3 มุมมอง ทางเลือก ‘ไพรมารีโหวต’ เลิก-เลื่อน-ปรับรูปแบบ
ที่มา | หน้า 2 มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ข้อเสนอการแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวตโดยใช้ ม.44 ซึ่งมีแนวทางแรกว่าให้ยกเลิกไพรมารีโหวตไปนั้น อยากให้มองถึงความตั้งใจของการทำไพรมารีโหวต คือต้องการทำให้คนที่เป็นสมาชิกได้เลือก ส.ส.ของตัวเอง ไม่ให้การตัดสินใจเลือกคนมาจากพรรคเท่านั้น
ปัญหาคือ เงื่อนไขเวลาตอนนี้พรรคจะหาสมาชิกครบตามกระบวนการทำไพรมารี ได้หรือเปล่า หลายพรรคยังไม่มีสมาชิกเพียงพอจะทำไพรมารีโหวตในแต่ละเขตได้ มีเพียงพรรคใหญ่เท่านั้น ที่มีสมาชิกเพียงพอสามารถทำไพรมารี ครบทุกเขตในทุกจังหวัดได้ ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ว่า ปลดล็อกแล้วจะทำให้การหาสมาชิกทันหรือไม่ ทุกคนมองว่าเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกได้ทัน ก็เลยให้ยกเลิกไพรมารีโหวตไปเสีย แต่ผมต้องมองว่าการยกเลิกไพรมารีโหวตเป็นข้อดีหรือเสียกันแน่
ผมมองว่า ไพรมารีโหวตเป็นการเพิ่มโอกาสให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง ประชาชนคนทั่วไปมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับพรรคมากขึ้น ส่วนตัวแล้วโดยพื้นฐานจึงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกไพรมารีโหวต
แนวทางที่ 2 ให้งดการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ และยกไปทำในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ส่วนตัวไม่อยากให้มีการใช้ ม.44 แต่ด้วยข้อจำกัดระยะเวลา ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องนำไปใช้ครั้งหน้า แต่การยกเลิกไพรมารีโหวตครั้งนี้ต้องมีมาตรการทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง ให้ไพรมารีในครั้งหน้าเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อครบกระบวนการเท่านั้น โดยทำให้ข้อกำหนดใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองต้องทำให้หมด เช่น การจัดตั้งสาขาพรรค สมาชิกมีการจ่ายค่าบำรุงพรรค มีแนวทางทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ควรพูดเพียงว่าครั้งนี้ยกเลิกแล้วไปใช้ครั้งหน้าเท่านั้น ครั้งนี้มีปัญหาคือความพร้อมจากเงื่อนไขเวลาหาสมาชิก
ส่วนแนวทางที่ 3 ทำไพรมารีโหวตเปลี่ยนเป็นระดับภาคแทนระดับเขต โดยให้สมาชิกระดับภาคมาคัดเลือกแทน อาจมีบางพื้นที่ไม่ได้มีคนของตัวเองมาเลือก ทำให้อาจมีคนหยิบมือหนึ่งมาเลือกแทนคนพื้นที่อื่น ข้อเสนอนี้จึงไม่เห็นด้วย และไม่ต่างจากการที่พรรคคัดเลือกกันเองเหมือนเดิม เพราะการทำไพรมารีคือ กระจายอำนาจพรรคการเมืองสู่สมาชิกพรรค การทำไพรมารีโหวตระดับภูมิภาคจะเหมือนการกลับมารวมศูนย์อีกครั้ง จึงเห็นว่าการงดใช้ไพรมารีโหวตครั้งนี้ไปใช้ครั้งหน้าน่าจะดีกว่า

รศ.ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชความจริงสามารถยกเลิกการทำไพรมารีโหวตได้ เพราะว่าคำสั่งที่ 53/2560 เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าสามารถใช้ ม.44 แก้ไขกฎหมายในระดับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากที่จะใช้ ม.44 แก้ไขเรื่องไพรมารีโหวต
ไพรมารีโหวตจะทำให้เกิดพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน เป็นระบบที่จะทำให้พรรคกลายเป็นสถาบันทางการเมือง ดังนั้นสังคมไทยจึงควรนำระบบดังกล่าวมาใช้ แต่ไม่ควรจัดให้เป็นไพรมารีโหวตในระบบปิดแบบที่กฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดไว้ แนวทางที่ดีที่สุดคือปรับวิธีการของไพรมารีโหวตและเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรค รวมถึงดำเนินการแก้ไขในบริบทอื่น เช่น คำสั่ง 53/2560 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองรณรงค์ให้หาสมาชิกเพิ่มเติมได้ทั้งพรรคเก่าและใหม่ ให้มีความเสมอภาคกัน สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ไพรมารีโหวตประสบความสำเร็จ
การบอกว่าทางเลือกไหนจะดีกว่ากันระหว่างยกเลิกทั้งหมด หรือขยายระยะเวลาในการทำไพรมารีโหวต มองว่าไม่ใช่ทางออก ทางออกที่สำคัญคือต้องแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 และปรับให้ไพรมารีโหวตเป็นระบบเปิดและอาจขยายไปสู่ระดับชาติในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเป็นข้อเสนอของพรรคการเมืองที่น่าสนใจ
ตอนนี้ยังคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ยังทันการเลือกตั้งในปีหน้า เพราะการทำไพรมารีโหวตไม่ได้เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง การดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ทำมาตลอดอยู่แล้ว ถ้าพร้อมก็ทำได้ เพียงแต่มีปัญหาในข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ มากกว่า เรื่องขั้นตอนวิธีการทำพรรคการเมืองทำได้อยู่แล้ว กกต.ก็เดินหน้าในส่วนของตัวเองไป เช่น ขั้นตอนการรับทราบชื่อพรรค และเรื่องอื่นๆ
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนที่ว่าให้จัดเป็นแบบภูมิภาคไม่ใช่แบบเขต ถามว่าคนที่มาเลือกจะเกี่ยวข้องอะไรกับ ส.ส.แต่ละคนที่อยู่นอกเขตเขา เช่น ถ้าแบ่ง 4 ภูมิภาค แล้วในภาคกลางให้คนสุโขทัยไปเลือกคนปราจีนบุรี สุดท้ายก็ต้องแบ่งเขตภูมิภาคอยู่ดี มันต้องทำตามเขตเลือกตั้ง หรือต่อให้ไม่เปลี่ยนแนวทางเลย กกต.ในฐานะผู้จัดก็คงไม่มีความพร้อมที่จะทำได้ ต้องหาทางอย่างไรก็ได้ เพื่อที่จะให้ไพรมารีโหวตเกิดขึ้นมา ก็ต้องโยนไปให้พื้นที่จังหวัดหรือ กกต.ในเขตพื้นที่ แต่ทำแบบนี้ก็อันตรายโกงกันง่ายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เกรงว่าจะเป็นข้ออ้างไม่ให้มีการเลือกตั้ง แม้จะกำหนดแผนไว้ก็คิดว่าไม่ทันการเลือกตั้งปีหน้า มีทางเลือกเดียวคือใช้ ม.44 ยกเลิกเหมือนที่ทำกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือระงับใช้ในการเลือกตั้งคราวนี้

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงควรจะยกเลิกเพราะมันเป็นเรื่องใหม่ ถ้าจะทำก็ควรกำหนดเวลา เช่น กำหนดว่าภายใน 3 ปีให้ตั้งสาขาพรรคการเมืองครบทุกจังหวัดหรืออย่างน้อยให้มี 1 ใน 3 ของจังหวัด และให้สาขาเป็นคนคัดเลือกด้วยวิธีการสอบถามที่ต้องใช้เวลา เพราะทั่วไปแล้วพรรคการเมืองไม่มีเวลาที่จะเตรียมตัว ไม่รู้ล่วงหน้าว่ามีการสมัครสมาชิกซี้ซั้วไม่เขียนใบสมัครเพราะการเมืองไทยไม่มีมาตรฐานในการรับสมาชิก เมื่อเราอยากจัดระเบียบก็ควรให้เขาใช้เวลา อย่างน้อยก็ต้องมีกติกาของพรรคก่อนเช่น สาขาพรรคเป็นผู้คัดเลือก และให้การทำไพรมารีโหวตต้องมีการโหวตโดยสมาชิกพรรคซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด ตอนนี้เราสุดโต่งเกินไป ในทางปฏิบัติมันลำบาก ถามว่า กกต.แทรกแซงไหม จริงๆ แล้วเขาก็มีกรรมการบริหารพรรคเป็นคนคัดเลือกโดยตรงอยู่แล้ว เขาต้องเอาคนในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงไม่งั้นก็ลงลำบาก ที่เรากำหนดเป็นตัวอักษรไปเขาก็ไม่พร้อมที่จะทำหรอก ถ้าจะให้มีก็ต้องกำหนดว่าใช้เวลาเท่าไหร่
ให้พรรคได้เตรียมตัว ยังไงตอนนี้ก็ต้องยกเลิกเฉพาะประเด็นไปก่อน ปล่อยไปตามเดิม ยังไงก็ทันไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)เรื่องไพรมารีโหวตเป็นเรื่องเจตจำนงของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธยาก และฟังเสียงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยังยืนยันที่จะให้มีไพรมารีโหวตอยู่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค แก้ไขข้อบังคับ และกำหนดแนวอุดมการณ์พรรค และโดยเฉพาะต้องให้พรรคการเมืองสามารถหาสมาชิก เพื่อจัดตั้งสาขาพรรคและเลือกประธานสาขาพรรค และเตรียมการทำไพรมารีโหวต โดยในเวลาเดียวกันก็ให้ใช้กฎหมายพิเศษ ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และถ้า คสช.รีบทำเสียแต่วันนี้ ก็ไม่ต้องตั้งคำถามว่า จะเลื่อนไพรมารีโหวต จะงด หรือจะใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งรอบถัดไปหรือไม่
ความจริงคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองก็ได้ลดเงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตไว้ว่า ในครั้งแรกเพียงแต่มีตัวแทนจังหวัด จังหวัดละ 100 คน ก็สามารถทำไพรมารีโหวตทั้งแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระจายอำนาจของผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองให้กับสมาชิกพรรคการเมือง
แน่นอนที่สุด การเริ่มต้นทำสิ่งใดย่อมมีปัญหาอุปสรรคบ้างเป็นเรื่องปกติ ปัญหาอยู่ที่ผู้มีอำนาจรัฐว่าจะเอาไพรมารีโหวตหรือไม่เอา หากเห็นว่าพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนตนทำไพรมารีโหวตไม่ทัน ก็จะยกเลิกในครั้งแรก แต่กลับอ้างว่าไปทำในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป จึงต้องจับตาดูกันต่อไป
สำหรับพรรค ปชป.จะมีไพรมารีโหวตหรือไม่มี ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการหาผู้สมัครที่มีคุณภาพที่รักชาติบ้านเมือง รักพี่น้องประชาชน มาลงในนามพรรคได้ทุกเขตเลือกตั้งในประเทศไทยอยู่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น