PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

ลดโทนการเมือง “เร่งเลือกตั้ง” รับปีมหามงคล : พลังสามัคคี เปลี่ยนผ่านประเทศ

ข่าวมหามงคลประเดิมศักราชใหม่

วันที่ 1 มกราคม 2562 สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามใจความ เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น

ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นดังนี้

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย พระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช 2562

พิธีเปลี่ยนผ่านแผ่นดินตามโบราณราชประเพณี

ตามสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตามแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจะได้ร่วมกับพสกนิกรชาวไทย เตรียมการจัดงานสนองพระราชดำริและพระมหากรุณาธิคุณให้สมพระเกียรติตามพระราชประเพณี

รัฐบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยจะมีการกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ถือเป็นห้วงเวลาสุดพิเศษของพสกนิกรชาวไทย

อย่างไรก็ตาม โดยเงื่อนไขสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวกันกับปฏิทินทางการเมือง เรื่องของโรดแม็ปเลือกตั้งที่กระชั้นขึ้นตามลำดับขั้นตอนที่ล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญ

และเริ่มนับถอยหลังตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ปลายปีที่ผ่านมา

โดยไฟต์บังคับ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

ประกอบกับตุ๊กตาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วางโปรแกรม ล็อกคิววันเลือกตั้ง อย่างเร็วสุดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรืออย่างช้าสุด คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

และด้วยเหลี่ยมเขย่าของนัก การเมืองอาชีพรุมแห่กระแสกดดัน

เร้าบรรยากาศคืนอำนาจ บีบคั้นรัฐบาล คสช. จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องคล้อยตามแรงกระแทก

ส่งสัญญาณเป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งประเทศ

ล็อกคิวแรก 24 กุมภาพันธ์ คือวันดีเดย์เข้าคูหากาบัตร

แต่เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ห้วงเวลาพิเศษที่สำคัญเหนืออื่นใด นั่นก็ทำให้ต้องมีการ
พูดถึงเงื่อนเวลาที่เหมาะสมกันใหม่

คิวเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ที่รับรู้กันทั้งประเทศ แต่ในวงเล็บ “อย่างไม่เป็นทางการ”

ตามสถานการณ์แนวโน้มสูงที่ต้อง “ยก” ออกไป

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์จำเป็นแบบที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ต้องหอบปฏิทินเดินทางเข้าพบหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อพระราชพิธีสำคัญ

โดยมีการกางหมายกำหนดการ รายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เทียบกับกำหนดเวลาในกระบวนการเลือกตั้งที่ล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญ

พบว่ามีความกระชั้นชิดในเชิงปฏิบัติอย่างมาก กล่าวคือ จะมีพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4–6 พฤษภาคม แต่ในรายละเอียดก่อนหน้านั้นก็จะมีพิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมถึงหลังพระราชพิธีแล้วจะยังมีกิจกรรมต่างๆอีกประมาณ 15 วันเช่นกัน

ถ้ายึดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน คือไม่เกิน 24 เมษายน จากนั้นภายใน 15 วัน จะต้องเสด็จเปิดการประชุมรัฐสภานัดแรก โดยจะตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม 2562

เหนืออื่นใด โดยขั้นตอนเวลา ไม่ใช่แค่ กกต.หรือรัฐบาลเท่านั้น

แต่ต้องคำนึงถึงจุดบังควรมิบังควรที่รัฐบาลและ กกต.ไม่สามารถกำหนดได้ด้วย

เอาเป็นว่า ความเป็นไปได้น้อยมาก ถ้าจะล็อกคิวเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยต้องควบคุมบรรยากาศการหาเสียงไม่ให้กระทบพระราชพิธี และต้องลุ้นประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเร็วหรือช้า

มีเวลาให้นักการเมืองอาชีพหาเสียงแบบด่วนจี๋ไม่กี่วัน

โดยที่ กกต.ต้องร่นระยะเวลาในการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับทุจริตใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ปล่อยผีกันง่ายๆ

เพื่อให้เปิดสภาฯตั้งรัฐบาลใหม่ได้ทันก่อนพระราชพิธี

เช่นเดียวกับระดับความเป็นไปได้ “น้อยที่สุด” กับขบวนการสุดโต่งที่เสนอให้เลื่อนคิวเลือกตั้งออกไปภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลากยาวไปหลังเดือนพฤษภาคม ซึ่งนั่นจะเกินเงื่อนเวลา 150 วัน หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ส่อบานปลายใหญ่ โดยที่ดาบสารพัดนึกมาตรา 44 ไม่สามารถผ่าทางตันได้

อาจต้องถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญกันเลย

เรื่องของเรื่อง ตามรูปการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดนั่นคือ “ยก” คิวเลือกตั้งออกไปอีก 1 เดือนกำหนดคิวเข้าคูหากาบัตรในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม

โดยนับวัน “ย้อนถอยหลัง” ตามที่นายวิษณุ “ไกด์ไลน์” วันเหมาะสมในการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง คือวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อจะตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนมิถุนายน

เลือกตั้งก่อน แต่ตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลปัจจุบัน ดูแลรับผิดชอบกระบวนการเปลี่ยนผ่านสำคัญนั่นก็จะได้ไม่ต้องเร่งรีบ กระชั้นชิดจนเกินไป

มันคือความเหมาะสม ไม่ใช่เหลี่ยมที่ใครจะได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองแต่อย่างใด

เป็นเรื่องที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศรับรู้ตรงกัน รวมทั้งต่างชาติ นานาประเทศเองก็เข้าใจเงื่อนไขสถานการณ์แบบไทยๆ

ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จะเห็นมีก็แต่บรรดานัก การเมืองอาชีพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ขบวนการเคลื่อนไหวม็อบอยากเลือกตั้ง ที่ยังสนุกสนานกับการเล่นเกมชิงกระแส แห่เกมจี้เลือกตั้งกดดันรัฐบาลและ กกต.

ส่อพฤติการณ์เหมือน “แกล้งไม่รู้”

พระราชพิธีเปลี่ยนผ่านแผ่นดินตามโบราณราชประเพณี สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ไม่มีอะไรจะพิเศษไปกว่า “ปีมหามงคล”

เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคน ประชาชนทุกภาคส่วน ต้องรวมพลังสามัคคี

ยิ่งเป็นอะไรที่สัมผัสได้ถึงสถานการณ์ที่ “เปราะบาง” ตามธรรมชาติในห้วงสุญญากาศอำนาจเลือกตั้ง จังหวะการ บริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนมีรัฐบาลใหม่

ระดับความอ่อนไหวด้านความมั่นคงท่ามกลางความเสี่ยงที่ปมขัดแย้งการเมืองกลับมาคุกรุ่น

ขั้วอำนาจเก่า ขั้วขัดแย้งเดิมๆรอทวงแค้นอำนาจ

ในสภาวการณ์ล่อแหลมทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญวิกฤติภายนอก สงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก หนีไม่พ้นส่งแรงกระแทกต่อการส่งออกของไทย

อารมณ์แบบที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ พยายาม “กัดฟัน” ปลุกขวัญ ปลุกใจ ไม่ห่วงข่าวเลื่อนเลือกตั้งกระทบตลาดหุ้น นักลงทุนไม่ต้องกังวลเพราะรัฐบาลดูแลอยู่

ดูจากรูปการณ์เศรษฐกิจ “ปีหมู” เจอ “หมูป่าเขี้ยวตัน” แน่

ไม่นับเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากคาดการณ์ล่วงหน้า อย่างที่เห็นการระดมรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่พัดถล่มพื้นที่ภาคใต้ จำกัดวงความเสียหายให้น้อยที่สุด

ถ้าไม่มีรัฐบาลเป็นหลักคุมสถานการณ์ เลือกตั้งแล้วการเมืองตีกันป่วนช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ

หลับตานึกภาพไม่เห็น เพราะฝุ่นควันมันจะตลบอบอวลไปหมด.


“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: