PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ผลสำรวจบางประการประชามติ

ทิ้งทวนเรื่องประชามติ
มันมีตัวเลขบางอย่างที่น่าสนใจ
ไม่ได้เอามาลงเพื่อบอกว่าใครโง่ใครฉลาด
หรือ ภาคไหนมีคุณภาพมากกว่าภาคไหนนะ
แต่อยากทิ้งเป็นข้อสังเกตให้วิเคราะห์กันต่อ
นั่นคือ ผลสำรวจพบว่า
- กรุงเทพ มีจำนวนคนอ่านร่าง รธน. ทั้งอ่านแบบละเอียดทุกมาตรา และ อ่านบางส่วน น้อยที่สุด แถมมีเปอร์เซ็นของคนที่ไม่อ่านร่างสูงสุดถึงเกือบ 70% ทั้งที่อัตราการรู้หนังสือ ฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัว หรือโอกาสในการศึกษาเฉลี่ย ถือว่าสูงกว่าภาคอื่นๆ
- ส่วนภาคเหนือ/อิสาน ที่คนมักมีมายาคติมาอย่างยาวนานว่าซื้อเสียงได้ง่าย หรือมองว่าโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่า กลับเป็นภาคที่อ่านร่าง มากกว่าภาคอื่นๆ และมีสัดส่วนของคนที่ไม่อ่านเลยน้อยกว่าภาคอื่นๆทั้งหมด ถ้าเทียบบัญญัติไตรยางค์ในส่วนของคนที่อ่านร่างครบทุกมาตรา ภาคเหนือกับอิสาน อ่านมากกว่าคนกรุงเทพถึง 420% เลยทีเดียว
แน่นอนว่าโพลล์ไม่ได้บอกทุกอย่าง เพราะเป็นการสุ่มสำรวจ แต่บอกได้เลยว่าตัวเลขจากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจนี้น่าสนใจมากๆ และควรนำไปวิเคราะห์บทเรียนความผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับหน้าตาของสังคมไทยซะใหม่ จะได้เข้าใจสภาพความเป็นจริงมากกว่าที่เคยคิดเคยเชื่อกัน

ชีวิตคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังผลการลงประชามติชี้ว่าเสียงส่วนใหญ่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ

คาดว่าชีวิตคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังผลการลงประชามติชี้ว่าเสียงส่วนใหญ่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ
ผลลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) มียอดผู้ใช้สิทธิ์ต่ำกว่าเป้าที่ กกต.ตั้งเป้าไว้ โดย
- ผู้มาใช้สิทธิ์ 27,623,126 จากผู้มีสิทธิ์ 50,585,118 คน 
- รับร่าง รธน. 15,562,027 คะแนน
- ไม่รับ 9,784,680 คะแนน
- รับคำถามพ่วง 13,969,594 คะแนน
- ไม่รับคำถามพ่วง 10,070,599
ผู้มาใช้สิทธิ์ทุกภาคลงคะแนนรับร่างฯ และรับคำถามพ่วง มากกว่าไม่รับ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ลงคะแนนไม่รับร่างฯ และไม่รับคำถามพ่วงมากกว่ารับ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชื่อว่าผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการไม่น่าจะคลาดเคลื่อนกับผลอย่างเป็นทางการมากนัก แต่ยอมรับว่ายอดผู้มาใช้สิทธิ์มีเพียง 58 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด จากที่ กกต.ตั้งเป้าว่าจะมีถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้คาดว่าเกิดจากความตื่นตัวแตกต่างไปจากการออกเสียงเลือกตั้ง
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงเทพฯ รายงานว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ถือว่าน้อย และการปราบปรามที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการลงประชามติจะเป็นตัวบั่นทอนความชอบธรรมของผลประชามติที่ออกมา
ด้านเวย์น เฮย์ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ชี้ว่าหากอยู่ในช่วงสถานการณ์ปกติ การที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ถึงร้อยละ 50 ถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในไทยปัจจุบันถือว่าไม่ปกติ และก่อนที่จะมาถึงวันลงประชามติก็มีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดห้ามการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว อัลจาซีร่า รายงานด้วยว่าผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ โดยชาวบ้านในภาคอีสานที่สนับสนุนรัฐบาลในอดีต เป็นพื้นที่ที่คนออกเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด ‪#‎ประชามติ‬
ภาพพ่อค้าหาบเร่เดินผ่านหน้าหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ถ่ายเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559

เอฟทีเอว็อทห่วงร่าง รธน.ฉบับใหม่-ไม่เอื้อธรรมาภิบาลเรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ


เอฟทีเอว็อทออกแถลงการณ์หลังผลประชามติ ห่วงเนื้อหารัฐธรรมนูญ เรื่องทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศสุดล้าหลัง ดึงอำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน "หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจายสิ่งเหล่านี้ จะหวนกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้"
วันนี้ (8 ส.ค.) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)  ออกแถลงการณ์ "เมื่อทุนรัฐทหารสบคบ รัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล ภาคประชาชนมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มความเข้มข้น" มีรายละเอียดดังนี้
ที่มาของภาพประกอบ: เพจเอฟทีเอว็อทช์
แถลงการณ์เอฟทีเอว็อทช์: เมื่อทุนรัฐทหารสบคบ รัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล ภาคประชาชนมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มความเข้มข้น
เอฟทีเอ ว็อทช์ยอมรับผลการลงประชามติที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยเสียง 61% แม้จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์ต่ำมากเพียงแค่ 54% ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เปิดกว้างและปราศจากการถกแถลงในวิถีประชาธิปไตย
เอฟทีเอ ว็อทช์เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
มีเนื้อหารัฐธรรมนูญในส่วนของการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยดึงอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดเนื้อหาเชิงกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเปลี่ยนการเยียวยาที่รวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม เป็นแค่การเยียวยาเท่าที่จำเป็นโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น นอกจากนี้ เดิมจะต้องมีงานวิจัยรองรับการเจรจา แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจาและไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่รัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบการเจรจา งานวิจัยจึงอาจจะถูกตัดทิ้งไปในที่สุด
จากนี้เราจะเห็นความน่ากลัวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากเทียบเนื้อหาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความน่ากลัวน้อยกว่านี้ ความก้าวร้าวในเชิงเนื้อหาไม่มากเท่านี้ ฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปไม่ทันโลก
“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจายสิ่งเหล่านี้ จะหวนกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้”
การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปเป็นความพยายามชนชั้นนำไทยไม่ว่าภาคธุรกิจหรือภาคราชการ นับตั้งแต่มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถือกำเนิดขึ้นมา
ตลอดชีวิตของมาตรา 190 ได้ก่อให้เกิดคุณูปการมากมายต่อประเทศไทย ได้วางรากฐานกระบวนการการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ดี แต่ขณะเดียวกัน มาตรานี้ ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม ดูเหมือนผู้มีอำนาจปัจจุบันจะมองเห็นเพียงประโยชน์อย่างหลัง ณ นาทีนี้ กระบวนการที่ดีและมีธรรมาภิบาลและเป็นประชาธิปไตยจึงถูกกำจัดทิ้ง
ย้ำอีกครั้ง กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สร้างความขัดแย้งหรือความเกลียดชังทางการเมืองแต่อย่างใด และไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา ดังนั้น การกำจัดหลักการเหล่านี้ออกไป จึงเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
เอฟทีเอ ว็อทช์ ก็เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางสังคมอื่นๆที่เผชิญความยากลำบากในการอธิบายเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้สาธารณชนได้รับทราบ ก่อนหน้าการลงประชามติ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการถกแถลงที่เปิดกว้าง อีกทั้งสังคมยังตกอยู่ในความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาทดท้อหรือถอดใจในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะและสร้างธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบกับประชาชน แน่นอนว่า เราจะเผชิญความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยง่าย ครั้งหนึ่งทุนเคยจับมือนักการเมือง-ข้าราชการในการแสวงประโยชน์ในนาม 'ผลประโยชน์ของประเทศ' แต่ปัจจุบันพวกเขาได้รับการเสริมกำลังจากชนชั้นนำและขุนทหาร
พวกเราจะพยายามอย่างสร้างสรรค์ที่จะนำหลักการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมกลับมาสู่การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ เราจะยืนหยัดสร้างเสรีภาพและขยายพื้นที่แสดงออกของเราไว้ให้ได้แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันมากมายแค่ไหนก็ตาม เราจะยิ่งมุ่งมั่นในการทำข้อมูลความรู้เพื่อตรวจสอบนโยบายรัฐ เพื่อไม่ให้ผลได้กระจุกตัวแต่ในกลุ่มทุนชนชั้นนำ แล้วปล่อยให้สาธารณชนไทยแบกรับผลเสียอีกต่อไป
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
(เอฟทีเอ ว็อทช์)
8 ส.ค.59