PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ปาฐกถาของนายแดเนียล รัสเซลผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

สถานฑูตสหรัฐประจำประเทศไทยโพสFB คำแปล ปาฐกถาของนายแดเนียล รัสเซลผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งกล่าวที่ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครวันนี้(26/1/58)
////
ปาฐกถาของนายแดเนียล รัสเซล
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรุงเทพมหานคร

สวัสดีครับ
ขณะนี้ ผมกำลังอยู่ในระหว่างเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ มาเลเซียและกัมพูชา

ผมเดินทางมาภูมิภาคนี้ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่ท่านประธานาธิบดีโอบามาเดินทางมาเอเชียสองครั้งในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นักเรียนและนักธุรกิจชาวอเมริกันต่างพากันมาภูมิภาคนี้ และด้วยเหตุผลเดียวกับที่เรือพานิชย์และกองทัพเรือของเรามาแวะตามเมืองท่าในภูมิภาคนี้ นั่นคือ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของอเมริกามีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกันมากกับความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของเอเชีย ชุมชนของเราเชื่อมโยงกันด้วยการเดินทาง การค้าและความสัมพันธ์ในครอบครัว และชะตากรรมของเราก็เชื่อมสัมพันธ์กันด้วยปัญหาความท้าทายระดับโลกร่วมกัน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงโรคระบาดและลัทธิคตินิยมสุดโต่งที่นิยมใช้ความรุนแรง

ไม่มีประเทศใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ตามลำพัง ฉะนั้น ผมขอพูดถึงโครงสร้างของภูมิภาคนี้ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรและประเทศคู่ความร่วมมือได้สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวเป็นประการแรก จากนั้น ผมจะ เน้นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย และเส้นทางมิตรภาพของเราในอนาคต

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และหลังสงครามเย็นยุติลง ความร่วมมือนี้ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นกับประเทศคู่ความร่วมมือ เช่น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน เพื่อพัฒนาความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นประชาธิปไตยทั่วทั้งภูมิภาค

ประเทศของเราได้ร่วมกันสร้างโครงสร้างและสถาบันระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมให้แข็งแกร่ง โครงสร้างนี้ได้ช่วยรักษาสันติภาพในภูมิภาคนี้ และหลายประเทศได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสอันเป็นผลมาจากความสงบสุขนี้ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

เราเห็นสิ่งนี้ในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งซึ่งกำเนิดขึ้นในสถานที่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในขณะที่พม่ายังคงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราก็ได้เห็นการเปิดประเทศของพม่าครั้งประวัติศาสตร์หลังจากแยกตัวโดดเดี่ยวมาหลายทศวรรษ และในกัมพูชา ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านเมื่อปีที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสสำหรับการปฏิรูปและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้น

ในทุกประเทศข้างต้น ความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะดำเนินคู่ขนานกันไป และเรามักจะพบว่า ความสำเร็จของประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

ประธานาธิบดีโอบามาได้ให้การสนับสนุนความก้าวหน้าของภูมิภาคนี้ในหลายๆ ด้าน เช่น การเพิ่มการมีส่วนร่วม ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนซึ่งเป็นเสาหลักของโครงสร้างของภูมิภาคนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้ตัดสินใจเข้าร่วม ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ และแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนแรกประจำอาเซียน ซึ่งปัจจุบันเป็นวาระของเอกอัครราชทูตคนที่ 2 แล้ว นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามายังร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วยตนเองอีกด้วย

สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเสริมสร้างให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นเวทีหลักในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังสนับสนุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวในปีนี้

สหรัฐฯ สนับสนุนและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเอเปคซึ่งเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจในโครงสร้างของภูมิภาคนี้ เอเปคได้ช่วยเร่งการฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลก ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้สตรี และประกันว่า การเติบโตจะครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยประโยชน์ที่ได้รับจะเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้และเสริมสร้างการเติบโตของชนชั้นกลางตลอดทั่วภูมิภาค

และในการประชุมเอเปคปีนี้ สหรัฐฯ ตั้งใจที่จะสำรวจแนวทางที่สหรัฐฯ จะสามารถช่วยขยายการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

เสาหลักที่เก่าแก่ที่สุดของความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคนี้คือ พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและ สาธารณรัฐเกาหลี ระบบความสัมพันธ์แบบพันธมิตรและความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ในหลายด้าน

ระบบดังกล่าวเป็นแกนหลักของความร่วมมือในภูมิภาคและทั่วโลก และเป็นสิ่งที่จะยืนหยัดเพื่อหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเมื่อมีการท้าทายหลักนิติธรรม เช่น การกระทำอันก่อปัญหาที่จะดำเนินการฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในทะเลจีนใต้

เราทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่า กองทัพของเราจะสามารถพร้อมทำงานร่วมกันได้ในทันทีที่มีสถานการณ์จำเป็น ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน 182 ปีระหว่างสหรัฐฯ กับไทยก็เช่นเดียวกัน ประเทศเราทั้งสองได้ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรม ปฏิบัติการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต่อต้านสลัดทะเล ส่งเสริมสาธารณสุข คุ้มครองผู้ลี้ภัย และร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยมีขอบเขตกว้างไกลกว่าจำนวนปีที่เราทั้งสองเป็นพันธมิตรกันมา หรือ แม้กระทั่งผลประโยชน์และเจตจำนงที่เรามีร่วมกัน มิตรภาพของเราซึ่งมีจุดเริ่มต้นนานมาแล้วได้รับการกระชับไมตรีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ ด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงพำนักในสหรัฐอเมริกาเพื่อ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชสมภพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการเกื้อหนุนวัฒนธรรมอเมริกัน

มิตรภาพที่กว้างไกลและยั่งยืนของเราได้รับการกระชับสัมพันธ์ด้วยนักเรียนไทยหลายพันคนที่เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ทุกปีและชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาและท่องเที่ยวในไทย เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ชาวอเมริกันได้ อาศัยอยู่ในไทยและมีส่วนเกื้อหนุนสังคมไทยในด้านต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยได้มีส่วนในสังคมอเมริกัน

ประเทศเราทั้งสองได้ยืนหยัดเคียงคู่กันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เราเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยในช่วงความขัดแย้งในคาบสมุทรอินโดจีน เราได้ต่อสู้กับการแพร่ขยายของการก่อการร้ายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเราเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่นำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่คนไทยและ ภูมิภาคนี้

เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่หน่วยอาสาสันติภาพและบุคลากรสหรัฐฯ ได้มีส่วนช่วยด้านการสอนภาษาอังกฤษและการพัฒนาชนบท บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเราทั้งสองได้ร่วมมือในงานวิจัยเพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรีย และเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของเราก็ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ทั้งสองประเทศยังมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ดำเนินมายาวนานและเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่สามของไทย บริษัทอเมริกันหลายบริษัทเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทย ส่งเสริมอาชีพหลายแสนตำแหน่ง รวมทั้งนำเทคโนโลยีชั้นนำและมาตรฐานระดับสูงเข้ามาในไทย

บริษัทเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงปริมาณการค้าการลงทุนเท่านั้นที่สำคัญ คุณภาพก็สำคัญเช่นกัน การดำเนินธุรกิจกับอเมริกาได้เพิ่มโอกาสด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานไทย ตลอดจนมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโต ช่วยให้ประเทศก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” และพัฒนาชีวิตของประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้น

ผมขอกล่าวถึงแนวทางที่เรากำลังเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตสำหรับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับไทยผ่านโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative หรือ YSEALI ของประธานาธิบดีโอบามา ผมเข้าใจว่ามีสมาชิกโครงการมาร่วมฟังในวันนี้ด้วย เชิญแสดงตัวกันหน่อยครับ...

ขอบคุณครับ และผมหวังว่าใครที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกจะมาร่วมเป็นสมาชิกโครงการกับเราด้วยนะครับ

YSEALI เป็นโครงการโดดเด่นสำหรับประธานาธิบดีโอบามา ในฐานะที่ท่านเองก็เคยเป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ช่วงหนึ่ง ท่านจึงรู้สึกผูกพันกับภูมิภาคนี้ ประธานาธิบดีโอบามาเคยจัดกิจกรรมพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกโครงการในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีชาวไทยเข้าร่วมด้วย อีกทั้งสหรัฐฯ ยังได้พาสมาชิกโครงการ YSEALI ไปเยือนสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

นี่คืออีกแนวทางหนึ่งที่สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนให้เยาวชนได้มาพบปะกันเพื่อร่วมกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ด้วยการมีส่วนร่วมและการเป็นผู้นำของทุกท่าน 

โครงการ YSEALI กำลังสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันและร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อจัดการปัญหาที่เยาวชนของเราระบุว่าเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยของพวกเขา อันได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม สมาชิกโครงการ YSEALI ทำให้ทั้งประธานาธิบดีโอบามา ผม และทุกคนที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาประทับใจมาก

ในเวลานี้ ผมทราบดีว่าทุกท่านในที่นี้เป็นผู้ที่มีความคิดลึกซึ้ง ดังนั้น หลังจากที่ผมได้พูดถึงสิ่งที่กำหนดภาพความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไทยไปแล้ว ทั้งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและในอนาคต ผมก็ควรต้องกล่าวสักเล็กน้อยเกี่ยวกับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยในช่วงปีที่ผ่านมา

น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคและยังได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อแปดเดือนก่อน ซึ่งได้ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

เมื่อเช้านี้ ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศธนะศักดิ์ ผมหารือกับทั้งสามท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย

ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย เราเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง

นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รู้สึกว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวแทนของตนด้วย

นอกจากนี้ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย

การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย

สารที่ผมได้สื่อถึงบุคคลที่ผมเข้าพบในวันนี้ ถึงทุกท่าน และถึงประชาชนชาวไทยทุกคนนั้นเป็นสารเดียวกัน นั่นคือ

ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันมายาวนานในหลากหลายประเด็น ที่ไม่เพียงสำคัญกับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคนี้ตลอดจนอีกฟากหนึ่งของโลก สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสายสัมพันธ์นี้ รวมทั้งต่อมิตรภาพระหว่างเรากับประชาชนทุกคนของประเทศอันแสนวิเศษนี้

สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทย ขอให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งดีงามครับ

ศาลฎีกาสั่งจำคุก 4 ปี “ปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์” อดีตส.ส.บุรีรัมย์ 7 สมัย

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 ม.ค. ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.3402/2548 หมายเลขแดงที่ 3216 /2549 ที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายแสวง เลี้ยงผ่องพันธุ์ อายุ 66 ปี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง จำเลยที่ 1 นายกาศ ลวดไธสง จำเลยที่ 2 นายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ อายุ 53 ปี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ 7 สมัย จำเลยที่ 3 นางเจติยา เลี้ยงผ่องพันธุ์ อายุ 53 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล อ.คูเมือง จำเลยที่ 4 นางทอง เลี้ยงผ่องพันธุ์ อายุ 58 ปี อดีต สจ.บุรีรัมย์ จำเลยที่ 5 นายดาว ตอรบรัมย์ อายุ 66 ปี จำเลยที่ 6 นายสนั่น เดิมทำรัมย์ อายุ 59 ปี จำเลยที่ 7 และ นายเชาวลิต สิงหชัย อายุ 64 ปี จำเลยที่ 8 ในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์”
ตามโจทก์ฟ้องและนำสืบว่า ระหว่างเดือนมี.ค.2533 ต่อเนื่องถึงวันที่ 13 พ.ย.2556 จำเลยทั้งแปดทุจริตร่วมกันลักดินลูกรังในเขตปฏิรูปที่ดินป่าดงเค็ง บ้านจิกน้อย หมู่ที่ 4 ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งแปดได้ใช้รถตักดิน (แบ็กโฮ) หลายคันเป็นยานพาหนะใช้ขุดตักและรถยนต์บรรทุกดินที่จำเลยทั้งแปดลักไปดังกล่าว เพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดและการพาทรัพย์นั้นไป รวมที่ดินที่ขุดตักเอาดินลูกรังไปเนื้อที่ 141ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา ปริมาตรดินลูกรัง 458,311,103 ลูกบาศก์เมตร รวมราคาทรัพย์เป็นเงิน 22,604,715 บาท โดยจำเลยที่ 7 ได้เสียชีวิตไป ศาลอุทธรณ์จึงสั่งให้จำหน่ายคดี
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมา มีน้ำหนักให้รับฟัง โดยปราศจากข้อสงสัย พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่นำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่มีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 เป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคแรก.336 ทวิ ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 22,604,715 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก นายแสวง เลี้ยงผ่องพันธุ์ นายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ และนางเจติยา เลี้ยงผ่องพันธุ์ ภรรยา นายปณวัตร พร้อมกับพวกรวม 6 คน ต่างมีสีหน้าวิตกกังวล โดยมีญาติ พี่น้อง และเพื่อนบ้านมาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งไปคุมขังยังเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ต่อไป..

'สหรัฐฯ'ยันไม่ได้เลือกข้างฝ่ายใด ร้องรัฐบาลไทยเลิกใช้กฎอัยการศึก-เลิกห้ามชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.เวลา 14.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปี 2015” ซึ่งจัดโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย  ทั้งนี้ นายรัสเซล กล่าวตอนหนึ่งว่า ในปัจจุบัน การเมืองไทยถือเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ตนได้พบกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เพื่อรับฟังผู้นำทางการเมือง และผู้นำภาคประชาสังคม เพื่อรับฟังและหารือกันถึงสถานการณ์การเมืองของไทย พร้อมกับแสดงทัศนะและความหวังของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศไทย
โดยในการหารือดังกล่าว ทุกฝ่ายเน้นความสำคัญของการปรองดองและการวางรากฐานประชาธิปไตยในอนาคต ทั้งนี้สหรัฐฯให้ความเคารพกับประเทศไทย และยืนยันว่า ไม่ได้เลือกข้างอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของประเทศไทยและประชาชนไทยที่จะตัดสินว่าอะไรเป็นความชอบธรรมของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯมีความกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวทางการเมืองที่ถูกกีดกันในไทย เพราะสหรัฐฯเห็นว่าเสียงทุกเสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการร่วมออกแบบอนาคตของประเทศ และการที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงถือเป็นรากฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่ปัจจุบันกลับมีประชาชนบางส่วนของไทยที่ถูกกีดกันออกจากการเมือง ตนจึงได้แสดงความเห็นเรื่องการทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
นายรัสเซล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้พูดกับพล.อ.ธนะศักดิ์ ถึงความเป็นไปได้ในการที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย เพราะการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและห้ามการชุมนุมใด ๆ จะเปิดโอกาสให้ทุกคน ได้แสดงทัศนะต่าง ๆ ในการปฏิรูปประเทศไทย รวมถึงจะสร้างสถาบันประชาธิปไตยที่มั่นคงและตอบสนองกับความต้องการของประชาชน ซึ่งสหรัฐฯหวังว่า การเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ 
ส่วนเรื่องของความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปรองดอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน มีผู้นำของไทยที่มาจากการเลือกตั้งได้ถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองจากกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร และยังเป็นเป้าหมายในการดำเนินคดีทางอาญา ในขณะที่กระบวนการประชาธิปไตยถูกรบกวนอยู่ ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศเริ่มสงสัย ว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจมีเจตนาทางการเมือง อีกทั้งเหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างความปรองดอง สหรัฐฯจึงต้องการหลักประกันว่า การสร้างความปรองดองจะยังเดินหน้าไปได้ และกำลังไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงระบบตุลาการของไทยจะมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังเป็นพันธมิตรที่มีค่าของสหรัฐฯต่อไป
“เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับประชาคมระหว่างประเทศต่อกรณีที่รัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้งถูกขจัดออกจากอำนาจ แล้วยังถูกถอดถอนอีกโดยกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกว่าคนอื่นจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่านี่เป็นการแทรกแซงทางการเมือง”นายรัสเซล กล่าว.

สถานการณ์




เลิศรัตน์เผย คู่สมรมเเละบุตรนักการเมืองต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วยใน รธน.ใหม่


พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
รายมาตราในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่
1 บททั่วไป และส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในมาตรา 2 กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้
แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ต้องยื่นบัญชีบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งกรรมาธิการได้บัญญัติเพิ่ม โดยให้ "กรรมการ
ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ป.ป.ช.
รวมถึงคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ครอบครองหรือดูแลทรัพย์สินของตนไม่ว่าจะทาง
ตรง หรือทางอ้อม จะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย และต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว แต่ต้อง
ไม่เกิน 30 วัน

ส่วนข้าราชการการเมืองอื่นและผู้ดำรงตำแหน่งทางทางการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อื่น
ของรัฐ เปิดเผยเมื่อจำเป็นเท่านั้น

พล.อ.เลิศรัตน์ เผย รธน.ใหม่ ห้ามนักการเมืองใช้นโยบายเอื้อประโยชน์ครอบครัวเเละคนรอบข้าง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ได้เพิ่มมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กำหนดนโยบาย หรือกฎใด ๆ ที่คนรอบข้าง หรือบุคคลในครอบครัวได้รับผลประโยชน์ รวมถึงไม่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวประกอบ
ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลนั้น ๆ ตลอดจนไม่ใช้เงิน ทรัพย์สินของหน่วยงาน หรือส่วนราชการนั้น
เพื่อประโยชน์ส่วนตน เว้นแต่ได้รับอนุญาต และไม่กระทำใด ๆ หรือปฏิบัติการใดในฐานะส่วนตัวที่จะก่อให้เกิดความขัดกับประโยชน์
ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบหน้าที่ ทั้งนี้ ห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์การดำเนินธุรกิจโดย
มุ่งหาผลกำไรหรือรายได้ รวมถึงไม่แทรกแซง ก้าวก่ายการรับสัมปทานจากรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญา
กับรัฐ หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าคู่
สัญญาไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
//////////////////
สิงห์ทอง เผย แม่ทัพภาคที่ 1 เรียกเข้ารายงานตัวราบ 11 - คาดโพสต์เฟซบุ๊กหลังคดีถอดถอน

นายสิงห์ทอง บัวชุม คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
และกองทัพภาคที่ 1 ติดต่อมาให้ตนเองเดินทางเข้าไปรายงานตัวต่อ พลโท กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการ
กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในวันพรุ่งนี้ (27 ม.ค. 2558) เวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1

ทั้งนี้ นายสิงห์ทอง กล่าวว่า สาเหตุของการเรียกรายงานตัวในครั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากการที่ตนเองได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึง
เบื้องหลังของการออกมาแถลงข่าวของตนเอง และการที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์แถลงการณ์
ผ่านทางเฟซบุ๊ก หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์

อย่างไรก็ตาม นายสิงห์ทอง กล่าวว่า ไม่กังวลที่จะต้องไปรายงานตัว เนื่องจากการสิ่งที่ตนเองโพสต์ไปนั้นเป็นข้อมูลข้อเท็จจริง
เบื้องตนที่ตนเองต้องการจะชี้แจงกับประชาชนให้ได้รับทราบ แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าตนเองยินดีให้ความร่วมมือกับทางคณะรักษา
ความสงบแห่งชาติ
////////////////
นายกฯ ย้ำถอดถอนยึด กม. ปัดไล่ล่าใคร ขอยอมรับกติกา ยันไม่เกี่ยวปรองดอง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวว่า ไม่ห่วงสถานการณ์
ภายหลังที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยย้ำว่าเป็น
ไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่ได้เป็นการไล่ล่าใครเพราะเอากฎหมายไล่ล่ากันทางการเมืองไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้แยกแยะในเรื่องความปรองดองกับคดีทางกฎหมาย โดยขอให้ยอมรับกติกาและพร้อมให้ความเป็นธรรม
ทุกฝ่าย ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของทุกฝ่าย ส่วนหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศต้องดูตามข้อ
กฎหมาย

ส่วนกรณีที่ นายแดเนียล รัสเซล ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก เดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับกรณีที่ทาง สนช. มีมติถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะการเยือนดังกล่าวมีกำหนด
การล่วงหน้า มาเพื่อติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วไปในประเทศไทย โดยจะมีการชี้แจงความคืบหน้าต่าง ๆ ตามโรดแมป
รวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ และการเดินหน้าเตรียมการตามประชาธิปไตย

ประยุทธ ไม่ไปจักรดาว

ยกเลิกพิธีเทิดเกียรติ "บิ๊กตู่"นายกฯ ศิษย์เก่าเตรียมทหาร หลังนายกฯไม่มาร่วมงาน ติดประชุม ครม.
รร.เตรียมทหาร ต้องยกเลิกการจัดพิธีเทิดเกียรติ"พล.อ.ประยุทธ์" นายกรัฐมนตรีทหารที่เป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารคนที่2 เนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ ไม่มาร่วมงาน เนื่องจากติดประชุม ครม. และไม่ต้องการให้จัดพิธีเทิดเกียรติ
แต่จะมีพิธีมอบรางวัลเกียรติยศจักรดาวให้16ศิษย์เก่าดีเด่น ที่เป็นระดับรัฐมนตรี และผบ.เหล่าทัพ ด้วย27มค.นี้/ ทั้งให้ 3 รัฐมนตรี ในรัฐบาล และเพื่อนรักบิ๊กตู่ "พล.อ.ฉัตรชัย-พล.อ.สุรศักดิ์"-"พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์"รมช.ศึกษาฯ /ปลัดกห.-ผบ.สส-ผบทร.-ผบทอ.-ผบ.ตร.-แม่ทัพภาค1"รวมทั้ง นาวิกโยธิน ผู้นำปฏิบัติการป้องฐาน ปลิดชีพ"มะรอโซ" และ มอบ "จักรดาวสดุดี" ให้ตำรวจทหาร 8 นาย ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัคิหน้าที่ ในภาคใต้-ฮ.ตก และ นักเรียน นรต. ที่ประสบอุบัติเหตุ จากการฝึกกระโดดร่ม
ทั้งนึ้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า รร. เตรียมทหาร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นคนที่3
โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา(เตรียมทหาร 12) เป็นนายกรัฐมนตรีทหาร คนที่2 โดยก่อนหน้า พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี (เตรียมทหาร 1) ถือเป็น นายกรัฐมนตรีทหารจากเตรียมทหาร คนแรก ที่เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมาจากการรัฐประหาร ทั้ง 2 คนเลยก็ตาม โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ตท.10 เป็นนายกฯ เตรียมทหาร และ นายกฯตำรวจคนแรก ที่จบ ตท.ส่วนพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกฯ ทหารคนแรก พล.อ.ประยุทธ์ คนที่2
ทั้งนี้ ถือเป็นประเพณี มอบรางวัล เกียรติยศจักรดาว ให้นายทหาร ตำรวจ ที่เป็นศิษย์เก่าดีเด่น ทั้งที่ ขึ้นสู่การเป็น ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. และ ที่ผลงานดีเด่น ทุกในวันสถาปนา รร.เตรียมทหาร 27 มกราคม
โดยปีนี้ มูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารได้พิจารณามอบรางวัลนี้ ให้ศิษย์เก่าเตรียมทหาร เป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารดีเด่น ได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2558 จำนวน 16 คน
1. พล.ร.ท.สมหมาย ปราการสมุทร (ตท.11) อดีตที่ปรึกษากองทัพเรือ สาขาการวิจัย ผู้วิจัย เครื่องบินทะเล
2. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ (ตท.12) รมว.พาณิชย์ และ รอง ผบ.ทบ. สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
3.พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (ตท.12) ผบ.สส. สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
4.พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ (ตท.12) รมว. แรงงานและอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
5.พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ (ตท.13 ) ผบ.ทร. สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
6.พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล (ตท.13) ปลัดกระทรวงกลาโหม สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
7.พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง (ตท.14) ผบ.ทอ. สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
8.พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (ตท.14 )รมช.ศึกษาธิการ และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
9.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ตท.15) ผบ.ตร. สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
10.พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ( ตท.15) รองเสนาธิการทหาร สาขาเสริมสร้างเกียรติภูมิไทย
11.พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ (ตท.16) แม่ทัพภาคที่ 1 สาขาการทหาร
12.พล.ต.ท.พิสิฏฐ์ พิสุทธิศักดิ์ (ตท.16) จเรตำรวจ สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
13.นาวาอากาศโทสราวุฒิ สุจิตจร (ตท.20) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตอน(องค์การมหาชน) สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
14.พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง (ตท.24) รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สาขาบริหารการปกครองและเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
15.นาวาโทธรรมนูญ วรรณา (ตท.34) ผู้บังคับกองนายทหารนักเรียน กองการปกครอง โรงเรียนทหารนาวิกโยธิน ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สาขาการทหาร จากปฏิบัติการ ป้องกันฐานนย. จากการบุกยึดของ "มะรอโซ" ที่ นราธิวาส
16.พ.อ.ถิรวัฒน์ บุญเพ็ญ (ตท.35) ราชองครักษ์ประจำ กรมราชองครักษ์ สาขาพัฒนาสังคม
นอกจากนี้ รร.เตรียมทหาร ยังมีการมอบรางวัล "จักรดาว สดุดี" ให้กับ นายทหาร ตำรวจ ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ อีกด้วย โดยมอบให้ภริยา และครอบครัว โดยในปีนี้ มอบให้กับ ผู้เสียชีวิต 8 นาย ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ในชายแดนภาคใต้ และ เหตุการณ์เฮลืคอปเตอร์ตก และ เหตุ
ฝึกกระโดดร่ม ของ นักเรียนนายรัอยตำรวจ
พ.ต.อ.อดินันท์ อิสมาแอล (ตท.25)
รอง ผกก.ป.กรงปินัง ยะลา
พลตรี ทรงพล ทองจีน (ตท.16)
พันเอก กิตติ สุวรรณเจริญ (ตท.31)
พันเอก ยุทธพงศ์ เพื่อนฝูง (ตท.31)
พันโท วุฒิศักดิ์ สุนทรสุข (ตท.35)
ร้อยเอก วรพงษ์ ช่างสลัก (ตท.46)
นรต.ชยากร พุทธขัยยงค์ (ตท.53)
นรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข (ตท.53)


ประยุทธ์ ใส่ชุดข้าราชการ

ประยุทธ์ บอก หลังถูกทักใส่แล้วใจร้อน
หลังจาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือข้าราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการทุกวันจันทร์ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ล่าสุดวันนี้(26 ม.ค.)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สวมชุดข้าราชการสีกากีเป็นครั้งแรก พร้อมให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาเราขอให้ข้าราชการสวมชุดข้าราชการในทุกวันจันทร์ ดังนั้น สิ่งไหนที่เราทำด้วยได้ก็พร้อมที่จะทำ ซึ่งใส่ชุดนี้แล้วก็สบายดี
ส่วนที่มีคนชมว่าใส่แล้วหนุ่มนั้นก็ต้องขอบคุณ ความจริงตั้งใจที่จะแต่งชุดราชการนี้หลายวันแล้ว แต่บังเอิญว่าติดงานหลายงาน ถ้าใส่แล้วต้องเปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออก
เมื่อถามว่า ชุดข้าราชการที่ใส่อยู่ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นคนออกแบบ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเครื่องแบบของราชการเขา เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า ชุดเครื่องแบบนี้เป็นการออกแบบโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่รู้ จำไม่ได้
เมื่อถามอีกว่า ตัดที่ร้านบรอดเวย์ ร้านประจำที่เคยตัดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ เขาตัดมาให้ และจะพยายามใส่ในทุกๆ วันจันทร์ ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่ของทำเนียบรัฐบาลเขาก็ใส่กันทุกวันจันทร์อยู่แล้ว ส่วนที่บางส่วนยังไม่ใส่ คาดว่าอยู่ระหว่างหาเงิน ยอมรับว่าพอใส่แล้วก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน เพราะไม่เคยใส่ ส่วนราคาก็น่าจะอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท ก็แพงอยู่เหมือนกัน
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะแจกผ้าเพื่อให้ข้าราชการไปตัดชุดเป็นการลดค่าใช้จ่าย นายกฯ กล่าวว่า หาเงินมาให้สิ ความจริงรัฐบาลก็อยากแจกให้สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่คงต้องหางบประมาณมาก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ยังใส่กำไลหินสีอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า ทำไม เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า ยิ่งใส่ยิ่งใจร้อน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งั้นเดี๋ยวถอดออก
อย่างไรก็ตาม กำไลหินสีเทา ที่ข้อมือด้านขวาของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เป็นกำไลที่ลูกสาวของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้มาใส่ไว้จะได้ใจเย็นเหมือนหิน


มท.เตรียมเด้ง ผู้ว่าฯอีกล็อตใหญ่เซ่นทุจริต

มท.รอเด้งผวจ.เข้ากรุลอตใหญ่ เซ่นทุจริต
"มท." เล็งย้ายลอตใหญ่ "ผวจ." หลายจว.เซ่นคดีจัดซื้อยาปราบศัตรูพืชแพง และหลอกเปิดภัยพิบัติปลอมทั้งที่ไม่มีจริง เล็งขอ "ก.พ." อนุมัติตำแหน่งพิเศษเข้ากรุกว่า 10 เก้าอี้
รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบและพบความผิดปกติในการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ที่แพงเกินจริงในพื้นที่หลายจังหวัดนั้น ซึ่ง สตง.ได้ชี้มูลความผิดทางแพ่งกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในหลายจังหวัดแล้ว เนื่องจากทำให้รัฐเกิดความเสียหาย โดยงบประมาณการจัดซื้อเป็นงบภัยพิบัติ มีการจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช มีการเปิดภัย แต่กลับไม่มีภัยเกิดขึ้นจริง และมีการใช้เงิน โดยบางจังหวัดใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงถึงพันล้านบาท ทั้งนี้การจัดซื้อดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2554-2555 ที่จังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 22 จังหวัด
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป สตง.จะส่งข้อมูลไปให้ ป.ป.ช. ซึ่งบางกรณี ป.ป.ช.อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการแก้ข้อกล่าวหา จากนั้นจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เมื่อมีการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จึงจะส่งเรื่องมาที่ผู้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อลงโทษทางวินัยร้ายแรง เช่น ให้ออก หรือไล่ออก ภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า ระหว่างกระบวนการสอบ และรอการลงโทษ กระทรวงมหาดไทย ได้ขอตำแหน่งในอัตราพิเศษจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อรองรับให้ย้ายกลุ่มคนที่จะถูกลงโทษทางวินัยก่อน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนี้ ประมาณ 10 กว่าคน ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ เข้ามาประจำกระทรวง ดังนั้นเร็ว ๆ นี้จะมีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด แทนตำแหน่งที่ว่าง และสลับหมุนในระดับผู้บริหารระดับสูง (ซี 10 ) เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อีกเป็นลอตใหญ่.


"ประยุทธ์"แจงกระบวนการยิ่งลักษณ์

บิ๊กตู่ แจงเรื่อง "ยิ่งลักษณ์"....
"พล.อ.ประยุทธ์" ลั่น ไม่ลงทุน ขั้นต้องใช้ประเทศทั้งประเทศ ประชาชนทั้งประเทศมาต่อสู้ เพื่อไล่ล่าใคร อย่าลงทุนกันมากขนาดนั้นเลย ไม่ได้ต้องการไปไล่ล่าใครเป็นกรณีพิเศษ แจง "ยิ่งลักษณ์"ไม่เคยติดต่อมา ไม่มีการติดต่อใดๆ ถาม"เขาจะติดต่อมาเรื่องอะไร"ไม่มีการโทรศัพท์มาพูดคุยหรือติดต่ออะไรมาทั้งนั้น โยนดูกม.ให้"ยิ่งลักษณ์"ไปต่างประเทศได้มั้ย ต้องถามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ถามคสช.ถามกม.ว่ามีความผิดแล้วรึยัง คดีถอดถอนไม่ใช่คดีอาญา
โวยให้แยกปรองดองออกจาก ถอดถอน"ปู"อะไรคือปรองดอง อะไรคือคดีความทางกม.ผมบอกแล้วไงว่าเราอย่าลงทุนประเทศทั้งประเทศกันเลย วอนยอมรับกติกา. บอก"ถ้ามันไม่ผิดก็คือไม่ผิด จะไปสั่งอะไรเขาได้ ผมไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ไปไล่ล่าฆ่าฟันใครตั้งขึ้นมาแทนสภาฯเพราะมีกม.อีกมากที่ต้องพิจารณา" ...เตือนใครก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่ใช่แค่คดีการถอดถอน แต่ทุกคณะจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เปรยมีอัยการศึก/ เผยไม่ห่วง สถานการณ์ หลังถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ทุกอย่างเป็นตามขั้นตอนกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความวุ่นวายขึ้นภายหลังที่สนช.มีมติถอดถอด นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ห่วง ทุกคนต้องเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกติกาและกฎหมาย
"อย่าไปเขียนว่าเป็นการไปไล่ล่าใคร อย่าลงทุนกันมากขนาดนั้นเลย ไม่ได้ต้องการไปไล่ล่าใครเป็นกรณีพิเศษ แล้วต้องใช้ประเทศทั้งประเทศ หรือประชาชนทั้งประเทศมาต่อสู้กันนั้น ผมว่ามันไม่ใช่ ผมคงไม่ไปลงทุนขนาดนั้น ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย กติกาและกฎหมายว่าอย่างไร ถ้ามันทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้อะไรทำได้ก็ทำได้"
เมื่อถามว่านางสาวยิ่งลักษณ์ได้มีการติดต่อมาบ้างหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีการติดต่อ เขาจะติดต่อมาเรื่องอะไร ยืนยันว่าไม่มีการโทรศัพท์มาพูดคุยหรือติดต่ออะไรมาทั้งนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากช่วงนี้นางสาวยิ่งลักษณ์จะขออนุญาต คสช.เพื่อเดินทางไปต่างประเทศทำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามกระบวนการยุติธรรมเขาก่อนว่าจะว่าอย่างไร ปกติการจะห้ามคนเดินทางไปไหนมาไหนต้องใช้กฎหมายไม่ใช่อะไรก็จะถาม คสช.ฝ่ายเดียว วันนี้ต้องถามว่าฝ่ายกฎหมายว่าอย่างไร มีความผิดแล้วหรือยัง
เมื่อถามต่อว่า หากขั้นตอนของกฎหมายไม่มีข้อบัญญัติห้าม ก็มีสิทธิที่จะเดินทางไปต่างประเทศใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้ายังไม่มีการห้ามมาก็ต้องมาดูว่าวันนี้ยังอยู่ในกระบวนการการต่อสู้หรือเปล่า
วันนี้ในเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่งเป็นเรื่องของคดีทางการเมือง ซึ่งก็เหมือนทุกครั้ง ในส่วนคดีการถอดถอนมันไม่ได้มีคดีอาญาไม่ใช่หรือ
เมื่อถามว่า หากมองภาพกว้างของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการปรองดองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่กระทบ "ผมบอกแล้วว่าให้แยกเรื่องออกจากกันว่าอะไรคือการสร้างความปรองดอง อะไรคือคดีความทางกฎหมาย
" ผมบอกแล้วไงว่าเราอย่าลงทุนประเทศทั้งประเทศกันเลย บางอย่างขอให้เป็นไปตามกระบวนการต่อสู้ ซึ่งทุกคนก็ต้องยอมรับในกติกา ถ้าทุกคนไม่ยอมรับกติกาทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม กลับไปที่เก่า
ผมเคยบอกแล้วว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรให้เกิดปัญหา ไม่มีเรื่องเกิดขึ้นก็จะไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการ แต่เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้นมา ทุกอย่างก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ ทุกคนก็ต้องเคารพเมื่อตัดสินอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น วันนี้ไม่มีสภา มีแต่ สนช.และสปช.ซึ่ง สนช.ก็ต้องทำงานแทนสภา
ก่อนหน้านี้ก็ใช่สภาเป็นที่ถอดถอนไม่ใช่หรือ ถ้าจะบอกว่าสภานี้ไม่ได้รับการเลือกตั้งมา แต่ สนช. เป็นของรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลในวาระพิเศษ ทำหน้าที่แทนรัฐบาลจริง เมื่อแต่งตั้ง สนช.ขึ้นมา เขาก็ต้องทำงานและสมาชิกที่อยู่ใน สนช.ก็ไม่ใช่พวกผม ไม่ได้คัดมาเพราะพวกผมแต่คัดมาด้วยคุณสมบัติและความเหมาะสม เพียงแต่ต้องมีทหารและข้าราชการอื่นๆ เข้ามาด้วยและการตัดสินก็เป็นไปตามกระบวนการและวิจารณญานของเขา ขึ้นอยู่กับการชี้แจงและการตอบคำถาม ผมออกมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
"ถ้ามันไม่ผิดก็คือไม่ผิด จะไปสั่งอะไรเขาได้ ผมไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ไปไล่ล่า ฆ่าฟันใคร เพียงแต่ตั้งขึ้นมาเพื่อแทนสภาเพราะยังมีกฎหมายอีกมากที่ริผ่านการพิจารณา"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเท็จจริงอย่างไรเพราะขณะนี้มีกระแสข่าวว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีการใช้กฎอัยการศึกเข้าไปดำเนินการ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่ใช่เช่นนั้น เพียงแต่ไม่ว่าใครทั้งนั้นจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้นงันนี้เราต้องการความสงบสุขเรียบร้อย ประชาชนก็เรียกร้องว่าขอให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ดังนั้นไม่ว่าใครก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องคดีการถอดถอนเท่านั้น ทุกคณะจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม"