PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ปล่อยผีส่อป่วนยาว

ผ่านบรรยากาศห้วงเวลาพิเศษ 3 วันผ่านไป การเมืองกลับสู่โหมดระทึกใจ

ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 349 คน จากทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง

นั่นหมายถึงมีแค่นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคเพื่อไทย เพียงคนเดียว ที่เป็นผู้โชคดีทางบ้าน ได้รับแจก “ใบส้ม” ไปก่อนหน้านี้

และเป็นอะไรที่แนวโน้มเหมือนกัน กับคิวการประกาศรับรองผล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ที่จะตามมาในวันที่ 8 พฤษภาคม ก็น่าจะได้รับไฟเขียวผ่านตลอดเหมือน ส.ส.เขตเลือกตั้ง

เพราะไม่มี “แต้มพลิก” จาก ส.ส.เขต ต้องคำนวณสัดส่วนกันใหม่

ก็ขนาดคนที่ลุ้นมากสุดคือ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ติดชนักปมหุ้นสื่อตกอยู่ในสถานการณ์ “ลิงแก้แห” ยังมีกระแส “นำร่อง” แพลมออกมาล่วงหน้า

กกต.จะ “ปล่อยผี” ไปก่อน แล้วค่อยตามไปสอยภายหลัง

ประเมินตามจังหวะ “ปล่อยผี” แบบเหมาเข่งของ กกต. ตัวเลข ส.ส.เขตแต่ละพรรคแทบไม่เปลี่ยน

แต่ปัจจัย “ตัวแปร” ที่จะทำให้เกิดการพลิกผัน มันอยู่ที่การ “คำนวณปาร์ตี้ลิสต์” ตามที่ กกต. ยืนยัน “ยึด” สูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ล้อเจตนารมณ์ของผู้ร่างกติกามาตั้งแต่ต้น ต้องการให้คะแนนของประชาชนทุกเสียงมีค่า “ไม่ตกน้ำ”

โอกาสพรรคเล็กคะแนนต่ำกว่า 7 หมื่นแต้ม ได้รับปัดเศษทศนิยม

และนั่นก็จะมีผลทำให้สมการการจัดรัฐบาลพลิก จากแต้มของพรรคอนาคตใหม่ที่ยึดตามสูตรของแนวร่วม “ทักษิณ” ได้ปาร์ตี้ลิสต์บวก ส.ส.เขต ที่ว่าจะปาเข้าไป 87–88 ที่นั่ง

รวมตัวเลขกันได้ 254-255 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ชิงเล่นเกมเร็วจับขั้วกับฝั่งหนุน “นายใหญ่” ตั้งได้แค่ “รัฐบาลลม” แต่ตามผลอย่างเป็นทางการ ผสมตัวเลข ย้ายข้างสมการกันใหม่ ตามสูตรของ กกต.ที่ยึดตามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้แต้ม ส.ส.สัดส่วนของทีม “ธนาธร” หายไป 7–8 เก้าอี้

โดยคะแนนจะตกเป็นของพรรคเล็ก 10 กว่าพรรคที่ได้แชร์พรรคละ 1 ที่นั่ง

และโอกาสก็จะเป็นฝั่งของทีมงานของพรรคพลังประชารัฐที่ส่ง “นายหน้า” ไปล็อบบี้ไว้หมดแล้ว แนวโน้มตัวเลข 10 ที่นั่งของพรรคเล็ก ล็อกแขนจะสวิงมาทางขั้วพลังประชารัฐ เทแต้มพลิกสมการฝั่งหนุน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “ตีตั๋วต่อ”

ปาดหน้า “แซง” ทีมงาน “เพื่อไทย” ไปแบบฉิวเฉียด

แน่นอนถ้ามองในมุมของเซียนเขี้ยวการเมือง ผลจาก กกต. “ใจไม่ถึง” จะทำให้คะแนนปริ่มสูสีกันมาก และสถานการณ์ “งูเห่า” ที่ส่อเพ่นพ่านจากผลใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง จะกลายเป็นแค่ “ไส้เดือน” ไม่กล้าขยับ

ทีมดูไบจะ “ตรึง” กำลัง ส.ส.ไว้ได้ในระดับที่เบียดหายใจรดต้นคอทีมหนุน “ลุงตู่”

ตามรูปการณ์การเมืองจะแกว่งมาก จากเกมชิงตัวเลขจัดรัฐบาล

แต่การเมืองแบบไทยๆหลายยุคก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กับปรากฏการณ์ต่อให้เสียง “ปริ่มน้ำ” แค่ไหน ถึงขั้น ส.ส.ลุกเข้าห้องน้ำขี้เยี่ยวไม่ได้ ก็ฉุดกระชากลากถูกันไปจนได้

ขั้วพลังประชารัฐต้องล็อกเสียงตั้งประธานสภาผู้แทนฯให้ได้ก่อน เพื่อกุมสภาพ

ที่เหลือค่อยไปลุ้นแก้กันแบบช็อตต่อช็อต

ตามรูปการณ์รัฐบาลหลังเลือกตั้งเดินหน้าได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐบาลแห่งชาติมาทำให้กลไกพิกลพิการ พาลให้ต่างชาติงง ตกลงประเทศไทยจะเอายังไงแน่

เลือกตั้งแล้ว แต่ต้องกลับไปใช้บริการ “นายกฯ” พิเศษ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันยังมีจุดสำคัญต้องลุ้นวันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคิวนัดวินิจฉัยคําร้อง กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาว่า พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128

วิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

ถ้าผลออกมาว่า ไม่มีปัญหา ขั้วพลังประชารัฐก็เดินหมากชิงแต้มหนุน “ลุงตู่” ต่อไป

แต่ถ้าผลออกมาหักมุม การคำนวณแต้มปาร์ตี้ลิสต์จะ “สะดุด” ทันที ไม่รู้จะใช้สูตรไหน และนั่นก็จะเข้าเหลี่ยมทีม “ทักษิณ” และ “ธนาธร” ชิงตีปี๊บโหมกระแสความชอบธรรมในการนับแต้มตามสูตรตัวเอง

เพิ่มแรงสั่นสะเทือนการเมืองอีกหลายแมกนิจูด

สถานการณ์ลำบาก เกมจะยื้อกันไปยื้อกันมา รวมแต้ม ส.ส.จัดรัฐบาลไม่ได้

เผลอๆ “นายกฯลุงตู่” กับรัฐมนตรีที่เหลืออยู่แค่ 10 กว่าคน ต้องประคองเกมบริหารแบบลากยาวต่อไป

ประเทศหยุดนิ่งเป็นอัมพาตแน่.

ทีมข่าวการเมือง


กรงกรรม..กกต.?





รายงานพิเศษ2พ.ค.62 กรงกรรม..กกต.?

กลับมาลุ้นสูตรศาลรธน.?





รายงานพิเศษ 7พ.ค.ุ62 กลับมาลุ้นสูตรศาลรธน.?

เลือกตั้ง 2562 : กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. 349 เขต

สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตอย่างเป็นทางการ 349 คน จากทั้งหมด 350 คน ยกเว้น จ. เชียงใหม่ เขต 8 ที่ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดจากพรรคเพื่อไทย (พท.) โดน "แจกใบส้ม" ก่อนหน้านี้
ล่าสุด กกต. ได้นำประกาศ กกต. เรื่อง ผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา แล้ว
การประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ชนิด "ยกล็อต" ถือเป็นการดำเนินการเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งให้รับรองผลร้อยละ 95 หรือจำนวน 333 คน เพื่อให้เปิดประชุมรัฐสภานัดแรกได้ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. อธิบายว่า เป็นเพราะ กกต. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นตามกฎหมาย และ "ที่ประกาศไปเลย เพราะเมื่อมีการกล่าวหา เขายังไม่ใช่ผู้กระทำผิด ก็ให้เขามีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐาน"
รองเลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า ขณะนี้มีกรณีร้องเรียนราว 400 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติราว 50 เรื่อง ซึ่งแม้ประกาศรับรองผลไปแล้ว แต่ กกต. ก็ยังมีอำนาจในการพิจารณาคำร้องเป็นเวลา 1 ปี และถ้า กกต. สั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวน "ส.ส. พึงมีได้"
พรรคที่มี ส.ส. เขตในสภามีทั้งสิ้น 9 พรรค ซึ่งเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะก่อนหน้านี้ โดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ครองที่นั่ง ส.ส. เขตในสภาสูงสุด ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อย่างไรก็ตามที่นั่งของ พท. ได้ลดลงไป 1 ที่นั่ง เหลือ 136 ที่นั่ง หลัง กกต. สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี หรือ "แจกใบส้ม" ว่าที่ ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 จากพฤติกรรม "สัญญาว่าจะให้" และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หลังจากนี้
BBC
ในประกาศของ กกต. ฉบับนี้ ไม่ได้เปิดเผยคะแนนมหาชน (ป๊อบปูลาร์โหวต) ที่จะนำไปใช้คำนวณหาจำนวน "ส.ส. พึงมี" และจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค
ขณะเดียวกัน นายแสวงไม่ยืนยันว่า ในวันที่ 8 พ.ค. จะมีการแถลงผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าจะเปิดเผยไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. อีกทั้งต้องรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งไม่ว่ามีคำวินิจฉัยอย่างไร "ในทางบริหารของสำนักงาน กกต. ได้เตรียมไว้ทุกอย่าง"
วันลต.Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
รองเลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า คะแนนมหาชนที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับ จะมีความแตกต่างจากข้อมูลชุดที่ กกต. เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ เนื่องจากในระหว่างนี้ กกต. ได้พิจารณาข้อร้องเรียนต่าง ๆ และมีมติสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่และสั่งนับคะแนนใหม่ในหลายเขตที่เกิดปัญหา "บัตรเขย่ง" รวมถึงสั่งเพิกถอนสิทธิผู้สมัคร ส.ส. บางส่วนด้วย
บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า กกต. ได้มีมติรวม 13 กรณี ทำให้คะแนนเสียงในภาพรวมที่จะนำไปคิดคำนวณหาจำนวน "ส.ส. พึงมี" หายไปอย่างน้อย 151,132 คะแนน ดังนี้
  • แจกใบส้มผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 พรรคเพื่อไทย - คะแนนหายไป 134,446 เสียง
  • เพิกถอนสิทธิผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาชาติ 6 คน เพราะขาดคุณสมบัติ - คะแนนหายไป 3,520 เสียง
  • เพิกถอนสิทธิผู้สมัครอื่น ๆ 11 คน จาก 7 พรรค เพราะขาดคุณสมบัติ - คะแนนหายไป 12,292 เสียง
  • นับคะแนนใหม่ขอนแก่น เขต 3 หน่วย 1 - ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • นับคะแนนใหม่ขอนแก่น เขต 3 หน่วย 5 - คะแนนหายไป 1 คะแนน (ของ พปชร.)
  • นับคะแนนใหม่นครปฐม เขต 1 - มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนของ ปชป. ซึ่งลดลง 51 เสียง และ อนค. ได้เพิ่มขึ้น 92 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ ลำปาง เขต 4 หน่วย 3 - คะแนนหายไป 94 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ ลำปาง เขต 4 หน่วย 6 - คะแนนหายไป 74 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ ยโสธร เขต 2 หน่วย 6 - คะแนนหายไป 37 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ เพชรบูรณ์ เขต 1 หน่วย 12 - คะแนนหายไป 316 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ พิษณุโลก เขต 2 หน่วย 6 - คะแนนหายไป 39 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ กทม. เขต 13 หน่วย 32 - คะแนนหายไป 185 เสียง
  • จัดการเลือกตั้งใหม่ ชุมพร เขต 2 หน่วย 9 - คะแนนหายไป 128 เสียง
ที่มา บีบีซีไทยรวรวมโดยเปรียบเทียบคะแนนที่ กกต. เปิดเผยเมื่อ 28 มี.ค. กับคะแนนใหม่ที่เปลี่ยนไปหลังการเลือกตั้งใหม่ 21 และ 28 เม.ย. และการนับคะแนนใหม่
บรรยากาศหลังปิดหีบเลือกตั้งที่ จ. อุดรธานี เมื่อ 24 มี.ค.Image copyrightSTR/BBC THAI
คำบรรยายภาพบรรยากาศหลังปิดหีบเลือกตั้งที่ จ. อุดรธานี เมื่อ 24 มี.ค.
ถึงขณะนี้ กกต. ยังไม่ยอมเปิดเผยสูตรคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แต่มีรายงานว่า กกต. เลือกใช้สูตรคำนวณแบบมี "พรรคจิ๋ว" หรือพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนในการมี ส.ส. ได้ 1 คน มีสิทธิเข้าไปนั่งในสภาด้วย
เช้าวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องไป ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สำนักงาน กกต. นัดประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ