3พรรค ‘พท.-ปชป.-อนค.’ เห็นตรงแก้รธน. ‘ไพบูลย์’ ชี้ต้องเดินตามกติกา ทนอีก 5 ปีแล้วจะชอบ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนาในหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำเพื่อไทย (พท.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) โดยบรรยากาศในการเสวนาเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการเสวนาจำนวนมาก และที่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังเกตการณ์ตลอดการเสวนา
นายจาตุรนต์กล่าวว่า สิ่งที่ยังเป็นปัญหาและกับดักในอนาคตคือการไม่มีความพยายามที่จะหาทางออก และหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งไม่ใช่กับดักของนักการเมืองแล้ว แต่อนาคตในวันข้างหน้าจะเป็นกับดักของประเทศไทย และประชาธิปไตย อีกหน่อยสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่ขาดผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ คือ ขาด คสช.ไม่ได้ อีกหน่อยอาจจะมีการทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย ฯลฯ กับดักต่อมาคือ กับดักที่จะทำให้เกิดเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้ง และเป็นข้ออ้างที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ตามกติกาที่เขียนขึ้นได้นำประเทศไทยย้อนกลับไป 30-50 ปีที่แล้ว ทำประเทศถอยหลังไปมาก ที่ผ่านมามีพัฒนาการที่ดี และส่วนที่เป็นปัญหา มีระบบป้องกันการทุจริต แต่ระบบดังกล่าวก็ถูกแทรกแซงโดย คสช. การใช้กติกาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ยังไม่ถูกปลูกฝังและทำให้เกิดขึ้น การพัฒนาที่สำคัญที่ผ่านมาประชาชนให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ได้รู้จักเลือกพรรค และนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและประเทศชาติ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง คสช.เข้ามาแทรกแซง ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาอาจจะไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน อุปสรรคที่สำคัญมากคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดมาก แล้วรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐบาลทำตามแผนปฏิรูปมิเช่นนั้นจะถูกตรวจสอบ และนำไปสู่การถูกถอดถอนในที่สุด การพัฒนาจึงเกิดได้ยากมาก หาก คสช.เข้ามาเป็นรัฐบาลก็เท่ากับได้วางแผนการบริการประเทศไว้แล้ว ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการวางแผน ดังนั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่า ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน จะทำให้ประเทศไทยปรับตัวไปไม่ทันกับพัฒนาการ และภาระจะตกไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกพัฒนามาจะถูกกับดัก
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ตนหารือกับพรรคแบบไม่ได้ประชุมมาแล้วว่า ทางที่จะหลุดจากกับดักไม่ให้รุนแรงคือ 1.กำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็ว ระบุวันมาเลย 2.คสช.งดใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง 3.ก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน ให้นายกฯ และ ครม.ทั้งคณะลาออก ให้ปลัดกระทรวงต่างๆ มาทำหน้าที่ตามมาตรา 168 แล้วใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 169 มาห้ามไม่ให้ ครม.ทำอะไรบ้าง เช่น การใช้งบประมาณ ฯลฯ 4.ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม 5.เพื่อป้องกันไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ พรรค พท.ยืนยันไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ และจุดมุ่งหมายคือการคัดค้าน ขัดขวาง คสช.ที่จะสืบทอดอำนาจ 6.พรรคการเมืองต้องมีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะต้องไม่ลืมเรื่องนี้เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองจะต้องประกาศเป็นนโยบายไว้เลย ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถ้าประชาชนทั้งประเทศเข้าใจ และสนับสนุนอย่างจริงจังการแก้รัฐธรรมนูญจึงจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ เราจะเสนอให้แก้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ โดยจะชี้ให้เห็นว่าทั้ง 2 อย่างนี้เป็นปัญหาต่อการก้าวไปข้างหน้าของประเทศอย่างไร

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่เราน่าจะคิดตรงกันคืออยากให้ประเทศไทยคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย 4 ปีที่ผ่านมาผู้มีอำนาจวางกับดักโดยการใช้วิธีจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพื่อป้องกันความขัดแย้ง นี่คือสิ่งที่ตนถอดรหัสมาจากสิ่งที่นายจาตุรนต์พูด และเห็นด้วย ซึ่งแม้ปัจจุบันเราจะมีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้งแล้ว แต่คำสั่งต่างๆของ คสช.กลับทำให้ไม่สามารถเดินไปตามกฎหมายต่างๆ ได้ ทั้งที่บอกว่ามีโรดแมป แต่การเดินตามตรงนี้ยังติดขัดด้วยคำสั่ง คสช. ต่อมาคือ กระบวนการเลือกตั้งที่จะทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ต้องเริ่มต้นอย่างเสรี และเป็นธรรม แต่คำถามเกิดขึ้นว่าเราจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมได้จริงหรือ เพราะเคยมีคำสั่งปลด กกต.ไปแล้วครั้งหนึ่ง มีคำถามว่า กกต.ที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ได้อย่างเที่ยงธรรมมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจที่เคยประกาศตัวว่าจะเป็นกรรมการกลับลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง อีกอย่างคือ ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจเลือกผู้นำรัฐบาล สามารถใช้อำนาจสวนทางกับความต้องการของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง อีกกับดักคือ กติกาสูงสุดของประเทศในปัจจุบันยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีบทบัญญัติอีกหลายบทที่ไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งนี้ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั่วโลก ถูกตั้งคำถามจากประชาชนเรื่องการมีส่วนร่วม ในการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของประเทศโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น นักการเมือง พรรคการเมือง จะต้องเร่งกอบกู้ศรัทธาจากประชาชน
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า การย้อนอดีตไม่ว่าหยิบส่วนไหนมาก็เป็นปัญหาได้ทั้งสิ้น เราไม่ได้อยากกลับไปสู่ความวุ่นวาย แต่การไปโทษว่าเป็นเพราะการเลือกตั้ง หรือเป็นเพราะประชาธิปไตย แบบนั้นก็ไม่ใช่ เพราะไม่อย่างนั้น เราจะอยากกลับไปพฤษภาคม 35 หรือ เราอย่ามองด้านใดด้านเดียว แต่เราต้องเกี่ยวทุกสถานการณ์มาหาทางออกร่วมกัน ตนไม่ได้พูดถึงอนาคตใหม่ แต่พูดถึงอนาคตที่ใหม่กว่า ตนตั้งคุณค่าของประชาธิปไตยไว้ว่าเป็นระบบที่คนจะได้รับการเคารพศักดิ์ศรี และเสรีภาพ แม้อาจจะใช้เกินเลย หรือบางครั้งอาจจะตัดสินใจผิด ถ้าเราเน้นคุณค่า และรูปแบบตรงนี้ได้จึงจะเป็นประชาธิปไตย หากบอกว่าระบอบการเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้ง 4 วินาที แต่มันก็ยังนานกว่าการที่ไม่ใช่ระบอบการเลือกตั้ง และเราต้องรักษาสถาบันที่คอยตรวจสอบถ่วงดุล คนที่อาสาเข้ามาเลือกตั้งครั้งนี้หากมีข้อเสนอที่ดีกว่ายุทธศาสตร์ชาติ เสนอไปเถิด และต้องทำให้ได้ เพราะคุณได้รับอำนาจมาจากประชาชนแล้ว คุณต้องทำให้ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรอก วันหนึ่งต้องมีการแก้ไข แต่หากเรากระโดดไปที่เรื่องนี้เลย ตนกลัวว่าเราจะเข้าไปติดกับดักเดิม คุณต้องบอกให้ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนได้อย่างไร แล้วระดมพลังของคนในสังคมแล้วไปแก้ไข แต่ถ้าเราตั้งไว้ว่าจะต่อกร แตกหักกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้นเกรงว่าเราจะก้าวเข้าไปติดกับดักเดิม
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ส.ส.ที่อยากแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในสภาอย่างไรก็เกิน 376 เสียง ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่กติกาที่เขียนไว้ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา การจะต้องทำประชามติอีก 2-3 ครั้ง จะทำให้ประชาชนไม่มากับเรา เพราะยังไม่มีหลักประกันให้ประชาชนว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่การแก้เพื่อตนเอง ทั้งนี้ ทางออกจากกับดัก เช่น 1.การปลดหรือเลิกคำสั่ง คสช. ควรทำให้เร็วที่สุด ตนยืนยันมาตลอดว่า การทำกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองแล้วจะไปกระทบความมั่นคงตนมองไม่เห็นจริงๆ 2.คสช.ต้องทำให้เกิดความชัดเจน และความมั่นใจจริงๆ ว่าจะไม่มีการใช้อำนาจใดๆ ไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กกต. 3.คสช.ต้องชัดเจนกับประชาชนว่าเจตนารมณ์ของท่านจะเอาอย่างไร ประกาศตัวมาให้ชัด แล้วแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ท่านต้องเท่าเทียมกับคนอื่น ถ้าท่านไม่เท่าเทียมอย่ามาพูดเรื่องธรรมาภิบาล หรือประชาธิปไตย และวุฒิสภาจะมาฝืนเสียงข้างมากในสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ได้ 4.ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปสองพันกว่าหน้า มีการอ้างถึงยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งที่ยุทธศาสตร์ชาติยังไม่ประกาศเลย ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหนอย่างไรเลย เราต้องให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ทิศทางของประเทศ เราควรทำให้ประชาชนยอมรับด้วยความสบายใจ และเมื่อได้รับการยอมรับแบบนี้ก็จะไม่เป็นปมไปสู่ความขัดแย้ง

นายธนาธรกล่าวว่า หลังปี 2475 มีเพียง 24 ปี 310 วัน เท่านั้นที่นายกฯไทยมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น กับดักไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรอบนี้ ชีวิตตนผ่านการทำรัฐประหารมาแล้ว 5 ครั้ง สำเร็จ 3 ล้มเหลว 2 แต่ไม่มีผู้นำการรัฐประหารคนใดถูกนำตัวมาลงโทษ การทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทยมีผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ตนคิดว่ามีความชัดเจน 1 อย่างในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาว่าอะไรฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลง และการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทยไว้ พรรคอนาคตใหม่ปาวารณากับตัวเองว่าจะให้มันหยุดที่ยุคของเรา จะไม่ส่งผ่านการรัฐประหารไปยังลูกหลานของเรา วันนี้โลกของเราหมุนเร็วมาก จะรักษามาตรฐานของไทยในสังคมโลกไว้ได้ เราต้องหมุนเร็วให้ทันโลก ซึ่งระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยตามไม่ทัน ดังนั้น เราต้องทำให้คนกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาให้ได้