PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"นิพิฏฐ์" ชี้ร่าง รธน.อคตินักการเมือง ย้อนกลับไปยุค "จอมพลถนอม"

"นิพิฏฐ์" ชี้ร่าง รธน.อคตินักการเมือง ย้อนกลับไปยุค "จอมพลถนอม" ต่ออำนาจ คสช.ผ่านเก้าอี้ ส.ว.
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีอคติต่อนักการเมืองในเกือบทุกด้าน อีกทั้งยังให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกำหนดให้มี ผบ.เหล่าทัพ เข้าไปเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งตามมาตรา 269(1)(ค) ซึ่งจะย้อนไปสู่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของการมี ส.ว. คือต้องการคนที่เป็นกลางทางการเมือง และต้องไม่เป็นสภาผัวเมีย หรือสภาครอบครัว แต่ทหารก็ยังให้ ผบ.เหล่าทัพ เข้ามาเพื่อคุมเสียงของ ส.ว. สรรหา ซึ่งเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของการมี ส.ว. อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ผ่าน ส.ว. ด้วย นอกจากนี้ ยังให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มาจากการเลือกตั้งต้องพ้นจากทำหน้าที่ ในกรณีใช้งบแปรญัตติ หรือใช้งบผิดประเภทในมาตรา 168 และให้ปลัดกระทรวงเลือกกันเอง หนึ่งคนเพื่อเป็นนายกฯรักษาการณ์ ถือเป็นการทำลายแก่นของระบอบประชาธิปไตย เพราะหลักต้นแบบของประชาธิปไตยมาจากการเสียภาษีของประชาชน แต่ร่างฉบับนี้กลับตาลปัตร ยอมให้ข้าราชการ ใช้จ่ายภาษีของประชาชน ผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เลือกกันเองโดยไม่ผ่านประชาชนได้

"ที่สำคัญหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าต้องร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการยกระดับขึ้นเป็นกฎหมาย ไม่ใช่แค่นโยบาย โดยจะมีผลในการบังคับใช้ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตาม ทั้งที่ยุทธศาสตร์นี้ออกแบบโดยรัฐบาลทหาร และแม้ผู้เกี่ยวข้องจะชี้แจงว่า แผนยุทธศาสตร์นี้ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถามว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในเมื่อเขาคุม ส.ว. 250 คนในมือได้ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง การปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายใด ก็ทำได้ยาก หากเขาไม่เอาด้วย ดังนั้น นี่จึงเป็นการมัดมือชกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้อีกเรื่องสำคัญคือ กรณีคำถามพ่วง ถ้าผ่าน ส.ว.สรรหาสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นแล้ว ตนขอฟันธงว่า ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. มากถึง 250 คน สุดท้าย ส.ว. จะถือเป็นฐานของผู้มีอำนาจ เป็นเหมือนพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ที่มีตุนไว้แล้วก่อนการเลือกตั้ง" นายนิพิฏฐ์กล่าว




ที่มา : มติชนออนไลน์
 

ม.เที่ยงคืนแถลงข่าวว่าไม่สามารถแถลงได้ หลังถูกมหาวิทยาลัยสั่งห้ามแถลงเรื่องการลงประชามติ


สิงหาคม 1, 2016
By 
1 ส.ค.59 เวลา 13.00 น. ที่ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการจากกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้มีการแจกแถลงการณ์เรื่อง “การลงประชามติแบบ 3 ไม่รับ” หลังถูกมหาวิทยาลัยสั่งห้ามไม่ให้จัดแถลงข่าว โดยอ้างอิงถึงคำสั่งห้ามจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ด้านสมชาย ปรีชาศิลปกุล ระบุบุคคลภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ เอง กำลังทำให้มหาวิทยาลัยค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นค่ายทหาร
เดิมกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีกำหนดการจัดแถลงข่าวเรื่อง “การลงประชามติแบบ 3 ไม่รับ” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ในช่วงเช้าวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางคณบดีคณะนิติศาสตร์ ได้แจ้งด้วยวาจามาทางผู้จัดว่าขอให้ยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว โดยอ้างอิงถึงคำสั่งห้ามว่ามาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่มีรายละเอียดในการห้ามและการอ้างอิงเอกสารที่เป็นทางการใด
ทางกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้ประกาศยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว และเปลี่ยนมาเป็นการแจกแถลงการณ์ให้กับสื่อมวลชนที่หน้าตึกคณะนิติศาสตร์แทน โดยระหว่างการแจกแถลงการณ์ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์และบันทึกภาพอยู่ตลอดเวลา ส่วนทางกลุ่มนักวิชาการได้แถลงกับผู้เข้าร่วมว่าวันนี้ไม่สามารถอ่านแถลงการณ์ได้ เพราะถูกสั่งห้าม จึงทำได้เพียงแจกแถลงการณ์แทน
photo_2016-08-01_15-51-14
photo_2016-08-01_16-06-06
รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์เป็นพื้นที่เปิดที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ มีคนที่มีความเห็นหลากหลายอยู่ร่วมกันและสามารถพูดคุยกันได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้มาร่วมเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ตึกคณะนิติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีการห้ามหรือเข้าไปขัดขวางแต่อย่างใด
สมชายระบุว่าเมื่อมีการห้ามไม่ให้มีการแถลงข่าวดังกล่าว ตนไม่ได้มีความกลัวต่อสถานการณ์ แต่ยังคงยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารอย่างที่เคยยืนยันมาโดยตลอด และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นค่ายทหาร ไม่ใช่จากคนภายนอกแต่เป็นจากคนภายในมหาวิทยาลัยเองที่จะทำให้เปลี่ยนไป
“นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย” สมชายกล่าว
สำหรับแถลงการณ์ที่ระบุถึงจุดยืนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแบบ 3 ไม่รับ ประกอบด้วย การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย,  การไม่รับคำถามพ่วง และการไม่รับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยม (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

เผยประวัติ “ยูริโกะ โคอิเคะ” ผู้ว่าการหญิงคนแรกของกรุงโตเกียว

คณะกรรมการการเลือกตั้งในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ประกาศว่า น.ส.ยูริโกะ โคอิเคะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม วัย 64 ปี เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (31 ก.ค.) โดยผลนับคะแนนอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่า น.ส.โคอิเคะ เป็นผู้ได้รับเสียงข้างมาก รวมกว่า 2.9 ล้านเสียง ทิ้งห่างจากผู้ที่มีคะแนนเป็นอันดับ 2 และ 3 ได้แก่ นายฮิโรยะ มาซูดะ ซึ่งได้รับคะแนน 1.8 ล้านเสียง และนายชุนทาโร โทริโกเอะ ซึ่งมีคะแนน 1.3 ล้านเสียง
น.ส.โคอิเคะ เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว ทั้งยังเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเธอเคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อปี 2550 และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนเมื่อปี 2548
อย่างไรก็ตาม น.ส.โคอิเคะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวในฐานะผู้สมัครอิสระ แม้ว่าเธอจะสังกัดอยู่ในพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือพรรคแอลดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลญี่ปุ่น แต่คณะผู้บริหารพรรคแอลดีพีกลับไม่ได้ประกาศสนับสนุนเธอในฐานะตัวแทนพรรค
นอกจากนี้ นายชินทาโร อิชิฮาระ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว และสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคแอลดีพี เคยวิจารณ์ว่าชาวญี่ปุ่นไม่อาจฝากฝังกรุงโตเกียวไว้กับผู้หญิงที่แต่งหน้าจัดเช่นเธอได้ แต่ น.ส.โคอิเคะ หัวเราะกับคำวิจารณ์และเผยว่ารู้สึกชินแล้วกับความคิดเห็นดังกล่าว
ขณะที่ภารกิจเร่งด่วนของ น.ส.โคอิเคะ ในฐานะผู้ว่าการกรุงโตเกียว ได้แก่ การสะสางปัญหาเรื่องงบประมาณและการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นรับเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวในปี 2563 เนื่องจากอดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียวทั้งสองรายก่อนหน้านี้ต้องลาออกเพราะถูกกล่าวหาว่าพัวพันการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดย น.ส.โคอิเคะ ระบุว่าตนจะเปลี่ยนกรุงโตเกียวเสียใหม่ และจะสนับสนุนนโยบายส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นด้วย
ทั้งนี้ น.ส.โคอิเคะ จบการศึกษาในสาขาสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยไคโร ประเทศอียิปต์ ทำให้เธอสามารถพูดภาษาอาหรับได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังเคยเป็นผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมืองในปี 2535 และเป็นนักการเมืองหญิงที่มีแนวคิดขวาจัดคนหนึ่ง

ศาลทหารให้ประกันตัว “แม่จ่านิว” คดีหมิ่นสถาบัน


วันนี้ ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ อัยการศาลทหารได้นัด น.ส. พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ โดยมีคำสั่งส่งฟ้องต่อศาลทหารในคดีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งทางศาลทหารรับฟ้องและอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ยุยง ปลุกปั่นทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาตจากศาล
น.ส. พัฒน์นรี ถูกออกหมายจับและตั้งข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา และมีการเผยแพร่เอกสารหลักฐานในชั้นสอบสวนพบว่าเธอพิมพ์ตอบข้อความของนายบุรินทร์ อินติน ที่ถูกควบคุมตัวขณะทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและตั้งข้อหาไปก่อนหน้านั้น โดยน.ส.พัฒน์นรีตอบข้อความด้วยคำว่า “จ้า”
ภายหลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม จาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เคยแถลงข่าวชี้แจง ยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิด ไม่ได้แค่พิมพ์คำว่า “จ้า” ตอบรับบทสนทนาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่อาจให้รายละเอียดของคดีได้ ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยืนยันว่าการจับกุมดังกล่าวเพราะกระทำความผิดจริง มีหลักฐานชัดเจน และไม่ได้จับกุมเพราะประเด็นการเมือง และประเด็นการทำประชามติ
ภาพประกอบจากคลังภาพ
ี่ที่มา BBC

องค์กรสื่อทางเลือก-ภาคี รวมการเฉพาะกิจ #ส่องประชามติ


1 ส.ค. 2559 ที่ห้องประชุมเว็บไซต์ประชาไท ในการแถลงข่าว “เครือข่ายสังเกตการณ์ประชามติ” นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวถึงการรวมตัวครั้งนี้ว่า เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง องค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อทางเลือก คือ เครือข่าย We Watch อาสาสมัครเยาวชนสังเกตการณ์ประชามติ, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สำนักข่าวไทยพับลิก้า, ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), และสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมกันจับตาการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ โดยเปิดรับข้อมูลจากประชาชนและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมรายงานข้อมูลสู่สาธารณะ
"ในการรับข้อมูลจะมาจากสองส่วน คือ อาสาสมัครของ We Watch ซึ่งมีกระบวนการให้จัดส่งรายงานเข้ามาอย่างเป็นระบบ ส่วนของประชาชนทั่วไปที่อยากเข้าร่วม ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทะเบียน เช่น หลังจากไปออกเสียงประชามติ ก็สามารถเขียนรายงานเข้ามา หรือกลุ่มคนที่จะเดินทางในพื้นที่ต่างจังหวัด ในหน่วยที่อยู่ไกล แล้วถูกสกัดกั้นการออกเสียง เรื่องเหล่านี้อยากให้รายงานและบันทึกไว้ให้มากที่สุด เท่าที่กำลังของประชาชนและเครือข่ายจะทำได้" นางสาวจีรนุช กล่าว
นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า การลงประชามติครั้งนี้แตกต่างจากหลายครั้งและการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากยังไม่เคยเห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการสอดส่องและติดตามกระบวนการลงประชามติครั้งนี้ ทั้งนี้ การที่มีองค์กรติดตาม ทั้งในช่วงก่อนลงประชามติ วันประชามติ และหลังประชามติ สำคัญมากเพราะทำให้เห็นว่าการประชามติครั้งนี้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
"ในอดีต ในการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคการเมืองจะส่งตัวแทนลงสังเกตการณ์ทุกหน่วยเลือกตั้ง ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีการจับผิดกันว่ามีการโกงกันไหม ใครมีพฤติกรรมล่อแหลม ขณะเดียวกัน องค์กรอื่นๆ จะร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้มา ทั้งของพรรคการเมือง องค์กรจากส่วนกลาง หรือจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นกระบวนการเหล่านี้เลย" นายเอกพันธุ์ กล่าว
นางสาวชมพูนุท เฉลียวบุญ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Watch ซึ่งเป็นเครือข่ายของเยาวชนที่สนใจในประเด็นการเมือง การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายมีการอบรมเยาวชนและคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการสังเกตการณ์ประชามติ โดยในการสังเกตการณ์จะจับตาข้อดีและข้อด้อย เพื่อสรุปเป็นข้อปรับปรุงการเลือกตั้งหรือการประชามติในครั้งต่อๆ ไป
"สำหรับหลักสำคัญของการสังเกตการณ์ประชามติ คนที่จะไปสังเกตการณ์ อย่างน้อยต้องศึกษากระบวนการตั้งแต่ต้น โดยสามารถดูในหน่วยของตัวเอง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดูว่าประชาชนที่ไปใช้สิทธิ ตื่นตัวแค่ไหน กระบวนการระหว่างวัน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ แต่ละหน่วยมีผู้มาใช้สิทธิเท่าไหร่ มีบัตรดี บัตรเสียเท่าไหร่ คะแนนดิบในแต่ละประเภท ตลอดจนการนำเอกสารและอุปกรณ์กลับไปที่ระดับเขต" นางสาวชมพูนุท กล่าว
ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า องค์กรที่มาร่วมเครือข่ายก็เป็นสื่อทางเลือก ซึ่งไม่มีกำลังคนมากพอจะรายงานทุกอย่าง แต่ทางเครือข่ายจะเป็นศูนย์กลางในการรายงาน โดยให้ประชาชนเก็บข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงที่เห็นจากแต่ละพื้นที่ โดยทางเครือข่ายมีแนวทางปฏิบัติในการสังเกตการณ์ จากนั้นทางเครือข่ายจะทำออกมาเป็นรายงานต่อไป
“ที่ผ่านมาไอลอว์สังเกตการณ์สองประเด็นคือเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและคดีที่เกี่ยวกับการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมามีอย่างน้อย 25 เวทีที่ถูกห้ามจัด และมีถูกจับอย่างน้อย 20 คน จากกฎหมายประชามติ ถูกห้ามพูด ถูกจับ และ สองคือข้อความเท็จ แม้บรรยากาศการรณรงค์ประชามติจะเงียบมาก แต่ก็มีการแสดงข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือคิดไปเอง หรือมีการเลือกที่จะไม่พูดบางประเด็นอย่างจงใจ เช่น นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีแต่งตั้ง ซึ่งไม่จริง มันมีโอกาสอยู่ ถ้าประชาชนเห็นการเผยแพร่ที่ไม่จริงหรือใช้ข้อมูลบางอย่างเท่านั้น ก็แจ้งเข้ามา เป็นส่วนหนึ่งในการจับตาว่าถูกต้องชอบธรรมหรือเปล่า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างนี้จะเท่ากับส่งเสริมกฎหมายประชามติที่ปิดกั้นเสรีภาพขอประชาชนในการตีความหรือไม่ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า การตีความเป็นสิทธิที่จะทำได้และทางไอลอว์ไม่ได้จะนำไปฟ้องร้องแต่อย่างใด แต่จะช่วยชี้แจงถ้ามีการตีความผิดมากเกินไป เช่น มีการตีความว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะไม่สามารถสร้างมัสยิดได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง
ขณะที่ นางสาวรวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ผู้สื่อข่าวศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เรียกร้องไปยังสื่อมวลชนใน 3 ประเด็น คือ หนึ่ง ให้ติดตามการลงประชามติอย่างใกล้ชิด ตรงไปตรงมา และรอบด้าน สอง รายงานบรรยากาศการใช้สิทธิของประชาชน เพราะจะทำให้เห็นว่าประชาชนมีสำนึกต่อการทำประชามติอย่างไร และประการสุดท้ายคือ เสนอให้สื่อทำเอ็กซิทโพลล์ เพราะจะเป็นสิ่งบอกเหตุผลและตั้งคำถามต่อประชามติ เช่น หากเอ็กซิท โพลล์ ระบุว่า ฝ่ายไม่รับร่างชนะ แต่ผลปรากฏว่าฝ่ายรับร่างชนะ ประชาชนก็สามารถอ่านระหว่างบรรทัดได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ห้ามไม่ให้มีการทำเอ็กซิทโพลล์ ดังนั้น สื่อจึงต้องทำหน้าที่ในสองประการแรกอย่างเข้มข้น
“อยากบอกเพื่อนสื่อมวลชนว่าอย่ากลัวมากเกินไป จนไม่กล้ารายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เผด็จการและอำนาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คุณคิด เพราะถ้ากลัวผี คุณก็จะเห็นผี ถ้าไม่กลัวผี คุณก็จะไม่เห็นมัน” นางสาวรวิวรรณ กล่าว
ส่วนนายบัณฑิต หอมเกษ ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการและรณรงค์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ทำงานด้านสิทธิและติดตามตามสถานการณ์การลงประชามติ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิทาการเมืองเพื่อกำหนดชะตากรรมในอนาคต
“แต่บรรยากาศในช่วงก่อนลงประชามติที่ผ่านมาเห็นว่าการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการรณรงค์ต่างๆ เป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งเป็นข้อกังวลหนึ่งของทางสมาคม ทำให้จึงต้องมาร่วมสังเกตการณ์ให้การลงประชามติเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุดและให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง” นายบัณฑิต กล่าว

อดีตโฆษกพันธมิตรฯ เปิดโฉมหน้า 'หุ้นส่วนอำนาจใหม่' หาก ร่างรธน.-คำถามพ่วงผ่าน


ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ออกบทวิเคราะห์ ชี้หาก ร่างรธน.-คำถามพ่วงผ่าน ขณะที่เจรจาตกลงกันไม่ได้ อาจเห็น "หุ้นส่วนอำนาจใหม่" 3 แบบ คือ ส.ว.จับมือเพื่อไทย หรือเพื่อไทยจับมือประชาธิปัตย์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ รักษาการไปเรื่อยๆ 
1 ส.ค.2559 ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ถึงบทวิเคราะห์ขั้วอำนาจทางการเมืองหากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ โดย ปานเทพ วิเคราะห์ถึงหุ้นส่วนอำนาจในอนาคต จากมาตรา 91 ในร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วงกรณี ส.ว. พร้อมกับเหตุการณ์เจรจาตกลงกันไม่ได้ อาจเห็นสถานการณ์บีบคั้นทำให้เกิด "หุ้นส่วนอำนาจใหม่" ที่ช็อคประชาชนก็ได้ คือ 1. ส.ว. หันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยแทน โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง 2. พรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง หรือ 3. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งนานไปก็จะมีแรงกดดันจากทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน เพราะเป็นสถานการณ์หลังเลือกตั้งแล้ว
ปานเทพ ระบุว่า ไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้ไม่ถึงทางตันที่นำไปสู่การเปลี่ยนหุ้นส่วนอำนาจใหม่ หรือพูดง่ายๆคือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคผ่าทางตัน หรือไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องพร้อมรับความแปลกใหม่ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไป หรือไม่เช่นนั้นหากประชาชนไม่อยากเห็นเกมความเสี่ยงในขั้วอำนาจดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ลงมติไม่เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยรายละเอียดบทวิเคราะห์มีดังนี้

บทวิเคราะห์มิติขั้วอำนาจทางการเมือง หากประชาชนผ่านความเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วง!!

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 91 ตามทฤษฎีแล้ว บางคนวิเคราะห์ว่าอาจจะช่วยลดจำนวน ส.ส.เพื่อไทยให้น้อยลง
เพราะ ส.ส.เพื่อไทยอยู่ที่ ส.ส.เขตเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งรัฐธรรมนูญคฉบับนี้ออกแบบ "โควต้า" ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้นั้น ต้องไม่เกิน สัดส่วนของ ส.ส.เขต+ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกัน
ตัวอย่างสมมุติเช่น การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 เป็นแบบจำลองตัวตั้ง
เพื่อไทย ได้บัญชีรายชื่อ 15.7 ล้านเสียง 48.41% ต้องได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 คน จาก 125 คน รวมกับ ส.ส.เขตอีก 204 คน ทำให้ ส.ส.รวมได้ 265 คนจาก 500 คน กลับกลายเป็น 53% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด
แต่ภายใต้ระบบใหม่ที่ให้นับโควต้า ส.ส.รวม เริ่มต้นจาก ส.ส.รวมไม่เกินคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อคือ 48.41% เป็นตัวตั้ง !!!
ดังนั้น เมื่อคิดจากจำนวน ส.ส.500 คน พรรคเพื่อไทยก็ควรจะได้ ส.ส.รวมไม่เกิน 48.41% หรือไม่เกิน 243 คน เมื่อลบออกจาก ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทย 204 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยจะได้โควต้าอีกแค่ 39 คน แปลว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อจะหายไป (61-39 = 22 คน) พรรคเพื่อไทยจึงจะมี ส.ส.ไม่เกิน 243 ที่นั่ง (ลดลงจาก 265 ที่นั่ง) และจะทำให้มี ส.ส.รวมจากเดิมเกินครึ่ง กลายเป็นไม่ถึงครึ่ง
ภายใต้ระบบใหม่ ถ้าสมมุติคิดจากฐานคะแนนเดิมปี 2554 ประชาธิปัตย์ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 11.43 ล้านเสียงคิดเป็น 35.15% จะได้ ส.ส.รวมทุกระบบเป็น 175 เสียง (จากเดิมได้ 159 ที่นั่ง) แปลว่า ปชป.จะได้ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีก 20 ที่นั่ง
ส่วนพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้เพิ่มจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจาก 125 คน เป็น 150 คนขึ้นไปอีก และลดจำนวน ส.ส.เขตจาก 375 คน เหลือ 350 คน เพราะระบบบัญชีรายชื่อ "ในโควต้า ส.ส.รวม" ที่มากขึ้นเท่าใดก็เท่ากับลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทยลง และเพิ่มความได้เปรียบของพรรคอื่นๆมากขึ้นเท่านั้น (ตามทฤษฎีจากแบบจำลองการเลือกตั้งปี 2554)
เดิมทีอาจมีใครบางคนคาดหวังว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง แล้วคิดว่า ส.ส.พรรคขนาดกลางที่มีการประสานเอาไว้จะทำให้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ได้
คนคิดวางหมากนี้ เป็นเซียนการเมืองที่ไม่ธรรมดา !!!
เพราะเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง
แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เพราะการฝากอนาคตเอาไว้กับพรรคขนาดกลาง ซึ่งนอกจากจะไม่มีความแน่นอนแล้ว เอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนมากขึ้น และเกินครึ่งหนึ่ง หรือไม่?
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เกิดความระแวงถึงความไม่แน่นอน ปรากฏออกมาให้มีการลงประชามติคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเป็นเวลา 5 ปี แต่เมื่อนายกรัฐมนตรี 1 สมัยมีวาระไม่เกิน 4 ปี แปลว่าเรามีโอกาสที่จะมีนายกรัฐมนตรีจากการร่วมลงมติโดย ส.ว. ได้มากกว่า 2 สมัย จึงมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ว.ร่วมลงมติได้ยาวนานสูงสุดถึง 8 ปี
และ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลก็มาจากคัดเลือกจาก คสช. เสียด้วย
ดังนั้น ส.ว.จึงคล้ายๆตัวแทนพรรคทหารขนาดใหญ่มีมากถึง 250 คน ที่ต้องจะไปเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.500 คน รวมเป็น 750 คน
แปลว่าครึ่งหนึ่งของ 2 สภาคือ 375 คนขึ้นไป ถ้าไม่ลงตัวก็เลือกนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าการเจรจาจะลงตัว
ลองคิดดูว่าพรรคการเมืองพรรคเดียวได้ ส.ส.ครึ่งหนึ่งคือต้องมี ส.ส. 250 คนขึ้นไปก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แต่ก็เสียงไม่พออยู่ดี เพราะต้องอาศัยเสียงในรัฐสภาอีก 125 เสียง จึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะไม่พึ่งพาเสียงจาก ส.ว. เลย
ยกเว้นว่าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวได้เสียงถึง 375 คน จาก 500 คน ซึ่งยากมากในการวางโครงสร้าง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (เพราะต้องมี ส.ส. คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 75% ของ ส.ส.ทั้งประเทศ)
หรือยกเว้นว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์รวมกันแล้วเกิน 375 ที่นั่งจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งก็ยากในทางการเมืองเช่นกัน
แต่...
การมี ส.ว.คุมเสียงสำคัญนั้น ไม่ได้แปลว่าจะปลอดโปร่งในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงก็จะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นตามมา โดยที่ ส.ว.จะไม่สามารถไปร่วมลงมติอุ้มนายกรัฐมนตรีได้ นั่นหมายถึงว่าจะต้องเกิดความเห็นพ้องต้องกัน 2 ด้านพร้อมกัน
1. ส.ว. เห็นชอบในการเลือกนายกรัฐมนตรี
2. ต้องมี ส.ส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพื่อค้ำยันสถานภาพนายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย
แปลว่า ส.ว.ย่อมไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้รับการสนับสนุนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่ดี
และแปลว่าถ้าเพียงแค่พรรคเพื่อไทยมีเสียงครึ่งหนึ่งใน ส.ส. แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ต้องมีพรรคเพื่อไทยอยู่ในรัฐบาลเท่านั้น ถึงเวลานั้น ส.ว.จะต้องยอมจำนนให้กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่?
คำถามตามมาคือ ส.ว. จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ? และต้องมีความเห็นพ้องของเสียงข้างมากใน ส.ส.ด้วย?
เพราะถ้าเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็อย่าลืมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน
การเจรจาในอนาคตจะจบลงอย่างไรนั้นยากจะคาดเดา
แต่เชื่อได้ว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะต้องเข้าร่วมรัฐบาลเป็นแน่ แต่ก็ต้องมีพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ถ้าไม่พรรคเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์เข้าร่วมด้วยในทางใดทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผลการเจรจาใครจะตามใจ ส.ว.ได้มากกว่ากัน
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้เปรียบขึ้นในทางทฤษฎีจากระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ถึงเวลานั้นจะยืนยันเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือจะยอมเลือกคนอื่นตามความต้องการของ ส.ว. ที่มาจาก คสช.(ถ้าบังเอิญว่าคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นคนละคนกัน)
แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการ นานๆแบบไร้กำหนดเวลา ก็น่าจะถูกแรงกดดันมากขึ้น เพราะถ้าไม่เช่นนั้นคงไม่ประกาศโรดแมปให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า จริงไหม?
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดนายกรัฐมนตรีในอนาคต
ดังนั้นการที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ ทำให้สถานการณ์การต่อรองระหว่าง
"ส.ว.จะอุ้มนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์"
หรือ
"ประชาธิปัตย์อุ้มนายกรัฐมนตรีตามความต้องการ ส.ว." นั้น...
มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะเท่ากับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่เห็นด้วยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และแปลว่าไม่เห็นด้วยกับอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี
จึงเท่ากับหุ้นส่วนอำนาจในอนาคตย่อมมีระดับความเสี่ยงที่จะตกลงกันไม่ได้สูงเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งถ้าปล่อยเหตุการณ์เจรจาตกลงกันไม่ได้เช่นนั้นต่อไป เราอาจเห็นสถานการณ์บีบคั้นทำให้เกิด "หุ้นส่วนอำนาจใหม่" ที่ช็อคประชาชนก็ได้ คือ
1. ส.ว. หันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยแทน โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง
2. พรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีประชาชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผิดหวัง
3. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งนานไปก็จะมีแรงกดดันจากทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน เพราะเป็นสถานการณ์หลังเลือกตั้งแล้ว
หรือไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้ไม่ถึงทางตันที่นำไปสู่การเปลี่ยนหุ้นส่วนอำนาจใหม่ หรือพูดง่ายๆคือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคผ่าทางตัน
หรือไม่เช่นนั้นถ้าประชาชนเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องพร้อมรับความแปลกใหม่ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
หรือไม่เช่นนั้นหากประชาชนไม่อยากเห็นเกมความเสี่ยงในขั้วอำนาจดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ลงมติไม่เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ไม่ว่าผลประชามติจะเป็นอย่างไร 7 สิงหาคม 2559 ก็จะเป็นวันที่ประชาชนกำหนดชะตาอนาคตของประเทศด้วยตนเอง
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
1 สิงหาคม 2559

"บิ๊กตู่" ชม "โปรเม" สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แนะคนไทย ชัยชนะไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

updated: 01 ส.ค. 2559 เวลา 16:31:00 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันนี้ (1 ส.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฝากแสดงความชื่นชมโปรเม เอรียา จุฑานุกาล ที่สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันกอล์ฟในรายการ ริโคห์ วีเมนส์ บริติช โอเพ่น มาครองได้สำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ เพราะถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์ในระดับเมเจอร์ โดยนายกฯ ชื่นชมว่า แม้โปรเมจะมีอายุยังน้อย แต่มีความเป็นนักกีฬามืออาชีพ ที่อาศัยการเรียนรู้และพัฒนาเทคนิคของตัวเอง ด้วยความขยัน ตั้งใจจริง และมีสมาธิเป็นอย่างดีระหว่างการแข่งขัน ทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและได้รับชัยชนะในที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะฝีมือและความ รับผิดชอบ การฝึกฝน ของโปรเมล้วน ๆ จึงอยากให้คนไทยและนักกีฬาไทยได้ศึกษาและนำไปเป็นแบบอย่าง

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกฯยังได้ฝากให้กำลังใจโปรเม ในการเป็นตัวแทนแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ อย่างเต็มภาคภูมิ โดยย้ำว่าการได้รับชัยชนะและเลื่อนขึ้นเป็นมือวางอันดับต้นของโลกเป็นเรื่อง ที่น่ายินดี แต่ขอให้รักษามาตรฐานของตนเอง ทั้งในเรื่องของฝีมือและการฝึกฝนต่อไป คนไทยทั้งประเทศพร้อมส่งแรงเชียร์ให้โปรเมประสบความสำเร็จในทุกการแข่งขัน


ที่มา มติชนออนไลน์ 

นับถอยหลังประชามติรัฐธรรมนูญ

Date: 1 สิงหาคม 2016
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.youtube.com
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ประกาศยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มาภาพ: www.youtube.com
เหลืออีกเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
นอกจากการถกเถียงกันในเชิงเนื้อหา ที่ฝ่ายรัฐพยายามชูจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ทั้งการวางกลไกปราบการทุจริต การให้สิทธิและเสรีภาพบางอย่างมากขึ้น การกำหนดหน้าที่ของรัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ฯลฯ ขณะที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการ และเอ็นจีโอบางส่วน วิพากษ์วิจารณ์เรื่องจุดอ่อนต่างๆ ทั้งระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ รวมถึงกรณีที่สิทธิเสรีภาพบางอย่างที่อาจจะหายไป ฯลฯ
แต่หนึ่งในประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียง ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็คือเรื่องการ “สืบทอดอำนาจ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คำถามก็คือ เนื้อหาส่วนไหนของร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่จะเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. อย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ
ทั้งๆ ที่ แกนนำ คสช. อย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ออกมายืนยันหลายครั้ง ว่าจะไม่กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
จากการรวบรวมความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย เสียงวิพากษ์เรื่องการสืบทอดอำนาจของ คสช. มักจะยึดโยงกับ 5 ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ชาติ
การกำหนดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งจะมีผลเป็นกรอบในการจัดทำนโยบายและการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปหลังเลือกตั้ง (มาตรา 142 และมาตรา 162)
โดยรัฐบาลที่มีหน้าที่จัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเองก็คือรัฐบาลชุดปัจจุบันของ คสช. นั่นเอง (มาตรา 65 และบทเฉพาะกาล มาตรา 275)
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นตัวมัดมือชกให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปต้องเดินตามสิ่งที่รัฐบาล คสช. กำหนด
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ เคยกล่าวชี้แจงไว้ในรายการ “คืนความสุข” ให้กับคนในชาติว่า เรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงการวางกลไกเพื่อให้รัฐบาลชุดหน้าเข้ามาสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ และที่วางไว้ก็เป็นเพียงกรอบการทำงานเฉยๆ ยังสามารถทำคู่กับนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้ได้ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด
2. ประกาศและคำสั่ง คสช. มีผลต่อไป
การรับรองประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ บทเฉพาะกาล มาตรา 279 ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ซึ่งการจะยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้ จะต้องออกเป็น พ.ร.บ. หรือคำสั่งสำนักนายกฯ หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมจำนวนประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ในช่วงที่ครบรอบ 2 ปี ที่ คสช. เข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน (ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 19 มิถุนายน 2559) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 397 ฉบับ แบ่งเป็นประกาศ คสช. 123 ฉบับ คำสั่ง คสช. 198 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 76 ฉบับ
คำสั่งหรือประกาศที่มีสถานะเป็นกฎหมายกว่า 400 ฉบับนี้ นับร้อยฉบับจะต้องยกเลิกโดยออกเป็น พ.ร.บ. ตามกระบวนการของรัฐสภา แปลง่ายๆ ว่าออกง่ายแต่แก้ยาก เห็นได้จาก “ประกาศคณะปฏิวัติ” ซึ่งออกโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลายๆ ฉบับที่ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เวลาผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่มาภาพ : http://www.tnamcot.com/content/tag/%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A4%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C/page/2
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เชื่อว่า คสช. จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตราใดเข้ามาสืบทอดอำนาจ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าคงจะเข็ด และไม่มีใครอยากมาแล้ว ที่มาภาพ: www.tnamcot.com
3. ส.ว.เฉพาะกาล
ส.ว.ชุดแรก ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ จะมาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด (บทเฉพาะกาล มาตรา 269)
ทั้งๆ ที่เดิม กรธ. เขียนให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ แต่ก็จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะ คสช. เป็นที่มาของบทบัญญัติเรื่อง “ส.ว.เฉพาะกาล” ให้มาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด และเพิ่มจำนวนจาก 200 คน เป็น 250 คน ซึ่งทั้งหมดจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เท่ากับ ส.ว.ปกติ
ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ปกติของ ส.ว. ก็มีความสำคัญมากอยู่แล้ว ทั้งพิจารณากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. พ.ร.ก. ฯลฯ, ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐผ่านกลไกของรัฐสภา เช่น ขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตั้งกระทู้ถาม หรือผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ, ให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นต้น
แต่ ส.ว.เฉพาะกาล ที่ คสช. สรรหามาทั้งหมด ยังได้รับ “อำนาจพิเศษ” ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ในการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
และหาก “คำถามพ่วง” ผ่านการออกเสียงประชามติ ส.ว.เฉพาะกาลกลุ่มนี้ (ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้กำหนดให้ คสช., ครม.ชุดปัจจุบัน, สปช. หรือ สปท. ที่อยากเป็น ส.ว. ต้องลาออกจากตำแหน่งเดิมก่อนเหมือน ส.ส.) ก็จะมีสิทธิได้โหวตเลือกนายกฯ คนต่อไป ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. เคยกล่าวปฏิเสธว่า ข้อเสนอของ คสช. ที่ให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหา เป็นเพียงหลักประกันความมั่นคงเพื่อป้องกันการขัดแย้ง ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
4. เปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” ได้
แม้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ล่วงหน้า ไม่เกิน 3 รายชื่อตั้งแต่ช่วงลงสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา 88) แต่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.” เหมือนรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2540 และรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550
นอกจากนี้ ยังมีการเขียนบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ “ยกเว้น” เกณฑ์การแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ล่วงหน้าดังกล่าวได้อีกด้วย โดยมีขั้นตอนคือ 1. ให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 251 คน จากทั้งหมด 500 คน เข้าชื่อยกเว้นเกณฑ์ดังกล่าว 2. ให้ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนทั้งหมด หรืออย่างน้อย 251 คน จากทั้งหมด 750 คน อนุมัติการยกเว้นเกณฑ์ดังกล่าว (โดยต้องไม่ลืมว่า ส.ว.ชุดแรกทั้งหมด 250 คนมาจากสรรหาโดย คสช.) และ 3. ให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เห็นชอบรายชื่อนายกฯ ได้
การเปิดทางให้คนนอก ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง มาเป็นนายกฯ ได้ ทำให้คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ซึ่งเป็นเครือญาติกับผู้ที่บาดเจ็บล้มตายจากการออกประท้วง กรณีที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนนอก ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 ต้องออกมาประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้
อย่างไรก็ตาม นายมีชัยกล่าวปฏิเสธว่า บทบัญญัติที่ให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯ ได้ เป็นเพียงการเปิดช่องไว้เท่านั้น หากไม่มีเหตุก็ไม่จำเป็นต้องใช้
43องค์กร
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เครือข่ายนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และประชาชน 43 องค์กร ประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ก็มาจากการที่กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก จนแทบ “เป็นไปไม่ได้” ที่มาภาพ: www.matichon.co.th/news/222478
5. วางกลไกให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ได้ยาก
หนึ่งในประเด็นรณรงค์ก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 ที่สำคัญ และมีส่วนโน้มน้าวใจให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ก็คือแคมเปญรณรงค์ว่าให้ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” (ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 คือ เห็นชอบ 14.72 ล้านเสียง และไม่เห็นชอบ 10.74 ล้านเสียง จากผู้มาใช้สิทธิออกเสียงทั้งหมด 25.97 ล้านคน มีงานวิจัยบางชิ้นยืนยันว่า สาเหตุบางส่วนที่คนโหวตเห็นชอบในการออกเสียงประชามติครั้งนั้นก็มาจากเหตุผลนี้ คือคิดว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ในอนาคต)
แต่ประเด็นรณรงค์ก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ครั้งนี้คีย์เวิร์ดดังกล่าวกลับไม่ถูกหยิบมาพูดถึงเลย กระทั่งในเอกสารที่ภาครัฐแจกจ่ายให้กับประชาชน ก็เพียงพูดถึงอย่างผ่านๆ ว่าใครเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และห้ามแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาอะไรบ้าง
แต่ไม่ได้พูดถึง “กระบวนการ” แก้ไขเพิ่มเติม ที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้กำหนดให้ซับซ้อน จนหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าแทบแก้ไขไม่ได้เลยเพราะการจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องฟันฝ่าด้านต่างๆ ให้ได้ถึง 4 ด่าน (มาตรา 256)
  • ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ มีเฉพาะ ครม., ส.ส. จำนวนหนึ่งในห้าของทั้งหมด, ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่งในห้าของทั้งหมด หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คนขึ้นไป
  • รัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาญัตติของแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 วาระ โดยวาระแรกนอกจากจะต้องได้เสียงจาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (หรืออย่างน้อย 375 คน จากทั้งหมด 750 คน) ยังมีการกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมว่า ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด (หรืออย่างน้อย 84 คน จากทั้งหมด 250 คน)
  • การพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สาม นอกจากต้องได้เสียงจาก ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ยังมีเกณฑ์ว่าจะต้องได้เสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% รวมถึงต้องการเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
  • และต่อให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ก็ยังต้องมีการจัดให้ออกเสียงประชามติ
หนึ่งในเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้อธิบายถึงการประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ก็คือ การที่บทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ชุดแรก 250 คน มาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด นอกจากเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งใหม่ การที่กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ยากมาก ยังจะทำให้ความขัดแย้งในอนาคตไม่ได้รับการแก้ไข
ความยุ่งยากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังทำให้เครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน43 องค์กร ประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้
ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ ที่มาภาพ : http://www.ect.go.th/th/?page_id=8583
ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ โดยคำตอบมีเพียงช่อง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” เท่านั้น ที่มาภาพ: www.ect.go.th/th/?page_id=8583
ทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น ถูกฝ่ายการเมือง เอ็นจีโอ และฝ่ายวิชาการบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเปิดช่องให้ คสช. ได้สืบทอดอำนาจ ทั้งผ่านการสรรหา ส.ว.เฉพาะกาล ชุดแรก 250 คน เข้าไปดำเนินกิจการต่างๆ ในรัฐสภาแทน, ผ่านการยืนยันให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ได้ต่อไป, ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ ที่ ครม. ชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำ แต่มีผลบังคับไปยัง ครม. ชุดต่อๆ ไป และผ่านการเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกได้
โดยมีบทบัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างยากลำบาก เป็นเกราะป้องกันไม่ให้บทบัญญัติต่างๆ ข้างต้นต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง[ไม่รวมถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้สรุปสาระสำคัญมาว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ แต่ คสช. จะยังอยู่ต่อไปทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในรูปแบบต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน]
อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ เคยออกมายืนยันหลายครั้งว่า ไม่มีแนวคิดที่จะสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจผ่านทางร่างรัฐธรรมนูญฯ
ปัจจัยในการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ของแต่ละคน น่าจะมีหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ไม่เพียงแต่เนื้อหาตามลายลักษณ์อักษร แต่ยังรวมถึงการคาดเดาผลที่จะตามมาจากการบังคับใช้เนื้อหานั้นด้วย ผู้มีสิทธิออกเสียงแต่ละคนจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน และพึงใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ เพราะการออกเสียงประชามติวันดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ชะตา “อนาคต” ของประเทศไทยอย่างแน่นอน

เบื้องหลังการ Vote YES และ Vote NO

ในช่วงโค้งสุดท้าย หลายๆ ภาคส่วนได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” มากขึ้น ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการตามแต่จะอธิบายมาสนับสนุนจุดยืนของตัวเอง
ต่างกับช่วงแรกๆ ที่เกิดความสับสนว่าการแสดงท่าทีดังกล่าวจะขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกเป็นเวลา 10 ปี หรือไม่
ขณะที่โพลสำนักต่างๆ ก็เริ่มรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นว่า ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้
นักวิเคราะห์ก็คาดเดาไปต่างๆ นานา ว่าผลการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะออกมาในทิศทางไหนได้บ้าง และด้วยเหตุผลใด
อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเบื้องหลังพฤติกรรมการ Vote YES หรือ Vote NO ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อปี 2550 ของสถาบันพระปกเกล้า มีสาระที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ผลการออกเสียงประชามติครั้งสำคัญที่กำลังจะมาถึง
ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 ที่มาภาพ : http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2013/10/stat_ref50.pdf
ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550 ที่มาภาพ: http://www.ect.go.th/th/wp-content/uploads/2013/10/stat_ref50.pdf
โดยงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นนี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นในเชิงลึกจากประชาชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครราชสีมา และสุรินทร์ ก่อนวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในปี 2550 ไม่นาน และให้ภาพที่น่าสนใจ ทั้งบรรยากาศการรณรงค์ วิธีเสพสื่อเพื่อรับข้อมูล และวิธีตัดสินใจเลือกลงคะแนน ของผู้มีสิทธิออกเสียง
กล่าวโดยสรุปก็คือ
– บรรยากาศการรณรงค์ก่อนวันออกเสียงประชามติครั้งนั้น (ในงานวิจัยที่สำรวจใน กทม.) ถือว่าคึกคักเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งกลุ่มสนับสนุน กลุ่มคัดค้าน และกลุ่มที่ประกาศตัวว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฯ นั้นอย่างแน่นอน ออกมารณรงค์ต่อสู้กันทางความคิดอย่างดุเดือด โดยผู้วิจัยสามารถเขียนสรุปบรรยากาศและประเด็นของการรณรงค์ครั้งนั้นได้ถึง 10 หน้ากระดาษเอสี่
– วิธีเสพสื่อเพื่อรับข้อมูล (ในงานวิจัยที่สำรวจใน จ.นครราชสีมา) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าเอกสารที่ภาครัฐแจกอ่านยากและไม่เข้าใจ จึงหันไปติดตามข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่านทางสื่อต่างๆ มากกว่า โดยสื่อที่ได้รับความนิยม 3 ลำดับแรก ได้แก่ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ
– วิธีตัดสินใจเลือกลงคะแนน (ในงานวิจัยที่สำรวจใน จ.สุรินทร์) กลุ่มตัวอย่างตอบผู้วิจัยว่า “เนื้อหา” ของร่างรัฐธรรมนูญฯ มีส่วนเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยทางสังคมมากกว่า เช่น อยากเลือกตั้งเร็วๆ, ยังชอบบางพรรคอยู่, อยากให้ทหารออกไป, รับไปก่อนแก้ทีหลัง ฯลฯ
ทั้งนี้ ผู้วิจัย (ในงานวิจัยที่สำรวจใน กทม.) ได้สรุปเหตุผลที่ทำให้คน Vote YES ไว้ว่า น่าจะมีเหตุผลหลักๆ 5 ข้อ คือ
  1. การรณรงค์ของภาครัฐอย่างเต็มที่โดยชูประเด็นเรื่องหลังประชามติจะมีเลือกตั้ง
  2. ภาคประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
  3. คนเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มีบางมาตราที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2540 ส่วนมาตราที่ไม่ดี สามารถไปแก้ไขหลังเลือกตั้ง
  4. ประชาชนได้รับเอกสารเกี่ยวกับประชามติก่อนลงคะแนนเสียง 30 วัน จึงไม่มีเวลาศึกษามากพอ
  5. ประชาชนกลุ่มหนึ่งเห็นข้อผิดพลาดการบริหารงานของรัฐบาลเลือกตั้งชุดก่อน และไม่ต้องการให้กลุ่มอำนาจเก่ากลับมาอีก
สำหรับสาเหตุที่ทำให้คน Vote NO น่าจะมีเหตุผลหลักๆ 4 ข้อ คือ
  1. ต้องการต่อต้านการรัฐประหาร เพราะเห็นว่าทำให้ประชาธิปไตยหยุดชะงัก และถอยหลังลงคลอง
  2. ร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย
  3. ไม่ต้องการให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับมาอีก
  4. ประชาชนบางกลุ่มยังศรัทธาในอดีตนายกฯ ที่ถูกยึดอำนาจไป และต้องการให้กลับมาบริหารประเทศอีก
น่าสนใจว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากครั้งก่อน มากน้อยเพียงใด