PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เริ่มสร้างราคา

พรรคไหนไป พรรคไหนไม่ไป ชี้ได้เลยว่าเป็นการ “เลือกขั้ว” ก่อนเลือกตั้งกันแล้ว ประชาธิปัตย์ยังวางฟอร์มยึดหลักการชนะเลือกตั้ง แต่อ่านเกมแล้วคงยากมีแต่ที่สุดจะต้องกลืนน้ำลาย

ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้เอาง่ายๆเลยดีกว่า ไม่ต้องไปตีความกันให้ยุ่งยาก พรรคไหนไม่ไปร่วมหารือกับ คสช. หรือพรรคไปร่วมด้วย

นั่นคือจุดยืนของแต่ละพรรคก็ว่ากันไป

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัง “ซ่อนตัว” ไม่เปิดเผยเส้นทางการเมืองว่าจะไปร่วมกับพรรคการเมืองไหน

คงไม่มีเหตุผลเพื่ออ้างว่า “บิ๊กตู่” คือตัวปัญหา

เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้เอ่ยปากเรื่องนี้ แต่พลังประชารัฐจับแก้ผ้าระบุว่านี่คือบุคคลหนึ่งที่พรรคจะเสนอชื่อเข้าชิงนายกรัฐมนตรี

แบะท่าอย่างนี้มันก็ชัดแบบไม่ต้องพูดมากให้เจ็บคอเปล่าๆ

จับยามสามตาการเมืองแล้วคงพอจะพอมองเห็นภาพการเมืองหลังเลือกตั้งว่าขั้วไหนจับขั้วไหนเพื่อชิงตั้งรัฐบาล

พูดง่ายๆว่า เพื่อไทยและเครือข่ายจะต้องสู้กับพลังประชารัฐและเครือข่ายเช่นเดียวกัน อยู่ที่ว่าจะสามารถสำแดงพลังได้มาน้อยมากแค่ไหน

สำคัญสุดก็คือประชาชนจะชี้เองว่าเอาใครไม่เอาใคร

“ประชาธิปัตย์” ว่าไปแล้วยังคงยืนจุดกอด “หลักการ” คือไม่เอาเพื่อไทยไม่ร่วมพลังประชารัฐ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป

จะเรียกว่า “แทงกั๊ก” ก็ไม่ผิด...

ไฟเล่นของประชาธิปัตย์ยังหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเปิดโอกาสให้พวกเขาก้าวไปสู่พรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญ

ถ้าคิดหวังว่าจะชนะเลือกตั้งแทบจะมองไม่เห็นทาง

ไม่ใช่การปรามาส ไม่ใช่ดูแคลน แต่รูปการณ์ที่เป็นจริงมันพอจะรู้แจ้งแทงตลอดได้ เพราะสิ่งที่ปรากฏมันฟ้องอยู่แล้ว

เมื่อบอกว่าจะไม่ไปทั้งสองขั้วก็ต้องตั้งขั้วเองเมื่อไม่ไปทางไหน ทางหนึ่งก็คือ เป็นฝ่ายค้านร่วมกับทางใดทางหนึ่ง

เมื่อสองวันที่ผ่านมีข่าวปรากฏออกมาว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “พี่ใหญ่” ฮอตไลน์ผ่านไปถึงอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

“เฉลิมชัย ศรีอ่อน”...เจ้าของคุ้มประจวบคีรีขันธ์ที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง

มีการพูดคุยกันเพื่อชักชวนให้ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ด้วยเงื่อนไขก็คือ ยอมให้กระทรวงเกรดเอไปรับผิดชอบ

ปรากฏว่ามีการปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ความจริงว่ากันว่าทั้ง 2 คนนี้รู้จักมักคุ้นกันดีเรื่องแบบนี้ จะพูดกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

สรุปก็คือ ทั้ง 2 ฝ่ายให้คำตอบตรงกันก็คือ ยังไม่ถึงเวลา เพราะยังไม่ได้เลือกตั้งเลย ไม่ได้หมายความว่าจะร่วมกันไม่ได้

อย่างที่รู้กันดีว่าการเปิดดีล ทาบทามการเข้าร่วมรัฐบาลในกติกาการเมืองยุคนี้คือ จะต้องผ่านขั้นตอนการเลือกนายกฯก่อน

ใคร พรรคไหนคว้าเก้าอี้นายกฯ ได้โอกาสและความได้เปรียบที่จะตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้มากที่สุด

“พลังประชารัฐ” ก็ต้องอยู่ในแนวนี้ ...“ประชาธิปัตย์” จึงเป็นพรรคที่จะจับมือกันดีที่สุด

ประเด็นหนึ่งหากร่วมรัฐบาลมีคำถามว่าแล้วจะเอา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคไปไว้ตรงไหน

นอกจากตำแหน่งนายกฯ แล้วจะไปเป็นรัฐมนตรีก็คงไม่เอา มีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เพียงแต่จะมีปัญหาก็คือ ตำแหน่งนี้จะต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค

มันเลยมี “เงื่อนไข” เฉพาะตัวทำให้การตัดสินใจยากขึ้น!!!

“ลิขิต จงสกุล”

วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง 2 ขั้ว “เดิมพัน” แพ้ไม่ได้ : แนวรบวิชามาร วัดผลคะแนน

พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า แห่งเดียวในโลก

กับภาพความสวยงามของกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงจักรยานนำประชาชนด้วยพระองค์เองในเส้นทางสายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ จากลานพระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ ถึงคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ

พร้อมกับกิจกรรมปั่นจักรยานที่จัดขึ้นในต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ประชาชนกว่าครึ่งล้านที่เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

ท่ามกลางภาพวิวทิวทัศน์ตลอดสองข้างทาง ความสวยงามของเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย จุดหมายปลายทางอันดับต้นๆของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

เหนืออื่นใด นั่นคือความรักความสามัคคีของพสกนิกรชาวไทยร่วมใจกันถวายความจงรักภักดี

ภาพที่บ่งบอกถึงความใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนคนไทยที่สืบเนื่องมาช้านาน แม้กาลเวลาผันผ่านตามยุคสมัย แต่ยังคงอยู่และจะเป็นแบบนี้ตลอดไป

เป็นอะไรที่ชาวต่างชาติได้ประจักษ์ในความเป็น “เชื้อ ชาติไทย”

ภายใต้บรรยากาศแห่งความสุขเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้เข้ามา ประชาชนบางส่วนเริ่มเคลียร์งาน เคลียร์โปรแกรมเดินทางท่องเที่ยว กลับบ้านต่างจังหวัด เตรียมพร้อมเฉลิมฉลอง

ในจังหวะสถานการณ์การเมืองยังต้องเดินตามโรดแม็ปที่ถูกออกแบบให้อิงกับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ท่ามกลางอาการแข็งขืน อารมณ์ที่สัมผัสได้ของนักเลือกตั้งอาชีพ โดยเฉพาะคนของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเครือข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เริ่มไม่ยี่หระกับอำนาจพิเศษ

“เขี้ยวงา” งอกกลับมาโดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะการรวมหัวกันปฏิเสธโปรแกรมสำคัญ บอกปัดเข้าร่วมวงถกเลือกตั้งกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. พร้อมทีมงานแม่น้ำ 5 สาย

ตั้งแง่ใส่สถานะ “หัวหน้า คสช.” ที่คาบเกี่ยว “นายกฯบัญชีพรรค” พลังประชารัฐ

ประชาธิปัตย์กับทีม “นายใหญ่” ซัดทีมหนุน “ลุงตู่” เอาเปรียบคู่แข่ง

แสดงท่าทีแข็งกร้าวไล่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกฯ ไขก๊อกจากหัวหน้า คสช.

โดย “อาการหมั่นไส้” โยงต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่นักการเมืองพากันโวยวายการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่อเอื้อแต้มต่อให้พรรคพลังประชารัฐ

จัดโซนกวาดคะแนนให้ทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

และสังเกตว่าสคริปต์เดียวกัน มุกประจานคิว “เอาเปรียบคู่แข่ง” ยังถูกนำไปใช้ในการไล่บี้กดดันให้ทีมรัฐมนตรี “4 กุมาร” ของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ต้องไขก๊อกลาออกจากตำแหน่ง

ตีปี๊บโห่ฮา จี้ให้แสดงสปิริตทางการเมือง

ตามท้องเรื่อง ความไม่แฟร์ของทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ยังถูกนำไปผูกโยงกับสารพัดมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากที่ทยอยออกมาแบบรายสัปดาห์


อย่าง ครม.นัดล่าสุดมีมติอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากเดิม 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป

ครอบคลุม อสม.ทั้งประเทศ 1,039,729 คน

ต่อเนื่องกับคิวก่อนหน้า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 8.69 หมื่นล้านบาท อัดฉีดมาตรการช่วยคนจน ผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินช่วยข้าราชการเกษียณและเงินบำเหน็จดำรงชีพ ชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคาร อาคารสงเคราะห์จัดทำโครงการบ้านล้านหลัง ช่วยเกษตรกรสวนปาล์ม ยางพารา

บวกช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ แถม สนับสนุนค่า-ใช้จ่ายเพิ่ม 500 บาทในเทศกาลปีใหม่

อานิสงส์ถึงกลุ่มเป้าหมาย 14.5 ล้านคน

ปัจจัยที่เอื้อให้ทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” เดินหน้าโกยแต้มได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอยู่พรรคเดียว ในขณะที่พรรคคู่แข่งต่างไม่พร้อม แต่งตัวยังไม่ทัน

มันก็เลยได้เห็นกระบวนท่าบังคับของนักการเมืองอาชีพ

เรื่องเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ เสียเปรียบคู่แข่งไม่มีทางยอมอยู่แล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยอมรับบท “ผู้นำทหาร” ที่ผิดฟอร์มจากเผด็จการในอดีต

ในอาการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยัน คสช.ดำเนินการทุกอย่างตามกระบวนการกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ นักการเมืองจะร่วมวงหรือไม่ ไม่สำคัญ ทุกอย่างขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

แน่นอนในฐานะผู้นำ คสช.ที่เข้ามาเคลียร์ปัญหาเทียบกับนักการเมืองตัวการก่อปัญหา

ตั้งแต่การยึดอำนาจปี 2557 มาถึงวันนี้ โดยสถานการณ์ “น้ำหนัก” ก็ยังอยู่กับฝั่งของ “นายกฯลุงตู่” ที่สามารถอธิบายเหตุผล ยกเหตุเงื่อนไขความจำเป็น อ้างอิงตามสิ่งที่เขียนระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ตามภารกิจพาประเทศข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ

เดิมพันต้องไม่ให้ประเทศไทยย้อนกลับไปลงเหวความแตกแยกทางการเมือง

เรื่องของเรื่อง ด้วยไฟต์บังคับต้องตีตั๋วต่อผ่านสนามเลือกตั้ง ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ยากๆของผู้นำรัฐบาลทหารในการชิงคะแนนนิยมจากประชาชนตามกติกาประชาธิปไตย

ต้องสู้กับโคตรเซียนการตลาดยี่ห้อ “ทักษิณ” แชมป์ผูกขาดเกือบ 20 ปี

มันจึงเป็นอะไรที่ไม่มีทางเลือก กับยุทธการ “เกลือจิ้มเกลือ” ทีม “นายกฯลุงตู่” ต้องเดินหน้าอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

ปล่อยสารพัดโครงการ “ประชารัฐ” แข่งกับประชานิยมยี่ห้อ “ทักษิณ”

ตามความจำเป็นฉุกเฉินเฉพาะหน้าที่ต้องล้างอาการเสพติดประชานิยมยี่ห้อ “ทักษิณ” ของชาวบ้าน

โดยเฉพาะการต้องสู้กับการปลุกอุปาทานหมู่ปมเศรษฐกิจปากท้อง

เพราะลำพังการอธิบายข้อมูลจริงตามหลักวิชาการ ยกสถิติตัวเลขโลจิสติกส์การค้าออนไลน์ที่มียอดการจัดส่งสินค้าหลักล้านต่อวันจากที่ต่ำกว่าแสน แสดงว่าการค้าขายย้ายเข้าสู่ระบบออนไลน์เร็วมาก และเม็ดเงินมันไม่ได้หายไปไหน เพราะไปโผล่ในการค้าออนไลน์ โมเดิร์นเทรดแทน


นั่นหมายถึงเศรษฐกิจไม่ได้ซบเซาอย่างที่นักการเมืองฝ่ายต้าน “ลุงตู่” ปลุกอุปาทานหมู่มาดิสเครดิต ตัดแต้มรัฐบาล แต่เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ปรับตัวก็ลำบาก

ตามเหตุผลที่คนชั้นกลางขึ้นไปฟังเข้าใจ แต่มันเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคพูดแล้วชาวบ้านเข้าใจยาก

สู้อัดฉีดแบบถึงลูกถึงคน เอาเงินใส่มือคนจนสัมผัสจับต้องได้มากกว่า

วิชาหาเสียงแบบมีคะแนนมันต้องอาศัยเกมเขี้ยวของโคตรเซียนเลือกตั้ง

หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ที่ลูกข่าย “ทักษิณ” แท็กทีมประชาธิปัตย์โวยตีกิน

ทั้งๆที่สถานะโดยทางลึกแท้จริง ฝ่ายที่ส่อเหนื่อยกว่าคือยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” เพราะเจออิทธิฤทธิ์นักการเมืองขาใหญ่ในพื้นที่ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ล็อกการแบ่งเขตผ่านประธาน กกต.จังหวัดมาหมดแล้วทุกรูปแบบ ก่อนส่งถึง กกต.กลางเคาะตามพิมพ์เขียวที่บล็อกมาแล้ว

นั่นจึงเป็นที่มาของการออกมาตรา 44 ให้ กกต. ลากการจัดเขตออกไป

มันคือความจำเป็นของ คสช.ต้องทำให้ “นายใหญ่” อ่อนกำลังตามยุทธศาสตร์

สถานการณ์เดียวกับการไล่บี้ไล่ต้อนให้รัฐมนตรี “4 กุมาร” ไขก๊อกแสดงสปิริต โดยเป้าหมายใหญ่กว่าคือการรุกฆาตกดดันมัดคอตัวขุนอย่าง “นายกฯลุงตู่” ให้ตีนลอยจากอำนาจ

ทั้งๆที่นักการเมืองทั้งยุคประชา-ธิปัตย์และเพื่อไทยต่างสะกดคำว่า “สปิริต” ไม่เป็น

ลากยาวจนหยดสุดท้าย ตื๊ออยู่ในตำแหน่งยันรัฐบาลรักษาการ

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า รัฐมนตรี “4 กุมาร” พลังประชารัฐ ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่เหมือนคิวของรัฐบาลนักการเมืองที่รัฐมนตรีต้องลงสมัคร ส.ส.หาเสียงในพื้นที่

เรื่องของการใช้ตำแหน่งให้คุณให้โทษจึงไม่ชัดเจนเสียทีเดียว

เหนืออื่นใด ถ้าเทียบเงื่อนไขสถานการณ์ตามความจำเป็นที่รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนายอุตตมกับสถานะ รมว.อุตสาหกรรม ที่ต้องเดินเนื้องานโครงการอีอีซี เมกะโปรเจกต์เรือธงรัฐบาล หรือนายสนธิรัตน์ ที่มีงานสำคัญในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ คุมเกมนำเข้า ส่งออก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน

ล้วนแต่ภารกิจงานสำคัญที่ขาดช่วงมือบริหารไม่ได้

นั่นก็ไม่ต้องพูดถึงคิวของ “นายกฯลุงตู่” ถ้าบ้องตื้นลาออกโชว์สปิริต เสี่ยงพังทั้งกระดาน

สถานะ “ประธานอาเซียน” ที่ต้องกู้ภาพพจน์ม็อบล้มประชุมที่พัทยา สะเทือนแน่

ตามรูปการณ์ ชั่งน้ำหนักผลบวกผลลบ ในบางกรณีผลประโยชน์โดยรวมของประเทศก็สำคัญกว่าคำว่า “มารยาท” ทางการเมือง ที่ตีปี๊บชิงเหลี่ยมชิงกระแสกันตามเกมเลือกตั้ง

ถ้ารัฐมนตรี “4 กุมาร” จะไม่ไขก๊อก ก็แค่ขัดใจนักการเมืองคู่แข่งซะมากกว่า ไม่ใช่ประชาชน

ทั้งหมดทั้งปวงเลย โดยเงื่อนไขสถานการณ์เดิมพันแพ้ไม่ได้ทั้ง 2 ขั้ว

ต่างฝ่ายต่างต้องงัดอาวุธบี้กันเต็มที่ ทั้งวิชาเทพ วิชามาร เกมใต้ดิน บนดิน เพื่อชิงเป็นฝ่ายถืออำนาจ

ฝั่งหนึ่งสู้เพื่อ “ทักษิณ” กลับบ้าน ฝ่ายหนึ่งหนุน “ประยุทธ์” ตีตั๋วต่อ

หลังเลือกตั้งประเทศไทยจะไปต่อหรือถอยกลับวังวนเลวร้ายกว่าเดิม

ประชาชนที่ “รู้เท่าทัน” เท่านั้น จะทำให้บ้านเมืองปลอดภัย.

“ทีมการเมือง”

“ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง นะ”!!

“ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง นะ”!!

“บิ๊กตู่” เตือน นักการเมือง  เมื่อเข้าสู่สภาฯ แล้ว ก็อย่าให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มา เพื่อให้การเมืองเดินไปได้ เพราะ “ถ้าการเมืองเดินไปได้ ผมคงไม่ต้อง มานั่งตรงนี้"...ให้สิทธิ์ กกต. กำหนดวัน เลือกตั้ง เพราะ24 กพ.62 คือโรดแมพ ของกกต.ชุดเก่า  ขอเลือก วันเหมาะสม 24กพ .-9พค.62 ขอเป็นวันอาทิตย์  เตือนให้ตระหนัก วันสำคัญ พระราชพิธีสำคัญ ที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้ด้วย !!

ทั้งนี้ วันอาทิตย์ สุดท้าย คือ5 พค.2562 

ย้อนฟังคำพูด บิ๊กตู่.....

มีรายงานว่า การประชุมหารือของ ครม.-คสช.-สนช.-กรธ.-กกต. กับ75 พรรคการเมือง 7ธค.2562 นั้น  ไม่ได้มติ กำหนด 24 ก.พ.2562 เป็นวันเลือกตั้ง  แค่ย้ำโรดแมพของกกต.ชุดเก่า เท่านั้น ว่า เร็วที่สุด คือ24กพ.62 แต่ให้ กกต.ไปพิจารณาตกลงใจ พร้อม โชว์ไทม์ไลน์ ของ กกต.24 กพ.62 ให้ที่ประชุม ดูก่อน 

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุม เพียงว่า เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะพิจารณา 24 ก.พ.2562 นั้น เป็นโรดแมพ ของ กกต.ชุดเก่า

โดยห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 24ก.พ. - 9พ.ค.2562  จึงอยู่ กกต.ทั้ง 7 ท่าน จะร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมวันเลือกตั้ง แล้วนำมาเสนอออก พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ต่อไป 

เพียงแต่กำหนดว่า วันที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันอาทิตย์ ระหว่าง วันที่ 24 ก.พ.- 9 พ.ค.2562 เท่านั้น แต่นาาจะเป็นวันอาทิตย์ 

พลเอกประยุทธ์ ระบุว่า ให้ทุกๆ ท่านตระหนักถึงวันสำคัญ อีกวันหนึ่งคือวันพระบรมราชาภิเษก ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

และตำแหน่ง ประธานอาเซี่ยน จะเป็นของ นายกรัฐมนตรี และ ครม.ใหม่ โปรดเข้าใจด้วย “ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเองนะ”

เมื่อท่านเข้าสู่สภาแล้ว ก็อย่าให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มา เพื่อให้การเมืองเดินไปได้ 

“ถ้าการเมืองเดินไปได้ ผมคงไม่ต้องมานั่งตรงนี้" พลเอกประยุทธ์ ระบุ