PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

ยื่นกุญแจส.ว. ไข-เปิดนายกฯคนนอก


หมายเหตุ – เป็นความกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามติ โดยมีมติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปปรับแก้เนื้อหาอีกครั้งใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง คือสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 2.ให้กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ความเห็นของผม เบื้องต้นก็ผิดพลาดตั้งแต่ให้มีคำถามพ่วงในประชามติ ซึ่งส่งผลหลายอย่าง รวมถึงปัญหาขณะนี้คือเกิดความสงสัยว่าจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร พอร่างแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ไปแก้ใหม่
คำถามประเด็นแรกคือ จะแก้อย่างไรให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง
ประเด็นที่สอง ศาลมีอำนาจสั่งให้ไปแก้ได้หรือเปล่า
ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการสั่งแก้ประเด็นเหล่านี้ ถ้าจะให้อำนาจคือวินิจฉัยว่าไม่ตรงตามประชามติเท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิสั่งให้แก้ ไม่เช่นนั้นถ้า กรธ.ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดว่าสั่งให้ทำอย่างนี้ นั่นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเอง
ในส่วนของการโหวตนายกรัฐมนตรี ถ้าดูตามหลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ลงประชามติ ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการตัดสินใจ แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ลงประชามติ ก็เลยให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตด้วย ถ้าพูดกันตามหลักแล้วไม่มีใครให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ เพราะควรจะจบที่ ส.ส. ประเทศไทยยกเลิกกระบวนการ ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ มาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 และค่อนข้างมีความชัดเจนว่านายกฯจะต้องมาจาก ส.ส. ก็คือมาจากการเลือกตั้ง
ทีนี้ถ้ายึดตามศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สามารถหาทางให้นายกฯ คนนอกเข้ามาง่ายขึ้น โดยเฉพาะตัวคะแนนเสียง ส.ว.สามารถทำให้ผลเปลี่ยนไปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้สมมุติว่าเราเสนอชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองขึ้นมาสักพรรค คะแนนเสียงของ ส.ว.อาจจะมากเพียงพอตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนี้ สุดท้ายกลไกตรงนี้จะทำให้เกิดทางตันขึ้นได้ เพื่อให้มีการนำนายกฯ คนนอกเข้ามา จากที่เคยคิดว่านายกฯ คนนอกจะแก้กรณีวิกฤตก็คงไม่ใช่แล้ว กรณีแบบนี้จะเป็นการสร้างให้เกิดวิกฤตเพื่อนำนายกฯคนนอกเข้ามามากกว่า
หากแก้รัฐธรรมนูญลักษณะนี้จริง โอกาสจะมีนายกฯคนนอกสูงมาก

ชูศักดิ์ ศิรินิล
หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.)
คําวินิจฉัยมีสองประเด็น 1.ให้สมาชิกรัฐสภา (ส.ส.และหรือ ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ของทั้งสองสภา (ส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน) มีสิทธิเสนอต่อรัฐสภา ขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้เลือกนายกฯ จากผู้ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตามมาตรา 88 ก็ได้ หลังจากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ ซึ่งร่างเดิมให้สิทธิเฉพาะ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายร้องขอ ส่วนการเสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ตามมาตรา 159 โดย ส.ว. ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
ประเด็นนี้เท่ากับเปิดช่องทางให้รัฐสภามีมติให้เลือกนายกฯนอกบัญชีได้กว้างขึ้น โดยให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอได้ ขณะที่ร่างเดิมเป็นไปได้ที่จะไม่มี ส.ส.ถึง 250 คนร้องขอ
ประเด็นที่ 2 ในมาตรา 272 วรรคสอง กรณีการเสนอชื่อนายกฯจากบุคคลที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่ออันเป็นข้อยกเว้นนั้น ใช้ถ้อยคำว่า “ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…” ทำให้เข้าใจว่าเลือกนายกฯนอกบัญชีได้ครั้งเดียว ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นใน “ระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ…” เพื่อให้สอดคล้องกับถ้อยคำที่กำหนดไว้ในมาตรา 272 วรรคแรก ประเด็นนี้เข้าใจว่า แก้ให้สามารถเลือกนายกฯนอกบัญชีได้หลายครั้ง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ กรธ.ก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้เป็นไปตามนั้น คงจะไปพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียยาก เพราะรูปแบบการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯแบบนี้ยังไม่เคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใด ส่วนการปรับแก้ดังกล่าวจะมีความเหมาะสมหรือไม่ ก็คงไปวิจารณ์อะไรไม่ได้ ต้องรอให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน เมื่อถึงเวลานั้นคนส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นถึงปัญหา ข้อดีข้อเสียเอง
ส่วนประเด็นว่าการปรับแก้ดังกล่าวเกินไปกว่าเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้แต่ กรธ.และศาลรัฐธรรมนูญยังมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงตอบได้ยากว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของประชาชนในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสาระสำคัญตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังนี้
ประการแรก โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นการยากจะมีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากในสภาเพื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเป็นเอกภาพ ดังนั้นการเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อหรือจากผู้แทนราษฎรนั้นเป็นไปได้ยาก
การกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบตัวบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯในระยะเวลาห้าปีแรก จึงเป็นการปูบันไดให้บุคคลภายนอกได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯได้ง่ายอยู่แล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อำนาจ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. ในการขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อ จากเดิมที่ให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอฝ่ายเดียวก็ยิ่งมีความชัดเจนขึ้นว่านายกฯในระยะเวลาห้าปีแรกหลังมีการเลือกตั้ง มีแนวโน้มคงจะเป็นบุคคลภายนอกอย่างแน่นอน เพราะเสียง ส.ว. จำนวน 250 คน ย่อมมีความเป็นเอกภาพมากกว่า ส.ส. จำนวน 500 คนที่มาจากต่างพรรคกัน
ดังนั้น การใช้เสียง ส.ว. 250 คน และ ส.ส. อีกเพียง 126 คน ก็จะทำให้ได้นายกรัฐมนตรีคนนอกได้แล้ว แม้ ส.ว. จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่การยืมมือให้ ส.ส. คนใดคนหนึ่งใน 126 คนนั้นเป็นผู้เสนอก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ประการที่สอง การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลา ตามมาตรา 272 วรรคสอง จากเดิมที่กำหนดว่า “ในวาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว” มาเป็น “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้” ก็ย่อมมีความหมายว่า หลังการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาแล้ว นับไปอีก 5 ปี อำนาจของ ส.ว. ในการขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อย่อมมีอยู่
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนายกฯในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวกี่คน ส.ว.ก็ยังคงมีอำนาจเช่นนี้อยู่ เช่นอยู่ได้ 2 ปีแล้วลาออกหรือหากนายกฯคนแรกหลังเลือกตั้งอยู่ครบวาระ 4 ปี ส.ว.ก็ยังมีสิทธิเลือกนายกฯจากคนนอกได้อีก 1 คน ดังนั้น โอกาสที่จะมีนายกฯคนนอกอยู่บริหารประเทศถึง 8 ปี จึงเป็นไปได้สูง จากร่างเดิมเข้าใจกันว่าจะเลือกนายกฯตามข้อยกเว้นได้ครั้งเดียว
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงพอจะคาดถึงผลที่จะเกิดได้ ส่วนจะตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ คงตอบแทนประชาชนไม่ได้
แต่ตอบได้เลยว่า ตรงใจผู้มีอำนาจในปัจจุบันแน่นอน
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาผมก็เคารพ และขอขอบคุณที่วินิจฉัยโดยวางหลักประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติ เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางของศาลตรงตามกับที่ผมเคยแสดงความคิดเห็นมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเสนอชื่อนายกฯต้องเป็นหน้าที่และอำนาจของ ส.ส. ให้เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ตรงนี้ชัดเจนมากว่าศาลรัฐธรรมนูญวางหลักประชาธิปไตยให้กับประเทศ เพราะ ส.ส.คือผู้แทนของประชาชน ส่วน ส.ว. ก็แค่มีอำนาจร่วมออกเสียงการยกเว้นรัฐธรรมนูญในกรณีที่จะให้มีนายกฯนอกบัญชีเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว ศาลวินิจฉัยเหมือนกับที่ผมบอกไว้ทุกเรื่อง ตรงนี้ยิ่งชัดเจนว่า ความน่าเชื่อถือของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เคยมีความเห็นขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญและมีความคิดเห็นแย้งกับผมจนเป็นข่าวออกมาเรื่องไอ้ห้อยไอ้โหนรายวัน ผมก็โดนต่อว่าจากประชาชนอย่างหนักเหมือนกัน ตอนนี้คำอธิบายของศาลที่ออกมาชัดเจนมากว่า ส.ว.ไม่สามารถร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ยิ่งสะท้อนความคิดล้าหลังของ สปท.ที่ไม่ก้าวหน้า ฝากอนาคตประเทศไว้กับคนเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าลงโทษด้วยการยุบ สปท.ก่อนกำหนดได้ก็จะดี
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมออกเสียงกรณีที่จะให้มีนายกฯนอกบัญชี จะยิ่งเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้ง่ายขึ้นหรือไม่นั้น ผมมองว่า ไม่หรอก เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนแล้วคือ นายกฯต้องมาจากการเสนอชื่อของ ส.ส. เจตนาหลักตรงนี้ชัดเจนมากว่า ส.ส. คือ นักการเมืองผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน การให้รัฐสภาเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเท่ากับเป็นการยอมรับการตัดสินใจของประชาชน
ดังนั้น ส.ว.จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯอย่างชัดเจน
ไพบูลย์ นิติตะวัน
อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามติเห็นชอบประเด็นคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะว่าตอบโจทย์เจตนารมณ์ของประชาชนได้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน และเชื่อว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะต้องมาคิดกันใหม่ เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ
ส่วนตัวก็จะยังเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปต่อไป เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของประชาชนกว่า 10 ล้านเสียงที่ร่วมลงมติเห็นชอบในประเด็นคำถามพ่วง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้นด้วย เพื่อเดินหน้าตามที่ตั้งใจไว้

ไม่มีความคิดเห็น: