PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โฆษก กอ.รมน. โต้"วรชัย เหมะ" อ้างกอ.รมน.ลงพื้นที่ ทำโพลล์รัฐบาล เทียบพรรคการเมือง



โฆษก กอ.รมน. โต้"วรชัย เหมะ" อ้างกอ.รมน.ลงพื้นที่ ทำโพลล์รัฐบาล เทียบพรรคการเมือง ยันไม่มีหน้าที่สำรวจคะแนนเสียงในทางการเมือง
จากกรณีที่ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ให้ข่าวว่า กอ.รมน. ได้ลงพื้นที่สำรวจคะแนนเสียงประชาชนที่มีต่อรัฐบาล เทียบกับคะแนนเสียงของพรรคการเมืองนั้น
พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงว่า กอ.รมน.เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ มีหน้าที่หลักในการอำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ไม่ได้มีหน้าที่ในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในทางการเมืองแต่อย่างใด
โดยการปฏิบัติงานระดับพื้นที่นั้น กอ.รมน. จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อทำหน้าที่ตามมาตรา 7(4) แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ดังคติพจน์ของหน่วยงานคือ “มุ่งมั่นบูรณาการ ประสานงานเป็นเลิศ เชิดชูคุณธรรม ผู้นำความมั่นคง ดำรงความสามัคคี”
พล.ต.บรรพต กล่าวว่า หลังจากนี้หากผู้ใดประสงค์จะทราบคะแนนความนิยมทางการเมือง ขอให้อ้างอิงจากหน่วยงานที่มีหน้าที่สำรวจความคิดเห็นโดยตรง หรือจากสำนักโพลต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้สาธารณชนเกิดความสับสน

ส่งฟ้ององค?กรพิทักษ์สยาม

ฟ้อง '33 องค์การพิทักษ์สยาม' แล้ว ศาลให้สาบานตนจะไม่หลบหนี ก่อนปล่อยตัวชั่วคราว

ทนายความ นำกลุ่มแนวร่วมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามจำนวน 33 คน มาส่งฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต กรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในการรวมตัวกันขับไล่ยิ่งลักษณ์ ปี 2555 ศาลปล่อยตัวชั่วคราว หลังให้ผู้ต้องหาทั้งหมดใช้วิธีการสาบานตนว่าจะไม่หลบหนี

4 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ นำกลุ่มแนวร่วมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม จำนวน 33 คน จากทั้งหมด 38 คน มาส่งฟ้องต่อ อัยการศาลแขวงดุสิต ถนนบรมราชชนนี ในฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนด ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนด และห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มีผลถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ภายในเขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส. นำกลุ่มผู้ชุมนุม 127 รวมตัวขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนประกาศของเจ้าพนักงานที่ห้ามบุคคลเข้าออกในพื้นที่ซึ่งกำหนด ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ ขณะที่ผู้ต้องหาบางคน มีความผิดฐาน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 139 อีกด้วย

พวงทิพย์ ระบุว่า คดีนี้ศาลได้ทยอยสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว 4 รอบ รวม 83 คน ยังเหลืออีก 44 คน อยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนขั้นตอนในการขออำนาจศาลปล่อยตัวชั่วคราว เบื้องต้นศาล อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดใช้วิธีการสาบานตนว่าจะไม่หลบหนี

แถลงการณ์ปชต.ใหม่

แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์

ตามที่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้แถลงเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยร่างแรกของคณะกรรมการชุดนี้ โดยจะมีการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และพบว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีเนื้อหาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ดังนี้

1. การเปิดโอกาสให้มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพได้อย่างกว้างขวางผ่านมาตรวัดที่คลุมเครืออย่าง “หลักนิติธรรม” (มาตรา 26)

2. การตัด "สิทธิชุมชน" ออกไปจากสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย (หมวด 3) ซึ่งอาจส่งผลให้มีการอ้างเหตุในการละเมิดสิทธิชุมชนโดยรัฐบาลได้

3. การให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการและผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติให้แล้วเสร็จ (มาตรา 267) รวมถึงกำหนดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยให้ต้องเข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ (มาตรา 47) ซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็นการเปิดโอกาสให้ คสช. ครอบงำความคิดประชาชนผ่านการจัดการศึกษา

4. ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (มาตรา 86) ที่เป็นการบิดเบือนเสียงของประชาชน ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนจำนวนมากได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่าที่ควรจะได้ และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนจำนวนน้อยได้ที่นั่งในสภามากกว่าที่ควรจะได้ 

5. ระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นเพียงการเลือกกันเองในกลุ่มบุคคลจากวงการต่างๆ (มาตรา 102) ทั้งที่การประกอบอาชีพของคนไทยนั้นมีความหลากหลายมาก การพิจารณา ส.ว. โดยอาศัยอาชีพเป็นเกณฑ์ย่อมไม่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้ครบถ้วน นอกจากนี้ ในความเป็นจริงจะมีเพียงกลุ่มบุคคลจากวงการที่มีอิทธิพลในทางสาธารณะเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิสรรหา วงการที่เสียงไม่ดังพอก็ต้องอยู่เงียบๆ แบบไร้สิทธิต่อไป จึงไม่ใช่การเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง 

6. การเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือนายกฯ คนนอก โดยการให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่ประสงค์จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้กำหนดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ไว้ ทั้งยังให้แจ้งรายชื่อได้มากถึง 3 รายชื่อ (มาตรา 83) ทำให้ประชาชนไม่สามารถคาดหมายได้ว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรคในการเป็นนายกรัฐมนตรี 

7. การให้อำนาจอันล้นเกินแก่องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้แก่ การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 207) การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อบังคับใช้กับนักการเมืองเลือกตั้ง (มาตรา 265) ส่งผลให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถบงการองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งได้

8. การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้ยากมาก โดยการให้น้ำหนักแก่เสียงของวุฒิสภาและสมาชิกพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นอย่างมาก เปิดโอกาสให้เสียงจำนวนน้อยนิดสามารถคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดได้ ถึงขนาดว่าเสียงของสมาชิกรัฐสภาเพียง 10 เสียงก็สามารถคัดค้านเสียงอีก 690 เสียงที่เหลือได้ (มาตรา 253)

9. คสช. จะยังคงมีอยู่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จนกว่าจะร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จ และมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 257) โดยอาจอยู่ได้เป็นเวลานานถึง 15 เดือน รวมถึงตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่อไปได้อีกหากทำไม่เสร็จตามกำหนดเวลา (มาตรา 259) นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติแล้ว คสช. จะยังสามารถต่ออายุตัวเอง สืบทอดอำนาจของตนออกไปอีกได้ตามต้องการ

10. มีการนิรโทษกรรม และรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของการกระทำและการใช้อำนาจโดย คสช. ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตหากรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ (มาตรา 270)

กล่าวโดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง บั่นทอนอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งและเพิ่มพูนอำนาจขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังยอมรับให้ คสช. มีอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลายาวนาน ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรที่ดีขึ้นเลย

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยบุคคลเพียงกลุ่มเดียวในสังคมเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากประชาชนแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญของเผด็จการฉบับนี้จะนำพาประเทศไปสู่ทางออกที่เป็นประชาธิปไตยได้

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และจะขอดำเนินกิจกรรมเพื่อต่อต้านทั้งรัฐธรรมนูญของเผด็จการและระบอบเผด็จการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยตัวของประชาชนเอง

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

4 กุมภาพันธ์ 2559