PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

จรัญแจง ศาลไม่ได้ตีความเกินคำขอ เพิ่มอำนาจ ส.ว.ยกเว้นนายกฯบัญชี มุ่งแก้ปัญหาชาติ

“จรัญ” แจง คำวินิจฉัยศาล รธน.ไม่ตีความเกินคำขอ ยึดกรอบตาม รธน. ชี้เพิ่มอำนาจให้ ส.ว.ร่วมขอยกเว้นนายกฯจากบัญชีพรรค มุ่งแก้ปัญหาชาติ-ปัดเปิดทางนายกฯคนนอก
เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปปรับแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่างรัฐธรรมนูญชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยตามคำขอของใคร แต่วินิจฉัยตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามี 2 ประเด็นคือ 1.ร่างของ กรธ.กำหนดเรื่องที่ให้สมาชิกรัฐสภาในวาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มี ส.ส. ซึ่งไม่ตรงกับวรรคแรกของคำถามพ่วงที่เขียนไว้ว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับจากมีรัฐสภา” ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่าต้องใช้กรอบเวลาเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะขัดแย้งกันหมด จึงขอให้มีการแก้ไขเรื่องกำหนดเวลาและการเริ่มนับเวลาให้ตรงกับคำถามพ่วง ไม่ใช่วาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มี ส.ส. เพราะวาระเริ่มแรกหมายถึงครั้งเดียวหลังเลือกตั้ง ส.ส. จึงทำให้เกิดข้อคิดว่า ถ้าตั้งนายกฯ ไปครั้งหนึ่งหลังจากนั้นนายกฯลาออก หรือมีเหตุให้เปลี่ยนรัฐบาล ต้องตั้งนายกฯใหม่ก็ยังอยู่ใน 5 ปีแรก ตามผลออกเสียงประชามติของประชาชน แต่เกิดข้อติดขัดไม่สามารถเลือกคนจากบัญชีรายชื่อได้ แล้วจะขอยกเว้นเพื่อปลดล็อก ตามมาตรา 272 วรรคสองก็จะทำไม่ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ
“ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ตรวจสอบตามคำขอของ กรธ.หรือตามคำขอของใคร ดังนั้น จะมีคำขอหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพบว่าไม่สอดคล้องกับผลออกเสียงประชามติก็ต้องแก้ให้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่การไปใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ไม่ให้พิพากษาเกินคำขอ มันคนละระบบคนละศาล จึงต้องตัดประเด็นเรื่องคำขอไปเลย” นายจรัญกล่าว
นายจรัญกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขคือ การเข้าชื่อขอยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อ ซึ่ง กรธ.เห็นว่าให้เป็นเรื่องของ ส.ส.เข้าชื่อกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเข้าชื่อด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอนุมัติยกเว้น ก็ควรให้สมาชิกของรัฐสภาร่วมกันทำ เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาประเทศในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อได้ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง โดยไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของ ส.ส.ที่มีอยู่เดิม ส่วนการเสนอชื่อนายกฯ ก็ยังให้เป็นอำนาจของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญบทหลักในมาตรา 159
เมื่อถามว่า กรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเปิดทางให้มีนายกฯคนนอกนั้น นายจรัญกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะ ส.ส.ต้องเสนอชื่อคนจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอย่างน้อยน่าจะมี 3 พรรคที่ได้คะแนนเสียงเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในสภา เท่ากับมี 9 คน แต่ถ้าติดล็อกว่าที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบ ก็เท่ากับว่าต้องเลือก 9 รอบจาก 9 คน ดังนั้น จะปล่อยให้ประเทศอยู่ในภาวะอย่างนั้นนานๆ ก็อันตราย และไม่มีทฤษฎีใดที่จะสำคัญไปกว่าความมั่นคงอยู่รอดของประเทศชาติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงแก้ไขให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเข้าชื่อเสนอขอยกเว้นนายกฯจากบัญชีรายชื่อได้ด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ตัดสิทธิ ส.ส.
“สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า กรธ.บางคนอยากพบกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอความชัดเจนในการปรับแก้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการพบกันระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับ กรธ.หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นมติร่วมกันขององค์คณะทั้งหมด” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

วิษณุ ยันเลือกนายกฯ ไร้ทางตัน เหตุ รบ.มี ม.44 สั่งยุบสภาเลือกใหม่ได้

วิษณุ ยันเลือกนายกฯ ไร้ทางตัน เหตุ รบ.มี ม.44 สั่งยุบสภาเลือกใหม่ได้

"วิษณุ" ชี้ต้องร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง-กกต.เสร็จก่อน ไม่งั้นเขียน พ.ร.ป.เลือกตั้งไม่ได้ ระบุ เลือกนายกฯ หลังเลือกตั้งไม่ไร้ทางตัน หากตกลงไม่ได้ รัฐบาล-คสช. มีอำนาจยุบสภาเลือกใหม่ เหตุ ม.44 ยังอยู่ บอกไม่รู้ตั้งปลัด กทม.ตกค้างขั้นไหน ให้ถามสันติบาลปมห้ามแอมเนสตี้

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 59 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่า ตนไม่เคยตอบว่าต้องร่าง พ.ร.ป.ให้เสร็จภายใน 4 เดือน เพียงแต่ระบุว่า น่าจะทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน หากไม่เสร็จก็ขยายเวลาไปจนครบ 8 เดือน ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดแล้วว่า จะทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เสร็จก่อน มิฉะนั้นจะไม่สามารถเขียนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งได้ เพราะยังไม่ทราบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถแจกใบใดได้บ้าง ถ้าเขียนกติกาเลือกตั้งก่อน จะโยงไม่ถึง กกต. รวมทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต้องทำกฎหมายพรรคการเมืองให้ชัดเจน จึงจะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งได้ แต่ระหว่างนั้นสามารถร่างกฎหมายเลือกตั้งไปด้วย ส่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เซตซีโร่องค์กรอิสระนั้น ตนไม่ทราบ และถ้าทำตามที่หลายเสียงร้องขอ อาจถูกตำหนิได้ว่าไร้สาระ ไม่มีเหตุผล ไม่มีประโยชน์ ขณะเดียวกัน ขอยืนยันรัฐบาลไม่มีส่วนเสนอกฎหมายลูก แต่สำหรับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง อาจต้องมีส่วนไปดู แต่ยังไม่ทราบว่าจะดูส่วนไหน เพราะยังไม่เสร็จ

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติ ซึ่ง กรธ.ส่งให้ตีความว่า คำวินิจฉัยของศาลที่แตกต่างจากร่างของ กรธ. เป็นเพราะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาได้ตั้งแต่ร่างแรก เมื่อปรับแก้ใส่คำถามพ่วงเข้าไป ก็ต้องไปวินิจฉัยอีก เมื่อศาลว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ไม่มีปัญหา และพร้อมแก้ไข ขณะที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกรัฐสภาในการลงมติ แต่ยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี สำหรับเรื่องระยะเวลา 5 ปี ศาลรัฐธรรมนูญเกรงว่าจะเกิดข้อถกเถียงและตีความได้ 2 นัยและเกิดเรื่องยุ่งยาก จึงเขียนให้ชัดไว้เลยว่าให้ ส.ว.สามารถเลือกนายกฯ คนนอก ภายในเวลา 5 ปี  ถ้ารัฐสภายังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ต้องเลือกไปเรื่อยๆ รัฐธรรมนูญบางฉบับระบุว่าจะต้องเลือกนายกฯ ให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าเลือกไม่ได้จะทำอย่างไร ซึ่งคำตอบคือต้องเลือกไปเรื่อยๆ เมื่อเลือกไปสักระยะ 5-6 เดือนแล้ว สังคมต้องยอมรับว่าเมื่อตกลงกันไม่ได้ ก็แสดงว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาตามรัฐธรรมนูญ คือการยุบสภาโดยรัฐบาลปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ไปจนถึงมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่ถวายสัตย์ปฏิญาณ และเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยที่มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังมีผลอยู่

"ผมไม่ได้เปิดประเด็นว่าให้ยุบสภา แต่เมื่อมีการถามว่าถ้าเลือกไม่ได้จะทำอย่างไร แต่ทางไม่ตัน ถ้าเลือกไม่ได้แสดงว่าประชาชน หรือผู้แทนของเขาไม่พอใจที่จะให้มีรัฐบาล การเลือกนายกฯ ไม่มีกำหนดเวลา แต่ต้องดูตามความเหมาะสม  จึงต้องช่วยกันเลือกให้ได้ก็จะหมดเรื่อง ถ้าเลือกตั้งแต่รอบแรกตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ยิ่งวิเศษที่สุด" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีกรุงเทพมหานคร ทวงถามรัฐบาลถึงการแต่งตั้งปลัดกรุงเทพมหานครคนใหม่ว่า ไม่ทราบว่าขณะนี้เรื่องอยู่ที่ไหน การเสนอชื่อปลัดกรุงเทพมหานครไม่ได้มาถึงตน ส่วนที่มีข่าวว่า รัฐบาลได้ส่งรายชื่อกลับไปยังผู้เสนอนั้น ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่า สรุปแล้วการตั้งปลัดกรุงเทพมหานครคนใหม่ จะเป็นคนใน กทม.หรือคนนอก กทม. นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้มาที่ตน ตนไม่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่สันติบาล ห้ามแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเปิดรายงานการซ้อมทรมานในประเทศไทยว่า ตนไม่ทราบรายเอียด เห็นเพียงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่ามีปัญหาเรื่องใบอนุญาตทำงาน การห้ามเช่นนี้อาจมีมาก่อนเพียงแต่เราไม่ทราบ ส่วนที่องค์การต่างๆ สามารถเข้าประชุมในไทยได้เพราะมีการเชิญและได้รับอนุญาตจากรัฐบาล แต่องค์กรแอมเนสตี้ฯ ไม่มีใครเชิญ ความจริงเรื่องการแถลงถ้าจะแถลงสามารถทำได้ แต่ครั้งนี้อาจเกิดความเข้าใจที่ผิดบางอย่าง จึงทำให้แถลงไม่ได้ ทั้งนี้ หากจะยื่นข้อเรียกร้องมายังไทยสามารถทำได้ แต่เรื่องแถลงข่าวอยากให้สื่อไปถามผู้ห้ามมากกว่า ว่าห้ามเพราะอะไร

บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ย้ายฟ้าผ่า 4 ผู้ว่าฯ ตั้ง 'ศรศักดิ์' อธิบดีกรมเจ้าท่า

บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ออกคำสั่งย้ายฟ้าผ่า 4 ผู้ว่าจังหวัด 'ศรีสะเกษ-ตาก-จันทบุรี-ปัตตานี' ให้ระดับรองรักษาราชการแทน -ตั้ง ศรศักดิ์ แสนสมบัติ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า
piooeeeddd29 3 16
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 12/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
ระบุว่าเพื่อให้การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินด้านการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการในกระทรวงคมนาคมมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1ให้บุคคลดังต่อไปนี้ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรีตามข้อ 1 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558
(1) นายยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
(2) นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
(3) นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
(4) นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
การย้ายหรือโอนบุคคลไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ในกรณีนี้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกันกำหนดชื่อตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และสิทธิประโยชน์ของบุคคลดังกล่าวโดยอนุโลมตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
ข้อ 2 ให้ นายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
ข้อ 3 ให้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
ข้อ 4 ให้ นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
ข้อ 5 ให้ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงมหาดไทยรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
ข้อ 6 ให้ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงคมนาคม และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
ข้อ 7 ให้ข้าราชการตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่ง
ตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
ข้อ 8 ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน
และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เป็นทหาร 40 ปี ไม่คิดทำร้ายใคร! 'บิ๊กตู่' แจงโดนอดีตผู้ว่าฯม.44 ยกกลอน'ศรีปราชญ์' ขอบคุณ

อดีตผู้ว่าฯ จันทบุรี ยกกลอน 'ศรีปราชญ์' ขอบคุณ 'บิ๊กตู่' วันเกษียณอายุราชการหลังรับใบประกาศเกียรติคุณ ระบุโดน"ประหารชีวิตราชการ" โดย ม.44  พ้นตำแหน่ง 6 เดือน ไม่เคยได้รับแจ้งข้อกล่าวหา-ถูกสอบสวน ครอบครัววงศ์ตระกูลขมขื่นมาก ด้าน 'ประยทธ์' แจงอนุมัติตามขั้นตอน เป็นทหารมา 40 ปี ไม่เคยคิดทำร้ายใคร  
pioeeeedddd
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ขณะนี้คนในโลกออนไลน์ ได้มีการส่งแชร์ต่อข้อความของ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถูกคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 12/2559 ให้พ้นจากตำแหน่ง  เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 ที่เขียนไว้ในวันสุดท้ายชีวิตราชการ พร้อมรับใบประกาศเกียรติคุณ ในตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข้อความที่นายสมศักดิ์ เขียนขึ้นจริง 
ระบุว่า "ขอกราบขอบพระคุณท่านนายกฯที่ได้มอบใบประกาศให้ โดยที่ผมไม่ได้สร้างความชั่วอะไรให้มีมลทินมัวหมองแก่ชีวิตราชการแต่อย่างใด และขอกราบขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจมาให้โดยตลอด
หลังจากโดน"ประหารชีวิตราชการ" โดย ม.44 ให้พ้นจากตำแหน่ง(ผู้ว่าฯจันทบุรี)เมื่อ 29 มี.ค.59 ตัวผมรับได้ครับ แต่ครอบครัววงศ์ตระกูลของผมขมขื่นมากมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้วครับ
ผมสนับสนุน ชื่นชมผลงานตัวท่านและรัฐบาลนี้ในหลายเรื่องครับ แต่ผมนั้นยังตั้งมั่นในการสร้างคุณงามความดีแก่ชาติบ้านเมือง และวงศ์ตระกูลไปตลอดชีวิต ต่อไปครับ
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง
ดาบนี้คืนสนอง
ศรีปราชญ์"
14492516 1108045662575891 1193124415686386794 n
ขณะที่ คนใกล้ชิดนายสมศักดิ์ ระบุว่า นายสมศักดิ์ เล่าให้ฟังด้วยว่า ตั้งแต่โดนคำสั่งมาตรา 44ให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษไม่เคยได้รับแจ้งข้อกล่าวหรือถูกสอบสวนด้วยข้อหาใดๆเลยจนบัดนี้จึงงงว่า ทำไมถึงโดนคำสั่ง"ประหารชีวิตราชการ"เช่นนี้

(อ่านประกอบ : บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 ย้ายฟ้าผ่า 4 ผู้ว่าฯ ตั้ง 'ศรศักดิ์' อธิบดีกรมเจ้าท่า)

ต่อมาในช่วงบ่าย (30 ก.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเป็นประธานมอบนโยบายในงานสัมมนาเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งถึงข้อความของอดีตผู้ว่าฯ จันทบุรี ว่า "วันนี้เปิดดูเว็บไซต์มีเขียนว่า คนที่ถูกถอดถอนโดยกระบวนการทางกฎหมาย ก็บอกว่าเกษียณอายุราชการแล้วล่ะ ขอบคุณนายกรัฐมนตรี แต่ก็จำไว้แล้วกันดาบนั้นคืนสนอง ก็ตั้งคำถามว่า ผมผิดตรงไหน กฎหมายก็ดำเนินการไปแล้ว แล้วมาบอกว่าผมทำร้ายเขา ก็บอกว่าไม่เคยคิดทำร้ายใคร เป็นทหารมา 40 ปี ไม่เคยคิดอยากจะฆ่าใครสักคน ที่ใช้อาวุธก็ต่อสู้ศัตรูตลอดเวลา เช่น เดียวกับเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบขึ้นมา ก็ต้องอนุมัติ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่หลักฐานและกระบวนการทำงาน"
" กฎหมายคือกฎหมาย หน้าที่ของผมคือทำกฎหมายให้บังคับใช้ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ผมไม่เคยไปตั้งข้อหาใหม่ ไม่เคยไปล้วงคนนู้นคนนี้ เขามีการเสนอขึ้นมาทั้งสิ้น แม้กระทั่งการใช้ ม.44 เพื่อสอบสวน ก็มีคนเสนอผ่าน ศอตช. ขึ้นมา ก็เข้ามาพิจารณา จะให้ผมทำอย่างไร มีรายชื่อขึ้นมาเป็นตับแบบนี้ ไม่ทำก็ไม่ได้ ถ้ามีการเสนอขึ้นมา ผมก็ต้องอนุมัติ เพราะเขาเสนอแบบมีหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานผมก็ต้องเล่นงานคนที่เสนอ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว มันต้องอยู่ที่ทั้งกระบวนการนั่นล่ะ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ  

ยื่นกุญแจส.ว. ไข-เปิดนายกฯคนนอก


หมายเหตุ – เป็นความกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามติ โดยมีมติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปปรับแก้เนื้อหาอีกครั้งใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง คือสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 2.ให้กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ความเห็นของผม เบื้องต้นก็ผิดพลาดตั้งแต่ให้มีคำถามพ่วงในประชามติ ซึ่งส่งผลหลายอย่าง รวมถึงปัญหาขณะนี้คือเกิดความสงสัยว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร พอร่างแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ไปแก้ใหม่
คำถามประเด็นแรกคือ จะแก้อย่างไรให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง
ประเด็นที่สอง ศาลมีอำนาจสั่งให้ไปแก้ได้หรือเปล่า
ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการสั่งแก้ประเด็นเหล่านี้ ถ้าจะให้อำนาจคือวินิจฉัยว่าไม่ตรงตามประชามติเท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิสั่งให้แก้ ไม่เช่นนั้นถ้า กรธ.ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดว่าสั่งให้ทำอย่างนี้ นั่นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเอง
ในส่วนของการโหวตนายกรัฐมนตรี ถ้าดูตามหลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ลงประชามติ ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการตัดสินใจ แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ลงประชามติ ก็เลยให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตด้วย ถ้าพูดกันตามหลักแล้วไม่มีใครให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ เพราะควรจะจบที่ ส.ส. ประเทศไทยยกเลิกกระบวนการ ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ มาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 และค่อนข้างมีความชัดเจนว่านายกฯจะต้องมาจาก ส.ส. ก็คือมาจากการเลือกตั้ง
ทีนี้ถ้ายึดตามศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สามารถหาทางให้นายกฯ คนนอกเข้ามาง่ายขึ้น โดยเฉพาะตัวคะแนนเสียง ส.ว.สามารถทำให้ผลเปลี่ยนไปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้สมมุติว่าเราเสนอชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองขึ้นมาสักพรรค คะแนนเสียงของ ส.ว.อาจจะมากเพียงพอตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนี้ สุดท้ายกลไกตรงนี้จะทำให้เกิดทางตันขึ้นได้ เพื่อให้มีการนำนายกฯ คนนอกเข้ามา จากที่เคยคิดว่านายกฯ คนนอกจะแก้กรณีวิกฤตก็คงไม่ใช่แล้ว กรณีแบบนี้จะเป็นการสร้างให้เกิดวิกฤตเพื่อนำนายกฯคนนอกเข้ามามากกว่า
หากแก้รัฐธรรมนูญลักษณะนี้จริง โอกาสจะมีนายกฯคนนอกสูงมาก

ชูศักดิ์ ศิรินิล
หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.)
คําวินิจฉัยมีสองประเด็น 1.ให้สมาชิกรัฐสภา (ส.ส.และหรือ ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ของทั้งสองสภา (ส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน) มีสิทธิเสนอต่อรัฐสภา ขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้เลือกนายกฯ จากผู้ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตามมาตรา 88 ก็ได้ หลังจากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ ซึ่งร่างเดิมให้สิทธิเฉพาะ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายร้องขอ ส่วนการเสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ตามมาตรา 159 โดย ส.ว. ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
ประเด็นนี้เท่ากับเปิดช่องทางให้รัฐสภามีมติให้เลือกนายกฯนอกบัญชีได้กว้างขึ้น โดยให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอได้ ขณะที่ร่างเดิมเป็นไปได้ที่จะไม่มี ส.ส.ถึง 250 คนร้องขอ
ประเด็นที่ 2 ในมาตรา 272 วรรคสอง กรณีการเสนอชื่อนายกฯจากบุคคลที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่ออันเป็นข้อยกเว้นนั้น ใช้ถ้อยคำว่า “ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…” ทำให้เข้าใจว่าเลือกนายกฯนอกบัญชีได้ครั้งเดียว ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นใน “ระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ…” เพื่อให้สอดคล้องกับถ้อยคำที่กำหนดไว้ในมาตรา 272 วรรคแรก ประเด็นนี้เข้าใจว่า แก้ให้สามารถเลือกนายกฯนอกบัญชีได้หลายครั้ง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ กรธ.ก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้เป็นไปตามนั้น คงจะไปพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียยาก เพราะรูปแบบการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯแบบนี้ยังไม่เคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใด ส่วนการปรับแก้ดังกล่าวจะมีความเหมาะสมหรือไม่ ก็คงไปวิจารณ์อะไรไม่ได้ ต้องรอให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน เมื่อถึงเวลานั้นคนส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นถึงปัญหา ข้อดีข้อเสียเอง
ส่วนประเด็นว่าการปรับแก้ดังกล่าวเกินไปกว่าเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้แต่ กรธ.และศาลรัฐธรรมนูญยังมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงตอบได้ยากว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของประชาชนในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสาระสำคัญตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังนี้
ประการแรก โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นการยากจะมีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากในสภาเพื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นเอกภาพ ดังนั้นการเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อหรือจากผู้แทนราษฎรนั้นเป็นไปได้ยาก
การกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบตัวบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯในระยะเวลาห้าปีแรก จึงเป็นการปูบันไดให้บุคคลภายนอกได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯได้ง่ายอยู่แล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อำนาจ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. ในการขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อ จากเดิมที่ให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอฝ่ายเดียวก็ยิ่งมีความชัดเจนขึ้นว่านายกฯในระยะเวลาห้าปีแรกหลังมีการเลือกตั้ง มีแนวโน้มคงจะเป็นบุคคลภายนอกอย่างแน่นอน เพราะเสียง ส.ว. จำนวน 250 คน ย่อมมีความเป็นเอกภาพมากกว่า ส.ส. จำนวน 500 คนที่มาจากต่างพรรคกัน
ดังนั้น การใช้เสียง ส.ว. 250 คน และ ส.ส. อีกเพียง 126 คน ก็จะทำให้ได้นายกรัฐมนตรีคนนอกได้แล้ว แม้ ส.ว. จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่การยืมมือให้ ส.ส. คนใดคนหนึ่งใน 126 คนนั้นเป็นผู้เสนอก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ประการที่สอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลา ตามมาตรา 272 วรรคสอง จากเดิมที่กำหนดว่า “ในวาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว” มาเป็น “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้” ก็ย่อมมีความหมายว่า หลังการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาแล้ว นับไปอีก 5 ปี อำนาจของ ส.ว. ในการขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อย่อมมีอยู่
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนายกฯในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวกี่คน ส.ว.ก็ยังคงมีอำนาจเช่นนี้อยู่ เช่นอยู่ได้ 2 ปีแล้วลาออกหรือหากนายกฯคนแรกหลังเลือกตั้งอยู่ครบวาระ 4 ปี ส.ว.ก็ยังมีสิทธิเลือกนายกฯจากคนนอกได้อีก 1 คน ดังนั้น โอกาสที่จะมีนายกฯคนนอกอยู่บริหารประเทศถึง 8 ปี จึงเป็นไปได้สูง จากร่างเดิมเข้าใจกันว่าจะเลือกนายกฯตามข้อยกเว้นได้ครั้งเดียว
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงพอจะคาดถึงผลที่จะเกิดได้ ส่วนจะตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ คงตอบแทนประชาชนไม่ได้
แต่ตอบได้เลยว่า ตรงใจผู้มีอำนาจในปัจจุบันแน่นอน
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาผมก็เคารพ และขอขอบคุณที่วินิจฉัยโดยวางหลักประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติ เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางของศาลตรงตามกับที่ผมเคยแสดงความคิดเห็นมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเสนอชื่อนายกฯต้องเป็นหน้าที่และอำนาจของ ส.ส. ให้เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ตรงนี้ชัดเจนมากว่าศาลรัฐธรรมนูญวางหลักประชาธิปไตยให้กับประเทศ เพราะ ส.ส.คือผู้แทนของประชาชน ส่วน ส.ว. ก็แค่มีอำนาจร่วมออกเสียงการยกเว้นรัฐธรรมนูญในกรณีที่จะให้มีนายกฯนอกบัญชีเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว ศาลวินิจฉัยเหมือนกับที่ผมบอกไว้ทุกเรื่อง ตรงนี้ยิ่งชัดเจนว่า ความน่าเชื่อถือของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เคยมีความเห็นขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญและมีความคิดเห็นแย้งกับผมจนเป็นข่าวออกมาเรื่องไอ้ห้อยไอ้โหนรายวัน ผมก็โดนต่อว่าจากประชาชนอย่างหนักเหมือนกัน ตอนนี้คำอธิบายของศาลที่ออกมาชัดเจนมากว่า ส.ว.ไม่สามารถร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ยิ่งสะท้อนความคิดล้าหลังของ สปท.ที่ไม่ก้าวหน้า ฝากอนาคตประเทศไว้กับคนเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าลงโทษด้วยการยุบ สปท.ก่อนกำหนดได้ก็จะดี
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมออกเสียงกรณีที่จะให้มีนายกฯนอกบัญชี จะยิ่งเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้ง่ายขึ้นหรือไม่นั้น ผมมองว่า ไม่หรอก เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนแล้วคือ นายกฯต้องมาจากการเสนอชื่อของ ส.ส. เจตนาหลักตรงนี้ชัดเจนมากว่า ส.ส. คือ นักการเมืองผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน การให้รัฐสภาเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเท่ากับเป็นการยอมรับการตัดสินใจของประชาชน
ดังนั้น ส.ว.จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯอย่างชัดเจน
ไพบูลย์ นิติตะวัน
อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามติเห็นชอบประเด็นคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะว่าตอบโจทย์เจตนารมณ์ของประชาชนได้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน และเชื่อว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะต้องมาคิดกันใหม่ เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ
ส่วนตัวก็จะยังเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปต่อไป เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของประชาชนกว่า 10 ล้านเสียงที่ร่วมลงมติเห็นชอบในประเด็นคำถามพ่วง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้นด้วย เพื่อเดินหน้าตามที่ตั้งใจไว้

“รสนา” สอนมวย “เนติบริกร” ชี้ตั้งบริษัทในบ้านพักทหารเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

      “รสนา” สวน “เนติบริกร” ใช้บ้านพักทหารตั้งบริษัทไม่ใช่แค่เรื่องความเหมาะสม แต่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน สังคมอารยะมีธรรมาภิบาลต้องไม่มีเรื่องแบบนี้ เตือนความจำที สนช.-สปช.รวมถึง สสส.ทำไมออกกฎเหล็กห้าม
       
       วันนี้ (29 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล แสดงความคิดเห็นกรณีที่มีการใช้บ้านพักในค่ายทหารตั้งบริษัทรับประมูลงานของกองทัพ และรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านกฎหมายออกมาให้ความเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะบ้านพักข้าราชการก็เหมือนบ้านเช่า ส่วนความเหมาะสมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดย น.ส.รสนาได้ให้ความเห็นดังนี้
       
       “ผลประโยชน์ทับซ้อนคือต้นทางของการคอร์รัปชัน"
       
       ความแตกต่างระหว่าง Rule by Law กับ Rule of Law
       
       Rule by Law คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เอาไว้บังคับคนอื่น ไม่บังคับกับพวกตัวเอง
       Rule of Law คือ หลักนิติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
       
       ฟังนักกฎหมายระดับเนติบริกรอธิบายเรื่องบ้านพักข้าราชการไปเทียบกับบ้านเช่า ว่าไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการนำไปจดทะเบียนบริษัทแล้ว ทำให้เข้าใจความหมายของ Rule by Law ชัดเจนขึ้น
       
       นึกถึงเรื่องจริงของนายแพทย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ ท่านเป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ ครั้งหนึ่งคู่เขยของท่าน ประมูลได้สัญญาเปิดร้านค้าในคณะแพทยศาสตร์ พอท่านทราบเรื่องก็พูดกับคู่เขยว่า ขอให้ถอนตัวออกไป
       
       คู่เขยตอบว่า ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว และที่ได้สัญญามาก็ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ของคุณหมอที่เป็นคู่เขย อีกทั้งคนทั้งคู่ก็ใช้คนละนามสกุลกันจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
       
       แต่นายแพทย์ท่านนั้นยืนยันกับคู่เขยว่ายินดีจ่ายเงินที่ลงทุนคืนให้ และกล่าวว่า “ตราบเท่าที่ผมยังอยู่ในคณะนี้ ผมขอไม่ให้คุณมาทำมาค้าขายในคณะนี้”
       
       นี่คือนายแพทย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ใช่นักกฎหมายระดับเซียน แต่เข้าใจชัดเจนว่า สิ่งเรียกว่า Conflict of Interest (COI) อันเป็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” นั้น หมายถึงอะไร โดยไม่ต้องยกตัวบทกฎหมายอะไรมากล่าวอ้างเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับตัวเอง และพวกพ้องของตัวเอง
       
       จำได้ไหม ลุงๆ ยังจำได้ไหม ที่เคยเคร่งครัดออกระเบียบไม่ให้เอาลูกหลานญาติพี่น้องที่มีนามสกุลเดียวกันมาเป็นผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่ปรึกษาประจำตัวของบรรดา สนช.และ สปช.รวมทั้งในชั้นกรรมาธิการด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และกฎเหล็กนี้ก็ยังนำมาใช้กับ สสส.ที่ห้ามให้ทุนกับองค์กรที่มีบอร์ดของ สสส.นั่งเป็นกรรมการ (ทั้งที่ระเบียบอนุญาตให้ทำได้ แต่ คสช.ไม่ให้ทำ) มีการตรวจสอบไล่บี้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ว่ามีการคอร์รัปชันหรือไม่ ถึงขนาดแช่แข็งเงินกองทุนจนหลายองค์กรต้องปิดตัวไป
       
       ในสังคมอารยะที่มีธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้น ย่อมถือว่า COI ดังกล่าว เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ใช่แค่ “ความไม่เหมาะสม” ดังที่บรรดาเนติบริกรชอบอ้างกันอย่างข้างๆ คูๆ” 

หจก.‘ปฐมพล’ ฟัน 6 โครงการ อบจ.พิษณุโลก - 5.4 ล.เคาะครั้งเดียว จนท.ยันโปร่งใส


จนท.อบจ.พิษณุโลกหอบเอกสารกว่า 10 แฟ้มแจงปมจ้าง หจก.'ปฐมพล จันทร์โอชา'คว้ารับเหมาพัฒนาพระราชวังจันทน์ ได้ 6 โครงการ 16.1 ล.จาก 15 โครงการ ไม่มีใต้โต๊ะ โปรงใส  1 รายการ 5.4 ล.เคาะราคาครั้งเดียวก่อนหมดเวลา ลูกชายปลัดกลาโหมคุมงานเอง
picnonnnnn
กรณีห้างหุ้นส่วนจัด (หจก.) คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างเป็นคู่สัญญารับเหมาหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น 11 โครงการ (สัญญา) รวมวงเงิน 155,603,000 บาท โดยโครงการที่เป็นคู่สัญญากับ อบจ.พิษณุโลก 3 โครงการ
1.ก่อสร้างอาคารป้อมยามบริเวณทางเข้าอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก วงเงิน 750,000 บาท ทำสัญญาเมื่อ 14 ส.ค. 58 (สัญญาเลขที่ 189/2558)
2.โครงการประกวดราคาจ้างปรับปรุงอาคารอนุรักษ์และจัดแสดงด้านหน้าอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก วงเงิน 6,865,000 บาท ทำสัญญาวันที่ 1 ก.ย. 58 (สัญญาเลขที่ 216/2558)
3.โครงการวางระบบไฟฟ้า เดินสายใต้ดิน ไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์ วงเงิน 5,450,000 บาท ทำสัญญาวันที่ 15 ต.ค. 58 (สัญญาเลขที่ 20/2559)
จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของ อบจ.พิษณุโลก พบว่า โครงการที่ 2 มีผู้ผ่านการคัดเลือก 2 ราย ได้แก่ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น และ หจก.พิษณุโลกโมเดอร์นออฟฟิศ 
ขณะที่ โครงการที่ 3 มีผู้สนใจยื่นเอกสารประมูลจ้างจำนวน 28 ราย และผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติและผ่านข้อเสนอทางด้านเทคนิค 27 ราย โครงการที่ 2 ต่ำกว่าราคากลาง 22,000 บาท ส่วนโครงการที่ 3 ห่างจากราคากลาง 2,350,000 บาท และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการเสนอราคาของเอกชนแต่ละราย  (อ่านประกอบ : ประกวดราคารับเหมา อบจ.พิษณุโลก หจก.‘ปฐมพล จันทร์โอชา’ มีคู่แข่งรายเดียว)
ล่าสุด วันที่ 29 ก.ย. 2559 นางเวียงมาศ  ธีระแนว รองปลัด อบจ.พิษณุโลก  เปิดเผยทีมข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อช่วงปี  2558  องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)พิษณุโลก มีนโยบายและแผนพัฒนาบริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์  อ.เมือง จ.พิษณุโลก  จำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ งบประมาณ 53 ล้านบาท  โดยมเปิดให้ประมูลราคาเพื่อแข่งขันกันตามระเบียบ ระบบ e-Auction ตามกระบวนการระเบียบกระทรวงการคลัง  มีการเคาะราคาผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต  ผู้เข้าประมูลต้องมีคุณสมบัติตรง  มีอาชีพเกี่ยวกับงาน มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน และเปิดกว้างให้คนมีผลงานน้อย ๆ ก็สามารถประมูลได้ด้วย  ทำตามพัสดุ โปร่งใส  ปรากฏว่า หจก.คอนเทมโพรารี่ คอนสตรัคชั่น  สามารถประมูลงานได้ทั้งหมด 6 โครงการ  รวมเป็นเงิน 16,142,000 บาท  ประกอบด้วย
1.โครงการก่อสร้างรั้วเหล็กสำเร็จรูปตามแบบเดิมบริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ราคา  918,000 บาท 
2.โครงการก่อสร้างประตูทางเข้าอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์   อ.เมือง จ.พิษณุโลก  ราคา 865,000 บาท 
3.โครงการก่อสร้างอาคารป้อมยามบริเวณทางเข้าอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ราคา 750,000บาท 
4.โครงการติดตั้งป้ายชื่อ   โบราณสถานบริเวณพระราชวังจันทน์  อ.เมือง จ.พิษณุโลก  ราคา 1,294,000 บาท  
5.โครงการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์และจัดแสดงด้านหน้าอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวัจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ราคา 6,865,000 บาท และ
6.โครงการวางระบบไฟฟ้าเดินสายไฟใต้ดิน ไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์  อ.เมือง จ.พิษณุโลก ราคา 5,450,000 บาท
29959 sonprecha 03
29959 sonprecha 04
นางเวียงมาศ กล่าวว่า  หลังเข้าทำสัญญาทุกโครงการ ทาง หจก.คอนเทมโพรารี่ฯ ได้มาจัดทำเอง ไม่มีการจ้างช่วง โดย นายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม  และ น.ส.พัชรินทร์ ธีรวงศ์ภาสกร หุ้นส่วนผู้จัดการ มาคอยดูแลควบคุมงานเอง
สำหรับ โครงการเด่น คือ โครงการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์และจัดแสดงด้านหน้าอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ราคากลางตั้งไว้ 6,887,000 บาท ยื่นราคาต่ำกว่าราคากลาง 22,000 บาท ราคาที่ประมูลได้คือ 6,865,000 บาท เป็นการปรับปรุงอาคารสำนักงานป่าไม้ จำนวน 2 หลัง มีผู้ประกอบการมาซื้อแบบ 20 ราย  แต่ยื่นเอกสารเพียง 2 ราย ทำให้ หจก.คอนเทมโพรารี่ คอนสตรัคชั่น ได้รับการจ้าง ซึ่งกระบวนการทำงานเสร็จเรียบร้อยดี ส่งงาน 20 เมษายน 2559 ล่าช้าเล็กน้อย สาเหตุเนื่องจาก มีความผุพังของอาคารเดิม ทำให้ต้องมีการแก้ไขแบบแปลน เพื่อทำให้การปรับปรุงมีความสมบูรณ์กลมกลืนกับตัวอาคารเดิม  
ส่วนโครงการวางระบบไฟฟ้าเดินสายไฟใต้ดิน ไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์  อ.เมือง จ.พิษณุโลก ราคาที่เสนอ 5,450,000 บาท โครงการนี้มีการกำหนดราคากลางได้ 7,800,000 บาท  มีผู้ประกอบการมาซื้อแบบ 30 ราย  ยื่นเอกสาร 28 ราย ไม่ผ่าน 1 ราย ทำให้มีผู้ประมูลเพียง 27 ราย  การประมูลเป็นไปตามระบบ e-Auction  ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  ปรากฏว่า หจก.คอนเทมโพรารี่ คอนสตรัคชั่น   เคาะราคาต่ำสุดครั้งเดียวเพียง 5,450,000 บาท  มีส่วนลดจากราคาเปิดประมูล  2,350,000  บาท จึงชนะการประมูลครั้งนี้ไป  แต่เนื่องจากทำงานส่งไม่ทันตามกำหนดเวลา ต้องขยายสัญญา ถึง 20 กุมภาพันธ์  ทำให้ถูกปรับเป็นเงินทั้งสิ้น   59,950 บาท         
นอกจากนี้ โครงการติดตั้งป้ายชื่อโบราณสถานบริเวณพระราชวังจันทน์  อ.เมือง จ.พิษณุโลก  ราคา 1,294,000 บาท ยื่นเอกสารเพียงรายเดียว และเป็นอีกโครงการที่ถูกปรับ เพราะส่งงานล่าช้าไป 21 วัน คิดค่าปรับเงินเงินรวม 26,628 บาท ส่วนโครงการอื่น ๆ ทั้งหมด ทำงานได้เสร็จเรียบร้อยส่งทันตามเวลา และรับเงินเรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการวางระบบไฟฟ้าเดินสายไฟใต้ดิน ไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณโบราณสถานพระราชวังจันทน์  อ.เมือง จ.พิษณุโลก หจก.คอนเทมโพรารี่ คอนสตรัคชั่น   เคาะราคาต่ำสุดครั้งเดียวเพียง 5,450,000 บาทก่อนหมดเวลา นั้น มีผู้เข้าร่วมแข่งอีก 8 ราย เคาะครั้งเดียว และราคาเดียวกันที่ 7,790,000 บาท (ดูเอกสาร)

29959 sonprecha 01
29959 sonprecha 02

ป.ป.ท.ส่ง ป.ป.ช.สอบปมขายซากชีนุก 420 ล. ต่ำกว่าราคากลาง อ้างผิด กม.ฮั้ว

ป.ป.ท.ไม่รับไต่สวนปมขายซากชีนุก 420 ล. ต่ำกว่าราคากลาง อ้างไม่อยู่ในอำนาจ ส่ง ป.ป.ช.สอบ พร้อมกรณีปลดลูกชายจ่าทหาร ขณะที่ ทบ. แจ้งผู้ร้องเหตุยกเลิกประกวดราคา 3 ครั้ง
picgtgrfrferced29 9 16
กรณี จ่าสิบเอกคงศักดิ์ คงคามาศ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอความเป็นธรรมและให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
1.กรณีขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ ของกองทัพบกว่า มีราคาต่ำกว่าปกติหรือไม่ เนื่องจาก บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด แสดงเจตจำนงเสนอซื้อในวงเงิน 600 ล้านบาท แต่ทว่า กรมการขนส่งทหารบกได้ประมูลขายทอดตลาดให้เอกชนรายหนึ่งในวงเงิน 420 ล้านบาท
2.ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีกรมการขนส่งทหารบกมีคำสั่งปลด จ.ส.อ.ธนลภย์ คงคามาศ บุตรชาย จ.ส.ต.คงศักดิ์ ตำแหน่งพลขับ สังกัดมณฑลทหารบกที่ 11 ออกจากราชการ ฐานหนีราชการ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 ไม่มีเบี้ยหวัด และบำนาญ และสั่งถอดยศ สงสัยว่า คำสั่งปลดดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากบริษัท ฯ ไม่ยอมเข้าร่วมประมูลขายทอดตลาดซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 ข้างต้นหรือไม่ (อ่านประกอบ:ยื่นบิ๊กตู่-สตง. สอบปมกองทัพขาย ฮ.ชีนุก 420 ล. โยงปลดจ่าทหาร)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 นายฉัตร์ชัย ยอดอุดม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ส่งหนังสือถึงผู้ร้องเรียนแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ท.ครั้งที่ 11/2559 เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2559 มีมติไม่รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากการขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำพร้อมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ให้แก่ บริษัท ธนพิพัฒน์ยนต์ตระการ จำกัด ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
ส่วนกรณีร้องเรียนคำสั่งของกรมการขนส่งทหารบกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ท.มีมติไม่รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
picgtfrfsssss29 9 16
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2559 พล.ต.ปัณณทัต กาญจนวสิต เลขานุการกองทัพบก ได้ทำหนังสือชี้แจงจ่าสิบเอกคงศักดิ์ คงคามาศ กรณีการขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 และกรณีการปลด จ.ส.อ.ธนลภย์ คงคามาศ บุตรชาย จ.ส.ต.คงศักดิ์ออกจากราชการด้วยเช่นกัน สาระสำคัญสรุปว่าเหตุที่กองทัพบกไม่สามารถขายในราคา 600 ล้านบาทให้แก่ บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด ตามข้อเสนอได้ เนื่องจาก ไม่ผ่านการแข่งขันตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง 
ในการยกเลิกประกวดราคาขายซากชีนุกทั้ง 3 ครั้ง ครั้งแรก มีผู้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ครั้งที่สองและครั้งที่สาม มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวและผิดเงื่อนไขการประมูล ส่วนกรณีของบุตรชายนั้น เนื่องจาก จ.ส.อ.ธนลภย์ คงคามาศ ขาดหนีราชการเกิน 15 วัน และหน่วยงานต้นสังกัดมีคำสั่งให้ถอดยศ