PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

“รสนา” สอนมวย “เนติบริกร” ชี้ตั้งบริษัทในบ้านพักทหารเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

      “รสนา” สวน “เนติบริกร” ใช้บ้านพักทหารตั้งบริษัทไม่ใช่แค่เรื่องความเหมาะสม แต่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน สังคมอารยะมีธรรมาภิบาลต้องไม่มีเรื่องแบบนี้ เตือนความจำที สนช.-สปช.รวมถึง สสส.ทำไมออกกฎเหล็กห้าม
       
       วันนี้ (29 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล แสดงความคิดเห็นกรณีที่มีการใช้บ้านพักในค่ายทหารตั้งบริษัทรับประมูลงานของกองทัพ และรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านกฎหมายออกมาให้ความเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะบ้านพักข้าราชการก็เหมือนบ้านเช่า ส่วนความเหมาะสมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดย น.ส.รสนาได้ให้ความเห็นดังนี้
       
       “ผลประโยชน์ทับซ้อนคือต้นทางของการคอร์รัปชัน"
       
       ความแตกต่างระหว่าง Rule by Law กับ Rule of Law
       
       Rule by Law คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เอาไว้บังคับคนอื่น ไม่บังคับกับพวกตัวเอง
       Rule of Law คือ หลักนิติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
       
       ฟังนักกฎหมายระดับเนติบริกรอธิบายเรื่องบ้านพักข้าราชการไปเทียบกับบ้านเช่า ว่าไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการนำไปจดทะเบียนบริษัทแล้ว ทำให้เข้าใจความหมายของ Rule by Law ชัดเจนขึ้น
       
       นึกถึงเรื่องจริงของนายแพทย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ ท่านเป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ ครั้งหนึ่งคู่เขยของท่าน ประมูลได้สัญญาเปิดร้านค้าในคณะแพทยศาสตร์ พอท่านทราบเรื่องก็พูดกับคู่เขยว่า ขอให้ถอนตัวออกไป
       
       คู่เขยตอบว่า ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว และที่ได้สัญญามาก็ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ของคุณหมอที่เป็นคู่เขย อีกทั้งคนทั้งคู่ก็ใช้คนละนามสกุลกันจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
       
       แต่นายแพทย์ท่านนั้นยืนยันกับคู่เขยว่ายินดีจ่ายเงินที่ลงทุนคืนให้ และกล่าวว่า “ตราบเท่าที่ผมยังอยู่ในคณะนี้ ผมขอไม่ให้คุณมาทำมาค้าขายในคณะนี้”
       
       นี่คือนายแพทย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ใช่นักกฎหมายระดับเซียน แต่เข้าใจชัดเจนว่า สิ่งเรียกว่า Conflict of Interest (COI) อันเป็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” นั้น หมายถึงอะไร โดยไม่ต้องยกตัวบทกฎหมายอะไรมากล่าวอ้างเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับตัวเอง และพวกพ้องของตัวเอง
       
       จำได้ไหม ลุงๆ ยังจำได้ไหม ที่เคยเคร่งครัดออกระเบียบไม่ให้เอาลูกหลานญาติพี่น้องที่มีนามสกุลเดียวกันมาเป็นผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่ปรึกษาประจำตัวของบรรดา สนช.และ สปช.รวมทั้งในชั้นกรรมาธิการด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และกฎเหล็กนี้ก็ยังนำมาใช้กับ สสส.ที่ห้ามให้ทุนกับองค์กรที่มีบอร์ดของ สสส.นั่งเป็นกรรมการ (ทั้งที่ระเบียบอนุญาตให้ทำได้ แต่ คสช.ไม่ให้ทำ) มีการตรวจสอบไล่บี้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ว่ามีการคอร์รัปชันหรือไม่ ถึงขนาดแช่แข็งเงินกองทุนจนหลายองค์กรต้องปิดตัวไป
       
       ในสังคมอารยะที่มีธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้น ย่อมถือว่า COI ดังกล่าว เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ใช่แค่ “ความไม่เหมาะสม” ดังที่บรรดาเนติบริกรชอบอ้างกันอย่างข้างๆ คูๆ” 

ไม่มีความคิดเห็น: