PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ลักยิ้ม แก้มบุ๋ม กลับมาแล้ว....

ลักยิ้ม แก้มบุ๋ม กลับมาแล้ว....
บิ๊กโด่ง พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เคยได้รับฉายา ผบทบ.แก้มบุ๋ม ...ยังพอมีรอยยิ้ม พร้อมลักยิ้มแก้มบุ๋ม ให้เห็นได้บ้าง ระยะหนึ่ง หลัง ผลสอบ ทบ. และกห. ไม่พบทุจริต แถม ป๋าเปรม การันตี ว่า"โด่งเป็นคนดี"....แม้ว่า ตอนนึ้ ต้องรอลุ้นผลสอบ"ราชภักดิ์" ในส่วนของ สตง.และปปท. ของกระทรวงยุติธรรม ที่ บิ๊กต๊อก พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ดูแลอยู่ ปลายมค.นี้....วันนี้ บิ๊กโด่ง ไม่หนีสื่อ หยุดรอ เมื่อสื่อ สวัสดี ทักทาย และยิงคำถาม

นายกฯ ลั่นเลือกตั้งปี60 แม้ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ

นายกฯ ลั่นเลือกตั้งปี60 แม้ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ แต่ถ้าเลือกตั้งแล้ว ยิงกัน หรือไม่ยอมรับ ก็แก้กันเอง ผมไม่ออกไปปราบม็อบ แน่ คนไทยด้วยกัน
พลเอกประยุทธ์ นายกฯ และหัวหน้า คสช. ยืนยันว่า แม้ ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็จะทำให้มีการเลือกตั้งในปี2560 ให้ได้ ยึดตามโรดแมพของผม แต่ไม่บอกว่าใช้รธน.ที่เขียนเอง หรือแก้รธน.ชั่วคราว57 เช่น"มีชัย"พูด " เรื่องของผม" ถ้ารธน.ไม่ประชามติ จะทำยังไง แต่จะทำให้มีเลือกตั้งได้ตามโรดแมพ ปี60 ไม่วิจารณ์"มีชัย"จะแก้รธน.ชั่วคราว57 มาใช้แทน เผยอยากให้ร่างรธน.ผ่าน เพื่ออนาคตประเทศไทย และพวกเธอทุกคน แต่ถ้่าไม่ผ่านปี60ก็อยู่กันเองแล้วกัน ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ ไม่อยากบอกก่อนว่า ผมจะทำไง เดี๋ยว ร่างรธน.ไม่ผ่าน
" ถ้ารธน.ไม่ผ่านปี60ก็อยู่กันเองแล้วกัน ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ หรือถ้าเลือกตั้งแล้วยิงกันอีก ก็ไปแก้กันเองแล้วกัน .... ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ เป็นรัฐล้มเหลวแน่ เช่นที่ผ่านมาเพราะรัฐล้มเหลว บริหารไม่ได้ เบิกงบไม่ได้ ไม่อยากเข้ามา ไม่อยากมีอำนาจ แต่เพราะ ผมแก้ได้คนเดียว
เมิ่อถามว่า หากเลือกตั้ง60แล้ว บางกลุ่มไม่ยอมรับผลเลือกตั้งจะทำยังไง นายกฯ กล่าวว่า "ก็ไปแก้กันเอง ผมคงไม่ไปปราบใครอยู่แล้ว คนไทยด้วยกันทั้งนั้น"
ประชด เตรียมรธน.แค่3มาตรา คือ ให้มีเลือกตั้ง-สิทธิมนุษยชน-ปชต.เสรีภาพไร้ขีดจำกัด พอแล้ว ปัดตอบเตรียมไว้ร่างรธน.ไว้50มาตรา จริงหริอเปล่า เผย รธน.เตรียมไว้ไม่ยาก อันไหนมีอยู่แล้ว อันไหนไม่มีก็เติมเข้าไป แต่ต้องนำไปสู่การปฏิรูป ประชดมี2-3มาตราพอ

"ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น"

วันอังคารที่ 26 มกราคม 2559 เวลา 16.00 น.
บทความจากคุณ สนธิ ลิ้มทองกุล
เจ้าคุณเสนาะ (นายเสนาะ - ธัมมชโย - สมเด็จช่วง (รักษาการสมเด็จพระสังฆราช) - วิษณุ เครืองาม - สมเด็จเกี่ยว - มหาเถรสมาคม - ตุ๊กตาลูกเทพ)
"ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น"
นายเสนาะ (เจ้าคุณเสนาะ) ปาราชิก มาตั้งแต่โดนจับได้ ว่าทุจริต และโกงเงินไป 67 ล้านบาท แต่ก็ได้มีการช่วยเหลือกัน เพียงแค่ปลดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ทั้งๆที่การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นปาราชิก

นายเสนาะ เป็นพระมือขวา คนสนิทของสมเด็จเกี่ยว - สมเด็จพระพุฒาจารย์ - อดีตรักษาการณ์สมเด็จพระสังฆราช ที่มรณภาพไปแล้ว
นายเสนาะ สมัยที่ยังเป็น เจ้าคุณเสนาะ มีสมณะศักดิ์ เป็นพระเถระชั้นพรหม ซึ่งชั้นต่อไปก็จะเป็นสมเด็จ กลายเป็นพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในมหาเถระสมาคมได้
สมเด็จเกี่ยว ได้ส่งนายเสนาะ ไปรักษาการเจ้าอาวาส วัดโสธรฯ นายเสนาะขณะนั้น ก็เอาสีกาคนหนึ่ง ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับตนเองเป็นพิเศษ เข้าไปดูแลผลประโยชน์ของวัดโสธรฯ จนมีเรื่องมีราวกันขึ้น เป็นที่ฉาวโฉ่ มีการเอาเงินที่ประชาชนบริจาคให้วัดโสธรฯ เข้าพกเข้าห่อ แต่เรื่องราวก็เงียบหายไป เพราะนายเสนาะ เป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกับสมเด็จเกี่ยว ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ ธัมมชโย และลัทธิธรรมกายมาโดยตลอด
นายเสนาะ ถูกจับได้ว่าทุจริต เงิน 67 ล้านบาท จากการที่ไปเบิกเงิน 67 ล้านบาท เพื่อมาซื้อโต๊ะหมู่บูชา เอาไปแจกวัดต่างๆทั่วประเทศ ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงแล้ว มีประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคโต๊ะหมู่บูชาให้จนครบจำนวน
การทุจริตโต๊ะหมู่บูชา จากนายเสนาะ ไม่ได้ต่างกว่าการทุจริตในเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งมีการอ้างว่า ได้ซื้อต้นปาล์มมาต้นละ 3 แสนบาท แต่ก็มีผู้บริจาคต้นปาล์มออกมายืนยันว่า ต้นปาล์มทุกต้นในอุทยานราชภักดิ์นั้น มีผู้บริจาคให้ฟรี ไม่ต้องเสียเงิน เสียแค่ค่าขนส่งเท่านั้น
การปลดนายเสนาะออกจากเจ้าอาวาส วัดสระเกศ นั้น มหาเถระสมาคม ไม่มีทางเลือกเพราะผู้ตรวจพบการทุจริตครั้งนี้คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถึงอย่างนั้นเถอะ แม้แต่ความผิดขนาดนี้ ซึ่งถือว่าต้องปาราชิกแล้ว ก็ยังลงโทษสถานเบา เพียงแค่ให้ปลดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเท่านั้น
มิหนำซ้ำ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์ ให้ท้ายนายเสนาะอีกว่า ไม่ผิด เพราะได้คืนเงินให้วัดไปเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับที่สมเด็จช่วง ฯบอกว่า ธัมชโย ไม่ผิด เพราะได้คืนเงินที่ยักยอกมาให้หมดแล้ว
สาธุชนที่รู้เรื่องนี้ ติดตามข่าวเรื่องนี้ และศึกษาเรื่องนี้ ก็ย่อมมีความท้ออก ท้อใจ ที่วันนี้ชาติบ้านเมือง ไม่มีอะไรเหลือ จะให้เป็นที่พึงอย่างถูกต้องเป็นธรรมอีกต่อไปแล้ว
เมื่อโรงเรียนก็โกง วัดก็โกง ครูอาจารย์ก็โกง พระมหาเถระชั้นสูงก็โกง แล้วยังมีคนระดับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ชั้นสมเด็จ - รักษาการสมเด็จพระสังฆราช ตลอดไปจนถึงรองนายรัฐมนตรี ที่เชี่ยวชาญและรู้เรื่องทางกฎหมาย ยังร่วมให้ท้าย เห็นดีเห็นชอบกับพระที่ทำผิดศีลข้อ 2 เรื่องเอาทรัพย์สมบัติที่ไม่ได้เป็นของตัวเอง (อทินนาทานา เวรมณีสิกขาปทัง สมาทิยามิ) มาเป็นของตัวเอง
ทหารที่มีเกียรติ์ ยศ พล.ต. -พล.ท. -พล.อ. ก็โกงจากโครงการอุทยานราชภักดิ์
ทั้งหมดนี้แล้ว เราจะมาโทษความด้อยปัญญาของสังคมไทยได้อย่างไรว่า ป่วยทางจิต เอาตุ๊กตายาง มาบูชา แล้วเรียกว่า ตุ๊กตาลูกเทพถ้ามองตามหลัก ปฎิจจสมุปบาท (อิทัปปัจจยตา) คนที่มีธรรมในใจ ก็ต้องถามตัวเองว่า ตุ๊กตาลูกเทพนี้ พ่อแม่มาจากไหน ถ้าพ่อแม่มาจากเทวดาชั้นพรหม ก็ต้องไปถามเรื่องตำนานเทพพรหมอีกครั้ง ว่า เทวดาชั้นพรหมนั้น เป็นเทวดาที่ไม่มีเพศ หรือเป็นเพศชายทั้งหมด แล้วตุ๊กตาลูกเทพ ที่คนโง่ คลั่งกันนี้ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
และทำไมคนไทยมันถึงโง่ จนกระทั่งไม่รู้ความลึกของความโง่ ที่วัดไม่ถึงจริงๆว่า มันโง่กันขนาดนี้ได้อย่างไร รวมไปถึงบรรดาพระสงฆ์องค์เจ้า ที่วิปริตหนัก เข้ามาทำพิธีปลุกเสกตุ๊กตาลูกเทพ เพื่อให้ดูขลัง จะได้เอาไปขายในเชิงพาณิชย์ ให้ได้ราคาสูง โดยอ้างว่าปลุกเสกมาแล้ว
พระสงฆ์องค์เจ้า (ผมแทบไม่อยากเรียกว่าพระ เสียด้วยซ้ำ) ก็วิปริตไม่ใช้ธรรมพิจารณา ใช้ความโง่ ใช้กิเลส เข้ามาทำสังฆกรรม ที่ผิดๆ มาสวดมนต์คาถา เพื่อปลุกเสกตุ๊กตายางเหล่านี้
เมื่อมองเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว มองไปที่นายเสนาะ (เจ้าคุณเสนาะ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ)
มองไปที่ธัมมชโย (คนที่สร้างจรวดจำลอง และค้อนทองจำลอง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนบริจาคเงินเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ - และบอกว่า ผู้ใดเสียเงินเสียทองทำบุญ มีระดับชั้นของสวรรค์เป็นอัตราส่วนกับระดับเงินทำบุญบริจาคที่จ่ายไป - ยิ่งทำบุญมาก ยิ่งขึ้นสวรรค์ได้มาก - และยังบอกว่าตัวเองได้ไปพบกับสตีฟ จ๊อบ และได้ทำบุญตักบาตรให้พระพุทธเจ้า ฯลฯ)
มองไปที่สมเด็จเกี่ยว (สมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มรณภาพไปแล้ว ที่ให้การสนับสนุน ธัมมชโย และนายเสนาะ ตลอดจนสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ที่ออกมาปกป้องธัมมชโย)
เมื่อมองไปที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่เป็นต้นเหตุและตัวการตั้งสมเด็จเกี่ยวฯ ขึ้นมา เป็นรักษาการณ์สมเด็จพระสังฆราช แทนสมเด็จญาณสังวรฯ
เมื่อมองไปที่ อุทยานราชภักดิ์ ที่โกงกินกัน และบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายออกมาช่วยกันปกป้องว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ
เช่นเดียวกับที่ มหาเถระสมาคม ตลอดจนนายวิษณุ เครืองาม ที่บอกว่าธัมมชโย และนายเสนาะ ไม่ผิด เพราะคืนเงินแล้ว
เมื่อมองไปที่ ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ที่ต้องมากราบนักเรียนชั้น ม. 6
ฯลฯ
เพียงแค่นี้สังคมไทย ไม่ใช่เป็นสังคมที่ไม่สบายอย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็นสังคมที่นอกจากจะด้อยปัญญาแล้ว ยังบ้าอีกต่างหาก
ก็ไม่น่าประหลาดใจใดๆทั้งสิ้น ที่จู่ๆคนบ้า และคนป่วย เอาตุ๊กตายางมาบูชา และบอกว่าเป็นตุ๊กตาลูกเทพ
ก็คงอีกไม่นานหรอก ก็อาจจะมีคนบ้าเอารูปศิวะลึงค์ ของพระศิวะมาบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล
สังคมไทยไม่มีที่พึ่งพาทางใจจริงๆ
คนอย่างนายเสนาะ (พระชั้นพรหม) เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ และสอนหลักปริยัติ ให้กับพระภิกษุสงฆ์ ยังตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้งๆที่ ในหลักพุทธศาสนาแล้ว อย่าว่าแต่พระเลย คนที่ฆ่าตัวตายนั้น จะถูกปิดประตูสวรรค์ และต้องลงนรกลูกเดียว ยิ่งเป็นพระที่ฆ่าตัวตาย ยิ่งเลวกว่าคนที่เป็นฆราวาสฆ่าตัวตายเสียอีก เพราะตัวเองต้องรู้ ยิ่งสอนหลักปริยัติแล้ว ต้องรู้ว่ากรรมของการฆ่าตัวตายนั้นมันคืออะไร
ตัวเองเป็นถึงพระชั้นพรหม สอนหนังสือพระทางปริยัติ ตัวเองยังไม่เข้าใจ และจะไปตำหนิพวกโง่ๆ ที่มันเอาตุ๊กตายางมาบูชาเป็นเทพเป็นเจ้าได้อย่างไร
ยิ่งมองเรื่องราวต่างๆ ยิ่งใช้ธรรมพิจารณา แต่ละเรื่องแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่า มหาเถระสมาคม คือ สมาคมแห่งการรวมกิเลส
คนที่นั่งอยู่ในนั้น ล้วนแล้วแต่ได้สมณะศักดิ์มา ด้วยการใช้กิเลสเกือบทั้งสิ้น
ยิ่งมองมหาเถระสมาคมวันนี้ ทำให้เห็นว่า ไม่ได้ต่างกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลย
มองพระชั้นราช - ชั้นเทพ - ชั้นพรหม - ชั้นสมเด็จ มองแล้ว เส้นทางที่จะขึ้นสมณะศักดิ์ แต่ละขั้นๆนั้น เป็นเส้นทางที่ไม่ต่างไปกว่า พ.ต.อ. ขึ้น พล.ต.ต. - พล.ต.ต. ขึ้น พล.ต.ท. - พล.ต.ท. ขึ้น พล.ต.อ. ที่ถ้าไม่ใช้กิเลส เพื่อผลักดันตัวเองแล้ว ตัวเองก็จะไม่มีวันที่จะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่สมณะศักดิ์ กับพัดยศ ก็เช่นกัน

ก็เลยไม่ต้องประหลาดใจว่าทำไมพระดีๆ อย่างท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ปราชญ์ทางศาสนาพุทธแห่งประเทศไทย มหานิกาย ทำไมถึงไม่ได้ขึ้นสมเด็จซักที หรือพระพุทธทาส ซึ่งเป็นมหานิกาย เหมือนกัน ก็ยังเป็นพระพุทธทาสเหมือนเดิม ไม่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในมหาเถระสมาคม

ก็ไม่ได้ต่างกับตำรวจดีๆ ที่ซื่อสัตย์ กล้าหาญ มีคุณธรรม ไม่กลัวอำนาจอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น ก็จะไม่ได้รับการแต่งตั้ง ให้มีอำนาจสูงขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉันท์ใดฉันท์นั้น
ด้วยเหตุนี้ มหาเถระสมาคมวันนี้ ไม่ใช่เป็นที่รวมสงฆ์ที่มีประสบการณ์ ในทางธรรม แต่กลับเป็นที่รวมสงฆ์ส่วนใหญ่ ที่หมกมุ่น และใช้กิเลส เพื่อทำให้ตนเองก้าวขึ้นมาอยู่ในมหาเถระสมาคม
คนอย่างท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ (ท่านประยุทธ์ ปยุตโต) หรือคนอย่างท่านพุทธทาส หรือคนอย่างท่านปัญญานันทภิกขุ ฯลฯ คนพวกนี้จะไม่มีวันที่จะได้เข้าไปบริหารจัดการกับสงฆ์ เพราะคนพวกนี้เป็นคนที่ใช้ธรรมนำหน้า สำหรับคนพวกนี้แล้ว ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าธรรม
เพราะธรรมเป็นคำตอบ
เพราะธรรมเป็นสรณะ
สองสามวันที่ผ่านมานี้ มีพระ 2 องค์ที่มรณภาพไป องค์หนึ่ง ก็คือ นายเสนาะ ที่ฆ่าตัวตายจะด้วยสำนึกผิด หรือจะด้วยอะไรก็ตามแต่ นายเสนาะเป็นตัวอย่างรอยด่างทางวงการสงฆ์ ที่เมื่อดูให้ดีๆแล้ว สามารถจะเห็นเครือข่ายของสงฆ์ชั่วๆ ที่เอาหน้ากากความดีมาใส่ แล้วหลอกตัวเองว่า ตัวเองเป็นสงฆ์ที่ดี
อีกองค์หนึ่งที่เพิ่งมรณภาพไป คือหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ซึ่งการมรณภาพของท่าน แตกต่างกับการฆ่าตัวตายของนายเสนาะ ราวฟ้ากับดิน
หลวงพ่อจรัญ เป็นพระอริยะสงฆ์ เคยเป็นพระธุดงค์มาก่อน เมื่อมีวัดเป็นของตัวเอง ก็สอนให้พุทธศาสนิกชน ได้เข้าใจหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้ประชาชนเน้นการภาวนาสมาธิ การปฏิบัติธรรม เน้นไปที่การฝึกจิต ท่านเคยบริจาคเงินก้อนใหญ่ ให้กับการกุศล เงินที่ญาติโยมมีจิตศรัทธามอบให้ท่าน ท่านเอาไปทำบุญทำกุศลทั้งหมด
หรือหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน ที่เอาเงินที่ประชาชนมีศรัทธามาร่วมทำบุญ ซื้อทองคำเพื่อไปช่วยชาติ ในยามที่ชาติวิกฤติ และยังมีอีกหลายองค์ พระ 2 กลุ่มนี้ ช่างต่างกันราวกับสวรรค์ และนรก กลุ่มหนึ่ง ยึดถือธรรมพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ และปฏิบัติด้วยศีลที่บริสุทธิ์ อีกกลุ่มหนึ่ง ยึดกิเลสเป็นสรณะ และใส่หน้ากากธรรมเอาไว้หลอกชาวบ้าน
หลวงตามหาบัว ท่านเคยพูดกับผมว่า พระมหากษัตริย์อ่อนแอ ศาสนาก็อ่อนแอ
ศาสนาอ่อนแอ พระมหากษัตริย์ก็อ่อนแอ
หลายปีที่ผ่านมานี้ พระมหากษัตริย์สุขภาพพลานามัยไม่สมบูรณ์ เจ็บไข้ได้ป่วยตลอด ศาสนาก็เลยพลอยอ่อนแอตาม
และถ้าพวกเรายังไม่เข้ามาร่วมกันต่อสู้ เพื่อทำให้ศาสนานั้นเข้มแข็ง ในที่สุดแล้ว ก็จะเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วันนี้ จริงๆแล้วศาสนาไม่ได้อ่อนแอ แต่เป็นวิกฤติของสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่น่าเสียดาย ควรจะเป็นคนที่มาสั่งสอนสังคมไทย ให้รู้จักบาป บุญ คุณ ชั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับพระมหาเถระ
แต่พวกเขาส่วนใหญ่ กลับละเลย และส่งเสริม ให้พระละทิ้งธรรม และยึดกิเลส เป็นตัวตั้ง วันนี้สาธุชนไม่ต้องเข้าวัดทำบุญกับพระก็ได้ ถ้าเรามีพระที่ไม่มีศีล ซึ่งก็จะไม่มีธรรม เราจะไปเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ทำไม สู้เรารักษาจิต รักษาใจ ของเรา ให้นิ่ง ให้สงบ ยึดถือพระธรรมคำสั่งสอนเป็นสรณะ และพยายามปฏิบัติตนให้เป็นไปในทิศทางที่พระธรรมคำสั่งสอนนำทางเราให้ดีที่สุด
ทุกวงการวันนี้ เราพึ่งไม่ได้เลย แม้แต่วงการเดียว
มันวิปริต และมันบ้าไปหมด
พระไม่เป็นพระ
ทหารไม่เป็นทหาร
ครูไม่เป็นครู
นักเรียนไม่เป็นนักเรียน
มันเป็นบ้ากันไปหมดแล้ว
รีบดูแลตัวเอง รักษาจิตใจตัวเองให้นิ่ง ให้สงบ จะเป็นทิศทางที่ดีที่สุด...
26 มกราคม 2559
สนธิ ลิ้มทองกุล
เเล้วพบกันในรายการ มองโลก มองเรา กับสนธิ เร็วๆนี้ ...

กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก


กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก
บทความนี้เป็นตอนที่ 3 ในซีรีส์ “ทุนกองทัพไทย”   บทความ2 ตอนแรกอธิบายถึงกรรมสิทธิ์“ทุน”ของกองทัพไทยในธุรกิจต่างๆ  กล่าวคือธนาคารพาณิชย์  ฟรีทีวี  และสถานีวิทยุ เพื่อชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยคือกลุ่มทุนที่ผูกขาดในบางธุรกิจมานานกว่าครี่งศตวรรษ[1] [2]  ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ    เพราะกองทัพในประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่นไม่ถือหุ้นบริษัทและไม่ลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ
บทความตอนนี้อธิบายเรื่องการบริหารจัดการที่ดินในครอบครองของกองทัพบก 
ที่ดินในครอบครองของกองทัพบก
กองทัพบกมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ460,000ไร่   แต่ที่มากกว่านั้นมหาศาลคือที่ดินที่กองทัพบกครอบครองโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินประเภทหลังมีมากกว่า 4ล้านไร่ซึ่งจำแนกได้เป็นที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน   ที่ดินที่เช่าจากหน่วยงานอื่นหรือเอกชน  รวมทุกประเภทแล้วกองทัพบกมีที่ดินอยู่ในครอบครองประมาณ 5 ล้านไร่ [3]
เพื่อให้เข้าใจว่ากองทัพบกครอบครองที่ดินมากแค่ไหนก็ลองเปรียบเทียบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้  การรถไฟฯมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ 230,000 ไร่   เทียบแล้วเป็นครึ่งหนี่งของกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพบก   เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินในครอบครองทั้งหมดของกองทัพบกแล้วการรถไฟฯมีที่ดินไม่ถึง 1 ใน 20 หรือ 5% ของกองทัพบก
ที่ดินในครอบครองของกองทัพบกกระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ   ภาคตะวันตกมีที่ดินในครอบครองของกองทัพบกมากที่สุดคือมากกว่า 3 ล้านไร่ และกระจุกอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี
กองทัพบกคือแลนลอร์ด
ไม่ปรากฎชัดเจนว่ากองทัพบกมีที่ดินแปลงว่างกี่ไร่  ก่อนรัฐประหาร 2549 รัฐบาลทักษิณขอข้อมูล"ที่ดินแปลงว่าง"ของหน่วยราชการต่างๆเพื่อนำมาจัดสรรให้ประชาชนทำกินหน่วยราชการหลายแห่งส่งข้อมูลที่แปลงว่างให้รัฐบาลทักษิณ  กล่าวคือ  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.ให้ข้อมูลที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมที่ได้รับมอบจากกรมป่าไม้หรือพื้นที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวร) กรมป่าไม้ (ให้ข้อมูลที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่มีผู้ครอบครองแล้ว) กรมการปกครองแจ้งว่าไม่มีที่ดินแปลงว่าง ส่วนกระทรวงกลาโหมแจ้งว่าให้ข้อมูลไม่ได้ผู้แทนกลาโหมขอไปตรวจสอบก่อน [4]
อย่างไรก็ดี  กระทรวงกลาโหมมีกฎระเบียบการให้เช่าที่ดินชัดเจนอย่างน้อยก็ตั้งแต่พศ. 2509 ซึ่งจอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นผบ.ทบ. เช่น  มีกฎระเบียบว่าที่ดินกองทัพบกนอกเขตพระนครธนบุรีและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศให้เช่าเพื่อทำการค้าได้แต่ห้ามการรับช่วงเช่าต่อ[5] หลังมี พรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ที่ดินกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกก็จัดว่าเป็นที่ดินราชพัสดุประเภทหนึ่ง  และกฎกระทรวงการคลังอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมได้ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด[6]
หมู่บ้านจัดสรรของกองทัพบก
กองทัพภาคที่ 2 ใช้ที่ดินในครอบครองที่จังหวัดนครราชสีมาทำหมู่บ้านจัดสรรให้แก่ทหารในสังกัดตั้งแต่ พ.ศ. 2545พร้อมแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือที่เรียกว่า“บ้านธนารักษ์ทบ.” ปัจจุบันโครงการที่นครราชสีมามีพื้นที่ทั้งหมด 280 ไร่ จัดสรรเป็นแปลงละ 100 ตารางวา [7]
การจัดสรรที่ดินดังกล่าวไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง (ในทีนี้คือบ้าน)   เจ้าของบ้านทำสัญญาเช่ากับธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาโครงการแรกสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปีแต่โครงการหลังๆขยายระยะสัญญาเป็นไม่เกิน 30 ปีให้เท่าระยะเวลาเงินกู้   หลังจากนั้นต่อสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปีไม่กำหนดครั้งในการต่อสัญญา  และไม่ส่งพื้นที่คืนกรมธนารักษ์ค่าเช่าที่ดินก็ต่ำมากเพียง 300 บาทในปีแรกๆ   ปีหลังๆก็ยังราคาไม่ถึง 1,000 บาท ที่สำคัญคือให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ทายาทได้โดยไม่มีเงื่อนไขว่าทายาทต้องเป็นทหารด้วย
ฉันคิดว่ามีที่ดินในครอบครองของกองทัพบกในจังหวัดอื่นที่โดนจัดสรรด้วย   เพราะฉันพบประกาศโฆษณาขายที่ดินจัดสรรโครงการสวัสดิการกองทัพบกที่จังหวัดปทุมธานี [8] แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าโครงการสวัสดิการดังกล่าวให้กรรมสิทธิ์เจ้าของบ้านนำไปขายต่อได้จริงๆหรือไม่
มีข้อสังเกตว่ามีหน่วยราชการอื่นจัดทำ “บ้านธนารักษ์”ในลักษณะเดียวกับกองทัพบก  คือนำที่ดินรัฐมาทำหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมแล้วขายกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างและเก็บค่าเช่าที่ดิน เช่น กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมชลประทาน กรมสรรพสามิต และจังหวัดนนทบุรี   โครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมเพื่อข้าราชการทำให้เกิดคำถามดังต่อไปนี้
ก) ในเมื่อทหารผู้น้อยได้สิทธิ์ซื้อบ้านในที่ดิน 100 ตารางวา  ผู้เสียภาษีที่มีรายได้เท่าทหารผู้น้อยควรมีสิทธิ์ได้ซื้อบ้านในที่ดินรัฐขนาด 100 ตารางวาเช่นกันหรือไม่?
ข) ถ้ากระทรวงสาธารณสุขอยากนำที่ดินหลังโรงพยาบาลมาทำบ้านจัดสรรให้แก่ข้าราชการสาธารณสุขบ้าง  ผู้เสียภาษีจะยอมรับได้ไหม?
ค) ถ้ากรมป่าไม้อยากนำที่ดินป่าสงวนที่เสื่อมโทรมแล้วมาทำบ้านจัดสรรให้ข้าราชการกรมป่าไม้บ้าง  ผู้เสียภาษีจะยอมรับได้ไหม?
ง) นโยบายนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่ข้าราชการเกินไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่จัดสรรให้แก่ประชาชนที่ยากจน?
สนามกีฬา สนามม้าและสนามกอล์ฟ
กองทัพบกมี“สนามกีฬากองทัพบก” ฉันเข้าใจว่าการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่สนามกีฬากองทัพบกช่วยยกระดับชื่อเสียงของประเทศ แต่ฉันก็ไม่เข้าใจว่าการยกระดับชื่อเสียงของประเทศช่วยยกระดับศักยภาพในการป้องกันประเทศของกองทัพบกอย่างไร   ในขณะเดียวกัน“สนามกีฬาแห่งชาติ”ไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเองและต้องจ่ายค่าเช่าให้แลนลอร์ด(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)ถ้ากระทรวงกลาโหมยกสนามกีฬากองทัพบกให้เป็นสนามกีฬาแห่งชาติและเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมพลศึกษาก็จะช่วยลดต้นทุนการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยไปสู่การแข่งขันในระดับโลก
ส่วนสนามกอล์ฟและสนามม้าของกองทัพบกก็ควรยกกรรมสิทธิ์ให้ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ เช่น ปรับพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ   เพราะการพัฒนาที่ดินไม่ควรเป็นงานของกองทัพโรงเรียนนายร้อยจปร.ไม่ใช่โรงเรียนผลิตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นโรงเรียนผลิตทหารที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศ นอกจากนี้ยุคนี้ไม่มีชาติไหนขี่ม้ารบกันแล้ว   ไม่ใช่ยุคอัศวินมีไพร่ในสังกัดไม่ใช่ยุคอัศวินใส่ชุดเกราะขี่ม้ารบกัน   ดังนั้นกองทัพบกก็ไม่จำเป็นต้องมีสนามม้าอีกต่อไป  
ฉันขอย้ำว่าบทความนี้อธิบายถึงที่ดินในครอบครองของกองทัพบกเท่านั้น  ไม่ได้ครอบคลุมถึงที่ดินในครอบครองของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ
 
[3] สถิติจากผลงานวิจัยที่“วิทยาลัยการทัพบก”

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)

ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สื่อมวลชนบางสังกัดและนักวิชาการบางกลุ่มร่วมกันสร้างวาทกรรม “ทุนสามานย์” เพื่อโจมตีกลุ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคมของอดีตนายกทักษิณฯ ว่าเป็นกลุ่มทุนผูกขาดที่ชั่วช้าสามานย์ราวปิศาจ วาทกรรมนี้ พยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพไทยคือกลุ่มทุนที่ผูกขาดหลายกิจการมา 55 ปี ถ้าเรานิยาม “ทุนสามานย์” ว่าเป็นทุนผูกขาดก็แปลว่ากองทัพไทยเป็นทุนสามานย์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ดังนั้นถ้าเปรียบทุนสามานย์ว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่าที่สิงประเทศมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงประเทศมาไม่ถึง 6 ปี
ทุนกองทัพไทยคือเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ
กองทัพบกภายใต้การนาของจอมพลสฤษดิ์ในตาแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเริ่มประกอบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศตั้งแต่ปีพศ. 2500 กล่าวคือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจถ่ายทอดรายการทางโทรทัศน์ ธุรกิจกระจายเสียงทางวิทยุ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการพนัน ส่วนกองทัพอากาศเริ่มธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่ปีพศ. 2502
การขยายกิจการของกองทัพเข้าสู่ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมทุน (Capital accumulation) ภายในกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปีพศ. 2500 กองทัพมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มทุนอื่นๆในไทย ทำให้การป้องกันประเทศกลายเป็นกิจกรรมรองของกองทัพ กิจกรรมหลักของกองทัพคือการทำธุรกิจและทารัฐประหารเพื่อผลประโยชน์จากธุรกิจ ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยคือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยมีรัฐประหารบ่อยจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาวุธไทยต่ำมาก ไทยไม่มีวันกลายเป็นทุนนิยมสากลตราบใดที่ธุรกิจของกองทัพไม่โดนแปรรูปให้เป็นเอกชน การแปรรูปธุรกิจของกองทัพสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ
กองทัพสหรัฐฯไม่ใช่ต้นแบบโมเดลของทุนกองทัพไทย
แม้ว่ากองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากกองทัพสหรัฐฯตั้งแต่สงครามเกาหลีในปี 2493 กองทัพสหรัฐฯไม่ใช่ต้นแบบความเป็นกลุ่มทุนเพราะกองทัพสหรัฐฯไม่ใช่กลุ่มทุน กองทัพสหรัฐฯเกี่ยวข้องกับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆผ่านสัมปทานและการจัดซื้อเหมือนกองทัพในประเทศทุนนิยมสากลอื่นๆเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาวุธ โทรคมนาคม หรือขนส่ง กองทัพในประเทศทุนนิยมสากลไม่ถือหุ้นธนาคารและไม่บริหารธนาคาร ไม่ถือหุ้นและไม่บริหารสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ ไม่บริหารสายการบินพาณิชย์หรือสนามบินพาณิชย์ ไม่บริหารบ่อนพนัน และไม่บริหารอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์
แม้ว่าค่ายทหารในสหรัฐฯบางแห่งมีบริการสันทนาการและสนามกอล์ฟ บริการสันทนาการในค่ายทหารสหรัฐฯ มีลักษณะเดียวกับบริการสันทนาการในป่าสงวนแห่งชาติ คือมีที่ดินให้ตั้งแคมป์กลางแจ้งพร้อมบริการห้องน้ำสาธารณะ หรือบริการบ้านพักเคบินที่เรียบง่าย ค่ายทหารสหรัฐฯไม่มีบริการบ้านพักตากอากาศที่สะดวกสบายพร้อมห้องจัดเลี้ยงเหมือนโรงแรม นอกจากนี้ สหรัฐฯมีสนามกอล์ฟสาธารณะมากมาย มหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาลและเอกชนที่สหรัฐฯจำนวนมากมีสนามกอล์ฟสาธารณะเช่นเดียวกัน ผู้เสียภาษีที่ไม่อยากจ่ายค่าใช้สนามกอล์ฟเอกชนที่ราคาแพงก็ใช้สนามกอล์ฟสาธารณะที่ราคาถูกกว่าได้ แต่ผู้เสียภาษีในไทยมีทางเลือกแค่สนามกอล์ฟเอกชนที่ราคาแพงและสนามกอล์ฟในค่ายทหารเท่านั้น
ดิฉันไม่มีเจตนาสนับสนุนให้ไทยหันมาสร้างสนามกอล์ฟสาธารณะมากมายแบบสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯมีพื้นที่ใหญ่กว่าไทยถึง 20 เท่า ประเด็นคือการแสวงหากำไรจากทรัพยากรที่ดิน กล่าวคือ กองทัพไทยแสวงหากำไรจากที่ดินมากกว่ากองทัพในประเทศทุนนิยมสากล ถ้าจะปฎิรูปกองทัพไทยให้หมดสภาพความเป็นกลุ่มทุนแบบกองทัพในประเทศทุนนิยมสากล ก็ต้องออกกฎหมายกำหนดให้กองทัพโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนคืนให้กรมที่ดินหรือกรมป่าไม้ รวมทั้งโอนกรรมสิทธิ๋ให้สนามกอล์ฟและสนามกีฬาทหารกลายเป็นสนามสาธารณะ
ธนาคารทหารไทยคือฐานเงินทุนของทุนกองทัพไทย
ธนาคารทหารไทยเริ่มดำเนินกิจการในปี 2500 แต่จดทะเบียนเป็นธนาคารในปี 2499 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่นักธุรกิจอเมริกันร่วมกันก่อตั้งหอการค้าอเมริกันในไทยเพื่อสนับสนุนให้บรรษัทข้ามชาติอเมริกันเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกธนาคารทหารไทยขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากแบงค์ชาติและกระทรวงการคลังด้วยเหตุผลว่ากองทัพต้องการมีธนาคารเพือทำธุรกรรมต่างๆของกองทัพรวมทั้งการชำระเงินในการซื้อขายอาวุธ
ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อตั้งธนาคารทหาร กองทัพในประเทศทุนนิยมสากลรวมทั้งสหรัฐฯ ไม่ถือหุ้นธนาคาร ไม่บริหารธนาคาร และใช้บริการธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมรวมทั้งการซื้อขายอาวุธ สถาบันการเงินสำหรับทหารในประเทศทุนนิยมสากลจำกัดอยู่ในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์เหมือนสถาบันการเงินของผู้เสียภาษีในวิชาชีพอื่นๆ แม้แต่องค์การระหว่างประเทศที่ผลักดันระบบทุนนิยมอย่างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็จำกัดสถาบันการเงินเพื่อพนักงานให้อยู่ในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์
สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างจากธนาคารพาณิชย์อย่างไร? สหกรณ์ออมทรัพย์ระดมทุนด้วยเงินฝากจากสมาชิก(หรือผู้ถือหุ้น)และให้สินเชื่อบุคคลแก่ สมาชิก ส่วนธนาคารพาณิชย์ระดมทุนด้วยเงินฝากจากใครก็ได้เพื่อปล่อยสินเชื่อทั้งสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ ความแตกต่างอีกด้านที่สำคัญคือขนาด ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาได้ทั่วประเทศ แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ผูกติดกับองค์กรวิชาชีพในระดับท้องถิ่นจึงเปิดสาขาทั่วประเทศไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ความสามารถในการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มาก การก่อตั้งธนาคารทหารไทยเป็นการสร้างฐานเงินทุนให้แก่กองทัพและธุรกิจส่วนตัวของทหาร
รัฐประหารและการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย
ธนาคารทหารไทยเริ่มดำเนินกิจการในปีที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ปีถัดไปจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้งและกลายเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสฤษดิ์ได้ออกพรบ.การธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจไม่ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดนผูกขาดโดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว พรบ.ดังกล่าวเพิ่งได้รับการยกเลิกเมื่อปีพศ. 2551 นี้เอง [1] แม้พรบ.การธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 โดนยกเลิกแล้ว จานวนธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เคยมากกว่า 20 ตัวเลขนี้ต่ำกว่าในต่างประเทศมาก
ยกตัวอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ประชากรสหรัฐฯคิดเป็น 5 เท่าของประชากรไทย แต่จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯมากกว่า 6,000 [2] คือมากกว่า 300 เท่าของไทย ในบางทศวรรษจำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯมากกว่า 10,000 ด้วยซ้า ต่อให้หักลบความแตกต่างของขนาดพื้นที่สหรัฐฯซึ่งมีพื้นที่ 20 ของไทย จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯก็ยังมากกว่าไทยถึง 280 เท่า ในกรณีญี่ปุ่น ประชากรญี่ปุ่นคิดเป็น 2 เท่าของประชากรไทย แต่จานวนธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นมากกว่า 120 [3] คือมากกว่า 6 เท่าของไทย นอกจากนี้พื้นที่ประเทศญี่ปุ่นก็เล็กกว่าไทยด้วย ที่สาคัญ ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯมีธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นที่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศ
การแปรรูปธนาคารทหารไทยหลังวิกฤตการเงินพศ. 2540
ปัจจุบันกองทัพลดสัดส่วนการถือหุ้นธนาคารทหารไทยเหลือเพียง 2.15% [4] แต่ก็ยังนับว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 6 การลดสัดส่วนถือหุ้นของกองทัพไม่ได้เกิดความตั้งใจของกองทัพ กองทัพไม่เคยต้องการเลิกเป็นเจ้าของหรือเลิกบริหารธนาคารทหารไทย [5]
สัดส่วนการถือหุ้นทีลดลงมาเป็นผลลัพธ์จากปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทย กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพราะการอัดฉีดเงินเพื่ออุ้มธนาคารทหารไทยหลังวิกฤตการเงินพศ. 2540 นอกจากนี้ธนาคารทหารไทยจำเป็นต้องเพิ่มทุนด้วยการขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติ ธนาคารทหารไทยได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก Thai Military Bank เป็น TMB Bank เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อนักลงทุนต่างชาติว่าไม่ใช่ “ธนาคารของทหาร” แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็ยังไม่ใช่เอกชนอยู่ดี ดังนั้นการแปรรูปธนาคารทหารไทยยังไม่แล้วเสร็จตราบใดที่กระทรวงการคลังยังไม่สามารถขายหุ้นให้เอกชน ที่สำคัญ ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้ามกองทัพถือหุ้นธนาคารพาณิชย์และบังคับให้กองทัพขายหุ้นธนาคารทหารไทยให้เอกชนให้หมด กองทัพไทยก็จะคงสภาพความเป็นกลุ่มทุนและการป้องกันประเทศก็จะไม่มีวันเป็นกิจกรรมหลักของกองทัพไทย
ธุรกิจอื่นๆของกองทัพไทย
นอกจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จอมพลสฤษดิ์ได้วางรากฐานการสะสมทุนของกองทัพไว้หลายกิจการ อาทิ สถานีวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก ที่ดินสาธารณะถูกโอนกรรมสิทธิจากกรมป่าไม้ให้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกในยุครัฐบาลสฤษดิ์ เช่น ที่ดินริมทะเลกว่าพันไร่ในอ.สวนสน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพพัฒนาที่ดินบางส่วนให้เป็นสนามกอล์ฟและสนามกีฬากองทัพบก สนามกีฬากองทัพบกในบางจังหวัดได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบ่อนพนันแข่งม้า ส่วนกองทัพอากาศก็ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่ยุครัฐบาลสฤษดิ์ กล่าวได้ว่าจอมพลสฤษดิ์คือ “บิดาของทุนกองทัพไทย”
ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงธุรกิจเหล่านี้และบทบาทของ “บุตรหลานของทุนกองทัพไทย” ที่รับมรดกมาจากจอมพลสฤษดิ์

หมายเหตุ
  1. พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงิน : http://www.bot.or.th/Thai/LawsAndRegulations/Pages/Law_3.aspx
  2. จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ : http://research.stlouisfed.org/fred2/series/USNUM
  3. สมาชิกสมาคมธนาคารญี่ปุ่น: http://www.zenginkyo.or.jp/en/outline/list_of_members/
  4. โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารทหารไทย จากัด (มหาชน) : http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
  5. "ทำไม! กองทัพในแบงก์ทหารไทยไม่มีวันแยกจากไปเด็ดขาด" นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2535) : http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=6700

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)


กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)

ในบทความตอนที่แล้วดิฉันอธิบายความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ บทบาทของธนาคารทหารไทยในฐานะธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ และการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว ในตอนนี้ดิฉันขอเขียนถึงธุรกิจของกองทัพที่สำคัญรองลงมา กล่าวคือ ธุรกิจฟรีทีวีและธุรกิจวิทยุกระจายเสียง
ใครใหญ่กว่ากัน: ไอทีวี vs. ททบ.5 + ช่อง7สี + ทีวีพูล?
ก่อนรัฐประหารปี 2549 สื่อมวลชนและนักวิชาการบางกลุ่มนำเสนอว่าอดีตนายกฯทักษิณมีพฤติกรรม“เผด็จการ”โดยแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนโดยเฉพาะไอทีวีหลังจากที่ชินคอร์ปเข้าไปถือหุ้นไอทีวี วาทกรรมดังกล่าวพยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารและการยกเลิกสัมปทานไอทีวี ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพบกเป็นเจ้าของฟรีทีวี 2 ช่องมา 55 ปีและแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูล ถ้าเรานิยามว่า“เผด็จการ”คือผู้นำทางการเมืองที่ถือหุ้นฟรีทีวีและแทรกแซงฟรีทีวี กองทัพบกก็เป็น“เผด็จการ”มา 55 ปี ดังนั้นถ้าเปรียบเผด็จการว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่าที่สิงทีวีมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงทีวีมา 7 ปี
ฟรีทีวีคือธุรกิจสำคัญของกองทัพบก
ในปีพศ.2500 ธนาคารทหารไทยเริ่มเปิดทำการด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปีเดียวกันกองทัพบกก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.)เพื่อทำธุรกิจฟรีทีวีซึ่งมีรายได้จากการให้เช่าเวลาแก่ผู้ผลิตรายการและผู้โฆษณาสินค้า รายได้จากธุรกิจฟรีทีวีในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทและททบ.ที่กองทัพบกบริหารเองโดยตรงมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% [1] ททบ.มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แตกต่างจากธนาคารทหารไทย กล่าวคือ กองทัพบกเป็นเหล่าทัพเดียวที่ถือหุ้นททบ. แต่กองทัพเรือและกองทัพอากาศถือหุ้นธนาคารทหารไทยร่วมกับกองทัพบก แม้ปัจจุบันเอกชนและกระทรวงการคลังร่วมถือหุ้นธนาคารทหารไทยด้วย กองทัพบกก็ยังถือกรรมสิทธิ์ททบ. 5 เพียงผู้เดียวเนื่องจากโครงการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ของททบ.5 ไปให้บริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีที่ชื่ออาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดโดนระงับไปเมื่อ 2 ปีก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด
สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม
ททบ.ในยุคแรกรู้จักกันทั่วไปว่าททบ.7 เนื่องจากถ่ายทอดรายการผ่านช่อง7 ททบ.7เป็นฟรีทีวีช่องที่2ในไทย ฟรีทีวีช่องแรกคือสถานีไทยทีวีช่อง4ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม (ภายหลังกลายเป็นช่อง9 อสมท.และโมเดิร์นไนน์ทีวีในปัจจุบัน) ไทยทีวีช่อง4เป็นธุรกิจของบริษัทไทยโทรทัศน์ซึ่งถือหุ้นโดยหน่วยราชการหลายแห่งรวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีช่อง 4 เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปีพศ. 2498 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลจอมพลป. รวมทั้งถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาและงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จอมพลสฤษดิ์จึงผลักดันให้กองทัพบกก่อตั้งททบ.เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพบ้าง ททบ.7เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปี 2501 หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป. หน้าที่ของททบ.7คือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพ พระราชกรณียกิจ และพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อเรียกเรตติ้งททบ.7ยุคแรกนำเสนอความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์จากต่างประเทศและรายการวาไรตี้ที่จัดโดยนายทหารจากกองทัพบก [2] [3]
สัมปทานฟรีทีวีภายใต้รัฐบาลทหาร
ในปี 2510 กองทัพบกภายใต้การนำของจอมพลประภาส จารุเสถียรในตำแหน่งผบ.ทบ.ให้สัมปทานความถี่บางส่วนแก่บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุของครอบครัวน้องสาวภรรยาผบ.ทบ. น้องสาวภรรยาทบ.ทบ.สมรสกับทายาทสกุลกรรณสูตซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสุพรรณบุรีในอดีต สกุลกรรณสูตถือหุ้นบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุร่วมกับสกุลจารุเสถียรและสกุลรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฟรีทีวีที่กองทัพบกให้สัมปทานคือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง7หรือช่อง7สี ซึ่งเป็นช่องแรกที่ถ่ายทอดด้วยภาพสี สกุลกรรณสูตและสกุลรัตนรักษ์ได้สัมปทานช่อง7สีจากกองทัพบกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในปีเดียวกันรัฐบาลถนอมให้สัมปทานความถี่บางส่วนของบริษัทไทยโทรทัศน์(ซึ่งเป็นเจ้าของไทยทีวีช่อง4)แก่บริษัทของสกุลมาลีนนท์ซึ่งถ่ายทอดทีวีทางช่อง 3 ทำให้จำนวนฟรีทีวีเพิ่มเป็น 4 ช่อง ในปี 2517 ททบ.7 เปลี่ยนชื่อเป็นททบ.5 และหันมาออกอากาศทางช่อง 5 ในขณะที่ไทยทีวีช่อง 4 ก็เปลี่ยนมาออกอากาศช่อง 9 ไม่กี่ปีให้หลังรัฐบาลธานินทร์ยุบบริษัทไทยโทรทัศน์และโอนช่อง 9 ให้องค์การสื่อสารมวลชน(อสมท.) กรมประชาสัมพันธ์ในยุครัฐบาลเปรมจึงจัดตั้งทีวีช่อง11ขึ้นมาแทนเพื่อให้เป็นฟรีทีวีของรัฐบาล
การก่อตั้งและบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจโดยกองทัพบก
กองทัพบกก่อตั้งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูลในปี 2511 [2] ทำให้กองทัพบกแทรกแซงฟรีทีวีได้ทุกช่องด้วยการเชื่อมเครือข่ายฟรีทีวีเพื่อประชาสัมพันธ์ลัทธิชาตินิยมและการปกครองแบบรวมศูนย์ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจและพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ถ่ายทอดกิจกรรมของกองทัพ ถ่ายทอดพิธีกรรมทางศาสนา และถ่ายทอดการแข่งขันกีฬานานาชาติที่มีนักกีฬาไทยร่วมแข่งขัน ในระยะหลังทีวีพูลหันมาถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาไทยไม่ได้เข้ารอบด้วย เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก
แม้ว่าสงครามเย็นจบไปแล้วกว่า 20 ปี อำนาจของกองทัพบกในการแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูลไม่ได้ลดลงตามกาลเวลา ประธานกรรมการทีวีพูลคือผู้อำนวยการททบ.5 มาจนถึงปัจจุบัน ทีวีพูลกลายเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารและประชาสัมพันธ์ชัยชนะของคณะรัฐประหารมาตลอด หลังจากรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาติชายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬทำให้เห็นชัดเจนว่าฟรีทีวีทุกช่องโดนควบคุมโดยคณะรัฐประหารและไม่รายงานสถานการณ์ตามความจริง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแรงผลักดันให้จัดตั้งฟรีทีวีที่เป็นอิสระซึ่งก็คือไอทีวี หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณไอทีวีโดนยึดสัมปทานไปให้ทีวีช่องใหม่ที่เรียกกันว่าไทยพีบีเอส แน่นอนว่าไทยพีบีเอสก็โดนแทรกแซงโดยทีวีพูลด้วย ความล่าช้าของฟรีทีวีในการเตือนภัยสึนามิเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่ากองทัพบกในปัจจุบันยังคงแทรกแซงการทำงานของฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูล ตราบใดที่ยังไม่ยุบทีวีพูลก็ยากที่ไทยจะมีฟรีทีวีที่รายงานข่าวอย่างอิสระ
อิทธิพลของททบ.5 และช่อง7สีต่อดารานักแสดงและนักร้อง
เมื่อวัดด้วยรายได้ททบ.5 มีส่วนแบ่งตลาดฟรีทีวีเป็นอันดับ 3 ส่วนช่อง 7 สีที่กองทัพบกเป็นเจ้าของสัมปทานมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 (อันดับ 1 คือช่อง 3 และอันดับ 4 คือช่อง 9) ส่วนแบ่งตลาดของททบ.5 รวมกับช่อง7สีสูงถึง 43% ถ้าวัดด้วยเรตติ้งอันดับ 1 คือช่อง7สีส่วนททบ.5 ติดอันดับ 3 [4] ด้วยเหตุนี้กองทัพบกจึงมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงผ่านรายการของททบ.5 และช่อง7สีมานานหลายทศวรรษ อาทิ รายการคอนเสิร์ต รายการวาไรตี้ เกมโชว์ ละครหลังข่าว ฯลฯ ทำให้ดารานักแสดงและนักร้องจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ต้องพึ่งพากองทัพบกและมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ดารานักแสดงและนักร้องมากมายกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้คณะรัฐประหาร
ความเกี่ยวข้องของททบ.5กับบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเม็นท์และธนาคารทหารไทย
ก่อนวิกฤตการเงินในปี 2540 เพียง 3 เดือนกองทัพบกได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีชื่อบริษัทททบ.5จำกัด ในปี 2541 บริษัทททบ.5จำกัดกู้เงินจากสถานีททบ.5 เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทย 2 ทาง ทางตรงคือถือหุ้นในนามของกองทัพบกและทางอ้อมคือถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ทำให้กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทยมากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ [6] [7] ต่อมาบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวกู้เงินจากธนาคารทหารไทยไปลงทุนในธุรกิจทีวีดาวเทียม หลังจากนั้นกองทัพบกยินยอมให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นบริษัทททบ.5ร่วมกัน ภายหลังกองทัพบกพยายามถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 เพื่อให้บริษัทททบ.5 จำกัดให้สัมปทานคลื่นความถี่แก่เอกชน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน [5] แต่การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 ให้บริษัทอาร์ทีเอฯกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่เอ็นจีโอและสื่อมวลชนบางสังกัดคัดค้านอย่างรุนแรงจนรัฐบาลทักษิณต้องระงับไม่ให้บริษัทอาร์ทีเอฯจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547
ความขัดแย้งกรณีบริษัทอาร์ทีเอฯทำให้อดีตนายกฯทักษิณโดนประนามว่าสมคบกับพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตรผบ.ทบ.ในขณะนั้นเพื่อฮุบทรัพย์สินสาธารณะไปให้พวกพ้อง แม้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าอดีตนายกฯทักษิณอาจจะขอแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯ ที่จริงแล้วบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การนำของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาในฐานะผู้อำนวยการททบ.5 ตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2542 การวางแผนจัดสรรหุ้นให้เอกชนและคนในกองทัพเข้ามาร่วมลงทุนในโฮลดิ้งคอมปะนีก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคนั้น [8] นอกจากนี้บริษัทนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทยมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทักษิณ ถ้ารัฐบาลทักษิณไม่ระงับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทอาร์ทีเอฯ อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องจะไม่ได้ประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯเท่ากองทัพบกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอาร์ทีเอฯหรือเอกชนที่ร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ตราบใดที่กองทัพบกไม่จัดสรรหุ้นบริษัทอาร์ทีเอฯให้อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องให้มากกว่าสัดส่วนหุ้นของกองทัพบกและพันธมิตรเอกชน
นอกจากฟรีทีวี 2 ช่องกองทัพบกมีสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ
นอกจากการจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีเพื่อถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่แล้ว กองทัพบกพยายามปกป้องผลประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างชัดเจนผ่านกระบวนการสรรหากรรมการกสทช.หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ กล่าวคือ 2 ใน 5 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกสทช.คือนายทหารจากกองทัพบก [9] เนื่องจากนโยบายของกสทช.ในอนาคตจะมีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของคลื่นความถี่ที่กองทัพถือกรรมสิทธิ์อยู่ในปัจจุบัน นอกจากคลื่นความถี่ของฟรีทีวี 2 ช่องแล้ว กองทัพบกยังเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ [10] อาทิ สถานีวิทยุจส. 100 (ให้สัมปทานแก่บริษัทแปซิฟิกคอร์ปอเรชันจำกัดซึ่งมีนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาเป็นประธานกรรมการ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาคือพี่ชายของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาอดีตผอ.ททบ.5 ผู้ริเริ่มการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีททบ.5จำกัด) สถานีวิทยุยานเกราะ (ให้สัมปทานคลื่นความถี่บางส่วนแก่บริษัทจีเอ็มเอ็มมีเดียจำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแกรมมี่) ฯลฯ
ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพและการหากำไรจากกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพในรูปแบบต่างๆ

หมายเหตุ
  1. สถิติรายได้ของช่อง 3 และช่อง 9 มาจากงบการเงินของบริษัทบีซีอีเวิร์ลด์ จำกัด (มหาชน)และบริษัทอสมท.จำกัด(มหาชน)จากตลาดหลักทรัพย์:
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=BEC&language=th&country=TH
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MCOT&language=th&country=TH
    ส่วนสถิติรายได้ของช่อง 5 และช่อง 7 มาจากการรายงานโดยททบ.5และสื่อมวลชน: http://www.tv5.co.th/news/show2.php?id=2680
    http://www.suthichaiyoon.com/detail/19403
  2. ประวัติของทบบ.5: http://www.tv5.co.th/abhis.html
  3. อนุสรณ์ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิ่ง (โฆษกเสียงเสน่ห์และผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย):  http://www.lovesiamoldbook.com/product.detail_489893_th_3967526
  4. อสมท.ขึ้นค่าโฆษณา7% มีค.นี้หวังแชร์ตลาดแซงช่อง 5 ปรับผังใหม่เรตติ้งตกยกออก:  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1330658046&grpid=&catid=05&subcatid=0503
  5. รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.): http://www.ryt9.com/s/cabt/153128
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากธนาคารทหารไทย บริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอณ์เทนเมนท์ จำกัดในอดีตคือบริษัทททบ.5 จำกัด: http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
  7. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากตลาดหลักทรัพย์: http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=TMB&language=th&country=TH
  8. แป้งปฎิวัติ เงื่อนปมที่รัดแน่น: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1489
  9. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.): http://nbtc.nbtc.go.th/
  10. รายชื่อสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก 126 สถานีทั่วประเทศจากศูนย์ข่าววิทยุกองทัพบก: http://radio.tv5.co.th/radionews/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=4