PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

ความหวาดผวาของ กกต.หากประกาศผลเลือกตั้งหลัง ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒

สมชัย ศรีสุทธิยากร
5ม.ค.62

ความหวาดผวาของ กกต.หากประกาศผลเลือกตั้งหลัง ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
กกต.มีเวลา ๖๐ วันหลังวันเลือกตั้ง ในการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ ๙๕ ของ ๕๐๐ คน เพื่อให้สามารถประชุมสภานัดแรกได้
หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ครบ ๖๐ วัน คือ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
หากเลือกตั้งวันที่ ๑๐ มีนาคม ครบ ๖๐ วัน คือ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ มีความหมายอะไร คำตอบคือ เป็นวันครบ ๑๕๐ วันหลังจาก พรป.สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง ๔ ฉบับมีผลใช้บังคับ โดย พรป.ส.ส.เป็นพรป.ฉบับสุดท้าย มีผลใช้บังคับเมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
มาตรา ๒๖๘ ของรัฐธรรมนูญ เขียนว่า หลังจาก พรป.สำคัญ ๔ ฉบับมีผลใช้บังคับ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน ๑๕๐ วัน ซึ่งคำว่า “แล้วเสร็จ”ดังกล่าว เป็นคำที่ กกต.หวาดผวาที่สุด
“แล้วเสร็จ” คือ “จัดการหย่อนบัตรเสร็จ” หรือ “ประกาศผลให้ได้ร้อยละ ๙๕” เป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครตอบ
กกต.ชุดที่ ๔ เคยทำหนังสือถึง ๒ หน่วยงาน คือ กรธ. และ กฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว
คำตอบจากประธาน กรธ.มีชัย ฤชุพันธ์ เขียนเป็นเอกสารตอบมายัง กกต.ว่า “เรื่องนี้ กรธ.เป็นผู้เขียน กม.ไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบได้” ถือเป็นคำตอบที่เสียดายเงินเดือนยิ่ง
คำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ ๑ ที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานได้พิจารณาเห็นว่า กกต.ควรสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะเหมาะสมกว่า
เมื่อ กกต.คิดจะถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงสัมภาษณ์จากบางท่านในศาลรัฐธรรมนูญมาว่า ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนจึงจะส่งได้ คือ จัดเลือกตั้งไปก่อน หากมีใครร้องมา ศาลจึงวินิจฉัย (เฮ้อ บ้านเมืองเรา)
ดังนั้น หากเลือกตั้งเสร็จ และ กกต.เอ้อระเหย ไปประกาศผลหลัง ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ แล้วบังเอิญมีมือดีไปร้องศาล และ บังเอิญศาลวินิจฉัยแล้วสรุปว่า กกต.จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย ๕,๘๐๐ ล้านที่เสียไป (หาร ๗ แค่คนละ ๘๐๐ กว่าล้าน)
ดังนั้น จะเลื่อนการเลือกตั้งเป็นเมื่อใด กกต.จะต้องพยายามประกาศผลให้ได้ร้อยละ ๙๕ ภายใน ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
หมายเหตุ งานนี้รัฐบาลไม่เกี่ยว เพราะ กกต.เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง รัฐบาลแค่ส่งรองนายกมาให้ข้อมูล และเสนอวันเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างอยู่ที่ กกต.ตัดสินเอง ครับ

มหาเศรษฐีญี่ปุ่นใช้เงินล่อ ปั่นยอด 'รีทวีต' ทุบสถิติ 4.8 ล้านครั้ง

ยูซากุ มาเอะซาวะ มหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่เคยสร้างความฮือฮาด้วยการซื้อตั๋วทัวร์รอบดวงจันทร์ของสเปซเอกซ์ ได้ทำลายสถิติข้อความทวิตเตอร์ที่ถูกรีทวีตมากที่สุดในโลก ถึงมากกว่า 4.8 ล้านครั้ง ด้วยการทวีตว่าจะสุ่มแจกเงินให้ผู้ติดตามเขา 100 คนที่รีทวีตข้อความนี้ คนละกว่า 295,000 บาท
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีเมื่อวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562 กล่าวว่า มาเอะซาวะ ผู้ก่อตั้งธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์ Zozo ของญี่ปุ่น วัย 43 ปี ทวีตข้อความไว้เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มกราคม ว่าเขาจะแจกเงิน 100 ล้านเยน (29.58 ล้านบาท) แบ่งให้กับผู้โชคดี 100 คน ที่รีทวีต หรือส่งซ้ำข้อความทวิตเตอร์นี้ของเขาภายในวันจันทร์ โดยจะสุ่มเลือกจากผู้ติดตามบัญชีทวิตเตอร์ของเขา
    "ถ้าอยากมีส่วนร่วม พวกคุณต้องกดติดตามผมและรีทวีตข้อความนี้" เขาทวีตไว้
    รายงานกล่าวว่า ยอดรีทวีตเมื่อยังไม่ผ่านพ้นวันจันทร์มีมากกว่า 4.8 ล้านครั้งแล้ว และมาเอะซาวะประกาศว่า ยอดรีทวีตของเขาได้สร้างสถิติใหม่ของโลก โดยทำลายสถิติเก่าซึ่งอยู่ที่ 3.55 ล้านครั้ง และยอดการรีทวีตของเขายังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
    เจ้าของสถิติเดิมนั้นเป็นทวีตของคาร์เตอร์ วิลคินสัน หนุ่มวัยรุ่นชาวอเมริกัน ที่ขอให้ชาวทวิตเตอร์ช่วยกันรีทวีตข้อความของเขา เพื่อขอให้เขาได้กินนักเก็ตไก่ของร้านเวนดีส์ฟรี นาน 1 ปี ถึงแม้ยอดรีทวีตจะไม่ถึง 18 ล้านครั้งตามที่เวนดีส์ตั้งเงื่อนไขไว้ แต่กระแสการมีส่วนร่วมของคนทั่วโลก ทำให้เวนดีส์ยอมตามคำขอของเขา
    ก่อนหน้าทวีตของวิลคินสัน เจ้าของสถิติเดิมคือทวีตของเอลเลน ดีเจเนอเรส ที่ครองตำแหน่งนี้ในทวิตเตอร์นานกว่า 3 ปี จากภาพเซลฟีกับดาราดังหลายคนขณะที่เธอเป็นพิธีกรงานประกาศผลรางวัลออสการ์ปี 2557

'ยงยุทธ'แจงประเด็นพา'ลูกพี่แม้ว'กลับบ้าน

7 ม.ค.62 - นายยงยุทธ ติยะไพรัช ในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สวัสดีครับพี่น้อง กับประเด็นการจะกลับบ้านของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องให้มีกระบวนการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งคนทั่วไปทำกันอยู่แล้ว เช่นทบทวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐาน เพราะคนสอบเป็นคนอยู่ฝั่งตรงข้ามหมด คนสั่งการก็ยึดอำนาจเขามา จะบอกว่า ดร.ทักษิณ เป็นคนดีได้ยังไง ก็ต้องบอกว่าเลว แต่วันนี้เรื่องเลวหลายเรื่อง เป็นประโยชน์ ต่อบ้านเมืองเช่นปล่อยเงินกู้เมียนมาร์ เขาคืนให้เรามาหมดแล้วการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านเป็นเรื่องที่ดี เราย้ายประเทศหนีกันไม่ได้ และยังมีเรื่องอื่นๆ นะครับ เช่นกระบวนการทางศาลยังต้องถามพยานทุกครั้ง ว่ามีเรื่องขัดแย้งกันมาก่อนหรือไม่ หรือ ผู้สอบวางตัวไม่เป็นกลางในกระบวนการสอบสวนยังขอเปลี่ยนตัวได้ ผมว่าคุยกันดีๆ ระหว่างพี่น้องเตรียมทหารด้วยกัน หากกลัว ดร .ทักษิณ จะกลับมามีอำนาจ ก็คุยกันด้วยเหตุผลโดยเอาเรื่องบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ยังง่ายกว่าการสร้างรัฐธรรมนูญและแก้กฏหมายเลือกตั้ง 
ทุกวันนี้ทุกฝ่ายที่มีอำนาจเพื่อไม่ให้ระบอบทักษิณกลับมา เราสูญเสียและถึงกับต้องแลกกับ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นสากล เชื่อไหมครับช่วงปี 2549 ดร.ทักษิณ ประชุมที่UN โดนบิ๊กบังยึดอำนาจ เลขาUN ถามว่าจะประณาม ตอบโต้ไหม ดร ทักษิณ ปฏิเสธ และบอกว่าแค่นี้บ้านเมืองก็บอบช้ำพอแล้ว แสดงให้เห็นว่าความรักบ้านเมือง สปิริตยังมีอยู่ ทำไมผมรู้ก็เพราะว่าผมก็ถูกขังเกือบครึ่งเดือน บ้านก็โดนทุบ ครอบครัวแตกเป็นเสี่ยงๆ เหล่านี้มีหลักฐานและภาพประกอบชัดเจน ไปดูในยูทุปได้ครับ ซึ่งเหล่านี้ผมครับ ผมเข้าใจว่าลูกพี่สั่งมาเราไม่โกรธกันเพราะรู้อยู่ว่าใครสั่ง
สำหรับเรื่องปราศรัยที่พิษณุโลก ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่องการเมืองในฐานะวิทยากร ผมก็บอกไปตามความเป็นจริงว่า หน้าเลือกตั้งก็อ้างเอา ดร ทักษิณ กลับ 3 ครั้งแล้ว ผมเชื่อว่าการเป็นรัฐบาลไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้กับใครได้ ตราบที่สังคมยังแบ่งเป็นฝักฝ่าย ด่าคนนั่นชั่ว คนนี้เลว ลืมนึกถึงตัวเองและพวก ผมว่าคุยกันดีๆยังจะสร้างความสุขให้ประเทศของเราได้มากกว่าครับ การเปิดโต๊ะพูดคุยกับ ดร ทักษิณ นั่นแหละ คือการแก้ปัญหาที่จะยั่งยืนและตรงจุด เหตุเกิดที่ไหนก็แก้ที่นั่นครับ"

ส่อง 'นโยบาย' เพื่อไทย สู้ศึกเลือกตั้ง

แม้กำหนด "วันเลือกตั้ง" ยังไม่ชัดว่าจะลงเอยวันไหนกันแน่ แต่ก็ต้องยอมรับ ณ เวลานี้ เกือบจะทุกพรรคเตรียมความพร้อมใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจุดชี้วัด ชี้ขาดทางคะแนนอีกประการที่สำคัญ คือ "นโยบาย" ที่ทุกพรรคการเมืองซุ่มคิด ซุ่มร่างวางแผน ให้เป็นหมัดเด็ด กระชากคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน
      โดยเฉพาะ "พรรคเพื่อไทย" ที่หมายมั่นปั้นนโยบาย ให้เป็นจุดขาย เปิดออกมาต้องดังเปรี้ยง ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และในการเลือกตั้งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็เช่นกัน
      พรรคเพื่อไทย ภายใต้ เสี่ยโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระดมสมองทีมงานนักวิชาการทั้งในและนอกพรรค เร่งคิดค้นผลิตนโยบายออกมาให้โดนใจที่สุด
      ว่ากันว่า "นโยบาย" พรรคเพื่อไทยแทบทุกเรื่องถูกประทับตราจากคนแดนไกล ร่วมคิด วางแนวทางแทบทุกกระบวนความจนเป็นที่พอใจ และนโยบายคืบหน้าไปมาก แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ รอขัดเกลาอีกเล็กน้อย เหลือเพียงสรุปมอตโต คำขวัญโดนๆ แล้วประกาศเปรี้ยงออกมาทีเดียว จากนั้นส่งต่อไปให้บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบเขต ระบบบัญชีรายชื่อ นำไปบอกกล่าวประชาชน
      ทีมร่างนโยบาย นอกจากมาจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วน โดยอดีต ส.ส. ลงพื้นที่สอบถามความต้องการให้แก้ไข ทำเรื่องอะไร จากนั้นส่งต่อมายังทีมงานนโยบายมาย่อยสรุป จัดทำ เพื่อให้ใกล้ความต้องการมากที่สุด
      หลักใหญ่ในการจัดทำ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และท้ายที่สุดต้องตอบสนองคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ทั้งในเมือง ต่างจังหวัด ที่เป็นฐานเสียงสำคัญ มีการจำแนกเป็นรายกลุ่มๆ
      เช่น นโยบายการศึกษา ที่จะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ผ่านแอปพลิเคชันให้เด็กนักเรียน ได้เรียนรู้ ภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงเจ้าของภาษาอย่างถูกต้อง ฝึกหัดอ่าน ออกเสียง พร้อมกับประเมินผล ซึ่งศัพท์ ประโยค ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน นอกจากนี้จะมีการผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ได้ถึง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ที่ถือเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ และยังเพื่อให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
      นโยบายเอาใจผู้มีรายได้น้อย จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่า 300 บาทต่อวัน นโยบายด้านเกษตรจะมีการส่งเสริมให้ลดพื้นที่การทำยางพารา อันเนื่องจากราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก ให้หันมาปลูกทุเรียน เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนเป็นอย่างสูง
      กลุ่มนักศึกษา ผู้จบใหม่ ผู้สนใจทำธุรกิจเอสเอ็มอี การค้าออนไลน์ จะแก้กฎระเบียบขั้นตอนการจดจัดตั้งบริษัท การส่งเสริมการค้าขาย การให้ภาครัฐ เอกชนหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยอย่างจริงจัง
       กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ เบี้ยประกันผู้สูงอายุ ยังจะคงอยู่ ในส่วนของนโยบายเดิมที่ประสบความสำเร็จจากในยุคพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย จะถูกนำมาต่อยอด ปรับให้มีการใช้ง่ายมากขึ้น เช่น นโยบายบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค จะมีการเพิ่มให้ผู้ถือบัตรเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ในการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงสามารถเช็กแพทย์ผู้รักษา กำหนดช่วงเวลาที่จะเดินทางมาได้ แล้วนำมาคำนวณควรที่จะต้องเดินทางมารักษาช่วงใด โรงพยาบาลใด เพื่อจะต้องไม่ต้องรอคิวนาน ผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้ารับรักษาได้ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น
      นี่เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนที่ทางพรรควางเอาไว้ เป็นน้ำจิ้ม ตัวชูโรง พรรคเพื่อไทยพร้อมเข้าโหมดเลือกตั้ง ภายใต้การนำของหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง และหนึ่งในสามรายชื่อที่ได้รับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เลือกตั้งรอบนี้ แม้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกจะไม่เอื้ออำนวย
      แต่ในฐานะพรรคที่เคยครองเสียงข้างมากมาตลอดยุค 10 ปี หลังผนวก 3 จุดแข็งเข้าด้วยกัน คนนำทัพ-ผู้สมัคร โดยมีนโยบายเป็นตัวเดินเรื่อง จะทำให้ พรรคเพื่อไทยสมหวัง ชนะศึกเลือกตั้งได้ (อีกครั้ง) หรือไม่ อีกไม่นานได้รู้กัน.

"การเลือกตั้ง" ยังอึมครึม เงื่อนปม "กฎหมาย" ที่ไร้คำตอบ

ไทม์ไลน์ทางการเมืองในขณะนี้ถึงแม้มีตารางเวลาพอประมาณ แต่ในรายละเอียดแล้ว ไม่มีความชัดเจน ในการเห็นภาพรัฐบาลใหม่ที่มาหลังการเลือกตั้งแบบง่ายๆ
        ความไม่แน่นอนดังกล่าว ยิ่งทำให้พรรคการเมืองที่อยู่คนละฟากกับรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความไม่พอใจ และโจมตีถึงความ "ไม่ชัดเจน" เหล่านั้นว่าเป็น "เกม-กับดัก-ระเบิดเวลา" ในการเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันให้เข้ามาบริหารประเทศต่อ
        ทั้งในรูปแบบที่เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยใช้กลไกในกรอบนี้ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ภายใต้พรรคเครือข่ายที่จัดตั้ง และจับมือกับพรรคการเมืองพันธมิตร รวมถึง ส.ว.ชุดใหม่
        เลยไปถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดความสับสนวุ่นวายด้วยกฎหมาย และความไม่สงบ จนเกิด "สุญญากาศ" ในการบริหารประเทศ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
        ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ ไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเลือกให้เข้ามา ตามความเห็นของฝ่ายต้าน คสช.!!!
        แน่นอนว่า "เพื่อไทย" ยังเชื่อในพลังของ "คนอีสาน" ฐานเสียงเก่าที่ยังนิยม "ทักษิณ ชินวัตร" จะนำพาให้พรรคเพื่อไทย และพรรคพันธมิตร ตระกูล "เพื่อ" ได้คะแนนเสียงสูงสุดในการจัดตั้งรัฐบาล
        ขณะที่แกนนำฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อใน "อิทธิฤทธิ์" ของนโยบายรัฐบาลในการ ลด-แลก-แจก-แถม รวมไปถึงการควบคุมกลไกในการกำหนดเสียงเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ทั้งการ "ดูด" นักการเมือง หัวคะแนน มวลชน ไปอยู่เป็นพวก 
        ในเมื่อ ความเชื่อ ที่อยู่บนข้อมูลคนละชุดต่างกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นคงไม่มีใคร "อ่อนข้อ" ให้ใคร ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าการวิเคราะห์และสมมุติฐานที่ตัวเองวางไว้คือ สิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่กลไกและกติกาในการแข่งขันนั้นเอื้อให้พรรคพันธมิตรของ "รัฐบาล"
        ยิ่งสถานการณ์ในระหว่างนี้จนถึงต้นเดือน พ.ค.ที่จะถึง รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยจะต้องร่วมมือร่วมใจในงานสำคัญของบ้านเมือง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
        วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
        วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
        ทั้งนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงต้องให้เกิดความสะดวกสอดคล้องตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ และขั้นตอนของพระราชประเพณี ในช่วงที่ต้องมีพระราชพิธี และการเลือกตั้ง โดยนำปฏิทิน “งานมหามงคล” ของบ้านเมืองไปให้ กกต.ประกอบการพิจารณา
        ส่งผลให้มีแนวโน้มว่า วันเลือกตั้งจะขยับออกไป และการมีรัฐบาลใหม่ต้องเกิดขึ้นหลังจากงานพระบรมราชาภิเษกผ่านไปแล้ว
        ยิ่งทำให้กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองฟากตรงข้าม คสช. เกิดอาการ เดือด เพราะเชื่อว่า "การขยับ" ที่เกิดขึ้นเป็นการ "เคลม" ของรัฐบาล ที่มุ่งหวังจะเลื่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว นำไปสู่กระแสต่อต้านติดแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกว่าช่วงที่เกิดหน้านี้ โหมให้พายุการเมืองในช่วงนี้พัดแรงกว่าเก่า
        แต่ที่น่าสนใจ และถือเป็น "ปม" ใหญ่ที่ยังไร้คำตอบ คือ "พันธนาการ" ทางด้านกฎหมาย ที่ส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต
        หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุกเบกษา ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการกำหนดระเบียบเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมา ตามที่รัฐบาลได้โยนมาให้พิจารณา ท่ามกลางการบีบรัดของสังคมที่กำลังจับตามองการทำหน้าที่ องค์กรอิสระ ที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจกลุ่มอำนาจใด
        ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจถึง "ความหวาดผวาของ กกต.หากประกาศผลเลือกตั้งหลัง 9 พ.ค."
        โดยร่ายยาวว่า กกต.มีเวลา 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ในการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 ของ 500 คน เพื่อให้สามารถประชุมสภาฯ นัดแรกได้ หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. ครบ 60 วัน คือ 25 เม.ย. หากเลือกตั้งวันที่ 10 มี.ค. ครบ 60 วัน คือ วันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบ 150 วันหลังจาก พ.ร.ป.สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4ฉบับมีผลใช้บังคับเมื่อ 11 ธ.ค.61
        มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญเขียนว่า หลังจาก พ.ร.ป.สำคัญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ซึ่งคำว่า แล้วเสร็จ ดังกล่าว เป็นคำที่ กกต.หวาดผวาที่สุด “แล้วเสร็จ” คือ “จัดการหย่อนบัตรเสร็จ” หรือ “ประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95”  เป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครตอบ
        ทั้งนี้ กกต.ชุดที่ 4 เคยทำหนังสือถึง 2 หน่วยงาน คือ กรธ. และกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว โดยคำตอบจากประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนเป็นเอกสารตอบมายัง กกต.ว่า “เรื่องนี้ กรธ.เป็นผู้เขียน กม. ไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบได้”
        ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นว่า กกต.ควรสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะเหมาะสมกว่า
        เมื่อ กกต.คิดจะถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงสัมภาษณ์จากบางท่านในศาลรัฐธรรมนูญมาว่า ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนจึงจะส่งได้ คือจัดเลือกตั้งไปก่อน หากมีใครร้องมา ศาลจึงวินิจฉัย
        ดังนั้นหากเลือกตั้งเสร็จ และ กกต.เอ้อระเหย ไปประกาศผลหลัง 9 พ.ค. และหากบังเอิญมีมือดีไปร้องศาล และบังเอิญศาลวินิจฉัยแล้วสรุปว่า กกต.จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย 5,800 ล้านบาท
        เป็นเงื่อนปมที่น่าสนใจ สำหรับการนับคะแนนภายใต้การเลือกตั้งแบบใหม่ ที่เหล่าบรรดานักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายสำนักเชื่อว่า คงไม่ใช่เรื่องที่จะประกาศผลง่ายๆ
        อีกทั้งแนวโน้มการขยับการเลือกตั้งตามที่ "วิษณุ เครืองาม" เลียบค่ายอธิบายความมานั้น ก็ยิ่งทำให้ตีความกันไปหลายทาง โดยเฉพาะการมีรัฐบาลที่ไม่ปกติ และมีนายกฯ คนเดิม ที่ชื่อ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา"
        เป็นความกังวลอีกประการที่ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช.มองถึงความเป็นไปได้
       "การที่ กกต.ไม่กำหนดวันเลือกตั้งหลังฟังคำชี้แจงจากรัฐบาลแล้ว น่าจะแสดงว่าที่รัฐบาลชี้แจงยังไม่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ หรือเหตุผลพิเศษของรัฐบาลจะเป็นเพียงว่าต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยไม่ต้องรับการเลือกจากรัฐสภา" นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความถึงกรณีการเลื่อนวันเลือกตั้งลงบนทวิตเตอร์
        ภายใต้การตั้งข้อสังเกตใน วาระที่ไม่ปกติ ที่เริ่มจากความไม่ชัดเจน และความไม่แน่นอน ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ประโยชน์ที่ตกสู่รัฐบาล คสช.ในฐานะที่ลงมาคลุก คาบเกี่ยวความเป็นผู้เล่นในสนามเลือกตั้ง
        แต่เหนืออื่นใดคือ กองเชียร์ ที่ต้องตรวจสอบว่ายังเหนียวแน่น หรือเสียง "แปลกแปร่ง" กว่าเมื่อก่อน
        เพราะอย่าลืมว่า ถึงแม้ คสช.จะมี "แฟนคลับ" ที่ไม่เอา "ระบอบทักษิณ" แต่ก็ใช่ว่าจะยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด บกพร่องของรัฐบาล
        มีหลายอย่างที่คนในรัฐบาลปฏิบัติ และดำเนินการค้านสายตาผู้ชม ขณะที่บางเรื่องที่เคยกร่นด่า รัฐบาลผูกขาดอำนาจ บริหารราชการไม่เป็นธรรมในอดีต แต่ปรากฏว่าบางเรื่องก็เกิดขึ้นไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการยืนอยู่ข้างพรรคพวก เพื่อนพ้อง ในสิ่งที่ค้านกระแสสังคม อันถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และทำลายแนวร่วมที่เคยมีมาในอดีต
        ทั้งหลายทั้งปวงของสถานการณ์การเมืองในช่วงต้นปีเป็นต้นไป จึงน่าจะอึมครึม ไม่แพ้พายุปาบึกที่เข้าประเทศไทย และยิ่งหลังพิธีใหญ่ไปแล้ว ก็เริ่มเห็นมรสุมทางการเมืองตั้งเค้ามาอีกลูก โดยเฉพาะเงื่อนปมกฎหมาย ที่ยังไม่มีคำตอบ!!!.

                                                       ทีมข่าวการเมือง

ล้มเสาไฟฟ้า

"โค้ชสุเทพ"ติวเข้มว่าที่ผู้สมัครส.ส.รปช. ลั่นพร้อมล้มเสาไฟฟ้า อัดบางพรรคต้องประจบสอพลอ"หัวหน้าพรรค"กว่าจะได้ลงสมัครส.ส. ยกกรณี"ลูกหมี"เป็นตัวอย่าง
7 ม.ค.62 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้กล่าวเปิดการอบรมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในหัวข้อ "หัวใจสำคัญและอุดมการณ์ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย" ว่า ตั้งแต่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ผ่านมาไม่มีพรรคไหนเป็นพรรคของประชาชน ทุกครั้งที่มีการตั้งพรรคการเมืองก็จะหาผู้ที่มีชื่อเสียง กวาดต้อนบริวารเข้ามาอยู่ด้วย
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า วันนี้มีการพูดเรื่องดูด ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่มีมานานแล้ว ดังนั้น ที่วิจารณ์นักการเมืองย้ายพรรคก็ไม่ใช่เรื่องแปลก พรรคไหนเลี้ยงดูดีกว่าก็ไปที่นั้น ประชาชนเป็นเพียงข้ออ้างว่าทำการเมืองเพื่อประชาชน ซึ่งไม่เห็นมีจริง บางคนในชีวิตนักการเมืองย้ายพรรคมาแล้ว 4 - 5 หน และวันนี้ก็คิดจะย้ายอีก ไปหาสังกัดที่มีความมั่นคง เมื่อเข้าไปอยู่แล้วก็ทำตัวเป็นลูกพรรคที่ดี หัวหน้าพรรคจะสั่งการอย่างไรก็ทำให้หมด เพราะชีวิตเขาขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค เพราะเขาเป็นเจ้าของพรรค เป็นคนออกทุน ออกเงิน เขาเป็นคนเลี้ยงดูลูกพรรคเหล่านั้น นี้คือปัญหาของประเทศ เพราะนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ได้ทุ่มเทจริงจังที่จะทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน
"ประชาชนจะรู้สึกว่านักการเมืองดีด้วยก็ตอนกำลังจะเลือกตั้ง บางคนก็หมอบกราบเข้าไปกราบเท้าประชาชน พูดจาพิเศษ มีสัญญามากมาย แต่หลังเลือกตั้งเข้าไปอยู่ในสภา ก็ไม่เคยมาหา อีก 4 ปีก็มาว่ากันใหม่ เสียงของประชาชนที่อยากร้องก็ร้องไป เดี่ยวก็หมดแรงไปเอง ผมเดินคารวะแผ่นดินไปทั่วประเทศ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ใน กทม.และในต่างจังหวัด มีความทุกข์เหมือนกัน คือ ความยากจน ซึ่งไม่ใช่จนในรัฐบาลนี้ แต่จนมานานแล้ว และนโยบายหาเสียงแก้จนก็จะมีมาอีก พูดเพ้อว่าคนจนจะหมดไปใน 1 ปี ไปอยู่เมื่อนอกก็จน ไม่จริง เพ้อทั้งนั้น" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้พรรคการเมือง นักการเมืองทั้งหลาย ละเลยต่อเสียงของประชาชน ไม่ฟังประชาชน แต่ฟังคำสั่งหัวหน้าพรรคอย่างเอาจริงเอาจังมาก สั่งให้ล้อมศาลากลางก็ไป ไปเผาก็ไป เอาอาวุธเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ได้ ฆ่าคนก็ได้ ติดคุกก็ได้ โดยยอมตายขายชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย การเมืองในประเทศไทยจึงกลายเป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจรัฐ เข้ามาเป็นผู้กุมอำนาจรัฐของประเทศนี้ มาตอนหลังเจ้าของกิจการธุรกิจทั้งหลาย มีกลุ่มทุน ครอบครัวทำธุรกิจเข้ามาเป็นเจ้าของพรรค เริ่มลงทุนมากมายมหาศาล เรียกว่าทุนสามานย์ เพราะเอาเงินมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู่ทางการเมือง ใช้อิทธิพลและเงินหว่านล้อมให้คนลงคะแนน
การเข้าสู่อำนาจในทางการเมืองที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เมื่อเข้าไปมีอำนาจก็ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจโดยไม่เกรงใจประชาชน แต่พรรค รปช.ทำเพื่อประชาชน ไม่เป็นพรรคของคนใดคนหนึ่ง ถ้าโครงสร้างของพรรคการเมืองที่รวมอำนาจของคนกลุ่มเดียวเป็นเจ้าของพรรค อย่างนี้ไม่มีโอกาสพัฒนาการเมืองได้ จะต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพรรค เพราะที่ผ่านมาเป็นเผด็จการตั้งแต่เจ้าของพรรคแล้ว ดังนั้น ไม่มีทางที่จะพูดถึงประชาชนได้ประโยชน์ และเมื่อมีพรรคการเมืองของประชาชนเกิดขึ้น พฤติกรรมของนักการเมืองจะเปลี่ยนไปเอง
"พรรคการเมืองต้องรับใช้ประชาชน ทำตามคำสั่งประชาชน โดยประชาชนเป็นใหญ่ และเพื่อผลักดันเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปประเทศ และวันนี้พรรค รปช.มีสมาชิก 2 หมื่นกว่าคน เราฝันว่าต้องมีสมาชิก 1 ล้านคน แล้ววันนั้นเราจะมีพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น สมาชิกต้องไปอธิบายกับประชาชนว่าทำไมต้องเสียค่าสมัครสมาชิก 365 บาท บางคนอาจคิดว่ามากไป ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ และการเดินคาราวะแผ่นดินครั้งหน้าผมจะทำกระปุกออมสินแล้วจะไปถาม กกต.ว่าผิดหรือไม่ ถ้าไม่ผิดก็จะใส่ท้ายรถไว้ ถ้าประชาชนบอกว่าไม่มีเงินสมัครเป็นสมาชิกพรรค ก็เอากระปุกออมสินไปหยอดวันละบาท และที่ผมไปเดินมา มีประชาชนมาเล่าให้ฟังว่ามีคนมาให้เงิน 500 บาท เอาไปจ่ายค่าบำรุงพรรค 50 บาท เหลือทอน 450 บาท แต่ผมไม่มีหลักฐาน และเรื่องนี้แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นว่ามันทำทุกอย่างให้ได้ชัยชนะ ไม่คิดถึงสิ่งที่ผิดชอบและไม่ถูกต้อง" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า พรรคเราไม่มีเสาโทรเลข เสาไฟฟ้า หลักกิโลเมตร รอบนี้พรรคจะส่ง ส.ส.ไปล้มเสาโทรเลข เสาไฟฟ้า หลักกิโลเมตร ดูอย่างพรรคอื่น สมาชิกประจบสอพลอหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เพื่อให้ได้ลง ส.ส.ดูตัวอย่าง นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ที่เกือบจะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.แต่พรรค รปช.ไม่มี หัวหน้าพรรคไม่ได้มาสั่ง เพราะพรรคให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยบัญชีรายชื่อของพรรคจะมีทั้งหมด 150 คน มีผู้ชาย 75 คน ผู้หญิง 75 คน เพื่อความเท่าเทียมกัน และเวลาเรียงบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคจะอยู่อันดับ 1 อันดับที่ 2 จะเป็นสุภาพสตรี เราจะเรียงบัญชีรายชื่อสลับชาย - หญิง แบบนี้ เพื่อเชิดชูให้ผู้หญิงยืนเคียงข้างผู้ชายในการทำงาน

อยากมีเรื่อง?

ต้องการให้มีเรื่อง!?

“บิ๊กป้อม” ซัด ม็อบต้านเลื่อนเลือกตั้ง เข้าใจเหตุผล แต่ออกมาเพราะต้องการให้มีเรื่อง  เปรย ทำยังไงได้ เพราะต้องขยับ ไม่ให้ทับซ้อน “พระราชพิธีฯ”  ถาม !!แล้วจะให้ทำยังไง ก็คนมันอยากจะคัดค้านอ่ะ

พลเอกประวิตร กล่าวถึง การเลื่อนวันเลือกตั้ง จาก 24กพ.62 ไป มีนาคม 62 ว่า  จะทำยังไงได้ ก็ตัองทำตามกม. 
ทำยังไงได้ เป็นเรื่องของ กกต. 

แต่เชื่อว่า การที่มีม็อบออกมาค้านเลื่อนเลือกตั้ง จะไม่บานปลาย กลายเป็นเหตุรุนแรง

“ทุกคนเข้าใจหมด คนที่ออกมา ก็เข้าใจ แต่อย่าให้มีเรื่อง”

เมื่อถามว่า การ เลื่อนเลือกตั้ง ไม่ทำตามสัญญา 24กพ.62  เป็นการขัดใจ คนที่อยากเลือกตั้ง  พลเอกประวิตร กล่าวว่า  ไม่ได้ขัดใจใคร. แต่เพราะมีพระราชพิธีที่ต้องดำเนินการ กกต.ต้องดูว่าพระราชพิธี กับการเลือกตั้ง มีตรงไหนที่เกี่ยวข้องกันหรือเปล่า มันต้องคนละที แยกกันให้ชัดเจน

“แล้วจะให้ทำยังไง ก็คนมันอยากจะคัดค้านอ่ะ ไหนบอกสิ จะให้ทำยังไง” พบเอกประวิตร กล่าว
///////
“ทักษิณ” เป็นคนไทย อยู่แล้ว! 

“บิ๊กป้อม” ปัดมี “ดีล”!!...ยันไม่เคยคุยกับ “ทักษิณ” สักแอะ!! ชี้เป็นคนไทย อยู่แล้ว ! อยากกลับมาก็กลับเลย แค่มาเข้าคดีตามกม.

“บิ๊กป้อม”ยัน ไม่เคยห้าม”ทักษิณ”กลับบ้าน เพียงแต่กลับมา ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี ชี้เป็นคนไทย ถ้าจะกลับ ก็กลับได้เลย  ..ปัดพัลวัน “อู้ยย” ไม่เคยคุยกับ”ทักษิณ” สักแอะ!!

พลเอกประวิตร กล่าวถึง การที่ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” หาเสียง ที่พิษณุโลก จะพา “ทักษิณ ชินวัตร”  หากได้เป็นรัฐบาล ว่า  เราไม่เคย ไม่ให้กลับ เราอยากให้กลับมาตลอด  แล้วก็มารับคดี มาดำเนินการตามระเบียบของกฎหมายเราไม่เคยห้ามเลยนะ เคยห้ามมั้ย เคยห้ามปะ

“ถ้าจะกลับ ก็กลับได้เลย แล้วมาเข้ากระบวนการทางด้านกฎหมาย ก็ไม่มีอะไร ก็เป็นคนไทยอยู่แล้ว”

เมื่อถามว่า คุณทักษิณ เคยประสานพูดคุย มาเรื่องกลับประเทศ บ้างหรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า  “อู้ยยย!! จะไปถามยังไง คุยยังไม่เคยคุย เลยสักแอะ”

“ชูศักดิ์”กางรัฐธรรมนูญ ยัน ระยะเวลา150 วัน รวมการประกาศผลเลือกตั้งด้วย

“ชูศักดิ์”กางรัฐธรรมนูญ ยัน ระยะเวลา150 วัน รวมการประกาศผลเลือกตั้งด้วย



“ชูศักดิ์” ยัน ระยะเวลา 150 วัน รวมการประกาศผลด้วย พร้อมจี้ เรื่องระยะเวลาลต.ควรทำให้เกิดความชัดเจอย่าปล่อยให้อึมครึมแบบนี้

เมื่อวันที่ 7 มกราคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กกต.เสนอไปยังรัฐบาลให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม 62 เกินจากนั้นไม่ได้ เพื่อที่จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ทันภายในวันที่ 9 พฤษภาคม อันเป็นวันครบกำหนดที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ว่า บางฝ่ายเช่นตัวแทนของรัฐบาล กรธ.บางท่านให้ความเห็นว่าสามารถจัดการเลือกตั้งหลังจากวันที่ 10 มีนาคม และสามารถประกาศผลได้ภายหลังวันที่ 9 พฤษภาคม 62 ได้โดยเห็นว่าระยะเวลา 150วัน หมายถึงจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ไม่รวมระยะเวลาการประกาศผลด้วย 

ทั้งนี้ โดยส่วนตัว แม้ตนไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และไม่แน่ใจว่าผู้ร่างได้คิดถึงประเด็นนี้หรือไม่ ตนเห็นว่า “การให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน150” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 คงต้องพิจารณาถ้อยคำ “ดำเนินการ” และ “แล้วเสร็จ” รัฐธรรมนูญมิได้ใช้ถ้อยคำว่า “ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…” เหมือนมาตราอื่นๆ 

นอกจากนี้ ถ้าจะได้พิจารณามาตราอื่นๆของรัฐธรรมนูญเช่นมาตรา102,103 กรณีเลือกตั้งทั่วไปให้ตราพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใน 45 วัน ถ้าจะเลือกตั้งเพราะยุบสภาให้กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่มีพ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฏร

ทั้งสองกรณีเห็นได้ชัดเจนว่าไม่นับระยะเวลาประกาศผลภายใน 60 วัน ของกกต.เข้าด้วย จึงให้จัดการเลือกตั้ง โดยให้เวลา 45-60 วัน เรื่องนี้ เป็นที่รับรู้กันว่าพรรคการเมืองมีเวลาหาเสียง 45-60 วัน

จึงค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ โดยให้เวลาไว้ถึง150วัน แสดงว่าต้องการให้จัดการเลือกตั้งและประกาศผลเลือกตั้งด้วยจึงให้เวลาไว้มากถึง 150 วัน มิใช่ 45-60 วันเฉพาะการเลือกตั้ง โดยไม่รวมการประกาศผล ดังที่กล่าวมา ระยะเวลาพวกนี้เป็นระยะเวลาเร่งรัดยิ่งเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลยิ่งชัดเจนว่าเขาต้องการให้มีสภาผู้แทนชุดใหม่ภายในเวลานั้น


“เรื่องระยะเวลาการเลือกตั้ง ควรให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยให้อึมครึมแบบนี้ ความเชื่อมั่นไม่มี พรรคการเมืองปฎิบัติตัวไม่ถูก ประชาชนสับสน ตนเองขอเป็นกำลังใจให้กกต.ที่มิได้เออออห่อหมกไปกับเขาแบบไม่ลืมหูลืมตา ตนหวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่สูญเปล่าและกลายเป็นชนวนวิกฤตของประเทศขึ้นมาอีก” นายชูศักดิ์ กล่าว


ลดโทนการเมือง “เร่งเลือกตั้ง” รับปีมหามงคล : พลังสามัคคี เปลี่ยนผ่านประเทศ

ข่าวมหามงคลประเดิมศักราชใหม่

วันที่ 1 มกราคม 2562 สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามใจความ เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น

ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นดังนี้

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย พระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช 2562

พิธีเปลี่ยนผ่านแผ่นดินตามโบราณราชประเพณี

ตามสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตามแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจะได้ร่วมกับพสกนิกรชาวไทย เตรียมการจัดงานสนองพระราชดำริและพระมหากรุณาธิคุณให้สมพระเกียรติตามพระราชประเพณี

รัฐบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยจะมีการกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ถือเป็นห้วงเวลาสุดพิเศษของพสกนิกรชาวไทย

อย่างไรก็ตาม โดยเงื่อนไขสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวกันกับปฏิทินทางการเมือง เรื่องของโรดแม็ปเลือกตั้งที่กระชั้นขึ้นตามลำดับขั้นตอนที่ล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญ

และเริ่มนับถอยหลังตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ปลายปีที่ผ่านมา

โดยไฟต์บังคับ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

ประกอบกับตุ๊กตาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วางโปรแกรม ล็อกคิววันเลือกตั้ง อย่างเร็วสุดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรืออย่างช้าสุด คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

และด้วยเหลี่ยมเขย่าของนัก การเมืองอาชีพรุมแห่กระแสกดดัน

เร้าบรรยากาศคืนอำนาจ บีบคั้นรัฐบาล คสช. จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องคล้อยตามแรงกระแทก

ส่งสัญญาณเป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งประเทศ

ล็อกคิวแรก 24 กุมภาพันธ์ คือวันดีเดย์เข้าคูหากาบัตร

แต่เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ห้วงเวลาพิเศษที่สำคัญเหนืออื่นใด นั่นก็ทำให้ต้องมีการ
พูดถึงเงื่อนเวลาที่เหมาะสมกันใหม่

คิวเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ที่รับรู้กันทั้งประเทศ แต่ในวงเล็บ “อย่างไม่เป็นทางการ”

ตามสถานการณ์แนวโน้มสูงที่ต้อง “ยก” ออกไป

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์จำเป็นแบบที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ต้องหอบปฏิทินเดินทางเข้าพบหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อพระราชพิธีสำคัญ

โดยมีการกางหมายกำหนดการ รายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เทียบกับกำหนดเวลาในกระบวนการเลือกตั้งที่ล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญ

พบว่ามีความกระชั้นชิดในเชิงปฏิบัติอย่างมาก กล่าวคือ จะมีพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4–6 พฤษภาคม แต่ในรายละเอียดก่อนหน้านั้นก็จะมีพิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมถึงหลังพระราชพิธีแล้วจะยังมีกิจกรรมต่างๆอีกประมาณ 15 วันเช่นกัน

ถ้ายึดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน คือไม่เกิน 24 เมษายน จากนั้นภายใน 15 วัน จะต้องเสด็จเปิดการประชุมรัฐสภานัดแรก โดยจะตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม 2562

เหนืออื่นใด โดยขั้นตอนเวลา ไม่ใช่แค่ กกต.หรือรัฐบาลเท่านั้น

แต่ต้องคำนึงถึงจุดบังควรมิบังควรที่รัฐบาลและ กกต.ไม่สามารถกำหนดได้ด้วย

เอาเป็นว่า ความเป็นไปได้น้อยมาก ถ้าจะล็อกคิวเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยต้องควบคุมบรรยากาศการหาเสียงไม่ให้กระทบพระราชพิธี และต้องลุ้นประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเร็วหรือช้า

มีเวลาให้นักการเมืองอาชีพหาเสียงแบบด่วนจี๋ไม่กี่วัน

โดยที่ กกต.ต้องร่นระยะเวลาในการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับทุจริตใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ปล่อยผีกันง่ายๆ

เพื่อให้เปิดสภาฯตั้งรัฐบาลใหม่ได้ทันก่อนพระราชพิธี

เช่นเดียวกับระดับความเป็นไปได้ “น้อยที่สุด” กับขบวนการสุดโต่งที่เสนอให้เลื่อนคิวเลือกตั้งออกไปภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลากยาวไปหลังเดือนพฤษภาคม ซึ่งนั่นจะเกินเงื่อนเวลา 150 วัน หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ส่อบานปลายใหญ่ โดยที่ดาบสารพัดนึกมาตรา 44 ไม่สามารถผ่าทางตันได้

อาจต้องถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญกันเลย

เรื่องของเรื่อง ตามรูปการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดนั่นคือ “ยก” คิวเลือกตั้งออกไปอีก 1 เดือนกำหนดคิวเข้าคูหากาบัตรในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม

โดยนับวัน “ย้อนถอยหลัง” ตามที่นายวิษณุ “ไกด์ไลน์” วันเหมาะสมในการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง คือวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อจะตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนมิถุนายน

เลือกตั้งก่อน แต่ตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลปัจจุบัน ดูแลรับผิดชอบกระบวนการเปลี่ยนผ่านสำคัญนั่นก็จะได้ไม่ต้องเร่งรีบ กระชั้นชิดจนเกินไป

มันคือความเหมาะสม ไม่ใช่เหลี่ยมที่ใครจะได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองแต่อย่างใด

เป็นเรื่องที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศรับรู้ตรงกัน รวมทั้งต่างชาติ นานาประเทศเองก็เข้าใจเงื่อนไขสถานการณ์แบบไทยๆ

ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จะเห็นมีก็แต่บรรดานัก การเมืองอาชีพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ขบวนการเคลื่อนไหวม็อบอยากเลือกตั้ง ที่ยังสนุกสนานกับการเล่นเกมชิงกระแส แห่เกมจี้เลือกตั้งกดดันรัฐบาลและ กกต.

ส่อพฤติการณ์เหมือน “แกล้งไม่รู้”

พระราชพิธีเปลี่ยนผ่านแผ่นดินตามโบราณราชประเพณี สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ไม่มีอะไรจะพิเศษไปกว่า “ปีมหามงคล”

เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคน ประชาชนทุกภาคส่วน ต้องรวมพลังสามัคคี

ยิ่งเป็นอะไรที่สัมผัสได้ถึงสถานการณ์ที่ “เปราะบาง” ตามธรรมชาติในห้วงสุญญากาศอำนาจเลือกตั้ง จังหวะการ บริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนมีรัฐบาลใหม่

ระดับความอ่อนไหวด้านความมั่นคงท่ามกลางความเสี่ยงที่ปมขัดแย้งการเมืองกลับมาคุกรุ่น

ขั้วอำนาจเก่า ขั้วขัดแย้งเดิมๆรอทวงแค้นอำนาจ

ในสภาวการณ์ล่อแหลมทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญวิกฤติภายนอก สงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก หนีไม่พ้นส่งแรงกระแทกต่อการส่งออกของไทย

อารมณ์แบบที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ พยายาม “กัดฟัน” ปลุกขวัญ ปลุกใจ ไม่ห่วงข่าวเลื่อนเลือกตั้งกระทบตลาดหุ้น นักลงทุนไม่ต้องกังวลเพราะรัฐบาลดูแลอยู่

ดูจากรูปการณ์เศรษฐกิจ “ปีหมู” เจอ “หมูป่าเขี้ยวตัน” แน่

ไม่นับเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากคาดการณ์ล่วงหน้า อย่างที่เห็นการระดมรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่พัดถล่มพื้นที่ภาคใต้ จำกัดวงความเสียหายให้น้อยที่สุด

ถ้าไม่มีรัฐบาลเป็นหลักคุมสถานการณ์ เลือกตั้งแล้วการเมืองตีกันป่วนช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ

หลับตานึกภาพไม่เห็น เพราะฝุ่นควันมันจะตลบอบอวลไปหมด.


“ทีมการเมือง”

เพื่อไทยตีขลุมเลื่อน=เลิก

    อดีต กรธ.ยันจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ไม่นับรับรองผล ส.ส. 60 วัน ยก รธน.50เทียบเคียงไม่ทำให้เป็นโมฆะ วอนอย่าวิตกเกินเหตุ "เพื่อแม้ว" บ่นสิ้นหวัง ผวาเลื่อนเลือกตั้งเท่ากับไม่มีเลือกตั้ง หากไม่ประกาศผลภายใน 9 พ.ค.62 ศาล รธน.ตีความโมฆะ คสช.อยู่ยาว ขณะที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งบุกอนุสาวรีย์ชัยฯ ย้ำไม่ให้เลื่อน "ปิยบุตร" ดอดร่วมชุมนุม เชื่อ 2 งานสำคัญเดินหน้าพร้อมกันได้ แนะรัฐบาลมาจากเลือกตั้งจัดพระราชพิธีสง่างามกว่า
    เมื่อวันอาทิตย์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งและประกาศผลให้ได้ก่อน 9 พ.ค. ซึ่งอยู่ในกรอบ 150 วัน เพื่อป้องกันไม่เสี่ยงถูกร้องเลือกตั้งโมฆะว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า เมื่อ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 4 ฉบับ จะต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่ง 150 วันก็คือต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง คือให้คนไปเข้าคูหาเลือกตั้งหรือหย่อนบัตร แต่ไม่รวมถึงการนับคะแนนหรือประกาศแต่อย่างใด ส่วนการประกาศผลกฎหมายกำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน เพื่อให้สามารถประชุมสภานัดแรกได้
    “เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผล 11 ธันวาคม 2561 ก็นับวันไป150 วัน ก็จะไปครบวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่ง กกต.จะจัดวันเลือกตั้งในวันใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 9 พฤษภาคม 2562" นายชาติชายกล่าว 
    นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. กล่าวว่า กรธ.ยืนยันมาหลายครั้งแล้วว่าเมื่อกฎหมายประกอบ รธน. 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.62 ส่วนประกาศรับรองผล ส.ส.สามารถทำภายหลังวันเลือกตั้งได้ แต่ไม่เกิน 60 วัน และที่ผ่านมาการจัดเลือกตั้งในอดีตก็ดำเนินการตามบรรทัดฐานนี้ ดังนั้น หากวันที่ 24 ก.พ.62 ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เพราะมีเหตุอันสมควร ก็สามารถขยับได้ แต่ไม่เกิน 150 วัน แต่สุดท้ายหากเกิดประเด็นปัญหาขึ้นในช่วงนั้น ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงก็สามารถไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ อาทิ สนช., กกต.    
    "แต่หากผู้มีส่วนได้เสียเป็นนักการเมืองจะไปร้องเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาว่าตัวเองเสียหายนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวข้องที่ทำให้ตัวได้หรือไม่ได้เป็น ส.ส. ขณะที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ก็อาจยื่นตีความได้เช่นกัน โดยผ่านช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินหากเห็นชอบตามที่ร้องก็ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่หากไม่เห็นด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินตีตกไป ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการวิตกจนเกินเหตุ" นายอุดมกล่าว
    ก่อนหน้านี้ นายนรชิต สิงหเสนี อดีตโฆษก กรธ.เคยให้ความเห็น โดยยกตัวอย่างกรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติถ้อยคำในทำนองเดียวกัน และพบว่า กกต.ในอดีตเพียงแค่จัดให้มีการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลาเท่านั้น โดยในมาตรา 296 ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน...ทั้งนี้ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ม.295 มีผลใช้บังคับ” ซึ่งถ้อยคำคำว่า “ให้แล้วเสร็จ” ทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ 60 เพียงแต่แตกต่างกันที่กำหนดระยะเวลาเท่านั้น เมื่อดูกระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ในขณะนั้น มีการทยอยประกาศผลการเลือกตั้ง 8 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3-29 ม.ค. 2551 จะเห็นได้ว่า กกต.ชุดดังกล่าวจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่ประกาศผลเลือกตั้งได้เพียง 403 คน จากนั้นก็ทยอยประกาศรับรองผล ส.ส.ต่อไป แม้จะเลยกำหนด 90 วันไปแล้วก็ตามจนครบจำนวน โดยไม่ทำให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโฆฆะแต่อย่างใด     
เลื่อนเท่ากับไม่มีเลือกตั้ง
    ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แค่เรื่องจะกำหนดวันเลือกตั้ง ให้ชัดเจนว่าวันไหนยังทำท่างุนงงกันไปหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายความว่าอย่างไร เรื่องง่ายแค่นี้ยังหาคนให้คำตอบไม่ได้ คำตอบที่สังคมวันนี้ต้องการ คือ การจัดการเรื่องการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จนั้นกฎหมายตีความว่าอย่างไร ระหว่างการจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นใน 150 วัน หรือให้รวมหมายถึงต้องมีการประกาศผลให้ลุล่วงอย่างน้อย 95% เพื่อให้สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้คำตอบอยู่ในสายลม โยนกันไป-โยนกันมาอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันระหว่าง กกต.กับรัฐบาล 
    "ที่น่าเศร้ากว่านั้น เมื่อมีคำถามถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าตอนร่างมีเจตนารมณ์อย่างไร คำตอบที่ได้คือ "มีหน้าที่ร่าง ไม่ได้มีหน้าที่ตีความ" และหากจะถามองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตีความ แนวทางที่ผ่านมาอาจมีคำตอบคือ เรื่องยังไม่เกิด ยังวินิจฉัยไม่ได้ สรุปว่าการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ยังคงหาคำตอบจากใครไม่ได้เลย เฮ้อ สิ้นหวังประเทศไทย" นายภูมิธรรมระบุ 
    นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากคิดว่ามันติดทุกอย่างก็ติดไปหมด ระยะเวลาประกาศผลเลือกตั้งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาบอกว่า 60 วัน จนทำให้ไปคาบเกี่ยวกับพระราชพิธีนั้น ถ้า กกต.เร่งประกาศผลการเลือกตั้งให้เร็วกว่า โดยใช้เวลาเพียง 30 วัน ทุกอย่างจะลงตัว และจะเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ในช่วงงานพระราชพิธีฯ เราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคอยทำหน้าที่ ไม่ใช่ให้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเป็นผู้ดำเนินการ และประมุขแห่งรัฐในประเทศประชาธิปไตยก็ได้มาร่วมแสดงความยินดีในงานพระราชพิธีฯ ครั้งนี้ด้วยความสบายใจ  
    นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับ (อาจ) ไม่มีเลือกตั้ง” ระบุว่า การเลื่อนไป 1 เดือน จากวันที่ 24 ก.พ. เหมือนเป็นเวลาสั้นๆ แต่เวลาเพียง 1 เดือนนี้แหละที่อาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้อีกเลย การเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 1 เดือนนี้ มีนัยแอบแฝงหรือไม่ เพราะเชื่อว่ามีบางกลุ่ม บางพรรคไม่อยากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ แต่เดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงยิ่ง คำว่า "การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" หมายถึงภารกิจของการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดของ กกต.แล้วเสร็จ ซึ่งกินความตั้งแต่การกำหนดวันเลือกตั้ง จนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ด้วย เมื่อมีความแตกต่างกันใน "ภารกิจ" เช่นนี้ ต้องยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น  
     "การเสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 จึงสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฯ เพราะ กกต.อาจไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 9 พ.ค.2562 และอาจมีผู้ไปร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ กกต.ถูกฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญา หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สนช.และ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด ตามบทบัญญัติในมาตรา 263 และ 264 ของรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน อาจไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกเมื่อไร ไม่มีใครทราบได้ เพราะบทเฉพาะกาลไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาในสถานการณ์จำลองนี้ ดังนั้น การเลื่อนเลือกตั้งอาจนำไปสู่การไม่มีเลือกตั้งไปอีกนาน" นายสุรพงษ์ระบุ
     น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลและ กกต.เผยว่าจะต้องมีการเลื่อนเลือกตั้ง ทุกคนคงทราบดีว่ากระแสสังคมต่อต้านเช่นไร ถึงกับเป็นแฮชแท็กต่อต้านการเลื่อนเลือกตั้งสูงที่สุดของทวิตเตอร์ ถ้าจริงใจต้องการให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 จริงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ การเลื่อนเลือกตั้งต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน เพื่อไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ ถ้ามีการเลื่อนวันเลือกตั้งต้องเลื่อนไปช้าที่สุดคือวันที่ 10 มี.ค. แต่ถ้าเลื่อนไปวันที่ 24 มี.ค. เพราะจากวันเลือกตั้ง กกต.ใช้เวลารับรองผล อีก 60 วัน ซึ่งจะเกินวันที่ 9 พ.ค.2562 เมื่อมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเป็นโมฆะ ทำให้ประเทศสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเสียเปล่า อีกทั้งทำให้ประชาชนไทยต้องถูกเผด็จการกดขี่บังคับปกครองต่อไปไม่สิ้นสุด 
เลื่อนก็แพ้ ไม่เลื่อนก็แพ้
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น มีข่าวว่าส่งมาที่ทำเนียบรัฐบาลนานแล้วจริงหรือไม่ รัฐบาลควรชี้แจงเรื่องนี้ให้สิ้นความสงสัย เพราะพล.อ.ประยุทธ์มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยเหตุที่ว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปปราศรัยทุกเวทีว่าคือ พล.อ.ประยุทธ์ บุคคลที่พรรค พปชร.เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค พปชร. ผู้คนจึงสงสัยในพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และแทบไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดคณะรัฐประหารก็ยอมตกอยู่ภายใต้การนำของบรรดานักการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยด่าว่าแล้วประเทศจะปฏิรูปไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยแถลงไว้ได้อย่างไร มันเป็นการเมืองน้ำเน่ายิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเสียด้วยซ้ำ
     นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สำหรับอภิสิทธิ์ชนไทยๆ  เลื่อนก็ไม่ชนะ ไม่เลื่อนก็ไม่ชนะ การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรม เป็นธรรมเนียม ที่ต้องกระทำในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบอบอะไรๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบสหรัฐหรือสหราชอาณาจักร ที่มีสองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ (ในนาม) มีพรรคเดียวแบบจีน เกาหลีเหนือ หรือเวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศคณาธิปไตยทหารอย่างพม่า ในที่สุดต่างก็ต้องมีเลือกตั้ง คณาธิปไตยทหารไทย ที่เหมือน แต่ก็ต่างจากพม่า ตรงที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ แม้จะยื้อ จะเลื่อนเลือกตั้งมาหลายปี ก็คงต้องยอมให้มีเลือกตั้งแน่นอน ที่น่ากลัวสำหรับคณาธิปไตยทหารไทย กับผู้สนับสนุนหลัก+พรรคการเมืองตัวแทน คือ ทำอย่างไรถึงจะ "ไม่แพ้" แล้วถูกชำระ ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายเขา ฝ่ายกระทำรัฐประหารถึงเลื่อนก็แพ้ ถึงไม่เลื่อนก็แพ้ ส่วนฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายถูกรัฐประหารกระทำ ถึงเลื่อนก็ชนะ ถึงไม่เลื่อนก็ชนะ
     บ่ายวันเดียวกัน ที่สกายวอล์ก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ, นายเอกชัย หงส์กังวาน, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง, นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกด ร่วมกันชูป้ายและพัดข้อความว่า "#ไม่เลื่อน" , "#ไม่เลื่อนเลือกตั้ง", “#เลื่อนแม่มึงสิ”  เพื่อแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องรัฐบาล และ กกต. ฟังเสียงประชาชน พร้อมตะโกน ไม่เลื่อนเลือกตั้ง ตลอดการชุมนุม โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนายรังสิมันต์ โรม ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าร่วมกิจกรรมกิจกรรมด้วย
    นายปิยบุตรเปิดเผยว่า ตนมาให้กำลังใจในฐานะประชาชนคนหนึ่งกับผู้ที่รณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ข้ออ้างของผู้มีอำนาจที่จะใช้เลื่อนเลือกตั้งจาก 24 ก.พ.62 เนื่องจากช่วงเวลาทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นจะให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการจัดพระราชพิธี เพราะเห็นว่าการที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้จัดพระราชพิธีนั้นจะสง่างามกว่า 
    "เชื่อว่าหากเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 นั้น กกต. จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ใน 30 วัน ลักษณะเดียวกับการเลือกตั้ง ปี 54 แม้กฎหมาย จะกำหนดไว้ 60 วันก็ตาม จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับการจัดงานพระราชพิธีฯ และสามารถให้สองกิจกรรมสำคัญของชาติดำเนินควบคู่ไปได้โดยไม่ต้องเลื่อนการเลือกตั้ง  เนื่องจากที่ผ่านมา คสช.เป็นคนขยับโรดแมปเลือกตั้งมาถึง 5-6 ครั้ง" นายปิยบุตรกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ภายหลังการทำกิจกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางสกายวอล์ก รอบอนุสาวรีย์ฯ ก่อนสลายการชุมนุมโดยสงบ.