PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562

อนาคตใหม่ : ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ม.ค.

อนาคตใหม่ : ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ม.ค.

Image copyrightGETTY IMAGES
ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จากหนึ่งในข้อกล่าวหาที่ระบุว่า อนค. มีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับ "อิลลูมินาติ" (Illuminati) ในเวลา 11.30 น. ของวันที่ 21 ม.ค. 2563
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรค อนค. ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า อนค. ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ อนค. ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) อนค. ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอทั้งสองฉบับ" เอกสารศาลรัฐธรรมนูญระบุ
Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ5 พ.ค. 2562 เป็นวันเดียวที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้นั่งอยู่ในรัฐสภา
เอกสารข่าวที่ออกมา ถือเป็นยืนยันเอกสารที่กองโฆษก อนค. เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา
คดีนี้นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 กล่าวหา อนค. มีแนวคิดและเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค อนค. รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายธนาธร นายปิยบุตร และ กก.บห.พรรค ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ "รับคำร้อง" คดีนายธนาธรปล่อยเงินกู้ 191.2 ล้านบาทให้แก่พรรคของตัวเองไว้พิจารณา โดยได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
Image copyrightTHAI NEWS PIX
เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบ อนค. โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณี กกต. อ้างว่า ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้ว่าควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
"เมื่อผู้ร้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคผู้ร้อง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา" เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญระบุ
กกต. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ยื่นคำร้องยุบพรรค อนค. ในกรณีหัวหน้าปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง ในการประชุม กกต. เมื่อ 11 ธ.ค. แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดใด ๆ
ด้าน อนค. นำโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ได้ประกาศฟ้องดำเนินคดีอาญากับ กกต. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเร่งรัดการไต่สวนเพื่อรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคดียุบ อนค.

การเมืองไทย ๒๕๖๓

การเมืองไทย ๒๕๖๓

การเมืองเป็นเรื่องพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะมีตัวแปรมากมายหลายอย่างที่คาดไม่ถึง แต่ก็ยังมีประโยชน์ที่ทำความเข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับการเมืองไทย ปี ๒๕๖๓

หากจะเข้าใจการเมืองไทยในปีหน้า จะต้องเข้าใจกฎกติกาและพฤติกรรมของนักการเมืองไทยในปีปัจจุบันที่จะยังคงดำรงอยู่ในปีหน้า ดังต่อไปนี้

๑) รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ยังมีกฎกติกาพิเศษให้ ส.ว. ๒๕๐ คน ซึ่งนายกฯ พลเอกประยุทธ์เมื่อสมัยเป็นหัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกสรรทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำบัลลังก์และหากมีเหตุการณ์ที่ต้องเลือกตัวนายกฯใหม่ ก็ยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกฯ ต่อไปอีก

๒) พฤติกรรมของนักการเมืองไทยส่วนมากอยากเข้าร่วมกับผู้มีอำนาจ เมื่อรู้ว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจก็ปรารถนาจะอยู่ใต้การอุปถัมภ์ เพื่อหาผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าอุดมการณ์ และประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

๓) พรรคพลังประชารัฐมีภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เป็นพรรคที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช. มิใช่เหมือนเมื่อแรกเริ่มตั้งพรรคใหม่ ๆ ที่ให้คุณอุตตม สาวนายน คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ภายใต้ร่มเงาคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้ตั้งพรรค ส่วนพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตรก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และในที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็แสดงบทบาทเสมือนเป็นหัวหน้าพรรค ที่ยอมรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตรก็ประกาศตัวเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

เมื่อพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ออกแบบให้มี ส.ว. ๒๕๐ คน ร่วมเข้าเลือกตัวนายกรัฐมนตรี จึงดึงดูดกลุ่มนักการเมืองในระบบอุปถัมภ์เข้าร่วม เช่น กลุ่มนายสุริยะ กลุ่มนายสมศักดิ์ กลุ่มนายสุชาติ กลุ่มชลบุรี กลุ่มต้องคดี เช่น แรมโบ้อีสาน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ พันตำรวจโท ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ และพฤติกรรมของนักการเมืองข้างต้นยังจะอยู่ครบถ้วนในปี ๒๕๖๓
เหตุการณ์การเมือง ๒๕๖๓

๑. จากเหตุการณ์การล้มมติการโหวต เพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบของการยึดอำนาจและมาตรา ๔๔ ได้ปรากฏว่ารัฐบาลสามารถได้เสียงข้างมาก จากบรรดางูเห่าที่ฝากอยู่ในพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย มาเป็นตัวช่วยในการลงคะแนนเสียง
สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงงูเห่า ซึ่งอาจจะมีการจัดสรรกล้วยให้กินเป็นรายครั้ง หรือรายเดือน และอาจจะลุกลามเพิ่มจำนวนงูเห่ามากขึ้นในปี ๒๕๖๓
ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล อาจแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจที่ตนไม่ได้ประโยชน์จากการจัดสรรกล้วยที่แจกจ่ายแก่บรรดา ส.ส. งูเห่า
๒. การที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๖ คน ได้ลงมติสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการยึดอำนาจและมาตรา ๔๔ โดยอ้างว่าตนเป็นผู้ยื่นญัตติ และต้องยึดอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ จนมีข่าวว่ารัฐบาลประยุทธ์แสดงความไม่พอใจและอาจจะปรับคณะรัฐมนตรี เขี่ยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้น
ในเวลาไล่เลี่ยกันนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่างโฉงฉ่างเปิดเผย และในเวลาต่อมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งๆที่รู้ว่า เมื่อลาออกจากสมาชิกพรรคแล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

ทำให้เห็นภาพว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกเขี่ยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนหนึ่งของประชาธิปัตย์อยากจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ เปรียบเสมือนงูเห่าอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน

ขณะเดียวกันคาดหมายกันว่า คุณพีระพันธุ์อาจจะไปรับตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
๓. เมื่อ กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากหัวหน้าพรรค นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เป็นไปตามที่เซียนการเมืองได้วิเคราะห์ก่อนหน้าแล้วว่า ได้มีการจองตัว ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ๑๐ ถึง ๒๐ คน ไว้ก่อนหน้าแล้ว ซึ่งมีความหมายว่าหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส.ส.เหล่านี้จะมีข้ออ้างว่าจำเป็นต้องหาพรรคการเมืองใหม่เข้าสังกัดกลบเกลื่อนประเด็นค่าตอบแทน น่าสนใจว่าอาจจะมี ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่เป็น ส.ส.ครั้งแรก ๆ ยังไม่มั่นใจว่าอนาคตจะได้เป็น ส.ส.อีกครั้งหรือไม่ การได้รับแรงจูงใจเพื่อสังกัดพรรคใหม่ จึงเป็นเรื่องยั่วยวนใจที่น่าจะเป็นไปได้
๔. ในปี ๒๕๖๓ การเมืองในรัฐสภาจะต้องผ่านญัตติที่เข้มข้น ล่อแหลม ต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คือ
๔.๑ การลงมติในวาระ ๒ และ ๓ ของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องใช้ตัวช่วย คือ บรรดางูเห่าที่ฝากเลี้ยงไว้ในพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ถ้าไม่มั่นใจก็อาจจะให้มีผู้ขอแปรญัตติในวาระที่ ๒ ให้ดูเสมือนเป็นการใช้งบประมาณเพื่อการปฏิรูป แล้วเสนอให้วุฒิสภาเข้าประชุมร่วมเพื่อเป็นตัวช่วยในการลงมติผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ตามรัฐธรรมนูญ
๔.๒ การตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงจะสามารถตั้งได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ยอมเปลี่ยนมติของพรรคที่เคยส่งอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าเป็นประธานกรรมาธิการฯ อย่างไรก็ตามในปี ๒๕๖๓ เราคงจะไม่ได้เห็นความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจค่อยเลือนหายไปจากความสนใจ
๔.๓ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น่าจะเป็นญัตติที่น่าสนใจว่าจะเกิดเหตุพลิกผันทางการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับประเด็นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหากมีประเด็นที่แหลมคม เช่น กรณีคุณสมบัติและความเหมาะสมของรัฐมนตรีบางคน เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในเรื่องคดียาเสพติดและการแอบอ้างว่าจบปริญญาเอก อาจทำให้ ส.ส.หลายคนของพรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจฝืนใจไว้วางใจได้ แต่อย่างไรก็ตามมีข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะไม่อภิปรายกรณี ร.อ.ธรรมนัส

หากจะเรียนรู้การเมืองเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา เมื่อครั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี ๒๕๓๘ โดยรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ผู้กำกับ สปก. ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับสามีของส.ส.ในพรรค อ้างว่าเป็นเกษตรกร ได้รับเอกสารสิทธิ์ สปก.๔-๐๑ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและรัฐมนตรีช่วยฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา แต่เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา พรรคพลังธรรมซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น ก็ได้ขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลในระหว่างที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้นายกฯชวน ต้องประกาศยุบสภา

หากในครั้งนี้ ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ คือ ร.อ.ธรรมนัสผู้กำกับ สปก. แล้วพรรคประชาธิปัตย์ขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพื่อรักษาจุดยืนของประชาธิปัตย์ โดยอ้างความรับผิดชอบที่มีต่อเรื่อง สปก. กรณี ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ก็อาจจะดีกว่ารอให้รัฐบาลผลักไสพรรคประชาธิปัตย์ออกไปจากการร่วมรัฐบาล

๕. การปรับ ครม. ยุบสภา หรือลาออก คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมากตามลำดับในปี ๒๕๖๓
การปรับ ครม.คงจะเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี หรืออาจขยับสับเปลี่ยนกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง แต่ถ้าไม่ได้ผลการยุบสภาก็น่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะได้ยินเสียงพลเอกประยุทธ์ในงานเลี้ยงก่อนการลงมติมาตรา ๔๔ ว่า ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้

พรรคการเมืองอื่นอาจจะกลัวการยุบสภา แต่พลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ ไม่น่าจะกลัวการยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งใหม่ เพราะหลังการเลือกตั้งพลเอกประยุทธ์รวบรวมเสียง ส.ส.ได้ ๑๒๖ คนขึ้นไป ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้วเพราะมี ส.ว.เป็นฐานให้ ๒๕๐ คน รวมเป็น ๓๗๖ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. และ ส.ว.รวมกัน และด้วยเหตุนี้เมื่อยุบสภาก็จะมี ส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายพรรคเข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเพราะอยากเป็น ส.ส.ในการอุปถัมภ์ของรัฐบาล ดังที่เคยวิเคราะห์พื้นฐานนักการเมืองที่อยู่ในระบบอุปภัมถ์ก่อนหน้านี้

การลาออกของนายกฯ ประยุทธ์ก็อาจเป็นไปได้ ถ้ามีแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ที่น่าพอใจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่หากไม่มีคนใหม่เมื่อนายกฯประยุทธ์ลาออก นายกฯ ประยุทธ์ ก็จะได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกันกับการปรับครม
.
การลาออกของนายกฯ จึงน่าสนใจ หากย้อนรอยศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี ๒๕๒๓ ที่พลเอกเกรียงศักดิ์ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วได้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และดึงพรรคฝ่ายค้านในสมัยนั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นรัฐบาล

ไม่ว่าจะปรับ ครม. ยุบสภา หรือลาออก ก็จะต้องนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ น่าสนใจว่า พลเอกประยุทธ์จะนำถวายสัตย์ปฏิญาณครบทั้ง ๓ ข้อหรือไม่

ความรู้สึกของประชาชนคนไทยต่อการเมืองการปกครอง

เชื่อได้ว่าขณะนี้ประชาชนคนไทยเก็บสะสมความรู้สึก ที่มีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่เรื่องนาฬิกาหรู ๒๒ เรือน / พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่/ การไม่อธิบายว่า ทำไมนำครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ / การล้มมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการยึดอำนาจและมาตรา ๔๔ / การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่โยกโย้ไม่จริงจัง / เศรษฐกิจทรุดที่ชะลอตัว ความแตกต่างของรายได้และโอกาสของคนในประเทศห่างกันมากขึ้น / ความเหมาะสมของรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาเรื่องยาเสพติดและวุฒิการศึกษา / รวมถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการดำเนินคดี ส.ส.บุกรุกป่าและที่ดิน สปก.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีการเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มีความผิดตามมาตรา ๗๒ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า
“มาตรา ๗๒ ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา ๗๒ ดังกล่าว ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าที่มาของเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ได้มาจากการพนัน จากการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน เพราะมีคำชัดเจนว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคโดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกำหนดแหล่งที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่วิธีการกู้เงินที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อาจทำให้ประชาชนเคลือบแคลงว่า มติที่จะเอาผิดพรรคการเมืองดังกล่าวมีเจตนาอย่างไรและตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้หรือไม่
น่าสนใจพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร เช่น พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม พรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พรรคสามัคคีธรรมของพลเอกสุจินดา คราประยูร และรสช. ต่างเป็นพรรคเฉพาะกิจ เฉพาะกาล ที่อยู่ได้ไม่ยืนยาว
พรรคพลังประชารัฐ จะสามารถฝ่าประเพณีของพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ ปี ๒๕๖๓ อาจจะเห็นร่องรอยชัดเจนมากขึ้น
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
16/12/62

กองทัพ กับ ข้าศึกใหม่ของไทย

กองทัพ กับ ข้าศึกใหม่ของไทย

ขณะที่ประเทศไทยจะมีข้าศึกใหม่ใน ๑๐ ถึง ๑๕ ปีข้างหน้า ปรากฏข่าวกองทัพบกเปิดค่ายทหาร “อาร์มี่แลนด์” ๑๗๓ แห่ง รับท่องเที่ยวปีใหม่ ๒๕๖๓ จับมือจิตอาสาตั้ง ๓๗๐ จุด บริการประชาชน จัดจำหน่ายสินค้า “โอทอปทหาร”
นับว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่กองทัพบกจะได้ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประชาชน แต่เป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับอดีตที่ติดป้าย “เขตทหารห้ามเข้า”
ในความเป็นจริงกองทัพมีทรัพยากรของประเทศ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาจากงบประมาณมากมาย ยังจำได้ว่าพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ขณะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้เคยเชิญนักวิชาการไปรับประทานอาหารที่บ้าน และได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนถึงงบประมาณของประเทศที่กองทัพได้รับจัดสรรไปใช้ ความตอนหนึ่งบิ๊กจิ๋วได้บอกกับเหล่านักวิชาการว่า ในความจริงกองทัพสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ เพราะมีที่ดินที่อยู่ในแหล่งต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวนมาก
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า กองทัพมีคลื่นความถี่และสถานีวิทยุโทรทัศน์จำนวนมาก รวมกันถึง ๑๙๘ สถานี แบ่งเป็นกองทัพบก ๑๒๗ สถานี กองทัพอากาศ ๓๖ สถานี กองทัพเรือ ๒๑ สถานี และกองบัญชาการกองทัพไทย ๑๔ สถานี นอกจากนี้ยังมีสถานีโทรทัศน์อีก ๒ แห่ง
กองทัพมีเครื่องมือเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เรือยนต์ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถบัส รถบรรทุกอย่างมากมาย และที่สำคัญที่สุดกองทัพมีกำลังคน กำลังแรงงานอย่างมากมายเหลือเฟือ
หากกองทัพจะไม่เพียงเปิดค่ายทหาร ให้ประชาชนได้เข้าไปท่องเที่ยว ๑๗๓ แห่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างภาพลักษณ์ที่สัมพันธ์กับประชาชน ให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรและหน่วยงานของประชาชน
หากกองทัพจะยึดแนวทางและพัฒนาในแนวนี้ต่อไป ก็สามารถจะนำที่ดินทั่วประเทศที่มากมหาศาล สร้างเป็นโครงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้ให้เกิดประโยชน์ และจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกองทัพและประชาชน
หากกองทัพจะได้นำเครื่องมือเครื่องใช้ รถยนต์ เรือยนต์ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถบรรทุก รถบัส ที่มีมากมายมาสร้างโครงการร่วมกับชุมชนและสังคมก็จะเกิดประโยชน์
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฝืดเคือง จะเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากกองทัพจะลดการบังคับและเกณฑ์คนให้ไปเป็นทหาร โดยให้หนุ่มสาวชาวไทยได้เลือกตัวของเขาเองว่าผู้ใดเหมาะสมที่จะเป็นทหาร หรือทำอาชีพอะไรก็จะสามารถลดการบังคับคนหรือเกณฑ์คนไปเป็นทหาร ด้วยการให้แรงจูงใจและผลตอบแทนแก่ผู้ที่จะสมัครเป็นทหารให้มากขึ้น
แต่การเกณฑ์พลทหารไปรับใช้ที่บ้านนายพล หากเลิกได้ก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมไทยและชาวโลก
ข้าศึกใหม่ของไทยในอนาคต
ขณะนี้คนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีผู้สูงอายุถึง ๒๐% ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มเป็น ๓๐% ของคนทั้งประเทศ หรือจะมีผู้สูงอายุถึง ๒๐ ล้านคน ขณะที่สัดส่วนคนวัยทำงานลดลง สัดส่วนของเด็กเยาวชนน้อยลง หากกองทัพจะได้ปรับตัวเป็นหน่วยรบสำคัญในการต่อสู้กับข้าศึกใหม่ “สังคมสูงวัย” ก็จะสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศได้อย่างสำคัญ ทั้งนี้เพราะ
๑) ประชากรที่เป็นผู้ชายเกือบทั้งประเทศเคยเป็นทหาร ซึ่งจะต้องเป็นผู้สูงอายุในวันหนึ่งอย่างแน่นอนโดยหลีกเลี่ยงไม่พ้น
๒) หากกองทัพจะได้เผยแพร่จิตสำนึกและความรู้ให้เขาเหล่านั้น พร้อมทั้งครอบครัวจะได้มีเงินออมไว้ใช้ในยามชรา เพราะเมื่อถึงเวลาต้องหยุดทำงานและยังมีชีวิตอยู่อีก ๒๐ ปีจนเสียชีวิต หากต้องใช้จ่ายเงินเดือนละ ๒ หมื่นบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย ค่ายารักษาโรค ฯลฯ จะต้องมีเงินออมในวันที่หยุดทำงานประมาณ ๕ ล้านบาท แต่หากปรารถนาจะใช้จ่ายเดือนละ ๔ หมื่นบาท ก็จะต้องมีเงินออมในวันที่หยุดทำงาน ๑๐ ล้านบาท
การให้ความรู้เพื่อการอดออมเป็นของสำคัญ โดยเฉพาะการให้มีการออมทางเลือก เช่น ออมด้วยต้นไม้ หากกำลังพลและประชาชนจะปลูกไม้ยืนต้นในขณะที่ยังหนุ่มสาว เมื่อถึงวัยที่ต้องหยุดทำงาน ต้นไม้แต่ละต้นจะมีขนาดใหญ่ และมีมูลค่าต้นละหลายหมื่นบาท เป็นบำนาญชีวิตในยามชรา
๓) กองทัพจะต้องฝึกทักษะของกำลังพลทั้งหมด ให้มีทักษะการทำงานของแต่ละคนให้มากกว่าหนึ่งอย่าง ทั้งนี้เพราะอนาคตการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีย่อมทำให้การทำงานบางประเภทจะเป็นสิ่งล้าสมัย แต่บางประเภทก็จะเฟื่องฟู โดยเฉพาะเมื่อถึงยามชราจะต้องเปลี่ยนลักษณะงานที่ลดการใช้พละกำลัง และใช้ความเชี่ยวชาญชำนาญการมากขึ้น
หากกองทัพจะได้จัดสวัสดิการ กระตุ้นให้กำลังพลและครอบครัวทุกคนได้ใส่ใจที่จะแสวงหาทักษะการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อนาคตจะมีหุ่นยนต์ทำงานแทนคนในหลายอาชีพ จะมีระบบปัญญาประดิษฐ์และระบบการใช้อินเทอเน็ตเชื่อมโยงในสรรพสิ่งต่างๆ
๔) กองทัพมีทหารช่างที่มีความรู้ ในเรื่องการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน เพราะต่อไปอีกประมาณ ๑๕ ปี จะมีผู้สูงอายุถึง ๑ ใน ๓ ของคนทั้งประเทศ ครอบครัวไทยจะต้องปรับที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับคนทุกวัย ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหกล้ม ซึ่งจะมีต้นทุนการรักษาพยาบาลหรือเสียชีวิตที่สูงกว่าการร่วมกันปรับสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับ โดยเฉพาะร่วมกันปรับถนนหนทาง ทางเดินเท้า การข้ามถนน และอาคารสถานที่สาธารณะ
กองทัพมีทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร กำลังพล และความรู้ความสามารถด้านงานช่าง นอกจากจะช่วยพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับชุมชนแล้ว ที่สำคัญ คือ จะได้กระตุ้นให้กำลังพลที่เป็นชายไทยทั้งประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับสภาพแวดล้อม และถ่ายทอดความคิดสู่ครอบครัวของตน
๕) กองทัพมีบุคลากรที่มีความเข้มแข็ง มีเทคนิคการฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย มีความสามารถในการฝึกเพื่อไม่ให้ล้มได้ง่าย และหากจะล้มก็ล้มอย่างถูกวิธี หากกองทัพจะได้นำความรู้ดังกล่าวออกช่วยเผยแพร่ให้กับสมาชิกในครอบครัวและสร้างระบบการให้ความรู้กับชุมชนและสังคมรอบข้าง ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนและท้องถิ่นร่วมไปกับการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
๖) กองทัพมีสถานที่และบุคลากรเพียงพอ ที่จะสร้างศูนย์ฟื้นฟูให้กับผู้สูงอายุที่เป็นบุพการีของกำลังพลและคนในชุมชนรอบข้าง สามารถใช้กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทยเพื่อฟื้นฟูผู้สูงอายุหรือผู้ได้รับอุบัติเหตุ อีกทั้งยังเป็นที่ทำกิจกรรมระหว่างวัน (Day Care Center) ของผู้สูงอายุและเด็กได้เป็นอย่างดี
๗) กองทัพมีหน่วยทหารที่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ น่าจะได้ร่วมกับท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. กระตุ้นให้ชุมชนสำรวจว่าบ้านไหนมีผู้สูงอายุที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวไม่มีญาติดูแล หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว จะได้วางระบบเพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถติดต่อร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้กองทัพและค่ายทหารมีเครื่องมือ รถยนต์ เรือยนต์ ที่จะช่วยเหลือได้อย่างดียิ่ง
๘) หากกองทัพที่เพียบพร้อมด้วยหน่วยงานและบุคลากรในชนบท จะได้เข้าร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล วัด โรงเรียน และชมรมผู้สูงอายุให้ตื่นตัวและร่วมกันสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อกระจายกองกำลังและความร่วมมือ ต่อสู้กับข้าศึกใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน.
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต