PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โรดแมปประชาธิปไตย-เลือกตั้ง 2559 เส้นทางร่างรัฐธรรมนูญ 12 เดือน

20 ตุลาคม 2014
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ผู้ที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า โรดแมปในการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอาจล่าช้าเกินกว่า 1 ปี นับจากนี้
และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเลือกตั้งทั่วไป อาจจะไม่เกิดขึ้นภายใน พ.ศ. 2558
ตามเหตุผลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ระบุล่าสุด (15 ตุลาคม 58) ว่า เส้นทางไปสู่การเลือกตั้งในโรดแมปขั้นที่ 3 ของ คสช. จะขยายออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ “ถ้ามัวแต่ตีรันฟันแทงต่อสู้กันไปตลอดจะทำอะไรไม่ได้ แล้วประเทศจะไปได้หรือ…อย่ามาคาดคั้นกับผมมากเรื่องนี้ ต้องดูตามโรดแมป จะทำตามโรดแมปได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมาด้วยรัฐธรรมนูญและผลของการปฏิรูป 11 เรื่อง บางเรื่องต้องใช้ระยะเวลายาว จากนั้นใครมาเป็นรัฐบาลก็เข้ามาแก้ต่อ”
นายกรัฐมนตรี แบ่งรับ-แบ่งสู้ ผลักวาระไปที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะมีการสรรหาขึ้น 36 คน มาจาก สปช. 20 คน จาก สนช. 5 คน จากคณะรัฐมนตรี 5 คน และอีก 5 คน มาจากคณะ คสช. เพื่อร่วมจัดทำเส้นทางสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง
สอดรับกับความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม ที่เริ่มเปิดเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญให้ทอดยาวไว้ตั้งแต่มีการประกาศรายชื่อ สปช. 250 คน
นายวิษณุอธิบายเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูไว้ว่า “หลังจากมี สปช. ภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน สปช. จะต้องให้การบ้านคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น 4 เดือน คณะกรรมการยกร่างฯ จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ หากไม่เสร็จตามกำหนดให้ยุบกรรมาธิการนี้ทิ้ง แต่หากแล้วเสร็จให้ส่ง สปช. พิจารณา และให้เวลาแก้ไขภายใน 1 เดือน เมื่อ สปช. ไม่ต้องการแก้ไข ให้กรรมการตรวจสอบอีก 2 เดือน รวมแล้ว 10 เดือน ส่งกลับไปยัง สปช. ให้พิจารณาภายใน 1 เดือน โดยไม่มีการแก้ไข ทำได้แค่รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ และหาก สปช. ไม่รับถือว่ารัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยกร่างและ สปช. ต้องยุบทั้งหมด และเลือก สปช. ใหม่ทั้งหมด”
“หาก สปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ 12 เดือน”
ในขั้นตอนนี้ มิได้หมายความว่าจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งได้ทันที แต่ต้องมีการยกร่างกฏหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกอย่างน้อย 3 ฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลาร่างอีกประมาณ 2 เดือน
กฏหมายลูกที่ต้องยกร่าง อาทิ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในกรณีรัฐธรรมนูญกำหนดว่ายังมีคณะกรรมการเลือกตั้ง ก็ต้องจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย
เส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง จึงยังมีอุปสรรคและใช้เวลาอีกหลายขั้นตอน ทั้งปัจจัยด้านความมั่นคง ที่ คสช. ต้องติดตามทุกระยะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุการเมืองระหว่างทางกลับไปสู่การเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังอาจมีเทคนิคทางกฎหมาย ที่อาจทำให้เกิดกรณีที่คณะกรรมาธิการ “ยกร่างไม่เสร็จ” ก็สามารถกลับไปตั้งต้นกระบวนการใหม่ได้ โดยไปเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือก สปช. เลือกกรรมาธิการยกร่างใหม่ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนนี้ ต้องต่อเวลาไปอีก 4 เดือน เป็นอย่างน้อย
และแม้ว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่นายวิษณุ ร่างเค้าโครงไว้ จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือน แต่หากขั้นตอนสุดท้ายเกิดขัดข้องทางเทคนิคหรือมีอุบัติเหตุทางการเมือง ส่งผลสะเทือนทำให้ สปช.ลงมติ “ไม่รับร่าง” กระบวนการ และเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่า “ตกไป” ต้องไปตั้งต้นใหม่ ต่อเวลาได้อีก 12 เดือน
ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ได้กำหนดไว้ด้วยว่า จะสามารถเริ่มกระบวนการใหม่ได้กี่ครั้ง บอกโดยนัยว่า ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในปี 2558(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
เส้นสู่การเลือกตั้งปี 2559
บรรดานักการเมืองตัวจริง-เสียงจริง ที่อยู่นอกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่นอกวงสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันในเวลานี้ว่า ความหวังที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 แทบเป็นไปไม่ได้ และมีความเป็นไปได้สูงว่า บทบัญญัติที่ว่าด้วยกฏหมายลูกเรื่องกรรมการการเลือกตั้ง ไม่น่าจะอยู่ในสารระบบรัฐธรรมนูญ เพราะในงบประมาณ 2558 ไม่มีการบัญญัติเรื่อง “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง” ขณะที่เงินในกองทุกนี้ปี 2557 ถูกสั่งให้ส่งคืนคลังไปแล้ว ประกอบกับใน “พิมพ์เขียว” กรอบร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอเรื่อง “ศาลเลือกตั้ง” แนบท้ายไว้แล้ว
แหล่งข่าวระดับแกนนำ และผู้สนับสนุน “ทุน” เลือกตั้ง ของพรรคการเมืองขนาดกลางพรรคหนึ่ง วิเคราะห์ว่า การไม่มีกำหนดระยะเวลาในการเลือกตั้งภายใน 1 ปี นับจากนี้ จะทำให้แต่ละพรรควางแผนทางการเงินได้ โดยบางพรรคแกนนำคาดการณ์กันว่า ต้องจัดสรรเงินไว้สนับสนุนอดีต ส.ส. ลูกพรรคอีก 12 เดือน เป็นอย่างต่ำ แต่หากไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน บางพรรคก็อาจไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ลูกพรรคอีกต่อไป
ขณะที่การ “ต่อสาย” ของอดีตนักการเมือง กับนายทหารระดับสูงของกองทัพ และนายทหารที่เกษียณในปี 2557 เพื่อสร้างเครือข่ายในการก่อตัวเป็น “พรรคทหาร” ก็ยังมีหลายสาย หลายสาขา ทั้งพรรคการเมืองที่ส่งบุคคลระดับอาวุโสเข้าไปเชื่อมสายไว้ใน สปช. และการติดต่อแบบส่วนตัวกับอดีตนักการเมืองพรรคใหญ่นอกสภา โดยใช้สายสัมพันธ์หลายกลุ่ม อาทิ นายทหารบูรพาพยัคฆ์, วงศ์เทวัญ, กลุ่มศิษย์เก่านิติจุฬาฯ, กลุ่ม วปอ. และเครือข่ายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในนาม “เซนต์คาเบรียลคอนเนกชัน”
ความเคลื่อนไหวใต้ดิน คลื่นใต้น้ำ เพื่อก่อตั้งพรรคทหาร จึงยังพลิ้วไหว ไม่ชัดเจน ตราบใดที่ยังไม่มีการกำหนดเส้นทาง-ขีดเส้นตาย ไปสู่การเลือกตั้งที่แน่นอน
ประกอบกับมีร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับพิมพ์เขียว คสช.” ออกมาล่วงหน้า ยิ่งทำให้สถานะของอดีต ส.ส. และว่าที่ ส.ส. ต่างอยู่ในสถานภาพที่ไม่แน่นอน
“ร่างพิมพ์เขียว” ที่อาจถูกกำหนดเป็นเค้าโครงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกมอบให้สถาปนิกการเมือง-สมาชิก สปช. 250 คน เพื่อออกแบบประเทศไทย ตั้งแต่วันวันแรกที่ลงทะเบียน
ข้อกำหนดใน “พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ” ด้านการเมือง ที่สรุปโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ กำหนดให้ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งผ่าน สนช. ให้ผู้สมัคร ส.ส. มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จำกัดวาระไม่เกิน 2 วาระ ห้ามบุคคลกระทำผิดต่อสถาบันลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
เอกสารนี้ จัดแจกโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน หรือพิมพ์เขียวที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับฟังและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน ให้ สปช. ไปศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ซึ่งหัวข้อเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง มีสาระสำคัญ 10 วาระ ประกอบด้วย
1. รูปแบบรัฐสภา มีข้อเสนอ 2 รูปแบบ คือ รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน กับรัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอ้อม ซึ่งมีข้อเสนอ 3 แบบ คือ 1) แบบสภาเดี่ยว มีเฉพาะ ส.ส. ทำหน้าที่ตราและปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น 2) แบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา และ 3) แบบ 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และสภาประชาชน
2. พรรคการเมือง ให้ตั้งพรรคการเมืองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่าย ปราศจากการครอบงำของทุน ห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส. เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม สำหรับการเสนอนโยบายพรรค ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนโยบายพรรคที่ไม่เป็นประชานิยม และนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศไว้
3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกรอบความเห็นที่ต้องแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ จึงมีข้อเสนอ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง 1) ไม่สังกัดพรรคการเมือง 2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี 3) ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา 4) มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีไพรมารี โหวต จากประชาชนในพื้นที่ 5) จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน
6) ห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันลงสมัครรับเลือกตั้ง 7) ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ การเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ 8) วิธีออกเสียงลงคะแนน ให้นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่าให้เลือกตั้งใหม่
9) ยกเลิกลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริต 10) การถอดถอนต้องทำโดยศาลเลือกตั้งและศาลทุจริตคอร์รัปชัน 11) ออกกฎหมายมาตรการลงโทษนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองทุจริตได้โดยตรง
4. สมาชิกวุฒิสภา ให้มาจากการเลือกตั้งและสรรหา การสรรหาให้มาจากกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ตัวแทนทุกกลุ่ม จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส. เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง ห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น ส.ว. และห้าม ส.ว. ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี
5. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี 2 วิธี คือ 1) จากการเลือกตั้งโดยตรง ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ หรือ เลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ 2) จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว.
6. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม
7. ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ปรับโครงสร้างเป็นรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ต้องแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ มีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการทำงาน และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น
8. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ปรับโครงสร้าง กกต. ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ ฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ขณะที่ กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัด หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ขณะที่การเพิ่มความเข้มแข็งของ กกต. ต้องหมุนเวียนผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดทุก 3 ปี ให้ กกต. จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการวินิจฉัยความผิดให้เป็นหน้าที่ของศาล
9. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการสรรหา ป.ป.ช. จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น
10. การเมืองภาคพลเมือง มีข้อเสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐในด้านตรวจสอบ มีส่วนร่วมการพัฒนา
ภายใต้ “พิมพ์เขียว” นี้ นายวิษณุคาดการณ์การเมืองการปกครองหลังรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ว่า “ภายหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าความขัดแย้งน่าจะมีอยู่ แต่เป็นความขัดแย้งใหม่จากรัฐธรรมนูญใหม่ หากร่างออกมาไม่ดีและไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชน แต่เชื่อว่าบางส่วนจะได้รับการแก้ไข จากรัฐบาล สนช. และ สปช. ที่เสนอแนวทางปฏิรูปออกมา เชื่อว่าจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แยกออกมาจากรัฐสภา จากนั้น กระแสปฏิรูปจะมากขึ้น เพราะระยะเวลาภายใน 1 ปี อาจปฏิรูปทุกด้านไม่ทัน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ที่จะต้องดำเนินการต่อรัฐบาลจากปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญใหม่จะสร้างสภาปฏิรูปใหม่มาเพื่อทำงานไปพร้อมกับรัฐสภา”

สถานการณ์ข่าว 20ต.ค.57


สปช.

"สุทัศน์" สปช.คนสุดท้าย รายงานตัวแล้ว อยากได้ ปธ. มีความทันสมัย รอบรู้ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล

บรรยายที่รัฐสภาล่าสุด นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้เดินทางมารายงานตัวเป็นคนสุดท้าย ประมาณเวลา 08.50 น. พร้อมกล่าวภายหลังการรายงานตัวต่อสำนัก

งานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำงานที่เป็นประธานและรองประธาน สปช. ต้องเป็นผู้ที่มีความทันสมัย รอบรู้เรื่องเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ มีวิสัยทัศน์
ที่กว้างไกล มองอนาคตของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ คนรุ่นหลังจะเป็นผู้นำพาประเทศไปข้างหน้า ส่วนตัวต้องการมาปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจเป็นที่สำคัญมาก ต้องสร้างให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และแก้ปัญหาให้ตรงจุด
----------
เลขาฯ สภา ตรวจความพร้อมสถานที่ เตรียมประชุม สปช. นัดแรก เลือก ประธาน วันพรุ่งนี้ 

บรรยากาศที่รัฐสภาล่าสุด นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำคณะเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการตรวจห้องประชุมที่อาคารรัฐสภา 1 ชั้น 2
เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม สปช.นัดแรก

ทั้งนี้ นายจเร ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ อาทิ ไมโครโฟน ระบบลงคะแนน ระบบแสดงผล รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ภายในห้องประชุมอย่างละเอียด

อย่างไรก็ตาม การประชุม สปช. นัดแรกนี้จะมีขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม โดยมีวาระการประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช. โดยใช้วิธีการลงคะแนนแบบลับ
------------
จเรนัดประชุมสปช.เลือกประธาน-รองประธานพรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้นัดประชุม สปช.นัดแรก ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สปช. ทั้ง 250 คน ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 09.30 น. โดยมีเรื่องตามระเบียบวาระการประชุม คือ 1.รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งสปช. 2.ให้สปช. ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้ง กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุม จากนั้นจะเป็นการเลือกประธาน สปช. และรองประธานสปช.

สำหรับวิธีเลือกประธานและรองประธานสปช. นั้น จะใช้ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ.2557 โดยอนุโลม และมีขั้นตอนในที่ประชุม คือในการเลือกประธานและรองประธานฯ ครั้งแรกให้เลขาธิการฯ เชิญสมาชิกที่อายุสูงสุด ในที่นี้ คือ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธา ที่มีอายุ 87 ปี เพื่อทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม จากนั้นให้สมาชิกฯ เสนอชื่อ สมาชิกฯ ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อที่ประชุม โดยต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งประธานฯ ต่อที่ประชุม ในกรณีที่มีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก ถ้าหากมีเสนอชื่อสองชื่อหรือมากกว่านั้น ให้ใช้ลงคะแนนลับโดยเขียนชื่อผู้ที่ประสงค์เลือกบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ แล้วให้เรียกชื่อสมาชิกฯ ตามลำดับอักษรมาลงคะแนนเป็นรายคน

กรณีมีการเสนอชื่อสองชื่อ ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่ากันให้เลือกใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากยังคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับฉลาก ขณะที่วิธีการเลือกรองประธานสปช. ให้ใช้วิธีเดียวกัน แต่ต้องเลือกประธานคนที่หนึ่งก่อน จึงเลือกรองประธานคนที่สองต่อไปตามลำดับ และเมื่อที่ประชุมประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุมสภาแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงลงคะแนนด้วย
---------------
"รองฯ ยงยุทธ" ยัน ครม. ยังไม่หารือเคาะชื่อ กมธ.ยกร่างฯ เบื้องต้นยังไม่มีรายชื่อในใจ

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม เปิดเผยถึงรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะมีการเสนอรายชื่อจำนวน 5 คน ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการหารือ ซึ่งจะต้องรอให้มีการหารือในที่ประชุม ครม. และออกเป็นมติ แต่เบื้องต้นยังไม่มีรายชื่อในใจและอาจเป็นคนนอกที่ได้รับการคัดสรร

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงการหารือระหว่าง นายชิเกะคะสุ ซะโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ว่า ได้มีการพูดคุยถึงความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ การศึกษา งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น งานด้านระบบการขนส่ง ระบบราง และดาวเทียม ที่ไทยต้องการพัฒนาด้วยตนเอง รวมถึงได้สอบถามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็จะมีการประสานเพื่อติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ
----------------
"ยงยุทธ์" เผยโควต้าครม.นั่งกมธ.ยกร่างอาจเลือกคนนอก

นายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีแนวทางที่จะทำอย่างไรให้ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีพื้นที่แสดงความคิดและเข้ามาช่วยงานได้อย่างไร ส่วนการส่งรายชื่อโควต้าครม.5 คนไปร่วมเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ครม.ก็จะมีการดำเนินการ แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่ส่วนนี้ครม.ต้องให้ความเห็นชอบ

เมื่อถามว่าถ้ามีการเสนอชื่อรัฐมนตรีเข้าไปจะทำอย่างไร เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างฯดำรงตำแหน่งควบรัฐมนตรีไม่ได้ หรือครม.จะมีการหยิบชื่อคนนอกครม.ขึ้นมาแทน นายยงยุทธ์ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุยกัน ก็มีความเป็นไปได้ "ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรีหมด ส่วนจะใช้คำว่าผู้แทนครม.หรือไม่ ผมไม่ทราบคำศัพท์ที่ชัดเจน แต่ถือว่าเป็นคนที่ครม.เลือกสรรมา" เมื่อถามว่าแสดงว่าจะไม่มีคนที่ลาออกจากรัฐมนตรีเพื่อไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ นายยงยุทธ์ กล่าวว่า "ดูแล้วมันจะลำบาก"

เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ จะได้เป็นประธานสปช. มีการคุยเรื่องนี้กันหรือไม่ในครม. นายยงยุทธ์ กล่าวยอมรับว่า "ก็มีการคุยกันเยอะ" ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าคุยกันเยอะหมายถึงว่ามีการคุยกันในที่ประชุมครม.ใช่หรือไม่ นายยงยุทธ์ กล่าวว่า "ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ไปตามถามว่าใครเป็นใคร เป็นการคุยกันทั่วๆไป"
-----------------
"เทียนฉาย"ยืนยันพร้อมชิงปธ.สปช.ปัดตอบคะแนนสนับสนุน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านอื่นๆ ฐานะแคนนิเดตประธานสปช. กล่าวยืนยันความพร้อมต่อการทำหน้าที่ประธานสปช.หากที่ประชุมสนับสนุนและลงมติให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนมากน้อยอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับสมาชิกในที่ประชุม แต่หากที่ประชุมไม่ให้การสนับสนุน ตนไม่เสียใจ และขอเดินหน้าทำงานในบทบาทสปช.เพื่อปฏิรูปด้านคุณธรรมต่อไป
////////////////////
ประชุม ผบ.เหล่าทัพ

พล.อ.วรพงษ์ นั่งหัวโต๊ะ ประชุม ผบ.เหล่าทัพ อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง คาด หารือการทำงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

บรรยากาศที่กองบัญชาการกองทัพไทย ในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งถือเป็นการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง

โดยมีผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางเข้ามาร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง

อย่างไรก็ตาม สำหรับวาระการประชุมวันนี้คาดว่าจะมีการหารือการดำเนินการในมิติต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานของเหล่าทัพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ทหารคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและตรวจสอบยานพาหนะที่จะเดินทางเข้าพื้นที่อย่างละเอียด
--------
ผบ.สส. แถลงผลหารือทุกเหล่าทัพสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ มั่นใจนายกฯ บริหารประเทศได้ เน้นคุยกลุ่มเห็นต่าง เชื่อ ปฏิรูปสำเร็จ ไร้ปฏิวัติอีก

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2558 ว่า กองทัพพร้อมให้การสนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของทุกเหล่าทัพอยู่แล้วและพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงนี้ถือว่ามีความสำพันธ์ตามโรดแมประยะที่ 2 ส่วนการดูแลความขัดแย้งในสังคมจะเน้นการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างและสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน

ทั้งนี้ กรณีที่มีกลุ่มประชาชนจำนวนมากร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้นั้นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีคนรู้จักจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พล.อ.วรพงษ์ ระบุว่า การปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ที่กำหนดไว้มีการกลั่นกรองที่ครอบคลุมและสมบูรณ์แล้ว ซึ่งมองว่าหากการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านสำเร็จก็คงไม่มีปัญหาเรื่องการรัฐประหารเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถบริหารประเทศได้
------------
ผบ.สส.ยันสหรัฐไม่ได้ลดระดับการฝึกคอบร้าโกลด์

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาลดระดับการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ กับประเทศไทยภายหลังที่กองทัพไทยทำรัฐประหาร ว่า ไม่จริง เพราะขณะนี้กำลังเริ่มการฝึกแล้ว โดยมีการประชุมเตรียมการฝึกประจำปี2558 ในการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปรับรูปแบบการฝึก เป็น ไลท์เยียร์ กับ แฮปวิงเยียร์ ซึ่งในปี 2558 ตรงกับ ไลท์เยียร์ จึงดูเบาลง แต่ก็จะทำให้เป็นแฮปวิงเยียร์ในไลท์เยียร์ ให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ลดระดับลงไป แต่ภาพใหญ่เป็นการฝึกขั้นตอนการวางแผน ประสานงาน ซึ่งมีกำลังพลน้อย แต่เราจะทำให้ใหญ่ใน ไลท์เยียร์เพื่อให้เห็นว่าความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา

เมื่อถามถึง ความสัมพันธ์ของกองทัพกับประเทศเพื่อนบ้าน พล.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาล และอดีต ผบ.เหล่าทัพที่ผ่านมา ทำมาได้ดีมาก ต่อไปคือ พวกเราต้องรักษาเสถียรภาพระหว่างประเทศ ส่วน
กรณีเขาพระวิหารนั้นจะมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นโยบายรัฐบาลคือ ทำอย่างไรให้มีความสงบสุข และจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมองว่าเมื่อเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก็จะมีผลน้อยลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฝึกร่วมผสมไทย-สหรัฐอเมริกา หรือ คอบร้าโกลด์ มีมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมปึกและสังเกตการณ์กว่า 30ประเทศ ซึ่งช่วงหลักเป็นการฝึกเน้นการช่วยเหลือเมื่อเกิด

ภัยพิบัติและสันติภาพ โดยในปีนี้จะมีการใช้พื้นที่ของกองทัพภาคที่1 ในการฝึกร่วม
----------
พล.อ.ประวิตร เรียกประชุมหน่วยความมั่นคง ยืนยันจับ 8 มือเผาโรงเรียนใต้ได้แล้ว ขณะยินดีตำรวจอังกฤษดู 2 นักท่องเที่ยว

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยก่อนการประชุมหน่วยงานความมั่นคงว่า เจ้าหน้าที่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่ง ในอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานีได้แล้ว 8 คน พร้อมให้การสารภาพสำนึกผิด ซึ่งที่ทำไปเพราะความเข้าใจผิดว่าญาติเสียชีวิตจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ ยืนยันเจ้าหน้าที่จะเร่งสร้างสถานที่เรียนเสร็จให้ทันเปิดเทอมนี้ สำหรับสถานการณ์ใต้ขณะนี้ดีขึ้น โดยประชาชนในพื้นที่ไว้ใจเจ้าหน้าที่และเชื่อมั่นรัฐบาลมากขึ้น เพราะทำงานจริงจัง ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขยังไม่มีการหารือแต่อย่างใด ขอให้รอก่อน

อย่างไรก็ตาม วันนี้เป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์ความมั่นคงโดยร่ม ซึ่งสถานการณ์ ยังเป็นปกติเรียบร้อย

นอกจากนี้ พลเอกประวิตร ยินดีที่สกอตแลนยาร์ตของอังกฤษจะเข้ามาสังเกตการณ์การดำเนินคดีฆาตกรรมชาวอังกฤษที่เกาะเต่า
------------
ผบ.ทบ.ระบุกำลังขยายผลหลังจับผู้ต้องสงสัยเผารร.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 ต.ค.2557 ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุม ถึงการจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเผาโรงเรียน 6 แห่งที่จังหวัดปัตตานีว่า ในเรื่องนี้เราต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 และฝ่ายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มาโดยตลอด เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ในภาพรวมได้ แต่อาจจะมีบางอย่างต้องเข้มงวดมากขึ้นอย่างเช่นเรื่อง งานข่าว หรืองานมวลชน แต่ยอมรับว่าการทำงานด้านมวลชนเจ้าหน้าที่ทำได้ดี ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งเราสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุเผาโรงเรียนได้แล้ว พร้อมทั้งสามารถจับอาวุธที่ก่อเหตุได้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผล จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ถ้ามีความชัดเจนมากกว่านี้จะชี้แจงให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่ละทิ้งงานด้านความมั่นคง จะติดตามงานในทุกด้านให้เกิดผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ผบ.ทบ.ยังเปิดเผยถึงทุ่งยางแดงโมเดล ว่าขณะนี้มีความคืบหน้า โดยจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ทุก 3 เดือน

------------
"ประวิตร"เผยสถานการณ์การเมืองสงบยังไม่พบเคลื่อนไหวใต้ดิน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงมีหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหมและผบช.ศูนย์รักษาความปลอดภัย(ศรภ.) กองบัญชาการทัพไทยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้นโดยพล.อ.ประวิตร กล่าวก่อนการประชุม ว่าการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ความมั่นคงโดยรวมเพื่อทำให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อยและเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราประชุมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ปัจจุบันนั้นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ยังไม่มีเรื่องกลุ่มกระบวนการที่จะเคลื่อนไหวใต้ดิน
-------------
ผบ.ทบ. เผย ทุ่งยางแดงโมเดล คืบมาก ประเมินทุก 3 เดือน พอใจแนวทางแก้ปัญหา 3 จชต. พร้อมให้กำลังใจ จนท.

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าร่วมประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ภายในทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.อุดมเดช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ในขณะนี้ ทุ่งยางแดงโมเดล มีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ทุก 3 เดือน พร้อมกันนี้ พอใจแนวทางการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีทิศทางดีขึ้น  ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดูแลสถานการณ์ได้ แต่อาจจะต้องมีการเพิ่มรายละเอียดในมาตรการรักษาความความปลอดภัยให้เข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ จะต้องปรับเรื่องงานข่าวและงานมวลชน ที่ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้พร้อมอาวุธ และจะต้องมีการขยายผลต่อไป ซึ่งต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
///////////////////
ถอดถอน

วรงค์จี้จุดยืน"สนช.กรณีถอดถอน มั่นใจไม่กระทบคดี"ยิ่งลักษณ์"

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ขอเรียกร้องถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้แสดงท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการถอดถอน เพราะที่ผ่านมาบอกว่า มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากทำหน้าที่ ส.ว. ถือว่าเป็นอำนาจที่ต้องดำเนินการ จึงต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการหรือไม่ ตนหวังว่าสนช.จะดำเนินการในเรื่องนี้ แต่การประชุมลับในการพิจารณาสำนวนของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ทำให้สังคมสงสัยในการทำหน้าที่ของ คสช.จึงขอให้ความชัดเจนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร เพราะมีข้อถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ยกเลิกไปแล้วไม่สามารถดำเนินการต่อได้

นพ.วรงค์ กล่าวว่า การถอดถอนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ป.ป.ช.ส่งสำนวนชี้มูลความผิดว่า มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบททบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยปล่อย
ให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่นั้น เรื่องนี้น่าจะพิจารณาง่ายกว่าสองสำนวนแรก เพราะเป็นคดีที่เกิดใน

โครงการรับจำนำข้าวทำผิดกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปล่อยให้เกิดความเสียหาย ไม่ใช่แค่ความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 เท่านั้น จึงไม่น่าจะยาก และไม่น่าจะมีข้อถกเถียงว่าจะรับดำเนินการหรือไม่
-----------
เพื่อไทยชี้คสช.ต้องรับผิดชอบการกระทำของสนช.

นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล และอดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)บางคนและบางกลุ่มหยุดสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะเห็นชัดเจนว่ามีความพยายามที่จะเดินหน้าถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไล่ล่ากันไม่จบไม่สิ้น จนลืมทำหน้าที่ของตนเองในเรื่องของการออกกฏหมายต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อประเทศชาติ วันนี้อดีตส.ส.และอดีตส.ว.ที่พวกท่านจะถอดถอนก็กลายเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาไปแล้วจะมาถอดถอนอะไรกันอีก

ทั้งนี้อยากฝากไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ว่า จะต้องรับผิดชอบการกระทำของสนช.ที่ท่านตั้งขึ้นมา เพราะที่เลือกมาหลายคนล้วนเป็นคู่ขัดแย้งในอดีต และฝากไปถึงการปฏิรูปด้วยว่าอย่าปล่อยให้นำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ มิฉะนั้นจะถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของ คสช. สิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะสูญเปล่า

//////////////
ยิ่งลักษณ์ไปตปท.

ยิ่งลักษณ์บินญี่ปุ่นพาลูกเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 19 ต.ค. 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปพักผ่อนโดยจะมีการไปเล่นเครื่องเล่นที่สวนสนุก ดิสนีย์แลนด์ โดยมี เพื่อนสนิทน้องไปป์ รวมถึงคนในครอบครัวร่วมเดินทางไปด้วย นอกจากนี้ยังมี พ.ต.อ.วทัญญู วัชรผโลทัย นายตำรวจติดตามทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าการเดินทางไปพักผ่อนครั้งนี้ จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 วัน ถึงจะเดินทางกลับ อย่างไรก็ตามการเดินทางออกนอกประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ ได้มีการแจ้งไปยัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 วัน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาพบ จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไปทำบุญที่ประเทศอินเดีย และจะมี อดีต ส.ส.เพื่อไทยไปร่วมทำบุญด้วยเป็นจำนวนมาก ในระหว่างวันที่ 24-26 ต.ค. และจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 26 ต.ค.
---
"วินธัย" แจง "ยิ่งลักษณ์" ขออนุญาตแล้ว บินไปญี่ปุ่น ตั้งแต่ 19 ต.ค. ชี้ เป็นเรื่องส่วนตัว 

ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุน พร้อมกับ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร (น้องไปป์) บุตรชายนั้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก

ในฐานะทีมโฆษกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ขออนุญาต คสช. เพื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและได้รับอนุญาตจากคณะ คสช. แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ความร่วมมือ คสช. เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเปิดเผยถึงกำหนดเดินทางกลับของอดีตนายกฯ แต่อย่างใด
------------
พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ ยิ่งลักษณ์ ไปต่างประเทศได้ ตามเงื่อนไข ขอคนเสื้อแดง เห็นต่าง แต่อย่าแตกแยก 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการทรวงมหาดไทยเปิดเผยถึงกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แะนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เดินทางไปต่างประเทศว่า ตนเองยังไม่ทราบเรื่องและคสช.ยังไม่ได้มีการประชุมในเรื่องนี้ ทั้งนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายสนธิ สามารถทำได้หากปฏิบัติตามเงื่อนไขและกฎหมาย

ส่วนการแสดงสัญลักษณ์ภายในงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฏร และแกนนำคนเสื้อแดงนั้น ยืนยันว่าการแสดงสัญลักษณ์และการมีความเห็นต่างไม่เป็นปัญหา แต่ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และอยู่ภายใต้กฎหมายโดยมองส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกำหนดการประเมินผลงานข้าราชการกระทรวงมหาดไทยครบเมื่อครบ 1 เดือน มองว่า เป็นที่น่าพอใจเพราะข้าราชการมีการตอบสนองงานที่ดีทั้งส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น แต่ในช่วงที่ผ่านผู้ว่าราชการมีการเกษียณและโดยกย้ายทำให้บางพื้นที่ยังคงมีข้าราชการที่รักษาราชการปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งต่อจากนี้จะมีการประเมินผลเป็นระยะ ๆ
------------
"ชวลิต"วอนทุกฝ่ายให้อภัยกัน

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการถอดถอนนักการเมืองที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ว่า หากสังเกตให้ดี ผู้ที่ต้องการให้ถอดถอนจะเป็นกลุ่มก้อนหน้า
เดิม ๆ ที่ยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ไม่ได้มองว่าขณะนี้ประชาชนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งเป็นผลมาจากความอคติ ความเกลียดชัง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องการทำลายล้างกันทางการเมืองจนประเทศชาติย่อยยับ อยากจะให้ข้อคิดกับผู้เกี่ยวข้องว่า ลองมองย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมือง อำนาจใด ๆ ก็ไม่อาจทำลายศรัทธาประชาชนได้ ยิ่งทำลายผู้ที่ถูกทำลายโดยไม่ชอบธรรมยิ่งได้รับชัยชนะ แต่ผู้แพ้คือประเทศชาติและประชาชน ขณะนี้ยังบอบช้ำไม่พออีกหรือถึงขนาดที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับว่ารู้สึกอับอายที่ประเทศไทยเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะประเทศไทยมีการเจริญเติบโตต่ำสุดในอาเซียน 10 ประเทศ

นายชวลิต กล่าวต่อว่า ได้พูดหลายครั้ง ไม่ได้ปกป้องคนทุจริต ไม่ได้ให้ปรองดองกับคนทุจริต ถ้าพบว่าทุจริตชัดเจน ก็ดำเนินคดีตามกฏหมาย แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ควรยุติหรือควรอภัยกันได้แล้ว คนบางคนหรือบางกลุ่มพูดไปก็ทำเป็นไม่เข้าใจ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องที่ประกาศว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ช่วยพิจารณาไตร่ตรองปัญหาต่างๆให้รอบคอบ แล้วหาทางดำเนินการให้บ้านเมืองสงบสุขตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราต้องร่วมกันก้าวข้ามหลุมดำแห่งความขัดแย้งให้ได้ มิเช่นนั้นประชาชนจะยิ่งทุกข์ยากมากขึ้น และเราจะอยู่รั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนตลอดกาล ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพของประเทศไทยต้องเป็นหนึ่ง
-----------
"พิชัย"ซัดวิชาไม่เข้าใจหลักคิดจำนำข้าว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน รบ.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป.ป.ช.ระบุว่าคนที่คิดนโยบายจำนำข้าวได้ เลวร้ายที่สุด ว่า นายวิชาคงไม่เข้าใจถึงหลักคิดของโครงการเหล่านี้ ประเทศไทยมีทั้งคนรวยและคนจน ชาวนาก็ถือว่าเป็นคนจนในประเทศ การที่จะช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว และเมื่อเทียบสัดส่วนจำนวนชาวนากับเงินที่เสียไป ตนถือว่าเงินที่เสียไปนั้นจำนวนไม่มากเลย เพราะจีดีพีของประเทศไทยมี 12 ล้านล้านบาท เสียแสนกว่าล้านเพื่อให้ชาวนาคงละ 10000 บาท 16 ล้านคนต่อปีถามว่ามากหรือไม่ก็ต้องบอกว่าไม่มาก แต่ถ้าเป็นเรื่องของการรั่วไหลเราก็ต้องไปดูในจุดนั้น แล้วอุดปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนผิดก็ต้องไปหาคนผิดมาดำเนินคดีไม่ใช่ว่าโครงการไม่ดี แต่ถ้าบอกว่าการช่วยเหลือชาวนาเป็นเรื่องที่ผิดนั้นคุณวิชาแย่มากนะ ทั้งนี้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีการยึดโยงกับผลผลิตนั้นตนคิดว่านับเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้คนขยันสร้างผลผลิต นอกจากนี้ พออัดเงินเข้าไปเศรษฐกิจก็หมุนเวียน ชาวนาได้รายได้ รัฐบาลก็ได้ภาษีเข้ามาด้วย
///////////
นายกฯ บาห์เรน เข้าเยี่ยมคารวะ "พล.อ.ประยุทธ์" หนุนเดินหน้าตามโรดแมป เตรียมขยายการค้า-ลงทุน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทย

พล.อ.ประยุทธทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่ง โดยบาห์เรนเข้าใจสถานการณ์การเมืองของไทย ที่ คสช. เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครอง พร้อมสนับสนุนการเดินหน้าตามแผนโรดแมป เพราะความมั่นคงมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานการแก้ปัญหาในทุกด้าน ซึ่งการทำงานอาจจะมีความกดดันจากนานาชาติบ้าง แต่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเดินมาถูกทางแล้ว

นอกจากนี้ จะมีการขยายควาร่วมมือการค้า การลงทุนมากขึ้น และบาห์เรนพร้อมจะซื้อสินค้าของไทยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และที่ผ่านมาได้ซื้อข้าวจากไทย ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีไทย เสนอให้ใช้กลไกคณะกรรมการร่วมที่มีอยู่แล้ว พัฒนาความร่วมมือกับบาห์เรนให้มากขึ้น ทั้งด้านการท่องเที่ยว สินค้าเกษตร และธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งการแพทย์ของไทยได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
-----------
ประยุทธ์หารือนายกฯบาห์เรน ปลื้มเป็นมิตรแท้

วันที่ 20 ต.ค. เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือข้อราชการกับ เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ (His Royal Highness Khalifa Bin Salman Al
Khalifa) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน

เวลา 15.00 น. พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการหารือ ว่า บาห์เรนถือเป็นมิตรเก่าแก่ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรนเองก็ได้มาเยือนประเทศไทยบ่อยครั้ง และเห็นการเปลี่ยนแปลงของไทยแต่ละสมัยว่าเป็นอย่างไร โดยการเยือนครั้งนี้นายกรัฐมนตรีบาห์เรน ได้เรียนยืนยันกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความมั่นคง ที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต พร้อมกับชื่นชมว่าประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย รวมทั้งซาบซึ้ง ชื่นชม ในอัธยาศัย และศักยภาพในหลายๆด้านของคนไทย โดยในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น

พ.อ.วีรชน กล่าวต่อว่า บาห์เรน กับไทย นั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดในประเทศอื่นแถบตะวันออกกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรน นั้นอยากเพิ่มพูนความร่วมมือกับไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ทางบาห์เรน พร้อมรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีบาห์เรน ได้ระบุว่ามีความต้องการที่จะซื้อข้าวจากไทย โดยทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องกับการใช้กลไกความร่วมมือระดับสูงที่มีอยู่ของทั้งสองประเทศ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือดูแลภาคเกษตรกรรมในภูมิภาคเอเชียให้เข้มแข็ง เพื่อใช้ในการต่อรองทางเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ก็เห็นด้วยและเร่งรัดทางฝ่ายบาห์เรน ให้ผลักดันความร่วมมือดังกล่าว

พ.อ.วีรชน กล่าวว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีบาห์เรน พร้อมเป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆในแถบตะวันออกกลาง และสนับสนุนบทบาทของไทยในเวทีโลก ช่วยเหลือในการทำความเข้าใจในสถานการณ์ของไทยกับทุกกลุ่มประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ มีความปลาบปลื้มใจที่มีประเทศมิตรแท้ รวมถึงแสดงออกถึงความเข้าใจ เห็นใจ และให้กำลังใจในสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่นั้นเพื่ออะไร อีกทั้งยังเชิญนายกรัฐมนตรีไทย เดินทางเยือนประเทศบาห์เรนด้วย
------------
"พล.ต.วีรชน" เผย บาห์เรน เข้าใจสถานการณ์ ชื่นชมไทยทุกด้าน ร่วมมือแก้ ศก. ปากท้อง พร้อมเชิญเยือนประเทศ

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
ให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรีบาห์เรน ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ว่า บาห์เรน มีความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองของไทย และเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะ
ด้านความมั่นคง พร้อมชื่นชมประเทศไทย และศักยภาพของคนไทยในทุกเรื่อง ขณะเดียวกัน ไทยและบาห์เรน มีความใกล้ชิดและเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน โดยร่วมกันเร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและเรื่องปากท้องของประชาชน พร้อมที่จะรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศไทย และให้ความร่วมมือในทุกมิติ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีบาห์เรน ยังมีความสนใจที่จะซื้อข้าวจากประเทศไทย รวมถึงหารือร่วมกันในเรื่องข้าวและอุตสาหกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ปรารภกับ นายกรัฐมนตรีบาห์เรน ในการผนึกกำลังดูแลภาคเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ได้เทียบเชิญนายกรัฐมนตรี ไปเยือนประเทศบาห์เรน อย่างเป็นทางการ และยินดีเป็นผู้ประสานงานประเทศในกลุ่มอาหรับให้กับประเทศไทย
-------------
"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร" เผย ญี่ปุ่นสนใจให้ไทย ตั้ง สนง.การค้า เป็นฐานผลิตบริษัทแม่ ขณะ 2 สัปดาห์ ชงเกณฑ์ภาษี ครม.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หารือกับ นายชิเกะคะสุ ซะโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ภายหลังการหารือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ญี่ปุ่น มีความสนใจให้ไทย ตั้งสำนักงานทางการค้าภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานผลิตให้บริษัทแม่มาติดต่อประสานงาน เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ เทรดดิ้ง เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ญี่ปุ่น มีบริษัทในไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเห็นด้วยหากมีสำนักงานดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่กำลังจะดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องไปปรับกฎเกณฑ์ทางภาษี ให้เทียบเท่ากับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ โดยขณะนี้กำลังศึกษากฎหมายที่ต้องปรับโดยขอเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม. ให้รับทราบต่อไป  และมีการชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ระบุว่า ขณะที่ ทางญี่ปุ่น ยังให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในเฟส 2 ซึ่งไทยไม่ขัดข้องที่จะให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุน แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางสหภาพ
เมียนมาร์
-------------------
"หม่อมอุ๋ย" เตรียมเสนอนายกฯ ออกพันธบัตรชำระหนี้จำนำข้าว หวังล้างหนี้ ขณะจ่ายเงินชาวนาวันแรก เป็นไปอย่างเรียบร้อย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงการออกพันธบัตรออมทรัพย์ หรือ บอนด์ ชำระหนี้โครงการรับจำนำข้าว ว่า เป็นแนวคิดที่เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี แต่ขอให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ การรายงานตัวเลขบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งปิดบัญชีเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะสรุปได้ว่า มีความเสียหาย เป็นจำนวนเงินถึง 8 แสนล้านบาท หรือไม่ และเมื่อทราบตัวเลข ก็จะมีการเสนอนายกรัฐมนตรี ดำเนินมาตรการนี้ เพื่อล้างหนี้ แต่ยืนยันว่า วิธีนี้เคยดำเนินการมาแล้ว เช่นเดียวกับการล้างหนี้กองทุนฟื้นฟู ส่วนข้อกังวลจะเป็นการชำระหนี้ยาวนานนั้น เห็นว่าการออกพันธบัตรออมทรัพย์ จะช่วยให้ไม่เป็นหนี้ค้างอยู่ในงบประมาณ เพราะหากยังคงมีหนี้ ก็จะไม่มีงบลงทุน ดังนั้น ต้องเคลียร์หนี้ให้หมด และเป็นวิธีเดียวที่วางไว้ ไม่มีวิธีอื่นสำรอง

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังระบุว่า การจ่ายเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1 พันบาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ ในวันนี้เป็นวันแรก (20 ต.ค.)เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีรายชื่อเกษตรกรอย่างละเอียด
////////////////
เกาะเต่า

ผบ.ตร. พร้อมให้ตำรวจอังกฤษเข้าสังเกตการณ์คลี่คลายคดีเกาะเต่า มั่นใจยึดตามหลักฐาน ไม่มีแพะ

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวถึงกรณีที่ประเทศอังกฤษจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์ในการดำเนินการคดีฆ่ากรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.
สุราษฎร์ธานี ว่า เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้ไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยพร้อมยินดีหากทางอังกฤษมีความประสงค์จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งหากการมาสังเกตการณ์เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็ยินดีเปิดกว้าง

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย เพราะยึดตามพยาน หลักฐาน และกฎหมาย โดยยืนยันไม่มีการสร้างหลักฐานเท็จอย่างแน่นอน
////////////