PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ถ้ายังกราบบังคมทูลได้ : วสิษฐ เดชกุญชร

ถ้ายังกราบบังคมทูลได้ : วสิษฐ เดชกุญชร


ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ก่อนวันที่ 13 ตุลาคม ปีกลาย ข้าพระพุทธเจ้าทราบแล้วว่าพระอาการประชวรของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทหนักมาก และได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้สำหรับสิ่งที่จะเป็นข่าวที่ร้ายที่สุดในชีวิต แต่พอถึงเวลาหลังบ่ายสามโมงวันนั้น และมีผู้โทรศัพท์มาบอกว่าเสด็จสวรรคตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ทำใจไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ร้องไห้โฮออกมาอย่างคนอื่นอีกหลายล้านคน แต่ก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ไม่สามารถแม้แต่พูดกับคนในครอบครัวได้ เพราะถ้าพูดก็คงจะสะอึกสะอื้นและลงท้ายก็อาจจะปล่อยโฮออกมาเหมือนกัน

ข้าพระพุทธเจ้ามีความรู้สึกเหมือนเรือที่เครื่องยนต์ดับและหางเสือถูกทำลายเสียหาย นึกไม่ออกว่าต่อไปนี้จะทำอย่างไรกับชีวิต และจะอยู่ได้อย่างไรเมื่อไม่มีใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสียแล้ว

หลังจากที่เขาเชิญพระบรมศพไปประดิษฐานที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ทูลกระหม่อมน้อยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งหนึ่งที่พระที่นั่งองค์นั้น ต่อมาข้าพระพุทธเจ้าก็ขอและได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ไปเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายครั้งหนึ่ง และร่วมไปกับเพื่อนที่เป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่ง
ทุกครั้งที่ขึ้นไปนั่งพนมมือฟังพระสวดบนพระที่นั่ง ข้าพระพุทธเจ้าต้องซ่อนและกลืนน้ำตา เพราะความวิปโยคที่ไม่สามารถจะอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้

ข้าพระพุทธเจ้าเคยตามเสด็จไปที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทหลายครั้ง และพระที่นั่งองค์นั้นเป็นที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานตราจุลจอมเกล้าแก่ข้าพระพุทธเจ้าสองครั้ง ข้าพระพุทธเจ้าหลับตาเห็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทขณะกำลังทรงประกอบพระราชพิธีอันมีความหมายที่สุดสำหรับชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า และเมื่อนึกถึงพระราชพิธีนั้นแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็นึกเลยไปถึงโอกาสอื่นๆ ที่ได้ตามเสด็จ และได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงบ่ายวันที่ 22 กันยายน ปี 2520 เมื่อเกิดระเบิดขึ้นที่หน้าพลับพลาที่ประทับในสวนสาธารณะสนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ขณะที่กำลังพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยลืมว่าขณะที่คนอื่นกำลังอกสั่นขวัญหายและวิ่งหนีอยู่กระเจิดกระเจิงนั้น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงดำรงพระสติได้อย่างมั่นคงและทรงสามารถพระราชทานพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงที่เป็นปกติ เพราะพระราชดำรัสองค์นั้นแท้ๆ ที่ทำให้ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสงบลงและพระราชกรณียกิจดำเนินต่อไปได้

ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงดอยน้อยใหญ่ในภาคเหนือที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรชาวเขา และข้าพระพุทธเจ้ามีบุญได้ตามเสด็จถวายความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด นึกถึงบ้านแม่สาใหม่ที่ตั้งอยู่บนลาดเขา สูงชัน จนข้าพระพุทธเจ้าและพี่เทียนชัย (พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์) เหนื่อยหอบจนไม่สามารถจะเดินนำได้ ต้องหยุดและปล่อยให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จฯล่วงหน้าขึ้นไปก่อนพร้อมด้วยท่านภีศเดช (ม.จ.ภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการหลวง)

ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2517 เมื่อเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรกะเหรี่ยงบ้านท่าฝั่ง บนดอยอินทนนท์ ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นึกถึงการเดินเท้าตามเสด็จครั้งที่ระหกระเหินที่สุดครั้งหนึ่ง นึกถึงเมื่อข้าพระพุทธเจ้าโกรธท่านภีศเดชที่เชิญเสด็จให้ทรงพระดำเนิน (เดิน) ต่อไปเพื่อทอดพระเนตรไร่กาแฟของราษฎร ซึ่งมีกาแฟอยู่เพียงต้นเดียว นึกถึงเมื่อความทราบถึงพระกรรณและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าเฝ้าฯ ที่โต๊ะเสวยในค่ำวันนั้น แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชาธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าหายโง่ว่ากะเหรี่ยงไม่เคยและเพิ่งทดลองปลูกกาแฟเป็นครั้งแรก และการที่ปลูกได้ต้นหนึ่งนั้นถือว่าเป็นความก้าวหน้าของกะเหรี่ยง

พระอัจฉริยภาพ พระมหาเมตตา และพระมหากรุณาที่ทรงมีแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศนั้นเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์และปลาบปลื้มสำหรับข้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใช้พระยุคลบาท และแม้เมื่อข้าพระพุทธเจ้าพ้นหน้าที่นายตำรวจราชสำนักประจำออกมาแล้ว บัดนี้เมื่อเสด็จสู่สวรรคาลัยเสียแล้ว ใครจะเป็นคนทำต่อ? และราษฎรจะได้ใครเป็นที่พึ่งอย่างใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท?

วันพฤหัสบดีที่ 26 เดือนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเลือกที่จะไม่ไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพราะรู้ว่าบรรยากาศไม่เหมาะกับวัยและสุขภาพของข้าพระพุทธเจ้า แต่ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปฏิบัติธรรม ด้วยการสวดมนต์ทำสมาธิถวายเป็นพระราชกุศลตั้งแต่วันที่ 15 จนถึงวันที่ 27

ขอกุศลบุญราศีที่ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาตลอดชีวิต จงเป็นพลวปัจจัย ดลบันดาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเกษมสำราญและทรงพระเจริญ ไม่ว่าในขณะนี้จะทรงสถิตอยู่ ณ ที่ใด ในภพใด รูปใด และนามใด และหากเป็นพระราชประสงค์ก็ขอให้ทรงบรรลุถึงพระนิพพาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร

ทิศทางใหม่ในการพิจารณา ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ทิศทางใหม่ในการพิจารณา ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


การพูดถึงการปฏิรูปกองทัพนั้น มักจะจบลงด้วยข้อถกเถียงสองด้าน หนึ่ง คือกองทัพยืนยันว่ามีการปฏิรูปมาโดยตลอด จะเห็นจากการมียุทโธปกรณ์ใหม่ๆ

สอง คือคนที่มองว่ากองทัพยังไงก็ไม่ยอมปฏิรูปอะไรจริงจัง เรื่องสำคัญที่สุดในการปฏิรูปกองทัพจริงๆ แล้วคือการออกจากการเมือง

พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อถกเถียงเรื่องการปฏิรูปกองทัพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการพูดถึงการทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ

แต่ทีนี้เรื่องมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะคำว่าการเป็นทหารอาชีพในความหมายของบ้านเรานั้น ทางทหารเขายืนยันโดยตลอดว่า “อาชีพของทหาร” นั้นกว้างขวางกว่าที่เราเข้าใจ

เรื่องนี้จะโทษทหารฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ต้องหันมาพิจารณากรอบคิดวิธีการทำความเข้าใจว่า “ทฤษฎีทหารอาชีพแบบเก่า” มันมีที่มาที่ไป และสาระสำคัญอย่างไร

ทฤษฎีทหารอาชีพแบบเก่า หรือที่เราเรียกว่า กรอบความสัมพันธ์ของทหารกับพลเรือน พอสรุปย่อได้ตามสมการนี้

การปฏิรูปกองทัพ = การทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ = ไม่ยุ่งกับการเมือง = นักการเมืองสามารถควบคุมทหารได้ผ่านการที่นักการเมืองนั้นแต่งตั้งทหารได้ และนั่งอยู่ในตำแหน่งที่คุมทหารได้ = การควบคุมทหารโดยประชาธิปไตย = ความสัมพันธ์ของทหารกับพลเรือน

แนวคิดเหล่านี้พัฒนามาจากงานสำคัญของฮันติงตั้น นักรัฐศาสตร์ของอเมริกา (Samuel Huntington. 1957. The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations. Cambridge, MA: Belknap Press) ที่นำเสนอประเด็นที่ทรงพลัง แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ทั้งเป็นแบบที่มีค่านิยมแบบอเมริกัน อาจจะใช้ไม่ได้กับกรณีประสบการณ์ของประเทศอื่นที่ไม่ใช่อเมริกา

แม้ว่างานของฮันติงตั้นจะถูกวิจารณ์มาโดยตลอด แต่ความอมตะของงานอยู่ที่คำถามของฮันติงตั้นที่ว่า ใครจะพิทักษ์เราจากบรรดาผู้พิทักษ์เรา? (Who will guard the guardian?) กล่าวคือ ถ้าผู้ที่ทำหน้าที่พิทักษ์เรานั้นมีอำนาจพอที่จะพิทักษ์เราแล้ว (เช่น รบชนะข้าศึก ศัตรู) เราจะทำอย่างไรไม่ให้เขายึดอำนาจจากเราไป โดยเฉพาะในสังคมที่อำนาจปกครองสูงสุดเป็นของพลเมือง ไม่ใช่ทหาร

ขยายความเรื่องประสบการณ์ของอเมริกาอีกนิด ว่าทหารนั้นไม่เข้ามายึดอำนาจการเมือง นักการเมืองในนามของพลเรือนสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และตำแหน่งทางความมั่นคงอื่นๆ ได้ แถมทหารยังมักจะเชื่อว่ากองทัพนั้นไม่ใช่มีไว้ป้องกันชาติ หรือประเทศแบบรั้วบ้านเท่านั้น แต่กองทัพมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อขยายและเชิดชูเสรีภาพ และประชาธิปไตย มิหนำซ้ำเขายังเชื่อว่าเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลกนั้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกันชน (แต่บางยุคสมัยบทบาทเหล่านี้นอกประเทศก็หดตัวไม่ถูกขับเน้นเช่นกัน แต่อย่างน้อยสิ่งที่ไม่เคยเลยเถิดไปจากเส้นเหล่านี้ก็คือ ทหารอเมริกันไม่ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง)

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถาม

แต่คำถามที่ควรขยายวงออกไปคงไม่ได้อยู่ที่ว่า ทหารนั้นไม่ควรยุ่งกับการเมือง เพราะทหารอาจจะรู้สึกว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของบ้านของเมือง มิหนำซ้ำทหารส่วนหนึ่งยังหวังดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าตนนั้นมีศักยภาพในการนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและออกจากวังวนของความขัดแย้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่ควรจะเกิดในการสร้างบทสนทนากับทหารก็อาจจะไม่ใช่การตั้งหลักว่าทหารไม่ควรยุ่งกับการเมือง ในความหมายของการออกไปจากการเมือง เพราะในหลายทฤษฎีของการรัฐประหารนั้นพบว่า ทหารยุ่งกับการเมือง เพราะการเมืองนั้นไปยุ่งกับทหารก่อน

คำถามใหม่ที่ควรจะถามจึงเป็นเรื่องของการที่ทหารจะยุ่งกับการเมืองอย่างไร โดยไม่ใช้คำว่า “ถอย” และ “ออกจาก” การเมือง

แต่เป็นเรื่องของการ “กำหนดระยะความสัมพันธ์ที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่าย” เพื่อให้การเมืองโดยเฉพาะประชาธิปไตยนั้นมีความตั้งมั่นในสังคม

คำถามแบบนี้จะช่วยให้เราพ้นไปจากการตั้งคำถามว่า การทำรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยนั้นเกิดได้ไหม เพราะสิ่งที่นักวิชาการที่เชื่อว่าการทำรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยนั้นมี มันไม่ได้ถูกประเมินในตอนที่ทำรัฐประหาร (ดูที่ Ozan O Varol. 2012. The Democratic Coup d’Etat. Harvard International Law Journal. 53:2. 291-356.)

แต่มันถูกประเมินตอนที่การทำรัฐประหารเสร็จแล้ว คณะรัฐประหารได้นำพาสังคมกลับสู่ประชาธิปไตยได้ไหมต่างหาก

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การทำรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยนั้น มีความสุ่มเสี่ยงเพราะตามหลักที่นักวิชาการเสนอนั้น จะต้องเป็นการโค่นล้มต่อระบอบเผด็จการ ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำรัฐประหารจำนวนมากนั้นมักกระทำต่อระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอ ไร้คุณภาพมากกว่าระบอบเผด็จการแบบเต็มรูปดังนั้นการทำรัฐประหารต่อระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอไร้คุณภาพ มันอาจจะไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้การกลับสู่ประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ภายหลังจากการทำรัฐประหาร

ย้อนกลับมาถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนของฮันติงตั้น สิ่งที่นักวิชาการทางรัฐศาสตร์นำเสนอในยุคใหม่นั้นคือการตั้งคำถามกับเรื่องของความสัมพันธ์ของทหารกับพลเรือนที่กว้างขวางครอบคลุมกว่างานของฮันติงตั้น โดยให้ความสนใจกับประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นของกองทัพในหลายๆ ประเทศมากกว่าอเมริกา

จึงเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นมากมาย เช่น การไม่เอาประสบการณ์อเมริกาเข้ามาประเมินทุกประเทศ แต่อาจเริ่มตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์และรูปแบบของระบอบการเมืองของรัฐต่างๆ เช่นกันว่า รูปแบบรัฐก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นแบบไหนที่จะมีส่วนทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และการทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นอยู่ได้โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้เมื่อกองทัพออกจากการเมืองแล้วประชาธิปไตยตั้งมั่นได้ (Zoltan Barany. 2012. The Soldier and the Changing State: Building Democratic Armies in Africa, Asia, Europe. And the Americas. Princeton: Princeton University Press.)

นอกจากนั้นแล้ว ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนนั้น ไม่ได้มีการลดทอนคุณค่าของกองทัพต่อประเทศชาติอย่างที่กองทัพหวาดกลัว แต่กลับตระหนักเห็นความสำคัญของกองทัพในการทำงานในการปกป้องประเทศและทำให้ประเทศอยู่รอดได้ทั้งจากความมั่นคงภายในและภายนอก อีกทั้งยังมองเห็นว่าในแต่ละปีนั้นกองทัพก็ยังได้รับงบประมาณมหาศาล

ที่สำคัญนักวิชาการในด้านความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนนั้นเห็นว่า นอกจากทหารมีบทบาทต่อการป้องกันประเทศและมีงบประมาณมหาศาลแล้ว กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ยังมีบทบาทสำคัญต่อระบอบการเมืองที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Thomas C. Bruneau and Florina C. Matei. 2013.Introduction. In The Routledge Handbook of Civil-Military Relations. London: Routledge.)

กระแสและข้อเสนอใหม่ๆ จึงเริ่มจากการตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ของทหารให้กว้างขึ้น สู่เรื่องของการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง (Security Sector Reform) และประเด็นสำคัญอยู่ที่การมองว่าฝ่ายความมั่นคงในสมัยใหม่นั้นไม่ได้มีแต่กองทัพ แต่ต้องรวมพลัง 3 ประสานที่สำคัญ นั่นก็คือ กองทัพ ตำรวจ และงานด้านการข่าว

อธิบายแบบให้เข้ากับบ้านเรามากขึ้นก็คือ เมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปกองทัพนั้น เราควรจะพูดถึงการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคงทั้งหมด ซึ่งตำราฝรั่งอาจจะไม่เข้าใจ แต่หมายถึงการปฏิรูปกองทัพ ตำรวจ งานข่าวกรอง สภาความมั่นคง กอ.รมน. และกระทรวงมหาดไทย

การปฏิรูปนั้นปฏิรูปไปทำไม? คำตอบสำคัญนั้นอยู่ที่การทำให้เกิดการควบคุมหน่วยงานความมั่นคงโดยพลังประชาธิปไตย ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองง่ายๆ แค่ว่า การควบคุมงานความมั่นคงโดยประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของการให้นักการเมืองนั้นควบคุมกองทัพ เพราะนักการเมืองไม่ใช่ตัวแทนทั้งหมดของประชาธิปไตย

ที่สำคัญ ในงานวิจัยและข้อเสนอของนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เขาค้นพบว่า เป็นเรื่องยากเย็นที่จะทำให้นักการเมืองนั้นควบคุมกองทัพและงานความมั่นคง ถ้าไม่ใช่เพราะอาจเกิดการฮั้วกันได้ แต่เป็นเพราะนักการเมืองนั้นอาจไม่มีทั้ง “ความรู้” และ “แรงจูงใจในการควบคุมกองทัพ”

เรื่องนี้ละเอียดอ่อนและซับซ้อนยิ่ง เพราะนักการเมืองอาจไม่มีความรู้เรื่องความมั่นคง หรือสังคมอาจไม่มีความรู้เรื่องความมั่นคง และถ้าไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ แต่เป็นประเด็นแรงจูงใจด้วย เราต้องค้นหาให้เจอว่าทำไมสังคมนั้นถึงไม่มีความรู้และแรงจูงใจในการควบคุมกองทัพ

ทางหนึ่งที่นิยมตอบอาจจะบอกว่า เพราะสังคมอ่อนแอ กองทัพครอบงำ หรือเราไม่กล้าถามว่า จริงๆ แล้วสังคมนั้นอาจไม่มีภัยความมั่นคงที่มากพอที่จะกระตุ้นให้สังคมนั้นสนใจเรื่องความมั่นคง และอาจจะไปมีส่วนร่วมในการควบคุมกองทัพไปในทิศทางที่จะตอบผลประโยชน์ของสังคมนั้นได้จริงๆ

ถ้าเราไม่ตั้งคำถามถึงความรู้และแรงจูงใจของสังคมที่มีต่องานความมั่นคงแล้ว เราจะตอบปริศนาหลักทางทฤษฎีของ “ความเป็นทหารอาชีพ” ไม่ได้เลย ว่าความเป็นมืออาชีพของทหารนั้นเราจะประเมินได้อย่างไร?การปล่อยให้ทหารไม่ยุ่งกับการเมืองและให้ทหารนั้นปกครอง บริหารงานกันเองมันไม่ได้ตอบว่าทหารนั้นทำงานได้ดีจริงไหม

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนในมุมใหม่ ที่เรียกว่า การปฏิรูปด้านความมั่นคงนั้น จะให้ความสัมพันธ์กับ 3 เรื่อง

หนึ่ง คือการควบคุมทหารด้วยระบอบประชาธิปไตย (Democratic Control)
สอง คือประสิทธิภาพของกองทัพ ตำรวจ และหน่วยความมั่นคงอื่นๆ โดยเฉพาะการข่าว (Effectiveness)
สาม คือประสิทธิผลของหน่วยความมั่นคงแต่ละหน่วย (Efficiency) (Florina C. Matei. 2013. A New Conceptualization of Civil-Military Relations. In The Routledge Handbook of Civil-Military Relations. London: Routledge.)

ในการพูดถึงการควบคุมทหารนั้น สิ่งสำคัญไม่ควรจะเน้นแต่คำว่าควบคุม เพราะกองทัพอาจจะรู้สึกอึดอัดและเสียศักดิ์ศรี แต่ควรจะหมายถึงการสร้างความร่วมมือและบทสนทนาและความเข้าใจที่ดีกับทหาร ให้ทหารและหน่วยความมั่นคงอื่นๆ นั้นรู้สึกว่าภารกิจในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยและการทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นนั้นเป็นของทุกคน และทหารไม่ควรจะเข้ามาทำหน้าที่นี้คนเดียว หรือเป็นเจ้าภาพ แต่ควรจะมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมเสียมากกว่า

จุดเปราะบางของเรื่องที่ว่าอะไรคือความเหมาะสมนั้นมันเป็นเรื่องวัดยาก เพราะการวัดผลเรื่องการเปลี่ยนผ่านนั้นอยู่ที่กระบวนการและผลลัพธ์ ไม่ใช่อยู่ที่จุดของการยึดอำนาจ เรื่องเหล่านี้กองทัพเองอาจจะต้องเผชิญปัญหา ในแง่ของการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านและการทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่น มากกว่าปัญหาเฉพาะหน้าคือการยึดอำนาจ ดังนั้นการใช้ความรุนแรงทางกายภาพและทางกฎหมายโดยกองทัพในการบริหารการเปลี่ยนผ่านและทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถประเมินได้ด้วยมุมมองของกองทัพเองเท่านั้น

สิ่งสำคัญต่อมา คือการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงและข่าวกรอง เพราะว่าหน่วยงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างวิธีมองเรื่องความมั่นคง ดังนั้นถ้าพลเรือนทั้งนักการเมืองและภาคส่วนอื่นๆ ไม่เข้าไปร่วมกำหนดนิยามและมิติเรื่องความมั่นคง ทหารและตำรวจเองจะไม่มีความรอบด้านและเข้าใจความเชื่อมโยงของความมั่นคงแบบเดิมที่ทหารและตำรวจเป็นเจ้าภาพ กับความมั่นคงแบบใหม่ๆ เช่น เรื่องของความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ

ในมิติของการควบคุมกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงใหม่ๆ สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่แค่ว่านักการเมืองมีความรู้พอ หรือสามารถนั่งตำแหน่งเหนือกว่าทหาร แต่ต้องไปให้ไกลถึงการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการของสภา สื่อมวลชน สถาบันตุลาการนั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติการในนามของการรักษาความมั่นคง

และยังรวมถึงเรื่องของการที่คณะกรรมการในระดับนานาชาติสามารถเข้ามาตรวจสอบการกระทำของหน่วยความมั่นคง หากการกระทำของหน่วยเหล่านั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และหลักการประชาธิปไตยด้วย

สำหรับเรื่องประสิทธิภาพของกองทัพนั้น เราจะต้องสามารถตรวจสอบว่ากองทัพและหน่วยความมั่นคงอื่นๆ มีประสิทธิภาพไหม ทำงานบรรลุภารกิจไหม และมีภารกิจใดๆ บ้าง การที่กองทัพนั้นสามารถเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัตินั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ควรปฏิเสธ หากกองทัพมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี แต่ทั้งนี้หมายถึงสังคมต้องมีความรู้เรื่องความมั่นคงด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้กองทัพและหน่วยความมั่นคงนั้นกำหนดภารกิจของตนเอง

เรื่องประสิทธิผลของฝ่ายความมั่นคงนั้นก็เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปงานด้านความมั่นคง กล่าวคือ อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นดีพอไหมที่จะบรรลุภารกิจโดยการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดไหม เช่น กองทัพจำเป็นต้องใหญ่ขนาดไหน อาวุธที่ซื้อทำงานได้จริงไหม สิ้นเปลืองมากแค่ไหนในการบรรลุภารกิจ

กล่าวโดยสรุป การพูดถึงการปฏิรูปกองทัพต้องมีมากกว่าการให้ทหารออกจากการเมือง แต่หมายถึงการจัดความสัมพันธ์กับกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ และไม่ใช่แต่เรื่องการควบคุม แต่ต้องหมายถึงการเข้าใจและร่วมกำหนดภารกิจของฝ่ายความมั่นคง และเป้าหมายคือ จะทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ยึดอำนาจ หรือเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเท่านั้น

เปิดแฟ้มลับ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

เปิดแฟ้มลับ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์



แฟ้มภาพ

หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา เขียนข้อความทางทวิตเตอร์ว่า จะไม่ขัดขวางการเปิดข้อมูลสอบสวนคดีลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี หรือเจเอฟเค ในขบวนรถกลางฝูงชนเมื่อ 54 ปีก่อน เรื่องนี้ก็เป็นข่าวใหญ่ในอเมริกาขึ้นมา

คดีเจเอฟเคเมื่อปี ค.ศ.1963 หรือ พ.ศ.2506 มีรายละเอียดที่ยังเปิดเผยไม่หมด และแน่นอนว่าอะไรที่เป็นความลับ ย่อมจะน่าค้นหาหรือน่าคิดจินตนาการไปต่างๆ นานา

มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายเกี่ยวกับคดีเจเอฟเค เพราะเป็นเหตุช็อกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ หลายคนไม่เชื่อว่านายลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ มือสังหารจะลงมือตามลำพังได้

กฎบัญญัติคดีเจเอฟเค 1992 หรือปี พ.ศ.2535 กำหนดว่าเอกสารคดีลอบสังหารเจเอฟเคทุกชนิดจะต้องเปิดเผยภายใน 25 ปีนับจากวันที่ 26 ต.ค.1992

เมื่อนับแล้ว วันที่ 26 ต.ค.2017 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐต้องเผยแพร่เอกสารแฟ้มสอบสวนคดีลอบสังหารเจเอฟเค มาตกเอาในยุคท่านทรัมป์พอดี

กฎหมายที่เขียนไว้ 25 ปีก่อนให้สิทธิประธานาธิบดีในการใช้อำนาจยับยั้งได้ หากเห็นว่าเป็นภัยต่อการข่าวกรอง ปฏิบัติการทางทหาร การบังคับใช้กฎหมาย หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่ท่านทรัมป์มักเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ เรื่องที่ใครไม่คิดว่าจะทำ ทรัมป์กลับทำได้ ซึ่งคดีเจเอฟเคก็เช่นกัน ทรัมป์ประกาศว่าให้ปลดล็อกได้แล้ว

จากรายงานของนิวยอร์กไทมส์ บรรดานักวิชาการด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ยินดีที่ทรัมป์ตัดสินใจเช่นนี้ แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวดูจะเปิดช่องว่า ถึงท่านทรัมป์จะต้องการให้เกิดความโปร่งใส แต่ยังมีโอกาสจะระงับการเปิดเอกสารบางส่วนอยู่ หากกระทบต่อความมั่นคงหรือการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ

ความระทึกจึงอยู่ตรงนี้ว่าการเปิดแฟ้มข้อมูลครั้งนี้ จะเปิดแบบหมดไส้หมดพุงให้เลิกคาใจกันไป หรือจะเปิดพอประมาณ

ถ้าเป็นแบบแรก ก็มีผู้คาดหมายว่าจะได้ลบล้างทฤษฎีสมคบคิดออกไปบ้าง และไม่ต้องตั้งทฤษฎีใหม่ขึ้นมาอีก แต่ถ้าเป็นแบบหลังก็ต้องรอดูกันอีกยาว

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการสหรัฐก็เพิ่งเปิดเอกสารราชการลับที่บารัค โอบามา ลงนามไว้ เกี่ยวกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ในยุค 60 ช่วงสงครามเย็น

ข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำถึงบทบาทของสหรัฐที่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของอินโดนีเซีย และรู้เห็นถึงการไล่ฆ่าผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์อย่างมโหฬาร มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 5 แสนชีวิต โดยเฉพาะในปี 1965

ความอัปยศที่กล้าเปิดเผยออกมานี้ แม้จะมีผู้วิเคราะห์ไว้ก่อนแล้ว แต่ข้อมูลลับที่ซ่อนไว้นี้เพียงแต่การเปิดแฟ้มข้อมูลคือการยืนยัน

ถามว่าแล้วการเปิดข้อมูลอดีตมีประโยชน์อะไร คำตอบคงจะมีไม่น้อย โดยเฉพาะจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและเหล่านักประวัติศาสตร์ที่รณรงค์ให้เปิดเผยความจริงเพื่อใช้เป็นบทเรียนสำหรับโลก

การแสดงตัวของสหรัฐว่าพร้อมจะโปร่งใสและกล้าเปิดเผยความจริง ย่อมดีกว่าทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยให้ความจริงปรากฏจากแหล่งอื่น

หลังกรณีอินโดนีเซียแล้ว จึงน่าคิดว่าสหรัฐจะเปิดไฟล์ที่เคยเข้ามามีบทบาทปราบปราม
คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยในยุค 70 ด้วยหรือไม่

………………..
ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ประกาศแล้ว! ม.44 ผู้พิการประกันสังคม มีสิทธิเลือกรับบริการสาธารณสุขบัตรทองหรือไม่ก็ได้

ประกาศแล้ว! ม.44 ผู้พิการประกันสังคม มีสิทธิเลือกรับบริการสาธารณสุขบัตรทองหรือไม่ก็ได้


เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 โดยที่สมควรปฏิรูประบบการช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วย การประกันสังคมให้สามารถเลือกรับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ได้โดยสะดวกตามความสมัครใจ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจน ไม่เกิดอุปสรรคในการดํารงชีวิต การประกอบอาชีพ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 1 และข้อ 2 ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

“ข้อ 1 นอกจากประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางานตามมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 แล้ว ให้คนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ ให้คนพิการดังกล่าวแสดงความประสงค์ใช้สิทธิเลือกรับประโยชน์ทดแทนหรือรับสิทธิบริการสาธารณสุขได้เพียงสิทธิเดียวในการเลือกรับสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สํานักงานประกันสังคมกําหนด โดยให้แสดงความประสงค์เลือกใช้สิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิที่เลือกได้เป็นรายปีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคสอง ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 2 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขที่จ่ายให้สําหรับคนพิการที่เลือกรับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้จ่ายจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงการคลังประกาศกําหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ โดยมิให้นํามาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคมมาใช้บังคับกับการจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายสําหรับคนพิการที่เลือกรับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมให้เป็นไป ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม”

ข้อ 2 ให้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ออกตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคําสั่งนี้ จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามข้อ ๒ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ลงวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งนี้ใช้บังคับ

ข้อ 3 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ราชกิจจาฯเผยแพร่ หมายกําหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ราชกิจจาฯเผยแพร่ หมายกําหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ



ภาพกราฟิกลิขสิทธิ์
วันนี้ (๒๕ ตุลาคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ หมายกําหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระประชวร สวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที พระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงทราบว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างก็มีความโศกเศร้าอาดูรอยู่ทั่วหน้า ด้วยตระหนักว่าผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นที่รักและเคารพสูงสุด ได้เสด็จลับล่วงไปแล้ว ได้เชิญพระบรมศพถวายพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจําหลักลายประดับรัตนชาติ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยพระอภิรุมชุมสายพุ่มดอกไม้ทองเงินและเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายในวาระครบสัตตมวาร ปัณรสมวาร ปัญญาสมวาร และสตมวาร ตามลําดับ และทุกสัปดาห์ที่บรรจบวันสวรรคตมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประจํายามตาม ราชประเพณีแต่กาลก่อน

อนึ่ง ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยถึงความจงรักภักดีอันมั่นคงของประชาชนที่ต่างอาลัย ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อยู่ไม่เสื่อมคลาย ด้วยที่ผ่านมาตลอดพระชนมชีพนั้น ได้ทรงตรากตรําพระวรกายปฏิบัติบําเพ็ญ พระราชกรณียกิจนานัปการโดยมิได้ทรงคํานึงถึงความเหนื่อยยาก เพื่อให้ประเทศชาติ มีความเจริญ มั่นคงและประชาชนมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

พระราชทานพระราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่า บําเพ็ญกุศล สนองพระเดชพระคุณ ตลอดจนเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง บัดนี้ การเตรียมการเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามโบราณราชประเพณี พร้อมสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กําหนดการพระราชพิธีบําเพ็ญพระราชกุศล ออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ดังรายการต่อไปนี้

พระราชกุศลออกพระเมรุ

เจ้าพนักงานพระราชพิธีตั้งแต่งที่ประดิษฐานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาทในพระบรมมหาราชวัง สําหรับ การพระราชพิธีทรงบําเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุไว้พร้อม วันพุธ ที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษ ไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา ๑๕ นาฬิกา เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ และเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ปี่พาทย์ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจําพระชนมวารของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร แล้ว ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา
จํานวน ๑๑ รูป และพระราชาคณะที่จะสวดศราทธพรต ๓๐ รูป พระสงฆ์ที่จะ สดับปกรณ์ ๘๙ รูป เท่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระสงฆ์ที่จะสวดพระอภิธรรม ๘ รูป บรรพชิตจีนและญวน ๒๐ รูป แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสําหรับ พระบรมศพทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้ว พระสงฆ์ ๓๐ รูป สวดศราทธพรต จบ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรถวาย พระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา และพระสงฆ์ที่สวดศราทธพรต ๓๐ รูป สดับปกรณ์ พระสงฆ์ ทั้งนั้นถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๘๙ รูป เท่า พระชนมพรรษา ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบ ทรงทอดผ้าไตร และย่ามที่ระลึกงานออกพระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระสงฆ์ ๘๙ รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลาแล้ว บรรพชิตจีน ๑๐ รูป และ บรรพชิตญวน ๑๐ รูป ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ สวดมาติกา จบแล้ว ทรงทอดผ้าไตรและย่ามที่ระลึกงาน ออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร บรรพชิตจีนและญวนสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินไป ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่แท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม จนถึงเวลา ๒๑ นาฬิกา รุ่งขึ้นรับพระราชทานฉัน และชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประจํายามตามราชประเพณี เสด็จพระราชดําเนินกลับ
ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี อัญเชิญพระบรมโกศโดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ไปยังพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
วันพฤหัสบดี ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ เจ้าพนักงานเตรียมการ พระราชพิธีบําเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เทียบพระยานมาศสามลําคาน ที่จะอัญเชิญพระบรมโกศออกพระเมรุมาศ โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งแต่งพระที่นั่งทรงธรรม พระจิตกาธาน พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ไว้พร้อม ตั้งขบวนกองทหารเกียรติยศนํา ขบวนกองทหารเกียรติยศตาม และขบวนพระบรมราชอิสริยยศ สําหรับแห่อัญเชิญพระบรมโกศไปบําเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณี อนึ่ง ตามแนวราชวิถีที่ขบวนกองทหารเกียรติยศและขบวนพระบรมราชอิสริยยศ แห่อัญเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ มีราชรถสมเด็จพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรมนํา จัดทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์รายทางถวายพระเกียรติ สลับกับตํารวจนครบาล ยืนรักษาการณ์ไว้พร้อม
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ผ่านหน้าพระที่นั่ง จักรีมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญ พระบารมี เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ และเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมศพที่หน้าพระแท่นสุวรรณเบญจดล แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจําพระชนมวารที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๓๐ รูป สดับปกรณ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าพนักงาน เปลื้องพระโกศทองใหญ่ที่ประกอบพระลองออก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือนเปลื้องพระโกศทองใหญ่ถวายตาด คลุมพระลองแล้ว ตํารวจหลวงอัญเชิญลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล นายทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์อัญเชิญพระลองออกพระทวารทางมุขตะวันตก ลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อัญเชิญพระลองประดิษฐานบนพระเสลี่ยงแว่นฟ้า แล้วอัญเชิญไปที่หน้ากําแพงแก้วโดยมีตํารวจหลวงนําทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์อัญเชิญพระลองขึ้นประดิษฐานบนเกยลา แล้วประกอบ พระโกศทองใหญ่ แล้วเลื่อนพระบรมโกศเข้าประดิษฐานบนพระยานมาศสามลําคาน ขณะที่อัญเชิญพระลองลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดลนั้น ทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ ถวายพระเกียรตินาทีละ ๑ นัด ตลอดเวลา จนเมื่ออัญเชิญพระบรมโกศไปเทียบยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงหยุดยิง และเมื่อนายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อัญเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดพระทวารมุขเหนือ ไปประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐาน บนพระยานมาศสามลําคาน เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นถวายบังคมประคองหน้าหลัง นายทหารราชองค์รักษ์เป็นคู่เคียงขณะเปลื้องพระโกศทองใหญ่ ณ ที่ประดิษฐานพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้นพปฎล มหาเศวตฉัตร ชาวพนักงานประโคมในริ้วขบวนจะได้กระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อเทียบพระยานมาศสามลําคานที่เกรินพระมหาพิชัยราชรถ พร้อมแล้ว อัญเชิญพระบรมโกศโดยพระยานมาศสามลําคานออกจากพระบรมมหาราชวัง
มีนายทหารราชองครักษ์เชิญธงมหาราชนํา ขณะนั้น กองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระยานมาศสามลําคานอัญเชิญพระบรมโกศออกทางประตู ศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ เข้าประจําขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เจ้าหน้าที่ยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร คันดาลถวายกางกั้นพระบรมโกศซึ่งประดิษฐานบนพระยานมาศสามลําคาน คู่เคียงนายทหารราชองครักษ์ อินทร์ พรหม พระกลด บังพระสูรย์ มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เข้าประจําที่ในริ้วตามลําดับ เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตรา ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยศอัญเชิญพระบรมโกศ ๔ สาย มีเจ้าพนักงานนําริ้ว ธง ๓ ชาย คู่แห่นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตํารวจหลวงถือหอก มหาดเล็กหลวงคู่หน้า สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร นั่งเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนํา คู่เคียง อินทร์ พรหม นาลิวัน ขบวนพระบรมราชอิสริยยศประกอบด้วย พระอภิรุมชุมสาย ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ แห่อัญเชิญพระบรมโกศตามราชประเพณี ไปตามถนนมหาราช ถนนท้ายวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินตามพระบรมโกศไปยังพลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม เทียบพระยานมาศสามลําคานแล้วอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐาน ณ ท้ายเกรินบันไดนาค ทรงทอดผ้าไตร ๒๐ ไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์เที่ยวละ ๕ ไตร เสด็จพระราชดําเนินไปประทับ ยังพลับพลายก เจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งท้ายเกรินบันไดนาค ถวายบังคมแล้วประคองพระบรมโกศ
เจ้าหน้าที่ผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถถวายบังคมพร้อมกันกับเจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วเลื่อนเกรินอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ขณะนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ถวายความเคารพ วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้ว ขบวนหน้าทั้งหมดกลับสู่ราชวิถีที่จะเชิญพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญเสด็จและยาตราริ้ว ขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมาศ ท้อง สนามหลวง เมื่อเคลื่อนขบวนทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรตินาทีละ ๑ นัด จนกว่าพระบรม โกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้วจึงหยุดยิง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศมี มโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมตลอดเวลา และหยุดประโคมเมื่อได้เปิดพระ วิสูตรบนพระเมรุมาศแล้ว ครั้นประตูหลังขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระบรมโกศผ่านพลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพน วิมลมังคลารามที่ประทับไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินเข้าขบวนตามพระบรมโกศ โดยมี ๘ ตํารวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ นําเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ มหาดเล็กพระราชพิธีเชิญเครื่องพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แซงเสด็จ แล้วต่อด้วยพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า ข้าราชบริพาร และหน่วยงาน ในพระองค์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน
พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ทหารกองเกียรติยศขบวนหน้านําพระบรมโกศ ยาตราไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดําเนินใน เลี้ยวเข้าถนนกลางท้องสนามหลวง แล้วเลี้ยวเข้าตั้งแถวแต่ละกองพันในสนามด้านทิศเหนือ หลังแถว ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพ หน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศตอนหน้าพระมหาพิชัยราชรถตรงไปตามถนนกลางท้องสนามหลวง เทียบราชรถพระนําที่มุมราชวัติต่อถนนพระจันทร์ส่งสมเด็จพระวันรัตลงจากราชรถพระนํา ไปพักที่ท้าย พระที่นั่งทรงธรรม แล้วราชรถพระนําเลยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยฉัตรพระนํา สมเด็จพระวันรัต คู่เคียง อินทร์ พรหม คู่แห่ นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ นําริ้ว ธง ๓ ชาย มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เดินเข้าไปตั้งแถวในพระเมรุมาศตามแนวริมราชวัติด้าน เหนือ ตะวันออก และด้านใต้ พร้อมด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง เมื่อพระมหาพิชัยราชรถจะถึงที่เทียบสะพานเกรินบันไดนาคหน้าพลับพลายกนอกราชวัติพระเมรุมาศ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารกอง เกียรติยศแห่นําพระบรมโกศถวายความเคารพ เทียบพระมหาพิชัยราชรถที่ประตูราชวัติพระเมรุมาศ คู่เคียง อินทร์ พรหม และเครื่องสูงหักทองขวาง มหาดเล็กเชิญเครื่องพระบรมราชอิสริยยศ นาลิวัน ประตูหลัง เดินชิดขวาเคียงข้างพระมหาพิชัยราชรถริมขอบสนามไปตั้งแถวในราชวัติรวมกับเครื่องสูง ขบวนหน้า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินไปประทับ ที่พลับพลายกพร้อมด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถไปประดิษฐาน เหนือราชรถปืนใหญ่เพื่อเตรียมเวียนพระเมรุมาศขบวนทหารกองเกียรติยศกองหลังเลี้ยวเข้าถนนตัดเข้าพระเมรุมาศ แล้วเลี้ยวซ้ายไป ตั้งแถว ตรงประตูราชวัติพระเมรุมาศด้านตะวันออก และด้านใต้ตามลําดับกองพันเจ้าพนักงานเชิญเกรินบันไดนาคเทียบพระมหาพิชัยราชรถ และเทียบราชรถปืนใหญ่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายบังคมพร้อมกับผู้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาจะได้เลื่อนอัญเชิญพระบรมโกศเคลื่อนลงทางเกรินบันไดนาคประดิษฐานเหนือราชรถปืนใหญ่ มีทหารปืนใหญ่ฉุดชักราชรถปืนใหญ่ อัญเชิญพระบรมโกศเข้าเวียนพระเมรุมาศ
เลขาธิการพระราชวังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต เชิญเสด็จและยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ราชรถปืนใหญ่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดําเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ตามพระบรมโกศเวียนพระเมรุมาศ โดยอุตราวัฏ ๓ รอบ แล้ว เสด็จขึ้นประทับบน พระที่นั่งทรงธรรม เจ้าพนักงานเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศด้านเหนือ เจ้าพนักงานเลื่อนพระบรมโกศสู่เกริน อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ครั้นถึงที่แล้ว ปิดพระฉาก ปิดพระวิสูตร หยุดประโคมกระทั่ง มโหระทึก สังข์ แตร ปี่ กลองชนะ เปลื้องพระบรมโกศประกอบพระโกศจันทน์ แวดล้อมด้วยฉัตรดอกไม้สด ๔ มุม แล้วเปิดพระฉาก เปิดพระวิสูตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระเมรุมาศทางบันไดด้านตะวันตก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมศพ แล้วเสด็จลงทางเดิม ขึ้นพระที่นั่งทรงธรรมไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดําเนินกลับ
ระหว่างที่พระบรมศพประดิษฐานที่พระเมรุมาศ พระสงฆ์จะได้สวดพระอภิธรรมประจําซ่าง ๔ ซ่าง ทั้งกลางวันและกลางคืน จนกว่าจะได้อัญเชิญพระบรมอัฐิกลับ และมีชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตร กลองชนะ ปี่พาทย์และประโคมยามตามเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันนี้เวลาบ่าย เจ้าพนักงานเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพที่พระเมรุมาศ และพระที่นั่งทรงธรรมไว้พร้อม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หลังพระที่นั่งทรงธรรม ถนนหน้าพระธาตุทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม โดยมี ๘ ตํารวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธนําเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ตามเสด็จ ประทับพระราชอาสน์ตรงหน้าอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดําเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสําหรับพระบรมศพทรงธรรมที่พระเมรุมาศ ทรงศีลสมเด็จพระราชาคณะ ถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้ว พระสงฆ์ ๕๐ รูป สวดศราทธพรตจบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรสมเด็จพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ ๕๐ รูป ที่สวดศราทธพรตสดับปกรณ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปประทับพระราชอาสน์ที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรมขบวนผู้แทนจิตอาสาเชิญพานดอกไม้จันทน์ จํานวน ๙ พาน เดินเข้ามณฑลพิธี เมื่อถึงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ถวายความเคารพแล้ว ออกจากมณฑลพิธี
เวลา ๑๗ นาฬิกา ๓๐ นาที สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินจากพระที่นั่งทรงธรรมไปขึ้นพระเมรุมาศ โดยมี ๘ ตํารวจหลวง นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ นําเสด็จ ทรงวางเครื่องราชสักการะพระบรมศพ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพเป่าแตรเดี่ยวสัญญาณนอน จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนดอกไม้จันทน์ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ และปี่พาทย์ กองเกียรติยศทหารบก ทหารเรือทหารอากาศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และยิงปืนเล็กยาว ๙ นัดพร้อมกันกับทหารปืนใหญ่ยิงปืนใหญ่ถวายพระเกียรติ ๒๑ นัดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพ ๓ เหล่าทัพ ที่ในราชวัติพระเมรุมาศเดินแถวกลับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศ์ พระประมุข ประมุข พระราชวงศ์และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้นําศาสนา ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลําดับหลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับพระประมุข พระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรมเสด็จพระราชดําเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพวงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีข้าราชการ ทหาร ตํารวจ พลเรือน ผู้มีตําแหน่งเฝ้าฯจะได้ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลําดับ
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ(จริง) เวลา ๒๒ นาฬิกา เจ้าพนักงานภูษามาลาและสนมพลเรือนกองพระราชพิธีสํานักพระราชวังพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมการที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระจิตกาธานบนพระเมรุมาศไว้พร้อมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ไปยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นพระเมรุมาศปิดพระฉากและพระวิสูตรเพื่อเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เวลา ๒๒ นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งทรงธรรมประทับพระราชอาสน์ที่หน้าอาสน์สงฆ์ พระสงฆ์สวดมาติกาทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๓๐ รูปสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุมาศพร้อมด้วยพระบรมวงศ์ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แล้วเสด็จลงจากพระเมรุมาศ ประทับ ณ มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรมเจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุมาศ ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธานถวายพระสงฆ์ ๑๐ รูป สดับปกรณ์ครั้งละ ๑ รูปเสด็จพระราชดําเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จพระราชดําเนินกลับ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางศ์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

บิ๊กตู่ ใช้ม.44 ตั้ง สนง.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรงนายกฯ

บิ๊กตู่ ใช้ม.44 ตั้ง สนง.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรงนายกฯ


วันนี้ (๒๕ ต.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๖/๒๕๖๐ เรื่อง การจัดตั้งสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตามแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาวะ ที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งในบางครั้งและปัญหาอุทกภัยในบางฤดู แม้การบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ําที่ดําเนินการอยู่ จะมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในด้านการปฏิบัติการ แต่ก็ยังมิอาจดําเนินการข้ามหน่วยงานในลักษณะบูรณาการข้อมูล แผนงานหรือโครงการ งบประมาณและการติดตาม ประเมินผลในเชิงนโยบายและการวางแนวทางกํากับ ควบคุมการปฏิบัติการ จึงจําเป็นต้องจัดโครงสร้างองค์กรขึ้นใหม่อย่างน้อยก็ในระยะเริ่มแรกซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปดังกล่าว

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศกราช ั ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖ สํานักนายกรัฐมนตรี มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับการงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การส่งเสริมการลงทุน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ํา การปฏิบัติภารกิจพิเศษและราชการอื่นตามที่มี กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอํานาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ”

ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๔) ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ “(๑๔) สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”

ข้อ ๓ ให้สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีส่วนราชการ หน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติในกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และเป็นฝ่ายบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ฝ่ายแผนงาน โครงการ ฝ่ายงบประมาณบริหารจัดการ และฝ่ายติดตามและประเมินผลการบริหาร จัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อประโยชน์ในการกําหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ในกรณีมีเหตุจําเป็นฉุกเฉิน ให้สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีอํานาจจัดตั้ง ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราว และมีอํานาจในการขอเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจําเป็นและเหมาะสม ให้มีผู้อํานวยการสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างในสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ข้อ ๔ ให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา เพื่อโอนหน่วยงานในระดับต่ำกว่ากรมจากส่วนราชการต่าง ๆ ไปเป็นของสํานักงานบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกําหนดหรือปรับปรุงตําแหน่งข้าราชการ ตลอดจนจัดสรรอัตรากําลัง ให้สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ําแห่งชาติให้เหมาะสมตามความจําเป็นแก่ภารกิจ

ข้อ ๕ ในระยะเริ่มแรก ให้สํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ําแห่งชาติประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการดําเนินการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามกฎหมายและคําสั่งที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๘๕/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นประการอื่น ข้อ ๖ ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ ๗ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแหงชาติ