PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

บุกเต็มตัว

บุกเต็มตัว


ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าแผนสืบทอดอำนาจ คสช.ต่อไปอีกยาวๆ เป็นกระบวนท่าพลิกแพลง ลํ้าลึก และเดาทางยากขึ้นทุกที
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป็น “นักการเมืองเต็มตัว” ก็เริ่มเห็นลีลาเปิดเกมบุกเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นขั้นเป็นตอน
เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชูธง...ประชาธิปไตยไทยนิยม
คือประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับรสนิยมคนไทย
ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบแบบที่ต่างประเทศนิยม
ล่าสุด เพื่อดันแนวคิด “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ของ คสช.ให้แพร่กระจายไปถึงชาวบ้านโดยตรง
พล.อ.ประยุทธ์จึงเปิดเกมบุกต่อทันที!!
ด้วยการออกคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน”
เปลี่ยนจุดขายจากไทยนิยมเฉยๆ เป็นไทยนิยมยั่งยืน
โดย พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานกรรมการเอง
มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กับ รองนายกฯอีก 4 คน เป็นรองประธานกรรมการ
มี ผบ.ทหารสูงสุด, ผบ.ทบ., ผบ.ทอ., ผบ.ทร., ผบ.ตร., เลขาธิการสภาความมั่นคง, เลขาธิการสภาพัฒน์, ผอ.สำนักงบประมาณ ฯลฯ และปลัดกระทรวงต่างๆเป็นกรรมการครบวงจร
มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าภารกิจสำคัญของคณะกรรมการขับเคลื่อน “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” เพื่ออัดฉีดแนวคิด “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ของ คสช.แพร่กระจายถึงชาวบ้านโดยตรงให้เห็นผลรวดเร็วทันใจ
โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ลงไปเสวนาพูดคุยกับพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไทยแบบถึงเนื้อถึงตัว ถึงไหนถึงกัน
เป้าหมายเพื่อกระตุ้นคนไทยให้ร่วมมือกับรัฐบาลพัฒนาประเทศตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน
เพื่อสร้างความตื่นตัวของประชาชนให้หันมาสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยมของ คสช.
เพื่อกุมความได้เปรียบสูงสุดก่อนเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง (หรือมาไม่ถึง) ในอีก 1 ปี กับ 2 เดือนจากนี้ไป
แถมโครงการนี้ยังเกิดประโยชน์อย่างสำคัญอีก 2 ประการ
1, เพิ่มกองหนุนรัฐบาลเพื่อทดแทนกองหนุนเก่าๆที่หดหายไป
2, สลายกระแสนิยมพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามไปพร้อมกัน
“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่าโครงการนี้ ใช้นายอำเภอทั่วประเทศ 878 อำเภอ เป็นกุญแจสำคัญ
โดย “นายอำเภอทุกคน” ต้องจัดหน่วยขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนลงไปปักหลักประจำทุกตำบลในแต่ละอำเภอ
กำหนดให้ทีมขับเคลื่อน 1 ทีม ต้องรับผิดชอบพื้นที่ 1 ตำบล ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและจิตอาสา ไม่น้อยกว่า 7 คน หรือ 12 คนต่อ 1 ทีม
เท่ากับต้องจัดทีมเผยแพร่โครงการไทยนิยมยั่งยืนของ คสช. เข้าไปคลุกวงในกับชาวบ้านทั้ง 7,255 ตำบล รวมทั้งสิ้น 7,255 ทีม
ต้องระดมเจ้าหน้าที่มากกว่า 8.7 หมื่นคน เป็นชุดปฏิบัติการ
จัดหนักขนาดนี้ ถ้าปลุกกระแสไม่ติด...ก็ให้มันรู้ไป.
“แม่ลูกจันทร์”

สูตรเก่าโผล่ซ้อนคิวยืด

สูตรเก่าโผล่ซ้อนคิวยืด


สรุปภาพรวมจากที่ประชุม สนช.ในคิวสำคัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวาระ 2-3 โฟกัสที่คิวเคาะประเด็นสำคัญ
ข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้แก้ไขมาตรา 2 ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ก่อนลงมติ คิวเคาะ สนช.แต่ละรายสวมบทบาทถึงใจ
ฝักถั่วสลอน เอาอกเอาใจเจ้าของไร่อำนาจพิเศษ
เพราะนอกจากเสียงส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกับการยืดเวลาใช้กฎหมายเลือกตั้ง 90 วันว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ยกมือขออภิปรายหยิบเหตุผลต่างๆนานามากล่าวอ้าง
ทั้งเพื่อให้ประชาชน พรรคการเมืองได้ศึกษาทำความเข้าใจกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีเวลา ไม่ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด มีหลายปมต้องใช้เวลาดำเนินการ เช่น ทบทวนรายชื่อสมาชิกพรรค ระบบไพรมารีโหวต กกต.มีหลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์ อาทิ การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ความพร้อมของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ฯลฯ
ยกคณะประสานเสียงมาเลย ชนิดกลบความเห็นฝ่ายคัดค้านใน สนช. และกรรมาธิการเสียงข้างน้อย
รวมทั้งต้องเจอประเภทเล่นใหญ่เกินบท เสนอให้ยืดเวลายาวไปกว่านั้น 90 วันน้อยไป
อวดความในใจ อยากแปรญัตติให้เป็น 120 วันด้วยซ้ำ
ที่น่าจะเต็มเหนี่ยวสุดๆ พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สนช. เรียกเสียงฮือฮา เสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
แนะเพาะปลูกอำนาจ “รากงอก” เย้ยแรงต้านนักการเมืองไปเลย
สรุปแล้วก็ไม่เกินคาด เจ้าของไร่อย่าง คสช. ต้นท่อแม่น้ำ 5 สาย ไม่ผิดหวัง อิ่มเสียงหนุนเสียงเชียร์
สนช.ลงตัวที่ตัวเลข 90 วัน ยืดพอท้วมๆตามแผน
ส่วนเสียงค้าน แรงต้านจากคนการเมือง แต่ก็คงทำได้แค่โวย สุดท้ายขวางยาก
แล้วก็คงไม่ต่างกัน เสียงจากภายนอกประเทศ ทั้งเอก-อัครราชทูตคณะผู้แทนอียู ทั้งโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ-อเมริกาประจำประเทศไทย แสดงท่าทีผ่านสื่อในภาษาการทูต เข้าใจความจำเป็นสถานการณ์ประชาธิปไตยในไทย การแยกฝ่ายบริหารนิติบัญญัติ
แต่แฝงเนื้อหากระตุกคิว ทวงสัญญาเลือกตั้งของ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันในที
เพียงแต่จะเข้าใจประชาธิปไตยแบบ “ไทยนิยม” กันแจ่มแจ้งแค่ไหน
ต้องดูยาวๆ “ปัจจัยโลก” คอนโทรลลื่น เหมือนปัจจัยภายในหรือไม่
เพราะนอกจากแนวต้านด้านกฎหมายยืดเวลาเริ่มเบาบาง “นายกฯลุงตู่” ก็เหมือนจะได้จังหวะเป็นใจ ในแผนต่อตั๋วเล่นเกมอำนาจยาวๆ บรรดาขั้ว “ตัวป่วน” ทยอยติดชนักกันเป็นพวง
ล่าสุดแกนนำกลุ่ม กปปส. เจอของหนัก ทั้งคดีกบฏ อั้งยี่ ซ่องโจร โดยเฉพาะ “ลุงกำนันเทือก” โดนพ่วง ก่อการร้ายไปอีก 1 ชุด
จ่อรับกรรมที่ก่อไว้ในห้วงวิกฤติประเทศที่ผ่านมา
อีกทางป้อมค่ายนั่งร้าน พรรคการเมืองใหม่ๆผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เครือข่ายอำนาจแผ่ขยายลงลึกถึงพื้นที่ผ่านกลไกอำนาจรัฐทั้งเก่า และจัดตั้งเพิ่มเติม
แต่อำนาจพิเศษเช็กสำรวจ คำนวณแล้ว ยังไม่ชัวร์เรื่องแต้มหากเปิดสนาม
ห้วงนี้เลยเริ่มมีกระแสข่าว มีคนพูดถึง “สูตรพิเศษ” มาแทรก
หลังจากขั้วฝ่ายการเมืองถูกกรรมตามไล่ล้างเกลี้ยง เหมือนบีบทางให้เดินเข้าล็อก
ในสูตรเผื่อเลือก “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ยังมีหลากรูปแบบ.

ทีมข่าวการเมือง

“บิ๊กตู่” ตั้งกก.”ไทยนิยมยั่งยืน” ขับเคลื่อนยันตำบล สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ

“บิ๊กตู่” ตั้งกก.”ไทยนิยมยั่งยืน” ขับเคลื่อนยันตำบล สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ

4.9K
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 21/2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ลงวันที่ 23 ม.ค.2561โดยเนื้อหาในคำสั่งระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ โดยให้ส่วนราชการ หน่วยงานที่มีหรือจะมีโครงการกิจกรรมลงดำเนินการในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบลเป็นแกนหลัก และให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงาน สนับสนุนกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามคำสั่งดังกล่าว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) รวมทั้งยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียงบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับต่างๆ โดยมีองค์ประกอบในระดับต่างๆและมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโครงการไทยนิยมยั่งยืน 61 คน มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม พล.อ.ฉัตรชัย สารกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมกา
มีกรรมการ ประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ รมว.แรงงาน รมว.วัฒนธรรม รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม
ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงทุกกระทรวง / ผู้บัญชาการเหล่าทัพ/เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รมว.มหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการกลาโหม
ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการบูรณาการขับเคลื่อนงานโครงการของส่วนราชการของหน่วยงานต่างๆที่มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน ชุมชนร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ อำนวยการในการพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่ อำนวยการในการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ชุมชน แต่งตั้งอนุกรรมการ คณะทำงานในการปฏิบัติงานตามที่เห็นสมควร ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
2.คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับจังหวัด มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ปลัดจังหวัด พัฒนาจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ประชุมถ่ายทอดนโยบายและกรอบแนวทางการปฎิบัติแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบลโดยอำนวยการ กำกับ และติดตามการพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัด รวมทั้งอำนวยการกำกับ ติดตามการสร้างความตระหนักรู้ ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดจนสนับสนุนการปฎิบัติงานของคณะกรรมการระดับอำเภอและทีมขับเคลื่อนระดับตำบลพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานตามที่เห็นสมควร ปฎิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
3.คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับอำเภอ ให้นายอำเภอทุกอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับอำเภอ องค์ประกอบมีนายอำเภอ เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ เป็นกรรมการ และหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองที่ทำการอำเภอ รวมถึงพัฒนาอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่บูรณาการและจัดทำแผนการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในมติด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในพื้นที่อำเภอ ขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมขับเคลื่อนฯระดับตำบล ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
4.ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนระดับตำบล ให้นายอำเภอทุกอำเภอแต่งตั้งทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน7-12 คน โดยมีองค์ประกอบคือ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา”เราทำความดี ด้วยหัวใจ”ในพื้นที่ อำนาจหน้าที่ เป็นชุดปฎิบัติงานในพื้นที่ในการแก้ปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในพื้นท่ีหมู่บ้าน เป็นชุดปฏิบัติงานในพื้นที่ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย อนึ่งให้ทุกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทุกระดับ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป