
จับอาการที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. เม้งแตกใส่สื่อมวลชนที่รายงานโผโยกย้ายทหารประจำปี
ฟันธงชื่อนั้น ชื่อนี้ จองตำแหน่งกันตาม “พลังภายใน”
ทำให้ “บิ๊กตู่” พูดเป็นเชิงเหน็บ ถ้าไม่ได้ขึ้นมาก็ให้ไปฟ้องสื่อเลยแล้วกัน
อารมณ์บ่งบอกถึงภาวะกดดัน จากการจัดโผที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งสื่อมาเสนอข่าวล็อกโพยกันล่วงหน้า มันยิ่งทำให้สร้างความ “ลำบาก” ในการตัดสินใจเข้าไปใหญ่
ที่แน่ๆจากที่ดูราบรื่นไม่มีอะไร กลายเป็นต้องจับตาปมที่ซ่อนอยู่ในกอไผ่
โผทหารรอบนี้ “ขบเหลี่ยม” กันตรงไหนหรือไม่ ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่จำเป็นต้องโยงกับการคุมความมั่นคงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโรดแม็ป คสช.
กองทัพต้องนิ่งไว้ก่อน เท่าที่จะนิ่งได้
ภายใต้โหมดปรองดองทางการเมืองที่คืบหน้าไปตามลำดับ
ล่าสุด พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ความคืบหน้าในการจัดทำร่างสัญญาประชาคม ที่ได้ปรับความเหมาะสมของเนื้อหาตามคำแนะนำของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เรียบร้อยแล้ว
เตรียมนำไปเปิดเวทีชี้แจงกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆระหว่างวันที่ 17–20 กรกฎาคม 2560 นี้ เริ่มจากกรุงเทพฯ นครราชสีมา พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ
และนั่นก็หมายถึงแนวโน้มการเลือกตั้งที่ผูกโยงอยู่กับสัญญาประชาคม
อย่างไรก็ตาม โดยภาวะที่เต็มไปด้วย “ตัวแปร” เต็มไปหมด
สถานการณ์เลือกตั้งใหญ่ยังต้องลุ้น
แต่ที่มาก่อนแน่ๆ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณชัด จะปล่อยไฟเขียวการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นภายหลังพระราชพิธีสำคัญ 2 พระราชพิธี ให้เตรียมการเตรียมตัวกันไว้
แนวโน้มปีหน้า 2561 คงได้ว่ากันกับการเลือกตั้งสนามเล็ก
นั่นหมายถึงต้องจบปัญหาลักลั่นสักที ตามเงื่อนไขที่กระบวนการบริหารงานท้องถิ่นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “ติดล็อก” ผู้บริหารท้องถิ่นหลายจังหวัดหมดวาระ หมดสภาพ แต่จัดเลือกตั้งไม่ได้เพราะอยู่ในห้วงอำนาจพิเศษ
ทำให้การบริหารขาดช่วง การพัฒนาท้องถิ่นทำได้ไม่เต็มสูบ
แต่ที่ “ลักลั่น” ยิ่งกว่านั้น กับปัญหาของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่โดนหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักงาน เพราะถูกตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงาน ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ อุบลราชธานี หนองคาย ภูเก็ต ยโสธร นครพนม ฯลฯ
ส่วนใหญ่ก็สลับฉากให้รองนายก อบจ.ที่เป็น “นอมินี” นั่งบริหารแทน
แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ มันก็ไม่ต่างจาก “ตัวจริง” เข้ามานั่งบริหารเอง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากรในพื้นที่ก็รู้กันอยู่ว่า ใครเป็นใคร ไม่มีใครกล้าหือ
นั่นหมายถึงคำสั่งพักงานตามมาตรา 44 ก็ไม่ได้มีความหมาย แต่อย่างใด
เจ้าตัวนายก อบจ.ที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสก็ยังชี้นิ้วสั่งงานได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการต่างๆ ก็ยังทำได้แบบเต็มไม้เต็มมือ
และตามรูปการณ์ที่เดาทางกันได้ ในอารมณ์ของคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย
จังหวะนี้ก็ต้องกอบโกยให้เต็มที่
เพราะกว่าคดีจะมีผลก็อีกหลายปี
ยิ่งสัญญาณชัดว่า การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นต้องทอดเวลา ไปถึงปีหน้า นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 6–7 เดือนนี้ มันคือโอกาสทองสุดท้าย
ถ้า คสช.ไม่ชิงอุดรูรั่วไว้ก่อน ปล่อยช่อง “ลักลั่น” กันตามสบาย
เงินหลวงคงหายไปอีกบาน.
ทีมข่าวการเมือง