PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การเมืองไทย ๒๕๖๓

การเมืองไทย ๒๕๖๓

การเมืองเป็นเรื่องพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะมีตัวแปรมากมายหลายอย่างที่คาดไม่ถึง แต่ก็ยังมีประโยชน์ที่ทำความเข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับการเมืองไทย ปี ๒๕๖๓

หากจะเข้าใจการเมืองไทยในปีหน้า จะต้องเข้าใจกฎกติกาและพฤติกรรมของนักการเมืองไทยในปีปัจจุบันที่จะยังคงดำรงอยู่ในปีหน้า ดังต่อไปนี้

๑) รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ ยังมีกฎกติกาพิเศษให้ ส.ว. ๒๕๐ คน ซึ่งนายกฯ พลเอกประยุทธ์เมื่อสมัยเป็นหัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกสรรทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำบัลลังก์และหากมีเหตุการณ์ที่ต้องเลือกตัวนายกฯใหม่ ก็ยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกฯ ต่อไปอีก

๒) พฤติกรรมของนักการเมืองไทยส่วนมากอยากเข้าร่วมกับผู้มีอำนาจ เมื่อรู้ว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจก็ปรารถนาจะอยู่ใต้การอุปถัมภ์ เพื่อหาผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าอุดมการณ์ และประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

๓) พรรคพลังประชารัฐมีภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เป็นพรรคที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช. มิใช่เหมือนเมื่อแรกเริ่มตั้งพรรคใหม่ ๆ ที่ให้คุณอุตตม สาวนายน คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ภายใต้ร่มเงาคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้ตั้งพรรค ส่วนพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตรก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เกี่ยวข้องกัน และในที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็แสดงบทบาทเสมือนเป็นหัวหน้าพรรค ที่ยอมรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตรก็ประกาศตัวเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

เมื่อพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ออกแบบให้มี ส.ว. ๒๕๐ คน ร่วมเข้าเลือกตัวนายกรัฐมนตรี จึงดึงดูดกลุ่มนักการเมืองในระบบอุปถัมภ์เข้าร่วม เช่น กลุ่มนายสุริยะ กลุ่มนายสมศักดิ์ กลุ่มนายสุชาติ กลุ่มชลบุรี กลุ่มต้องคดี เช่น แรมโบ้อีสาน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ พันตำรวจโท ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ และพฤติกรรมของนักการเมืองข้างต้นยังจะอยู่ครบถ้วนในปี ๒๕๖๓
เหตุการณ์การเมือง ๒๕๖๓

๑. จากเหตุการณ์การล้มมติการโหวต เพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบของการยึดอำนาจและมาตรา ๔๔ ได้ปรากฏว่ารัฐบาลสามารถได้เสียงข้างมาก จากบรรดางูเห่าที่ฝากอยู่ในพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย มาเป็นตัวช่วยในการลงคะแนนเสียง
สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงงูเห่า ซึ่งอาจจะมีการจัดสรรกล้วยให้กินเป็นรายครั้ง หรือรายเดือน และอาจจะลุกลามเพิ่มจำนวนงูเห่ามากขึ้นในปี ๒๕๖๓
ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล อาจแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจที่ตนไม่ได้ประโยชน์จากการจัดสรรกล้วยที่แจกจ่ายแก่บรรดา ส.ส. งูเห่า
๒. การที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๖ คน ได้ลงมติสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการยึดอำนาจและมาตรา ๔๔ โดยอ้างว่าตนเป็นผู้ยื่นญัตติ และต้องยึดอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ จนมีข่าวว่ารัฐบาลประยุทธ์แสดงความไม่พอใจและอาจจะปรับคณะรัฐมนตรี เขี่ยพรรคประชาธิปัตย์ให้พ้น
ในเวลาไล่เลี่ยกันนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่างโฉงฉ่างเปิดเผย และในเวลาต่อมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งๆที่รู้ว่า เมื่อลาออกจากสมาชิกพรรคแล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

ทำให้เห็นภาพว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกเขี่ยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนหนึ่งของประชาธิปัตย์อยากจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ เปรียบเสมือนงูเห่าอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน

ขณะเดียวกันคาดหมายกันว่า คุณพีระพันธุ์อาจจะไปรับตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
๓. เมื่อ กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากหัวหน้าพรรค นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เป็นไปตามที่เซียนการเมืองได้วิเคราะห์ก่อนหน้าแล้วว่า ได้มีการจองตัว ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ๑๐ ถึง ๒๐ คน ไว้ก่อนหน้าแล้ว ซึ่งมีความหมายว่าหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส.ส.เหล่านี้จะมีข้ออ้างว่าจำเป็นต้องหาพรรคการเมืองใหม่เข้าสังกัดกลบเกลื่อนประเด็นค่าตอบแทน น่าสนใจว่าอาจจะมี ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่เป็น ส.ส.ครั้งแรก ๆ ยังไม่มั่นใจว่าอนาคตจะได้เป็น ส.ส.อีกครั้งหรือไม่ การได้รับแรงจูงใจเพื่อสังกัดพรรคใหม่ จึงเป็นเรื่องยั่วยวนใจที่น่าจะเป็นไปได้
๔. ในปี ๒๕๖๓ การเมืองในรัฐสภาจะต้องผ่านญัตติที่เข้มข้น ล่อแหลม ต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คือ
๔.๑ การลงมติในวาระ ๒ และ ๓ ของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องใช้ตัวช่วย คือ บรรดางูเห่าที่ฝากเลี้ยงไว้ในพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ถ้าไม่มั่นใจก็อาจจะให้มีผู้ขอแปรญัตติในวาระที่ ๒ ให้ดูเสมือนเป็นการใช้งบประมาณเพื่อการปฏิรูป แล้วเสนอให้วุฒิสภาเข้าประชุมร่วมเพื่อเป็นตัวช่วยในการลงมติผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ตามรัฐธรรมนูญ
๔.๒ การตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงจะสามารถตั้งได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ยอมเปลี่ยนมติของพรรคที่เคยส่งอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าเป็นประธานกรรมาธิการฯ อย่างไรก็ตามในปี ๒๕๖๓ เราคงจะไม่ได้เห็นความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจค่อยเลือนหายไปจากความสนใจ
๔.๓ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น่าจะเป็นญัตติที่น่าสนใจว่าจะเกิดเหตุพลิกผันทางการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับประเด็นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหากมีประเด็นที่แหลมคม เช่น กรณีคุณสมบัติและความเหมาะสมของรัฐมนตรีบางคน เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในเรื่องคดียาเสพติดและการแอบอ้างว่าจบปริญญาเอก อาจทำให้ ส.ส.หลายคนของพรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจฝืนใจไว้วางใจได้ แต่อย่างไรก็ตามมีข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะไม่อภิปรายกรณี ร.อ.ธรรมนัส

หากจะเรียนรู้การเมืองเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา เมื่อครั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี ๒๕๓๘ โดยรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ผู้กำกับ สปก. ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับสามีของส.ส.ในพรรค อ้างว่าเป็นเกษตรกร ได้รับเอกสารสิทธิ์ สปก.๔-๐๑ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและรัฐมนตรีช่วยฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา แต่เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา พรรคพลังธรรมซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น ก็ได้ขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลในระหว่างที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้นายกฯชวน ต้องประกาศยุบสภา

หากในครั้งนี้ ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ คือ ร.อ.ธรรมนัสผู้กำกับ สปก. แล้วพรรคประชาธิปัตย์ขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพื่อรักษาจุดยืนของประชาธิปัตย์ โดยอ้างความรับผิดชอบที่มีต่อเรื่อง สปก. กรณี ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ก็อาจจะดีกว่ารอให้รัฐบาลผลักไสพรรคประชาธิปัตย์ออกไปจากการร่วมรัฐบาล

๕. การปรับ ครม. ยุบสภา หรือลาออก คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมากตามลำดับในปี ๒๕๖๓
การปรับ ครม.คงจะเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี หรืออาจขยับสับเปลี่ยนกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง แต่ถ้าไม่ได้ผลการยุบสภาก็น่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะได้ยินเสียงพลเอกประยุทธ์ในงานเลี้ยงก่อนการลงมติมาตรา ๔๔ ว่า ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้

พรรคการเมืองอื่นอาจจะกลัวการยุบสภา แต่พลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ ไม่น่าจะกลัวการยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งใหม่ เพราะหลังการเลือกตั้งพลเอกประยุทธ์รวบรวมเสียง ส.ส.ได้ ๑๒๖ คนขึ้นไป ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้วเพราะมี ส.ว.เป็นฐานให้ ๒๕๐ คน รวมเป็น ๓๗๖ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. และ ส.ว.รวมกัน และด้วยเหตุนี้เมื่อยุบสภาก็จะมี ส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายพรรคเข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเพราะอยากเป็น ส.ส.ในการอุปถัมภ์ของรัฐบาล ดังที่เคยวิเคราะห์พื้นฐานนักการเมืองที่อยู่ในระบบอุปภัมถ์ก่อนหน้านี้

การลาออกของนายกฯ ประยุทธ์ก็อาจเป็นไปได้ ถ้ามีแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ที่น่าพอใจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่หากไม่มีคนใหม่เมื่อนายกฯประยุทธ์ลาออก นายกฯ ประยุทธ์ ก็จะได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกันกับการปรับครม
.
การลาออกของนายกฯ จึงน่าสนใจ หากย้อนรอยศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี ๒๕๒๓ ที่พลเอกเกรียงศักดิ์ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วได้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และดึงพรรคฝ่ายค้านในสมัยนั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นรัฐบาล

ไม่ว่าจะปรับ ครม. ยุบสภา หรือลาออก ก็จะต้องนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ น่าสนใจว่า พลเอกประยุทธ์จะนำถวายสัตย์ปฏิญาณครบทั้ง ๓ ข้อหรือไม่

ความรู้สึกของประชาชนคนไทยต่อการเมืองการปกครอง

เชื่อได้ว่าขณะนี้ประชาชนคนไทยเก็บสะสมความรู้สึก ที่มีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่เรื่องนาฬิกาหรู ๒๒ เรือน / พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่/ การไม่อธิบายว่า ทำไมนำครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ / การล้มมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการยึดอำนาจและมาตรา ๔๔ / การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่โยกโย้ไม่จริงจัง / เศรษฐกิจทรุดที่ชะลอตัว ความแตกต่างของรายได้และโอกาสของคนในประเทศห่างกันมากขึ้น / ความเหมาะสมของรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาเรื่องยาเสพติดและวุฒิการศึกษา / รวมถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการดำเนินคดี ส.ส.บุกรุกป่าและที่ดิน สปก.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีการเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มีความผิดตามมาตรา ๗๒ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า
“มาตรา ๗๒ ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา ๗๒ ดังกล่าว ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าที่มาของเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ได้มาจากการพนัน จากการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน เพราะมีคำชัดเจนว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคโดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกำหนดแหล่งที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่วิธีการกู้เงินที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อาจทำให้ประชาชนเคลือบแคลงว่า มติที่จะเอาผิดพรรคการเมืองดังกล่าวมีเจตนาอย่างไรและตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้หรือไม่
น่าสนใจพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร เช่น พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม พรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พรรคสามัคคีธรรมของพลเอกสุจินดา คราประยูร และรสช. ต่างเป็นพรรคเฉพาะกิจ เฉพาะกาล ที่อยู่ได้ไม่ยืนยาว
พรรคพลังประชารัฐ จะสามารถฝ่าประเพณีของพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ ปี ๒๕๖๓ อาจจะเห็นร่องรอยชัดเจนมากขึ้น
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
16/12/62

ไม่มีความคิดเห็น: