกคนร่วมกันส่งกำลังใจ สวดมนต์ ขอพรให้กับภารกิจที่ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ ภาคเอกชน และจิตอาสา ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 10
เป็นโมงยามแห่งการ “ภาวนา” ให้ปฏิบัติการสำเร็จลุล่วง เด็กๆและโค้ชปลอดภัย
ไม่เพียงเท่านั้น พลังน้ำใจยังมาจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์จากกองทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาเข้าร่วมปฏิบัติการ รวมทั้งหลายสโมสรฟุตบอลดังประเทศอังกฤษ ขึ้นข้อความผ่านทางเพจสโมสร ส่งแรงใจมายังแผ่นดินไทย
เพราะคำว่ามนุษย์ “ชีวิต” มีความหมายและคุณค่า ความสวยงามของน้ำใจ บางครั้งเกิดขึ้นในห้วงทุกข์ยาก
แน่นอน จะเห็นได้ว่าแทบทุกครั้งที่บ้านเมืองไทยต้องผจญกับความยากลำบาก ประสบภาวะวิกฤติ เผชิญหน้ากับภัยพิบัติฉุกเฉิน เราจะได้เห็นน้ำจิต-น้ำใจ ที่รวมพลังกันฟันฝ่าไปได้แทบทุกครั้ง
นี่คือ “แก่นแท้” ของคนไทย
ในห้วงอารมณ์ของบ้านเมืองที่เดินหน้าไป กับภารกิจฉุกเฉินที่รัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เอง ก็ทุ่มสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่
ในนาทีฉุกเฉิน “บิ๊กตู่” ไม่ได้ด้อยแต้มกว่าใคร
รวมทั้งแรงสนับสนุนให้ตีตั๋วเพื่อ “สานต่อ” ภารกิจการงาน หลังเลือกตั้งปี 2562 เสียงเชียร์ดังขึ้นทุกที
ไม่ต่างจากบรรดาป้อมค่ายการเมือง เริ่มระดมสรรพกำลังอุ่นหนาฝาคั่ง
โดยล่าสุดไม่เกินคาดหมาย “กลุ่มสามมิตร” นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สมศักดิ์ เทพสุทิน ระดมอดีตนักการเมืองกว่าครึ่งร้อย ประกาศเปิดตัวเป็นกองเชียร์ “บิ๊กตู่” โดยนายสุริยะยกเหตุผล ได้รู้ข้อมูลเบื้องลึก รู้ว่าสิ่งที่ผู้นำ คสช.จะทำต่อไป ผ่านทาง “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ และ รมต.ในเครือข่าย
เห็นความตั้งใจ จึงเต็มใจมาหนุน
2 ส.ลอต “สามมิตร” ร่วมขบวนแห่เนืองแน่น 1 มิตร 1 ส. “สมคิด” ได้ยิ้ม
ในทางกลับกัน เหตุใหญ่บิ๊กอีเวนต์การเมืองรอบนี้ ขั้วเพื่อไทยสะเทือนแรง เครือข่าย “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” ถูกหั่นแต้มเต็มๆ
ที่สำคัญเหตุ “สุริยะ-สมศักดิ์” ต้องขออำลานายใหญ่ จะมองว่าเป็นไปตาม “แรงดูด” อย่างเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะยังมีทั้งเรื่องสายสัมพันธ์อดีต รมต.ส.เสือ รวมทั้งข่าวแว่วเหตุหมองใจ โยงปม “หยิบยืม” ไม่รู้จบ
วันนี้ทางใครทางมัน ถ้าบอก “นายใหญ่” ไม่ช้ำก็คงโกหก
ที่สำคัญ มามีรายงานข่าว คนในเครือข่ายนายใหญ่หลายรายที่ไม่คิดว่าจะ “ชิ่ง” กัน ก็ดันมาโผล่มีชื่อในค่ายพลังประชารัฐ พรรค “หนุนลุงตู่” นอกจากทั้ง 3 ส. ล่าสุดในรายของ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรอง ผบ.ตร. นรต.รุ่นพี่ที่สนิทสนมชนิดเคยให้นั่งเก้าอี้รักษาการผู้นำมาแล้ว
อดีตบิ๊ก ตร.ซี้ปึ้กโผล่ชื่อมาขอเป็นแม่ทัพคุมสนาม จ.อุบลฯ และโซนอีสานใต้ให้ค่ายพลังประชารัฐ
“ทักษิณ” ช้ำ-ไม่ช้ำล่ะงานนี้
หรือในสาย “เชิดชัย แฟมิลี่” แห่งเมืองโคราช ที่มีชื่อแปะกับ “สามมิตร” ก็ระดับอีกกรุ๊ปที่ใกล้ชิดกับมืองาน “สายตรงดูไบ” สุดท้ายยังพลิกขั้วได้
รวมทั้ง “ผู้กองคนดัง” ที่ไปสร้างฐานเมืองพะเยา ในร่มเงาเพื่อไทย ย้ายฟากเรียบร้อยโรงเรียน คสช.
ถึงแม้ว่าจะมีคนมองอีกมุม ที่เห็นระดับบิ๊กเนมผู้เคยได้ชื่อว่า “ใกล้ชิดนายใหญ่” 3-4 ราย พลิกข้าง อาจจะเป็นสูตร “แตกตัว” ไปร่วมวง “แชร์อำนาจ” หรือไม่ อันนี้ไม่ชัด
แต่ที่แน่ๆ ถ้าประเมินจากหน้าฉาก หมากนี้ฝ่ายเดินเกมอำนาจพิเศษ เริ่มปรับเกมจากลุย “บ่อเพื่อน”
ขยับมาบั่นทอนกำลังขั้วเป้าหมายเต็มแรงแล้ว
ด้วยยุทธการ “หนามยอก-หนามบ่ง” ทำ “นายใหญ่” มีจุก-มีเจ็บ.

ทีมข่าวการเมือง

จนกว่าจะเจอเด็ก

หน่วยSeal จะปฏิบัติการต่อ จนกว่าจะเจอ เด็กๆ

“ผบ.ทร.”บิน ถ้ำหลวง พา10 หน่วยSeal ไปเสริมกำลัง ยันจะปฏิบัติการต่อ จนกว่า จะเจอ เด็กๆ ยันSeal ไม่เป็นอะไร ชี้ บาดเจ็บ แค่เรื่องเล็กน้อย  วอนเข้าใจ ซีล ยันทำเต็มที่แล้ว  แต่อุปสรรค เพียบ 

พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. จะเดืนทางไปถ้ำหลวง เชียงราย บ่ายนี้  เผยว่า ตนเองจะไปเยี่ยมลูกน้อง และ ให้กำลังใจ และจะนำ หน่วยseal อีก10 นาย ขึ้นเครื่องไป  ผลัดเปลี่ยน กับหน่วยซีล ที่มีอยู่45 นาย เพื่อหมุนเวียนกันทำงานตลอด ไม่มีพัก 

ทั้งนี้ ทุกคนตั้งใจทำงาน และ มีการผัดเปลี่ยนตามหน้าที่ เรียบร้อยดี ไม่มีใครเป็นอะไร. ทั้งกำลังพล และ อาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่มีอะไรเสียหาย เรียบร้อยดี  ในการทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ

ส่วนการที่หน่วยซีลมีบาดเจ็บ นั้น ผบ.ทร.กล่าวว่า  เป็นเล็กน้อย ไม่มีอะไร

เพราะตนเองให้นโยบายไปตั้งแต่แรกแล้ว ในการดูแลความปลอดภัยของตัวเอง ไม่ว่าจะทำงานอะไรให้รอบคอบคำนึงถึงความปลอดภัยของพวกเราที่ทำงานอยู่ด้วยด้วยความรอบคอบระมัดระวัง

ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งความหวังกับหน่วยซีล ว่าน่าจะทำได้ประสบความสำเร็จนั้น พลเรือเอกนริส กล่าวว่า ทุกฝ่ายตั้งใจทำงานเต็มความสามารถของทุกหน่วย แล้ว  แต่เพราะมีอุปสรรค ทั้งปริมาณน้ำในถ้ำ ปริมาณน้ำมาก และ กระแสน้ำไหลแรงขึ้น  แต่หากเราข้ามอุปสรรคนี้ไปได้ หน่วยซีลก็จะเข้าพื้นที่ที่เราคาดหวังได้

ส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์ ทั้ง chemical light และเครื่องวัดระดับออกซืเย่น นั่น เป็นอุปกรณ์ประกอบองค์บุคคล เพื่อให้มีความปลอดภัย วัดระดับออกซิเย่น ในอากาศ และให้แสงสว่าง เรามีเครื่องมืออะไรที่ช่วยได้ เราก็จัดให้มเพื่อสนับสนุนภารกิจของ หน่วยซีล

เราทำงานประสานงานร่วมมือกันกับหน่วยซีล ที่ เราถนัดเรื่องการทำงานวนน้ำ การดำน้ำ ส่วนหน่วยอื่น ก็ช่วยเดืนเท้า ในการหาทางเข้าถ้ำทางอื่น

ให้กำลังใจพ่อแม่เด็ก

เป็นลูกหลาน ของผมด้วยเหมือนกัน

“บิ๊กตู่”เยือนถ้ำหลวง ให้กำลังใจ พ่อแม่13ชีวิต แนะดูแลสุขภาพและฝึกสมาธิ  ให้นั่งสมาธินับ 468 หายใจเข้านับ 4 และนับ 6 หายใจออกให้นับ 8

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กล่าวกับญาติผู้ปกครองว่า ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วง ทรงติดตามข่าว และทรงแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ 

“ลูกหลานของพี่น้องทุกคนก็เหมือนกับลูกหลานของผม “

ดังนั้นขอให้ผู้ปกครองเด็กทุกท่านเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้
ผมถือว่าเขาเป็นลูกผมด้วยนะ เพราะผมเป็นนายก ผมก็ถือว่าคนไทยทุกคนเป็นครอบครัวของผม เพราะฉะนั้น เขาบาดเจ็บ ทุกข์ร้อน หรือ ไม่สบาย ผมก็ต้องทุกข์ร้อนด้วย"

และขอดูแลสุขภาพและฝึกสมาธิ โดยได้กล่าวกับพ่อแม่ผู้ปกครองว่าหากมีความทุกข์ใจ ให้นั่งสมาธิคือให้นับ 468 หายใจเข้านับ 4 และนับ 6 หายใจออกให้นับ 8 เท่านี้จะทำให้จิตใจดีขึ้น 

และย้ำขออย่าไปซื้อเลขหวยตามเลขที่ตนบอก คือ 468 ที่ฝ่ายมาเห็นทะเบียนรถตนก็เอาไปซื้อหวย นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้ปกครองเด็กๆอีกว่า ตอนนี้หากเด็กๆได้ออกมาสัญญาว่าจะพาไปเที่ยวพัทยาของจริง ตามความเข้าใจที่ว่าเด็กน่าจะติดอยู่ที่หาดพัทยาในถ้ำหลวงแห่งนี้

ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ถ้ำหลวงแห่งนี้ พอใจการทำงานบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ ของคณะทำงานที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการ 

โดยขอให้มีการจัดระเบียบ ระบบให้ได้ตามมาตรฐานสากลในการช่วยเหลือเมื่อประสบภัยเนื่องจากทั่วโลกติดตามข่าวนี้อยู่สำหรับการช่วยเหลือคือได้ระบายน้ำออก หน่วยซีลจะเข้าไปได้ลึกขึ้น เพื่อช่วยชีวิตเด็กได้เร็วขึ้น 

ขณะที่บนสันเขาดอยผาหมี ทหารได้ลาดตระเวนจนเต็มพื้นที่สำรวจหมดแล้ว และได้หารือกับทางการเมียนมา กรณีที่อาจจะมีสิ่งของหรือวัตถุไหลลงไปตามลำน้ำสาย ขอให้ทางการเมียนมา ช่วยดูให้ ซึ่งทางการเมียนมา รับที่จะดำเนินการให้

นอกจากนี้ ยังมีนานาประเทศ เช่น ลาว อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศที่ยื่นความจำนงพร้อมที่จะส่งคนเข้ามาช่วยเหลือ มีการวางแผนร่วม